ตัวตนกับการภาวนา
ตัวตนกับการภาวนา (๑)
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กันยายน 2553
หากเราไม่เกี่ยงงอนเรื่องที่มา หากมนุษย์คือมนุษย์ ศิลปศาสตร์ทั้งหมดย่อม สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ จิตตปัญญาศึกษาย่อมไม่ถูกตัดขาดเป็นห้วงๆ หากสามารถปะติดปะต่อเชื่อมโยง ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกตะวันตก จากห้องทดลอง หรือห้องสมาธิ จากอารยธรรมที่เจริญแล้วหรือชุมชนบุพกาล ปัญญาปฏิบัติอาจร้อยเชื่อมเข้าหากัน อย่างปราศจาก การตีตรา ปราศจากพรมแดนกีดกั้น และเมื่อนั้นหัวใจของเราย่อมอาจเชื่อมถึงกันได้
ด้านหนึ่งของการเทียบเคียงกับศาสตร์ตะวันตก คือการเปรียบเทียบกับ งานวิจัยอันเกี่ยวเนื่องกับสมอง ซึ่งผมได้ติดตามมาโดยตลอด ผมคิดว่ามันให้อะไรใหม่ ออกไปด้วย อย่างน้อยคือให้การอธิบายอีกมุมมองหนึ่ง มีคนอยู่ไม่น้อยที่จะบอกว่า พุทธศาสนาของเราดีอยู่แล้ว มีทุกอย่างอยู่ในนั้น ผมไม่อยากเชื่อเช่นนั้น จะได้ไหม ผมสนใจอ่านงานของท่านพุทธทาส งานของเจ้าคุณประยุทธ (พระพรหมคุณาภรณ์) แต่ผมเห็นว่าตะวันตกเขา มีอะไรให้เราเรียนจริงๆ ผมอาจจะแยกตะวันตก ที่น่าเรียนรู้ออกเป็นสองสาย สายหนึ่งคือเรื่องของงานวิจัยเกี่ยวกับสมอง อีกสายหนึ่งคือการค้นเข้าไปในจิตไร้สำนึก โดยเฉพาะในสาย คาร์ล จุง สโตนสามีภรรยา (ฮัล กับ ซิดรา สโตน) และมินเดลสามีภรรยา (อาร์โนลด์ กับ เอมี มินเดล) ซึ่งน่าสนใจมากๆ ผมอยากจะค่อยๆ เทียบเคียงพุทธกับจุงและงานวิจัยทางสมองดู โดยเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องตัวตนกับการภาวนา อยากจะเขียนเป็นเรื่องยาว ซึ่งไม่จบในตอนเดียว โดยเรื่องแรกที่อยากจะเอามาเทียบเคียงคือเรื่องอารมณ์
อารมณ์
เราจะทำความเข้าใจเรื่องของอารมณ์อย่างไร? ในยุคข้อมูลข่าวสาร จะมีหลากหลายวัฒนธรรมแห่งความรู้ไหลเข้ามาปะปนกัน อย่างไม่อาจจะแยก ออกจากกัน ชัดเจนได้ หรือเราจะผสมผสานความรู้ต่างๆ เข้ามา แล้วทำให้เป็นความรู้ของเราเอง
แจ็ค คอนฟิลด์ เป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาโรคซึมเศร้าอย่างลุ่มลึก เขาสามารถนำพาตัวเองให้เป็นโรคซึมเศร้าแล้วนำพาตัวเองให้หายจากโรคซึมเศร้าได้ เขาจึงรู้จักมันเป็นอย่างดี เขากล่าวว่า เราไม่สามารถบังคับ หรือกำกับอารมณ์ให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้ แต่เราสามารถกำกับพฤติกรรมได้ ในการรักษาโรคซึมเศร้า คอนฟิลด์จะกำกับพฤติกรรมของตัวเอง ทำสิ่งที่สวนทางกับอาการของโรคซึมเศร้า เช่น แทนที่จะเก็บตัว เขาก็ฝืนนำพาตัวเองไปในงานสังคมต่างๆ แทนที่จะปล่อยปละละเลยตัวเอง เขาก็บังคับตัวเองให้แต่งตัวสดใส เป็นต้น
