การประกันภัย

จะทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตรอดปลอดภัย คงเป็นคำถามที่ทุกคนต้องการหาคำตอบ คนเราทุกคนย่อมต้องการมีสุขภาพดี การศึกษาดี มีรายได้ดี หากมีทรัพย์สินก็คงอยากให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพที่ดี แต่ในความเป็นจริง ทุกอย่างในชีวิตนั้น ล้วนไม่แน่นอน ตอนนี้หากเรายังหนุ่มสาว เราอาจจะมีสุขภาพดี พอแก่ตัวลงก็ย่อมเจ็บไข้ได้ป่วยไปตามวาระ ตอนนี้เราอาจ มีงานทำมีรายได้เลี้ยงชีพได้ แต่ในอนาคตนั้นไม่แน่นอน หากบริษัทที่เราทำงานอยู่ต้องปิดกิจการลง เราก็ต้องตกงานชีวิต ที่เป็นอยู่นั้นล้วนแต่ไม่มีความแน่นอนทั้งสิ้น สิ่งที่แน่นอนในชีวิตมีเพียงสิ่งเดียว คือ ความตาย แต่ความตายนั้นเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้มาช้าหรือมาเร็ว

ดังนั้นหากเราจะกล่าวว่า มนุษย์เราทุกคนล้วนต้องประสบกับความเสี่ยงภัยอยู่ตลอดชีวิตคงจะไม่ผิด ปัญหาที่ตามมาคือ เราจะจัดการกับความเสี่ยงภัยที่มีอยู่นั้นอย่างไร

ความหมายของการประกันภัย

ได้มีผู้ให้คำจำกัดความ คำว่า การประกันภัย ไว้หลายนัยดังนี้

 Mark S. Dorfman : การประกันภัย เป็นการจัดการทางการเงินที่แจกจ่ายค่าของความสูญเสียที่ไม่คาดหวัง

 Frederick G.Crane : การประกันภัย คือการจัดการของความเสี่ยงโดยการรวบรวมความสูญเสีย ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย โดยค่าของความสูญเสียนั้นจะถูกเฉลี่ยกันไปให้ระหว่างผู้เข้าร่วมความเสี่ยงภัยทั้งหมด

คณะอนุกรรมการค้นคว้าและวิชาการ สมาคมการประกันวินาศภัย : การประกันภัย คือ การที่บุคคลฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็น หลักประกัน แก่บุคคล อีกฝ่ายหนึ่ง โดยสัญญาว่าเขาจะต้องไม่รับความเดือดร้อนจากภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสีย หรือเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของเขา โดยฝ่ายผู้ให้หลักประกันจะจ่ายเงินชดเชย ให้ตามจำนวน และเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ หรืออาจทำให้ทรัพย์สิน ที่เอาประกันภัยนั้น กลับสู่สภาพดีหรือใกล้เคียงดังเดิม โดยผู้ให้หลักประกันจะได้รับเงินตอบแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งตามจำนวนที่ตกลงกันไว้

 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 บัญญัติไว้ว่า
"อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งตกลงจะชดเชยค่าสินไหมทดแทน หรือ เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัยให้"

ประกันภัยเบ็ดเตล็ด

  • ประกันสุขภาพ
  • ประกันภัยอุบัติเหตุ
  • ประกันอุบัติเหตุเดินทาง
  • ประกันภัยโรคมะเร็ง
  • ประกันภัยความรับผิดทางกฎหมายต่อสาธารณชน
  • ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด รวมถึงทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้
  • ประกันภัยโจรกรรม
  • ประกันภัยสำหรับผู้เล่นกอล์ฟ
  • ประกันภัยแผ่นกระจก
  • ประกันภัยความรับผิดตามสัญญา(ระหว่างการก่อสร้าง/ติดตั้งเครื่องจักร)
  • ประกันภัยเงิน

ความเสี่ยงภัย ภัย สภาวะภัยและความสูญเสีย

ความเสี่ยงภัย ( Risk ) หมายถึง โอกาสที่จะทำให้เกิดความสูญเสียในอนาคต โดยเหตุการณ์ ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอน

ภัย ( Peril ) หมายถึง สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย ? สภาวะภัย ( Hazard ) หมายถึง เงื่อนไขหรือปัจจัยที่ทำให้เพิ่ม หรือลดของความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ความสูญเสีย ( Loss ) หมายถึง การลดลงหรือสูญเสียไปซึ่งมูลค่าอันเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ ที่ไม่แน่นอน

ตัวอย่างที่ 1 ขับรถไปตามถนนบังเอิญฝนตกถนนลื่นแล้วเกิดไปชนกับรถอีกคันหนึ่ง

การขับรถไปตามถนน เป็น ความเสี่ยงภัย

การชนกัน เป็น ภัย

ถนนลื่น เป็น สภาวะภัย

ความสูญเสีย คือ การเสียเงินในการซ่อมรถ

ตัวอย่างที่ 2 บ้านไม้อยู่ใกล้สลัม แล้วเกิดไฟไหม้ในสลัมโดยบังเอิญ

บ้านอยู่ในสลัม เป็น ความเสี่ยงภัย

ไฟไหม้ เป็น ภัย

บ้านสร้างด้วยไม้ เป็น ภาวะภัย

ความสูญเสีย คือ การเสียทรัพย์สินและเงินทอง

ประเภทของความเสี่ยงภัย ภัย สภาวะภัย และความสูญเสีย

ประเภทของความเสี่ยงภัย เราสามารถจำแนกความเสี่ยงภัยออกได้เป็น 5 ประเภท

1. ความเสี่ยงภัยที่แท้จริงและความเสี่ยงภัยที่มุ่งเก็งกำไร - ความเสี่ยงภัยที่แท้จริง ( Pure risk ) หมายถึง ความเสี่ยงภัยนั้นมีโอกาสเกิดความสูญเสียเพียงอย่างเดียวโดยที่ผู้เสี่ยงภัยไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่มีเจตนาทำให้เกิดเหตุการณ์ที่จะนำมาซึ่งความเสียหาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ น้ำท่วม ไฟไหม้ รถชน พายุ เป็นต้น - ความเสี่ยงภัยที่มุ่งเก็งกำไร ( Speculative risk ) หมายถึง ความเสี่ยงภัยที่มีเจตนาจะเข้าไปเสี่ยง การเสี่ยงภัยยังไม่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น แต่ผู้เสี่ยงภัยเป็นผู้สร้างความเสี่ยงภัยขึ้นเอง เพื่อหวังผลประโยชน์หรือ กำไร และอาจจะขาดทุน หรือคุ้มทุนก็ได้ เช่น การซื้อหุ้น เป็นต้น

2. ความเสี่ยงภัยพื้นฐานและความเสี่ยงภัยจำเพาะ - ความเสี่ยงภัยพื้นฐาน ( Fundamental risk ) หมายถึง ความเสี่ยงภัยที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจพื้นฐานโดยรวม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนจำนวนมากซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเกิดภาวะเงินเฟ้อ เงินฝืด แผ่นดินไหว น้ำท่วม สงคราม การว่างงาน เป็นต้น - ความเสี่ยงภัยจำเพาะ ( Particular risk ) หมายถึง ความเสี่ยงภัยที่มีผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชน ไฟไหม้บ้าน การขโมยรถ การปล้นธนาคาร เป็นต้น

3. ความเสี่ยงภัยที่แปรผันได้และความเสี่ยงภัยคงที่ - ความเสี่ยงภัยที่แปรผันได้ ( Dynamic risk ) หมายถึง ความเสี่ยงภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะทางเศรษฐกิจ แล้วก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินแก่เจ้าของทรัพย์สิน เช่น การเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เป็นต้น - ความเสี่ยงภัยที่คงที่ ( Static risk ) หมายถึง ความเสี่ยงภัยที่เกิดจากสาเหตุอื่นและไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเศรษฐกิจ เช่น ความเสี่ยงภัยที่เกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งมนุษย์จะต้องเสี่ยงภัยตลอดเวลา ไม่ว่าสถานการณ์อื่นจะเปลี่ยนแปลง ความไม่ซื่อสัตย์ของพนักงาน เป็นต้น

4. ความเสี่ยงภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายวัดเป็นตัวเงินได้และความเสี่ยงภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายวัดเป็นตัวเงินไม่ได้ - ความเสี่ยงภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายวัดเป็นตัวเงินได้ ( Financial risk ) เช่น ไฟไหม้บ้าน รถชน เป็นต้น - ความเสี่ยงภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายวัดเป็นตัวเงินไม่ได้ ( Nonfinancial risk ) เช่น เรื่อง ของจิตใจ การเสียชีวิต เป็นต้น

5. ความเสี่ยงภัยที่เอาประกันได้ และความเสี่ยงภัยที่เอาประกันไม่ได้

5.1 ความเสี่ยงภัยที่เอาประกันได้ ( Insurable Risk ) หมายถึง ความเสี่ยงภัยที่มีลักษณะเป็น Pure Risk และ Particular Risk ความเสี่ยงภัยที่เอาประกันได้ มีลักษณะดังนี้

- จำนวนของการเสี่ยงภัยที่มีสภาพและลักษณะคล้ายคลึงกันจะต้องมีจำนวนมากพอ

- ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องสามารถหาสาเหตุ และ ประเมินความเสียหายเป็น ตัวเงินได้

- ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องเป็นอุบัติเหตุ

- โอกาสที่จะเกิดความเสียหายสามารถคาดคะเนหรือคำนวณได้

- ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องไม่เป็นมหันตภัย ท ความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสีย

- ความเสี่ยงภัยนั้นควรเป็นความเสี่ยงภัยที่แท้จริง และเป็นความเสี่ยงภัยจำเพาะ

5.2 ความเสี่ยงภัยที่เอาประกันไม่ได้ ( Uninsurable Risk ) มีลักษณะดังนี้

5.2.1 ขาดตัวเลขทางสถิติ

- ภัยต่อสาธารณชน หรือ ขัดผลประโยชน์ต่อสาธารณชน เช่น ขับรถผิดกฎจราจร

- ความเสี่ยงภัยที่เสี่ยงมากเกินไป

ประเภทของภัย เราสามารถแบ่งภัยออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. ภัยจากธรรมชาติ ( Natural Perils ) หมายถึง เหตุที่อยู่นอกเหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะควบคุมได้ เช่น ไฟป่า พายุ ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น

2. ภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น ( Human Perils ) หมายถึง เหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคล เช่น การลอบวางเพลิง การฆาตกรรม การจลาจล เป็นต้น

3. ภัยจากเศรษฐกิจ ( Economic Perils ) หมายถึง เหตุที่เกิดจากสภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การเกิดภาวะเงินฝืด การเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภค

ประเภทของสภาวะภัย เราสามารถแบ่งสภาวะภัย ออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. สภาวะทางด้านกายภาพ ( Physical Hazard ) หมายถึง คุณสมบัติทางกายภาพที่เอื้อให้หรือส่งเสริมให้เกิดความเสียหายได้มากขึ้น เช่น บ้านในชุมชนแออัดย่อมมีการเสี่ยงภัยจากการที่จะเกิดไฟไหม้สูงกว่าบ้านที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวมีบริเวณกว้างขวาง อาชีพนักแข่งรถย่อมเสี่ยงภัยจากการตายหรือบาดเจ็บสูงกว่าผู้จัดการธนาคาร เป็นต้น

2. สภาวะทางด้านศีลธรรม ( Moral Hazard ) หมายถึง สภาวะที่มีการเสี่ยงภัยที่สูงขึ้นเกิดจากสภาพทางด้านจิตใจของบุคคล เป็นการกระทำที่ไม่มีคุณธรรมหรือไม่สุจริต ทั้งนี้เพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากการประกันภัย
เช่น ความไม่ซื่อสัตย์ของผู้เอาประกันภัยโดยทำการเอาทรัพย์สินที่เอาประกันเพื่อหวังจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหม
ทดแทนจากผู้รับประกันภัย

3. สภาวะทางด้านจิตสำนึกในการป้องกันภัย ( Morale Hazard ) หมายถึง สภาวะที่บุคคลไม่พยายามทำหรือไม่กระทำให้ความเสี่ยงภัยนั้นลดน้อยลง หรือ ลดความเสียหายลง หรือ เป็นสภาวะที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่มิได้เจตนา แต่เกิดจากการขาดความระมัดระวังในการป้องกันภัย เป็นสภาวะเสี่ยงภัยที่สูงขึ้น เกิดขึ้นจากสภาพจิตใจเหมือนกับ Moral Hazard แต่ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาทุจริต แต่เกิดจากนิสัยของบุคคล เช่น การประมาทเลินเล่อ นอนสูบบุหรี่บนเตียงนอน การไม่ดับธูป หรือ เทียนก่อนออกจากบ้าน เป็นต้น

ประเภทของความสูญเสีย เราสามารถแบ่งความสูญเสีย ออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. การสูญเสียชีวิต หรือ การสูญเสียรายได้ของบุคคล ( Personal Loss ) เป็นการสูญ เสียที่เกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การเป็นบุคคลทุพพลภาพ การว่างงาน

2. การสูญเสียทรัพย์สิน ( Property Loss ) เป็นการสูญเสียไม่ว่าทางตรงหรือเป็นผลต่อ เนื่องจากภัยที่เกิดขึ้น

3. การสูญเสียทางการเงินอันเนื่องจากความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นตามกฏหมาย ( Legal Liability Loss ) เป็นความสูญเสียทางการเงินที่เป็นการรับผิดชอบของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือ ธุรกิจนั้นที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น

ประวัติของการประกันภัยในต่างประเทศ

เมื่อราว 3 พันปีก่อนคริสต์ศักราช พ่อค้าชาวจีนได้คิดใช้หลักของการประกันภัยขึ้น โดยพ่อค้าเหล่านั้นได้ประกันต่อ ความเสียหายของสินค้าราคาแพง ที่ขนส่งทางเรือตามลำน้ำแยงซีเกียง ภัยที่ประกันคือ ภัยจากหินใต้น้ำ กระแสน้ำเชี่ยว ในแม่น้ำ สินค้าดังกล่าวบางครั้งก็เป็นทรัพย์ทั้งหมดที่พ่อค้ามีอยู่ เมื่อมีความกลัวต่อความหายนะ พ่อค้าจึงได้ประกันภัยไว้ โดยการกระจายโอกาสที่จะเกิดความหายนะออกไป เขาเหล่านั้นให้เหตุผลดังกล่าวว่า ถ้าเรือ 100 ลำ แต่ละลำบรรทุกสินค้า 100 ห่อ ได้เริ่มเดินทางที่ต้นกระแสน้ำเชี่ยว พ่อค้าจะกระจายความเสี่ยงภัยโดยในเรือแต่ละลำ พ่อค้าจะบรรทุก
สินค้าของตนในเรือเพียงคนละ 1 ห่อต่อเรือ 1 ลำ จนครบ 100 ลำ การสูญเสียเรือ 1 ลำ จะทำให้พ่อค้าแต่ละคนสูญเสียสินค้าเพียงคนละ 1 ห่อเท่านั้น

จากการบันทึกไว้ในเรื่องของกำเนิดการประกันภัยนั้น ยังมีอีกทางหนึ่งว่า ชาวบาบิโลนซึ่งอาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำยูเฟรติส เมื่อประมาณห้าพันปีล่วงมาแล้ว ได้ผลิตสินค้าออกขาย และได้ส่งลูกจ้างหรือทาสของตนออกไปเร่ขายสินค้าตามเมืองต่างๆ ทาสหรือลูกจ้างของตนนี้ไม่มีส่วนได้เสียในกำไรที่เกิดขึ้น กับการขายสินค้าเหล่านั้นเลย และไม่มีอำนาจในการตกลงกับผู้ซื้อนอกเหนือไปจากที่ได้รับคำสั่งจากนายของตนเท่านั้น พอการค้าเจริญขึ้น การทำงานของทาสหรือลูกจ้างก็เกิดความไม่สะดวก เนื่องจากขาดอำนาจต่าง ๆ ดังกล่าว การใช้ทาสหรือลูกจ้างก็เปลี่ยนไปเป็นใช้พ่อค้าเร่ (travelling
sales-man) ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า darmatha แปลว่าคนตีกลอง เป็นผู้รับสินค้าจากพ่อค้าไปจำหน่ายยังเมืองต่างๆ พวกพ่อค้าเร่นี้ต้องมอบทรัพย์สิน ภรรยา และบุตรที่อยู่ทางบ้านให้พ่อค้าเป็นประกัน โดยมีสัญญากันว่ากำไรที่ได้รับนั้น
พ่อค้าเร่ต้องแบ่งให้พ่อค้าเจ้าของสินค้าครึ่งหนึ่ง หากพ่อค้าเร่หนีหายไป หรือถูกโจรปล้นเอาสินค้าไปหมด บรรดาทรัพย์สินจะถูกพ่อค้าริบ และภรรยากับบุตรก็จะตกเป็นทาสไปด้วย เงื่อนไขดังกล่าวนี้เมื่อปฏิบัติไปเพียงเล็กน้อย บรรดาพ่อค้าเร่ก็ไม่พอใจจึงเกิดการแข็งข้อ ไม่ยอมรับเงื่อนไขอันเสียเปรียบนี้ และในที่สุดก็ตกลงเงื่อนไขใหม่ว่า ถ้าการสูญเสียสินค้าโดยมิใช่ความผิดของพ่อค้าเร่ หรือพ่อค้าเร่มิได้เพิกเฉยต่อการป้องกันรักษาสินค้าอย่างเต็มที่แล้วให้ถือว่าพ่อค้าเร่ ไม่มีความผิด พ่อค้าเจ้าของสินค้าจะริบทรัพย์สิน บุตรและภรรยาไม่ได้ ข้อตกลงนี้จึงได้ใช้ต่อมาอย่างแพร่หลายในการค้าสมัยนั้น นับได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นของการประกันภัยในสมัยโบราณ (ไชยยงค์ ชูชาติ , "ประวัติการ
ประกันภัย" วารสารข่าวสารประกันภัย ( 1 มิถุนายน 2 512 : 28 ) )

