จิตกับกาย สารเคมีที่สัมพันธ์กับจิตและกาย
สารเคมีที่สัมพันธ์กับจิตและกาย
ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ทางจิตรู้แล้วว่า จิตกับกาย มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน อย่างลึกซึ้ง และเป็น จิตที่คุมกาย (mind over matter)
นักวิทยาศาสตร์ทางจิต รู้เช่นเดียวกันว่า มนุษย์เราทุกคนมีพลังจิต มีการตระหนักรู้จาก ความตั้งใจ มีอารมณ์ และเมื่อลักษณะจิตดังกล่าว รวมกับความตั้งใจ ที่จะทำสิ่งที่มีความหมายดีงาม หรือทำให้เราอยู่รอด ในสังคมที่เปลี่ยนไป เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวของเราเองตามไปด้วยได้
นักวิจัยได้ทดลองให้ชายหญิงกับเด็กวัยรุ่นดูหนังโป๊และหนังเศร้าสุดขีด ปรากฏว่า ทุกคนสามารถควบคุมระดับจิต และพฤติกรรมทางกายได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเด็กวัยรุ่นอาจจะควบคุมยากไปบ้างเล็กน้อย (Beauregard and O"Leary : Introduction in Spiritual Brain, 2007) ซึ่งแสดงว่า มนุษย์สามารถควบคุม พฤติกรรมทางกายด้วยการยืดหยุ่นทางจิต และจิตวิญญาณได้ตลอดเวลา เพราะมนุษย์เท่านั้นที่สามารถมีวิวัฒนาการสู่จิตวิญญาณ (spirituality) ได้
มนุษย์มีการยืดหยุ่นทางจิต (resiliency) ได้สูง เพราะว่าได้ผ่านพ้นความเป็น สัตว์ไปแล้ว การปรับตัวเองทางกายภาพไม่ได้อยู่ที่ ชีววิวัฒนาการทางกายภาพ แต่เป็นเรื่องวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ (spirituality) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช้า ละเอียด มาทีหลังชีววิวัฒนาการทางกายภาพ และมีแต่ในมนุษย์เท่านั้น ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเหมือนที่ศาสนาบอกว่า มนุษย์ทุกคน - เร็วหรือช้า - จะต้องมีวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณที่ไล่สูงขึ้นไปจนถึงนิพพาน
เราจึงต้องทำความรู้จักกับเรื่องของจิตกับจิตวิญญาณ - ในเชิงวิทยาศาสตร์ - ให้มากกว่านี้
นักวิชาการทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายกาย ทั้งนักจิตวิทยา และนักเทววิทยา หรือนักศาสนศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์ หรือนักฟิสิกส์ ต่างรู้ว่าจิตกับกาย (mind and body) แยกจากกันไม่ได้ แต่ความรู้หรือความเข้าใจเช่นนั้น ไม่ค่อยมีใครตอบให้กระจ่างชัดได้ ยิ่งนักประสาทวิทยาศาสตร์ส่วนมากแล้วแทบไม่ต้องพูดถึง พวกเขาแทบจะไม่ยอมรับอะไรที่เป็นเรื่องของจิตแท้ๆ เลย เพราะเชื่อว่าจิตไม่มีจริง หรือถึงมีก็เป็นส่วนของกาย (epiphenomenon) ที่ทำงานอย่างซับซ้อน
หรือพูดง่ายๆ ว่า จิตเป็นผลของการจัดองค์กรตนเองของสมอง โดยเฉพาะในระยะหลัง เมื่อมีการค้นพบสารเคมีหลายชนิด ที่ทำหน้าที่เหมือนกับว่า เป็นตัวการที่สัมพันธ์กับเรื่องของจิต (neurocorrelates of the consciousness or NCCs) ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ของการเป็นเหตุที่ก่อผลเลย ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