แคนเดส เพิร์ต เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของอารมณ์ เธอบอกว่า ศูนย์กลางของชีวิตมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ความคิด ความคิดเป็นส่วนหนึ่งของจิต และจิตนั้นกระจายตัวอยู่ทั่วร่างกายของเรา ที่จริงเมื่อเรามีอารมณ์ อารมณ์จะเป็นของเซลล์ทุกเซลล์ ที่ผนังเซลล์จะมีที่รองรับเปปไทด์ (peptide) หรือโมเลกุลอารมณ์อยู่ เหมือนแม่กุญแจ ส่วนเปปไทด์เป็นลูกกุญแจ โดยเปปไทด์จะก่อเกิดในสมองส่วนไฮโปไทลามัสแล้วถูกสูบฉีดไปทั่วร่างกาย เราจึงสามารถเสพติดอารมณ์ได้เช่นเดียวกับที่เราเสพติดยาเสพติด เพราะฉะนั้นเวลาเกิดอารมณ์ เราจะกลายเป็นอารมณ์นั้นๆ หรือเราได้กลายมาเป็น ตัวตนหนึ่งๆ บุคลิกหนึ่งๆ หรือคือการเสวยชาติภพในปฏิจจสมุปบาท ณ ขณะนั้นๆ
ความเป็นปกติ
สิ่งที่น่าสนใจคือ "ความปกติ" ทางอารมณ์ หรือในทางปฏิบัติธรรม ที่ท่านพุทธทาสพูดถึงความเป็นปกติ แต่ผมจะขอกล่าวถึงความไม่เป็นปกติทาง อารมณ์ เสียก่อน เพื่อจะได้เข้าใจว่าความเป็นปกติคืออะไร ผมได้บอกเล่าไว้ในหนังสือ หันหน้าเข้าหากัน คู่มือกระบวนกร ว่าชีวิตมีอยู่สองโหมด คือโหมดปกติกับ โหมดปกป้อง ในโหมดปกป้องนี้เองที่เราจะไม่ปกติ ในระดับของมนุษย์ เมื่อเข้าสู่โหมดปกป้อง สมองจะวิ่งไปหาความทรงจำทางอารมณ์ อันไม่ปกติ ในอมิกดาลาที่อยู่ในสมองส่วนกลาง (สมองสามส่วนจะเชื่อมโยงเข้าหากัน คือ อมิกดาลา สมองสัตว์เลื้อยคลาน และสมองซีกซ้าย) โดยสมองเลื้อยคลานจะเป็นผู้นำ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ เรียกกระบวนการใช้สมองแบบนี้ว่า "de-evolution" หรือแปลไทยคือ "ความถดถอยทางวิวัฒนาการ" อันที่จริงมันเป็นกลไกของชีวิตที่ต้องการนำพาชีวิตให้รอดเมื่อเจอภัยอันตราย จึงไม่อาจชักช้าใคร่ครวญ จึงตัดวงจรของสมองส่วนหน้าแห่งการใคร่ครวญออกไป เข้าไปสู่สัญชาตญาณแห่งการอยู่รอด
แต่ในความพิเศษของมนุษย์อันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คือเราสามารถจินตนาการ ดังนั้น แทนที่เราจะเข้าสู่โหมดปกป้องเฉพาะในยามที่เผชิญอันตรายจริงๆ การณ์กลับกลายเป็นว่า เราเข้าสู่โหมดปกป้องทุกครั้งที่จินตนาการเห็นเรื่องเลวร้าย โดยที่ยังไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นเลย
ในพุทธศาสนา ความเป็นปกติเป็นฐานแรกแห่งการเรียนรู้ เราจะตื่นรู้เรียนรู้การออกจากทุกข์ได้ด้วยการเข้าสู่ความเป็นปกติ โดยท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ศีลคือความเป็นปกติ
แบบแผนอันคุ้นชินแห่งจิตและจิตไร้สำนึก