ต่อมาชาวกรีกได้รับเอาความคิดของชาวบาบิโลนมาใช้กับการเดินเรือของตนในราวสามพันปีมาแล้ว คือยอมให้เอาเรือหรือสินค้าของตนเป็นประกันเงินกู้ ที่ต้องกู้ยืมจากนายทุนมาในการจัดซื้อสินค้า โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าเรือสินค้าลำนั้น ไม่กลับท่า เจ้าหนี้จะมาเรียกร้องหนี้สินคืนจาก เจ้าของเรือไม่ได้ นับได้ว่าการประกันภัยทางทะเลได้เริ่มขึ้นในระยะนี้ ซึ่งได้ถึงกับมีการจัดตั้งเป็นสถาบันการประกันภัยทางทะเลในกรุงเอเธนส์สมัยนั้น

ทางด้านประกันชีวิตนี้ ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเริ่มมีกันตั้งแต่เมื่อใด ทราบกันเพียงว่าชาวกรีกและชาวโรมันในสมัยโบราณใช้วิธีบริจาคเงิน ช่วยในการทำศพ ด้วยการเก็บเงินจากคนที่ไปโบสถ์ในวันอาทิตย์คนละเล็กละน้อยเป็นรายเดือน เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการทำศพผู้ตาย และต่อมาได้จัดตั้งสมาคมรับประกันในหมู่พวกทหารขึ้น สมาชิกที่ตายจะได้ เงินสำหรับทำศพ และจะได้รับเงินบำนาญเมื่อถึงวัยชรา เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของการประกันชีวิตขึ้นแล้วในสมัยโบราณ

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการประกันภัยในสมัยโบราณดังกล่าว คงเป็นวิธีการง่าย ๆ ปราศจากแบบแผนหรือระเบียบที่แน่นอน จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งธุรกิจประกันภัยในรูปของบริษัทการค้าขึ้นเมื่อราว พ. ศ. 1853 ที่เมือง Flanders ในอิตาลี และในช่วงศตวรรษนั้น การค้าขายทางทะเลมีความสำคัญที่สุด ได้มีสัญญาประกันภัย ฉบับแรกได้ถูกบันทึกไว้ปรากฏอยู่ สัญญาประกันภัยทางทะเล เกี่ยวกับสินค้าของเรือซานตาคาลา ที่เมืองเจนัวในปี พ. ศ. 1890 และในปี พ. ศ. 2117 พระนางเอลิซาเบธแห่งประเทศอังกฤษ ได้ตรากฎหมายจัดตั้งหอประกันภัยขึ้นสำหรับ ขายกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล ทำให้ธุรกิจประกันภัยของอังกฤษได้เจริญก้าวหน้าวิวัฒนาการเรื่อยมา เริ่มต้นแต่
ดำเนินงานในรูปสำนักงานจนเป็นสมาคม สัญญาประกันภัยของอังกฤษฉบับแรกที่บันทึกไว้คือ "The Broke Sea Insurance Policy" ซึ่งยังเก็บรักษาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2190 ( เสริมสุขะ , ผู้แปล. การประกันภัย , กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงศิลป์ , 2520 หน้า 3 )

ประวัติของการประกันชีวิตในต่างประเทศ

ในระยะแรก การประกันชีวิตถูกมองว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากชีวิตของมนุษย์อย่างไร้ศีลธรรม และในหลายประเทศได้ออกกฎหมาย ห้ามการดำเนิน การดังกล่าว โดยเฉพาะในฝรั่งเศสก่อนปี พ. ศ. 2363 และอิตาลีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 แต่ในอังกฤษไม่มีการห้ามดำเนินกิจการดังกล่าว นักทฤษฎีและนักคณิตศาสตร์ในภาคพื้นยุโรปจำนวนมากได้อุทิศตนในการพัฒนาความรู้ด้านประกันชีวิต จอห์น แกรนด์ ได้รวบรวมสถิติการตาย เนื่องจากกาฬโรค และในปี พ. ศ. 2204 ได้พิมพ์หนังสือชื่อ " ธรรมชาติและข้อสังเกตทางการเมือง" ผลงานดังกล่าวถือว่าเป็น การแสดงตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการประกันชีวิตเป็นครั้งแรก

Edmund Hally นักคณิตศาสตร์ได้ศึกษาสถิติการตายในเมือง Breslau ในระหว่างปี พ. ศ. 2230 – 2234 และได้พิมพ์ผลงานชื่อ " สถิติมรณกรรมในเบรสเลาว์ " โทมัส ซิมป์สัน ได้พิมพ์ผลงานเรื่อง" ธรรมชาติและกฎการเปลี่ยนแปลง" ในปี พ. ศ. 2283 เรื่อง" ข้อกำหนดเบี้ยประกันรายปี และการลดอัตราการจ่ายกรณีตาย" ในปี พ. ศ. 2385 แนวความคิดในวิชาการด้านประกันชีวิตของ ซิมป์สัน กว้างและชัดเจนยิ่งกว่าผลงานของบุคคลอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น

ระยะแรกของการประกันชีวิต Richard Martin กับพวกได้เสนอแนวทางที่เกี่ยวกับ การประกันชีวิตเป็นครั้งแรกในปี พ. ศ. 2079 กล่าวโดยสรุปก็คือ หากผู้เอาประกันถึงแก่ความตายภายใน 12 เดือน ผู้รับประกันจะจ่ายเงินเป็นจำนวน 400 ปอนด์ ต่อมาได้มีคดีขึ้นสู่ศาลว่า คำว่า 12 เดือนนั้น หมายถึง เดือนทางจันทรคติ หรือตามปฏิทิน ศาลได้ตัดสินเอาความผิดกับผู้รับประกัน เนื่องจากสัญญาประกันภัยคลุมเครือ แนะแนวทางคำพิพากษาดังกล่าวยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้

ในปี พ. ศ. 2241 บาทหลวง William Assheton ได้วางโครงการก่อตั้งบริษัทประกันชีวิตชื่อบริษัทเมอเซอร์ในลอนดอน โดยจุดประสงค์เพื่อเป็น การให้ประโยชน์ต่อแม่หม้ายในปีต่อมา ก็มีองค์การในลักษณะคล้ายกัน ภายใต้ชื่อว่า" สมาคมเพื่อแม่หม้าย " แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความจริงที่ว่า ยังไม่ได้มีการรวบรวมสถิติเกี่ยวกับการตายอย่างถูกต้อง อันจะเป็นกฎเกณฑ์ของการดำเนินการขององค์การต่าง ๆ ตามมาตรฐานของการประกันชีวิต ศาสตราจารย์ James L. Athearn ได้กล่าวว่า สมาคมดังกล่าวเป็นองค์การแรกของการประกันชีวิต องค์การที่เกี่ยวกับการประกันชีวิตอีกองค์การหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากในอังกฤษคือ" สมาคมมิตรสัมพันธ์เพื่อการประกันภัย " ซึ่งก่อตั้งใน พ. ศ. 2249 และต่อมาได้รวมอยู่ในสหภาพนอร์วิช ในปี พ. ศ. 2409 องค์การนี้ได้โฆษณากิจการต่อสาธารณชน ดังนั้น อาจถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เสนอความรู้เกี่ยวกับการใช้ประกันชีวิตต่อสาธารณชน

บริษัทประกันชีวิตซึ่งเก่าแก่และยังดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันนี้คือ"สมาคมเพื่อการประกันชีวิตที่เสมอภาค" (The Society for the Equitable Assurance of Lives and Survivorship) หรือที่เรียกว่าว่า " Old Equitable" ซึ่งก่อตั้งในปี พ. ศ. 2305 โดย Thomas Shimpson และด้วยความช่วยเหลือสนับสนุน จาก Edward Rowe Mores อย่างไรก็ดี สมาคมนี้ได้เริ่มต้นก่อนหน้านั้น โดย โทมัส ซิมป์สัน และ เจมส์ ดิคสัน ในปี พ. ศ. 2229 แต่ไม่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินการ จนหลังเจมส์ ดิคสัน ตายลง โทมัส จึงได้ดำเนินการต่อมา จนสมาคมก่อตั้งขึ้นได้ สำหรับการคำนวณเบี้ยประกัน ได้คิดจากอายุของผู้เอาประกันและระยะเวลาที่คุ้มครอง การยื่นขอเอาประกันต้องทำเป็นหนังสือ และระบุข้อมูล 2 ประการคือ สถานะทางสุขภาพ รวมทั้งอาชีพและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เอาประกัน องค์การนี้ได้ใช้ประโยชน์จากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคำนวณโดยนักคณิตศาสตร์ ในอันที่จะกำหนดตารางเกี่ยวกับอัตราการตาย นับแต่ก่อตั้งองค์การนี้ ธุรกิจการประกันชีวิตได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วจนปัจจุบัน

ประวัติของการประกันภัยในประเทศไทย

กิจการประกันภัยเริ่มในยุโรปมานานแล้ว เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยา อาจมีการประกันภัย กันบ้างแล้ว โดยเฉพาะการประกันทางทะเล และขนส่ง แต่เป็นการที่ชาวต่างชาติทำประกันกันเอง ไม่เกี่ยวมาถึงไทย

