เหตุใดจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

บทความที่นำเสนอคือ Why Smart People Underperform จาก Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม 2005 เขียนโดย Edward Hallowell บทความเรื่องนี้เป็นบทความอมตะที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่า ภายในช่วงเวลาสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่อง เกี่ยวกับ บุคคลที่ชาญฉลาด มีความรู้ความสามารถ เหตุใดจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น หรืออย่างที่คาดหวังไว้ ผู้แต่งได้บรรยายลักษณะของบุคคลดังกล่าว ไว้ดังนี้

มีอาการเครียดและวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการงานที่ยังไม่ได้สะสาง
มีงานยุ่งทั้งวัน ทำงานเช้าจรดเย็น แต่ผลงานที่ออกมากลับมีเพียงนิดเดียว
แบ่งเวลาไม่เป็น งานท่วมหัวแต่ไม่รู้จะทำชิ้นไหนก่อนดี เลือกไม่ถูก หรือเลือกแล้วก็มักเลือกผิด อารมณ์แปรปรวน หน้านิ่วคิ้วขมวด ใส่อารมณ์กับคนรอบข้าง ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ หงุดหงิด อึดอัด ใจร้อน ไม่มีสมาธิ จิตใจวอกแวก มีความหวาดกลัวว่างานจะล้มเหลว กลัวจะเสียหน้า เป็นต้น
อาการดังกล่าวเป็นอาการของโรคที่เรียกว่า Attention Deficit Trait (ADT) หรือโรคเครียดนั่นเอง ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปวดตามข้อ โรคไมเกรน และโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น โรคดังกล่าวเกิดจากสภาพสังคมที่บีบคั้น การงานที่รุมเร้า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง

ADT แพร่ระบาดในหมู่คนทำงานมากมาย จนเป็นภาพที่เห็นกันอย่างชินตาในยุคสมัยปัจจุบัน

เดิมทีโรคดังกล่าวถูกเปรียบเทียบกับโรค Attention Deficit Disorder (ADD) ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ กล่าวง่าย ๆ คือADD เป็นพฤติกรรมของบุคคลจำพวก Hyperactive นั่นเอง ซึ่งมีลักษณะคือ มีความคิดฟุ้งซ่าน พูดทั้งวัน ผัดวันประกันพรุ่ง ชีวิตไม่มีระเบียบ ห้องรกรุงรัง กว่าจะผลิตผลงานแต่ละชิ้นใช้เวลานานมาก และผลงานที่ออกมาไม่ค่อยมีความเสมอต้นเสมอปลาย อารมณ์ดีงานก็เนี้ยบ อารมณ์เสียงานก็ไม่เป็นสัปปะรด ใจร้อน มีปัญหากับคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา แต่คนเหล่านี้ก็มีข้อดี คือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองอะไรละเอียดถี่ถ้วนกว่าคนทั่วไป ทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี เมื่อเจออุปสรรคหรือ ความล้มเหลว สามารถกลับสู่สภาวะปกติ ได้ค่อนข้างเร็ว กล้าพูดกล้าทำ มีลักษณะความเป็นผู้นำสูง แต่ปัจจุบันพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเกิดได้กับทุกคนที่อยู่ในสภาวะที่บีบคั้น ซึ่งก็คือโรคเครียดนั่นเอง

Attention Deficit Trait (ADT) หรือโรคเครียด เกิดจากการทำงานหนัก กอปรกับในปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ มีนโยบายลดกำลังคน เพื่อเพิ่มผลกำไรให้กับองค์กร ยิ่งทำให้ต้องทำงานหนักมากขึ้น งานทั่วไปที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบก็ต้องช่วยทำ และ หากทำงานไม่ได้ตามที่บริษัทคาดหวังก็โดนไล่ออก มองโดยผิวเผินอาจเป็นเรื่องดีเพราะเป็นการทำงานคุ้มกับค่าจ้าง แต่ถ้ามองถึง ผลงานที่ออกมาแล้วนั้น การทำงานภายใต้สภาวะที่กดดัน สมองย่อมตึงเครียด ร่างกายย่อมเหนื่อยล้า ทำให้ตัดสินใจได้ไม่เฉียบคม หรือตัดสินใจผิดพลาด ผลงานที่ออกมาย่อมไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีปัญหาตามมาให้แก้ไขอีกมากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าไม่ทำงานก็อดตาย หรือไม่ยอมทำงานหนักก็โดนไล่ออกอยู่ดี ดังนั้น ผู้แต่งได้เสนอวิธีการรับมือกับอาการเครียดดังกล่าวไว้ดังต่อไปนี้

1. วิธีการบรรเทาความเครียด ในแง่ของการดูแลสุขภาพร่างกาย

  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เต็มอิ่ม เพราะการนอนไม่พอ ทำให้สมองไม่แล่น งัวเงีย อึดอัด และหงุดหงิด การนอนอย่าง เพียงพอ อยู่ที่ประมาณ 5-10ชม. ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งจะรู้ได้ว่าพักผ่อนเพียงพอแล้วคือ ตื่นก่อนเวลานาฬิกาปลุก
  • ทานอาหารให้ตรงเวลา เพื่อป้องกันการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร และเนื่องจากทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา จึงต้องมีของ ขบเคี้ยวไว้ประทังความหิว ซึ่งเป็นการเพาะนิสัยที่เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่รู้ตัว เพราะอาหารดังกล่าวมักมีปริมาณคาร์โบไฮเดรต ไขมันและน้ำตาลในปริมาณที่สูง เช่นน้ำอัดลม ช็อคโกแลต ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เป็นต้น การกินอาหารที่มีรสหวานจัด ส่งผลให้น้ำตาลในกระแสเลือดจะไม่คงที่ สมองจะมึนงง คิดอะไรไม่ค่อยออก ทางที่ดีที่สุดคือ ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกธัญพืช ผัก ผลไม้ ควรทานให้มากๆ เพราะกากใยจากผักและผลไม้จะช่วยล้างสารพิษที่ตกค้างในร่างกายได้
  • ออกกำลังกายทุกวัน หรือวันเว้นวัน วันละ 30 นาที ร่างกายจะสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เพราะร่างกายจะหลั่ง Happy hormone หรือ Endorphin ออกมา ทำให้สมองปลอดโปร่งแจ่มใส นอกจากนั้น การออกกำลังกายช่วยขจัดสารพิษ ที่สะสมในร่างกายออกไปได้อีกด้วย
    ทานวิตามินรวม หรือบีรวมและโอเมก้า ทรี เพื่อบำรุงสมอ