ตรุงปะใช้คำว่า habituated pattern ในหนังสือของเขา ส่วนใน สู่ชีวิตอันอุดม หรือ Understanding Our Mind ของไถ่ นัท ฮันห์ กล่าวถึง store consciousness หรืออาลัยวิญญาณ ผมคงเทียบเคียงกับจิตไร้สำนึก และเทียบเคียงกับวงจรสมองในงานวิจัยสมอง โดยในอาลัยวิญญาณนี้มีเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศล อกุศลและกลางๆ หากเรานำเมล็ดพันธุ์นั้นๆ มาปฏิบัติ เช่น หากเราโกรธ เมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธก็จะงอกงามขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ และอาจจะขยายพันธุ์ครอบคลุมสวนของเรา ซึ่งได้แก่อาลัยวิญญาณ เช่นเดียวกับที่เราก็อาจจะขยายพันธุ์เมตตากรุณาให้แพร่หลายและเติบใหญ่ได้เช่นกัน
เมื่อเทียบเคียงกับเรื่องของสมอง วงจรสมองนั้น หากเราทำซ้ำๆ จะเกิดวงจรสมองที่เข้มแข็ง กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา กลายมาเป็นตัวตนหนึ่งๆ นิสัยหนึ่งๆ บุคลิกภาพหนึ่งๆ ดังเช่นความเป็นคนขี้หงุดหงิด อาจจะกลายมาเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งของเรา ดังที่คนเป็นโรคเบาหวาน ความดัน มักจะเป็นคนดื้อ ไม่ยอมเปลี่ยนนิสัยอย่างง่ายๆ ได้เลย เป็นต้น
เราเอาเรื่องนี้กลับมาเชื่อมโยงกับความเป็นปกติและความไม่เป็นปกติของเราได้หรือไม่ หากเราหวาดผวา กลัว สร้างจินตนาการแห่งความกลัว ในชีวิตของเราไปเสียหมดทุกเรื่อง มันจะกลายมาเป็นแบบแผนแห่งความคุ้นชิน แบบแผนที่ฝังตัวเป็นวงจรสมองที่อุปไมยอุปมาจากทางเดินเล็กๆ ได้กลายมาเป็นทางเกวียน กลายมาเป็นถนนลูกรัง กลายมาเป็นถนนลาดยาง จนกระทั่งบัดนี้ได้กลายเป็นทางด่วน จึงสะดวกที่จะจินตนาการด้านลบ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของเรา อย่างยากที่จะกลับกลายเปลี่ยนแปลง
หรือตรงกันข้าม เราจะตื่นรู้และไม่หลงไปในทางดังกล่าว จินตนาการดังกล่าว หากเรามีความตื่นรู้และการใคร่ครวญในทุกเรื่องราวแห่งชีวิต เทียบเคียงกับสมองแล้ว เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า นักวิทยาศาสตร์ชื่อ เดวิด เดวิดสัน ได้วิจัยว่าเมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน มันจะออกมาจากวงจรลบๆ ของอมิกดาลา ที่เชื่อมโยงอยู่กับสมองสัตว์เลื้อยคลานกับสมองซีกซ้ายบางส่วน ดังที่กล่าวถึงไว้แล้วข้างต้น คือหากใคร่ครวญ มันจะไม่คิดลบ ไม่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ เป็นต้น
ความตื่นรู้
ความตื่นรู้และความรู้เท่าทันจึงอาจกลายเป็นความคุ้นชินอย่างใหม่ให้แก่เราได้ หากเราฝึกฝืน อันนี้เป็นที่มาของการฝึกสติและสมาธิในพุทธศาสนา ใน ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ของไถ่ นัท ฮันห์ ท่านให้เราฝึกการตื่นรู้ในทุกๆ กิจกรรม ทุกๆ อิริยาบถในชีวิต ไม่ว่าจะล้างหน้า แปรงฟัน พูดคุยกับคน แม้แต่ในขณะที่กำลังคิดโครงการในอนาคต เราก็สามารถฝึกการตื่นรู้ได้ หรือการตื่นรู้เป็นวงจรสมองอีกอันหนึ่ง ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงสมองหลายส่วน เข้าด้วยกัน กับการทำงานแห่งการตื่นรู้นี้ เราอาจจะไม่ต้องลงไปลึกนักในเรื่องของสมอง แต่ที่แน่ๆ เรารู้ว่า เราสามารถทำการตื่นรู้นี้ ให้ชีวิตเข้มแข็ง แจ่มจำรัส ขึ้นได้