การประกันภัยเริ่มขึ้นในประเทศไทย ปรากฏขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ. ศ. 2368 สมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังทรงผนวชอยู่ ได้ทรงสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ จากประเทศอังกฤษ และโดยที่เกรงว่าจะเกิดความเสียหายขึ้น ในระหว่างทาง จึงได้สั่งให้เอาเครื่องพิมพ์ดังกล่าวประกัน ภัยระหว่างการขนส่งในนาม ของพระองค์เองแสดงว่า การประกันภัยนั้นได้เริ่มแผ่เข้ามาถึ งเมืองไทยแล้ว และอาจกล่าวได้ว่าไทยได้รู้จักวิธีการประกันภัย หรือการประกันภัยทางขนส่งสินค้าของได้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

การประกันภัยที่ควรจะนับว่าเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยตรงได้เริ่มจากสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา คือในรัชกาลนี้มีฝรั่งเศสเข้ามาตั้งห้างค้าขายมาก ห้างฝรั่งเศสเหล่านี้ปรากฏว่า บางห้างได้เป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยต่างประเทศด้วย เท่าที่ปรากฏมีดังนี้

1. ห้องบอเนียว ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ. ศ. 2399 เป็นตัวแทนของ Netherlands Indea Sea and Fire Insurance Company รับประกันทางทะเล และประกันอัคคีภัย กับเป็นตัวแทนของ North China Insurance Company

2. ห้างสก๊อต ตั้งขึ้นเมื่อ พ. ศ. 2399 เหมือนกัน เป็นตัวแทนของ Ocean Marine Insurance Company

3. ห้างบิกเกนแบ็ก ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ. ศ. 2401 เป็นตัวแทนของ Colonial Sea and Fire Insurance Company

สมัยรัชกาลที่ 5 คณะทูตจากประเทศอังกฤษได้ขอพระบรมราชานุญาตให้บริษัทอิ๊สเอเซียติก จำกัด ของชาวอังกฤษดำเนินธุรกิจรับประกันชีวิต ประชาชนคนไทยและชาวต่างประเทศในประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของบริษัทเอควิตาเบิลประกันภัยแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอนุญาต โดยมีสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ถือกรมธรรม์เป็นคนแรก

หลังจากนั้นมาธุรกิจประกันชีวิตก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะกรมธรรม์ต้องส่งมาจากประเทศอังกฤษและคนไทยก็ยังไม่มีความสนใจ ธุรกิจประกันชีวิตต้องหยุดชะงักไปเองในปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นกิจการประกันภัยในด้านที่ไม่ใช่ประกันชีวิต ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ห้างฝรั่งที่ตั้งในเมืองไทยส่วนมากเป็นตัวแทนของบริษัทรับประกันต่างประเทศหลายแห่ง และนอกจากบริษัทอิ๊สเอเซียติก จำกัดแล้ว ก็ยังมีหลายห้างที่เป็นตัวแทนของบริษัทประกันชีวิตของต่างประเทศ เช่น

- ห้างสยามฟอเรสต์ เป็นตัวแทนของ Commercial Union Assurance Company

- ห้างเบนเมเยอร์ เป็นตัวแทนของ Nordstern Life Insurance Company of Berlin

- ห้างหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นตัวแทนของ China Mutual Life Insurance Company

สมัยนั้นบริษัทหรือห้างที่จะตั้งกิจการประกันภัยโดยตรงขึ้นในเมืองไทยยังไม่มี เว้นแต่บริษัทเรือเมล์จีนสยามได้รับอำนาจพิเศษ ให้ดำเนินกิจการรับประกันอัคคีภัย และรับประกันภัยทางทะเลด้วย อย่างไรก็ตามนับได้ว่า การประกันภัยนับว่าได้มีมาแล้วนับแต่การประกันอัคคีภัย การประกันทางทะเล การประกันชีวิตและการประกันรถยนต์ ก็ได้มีมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น ห้างสยามอิมปอร์ต เป็นตัวแทนของ Motor Union Insurance Company รับประกันรถยนต์แสดงว่าการประกันภัยต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นของใหม่สำหรับเมืองไทยเลย เคยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แล้ว

กฎหมายฉบับแรกเท่าที่ค้นพบ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกันภัย คือพระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัท ร . ศ . 130 ( พ. ศ. 2454) ซึ่งมาตรา 115 บัญญัติว่า " บริษัทเดินรถไฟ รถราง บริษัทรับประกันต่าง ๆ บริษัททำการคลังเงินเหล่านี้ ท่านห้ามมิให้ตั้งขึ้นนอกจากได้รับพระบรมราชานุญาต "

ในปี พ. ศ. 2467 ได้มีการบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้น มีบรรพ 3 ลักษณะ 20 เป็นเรื่องการประกันภัยรวมอยู่ด้วย เป็นการรับรู้ข้อตกลงในเรื่องประกันภัยว่าเป็นสัญญาที่ผูกพันชอบด้วยกฎหมาย และได้มีบทบัญญัติลักษณะห้างหุ้นส่วนบริษัท มาตรา 1014 กล่าวไว้ว่า ห้ามมิให้ตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท เพื่อทำการประกันภัยขึ้น เว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเริ่มควบคุมการก่อตั้ง บริษัทประกันภัยไม่ให้ตั้งโดยเสรี แต่ยังมิได้ ควบคุมการดำเนินกิจการโดยตรง

ชาวต่างประเทศในขณะนั้นได้ติดต่อขออนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยกับกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม แต่ทางกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม ยังไม่พร้อมที่จะรับการ จดทะเบียนประกอบธุรกิจประกันภัยในทันที เพราะเห็นว่าการประกันภัยเป็นธุรกิจที่ต้องดำเนิน โดยมีส่วนเกี่ยวพันถึงสาธารณชน ในด้านความผาสุกและปลอดภัย จึงได้มีการกำหนดธุรกิจประกันภัยไว้ในกฎหมายที่ว่าด้วยความผาสุกและปลอดภัยแห่งสาธารณชน ทั้งจำเป็นต้องกำหนดระเบียบการปฏิบัติในการควบคุมธุรกิจให้มีมาตรฐานและปลอดภัยด้วย

สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ปี พ. ศ. 2467 ดังกล่าวข้างต้นได้ถูกยกเลิก และใช้บทบัญญัติบรรพ 3 ที่ตรวจชำระใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2472 ซึ่ง บรรพ 3 ที่ตรวจชำระใหม่ก็มีบทบัญญัติลักษณะ 20 ว่าด้วยประกันภัยตั้งแต่มาตรา 861 ถึงมาตรา 897 และมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

การควบคุมกิจการประกันภัยโดยรัฐ

เนื่องจากการดำเนินงานในการรับประกันภัยเป็นกิจการที่กว้างขวางต้องใช้เงินทุนมากและโดยที่กิจการประกันภัย ต้องเกี่ยวข้องอยู่กับ ประชาชน เป็นจำนวนมาก หากผู้รับประกันภัยดำเนินงานไม่ได้ อาจเป็นเหตุให้ประชาชนผู้เอาประกัน ไว้ต้องเสียหายเดือดร้อน และเป็นผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมอีกด้วย ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากเมื่อ คราวที่บริษัทนครหลวงประกันชีวิต จำกัด ถูกกระทรวงเศรษฐการสั่งถอนใบอนุญาตเมื่อปี พ. ศ. 2507 และต่อมาก็ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ถึง 8,590 ราย เป็นจำนวนหนี้ถึง 75 ล้านบาทเศษ
ส่วนบริษัทบูรพาประกันชีวิต จำกัด ซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เมื่อปี พ. ศ. 2512 ก็มีเจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ถึง 5,458 ราย เป็นจำนวนหนี้ 65 ล้านบาทเศษ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหนี้ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ด้วยเหตุนี้ประเทศ ต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงานประกันภัยจึงได้เข้าควบคุมสอดส่องผู้รับประกันภัยอย่างใกล้ชิดโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้รับ ประกันภัยได้ดำเนินกิจการไปด้วยดี มีหลักฐานทางการเงินมั่นคงสามารถให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ และให้ผู้รับประกันภัยได้ปฏิบัติต่อผู้เอาประกันภัยด้วยความเป็นธรรม

การควบคุมกิจการประกันภัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐเพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงทาง เศรษฐกิจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน กิจการประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยมาตรการกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งได้มีการตรา พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนถึง ความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ. ศ. 2471 ขึ้น เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ. ศ. 2471 ปรากฏเหตุผลที่ออกกฎหมายฉบับนี้ว่า " โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พาณิชย์และอุตสาหกรรมของประเทศได้วิวัฒนาการถึงซึ่งความจำเป็นที่จะต้องกำหนดการควบคุมกิจการค้าทั้งหลาย
อันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน เพื่อคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของพสกนิกรให้เป็นที่เรียบร้อยสืบไป " และจำนวนกิจการค้าขายหลายอย่างที่กระทบถึงความปลอดภัย หรือผาสุกแห่งสาธารณชนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็มีประกันภัยรวมอยู่ด้วยดังปรากฏตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า :

" มาตรา 7 ห้ามมิให้บุคคลผู้ใดประกอบกิจการประกัน ฯลฯ หรือกิจการอื่น อันมีสภาพคล้ายคลึงกันในกรุงสยาม เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง กฎหมายเฉพาะการนั้น ในเวลาที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะการ ห้ามมิให้ประกอบกิจการค้า ขายดังกล่าวนั้นในกรุงสยาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทางเสนาบดีเจ้าหน้าที่ ฯลฯ "

และบทบัญญัติมาตรา 8 ได้กำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับผู้ละเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติด้วย

หลังจากมีพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชนออกประกาศใช้แล้ว บริษัทประกันภัยที่จะประกอบกิจการได้ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมก่อนแต่ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไข การขอรับใบอนุญาต ปรกอบธุรกิจประกันภัย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ. ศ. 2472 กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ประกาศกำหนดเงื่อนไขการขอรับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย เงื่อนไขทั้งสองฉบับได้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ เพราะบริษัทที่ขออนุญาตประกอบการประกันภัยในระยะแรกนี้เป็นบริษัทประกันภัยต่างประเทศเป็นส่วนมาก ส่วนการประกันภัยประเภทอื่น นอกจากสองประเภทดังกล่าวก็ยังไม่มีเงื่อนไขควบคุม แต่ก็จะต้องปฏิบัติการบางประการตามที่กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมกำหนดไว้

สำหรับเงื่อนไขดังกล่าวแล้วซึ่งกำหนดไว้ในชั้นแรกนี้ มีข้อความไว้เพียงว่าบริษัทประกันกันต้องมีทุนชำระแล้ว อย่างน้อย 2 แสนบาท ต้องฝากหลักทรัพย์ไว้กับรัฐบาลไทยหรือสถานทูตไทยในต่างประเทศ ต้องพิมพ์โฆษณาฐานะ การเงินของบริษัทในหนังสือพิมพ์เป็นประจำปี และกำหนดให้ส่งรายงานแสดงกิจการประจำปีและรายงานแสดงทรัพย์สิน อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นก้าวแรกของการเริ่มงานควบคุมบริษัทประกันภัยที่ประกอบกิจการในประเทศไทย

ต่อมาได้มีประกาศลงวันที่ 16 สิงหาคม พ. ศ. 2472 ระบุให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการอันเกี่ยวกับการประกันภัย ผู้ใดจะเริ่มประกอบกิจการประกันภัยจำเป็นต้องขอรับอนุญาตก่อน และบุคคล ที่ประกอบกิจการประกันภัยอยู่แล้ว ในวันที่ใช้พระราชบัญญัติควบคุม กิจการค้าขาย อันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ. ศ. 2471 ต้องขอรับอนุญาตภายในวันที่ 13 ตุลาคม พ. ศ. 2472 เป็นอันว่า ผู้ประกอบกิจการประกันภัยจะต้องจดทะเบียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองประกันภัย
ซึ่งตั้งขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม พ. ศ. 2472 สังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม

การกำหนดเงื่อนไขควบคุมกิจการประกันภัยขึ้นนั้นก็เพราะทางการประสงค์จะให้ความปลอดภัยแก่ประชาชน
ผู้เอาประกันและทราบถึงฐานะการเงินของบริษัทว่ามีความมั่นคงเพียงใดโดยกำหนดให้บริษัทประกันอัคคีภัยต้อง
มีหลักทรัพย์ประกันฝากไว้ต่อทางการเป็นจำนวนหนึ่งแสนบาท และบริษัทรับประกันชีวิตต้องฝากหลักทรัพย์ไว้ต่อ
ทางการเมื่อเริ่มประกอบการประกันชีวิตจำนวนห้าหมื่นบาท และจะต้องฝากเพิ่มขึ้นจากจำนวนหนึ่งในสามของเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับทุกปี บริษัทที่ประกอบกิจการนอกเหนือจากกิจการประกันภัยดังกล่าวทั้งสองประเภทนี้ไม่ต้อง
ฝากหลักทรัพย์ประกัน มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า ในระหว่างการประชุมร่างเงื่อนไขควบคุมกิจการประกันภัย พ . ศ . 2472 นั้น ได้มีบริษัทประกันภัยยื่นความจำนงขอประกอบกิจการประกันภัยในประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 286 ราย
แยกประเภทได้เป็น

ประกันอัคคีภัย 74 ราย ประกันชีวิต 6 ราย ประกันภัยทางทะเล 177 ราย ประกันภัยรถยนต์ 15 ราย ประกันอันตรายทั่วไป 3 ราย

ประกันภัยโจรกรรม 2 ราย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 9 ราย

และทั้ง 286 รายนี้ได้รับอนุญาตชั่วคราวให้ทำการประกันภัยได้ บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการประกันภัยเป็นอันดับแรกตามประเภทของ กิจการประกันภัยมีดังนี้

- บริษัทโตเกียวมารีนแอนด์ไฟร์อินชัวรันส์ จำกัด สัญชาติญี่ปุ่น ได้รับอนุญาตประกอบกิจการประกันอัคคีภัยในวันที่ 4 เมษายน พ. ศ. 2472 โดยมีบริษัทมิตซุยบุซันไกซาเป็นตัวแทนในประเทศไทย

- บริษัทเตียอันเป๋าเฮี่ยม จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ประกอบการประกันภัยทางทะเลในวันที่ 27 มกราคม พ. ศ. 2472

- บริษัทขอเตอร์ยูเนียนอินชัวรันส์ จำกัด สัญชาติอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการประกันอุบัติเหตุในวันที่ 18 เมษายน พ . ศ . 2473 โดยมีบริษัทโซม์แอนด์คอมปานีเป็นตัวแทนในประเทศไทย

การริเริ่มก่อตั้งบริษัทประกันภัยของคนไทย

ในปี พ. ศ. 2472 นั้น มีบริษัทประกันภัยที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยโดยคนไทยเป็นบริษัทแรกคือ บริษัทเตียอันเป๋า
เฮี่ยม จำกัด ซึ่งในปีนั้นเองมีอีกหลายบริษัท คือบริษัทเซ่งเชียงหลีประกันภัยธนากิจและพาณิชยการ จำกัด บริษัทเชียง
อาน รับประกันอัคคีภัยและอุทกภัย จำกัด เป็นบริษัทประกันวินาศภัยทั้งสิ้น

ในช่วงเวลาตั้งแต่ พ. ศ. 2472 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ พ. ศ. 2484 นั้นมีบริษัทที่จดทะเบียนใน
ประเทศไทยเพียง 10 บริษัทเท่านั้น ส่วนบริษัทต่างประเทศได้จดทะเบียนถึง 62 บริษัท สำหรับบริษัทของคนไทย
นั้นเป็นบริษัทประกันวินาศภัย ไม่มีบริษัทที่ประกอบการประกันชีวิต ส่วนบริษัทต่างประเทศเป็นทั้งบริษัทประกัน
วินาศภัย และบริษัทประกันชีวิต

บริษัทประกันชีวิตของคนไทยนั้นเพิ่มได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแล้วเพราะในช่วงสงคราม
โลกนั้นเอง บริษัทประกันภัยของต่างประเทศตกอยู่ในฐานะชนชาติศัตรูต้องหยุดประกอบกิจการไปเกือบทั้งหมด บริษัท
ประกันชีวิตของคนไทยบริษัทแรกคือ บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ซึ่งจดทะเบียนในปี พ. ศ. 2485 ปีเดียวกันนี้
มีอีกบริษัทซึ่งมีคนไทยเป็นผู้ก่อตั้งคือ บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ก็ได้จดทะเบียนเช่นกัน

การพัฒนามาตรการกฎหมายเพื่อควบคุมกิจการประกันภัย

ปี พ. ศ. 2492 กระทรวงเศรษฐการซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาการอันเกี่ยวกับการประกันภัยได้
กำหนดเงื่อนไขควบคุมกิจการประกันภัยขึ้นใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดมากขึ้นกว่าเงื่อนไขฉบับปี 2472 แต่แม้จะมีข้อความ
และรายละเอียดมากขึ้น เงื่อนไขฉบับปี พ. ศ. 2492 ก็ยังขาดหลักการสำคัญที่ควรจะมีอีกหลายอย่าง ดังนั้น ในปี พ. ศ.
2507 รัฐบาลจึงได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย และ ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต เข้าสู่การพิจารณา
ของสภาร่าง รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีกฎหมายควบคุมการประกอบการประกันภัยทั้ง 2 ประเภทนี้ขึ้นไว้โดยเฉพาะ ซึ่งใน
ที่สุดร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับนี้ก็ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ. ศ. 2510

เหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับนี้ ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา พอที่จะนำมากล่าวรวม
กันได้ดังนี้คือ " ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมประกันวินาศภัย และการประกันชีวิตโดยเฉพาะ การควบคุมกิจการ
ดังกล่าวได้อาศัยเงื่อนไขควบคุมกิจการประกันภัยซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบ
ถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พุทธศักราช 2471 ซึ่งยังไม่รัดกุมพอ เป็นเหตุให้บริษัทประกันวินาศภัย
และบริษัทประกันชีวิตมีฐานะการเงินไม่มั่นคง ทำให้ผู้เอาประกันวินาศภัย และผู้เอาประกันชีวิตเสียเปรียบและไม่ได้รับ
ความคุ้มครองเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ขึ้น เพื่อควบคุมบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัท
ประกันชีวิตให้ดำเนินการโดยเล็งถึงผลประโยชน์ของผู้เอาประกันวินาศภัยและ ผู้เอาประกันชีวิต มิให้ดำเนินการไปใน
ทางที่เสี่ยงภัย และเพื่อส่งเสริมกิจการประกันภัยให้เจริญ ก้าวหน้ายิ่งขึ้นให้ทันกับความต้องการของประชาชน เพราะ
การประกันวินาศภัยเป็นการช่วยให้ผู้ที่ถูกละเมิดทางร่างกายและทรัพย์สินได้รับชดใช้ค่าเสียหาย และช่วยบรรเทาความ
เดือดร้อนแก่เจ้าของทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ เพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัยและความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการค้าและ
อุตสาหกรรมในการลงทุนในประเทศได้อย่างดีอีกด้วย และเพราะการประกันชีวิตนอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือด
ร้อนทางการเงินแก่ผู้เอาประกันชีวิตแล้ว ยังเป็นสถาบันการเงินที่สำคัญในการช่วยพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศอีก
ด้วย " ข้อที่ควรสังเกตก็คือ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย และพระราชบัญญัติประกันชีวิต มุ่งในทาง ควบคุมบริษัท
รับประกันภัยให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย มิได้มีผลเป็นการยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการ
ประกันภัยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 แต่ประการใด หลักการเกี่ยวกับเรื่อง สัญญาประกันภัยคงเป็น
ไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากในบางเรื่อง ซึ่งพระราชบัญญัติใหม่ทั้ง 2 ฉบับนี้ได้
บัญญัติ เพิ่มเติมขึ้นอีก ซึ่งจะได้ศึกษากันต่อไป

อนึ่ง เมื่อต้นปี พ. ศ. 2515 ได้มี ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขาย
อันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารชนพุทธศักราช 2471 ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น พร้อมทั้งพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชบัญญัติ กำหนดกระทรวงเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายฯ แล้ว
ได้วางข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมกิจการต่าง ๆ ขึ้นใหม่ โดยมีความในข้อ 5 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับ
ดังกล่าวว่า " เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังระบุไว้ต่อไปนี้ หรือกิจการอันมีสภาพ
คล้ายคลึงกัน ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี "

และมีข้อ 21 กำหนดว่า " ให้ถือว่ากิจการประกันภัย ฯลฯ เป็นกิจการที่รัฐมนตรีได้ประกาศตามข้อ 5 แล้ว ฯลฯ " ซึ่ง
ก็มีผลว่า ผู้ใดจะประกอบกิจการประกันภัยไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี (คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
เศรษฐการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการประกันภัย ตามประกาศคณะปฏิวัติข้อ 12) และในขณะ
เดียวกันก็มีข้อ 6 กำหนดว่า " ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการตามที่ระบุไว้ในข้อ 3 หรือข้อ 5 การประกอบ
กิจการดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกิจการนั้น " ซึ่งมีผลว่าการประกอบกิจการประกันวินาศภัยและการประกัน
ชีวิต จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยและพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ. ศ. 2510 ที่ได้กล่าวถึง
ข้างต้น ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนี้

นอกจากนี้ในปี พ. ศ. 2515 ได้มี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 287 วางข้อกำหนดควบคุมกิจการฌาปนกิจ
สงเคราะห์ ซึ่งมีลักษณะใกล้กับการประกันชีวิตขึ้นไว้โดยเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากกิจการ
นี้โดยมิชอบและเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน แต่ต่อมาได้มี พระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ . ศ .
2517 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 287 นั้นเสีย แล้วได้วางข้อกำหนดในการจัดตั้ง และการดำเนินกิจการ
ของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ตลอดจนวิธีการควบคุมสมาคมดังกล่าวขึ้นใหม่ซึ่งจะได้กล่าวถึงพระราชบัญญัตินี้
เมื่อถึงคราวศึกษาเรื่องการประกันชีวิต

อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งถึงปี พ. ศ. 2535 เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ. ศ. 2510 และพระราช
บัญญัติประกันชีวิต พ . ศ. 2510 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานมีบทบัญญัติหลายประการไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและ
ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับได้มีการเปลี่ยนฐานะของ
สำนักงานประกันภัยเป็นกรมการประกันภัย ดังนั้น จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ. ศ. 2535
และพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ. ศ. 2535 แทนพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยและพระราชบัญญัติประกันชีวิตที่
ใช้มาตั้งแต่ปี พ. ศ . 2510 ดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการรองรับการขยายตัวของธุรกิจประกันภัย ตลอดจนมีการ
ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความคล่องตัวและสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์
แก่ผู้เอาประกันภัยเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เสียใหม่ เพื่อให้สามารถควบคุมและกำกับดูแลกิจการธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่กระนั้น ด้วยเหตุที่ในปัจจุบัน การค้าบริการระหว่างประเทศ ได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จนเกิดการแข่งขันอย่างไร้ขีดจำกัดในระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกัน อันก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า ไม่ว่าจะโดยการออกกฎระเบียบของประเทศต่าง ๆ หรือโดยการเอาเปรียบของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีความพยายามจัดให้มีการเจรจาทางการค้าในระดับระหว่างประเทศ จนกระทั่งในปี พ . ศ. 2536 ด้วยผลของการประชุมการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบอุรุกวัย ก็ได้มีความตกลงกันกำหนดให้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการบริการ ( THE GENERAL AGREEMENT ON TRADE IN SERVICES-GATS) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเปิดเสรีทางการค้าบริการอย่างเป็นธรรมเป็นหลัก ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งได้ให้สัตยาบันความตกลงของ GATS ดังกล่าวนี้ จึงได้รับผลกระทบในการที่อาจจะต้องแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับกิจการประกันภัย อันเป็นธุรกิจบริการประเภทหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศได้เข้ามาดำเนินธุรกิจประกันภัยได้ง่ายขึ้นต่อไปในอนาคต

ประโยชน์ของการประกันภัย

ประโยชน์ของการประกันภัยอย่างกว้างๆ พอจะสรุปได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย

- เป็นการให้หลักประกันต่อบุคคลและครอบครัวของผู้เอาประกันภัยเมื่อมีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตไป

- เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะได้รับชดใช้ ค่าเสียหายนั้นจากผู้รับประกันภัย

- ช่วยปลูกฝังให้เกิดนิสัยการประหยัดและการออมทรัพย์

- สามารถลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา

2. ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

- ช่วยสร้างความมั่นคงในสังคม

- เป็นการลดความไม่แน่นอนในสังคม

- เป็นสวัสดิภาพของสังคม

- ช่วยให้มีการระดมทุน เพื่อพัฒนาประเทศ

3. ประโยชน์ต่อธุรกิจ

- ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ

- เป็นหลักประกันของสินเชื่ออนุมัติของธนาคาร

- ช่วยให้เกิดการค้าขายระหว่างประเทศเป็นไปอย่างดี

- ช่วยให้การคำนวณต้นทุนใกล้เคียงต่อความเป็นจริง

ประเภทของการประกันภัย

ในการแบ่งประเภทของการประกันภัยนั้น เราพิจารณาการแบ่งประเภทได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การแบ่งประเภทของการประกันภัยตามหลักวิชาการประกันภัย

2. การแบ่งประเภทของการประกันภัยตามหลักการทางธุรกิจประกันภัย

การแบ่งประเภทของการประกันภัยตามหลักวิชาการประกันภัย สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. การประกันภัยบุคคล ( Insurance of the person ) เป็นการประกันภัยเกี่ยวกับภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับบุคคลหรือที่เกิดกับบุคคล ซึ่งได้แก่

1.1 การประกันชีวิต

1.2 การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

1.3 การประกันสุขภาพ

2. การประกันภัยทรัพย์สิน ( Property Insurance ) หมายถึง การประกันที่บริษัทผู้รับประกันภัยทำสัญญายินยอมที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่ง ให้กับผู้เอาประกันภัยในกรณีที่เกิดความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เอาประกัน ซึ่งได้แก่

2.1 การประกันอัคคีภัย

2.2 การประกันภัยรถยนต์

2.3 การประกันทางทะเลและขนส่ง

2.4 การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

3. การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ( Liability Insurance ) หมายถึง การประกันที่บริษัทผู้รับประกันภัย ทำสัญญายินยอมที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับบุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายที่เกิดกับชีวิต ร่างกาย หรือ ทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอกนั้น อันเกิดจากการกระทำของผู้เอาประกันภัย ซึ่งได้แก่

3.1 การประกันภัยความรับผิดชอบของบุคคลต่อบุคคลอื่น

3.2 การประกันภัยความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะต่อบุคคลอื่น

3.3 การประกันภัยความรับผิดชอบของธุรกิจต่อบุคคลอื่น

การแบ่งประเภทของการประกันภัยตามหลักการทางธุรกิจประกันภัย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. การประกันชีวิต ( Life Insurance )

2. การประกันวินาศภัย ( Non-Life Insurance ) เป็นการประกันภัยใดๆ ที่ไม่ใช่การประกันชีวิต ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ

2.1 การประกันอัคคีภัย

2.2 การประกันภัยรถยนต์

2.3 การประกันทางทะเลและขนส่ง

2.4 การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

การประกันภัยกับการพนัน

 การประกันภัยกับการพนันมีลักษณะเหมือนกันและแตกต่างกัน โดยส่วนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นการเสี่ยงโชคหรือเสี่ยงภัย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นเหตุการณ์ในอนาคต ส่วนที่แตกต่างกันมีดังนี้