2. วิธีการรับมือและบรรเทาอาการเครียด ในแง่ของการทำงาน

  • สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
    1.1 จัดห้องให้สะอาดเรียบร้อย เอกสารต้องเป็นระเบียบเหลือเฉพาะที่สำคัญ ๆ ไว้ การมีเอกสารรกรุงรังจะทำให้บรรยากาศอึดอัด ไม่น่าทำงาน และยิ่งเห็นงานที่ยังคั่งค้าง ยิ่งทำให้กังวลใจ เมื่อห้องทำงานเป็นระเบียบ จิตใจจะปลอดโปร่งเกิดกำลังใจในการทำงาน
    1.2 สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย และลูกน้อง อย่าสร้างศัตรูเพราะยิ่งเป็นการสร้างความเครียดมากขึ้น ยิ่งเครียดยิ่งระบายอารมณ์ใส่ผู้อื่นวนเวียนเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด และมนุษย์มักจดจำแต่ประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น ที่ผ่านมาเคยทำดีมาตลอด พลาดครั้งเดียวความดีทั้งหมดหายไปสิ้นเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นต้น ดังนั้น วิธีแก้ไขคือให้ระมัดระวังคำพูด พูดทีละคำ ฟังทีละเสียง สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง อยากให้คนรักต้องรักเขาก่อน อยากให้คนยิ้มกับเราต้องยิ้มให้เขาก่อน เลิกหวังอะไรจากคนอื่น และให้คิดว่าตัวเราจะทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้างจะดีกว่า
    1.3 หาเพื่อนสนิทเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด และแลกเปลี่ยนความคิดกันเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันการสะสมความเครียดโดยไม่รู้ตัว
  • แบ่งย่อยงานชิ้นใหญ่ ๆ ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วทำสิ่งที่ง่ายก่อน จะได้มีกำลังใจในการทำงาน
  • พยายามหาเวลาว่างวันละประมาณ 1ชม. ปลีกตัวเองไปอยู่ในที่เงียบ ๆ เพื่อตรึกตรองมองตัวเอง เช่น
    ตอนนี้เราทำงานไปถึงไหนแล้ว
    มีสิ่งไหนที่เราจะต้องรีบทำก่อนหรือไม่ หรือมีสิ่งไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษบ้าง
    ตัวเรากำลังทำอะไรอยู่ และเราอยู่ใกล้หรือไกลจากเป้าหมายของชีวิต
    งานมากมายที่ทำไป มันเกิดประสิทธิผลบ้างหรือไม่
    เราใส่ใจการดูแลร่างกายของตัวเองมากน้อยแค่ไหน เช่นการออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
    พฤติกรรมของเราที่แสดงออกต่อคนรอบข้างเป็นอย่างไรบ้าง เราก้าวร้าวมากขึ้นหรือไม่ หรือเบื่อหน่าย ซึมเศร้า
    คิดคาดการณ์ล่วงหน้าว่าพรุ่งนี้เราจะทำอะไรบ้าง และสิ่งใดสำคัญที่สุด
  • งานจำพวกการติดต่อทางโทรศัพท์ ตอบอีเมล์ ควรรวบรวมไว้ทำพร้อมกันทีเดียว หลังจากทำงานที่สำคัญเสร็จสิ้นไปแล้ว
  • เอกสารต่าง ๆ ไม่ควรหมกเม็ด ต้องรีบสะสางโดยเร็ว โดยอาจจะทำเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นก็ได้
  • สังเกตว่าร่างกายของเราพร้อมที่สุดในการทำงานตอนช่วงเวลาไหน เช่น ตอนเช้า ตอนบ่าย หรือตอนค่ำเป็นต้น แล้วจัดงานที่สำคัญ ๆ ไปทำตอนช่วงเวลานั้น ๆ
  • อย่าคิดว่าทำงานมากชิ้นแล้วจะดีเสมอไป ควรเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และเลือกทำในสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน รู้จักมอบหมายงานให้ผู้อื่นบ้าง

สุดท้าย ถ้าทำทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วรู้สึกว่าอึดอัดและเหนื่อยเหลือเกิน ให้หยุดทำงานชั่วคราว ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนกิจกรรมไปทำอย่างอื่นที่ผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง เดินเล่น เป็นต้น

วิธีแก้ไขดังกล่าวอาจจะเป็นวิธีการทั่ว ๆ ไป ที่ทุกคนพอจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่มักไม่ได้ทำ หรือทำไม่ครบทั้งหมด หรือทำ ๆ หยุด ๆ เป็นต้น โรคนี้เป็นโรคที่ส่งผลกับทุกระบบของร่างกายเสมือนสายลูกโซ่ ดังนั้น จึงต้องพยายามทำให้ครบทั้งหมด ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ และต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจึงจะได้ผล