"ตัวตนกับการภาวนา (๒)"
ตอนจิตเสี้ยวกับจิตบริบูรณ์
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2553
ในทุก ๆ ศิลปะว่าด้วยตัวตนกับการภาวนา ทุกสำนักจะพูดถึงจิตประภัสสรหรือจิตทั้งหมดอันเป็นองค์รวมกับจิตเสี้ยว จิตเสี้ยวเป็นเพียงบางเสี้ยวส่วน ของจิตทั้งหมด บางทีมันอาจจะหดตัวด้วยอาการถูกกระทำมาในอดีต มันตกไปอยู่ในโหมดปกป้องในยามที่ยังปกป้องตัวเองไม่ได้ในวัยเด็ก มันกลายมา เป็นประวัติบุคคล ที่ดอนฮวน พ่อมดเม็กซิกันแนะนำให้เราลบออกไป รวมถึง ดร.ฮิว เลน แห่ง ฮูปโปโนโปโน ที่นำเสนอวิธีการชะล้าง ความขุ่นมัวเช่นนี้ ออกไปเช่นกัน เหมือนว่าเรามีธรรมชาติเดิมแท้ หรือในพุทธศาสนานิกายเซนใช้คำว่า จิตเดิมแท้อยู่แล้วในส่วนในลึกของเรา ใสสะอาด พร้อมมูลด้วยศักยภาพทั้งหมดทั้งมวล เพียงเราลบความขุ่นมัวออกไป เราก็สามารถเข้าถึงจิตที่ใสพิสุทธิ์นี้
ใน วอยซ์ไดอะล็อค ของ ดร.ฮัล กับ ดร.ซิดรา สโตน สามีภรรยา (คำว่าวอยซ์ไดอะล็อคนี้ เพื่อนผมคนหนึ่ง คือ สมพล ชัยสิริโรจน์ แปลว่า การสนทนากับ ตัวตนภายใน สมพลเป็นผู้นำองค์ความรู้นี้มาให้ผมได้ศึกษาเล่าเรียนด้วย) กล่าวว่า จิตทั้งหมดคือตัวเรา จิตเสี้ยวได้แบ่งออกไปเป็นตัวตนต่างๆ หลายๆ ตัว และหลายตัวอาจจะก่อเกิดขึ้นมาจากบาดแผลหรือปมในอดีต สโตนสามีภรรยากล่าวว่าตัวตนแต่และตัวมีคู่ตรงกันข้าม เช่นเดียวกับหยินหยาง (ที่จริง คาร์ล จุง ครูของพวกเขาก็เริ่มศึกษาตะวันออก และหลอมรวมองค์ความรู้ตะวันออกเข้ามาในจิตวิทยาบ้างแล้ว) เมื่อเราเข้าไปโอบกอดตัวตนใดตัวตนหนึ่ง ด้วยความรุนแรง เราก็มักจะเหวี่ยงทิ้งคู่ของมันไป ด้วยอาการเช่นนี้แหละที่เราเริ่มลดทอนจิตของเราให้เหลือเป็นเสี้ยวส่วน และสูญเสียความเป็นองค์รวมไป
ตัวตน อัตลักษณ์หรือความรู้เท่าทัน
อดัม เคิล เขียนไว้ใน Education for Liberation หรือ การศึกษาเพื่อความเป็นไท ว่า ตัวตนมีสามระดับ โดยร้อยเรียงเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ความรู้เท่าทัน ขั้นแรกคือระดับความรู้เท่าทันที่อ่อนที่สุด (ความรู้เท่าทันนี้ เขาใช้คำว่า awareness และใช้ identity สำหรับคำว่าอัตลักษณ์) ในระดับแรกนี้ อัตลักษณ์ไม่ปรากฏชัดเจน คือมีพฤติกรรมอารมณ์เปลี่ยนไปมาอย่างไม่รู้เท่าทันตัวเอง อีกนัยหนึ่งอาจเป็นพฤติกรรมแบบมีชีวิตเป็นไปอย่างเป็นปฏิกิริยา (reactionary) มากกว่าจะเป็นตัวของตัวเอง คนพวกนี้มีมากในผู้ไร้การศึกษา โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาในความหมายที่แท้ คำว่าเปลี่ยนไปมา อาจจะหมายถึงการมีตัวตนหลายตัว ที่ดูเหมือนไม่เชื่อมโยงกัน และตัวตนเหล่านั้น ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นปฏิกิริยากับเหตุการณ์มากกว่า ที่จะมีมาจาก ความรู้ความเข้าใจความเป็นตัวตนของตน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมีความรู้เท่าทันน้อย