การประกันภัย

การพนัน

 1. เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงภัยแบบ Pure Risk

 1. เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงภัยแบบ Speculative Risk

 2. ความเสี่ยงภัยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น

 2. ความเสี่ยงภัยนั้นเกิดขึ้นแน่นอน

 3. ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้ส่วนเสียในวัตถุหรือเหตุ ที่เอาประกัน

 3. ผู้เข้าร่วมพนันไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้ส่วนเสียใน วัตถุหรือ
เหตุที่เอาพนัน

 4. การประกันภัยต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริต ต่อกัน

 4. ผู้เข้าร่วมพนันไม่จำเป็นต้องมีซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน

 5. การประกันภัยมีผลบังคับตามกฎหมาย

 5. การพนันถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

 6. ภัยที่เกิดเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จะให้ เกิดขึ้น

 6. การพนันเป็นการจงใจสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น

 7. ผู้เอาประกันภัยจะค้ากำไรไม่ได้

 7. การพนันที่ทั้งได้และเสีย ผู้ที่ได้กำไร คือ ผู้ที่เล่นพนันชนะ

 8. ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้

 8. ความเสียหายสามารถทำนายล่วงหน้าได้ จากจำนวนเงิน ที่ได้เล่นพนันไว้

 9. ทราบผู้รับความเสียหายแน่นอนคือผู้เอาประกันภัย

 9. ไม่ทราบว่าใครเสียหายจนกว่าจะมีผู้เล่นพนัน

คำศัพท์ในธุรกิจประกันภัย

 1. ผู้รับประกันภัย ( Insurer ) คือ คู่สัญญาซึ่งตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่ง ให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

 2. ผู้เอาประกันภัย ( Insured ) คือ คู่สัญญาซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยจำนวนหนึ่งให้ผู้รับประกันภัยเมื่อเกิดมีภัยขึ้น ผู้รับประกันภัยจึงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย

 3. ผู้รับผลประโยชน์ ( Beneficiary ) คือ บุคคลภายนอกสัญญาประกันภัย ที่มีสิทธิ์เข้ามารับประโยชน์ในค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนั้น ตามข้อตกลงของผู้เอาประกันภัย กับ ผู้รับประ-กันภัย ดังนั้น เมื่อมีผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้ว ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาอีกต่อไป ผู้รับประโยชน์อาจเป็นบุคคลเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็ได้

 4. เบี้ยประกันภัย ( Premium ) หมายถึง จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับประ-กันภัย ตามสัญญาประกันภัย ซึ่งการจ่ายอาจจะจ่ายเป็นรายปี ราย 6 เดือน ราย 3 เดือน รายเดือน แล้วแต่จะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

5. กรมธรรม์ประกันภัย ( Policy ) หมายถึง เอกสารที่แสดงข้อตกลง เงื่อนไขต่างๆ ของสัญญาประกันภัย ในกรมธรรม์จะประกอบไปด้วย รายละเอียดต่างๆมากมาย อันเป็นเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย

6. ทุนประกันหรือจำนวนเงินเอาประกัน ( Sum insured ) หมายถึง จำนวนเงินที่ตกลงกันว่า ผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อเกิดภัยหรือความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันตามเงื่อนไขในสัญญาหรือกรมธรรม์

ทฤษฎีและหลักพื้นฐานเกี่ยวกับการประกันภัย

ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการประกันภัย มีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ

 1. ความน่าจะเป็น ( Probablilty ) ความน่าจะเป็น เป็นทฤษฎีพื้นฐานที่บริษัทประกันภัยนำไปใช้เป็นค่าประมาณในการ คำนวนณเบี้ยประกันภัยที่จะเรียกเก็บจากผู้เอาประกันภัย

 2. กฎว่าด้วยจำนวนมาก ( Law of large number ) กฎว่าด้วยจำนวนมาก มีหลักว่า ถ้าเพิ่มจำนวนของวัตถุที่ร่วมเสี่ยงภัย หรือ วัตถุที่เอา ประกันมากขึ้นแล้ว ค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจริง จะเท่ากับ ค่าความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ หรือ ความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย จะแม่นยำหรือถูกต้องมากขึ้น จึงเป็นประโยชน์สำหรับการคำนวณเบี้ยประกันภัยแต่ละประเภท กล่าวคือ การเสี่ยงภัยจะลดลง ถ้าจำนวนวัตถุที่มีส่วนในเหตุการณ์เสี่ยงภัยมากขึ้น

 3. กฎของการเฉลี่ย ( Law of average ) ถ้ากลุ่มผู้เสี่ยงภัยมีน้อย ค่าเบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราสูง และทำให้การดำเนินงานการ ประกันภัยไปได้ยาก ในทางตรงกันข้าม ถ้ากลุ่มผู้เสี่ยงภัยมีมาก ค่าเบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราต่ำ และทำให้การประกันภัยดำเนินการไปด้วยดี

หลักพื้นฐานเกี่ยวกับการประกันภัยประกอบด้วย 6 ข้อ คือ

1. หลักส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย ( Insurable interest ) ผู้มีสิทธิเอาประกันภัย จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัยเท่านั้น

 - กรณีประกันวินาศภัย

 ส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย : การที่ผู้เอาประกันภัยมีส่วนเกี่ยวพันโดยชอบธรรมในทรัพย์ ที่เอาประกัน คือมีกรรมสิทธิ์หรือมีประโยชน์หรือ มีความรับผิดชอบตามกฎหมายในวัตถุที่เอาประกันภัย

เวลาที่ต้องมีส่วนได้เสีย : ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียทั้งขณะทำสัญญาประกันภัย และ ขณะที่เกิดความเสียหาย ยกเว้นการประกันภัยทางทะเล ที่ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องมีส่วนได้เสียขณะทำสัญญาประกันภัยได้ แต่ต้องมีส่วนได้เสียขณะที่เกิดภัยขึ้น

- กรณีประกันชีวิต

 ส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย : ผู้เอาประกันมีความผูกพันทางกฎหมาย ความผูกพันทาง ครอบครัว หรือมีส่วนได้เสียอันเกิดจากการเป็นหุ้นส่วนในการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งพิสูจน์ได้ว่า การเสียชีวิตของหุ้นส่วนจะเกิดความเสียหายต่อกิจการที่ทำร่วมกัน

 เวลาที่ต้องมีส่วนได้เสีย : ผู้เอาประกันจะต้องมีส่วนได้เสีย ขณะทำสัญญาเท่านั้น โดยไม่ จำเป็นต้องมีส่วนได้เสียอันอาจเอาประกันภัยได้ในขณะเกิดภัย

2. หลักสุจริตอย่างยิ่ง ( Utmost good faith ) หมายถึง การที่ผู้เอาประกันภัย และผู้รับประ-กันภัยมีความสุจริตใจต่อกัน ในขณะที่เข้าทำสัญญา กล่าวคือ จะต้องเปิดเผยข้อความจริง ไม่แถลงข้อความเท็จ และปฏิบัติตามคำรับรอง

 สาระสำคัญที่ถือว่าปฏิบัติตามหลักสุจริตอย่างยิ่ง มี 3 ประการ คือ

 1. การเปิดเผยข้อความจริง ( Representations )

 ตัวอย่าง นาย ส ขอประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเล สินค้าที่ขอเอาประกันคือ วัสดุก่อสร้างและเคมีภัณฑ์ติดไฟง่าย แต่นาย ส แจ้งให้ผู้รับประกันทราบในสัญญาว่าเป็นวัสดุก่อสร้างเพียงอย่างเดียว โดยปกปิดข้อความจริงไว้โดยเจตนา ทั้งนี้ต้องการจ่ายเบี้ยประกันภัยตามมาตรฐาน หรือเกรงว่าบริษัทไม่รับประกัน ปรากฏว่าเรือไฟไหม้บรรทุกสินค้านั้น กรณีเช่นนี้บริษัทไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพราะถือว่านาย ส ไม่เปิดเผยข้อความจริง

 2. การไม่แถลงข้อความเท็จ ( Non- Misrepresentations )

ตัวอย่าง นาย ส ขอเอาประกันชีวิต ในใบแถลงสุขภาพแจ้งว่าสุขภาพดี ไม่เคยเจ็บป่วยถึงขั้นนอนในโรงพยาบาลในรอบ 5 ปี โดยจริงเขาเป็นโรคมะเร็งและเข้าผ่าตัดใน 6 เดือน หลังทำสัญญาไม่นาน เขาเสียชีวิตลง กรณีนี้ บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เพราะ นาย ส แถลงข้อความเท็จอันมีสาระสำคัญต่อการพิจารณารับประกันภัย

 3. การปฏิบัติตามรับรอง ( Warranty )

 คำรับรอง ( Warranty ) คือ ข้อความในสัญญาที่ผู้เอาประกันภัยตกลงจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อันกระทบความเสี่ยงภัยของผู้รับประกันภัย เช่น ติดตั้งสัญญาณเตือนอัคคีภัย การจ้างยามรักษาการณ์ในโรงงานยามวิกาล เป็นต้น

3. หลักชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ( Indemnity ) หมายถึง การที่มีความเสียหายเกิดขึ้นอันเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ได้รับประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิรับค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น บ้านมูลค่า 2 ล้านบาท ไฟไหม้เสียหาย 2 แสน จะได้รับเงินชดใช้ 2 แสนบาท สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 บัญญัติไว้ว่า

