เคล็ดลับทางการเงิน
29 เคล็ดลับทางการเงิน วิธีที่จะช่วยให้ทรัพย์สินของคุณเพิ่มพูนขึ้นในทุกภาวะเศรษฐกิจ โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์
ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินยังคงถกเถียงกันว่า อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง ของวิกฤตเศรษฐกิจ ที่กำลังเกิดขึ้น แล้วเราจะรอดพ้นจากภาวะนี้ได้อย่างไร และขณะที่ยังไม่ได้ข้อสรุป คุณคงอยากรู้วิธีเพิ่มพูนเงินทองจะได้ไม่ต้องหวั่นไหวไปกับตลาดหลักทรัพย์ที่วูบวาบขึ้นลง ต่อไปนี้คือกลยุทธ์ที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายน้อยลง ลดหนี้ ใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีให้เต็มที่ และสะสมไว้ใช้ยามเกษียณ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมุ่งเน้นในสิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้ เพราะก้าวเล็กๆสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เสมอ
ภาษี
1. หักลดหย่อนให้เต็มที่ พวกเราบางคนอาจยังไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กรมสรรพากรให้มาอย่างเพียงพอ ตัวอย่างเช่น หลายคนอาจยังไม่ได้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สามารถนำเงินลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงถึงร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาทต่อกองทุน หรือซื้อประกันชีวิตที่สามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 100,000 บาท หากฐานเงินได้ของคุณอยู่ที่อัตราภาษีร้อยละ 37 คุณจะสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 407,000 บาท เมื่อซึ้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนหุ้นระยะยาวอย่างละ 500,000 บาท และจ่ายเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท
2. ให้ลูกมีเงินได้และยื่นภาษีในชื่อลูก ปัจจุบัน กรมสรรพากรให้สิทธิการหักค่าลดหย่อนบุตรได้สามคน เพียงคนละ 17,000 บาท (กรณีที่บุตรยังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ) หากฐานภาษีของคุณอยู่ที่ร้อยละ 37 คุณจะประหยัดภาษีจากการหักลดหย่อนบุตรได้เพียง 6,290 บาท แต่หากบุตรของคุณมีเงินได้ เงินได้ 150,000 บาทแรกที่เขาได้รับไม่ต้องเสียภาษี และสามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 30,000 บาท รวมแล้วรายได้ของเขา 180,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะประหยัดภาษีกว่ามาก
3. อย่าขอภาษีคืน ทุกครั้งที่คุณขอภาษีคืนจากกรมสรรพากร ขอให้คุณระลึกได้เลยว่า คุณได้ให้กรมสรรพากรยืมเงินใช้โดยไม่เสียดอกเบี้ยแล้ว ตัวอย่างเช่นในปี 2552 นี้ คุณสามารถขอคืนภาษีได้ 100,000 บาท เงินก้อนนี้เป็นสิทธิของคุณ และหากคุณได้ภาษีคืนในเดือนมิถุนายน เท่ากับคุณเสียประโยชน์จากการนำเงินของคุณดังกล่าวไปแสวงหาดอกผลถึงหกเดือน หรือเท่ากับคุณให้กรมสรรพากรยืมเงินใช้โดยไม่เสียดอกเบี้ยนั่นเอง สิ่งที่คุณควรทำคือการเสียภาษี ณ ที่จ่ายให้ต่ำที่สุด เช่น หากคุณมีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนหุ้นระยะยาว หรือซื้อประกันชีวิต คุณควรแจ้งฝ่ายบัญชีขององค์กรที่คุณทำงานอยู่ เพื่อจะได้ปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเดือนตามการลดหย่อนของคุณ ทำให้คุณไม่ต้องไปขอภาษีคืนในปีถัดไป
4. เลือกการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ทางภาษี หากฝากเงินในธนาคาร คุณต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับร้อยละ 15 หากคุณลงทุนในกองทุนตราสารทางการเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการขายคืนกองทุนไม่ต้องเสียภาษี แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาความเสี่ยงของกองทุนที่คุณลงทุนว่าลงทุนในอะไร หากเป็นพันธบัตรรัฐบาลก็ปลอดภัย แต่หากเป็นหุ้นกู้เอกชนต้องดูเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนด้วย
บัญชีเงินฝาก
5. ตรวจสอบค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีของธนาคารที่คุณฝากอยู่ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน ทุกธนาคารจะมีการคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าวสำหรับบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดหรือมียอดคงเหลือต่ำกว่าที่กำหนด ดังนั้น คุณควรระมัดระวังไม่ให้ผิดเงื่อนไข
6. ใช้ธนาคารบนอินเทอร์เน็ต คุณจะพบกับความสะดวกสบาย รวดเร็วและปลอดภัยจากการทำธุรกรรมธนาคารบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน ชำระเงิน ตรวจสอบรายการ การลงทุน ฯลฯ และจากการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตดังกล่าว คุณจึงสามารถวางใจได้ในความปลอดภัยมากกว่าการทำธุรกรรมตามสาขาธนาคารที่อาจพบกับพวกมิจฉาชีพที่อาจเข้ามาทำร้ายโดยตรงหรือการลักลอบ ใช้เครื่องบันทึกไปติดไว้ที่ตู้แล้วปลอมบัตรเอทีเอ็มของคุณ
7. เก็บเงินของคุณไว้ในที่ปลอดภัย หากคุณต้องเก็บเงินสำรองเผื่อใช้ยามฉุกเฉิน เช่น ตกงาน ฯลฯ คุณควรเก็บเงินสดในที่ๆปลอดภัย เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลค้ำประกันเต็มวงเงิน) หรือลงทุนในกองทุนตราสารทางการเงินที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ แต่ข้อเสียของการออมเงินแบบนี้คือผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ หรืออาจเลือกการออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า และรัฐบาลค้ำประกันเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกองทุนพันธบัตรรัฐบาลที่กำหนดอายุการลงทุนที่แน่นอน เช่น สามเดือน หกเดือน เก้าเดือน หรือหนึ่งปี ซึ่งนอกจากความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ผลตอบแทนที่ได้ยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
หนี้
8. ลดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการคืนบัตรเครดิตที่มีอยู่ แต่หมายถึงการรักษาวินัยในการใช้จ่ายผ่านบัตร จริงอยู่แม้การคืนบัตรเครดิตจะเป็นวิธีที่ได้ผลสำหรับการลดการใช้จ่ายผ่านบัตร แต่เป็นการลดเงินสำรองที่คุณสามารถนำมาใช้ได้ยามฉุกเฉินเช่นกัน และการลดจำนวนบัตรอาจมีผลต่อการประเมินเครดิตของคุณ เพราะธนาคารผู้ออกบัตรจะประเมินเครดิตคุณจากยอดการใช้จริงเทียบกับวงเงินที่ให้ หากคุณใช้จ่ายใกล้เคียงกับวงเงินที่ให้ แสดงว่าคุณมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง ดังนั้น หากคุณลดจำนวนบัตร โดยที่คุณไม่ลดการใช้จ่าย จะทำให้ยอดการใช้จ่ายต่อบัตรสูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการประเมินเครดิตของคุณได้ สำหรับจำนวนบัตรเครดิตที่เหมาะสมคือประมาณ 2�3 ใบต่อคน
9. ชำระหนี้ให้ตรงเวลา การชำระหนี้ช้ากว่ากำหนด นอกจากค่าปรับและดอกเบี้ยที่ต้องเสีย
เพิ่ม ประวัติการผิดนัดชำระหนี้ของคุณจะปรากฏอยู่ในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งจะทำให้คุณมีปัญหาในการกู้เงินครั้งต่อไป หรืออาจต้องเสียดอกเบี้ยที่แพงขึ้น คุณอาจใช้การหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติสำหรับการชำระหนี้รายการสำคัญ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถฯลฯ เพื่อสร้างวินัยในการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยให้คุณได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหนี้มากยิ่งขึ้น
10. ชำระหนี้เพิ่มในแต่ละเดือน การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (ภาษี ดอกเบี้ย ฯลฯ) ร้อยละ 12.2 ของรายจ่ายทั้งหมด หากคุณเพิ่มการชำระหนี้ให้มากขึ้นในแต่ละปี จะช่วยลดภาระหนี้ให้เร็วขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละห้า หากคุณชำระเพิ่มขึ้นร้อยละสิบต่องวด คุณจะสามารถลดเวลาที่เป็นหนี้ได้ถึงร้อยละ 12.59
11. ให้เงินออมทำงานแทนคุณ หลายคนที่แม้เป็นหนี้อยู่ ก็ยังรู้สึกสบายใจที่ออมเงินในเงินฝากธนาคารแม้ดอกเบี้ยต่ำมากเหลือแค่ร้อยละ 0.75 ถึง 2.5 ขณะดอกเบี้ยเงินกู้ยังอยู่ในระดับสูงร้อยละ 6.75 ถึง 9 ผลตอบแทนของเงินฝากที่ต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้คุณมีภาระในการหารายได้เพิ่มขึ้น แต่หากถอนเงินฝากเพื่อไปลดภาระหนี้ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณได้เช่นกัน หรือมองอีกด้าน เหมือนคุณเพิ่มผลตอบแทนเงินออมของคุณตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั่นเอง ผู้เชี่ยวชาญการเงินให้คำแนะนำที่น่าสนใจไว้ว่า หากคุณต้องการลดภาระหนี้ ขณะเดียวกันต้องการมีเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย ควรแบ่งร้อยละห้าของรายได้มาชำระหนี้ และอีกร้อยละห้าเก็บเข้าบัญชีออมทรัพย์
12. ผ่อนบ้านให้เร็วขึ้น แม้กรมสรรพากรจะให้สิทธิประโยชน์สำหรับการนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทในแต่ละปี แต่อย่างไรก็ตาม คุณยังมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่เช่นเดิม การผ่อนชำระเพียงจำนวนน้อยๆในแต่ละงวด นอกจากอาจจะทำให้คุณไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ (ดอกเบี้ยจ่ายไม่ถึง 100,000 บาท) คุณยังต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น หากคุณกู้เงินซื้อบ้านหนึ่งล้านบาทที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.75 ต่อปี กำหนดผ่อนทุกเดือนเป็นเวลาสิบปี คุณจะต้องผ่อนเดือนละ 11,300 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 1.356 ล้านบาท (เท่ากับคุณจ่ายดอกเบี้ย 356,000 บาท) หากคุณผ่อนเร็วขึ้นเป็นห้าปี คุณจะต้องผ่อนเดือนละ 17,500 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 1.05 ล้านบาท (เท่ากับคุณจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50,000 บาท) จะเห็นได้ว่ายิ่งผ่อนเร็วเท่าไหร่ ภาระดอกเบี้ยก็น้อยลงเท่านั้น และที่สำคัญคือ คุณสามารถใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านนำมาลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มที่ด้วย
13. ลดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ไม่จำเป็น แม้ปัจจุบัน บัตรเครดิตบางสถาบันการเงินจะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี แต่หลายแห่งยังคิดค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรเครดิตโดยพ่วงมากับค่าใช้จ่ายต่างๆของเรา (แม้คุณจะเป็นลูกค้าที่ดีมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างสม่ำเสมอ และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลยก็ตาม) ซึ่งหากไม่ตรวจสอบรายการในใบแจ้งหนี้ คุณจะไม่ทราบว่าถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนี้เรียบร้อยแล้ว หากคุณถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็ไม่ต้องรีรอที่จะโทรฯไปแจ้งกับบริษัทผู้ออกบัตรเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว และหากไม่ได้รับยกเว้นก็ยกเลิกบัตรเครดิตนั้นได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ออกบัตรจะยกเว้นให้เสมอ เพราะทุกแห่งต่างต้องการรักษาลูกค้าที่ดีไว้
14. เจรจากับเจ้าหนี้โดยเร็ว หากมีปัญหาในการชำระหนี้ เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องการยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้สิน เพราะเสียทั้งเวลา และเงิน ดังนั้น เจ้าหนี้ต้องการลูกค้าที่มีความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ เมื่อมีปัญหาให้มาปรึกษากัน ซึ่งเจ้าหนี้จะสามารถช่วยหาทางออกให้แก่ลูกหนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นการยืดอายุหนี้ หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
ประกัน
15. หาข้อมูลก่อนซื้อประกันรถยนต์ ด้วยเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต ทำให้เราสามารถหาข้อมูลของประกันรูปแบบต่างๆจากบรรดาบริษัทประกันได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว และเพียงใช้เวลาในการโทรศัพท์ไม่กี่นาที คุณก็สามารถต่อรองค่าเบี้ยประกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อได้อัตราเบี้ยประกันที่คุณพอใจค่อยลองปรึกษากับผู้แทนประกันที่คุณใช้บริการอยู่ว่าจะสามารถเสนอบริการที่ราคาเดียวกันได้หรือไม่ วิธีดังกล่าวจะช่วยให้คุณประหยัดค่าประกันได้มาก
16. ซื้อประกันสุขภาพแบบกลุ่มร่วมกับบริษัท หลายบริษัทมักมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในให้แก่พนักงานโดยการทำประกันสุขภาพแบบกลุ่มให้ ขณะเดียวกัน หลายบริษัทยังขยายสิทธินี้ให้แก่ครอบครัวของพนักงานด้วย โดยครอบครัวของพนักงานสามารถเข้าร่วมประกันสุขภาพแบบกลุ่มนี้ได้ในอัตราพิเศษซึ่งเบี้ยประกันต่ำกว่าไปซื้อเองและไม่ต้องตรวจสุขภาพ หากองค์กรที่คุณทำงานอยู่ให้สิทธินี้และคุณมีปัญหาด้านสุขภาพ คุณควรเข้าร่วมประกันกลุ่ม หากคุณมีสุขภาพดี อาจประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่เข้าร่วมในปีนั้นๆได้ แต่ไม่แนะนำให้ประมาท
17. ซื้อประกันภัยการไร้ความสามารถในการหารายได้ คือการประกันภัยที่จ่ายเงินชดเชย (เป็นรายเดือนหรือเงินก้อน) ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ที่ไม่สามารถ ทำงานใดๆได้ เนื่องจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ทั้งนี้ การประกันภัยการไร้ความสามารถในการหารายได้นั้น เป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเพิ่มเติม จากกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุซึ่งเป็นกรมธรรม์หลัก ประกันแบบนี้จะเป็นประโยชน์เมื่อคุณไม่สามารถทำงานได้เป็นระยะเวลานาน คุณควรมีประกันชนิดนี้เพื่อรับเงินชดเชยกรณีดังกล่าวประมาณร้อยละ 60 ถึง 70 ของรายได้ในแต่ละเดือน เบี้ยประกันประเภทนี้อาจสูง แต่หากสามารถชำระได้ก็เป็นประกันที่คุณควรพิจารณา
18. ซื้อประกันสุขภาพแต่เนิ่นๆ ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนที่อายุเริ่มเข้าสู่วัย 40 มองหาประกันสุขภาพ ที่มีอายุกรมธรรม์ยาวๆ จุดมุ่งหมายคือ จะได้เสียเบี้ยต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อตอนอายุมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ประกันชีวิตที่เน้นประกันสุขภาพของบริษัท แห่งหนึ่งอาจคิดเบี้ยประกันสำหรับผู้ที่อายุ 45 ปีที่ 10,754 บาท แต่สำหรับผู้ที่อายุ 55 ปี ต้องชำระเบี้ยประกันที่ 15,367 บาท และบริษัทประกันอาจไม่รับประกันอีกต่างหากถ้าเรามีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว
19. ซื้อประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพ เพื่อคุ้มครองการบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน เท่ากับจำนวนเงินเอาประกัน และหากเป็นการทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรและได้ระบุค่าสินไหมทดแทนเท่ากับจำนวนเงินเอาประกันแล้ว จะได้รับยกเว้นไม่ต้อง ชำระเบี้ยประกันตามกรมธรรม์ประกันชีวิตหลักอีกต่อไป
20. คิดให้ดีก่อนซื้อประกันชีวิต หากคุณไม่มีบุคคลที่อยู่ในความดูแลหรือรับผิดชอบ เช่น ลูก ภรรยา บิดา มารดา ฯลฯ การซื้อประกันชีวิตอาจไม่จำเป็น และการซื้อประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาอาจเป็นทางเลือกที่ดีเพราะค่าเบี้ยประกันถูก โดยคุณกำหนดช่วงเวลาประกัน เพื่อคุ้มครองเฉพาะช่วงเวลาที่ลูก คุณจำเป็น ต้องพึ่งพารายได้จากคุณเท่านั้นก็พอ ไม่จำเป็นต้องซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่แม้จะให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเมื่อครบอายุกรมธรรม์ เนื่องจากเบี้ยประกันของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์สูงกว่าแบบกำหนดระยะเวลามาก อีกทางเลือกหนึ่งคือการแบ่งเงินมาลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ให้โอกาสของผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่า โดยคุณสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้
21.เขียนพินัยกรรม แม้การตายจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึง แต่เพื่อความไม่ประมาท คุณก็ควรเตรียมเรื่องพินัยกรรมไว้ให้ดี เพื่อทรัพย์สินของคุณจะได้เป็นของผู้รับมรดกที่คุณตั้งใจ โดยพินัยกรรมแบบธรรมดาต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำเพื่อพิสูจน์ความสามารถของผู้ทำ และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานอย่างน้อยสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้น
เกษียณอายุ
22. สะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในองค์กรที่ มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน เพราะนอกจากคุณจะได้รับประโยชน์ทางภาษี คือเงินที่คุณสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปีสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีเงินได้ตามที่จ่ายเงินสะสมจริงได้สูงถึงร้อยละ 15 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน และผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งคุณยังจะได้รับเงินสมทบจากนายจ้างในจำนวนที่เท่ากันหรือมากกว่าเงินสะสมของคุณด้วย แล้วแต่จะกำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน เท่ากับคุณได้รับผลตอบแทนทันทีโดยไม่มีความเสี่ยงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าจากเงินสมทบของนายจ้างนั่นเอง
23. ออมเพื่อเกษียณอายุก่อนออมเพื่อการศึกษาของลูก ฟังดูอาจจะแปลกๆสำหรับผู้ที่มีลูกทั้งหลายที่เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตคือการศึกษาที่ดีของลูก แต่ที่แนะนำเช่นนี้เนื่องจากการออมเพื่อวัยเกษียณโดยการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้และผลตอบแทน ที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ความมั่งคั่งของคุณเพิ่มได้รวดเร็วกว่า เมื่อเทียบกับการออมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาจริงๆในไทยซึ่งยังไม่มีรูปแบบที่เฉพาะ และไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่เพื่ออนาคตที่ดีของลูกอาจพิจารณาเพิ่มเติมในการเลือกใช้เครื่องมือการลงทุนอื่นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีความคาดหวังประมาณผลตอบแทนที่พอเพียง อาทิ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยอาจเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบระมัดระวังที่มีการลงทุนในเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการออมเพื่อการศึกษาของลูก
24. ออมเงินในกองทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังคมเป็นการออมบังคับภาคเอกชนอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ประโยชน์ทางภาษี และคุณยังได้เงินสมทบทั้งจากนายจ้างและรัฐบาลอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ว่างงาน เกษียณอายุ ฯลฯ คุณก็จะได้รับประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องรักษาสถานะสมาชิกกองทุนประกันสังคมไว้อย่างต่อเนื่องพร้อมปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด
25. อย่าซื้อหุ้นขององค์กรที่คุณทำงานอยู่ เพราะเป็นการพึ่งพิงความมั่นคงของตนเองกับบริษัทมากเกินไป ควรกระจายความเสี่ยงออกไป เพราะว่าไม่เพียงรายได้ของคุณจะขึ้นอยู่กับความมั่นคงของบริษัทเท่านั้น เงินออม/เงินลงทุนของคุณยังขึ้นกับความมั่นคงของบริษัทเช่นกัน ดังนั้น หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับบริษัทที่คุณทำงานอยู่ เช่น กรณีของบริษัทเลห์แมน บราเทอร์สหรือแบร์ สเทิร์นส์ที่ต่างเคยเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก แต่เมื่อธุรกิจประสบปัญหา พนักงานหลายคนกลายเป็นคนตกงาน ขณะที่เงินออมของพนักงานบางคนที่อยู่ในรูปของหุ้นของบริษัทก็ไร้ค่าไปทันทีเช่นกัน
26. หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นโดยตรง เพราะการลงทุนในหุ้นที่ดี คุณจะต้องมีความรู้ ข้อมูลด้านการวิเคราะห์และลงทุนที่ดี ทางเลือกอื่นที่ดีกว่าคือการลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวม เพราะนอกจากเงินของคุณจะได้รับการบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ มีข้อมูลแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วย แต่ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนหุ้น ควรเป็นการลงทุนระยะยาวและคุณสามารถรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้เช่นกัน
27. ลงทุนในกองทุนดัชนี กองทุนดัชนีคือ กองทุนที่มีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นฐานในการคำนวณดัชนีในสัดส่วนที่สอดคล้องกับดัชนีที่อ้างอิง เช่น กองทุนทีเด็กซ์ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่อ้างอิงดัชนีเซ็ต 50 ข้อดีของกองทุนประเภทนี้คือ มีค่าใช้จ่ายต่ำและมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่ดี โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากมาลงทุน หากคุณคาดหวังประมาณผลตอบแทนจากการลงทุนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี กองทุนดัชนีก็เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนดัชนีก็ควรเป็นเงินเย็นและสามารถลงทุนได้ระยะยาว
28. ซื้อหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนจากสถาบันการเงินที่คุณเชื่อถือได้ ปัจจุบัน คุณสามารถซื้อกองทุนรวมได้จากสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือบริษัทประกันชีวิต เนื่องจากการลงทุนมีผลต่อความมั่นคงทางการเงินของคุณในอนาคต คุณจึงควรเลือกซื้อกองทุนรวมจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถในการให้คำแนะนำ จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ การบริการที่ดีและสม่ำเสมอ ฯลฯ เพื่อที่คุณจะได้วางใจได้ว่าเงินของคุณจะได้รับการดูแลอย่างดี
29. สร้างพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับคุณ พอร์ตการลงทุนคือ สัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งหากเป็นการลงทุนระยะยาว (มากกว่าสิบปี) พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมคือหุ้นร้อยละ 50 (ตามทฤษฎีการลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนในหุ้นจะส่งผลต่อมูลค่าเพิ่มของเงินลงทุนและสามารถชนะเงินเฟ้อได้) ตราสารหนี้ระยะยาวร้อยละ 30 เงินสดหรือหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเหมือนเงินสด เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน ฯลฯ ร้อยละ 20 แต่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน การจัดสัดส่วนการลงทุนและน้ำหนักการลงทุนในตราสารประเภทต่างๆที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับ ปัจจัยหลากหลายของแต่ละบุคคล ทั้งด้านส่วนตัว อาทิ อายุ อาชีพ อายุการทำงานที่เหลือ หรือ ระยะเวลาที่ลงทุน ภาระค่าใช้จ่าย ข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งด้านการเงินการลงทุน อาทิ จำนวน เงินลงทุน และวัตถุประสงค์การลงทุน ประมาณอัตราผลตอบแทนรวมที่คาดหวัง ระดับความเสี่ยงที่คุณสามารถรับได้ สภาพคล่องของเงินลงทุนที่คุณต้องการ ระยะเวลาลงทุน ภาระภาษี ข้อจำกัดและเงื่อนไขการลงทุน ทั้งนี้ โดยทั่วไป หุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น หากเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีฐานะการเงินที่ไม่ดี แม้จะให้ดอกเบี้ยที่สูง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในหุ้นที่ดีๆหลายบริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ดี อนึ่ง ภาระภาษีก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม กล่าวคือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลของหุ้นเรือกองทุนรวมเพียงร้อยละสิบ ขณะที่ภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของเงินฝากหรือตราสารหนี้สูงกว่าอยู่ที่ร้อยละ 15
และคำแนะนำส่งท้ายแต่สำคัญที่คุณไม่ควรมองข้ามก็คือ จงดูแลสุขภาพ กินอาหารที่ดี ออกกำลังสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าจะครั้งนี้หรือครั้งไหนๆ