อัตลักษณ์แบบครอบครอง
ตัวตนระดับที่สองในทัศนะของ อดัม เคิล คืออัตลักษณ์แบบครอบครอง ในระดับนี้ คนจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสังกัดและสิ่งที่ตัวเองครอบครอง สังกัดอย่างเช่นจบจากโรงเรียนเตรียมอุดม จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อ และทำงานในองค์กรซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ส่วนสิ่งที่ตัวเอง ครอบครองอย่างเช่น นั่งรถหรูยี่ห้อดัง มีบ้านใหญ่โต มีลูกชายหญิงที่เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ในชั้นนี้จะมีความรู้เท่าทันสูงขึ้น อย่างน้อยมากกว่าระดับแรก แต่ยังยึดติดในภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่ตัวเองสังกัดหรือครอบครองนั้นๆ และหากประสบเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ก็อาจจะหล่นไป อยู่ในระดับแรกได้เช่นกัน คือเสียศูนย์ไปเลย ในห้วงเวลาเช่นนั้น โกรธ โลภ หลง อาจจะเป็นยักษ์มารที่มาปรากฏให้เห็นก็เป็นได้
ที่จริงอัตลักษณ์ระดับที่สองนี้ คนเรามักจะใช้ชีวิตเป็นไปตามเสียงของสังคม หากไม่ได้รับฟังเสียงด้านในที่อยู่ลึกลงไป เขาหรือเธออาจจะมีชีวิต ที่ประสบความสำเร็จตามเสียงของสังคม แต่ก็ปราศจากแรงบันดาลใจ และแรงขับส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อปกป้องสถานภาพที่เป็นอยู่ มากกว่าที่จะขับเคลื่อน ชีวิตไปด้วยปัญญาและแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง ชีวิตจึงมักจะเป็นไปอย่างแห้งแล้งน่าเบื่อหน่าย ความคิดก็มักจะย่ำซ้ำซากอยู่ในกรอบเดิมๆ อยู่กับตำรับตำราที่เรียนมาเมื่อหลายปีหรือหลายสิบปีที่แล้ว
อัตลักษณ์แบบนี้ จะมีบุคลิกภาพมั่นคงกว่าแบบที่หนึ่งซึ่งความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ยังเป็นวุ้นอยู่ แต่แบบที่สองจะมีวินัยมากกว่า เพราะต้องฝึกฝืนตัวเอง ให้สามารถทำตามความสำเร็จที่สังคมวางกรอบไว้ให้ แต่กระนั้นก็ยังเป็นผู้เลือกใช้คู่ของตัวตนแต่เพียงบางด้าน และอาจเลือกขึ้นมา เพราะถูกกระทำในวัยเด็ก จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ได้เช่นกัน การเลือกส่วนใหญ่ก็มาจากปมทางจิตวิทยาที่ถ่ายทอดมาในตระกูลในวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกัน การเลือกใช้เพียงหนึ่งในตัวตนที่มีมาเป็นคู่ของมันนั้น ทำให้จิตลดทอนลงเป็นเสี้ยว และพอมีตัวตนหลักๆ ที่เป็นเสี้ยวเหล่านี้ พวกเขาก็นำพาตัวเอง ไปสู่สิ่งที่คิดว่าสำเร็จได้ แล้วติดแหง็กอยู่ในความเป็นเสี้ยวของจิตเท่านั้นเอง ยังไม่มีโอกาสประสบพบพานจิตอันบริบูรณ์
