วิถีแห่งจิตวิวัฒน์
วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กันยายน 2552
เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ศกนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสานจิตรเสวนา ในการประชุมมหกรรมความรู้การพัฒนาจิต ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
น่าปลื้มใจที่มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก หลังจากที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้แสดงปาฐกถานำ ที่กระตุ้นความคิดให้รักการสืบค้น แสวงหาความจริง เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจและทางปัญญาแล้ว สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้สนทนากันในรูปแบบการอภิปรายที่ผู้ฟังมีส่วนร่วมอย่างมาก
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ดำเนินการสนทนา ได้ให้ผู้เขียนตอบคำถามสั้นๆ ว่า การร่วมกิจกรรมจิตวิวัฒน์มาโดยตลอดนั้น ผู้เขียนได้รับประโยชน์อะไร และมีความประทับใจวิทยากรคนใดบ้าง
ข้อความต่อไปนี้คือคำตอบที่ได้เขียนเตรียมไว้ แต่มิได้นำขึ้นไปพูดบนเวที เพราะธรรมชาติการสนทนาของกลุ่มจิตวิวัฒน์นั้น เราฟังคนอื่นพูด เราพูดสิ่งที่เราคิด ไม่ใช่พูดสิ่งที่เราเขียน เราฟังด้วยใจและไตร่ตรอง และเราพูดจากใจ เราอาจจะบันทึกบางสิ่งไว้เฉพาะที่ประทับใจ และอยากแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง ในการเสวนาแต่ละครั้ง ผู้เขียนจึงมีบันทึกของตนเองไว้คิดทบทวน สรุปได้ดังนี้
๑. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ คือการลดอัตตาตัวตน ทำจิตให้ว่างปลอดโปร่ง สบาย พร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับการเสวนา ตั้งใจฟัง ฟังแล้วคิดพิจารณา คิดก่อนพูด พูดแล้วหัดคิดทบทวนสิ่งที่ได้พูดไป หลายปีที่ได้ฝึกการลดตัวตน ผู้เขียนค่อยๆ เรียนรู้ว่า การแบกเอาความถือตนว่ามีความรู้ เป็นนักวิชาการที่ผู้คนยกย่องนั้น ไม่ถูกต้อง การเป็นคนสามัญธรรมดา การอ่อนน้อมถ่อมตนในทุกสถานต่างหากที่ทำให้จิตและความคิดเปิดกว้าง และสามารถน้อมรับความคิดที่แตกต่างได้ดี
๒. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ เป็นการฝึกจิตให้น้อมลงสู่การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน ผู้เขียนนั้นอยู่ในวัยชราแล้ว ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ถูกฝึกให้อยู่ในกรอบและ กฎเกณฑ์ และมักจะตีตราตนเองว่าเป็น "ผู้ใหญ่" หลายครั้งที่ทุกข์ใจว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ เหตุใดจึงเพ้อผัน ไม่มีเหตุผล ทำตัวเหลวไหล คิดอะไรประหลาดๆ ผู้เขียนโชคดีที่ได้มาฝึกตนในกลุ่มจิตวิวัฒน์ ได้พบคนหนุ่มสาวที่มีความคิดดีๆ มีความรู้ในสิ่งใหม่ๆ มากกว่าผู้เขียนจริงๆ ผู้เขียนเริ่มมีมุมมองใหม่ ลองค้นหาความฉลาดรู้และวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ผู้เขียนพบว่าสังคมไทยยังมีหวัง ซี่กรงที่กักขังความคิดเริ่มหลุดลงไป การยึดกรอบกฎเกณฑ์ตาม ความเคยชินเริ่มลดลง เปิดรับความคิดและความรู้ที่เป็นทางเลือกมากขึ้น เกิดความรักและความเมตตาต่อคนรุ่นใหม่ มีความสุขที่ได้ทำงานด้วยกัน
๓. ได้เห็นแบบอย่างที่ดีของการฝึกตน การเสวนาในกลุ่มจิตวิวัฒน์ มีการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตด้านต่างๆ มานำการสนทนา สมาชิกของกลุ่มได้เห็นแบบอย่างทางบุคลิกภาพ วิธีคิด ความรู้จริงจากการปฏิบัติจริง เหตุการณ์ที่ชักนำให้ต้องพัฒนาตัวเอง ฯลฯ ของวิทยากร เป็นบทเรียนที่ผู้เขียนได้เรียนรู้แต่ละครั้ง ตลอด ๗๑ ครั้งที่ผ่านมา เช่น วิศิษฐ์ วังวิญญู ที่พูดถึง "การเขียนโลกใบใหม่" ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ สนทนาเรื่อง "จังหวะหัวใจ จังหวะชีวิต จังหวะแผ่นดิน" กลุ่มภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม แนะนำ "สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน" ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เล่าเรื่อง "การเดินทางสูความเป็นมนุษย์ที่แท้" ความรู้และประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับ แล้วนำมาฝึกฝนตนเองนั้น เป็นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่หาไม่ได้จากตำราใดๆ