ในขณะที่หนังสือที่ดีมากๆ ในเรื่องนี้ - เรื่องสำคัญของการพึ่งพาอาศัยหรือเป็นเหตุปัจจัยกัน - ที่เขียนโดยนักจิตวิทยาอัจฉริยะ คาร์ล กุสตาฟ จุง กับนักควอนตัมฟิสิกส์รางวัลโนเบล วูล์ฟกัง พอลี่ (Carl Gustav Jung and Wolfgang Pauli : Interpretation of Nature and Psyche, 1954) กลับไม่มีคนสนใจเท่าที่ควร และเรื่องนี้สมควรจะนำมาพูดกัน
หนังสือเล่มนี้เดิมทีเขียนเป็นภาษาเยอรมัน แต่มีคนแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในหนังสือ วูลฟ์กัง พอลี่ จะพูดเสมอๆ ว่า เขาเชื่อว่าเรื่องของ จิตกับกายนั้น มีกระบวนการแห่งความรู้ที่ชัดแจ้งว่า ทั้งสองมีจุดกำเนิดหรือที่มาจากแหล่งเดียวกัน ก่อนที่จะแยกเป็น จิตกับกายดังที่ผู้เขียนได้เขียนถึงมาตลอด คาร์ล จุง ก็พูดเช่นนั้น โดยบอกว่ามิติที่มาก่อนการแยกตัวออกเป็นจิตกับกาย - จุงเรียกว่า "อูนัส แมนดัส" (unus mandus) - และจากอูนัส แมนดัส รูปแบบ (archetype) ของจิตไร้สำนึกโบราณของสัตว์โลกที่เรารับรู้ก็จะแสดงปรากฏการณ์ของจิตใจและร่างกายออกมา
พูดง่ายๆ คือ เป็นรูปแบบของจิตโบราณของจักรวาลที่ไม่สามารถจะเปลี่ยนตัวเองเป็นจิตสำนึกได้ (ต้องมีสมองของสัตว์โลกเป็นผู้บริหาร) แต่เป็นจิตโบราณที่เป็นรูปแบบร่วมของจิตและกาย ซึ่งจุงเชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้จิตกับกายมีความติดต่อเชื่อมโยงกัน
และจะว่าไปแล้ว วูลฟ์กัง พอลี่ ก็คิดเช่นนั้นว่า คงจะต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นความจริงแท้ที่ติดต่อเชื่อมโยงกัน ซึ่งทำให้องค์กรอัตวิสัย (subjective) และวัตถุวิสัย (objective) ของจักรวาลเป็นหนึ่งเดียวกัน (ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นเสมือนจิตไร้สำนึกที่ไม่ได้บริหารที่สมอง แต่บริหารโดยจักรวาลเช่นเดียวกับองค์กรซ่อนตัวเองของเดวิด โบห์ม (implicate order)) ซึ่งพอลี่ก็คิดว่ามันจะต้องมีการแตกแยกกันของอูนัส แมนดัส ที่ถือว่าเป็นจิตไร้สำนึกพื้นฐาน (psychophysical symmetry) ที่ทำให้จิตโบราณ (archetype) หนึ่ง กับกฎทางฟิสิกส์ (physical law) อีกหนึ่งมีขึ้นมา และพอลี่คิดว่า น่าจะมีกฎธรรมชาติของจักรวาลอีกกฎหนึ่งคอยควบคุมการโผล่ปรากฏของจุดกำเนิดของจิตและกายอีก
อย่างไรก็ตาม สมมติฐานของ วูล์ฟกัง พอลี่ นี้เป็นเรื่องที่นักฟิสิกส์คลาสสิคยอมรับกันไม่ได้ พอลี่เลยไม่ขยายความต่อ
ความสำคัญที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น ตอกย้ำสิ่งที่ผู้เขียนได้พูดมาตลอดว่า แทนที่จิตจะเกิดขึ้นจากการทำงานที่ซับซ้อนของกายหรือสมอง ตามที่นักประสาทวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกัน จริงๆ แล้ว ทั้งสององค์กรหรือทั้งจิตและกายน่าจะโผล่ปรากฏออกมาจากความจริงแท้แหล่งเดียวกันของจิตโบราณ หรืออาร์คีไทป์ของจุง
ว่าไปแล้ว เบเนดิค เดอ สปิโนซ่า เคยสันนิษฐานว่าจะต้องมีพื้นฐานของความจริงอยู่หนึ่งเดียวที่เขาเรียกว่า "คอสซา ซูอิ" (causa sui) ซึ่งให้ปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงของโลกแห่งจิตและกาย
ต่อมา เดวิด โบหม์ นักควอนตัมฟิสิกส์อัจฉริยะ และ อูยีน วิกเนอร์ กับ เบอร์นาร์ด เอสปาร์ยัต นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล - ต่างกรรมต่างวาระ - ต่างก็ให้ทรรศนะเป็นอย่างเดียวกัน