อัตลักษณ์แบบรู้เท่าทัน
อัตลักษณ์แบบรู้เท่าทันนั้นเป็นเป้าหมายที่ อดัม เคิล ตั้งไว้เป็นอุดมคติ แต่ใช้คำว่าอัตลักษณ์เป็นบาทฐาน ที่จริงอัตลักษณ์แบบนี้ เริ่มหลุดออกจาก อัตลักษณ์ไปแล้ว น่าจะเป็นมนุษย์พันหน้าอย่างที่เคยได้ยินมาจากที่ไหนสักแห่ง แต่จำไม่ได้แล้ว มีคนเคยถาม เจมมี่ แพนกายา ศิษย์ของ ดร.สโตน สามีภรรยาว่า ในวอยซ์ไดอะล็อคมีตัวตนทั้งหมดอยู่กี่ตัว เจมมี่ตอบว่ามีอยู่พันล้านตัว คือเราเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้ในโลกนี้ หรือว่าเราเป็นจักรวาล เราคือความเป็นไปได้ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดด้วยอะไรเลย ในวอยซ์ไดอะล็อคนั้น ความรู้เท่าทันที่พัฒนาขึ้นมาตามลำดับนั้น ได้ทำให้เราหลุดออกจาก กรงขังของอดีต ความคุ้นชิน ความเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล เป็นเพียงเสี้ยวของจิต แล้วออกไปสู่อิสรภาพ สู่ความเป็นไปได้ เราสามารถปลดตัวเองจาก ประวัติส่วนตัว ปลดตัวเองจากปัญญาแห่งความรู้ เข้าสู่สายธารแห่งความไม่รู้ เข้าสู่ปัญญาแห่งความไม่รู้ที่จางจื้อพูดไว้ในหนังสือ มนุษย์ที่แท้
ญาณทัศนะ นิพพาน และปัญญาแห่งความไม่รู้
"ต้อง" เด็กหนุ่มที่มาเรียนปริญญาตรีทางเลือกกับอาศรมหิ่งห้อย กำลังอ่าน เต๋าแห่งฟิสิกส์ ของ ฟริตจอป คราปา ฉบับแปล (ซึ่งดูเหมือนว่า จะไม่มีการตีพิมพ์มานานแล้ว) เขาสนุกมากกับบทหลังๆ เขาบอกว่าเข้าใจคำว่า ญาณทัศนะ มากขึ้นจากคำอธิบายของคราปา แล้วเขาถามว่า จะมีท่าทีอย่างไรดี กับคำว่านิพพาน ผมว่าเมืองไทยนี้โชคดี ที่เรามีคนอย่างท่านพุทธทาส ให้เรียนรู้จากท่านพุทธทาสที่กล่าวว่า นิพพานแปลว่าดับ เย็น เวลาไฟที่ลุกโชนดับลง มันก็เย็น จิตที่มันดับและเย็นลงมันสบาย มันไม่ต้องเรื่องมาก ดับเมื่อไรก็เย็นเมื่อนั้น ดับเย็นเล็กๆ ในชีวิตประจำวันนี้แหละใช้ได้ ท่านกล่าวถึงคำว่า นิพพานน้อยๆ เราดับเย็นน้อยๆ ได้ตลอดเวลา ที่นี่เดี๋ยวนี้เอง
ทุกครั้งที่มีญาณทัศนะ มันจะหลุดไปเปลาะหนึ่งๆ มันจะดับเย็นไปครั้งหนึ่งๆ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เข้าถึงจิตอันบริบูรณ์ทุกทีไป เป็นสุดยอดฆราวาสธรรมแล้ว มันหลุดออกจากกรงขังแห่งจิตเสี้ยว จากตัวตนหรือบุคลิกที่จิตสร้างขึ้นมาเป็นกลไกปกป้องตัวเอง เป็นโหมดปกป้อง เป็นปม เป็นบาดแผล แล้วไปยึดเอาปัญญาแห่งความรู้มาเป็นพวก ทำให้ปัญญาไปรับใช้เป้าหมายอันต่ำทราม และความรู้ก็เป็นเสี้ยวส่วน เหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่ แค่คลาดไปก็เป็นอวิชชาแล้ว เราต้องก้าวล่วงไปสู่ปัญญาแห่งความไม่รู้
ดังกฤษณมูรติมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Freedom from the Known คือเราต้องเป็นอิสระมาจากสิ่งที่รู้หรือปัญญาแห่งความรู้