๔. วิถีแห่งจิตวิวัฒน์ ช่วยสร้างแนวคิดใหม่ของการเรียนรู้ ผู้เขียนได้พบวิธีการเรียนรู้ใหม่ คือการผสมผสานการเรียนรู้ภายในตน กับการไขว่คว้าหาความรู้ สำเร็จรูป จากภายนอก เป็นการเรียนรู้ชีวิตและจิตใจตนเอง ควบคู่ไปกับการรู้วิชาและศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ เรื่องจักรวาล และควอนตัมฟิสิกส์ เรื่องภาวนาเพื่อสัมผัสชีวิตด้านใน (ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต) เรื่องความเงียบ ศิลปะบำบัด มองรอบทิศมนุษยนิยม ผู้เขียนพบว่า กระบวนการเรียนรู้นั้น นอกจากมีวิธีการต่างๆ แบบที่เคยทำมาแล้ว ยังมีการเรียนรู้ด้วยใจที่เกิดจากการเล่าเรื่อง การฟังอย่างลึกซึ้ง กิจกรรมสุนทรียสนทนา การฝึกคิดเชิงบวก และการซักถามอย่างชื่นชมในบรรยากาศที่เป็นมิตร
๕. ในวิถีแห่งจิตวิวัฒน์ ผู้เขียนพบว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังการเล่าเรื่องจากวิทยากร ผู้เขียนได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้ที่ผุดขึ้นในใจ กับถ้อยคำที่วิทยากรกำลังพูด เมื่อเขาพูดจบ ผู้เขียนได้จดบันทึกความรู้ที่บังเกิดขึ้นไว้เตือนตนเองอยู่เสมอ ดังจะขอยกตัวอย่าง เมื่อได้ฟัง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เล่าเรื่อง "การต่อสู้ภายในเพื่อชัยชนะทางจิตวิญญาณ" ซึ่งเล่าว่า ประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านพบ เขาฝึกตนที่จะไม่ผูกพัน เขาได้เข้าใจอำนาจของความว่าง และความว่างของอำนาจ ตัวตนดั้งเดิมกับตัวตนใหม่ของเสกสรรค์ ได้เปลี่ยนแปลง (transform) จากที่เคยมีอัตตาสูง เผชิญเหตุการณ์ด้วยความทุกข์ มาสู่ความว่าง จนตัวตนเล็กลง วางความยึดเหนี่ยว (attachment) จนไม่มีเสกสรรค์อีกต่อไป
เมื่อจบการสนทนา ผู้เขียนได้บันทึกทันที และอ่านให้ ดร.เสกสรรค์ ฟังดังนี้
¤ เสกสรรค์ในความทรงจำ
เหมือนน้ำคือคลื่นซัดหาย
บัดนี้เธอเตรียมตัวตาย
ยากง่ายดีชั่วตัวเอง
หยุดยั้งความเป็นวีรชน
ตัวตนแห่งความกล้าเก่ง
ข้ามพ้นความฝันหวั่นเกรง
ตามกรรมบทเพลงชีวิต
ยามลงหยั่งลึกตรึกล้ำ
ตอกย้ำตัวต้องครองสิทธิ์
แท้จริงหาใช่ความคิด
ยึดติดจับจองของเรา
ท้ายสุดคือความรู้แจ้ง
โต้แย้งสิ่งสอนก่อนเก่า
สู่ความปลอดโปร่งโล่งเบา
ว่างเปล่าจึงเต็มเข้มคม
เสกสรรค์ไม่ยึดเสกสรรค์
จึงมีชีวันสุขสม
ตัวตนที่เห็นเป็นปม
กลับสลายปานสายลมสู่เสรี
ประสบการณ์จากกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้เปลี่ยนแปลงผู้เขียนทีละน้อย จากความคิดติดกรอบของการศึกษาไปสู่ความคิดของการศึกษาทางเลือก และการสร้างแนวทางใหม่ของการเรียนรู้ภายในตนผสมผสานกับความรู้ที่มีอยู่รอบตัว
ผู้เขียนค้นพบว่า ความสุขที่แท้มีอยู่ในคนที่ไม่ยึดติดกับอำนาจและเงินตรา ความเป็นคนธรรมดาสามัญนั้นดีที่สุด การเรียนรู้เพื่อพัฒนากายและพัฒนาจิต เป็นการศึกษาที่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เรียนด้วยตนเอง เรียนจากธรรมชาติ เรียนกับกัลยาณมิตร เรียนโดยการประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ
กลุ่มจิตวิวัฒน์เกิดขึ้นด้วยการก่อตัว มิใช่ด้วยการจัดตั้งและสั่งการ มีหลักแต่ไม่กำหนดกรอบ สมาชิกกลุ่มมารวมตัวกันอย่างสมัครใจ ท่ามกลางความเป็นมิตรและความปรารถนาดีต่อสังคม เป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้เกิดพลังเพิ่มพูนขึ้น ในการสร้างสุขภาวะ ให้แก่ตนเองและแก่บ้านเมือง
ใครๆ ก็เรียนรู้เพื่อจิตวิวัฒน์ได้ ไม่มีการกำหนดสถานภาพ อายุ วุฒิ ใดๆ ขอแต่เพียงเป็นมนุษย์ที่ใฝ่ฝึกฝนตนเอง ไม่เล็งผลเลิศ ไม่หวังผลรวดเร็ว เพราะการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อีกทั้งไม่มีต้นแบบสำเร็จรูปตายตัว
บทความนี้ส่งท้ายด้วยคำบรรยายของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ในงานสานจิตรเสนาว่า
จิตวิวัฒน์ทำให้เกิดสุข
เป็นความสุขที่ราคาถูก – happiness at low cost
เมื่อราคาถูกจึงเป็นไปได้สำหรับทุกคน