เดวิด โบห์ม เป็นนักฟิสิกส์ที่มองทุกอย่างในจักรวาลในทางปรัชญา ดังนั้น เขาจึงมองความจริงทางโลกว่าเป็นภาพลวงตาของสิ่งที่ - ในความเป็นจริง ที่อยู่ลึกลงไป - จะเป็นอีกอย่าง ภาพลักษณ์ทางโลกล้วนเป็นสิ่งที่คลี่ขยายออกมาเป็นองค์กรที่เปิดเผย (explicate order) เพื่อให้เรารับรู้ (perception) โลกเป็นวัตถุหรือเป็นปรากฏการณ์เพื่อการดำรงอยู่ของเราในโลกที่มีสามมิติ (บวกที่ว่าง-เวลาอีกหนึ่งรวมเป็นสี่มิติ) ที่คลี่ขยายออกมาจาก องค์กรที่ซ่อนเร้นตัวเอง (implicate order) ซึ่งน่าจะตรงกับอาร์คีไทป์ของ คาร์ล จุง ซึ่งการคลี่ขยายออกไป และการม้วนตัวกลับเข้ามา (unfold and enfold) จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยมีจิตเป็นส่วนร่วมและกำหนด
ทุกวันนี้ นักฟิสิกส์หลายคนคิดว่าโลกและจักรวาลมีที่มาจากความคิดหรือจินตนาการ (ที่มีความเป็นไปได้อย่างมีเหตุมีผล) คล้ายๆ กับโลกแห่งคณิตศาสตร์ ของพลาโต (mathematic world of Plato) ที่ประกอบด้วยความจริงหลายระดับที่ซับซ้อนอย่างที่สุด อย่างเช่นที่ จอร์จ เอลลิส คิดว่ามีอยู่สี่ระดับ คือ หนึ่ง โลกแห่งสสารวัตถุและพลังงาน สอง โลกแห่งจิต สาม โลกแห่งชีวิต และสี่ โลกแห่งคณิตศาสตร์
ซึ่งแต่ละระดับมีความซับซ้อน และต่างเป็นเอกราชต่อกัน คือต่างก็ใช้อธิบายการเกิดขึ้นของแต่ละอย่างไม่ได้ทั้งหมด
เช่น คณิตศาสตร์อย่างเดียวไม่สามารถอธิบายการเกิดขึ้นของสสารวัตถุได้ ชีวิตไม่อาจอธิบายการเกิดของจิตได้ ฯลฯ ดังนั้น ทั้งหมดจะต้องมีตัวเชื่อม (George F.R. Ellis : Progress in scientific and Spiritual Understanding in Spiritual Information, 2005) ซึ่งเอลลิสคิดว่า คือ ข้อมูล แต่ผู้เขียนไม่เห็นว่า ตัวอย่างหรือระดับทั้งสี่นั้นมีความจำเป็นเลย ข้อเสนอของ จอร์จ เอลลิส จึงเหมือนกับว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง โดยไปติดที่ความซับซ้อน
หากเราคิดโดยมองเรื่องของจิตไปสู่ความสุดละเอียดที่เป็นปฐมภูมิจริงๆ เช่น เป็นจิตหนึ่งหรือเป็นความว่าง (สุญญตา) ที่ให้ "ธรรมธาตุ" อันเป็นที่มาของ สรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของจักรวาลในพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเรื่องของมิติแห่งอาร์คีไทป์ รวมเรื่องของกาย เรื่องของจิต และเรื่องของ โลกแห่งจินตนาการบริสุทธิ์ (pure idea) แห่งคณิตศาสตร์ ของพุทธศาสนาและของไพธากอรัส - ซึ่งเป็นที่มาของโลกแห่งคณิตศาสตร์ของพลาโต
(ไพธากอรัสนั้นอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวหรือก่อนพระพุทธเจ้าเล็กน้อย เป็นมังสวิรัติและเชื่อในการเคลื่อนย้ายของวิญญาณหลังตาย เคยท่องเที่ยวไกลถึงอียิปต์ เอเชียใกล้ถึงบาบิโลนและอัฟกัน จึงเป็นไปได้ว่าเขาได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมพระเวทจากทางตะวันออก)
เรื่องของสารเคมีที่สมองอันเป็นตัวการที่สัมพันธ์กับจิต ที่นักประสาทวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นตัว "จิต" (consciousness) หรือเป็นนายหน้าของจิต ที่วิทยาศาสตร์เฝ้าหามานาน (NCCs) เท่าที่รู้ สารเคมีที่สัมพันธ์กับการทำงานของกาย-จิตหลายชนิด จะทำงานพร้อมๆ กันจากเซลล์สมองส่วนหน้าเป็นพัลส์ (pulse) ที่ออกมาเป็นชุดติดต่อกันโดยมีประจุไฟฟ้าของแต่ละชุดราวๆ เศษหนึ่งส่วนสิบของโวลต์เป็นเวลาประมาณ 0.5-1.0 มิลลิวินาที (Christof Koch : The Quest for Consciousness, 2004) การค้นพบของ คริสตอฟ คอช ทำให้นักประสาทวิทยาศาสตร์หลายคนดีใจ เพราะทำให้พวกนักวิทยาศาสตร์ กายภาพทั้งหลาย เข้าไปใกล้เรื่องของจิตที่พวกเขาแบ่งรับแบ่งสู้มาตลอด
แต่การค้นพบว่าเซลล์สมองเป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะการทำงานของปรากฏการณ์ทางจิตนั้น ไม่ได้แปลว่าสิ่งอื่นของเซลล์ประสาทไม่มีหรือไม่สำคัญ ในการก่อปรากฏการณ์ทางจิต นอกจากนี้ การค้นพบดังกล่าวว่าสารเคมีที่สมองส่วนหน้าคือสิ่งจำเป็นเฉพาะของการผลิตปรากฏการณ์ทางจิต ก็ไม่พบ ในสัตว์อื่นๆ หรือพืชที่เราก็รู้ว่ามีจิตแต่ไม่มีสมองได้อย่างไร? ที่สำคัญคือ ในคนนอนหลับแล้วฝัน หรือในคนที่สลบไป ซึ่งก็ยังคงมี ปรากฏการณ์ทางจิต เช่นเดียวกัน หรือคนที่อยู่ท่ามกลางเสียงอึกระทึกครึกโครมตลอดเวลาเช่นที่สนามบิน แต่เรากลับสามารถได้ยืนเสียงเรียกชื่อของเรา ในความละเอียดอ่อนเช่นนี้ เราไม่สามารถจะหาสารเคมีหรือตัวการสำคัญที่ว่า (NCCs) ได้ แล้วเราจะตอบว่าอย่างไร?
ที่สำคัญที่สุด เรารู้ว่าปรากฏการณ์ทางจิตเกิดขึ้นเร็วมากและเกิดทับซ้อนกันอย่างรวดเร็วจนเกินคำว่าทันทีทันใด เรียกว่าไม่มีทางที่จะกำหนดหรือวัดได้ การวัดได้เป็นหนึ่งในพันของวินาทีเป็นเวลาที่ช้ามากเหลือเกินจากคำว่าทันทีทันใด ประสบการณ์ทับซ้อนกันอย่างทันทีทันใดนั้นรับรู้ได้แต่เฉพาะกับบุคคลที่หนึ่ง (first person experience) เราจะทำให้เป็นเรื่องของบุคคลที่สามไม่ได้ ตอนหลัง คริสตอฟ คอช จึงได้หันไปสนใจเรื่องของจิตในเชิงจิตวิทยาและศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา ตามอย่างนักประสาทวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์สายตรง เช่นเดียวกับนักประสาทวิทยาศาสตร์ส่วนมาก ที่คิดว่าจิตเป็นผลผลิตของสมอง - ฟรานซิสโก วาเรล่า ที่เพิ่งตายไป กับ อันโตนิโย ดามาสิโอ และคนอื่นๆ - ที่หันไปสนใจพุทธศาสนาอย่างมากและเคยพบกับองค์ดาไลลามะด้วย
แม้ว่าการวิจัยทางประสาทชีววิทยาหรือประสาทวิทยาศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจสมอง - อวัยวะหนึ่งเดียวที่ให้ประสบการณ์ทางจิตแก่เรา - แต่วิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถตอบว่าจิตคืออะไร? ทั้งๆ ที่เราได้ใช้เงินและเวลาถึงร้อยกว่าปีในการวิจัยและค้นคว้าเรื่องของจิตอย่างจริงจังมาตลอด เพราะจิตไม่ใช่สิ่งที่เราจะหาพบได้โดยกล้องจุลทรรศน์ หรือในหลอดทดลอง หรือโดยการสร้างภาพเหมือนจริงโดยเอ็มอาร์ไอ หรือเครื่องสแกนต่างๆ
พูดง่ายๆ จิตไม่ใช่เรื่องของกายหรือวิทยาศาสตร์กายภาพ เพราะจิตเป็นประสบการณ์ตรงที่รู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นประสบการณ์ของบุคคลที่หนึ่งอย่าง ที่พุทธศาสนาบอกไว้จริงๆ
โดย ประสาน ต่างใจ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คอลัมน์ จิตวิวัฒน์ มติชนรายวัน วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10906