สู่การตื่นรู้ท่ามกลางโลกอันซับซ้อน

3S วิวัฒน์จิต: สู่การตื่นรู้ท่ามกลางโลกอันซับซ้อน

การตื่นรู้ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากมายนั้น จำต้องอาศัย ความเข้าใจ เรื่องการวิวัฒน์จิตให้ใหญ่ขึ้น และด้วยเหตุที่จิตใจมีอาณาเขตกว้างขวาง กินพื้นที่หลายพรมแดน ผู้เขียนจึงขอแนะนำพรมแดนภายในจิตใจสามพรมแดนใหญ่ๆ ที่เรียกว่า “3S” ซึ่งการเรียนรู้พรมแดนทั้งสามที่มีอยู่แล้วในจิตใจเราแต่ละคน อาจช่วยวิวัฒน์จิตให้ตื่นรู้เท่าทันกับโลกอันซับซ้อนในยุคนี้ได้บ้างไม่มาก ก็น้อย

พรมแดนแรกคือ สภาวะจิต (State) หากเปรียบเทียบกับภูมิทัศน์ทางกายภาพ ก็เหมือนเป็นมหาสมุทร เป็นพรมแดนที่มีลักษณะไม่คงที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เปรียบดั่งคลื่นในมหาสมุทร บางขณะก็เงียบสงบ บางขณะก็บ้าคลั่ง ไม่มีความ เป็นเส้นตรง อยู่เหนือความเข้าใจด้วยเหตุผล หรือตรรกะใดๆ แต่ปรากฎให้รับทราบได้ เป็นความจริงชั่วคราว สภาวะจิตที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ สภาวะตื่น สภาวะหลับฝัน สภาวะหลับลึกไม่ฝัน สภาวะสมาธิ สภาวะเลื่อนไหล (flow) เป็นต้น สภาวะเหล่านี้มีจุดร่วมกันคือ “ความชั่วคราว” ที่สามารถรับรู้ได้ในปัจจุบันขณะ

พรมแดนที่สองคือ ระดับจิต (Stage) เปรียบดั่งผืนแผ่นดิน ที่มีทั้งที่ราบลุ่มไปจน ถึงภูเขาสูงชัน ระดับจิตก็เปรียบได้กับระดับความสูงต่ำของผืนแผ่นดิน มนุษย์จะมีลักษณะการเพิ่มระดับจิตเป็นไปตามลำดับขั้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป ก้าวกระโดดไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะมี “ความถาวร” โดยสัมพัทธ์กับสภาวะจิต วงวิชาการจิตวิทยาตะวันตกค้นพบว่า มนุษย์มีโครงสร้างทางจิตที่พัฒนาซับซ้อนขึ้นนับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย ข้อค้นพบเหล่านี้ปรากฎในทฤษฎีโครงสร้างจิต ของเพียเจต์ (Jean Piaget) โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) และคีแกน (Robert Kegan) เป็นต้น หากยกตัวอย่างในระบบของคีแกน มนุษย์มี ๕ ระดับจิต ที่มีพัฒนาการตามลำดับคือ ๑. ช่วงแรกเกิดคือ “จิตตามสิ่งเร้า” (Impulsive Mind) ๒. ช่วงวัยแรกรุ่นคือ “จิตตามใจตน” (Imperial Mind) ๓. ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นคือ “จิตตามสังคม” (Socialized Mind) ๔. ช่วงวัยกลางคนคือ “จิตประพันธ์ตน” (Self-authoring Mind) และ ๕. ช่วงสูงวัยคือ “จิตวิวัฒน์ตน” (Self-transforming Mind) ด้วยเหตุที่จิตมีโครงสร้าง การเปลี่ยนระดับจิตขึ้นลงจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก และอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง

พรมแดนที่สามคือ เงา (Shadow) เปรียบดั่งพรมแดนลี้ลับที่ยังไม่เคยมีใครเข้าไปสำรวจ เป็นพรมแดนที่ไม่ได้อยู่ภายในการรับรู้ของจิตสำนึก แต่ยังคงมี อยู่ในจิตไร้สำนึก เงามักจะโผล่หรือหลุดออกมาตอนเราเผลอไม่รู้ตัว ได้แก่ การหัวเราะกลบเกลื่อนความอับอายบางอย่างในใจ การโยนความผิดไปที่คนอื่น ทั้งที่จริงเราเองก็เป็นสิ่งนั้น การพลั้งปากพูดคำที่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น แม้ว่าดูเผินๆ เราอาจจะเห็นว่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเราลองสืบค้นไป จะพบว่ามีอะไรทำงานอยู่ในจิตไร้สำนึกเวลาแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ หลายต่อหลายครั้งที่พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คนต้องจบชีวิตการแต่งงาน หันเข้าหายาเสพติด หรือไม่ก็ก่อความรุนแรงขึ้นในสังคม เบื้องหลังของเรื่องเล็กๆ ที่ถูกขยายให้กลายเป็นเรื่องใหญ่นั้น ผู้เขียนเชื่อว่ามีเงาเป็นมูลเหตุแทบทั้งสิ้น เงาเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันในวัฒนธรรม ครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่น จะว่าไปแล้ว ก็คล้ายกับเวรกรรม ที่ถ่ายทอดกันจาก จิตสู่จิต ในขณะเดียวกันก็มีความเฉพาะตัวส่วนบุคคลอยู่ในที ด้วยเหตุนี้บุคคลจึงมีโอกาสเลือกว่าจะส่งต่อกรรมนี้ไปยังลูกหลานรุ่นต่อไป หรือไม่

พรมแดนทั้งสามมีอยู่แล้วภายในจิตใจของทุกคน อันที่จริงความสัมพันธ์ของมันมีลักษณะ “ไร้พรมแดน” เสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ แต่ละพรมแดนต่างมีอิทธิพลถึงกัน ถ่ายทอดข้อมูลข้ามไปมาอยู่เสมอๆ

ตัวอย่างเช่น ในเส้นทางการเติบโตทางจิต ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม ทั้งความคิด ความรู้สึก หรือศีลธรรม เรามักจะทิ้งอะไรบางอย่างไป เช่น ทิ้งความอ่อนแอ ทิ้งความขี้เล่น หรือทิ้งความสนุกสนาน เป็นต้น เคยได้ยินหรือไม่ว่า ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่เสียอะไรไป ชีวิตเราที่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน เรายอมแลกอะไรบางอย่างไป เพื่อที่ว่าเราจะได้เติบโต แต่บางอย่างที่แลกไปนั้น อาจเป็นบางส่วนเสี้ยวของตัวตนที่เราเฉือนมันออกไป และนั่นก็จะกลายเป็น “เงา” ที่คอยตามหลอกหลอนมาในภายหลัง ว่ากันว่า ช่วงครึ่งแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงของการเติบโตเพื่อเผชิญกับโลก จะเป็นช่วงแห่งการสะสมเงา ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของชีวิต จะเป็นช่วงแห่งการกลับมาของเงา แม้ว่าเราจะต้องการหรือไม่ก็ตาม การเติบโตในช่วงครึ่งหลังของชีวิตจึงเกี่ยวข้อง อย่างมากกับการรู้จักและทำ งานกับเงา

บางครั้งการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ ก็อาจแลกมาด้วยการสูญเสียตัวตนบางอย่างไปเช่นกัน และเงาที่เกิดขึ้นระหว่างทางการปฏิบัติจะย้อนกลับมาสร้าง ความยุ่งยากให้กับ เราในภายหลัง เคยได้ยินหรือไม่ว่า นักปฏิบัติบางคนเมื่อปฏิบัติไปก็พบว่า ตนเองบรรลุธรรมขั้นนี้ๆ แล้ว ทั้งที่จริงเป็นเพียงวิปัสสนูกิเลส ที่มาหลอกเอา หรือในทางคริสต์ศาสนามีช่วงเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า “ค่ำคืนอันมืดมิด” (Dark Night) ถ้าในภาษาพุทธบ้านเราก็อาจ เรียกว่าเป็นช่วง “พับเสื่อกลับบ้าน” ช่วงค่ำคืนเช่นนี้เองที่เงาอาจเข้ามาครอบงำ และทำให้นักปฏิบัติ “เพี้ยน” ไปได้ เริ่มเรี่ยไรเงินทอง มีเรื่องชู้สาว หรือเรื่องอำนาจบาตรใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง เงิน เซ็กส์ และอำนาจเป็นสิ่งที่เงามักเข้าไปจับ และเมื่อผูกเข้ากับเรื่อง ทางจิตวิญญาณแล้ว มันช่างเป็นเวรกรรม ที่เรามักพบเห็นกันอยู่เนืองๆ ในสังคมไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะจิตกับระดับจิตก็มีประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อเราประสบกับสภาวะการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใด ขึ้นภายในจิต ใจ แล้วเราจำเป็นต้องสื่อสารบอกกล่าวให้กับสังคมรับรู้ถึงความหมายและความสำคัญ ของมัน เราจะสามารถให้ความหมายได้ตามระดับจิต ที่เรากำลังเป็นอยู่เท่านั้น และหลายต่อหลายครั้งที่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเดียวกัน กลับถูกตีความหมายไปต่างๆ นานา จนทำให้ “ตัวประสบการณ์” ขาดเอกภาพในการตีความ และดูเหมือนขาดความน่าเชื่อถือ ผู้เขียนลองตั้งคำถามท้าทายว่า จำเป็นหรือที่การตีความต้องมี “เอกภาพ” ในขณะเดียวกัน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ตัวประสบการณ์นั้นมีความจริงแท้และน่าเชื่อถือได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว หากการปฏิบัติทางจิตวิญญาณดำเนินไป ตามหลักที่ถูกต้องแล้ว ผลการปฏิบัติย่อมไม่แตกต่างกัน พบกับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่มีความจริงแท้เช่นเดียวกัน หากแต่การตีความเป็นอีกเรื่อง ที่อาศัยระดับจิตที่แตกต่างหลากหลายในการสร้าง ความหมายที่มากกว่าหนึ่งขึ้นไป

การตื่นรู้ในยุคนี้จึงมีความกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าการตื่นรู้ในยุคไหนๆ การเรียนรู้และเข้าใจพรมแดนทั้งสาม และความเข้าใจถึงลักษณะ “ไร้พรมแดน” จะช่วยให้เราตื่นรู้อย่าง “ก้าวข้ามและหลอมรวม” กล่าวคือ ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ และหลอมรวมเอาแก่นสำคัญทั้งหมดของการตื่นรู้ ที่มนุษย์แต่ละยุคสมัย ได้ค้นพบกันมา เพื่อที่ว่าการตื่นรู้ในยุคนี้ จะสามารถรองรับและทานทนต่อความซับซ้อนทางสังคมที่มากขึ้นได้

ชีวิตของเรานั้นเป็นองค์รวมโดยตัวมันเอง การฝึก 3S เป็นการฝึกที่เข้าไปสัมผัสกับพรมแดนต่างๆ ทีละส่วน เพื่อให้เราได้รับข้อมูลจากแต่ละส่วน แล้วนำมาบูรณาการเข้าหากันเป็นองค์รวม โดยไม่ได้พยายามหักล้างกัน แต่อนุญาตให้ข้อมูลไหลข้ามพรมแดนกัน แลกเปลี่ยน และถักทอจนเป็นผืนเดียวกัน จนเกิด “ปิ๊งแว้บ” เป็นปัญญาบูรณาการ

ดังนั้นฐานที่รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนนี้ได้ ก็คือการฝึกฝนตนเองอย่างรอบด้าน ทั้งการฝึกสภาวะ ฝึกระดับจิต และฝึกทำงานกับเงา (ฝึก 3S)

การฝึกสภาวะจิต การฝึกที่คนไทยรู้จักกันดีได้แก่ การฝึกสมถะและวิปัสสนา กล่าวอย่างย่อ สมถะคือการฝึกสภาวะสมาธิ จนจิตตั้งมั่น สงบนิ่ง และเป็นหนึ่งเดียว วิปัสสนาคือ การเห็นตามการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของสภาวะต่างๆ หลวงพ่อพุธ (ฐานิโย) เคยกล่าวไว้ว่า “สมถะเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อ หมดความคิด” ท่านกล่าวตรงไปยังลักษณะการเกิดขึ้นเองของสภาวะโดยไม่ได้บังคับ หรือคิดฟุ้งเอา การฝึกทั้งสองแนวทางอาศัยสติเป็นฐาน สติที่แท้เกิดขึ้นเอง บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่อาศัยว่าจำสภาวะได้ จึงมีสติ

การฝึกระดับจิต อาศัยการสืบค้นตนเองไปจนถึง สมมติฐานใหญ่ที่ยึดถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อหรือข้อสรุปที่เรามักมีให้ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว สมมติฐานใหญ่ เปรียบเสมือน ธรรมนูญชีวิตที่เรากำหนดใช้กับตัวเอง เป็นปกติอยู่เองที่เวลาสืบค้นจนเจอธรรมนูญชีวิตแล้ว เราจะสะท้านสะเทือน เพราะหลายต่อหลายครั้ง เราเองอาจจะไม่อยากเชื่อเลยว่า เราได้ยึดถือสมมติฐานนี้มาโดยตลอด และหลายต่อหลายครั้งที่สมมติฐานเหล่านี้ อาจจะไม่ตรงต่อความเป็นจริงที่ปราก ฎอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ภายใต้สมมติฐานใหญ่ เรามักมีปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ ด่วนสรุปตัดสินอย่างรวดเร็วต่อเรื่องที่ปรากฎตรงหน้าว่าเป็นอย่างนั้นอย่าง นี้ ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้ประการหนึ่ง คือการสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการด่วนสรุป การทึกทักเอา ความผิดหวัง เป็นต้น เมื่อพบกับปฏิกิริยาบางอย่างนี้ในตัวเรา ลองสืบค้นต่อไปว่า เราเชื่ออะไร เรามองโลกอย่างไร อาจเขียนออกมาเป็นประโยคหรือวลีเช่น “โลกนี้มีแต่สีขาว ไม่มีที่อยู่ให้กับสีดำ” “ไม่ควรมีใครรังเกียจฉันแม้แต่คนเดียว” “ผู้ชนะคือผู้ที่อยู่รอดเสมอ” “เกิดมาทั้งทีก็ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” “ฉันเท่านั้นที่รู้ทุกอย่าง คนอื่นไม่มีทางรู้ได้เท่าฉัน” เป็นต้น เมื่อสามารถสะท้อนสมมติฐานใหญ่เหล่านี้ออกมาได้ จากนั้นจึงเป็นการทดสอบสมมติฐานว่าจริงเท็จประการใด ซึ่งมีวิธีทดสอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่อนช่วยบอกว่าเขาสังเกตเห็นอะไรในตัวเรา การสังเกตพฤติกรรมซ้ำๆ ของตนเอง การสังเกตแบบแผนทางความคิดของตนเอง ตลอดจนการสังเกตท่าทีที่เรามีต่อผู้อื่น เป็นต้น จนสามารถทำให้สมมติฐานใหญ่นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่เข้ามาครอบงำเราได้อีกต่อไป

การฝึกทำงานกับเงา ด้วยการสังเกตในชีวิตประจำวันว่า เราหงุดหงิดรำคาญใจ หรือหลงใหลไปกับอะไรมากเป็นพิเศษ พูดในภาษาวัยรุ่นหน่อยก็ได้ว่า เรา “จี๊ด” “ปี๊ด” หรือ “ปลื้ม” ไปกับอะไร เราพึงตระหนักว่า มันอาจเกี่ยวข้องอะไรบางอย่างกับเงา วิธีที่ง่ายที่สุด (แต่อาจยอมรับยากที่สุด) คือ เราเกลียดอะไร สิ่งนั้นก็คือเงาของเรา สิ่งนั้นก็คือตัวตนที่เราไม่เอา ทิ้ง หรือเก็บกดมันเอาไว้ในจิตไร้สำนึก นอกจากสิ่งที่ “ปี๊ด” แล้ว เราอาจสังเกตจากการพลั้งปาก เผลอลงมือทำอะไรที่เราไม่คาดคิด เผลออ่านอะไรผิดๆ หรือเผลอได้ยินอะไรผิดๆ เป็นต้น สิ่งที่เผลอเหล่านี้เราอาจคิดว่า เป็นเรื่องเล่นๆ ตลกๆ แต่ลองพิจารณาดูให้ดี มันเกี่ยวข้องอะไรกับเงาที่เราเกลียดหรือไม่ การสังเกตเงายังมีอีกหลากหลายวิธี เช่น การสังเกตการกล่าวโทษผู้อื่นของตัวเรา การสังเกตความฝันซ้ำๆ หรือความฝันที่ทำให้เราหัวใจเต้นแรง การสังเกตท่าทีตีตลกกลบเกลื่อน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่ช่วยให้เรา “พบกับเงา” ที่อยู่ในมุมมืดของจิตใจ เมื่อพบแล้วก็มีโอกาสที่จะ “คืนรักให้กับเงา” ได้ด้วยกระบวนการทำงานกับเงา (ซึ่งต้องขออภัยที่ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด เพราะจะใช้เนื้อที่อีกมาก)

ข้อมูลที่ได้รับจากการฝึกทั้งสามพรมแดน จะทำให้มีโอกาสเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลกมากขึ้น เป็นหนทางแห่งการตื่นรู้ในยุคปัจจุบันที่ก้าวข้าม และหลอมรวมภูมิปัญญาในยุค ต่างๆ ของมนุษย์ จิตที่รับข้อมูลอย่างรอบด้านนั้นเองจะเป็นผู้บูรณาการ จนเกิดปัญญาเห็นแจ้งในการดำรงอยู่กับโลก สามารถนำพาให้เราเผชิญกับความซับซ้อนของโลกได้อย่างเหมาะสม และสมบูรณ์ คือ สม อันแปลว่า พอดี และบูรณ อันแปลว่า เต็มรอบ ขอเพียงเราหมั่นฝึกฝนตนเองอย่างเต็มรอบพอดี อย่างน้อยก็ 3S ในช่วงชีวิตที่เรายังมีแรงฝึกกันได้ และจิตยังคงวิวัฒน์อยู่ การตื่นรู้เท่าทันโลกอันซับซ้อนก็จะบังเกิดขึ้นแก่ตัวท่านเอง


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553