 "ผู้รับประกันภัยจำเป็นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้คือ

 1. เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

 2. เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปิดความวินาศภัย และ

 3. เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควร ซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สิน ซึ่งเอาประกันภัยไม่ให้วินาศ" การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จะต้องเท่ากับความเสียหายจริง ผู้รับประกันภัย อาจจะชด ใช้ค่าเสียหายได้ หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความสะดวก และความพอใจของผู้เอาประกัน และผู้รับประกันภัย

 1. จ่ายเป็นเงินสด

 2. การช่อมแซมให้กลับมีสภาพเหมือนเดิม

 3. การหาสิ่งของมาทดแทน การประกันภัยทรัพย์สิน บางประเภทไม่เข้าข่ายกรณีนี้ เช่น วัตถุโบราณซึ่งยากที่จะ
กำหนดมูลค่าความเสียหาย ดังนั้น จึงกำหนดมูลค่าชดใช้แน่นอนไว้ล่วงหน้า แม้เกิดความเสียหายบางส่วนหรือทั้งหมด ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ตามจำนวนที่ระบุในสัญญา เราเรียกกรมธรรม์นี้ว่า Valued Policy สำหรับการประกันชีวิตหรือการประกันสุขภาพ ไม่เข้าข่ายของหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นกัน

4. หลักการรับช่วงสิทธิ์ ( Subrogation ) หมายถึง หลักที่กำหนดว่าผู้รับประกันภัยสามารถรับช่วงสิทธิ์ทั้งปวงของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องจากบุคคลภายนอกผู้ก่อ
ให้เกิดความเสียหายแก่วัตถุที่เอาประกันภัย เมื่อผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริงให้แก่ผู้เอาประกันภัย และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นการกระทำของมนุษย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ส่วนการประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย
หรือ ผู้รับประกันภัย ภัยจากธรรมชาติ (อุทกภัย วาตภัย) ผู้รับประกันไม่สามารถรับช่วงสิทธิได้

การประกันภัยที่จะใช้หลักการรับช่วงสิทธิได้ มีลักษณะทั้ง 3 ประการ คือ

 1. เป็นวินาศภัย

 2. เป็นวินาศภัยที่เกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก

3. ผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแล้ว

วัตถุประสงค์ของการรับช่วงสิทธิ เพื่อ

 1. เพื่อป้องกันการแสวงหากำไรของผู้เอาประกันภัย ซึ่งอาจรับผลประโยชน์ทั้ง 2 ทาง คือ จากผู้ที่รับประกันภัยและจากผู้ก่อความเสียหาย

 2. เพื่อให้บุคคลผู้ก่อความเสียหายรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ได้ก่อนั้น

5. หลักการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ( Contribution ) เมื่อเกิดความเสียหาย แม้ว่าผู้เอาประกันภัยจะประกันภัยเกินมูลค่าส่วนได้เสีย หรือ เอาประกันภัยจากผู้รับประกันภัยหลายราย ซึ่งทำให้จำนวนเงินเกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง โดยผู้รับประกันภัยจะเฉลี่ยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวตามอัตราส่วน

ลักษณะของการประกันภัยที่ใช้หลักการนี้ ต้องมีลักษณะดังนี้

 1. มีกรมธรรม์ตั้งแต่ 2 ฉบับขึ้นไป

 2. คุ้มครองภัยเดียวกัน

 3. คุ้มครองส่วนได้เสียอันเดียวกันของผู้เอาประกันภัย

 4. วัตถุที่เอาประกันภัยของแต่ละกรมธรรม์ต้องเป็นวัตถุเดียวกัน

 5. ทุกกรมธรรม์มีผลบังคับใช้ในเวลาเกิดความเสียหาย

วิธีการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทำได้ 3 วิธี คือ

  1. ตามอัตราส่วน ( Prorate ) ตามตัวอย่างต่อไปนี้ ตัวอย่าง นาย ส มีประกันอัคคีภัยบ้านของเขากับบริษัท (ก) (ข) และ (ค) โดยทุนประกันภัยคือ 100,000 บาท 40,000 บาท และ 60,000 บาท ตามลำดับ ปรากฏว่าเกิดไฟไหม้เสียหาย 10,000 บาท บริษัท (ก) (ข) และ (ค) จะจ่ายค่าเสียหายให้ดังนี้

 ทุนประกันทั้งหมด 100,000 + 40,000+ 60,000 = 200,000 บาท

บริษัท (ก) จ่าย 100,000/200,000x10,000 = 5,000 บาท

บริษัท (ข) จ่าย 40,000/200,000x10,000 = 2,000 บาท

บริษัท (ค) จ่าย 60,000/200,000x10,000 = 3,000 บาท
รวม 10,000 บาท

  2. จ่ายเป็นจำนวนเงินเท่าๆกัน ( equal share ) วิธีนี้ต้องระบุในสัญญาโดยผู้รับประกันภัยแต่ละรายจะชดใช้ค่าเสียหายให้เท่าๆกัน แต่ไม่เกินตามกรมธรรม์ที่ระบุไว้ในแต่ละฉบับ

  ตัวอย่าง เหมือนตัวอย่างข้างต้น แต่เปลี่ยนทุนประกันเป็น 10,000 บาท 20,000 บาท และ 30,000 บาท เกิดไฟไหม้เสียหาย 15,000 บาท ดังนั้นจะเฉลี่ย = 15,000/3 = 5,000 บาท โดยบริษัท (ก) (ข) และ (ค) จ่ายบริษัทละ 5,000 บาทเท่ากัน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นความเสียหาย 50,000 บาท เราต้องพิจารณาเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้ คือ
 ขั้นตอนที่ 1 พิจารณาว่าทุนประกันภัยต่ำสุด คือ 10,000 บาท ซึ่งน้อยกว่า 50000 บาท ดังนั้นต้องเฉลี่ยชดใช้บริษัทละ 10,000 บาท ก่อน

 ขั้นตอนที่ 2 ค่าเสียหายที่เหลือ 50,000 – (3*10,000) = 20,000 จึงเฉลี่ยให้บริษัท (ข) และ (ค) รายละ 10,000 บาท

ดังนั้น บริษัท (ก) จ่าย 10,000 บาท

บริษัท (ข) จ่าย 10,000 + 10,000 = 20,000 บาท

บริษัท (ค) จ่าย 10,000 + 10,000 = 20,000 บาท

รวม 50,000 บาท

  3. จ่ายแบบสืบเนื่องเป็นลำดับ วิธีนี้ใช้ในกรณีการทำสัญญาประกันภัยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยมิได้กระทำในวันเดียวกัน จะกำหนดให้ผู้รับประกันภัยลำดับแรก ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงก่อน ถ้าไม่สามารถชดใช้หมด ผู้รับประกันภัยรายต่อมาจึงเป็นผู้ชดใช้

 ตัวอย่าง นาย ส เช่ารถจากบริษัท ว ซึ่งบริษัท ว ได้ทำประกันภัยความเสียหายอันเกิดแก่รถ และยังทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลอื่น ซึ่งผู้เช่ารถอาจก่อขึ้นด้วย โดยมีทุนประกันรับผิดต่อร่างกายและทรัพย์สินรายละ 200,000 บาท โดยทำประกันภัยไว้กับบริษัท ก ส่วน นาย ส ก็ได้ทำประกันเกี่ยวกับความรับผิดต่อร่างกายและทรัพย์สินไว้กับบริษัท ข รายละ 100,000 บาท เช่นกัน ถ้า นาย ส ขับรถไปชนบุคคลอื่นบาดเจ็บ ความเสียหายตามคำพิพากษา คือ 250,000 บาท ในกรณีนี้ บริษัท ก จะต้องจ่าย 200,000 บาท และบริษัท ข จ่ายเพียง 50,000 บาท เท่านั้น

 การใช้วิธีการในการร่วมชดใช้ค่าเสียหายนั้นขึ้นอยู่กับสัญญาที่กระทำ สำหรับประเทศไทย ตามกฎหมายระบุให้ใช้วิธีการร่วม ชดใช้ค่าเสียหายแบบแรก

6. หลักสาเหตุใกล้ชิด ( Proximate cause ) หมายถึง หลักที่กำหนดให้ผู้รับประกันภัย จะต้องชดใช้ค่าสินไหมอันเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใกล้ชิดกับภัยที่ทำประกันภัยไว้ สาเหตุความใกล้ชิด คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นต่อเนื่องไม่ขาดตอน และเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัยแล้ว

  ตัวอย่าง เกิดไฟไหม้บ้าน นาย ก ทำให้พนักงานดับเพลิงต้องฉีดน้ำสกัดไฟไปยังบ้านนาย ส ซึ่งเป็นบ้านข้างเคียงทำให้ทรัพย์สินบ้านนาย ส เสียหายพิจารณาว่าเป็นสาเหตุใกล้ชิด เพราะเป็นสาเหตุไม่ขาดตอน ซึ่งมาจากภัย คือ ไฟ ดังนั้นหากนาย ส มีประกันอัคคีภัยคุ้มครองบ้านของตน บริษัทประกันภัยนั้นต้องจ่ายค่าสินไหมให้นาย ส ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง