พัฒนาการทางจิต
พัฒนาการทางจิตตามแนวคิดของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มีนาคม 2553
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายว่ามนุษย์มี ๕ ระดับจิต พัฒนาตามวัยจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ โดยแต่ละระดับจิตจะสร้างความหมาย และความจริงของ เขาขึ้นมาภายในโลกนั้นๆ
คีแกนพบว่า การสร้างความหมายของมนุษย์เกิดจาก ความสัมพันธ์ระหว่าง จิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ (subject-object relation) โดย "จิตผู้รู้" หมายถึง โครงสร้างจิตที่ทำหน้าที่เรียบเรียงสิ่งที่ถูกรู้เข้าด้วยกัน เพื่อให้กลายเป็น เรื่องราวที่มีความหมาย "สิ่งที่ถูกรู้" หมายถึง สิ่งที่ถูกสังเกต ถูกจัดการ ถูกเชื่อมโยง และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ถูกรู้ด้วยกัน เมื่อจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้สัมพันธ์กัน ความหมายและความจริงก็ถูกประกอบสร้าง (constructive) ขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างความหมาย/ความจริงของจิต ยังเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างหนึ่ง ไปยังอีกโครงสร้างหนึ่งตามลำดับพัฒนาการ (developmental) โดยมีกระบวนการพัฒนาจิตที่อธิบายว่า จิตผู้รู้ในระดับหนึ่ง เคลื่อนตัวกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ของจิตผู้รู้ในระดับถัดไป เมื่อจิตเกิดการเคลื่อนตัวแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ก็จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนเชิงโครงสร้าง เพิ่มความสามารถใน การรองรับความซับซ้อนของโลกได้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีจิตวิทยาของคีแกนจึงเรียกว่า จิตวิทยาพัฒนาการ-ประกอบสร้าง (Constructive-Developmental Psychology) ซึ่งทำหน้าที่ อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ ในสองลักษณะคือ
๑) ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ที่สร้างความหมาย/ความจริงให้กับมนุษย์แต่ละคน และ ๒) กระบวนการเปลี่ยนแปลงของจิตมนุษย์ (transformation) ที่จิตผู้รู้กลายไปเป็นสิ่งที่ถูกรู้ของจิตผู้รู้ใหม่
ระดับจิตแต่ละขั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ระดับจิตที่หนึ่ง: จิตตามสิ่งเร้า (Impulsive Mind)
เป็นโครงสร้างแรกของความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก โดยที่มีจิตผู้รู้เป็นไปตามสิ่งเร้า (impulse) หรือตามการรับรู้ (perception) ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นๆ และสิ่งที่ถูกรู้ คือการสัมผัสและการเคลื่อนไหวทางกายภาพ กล่าวคือ เด็กสามารถจัดการกับการเคลื่อนไหวทางกายภาพ หรือการสัมผัสได้ แต่มีการจัดการไปตามสิ่งเร้าหรือการรับรู้ที่ชักนำไปในขณะนั้นๆ เรามักพบระดับจิตนี้ในเด็กช่วงอายุ ๒-๖ ปี โลกของเขาเป็นโลกแห่ง จินตนาการ เช่น เด็กรับรู้ว่าเมฆวิ่งตามเขา เด็กเข้าใจว่าถ้าเขย่าถุงขนมแล้วจะทำให้ขนมเพิ่มมากขึ้น เด็กเข้าใจว่าถ้าเปิดตาเขาแล้วคนอื่น ก็จะมองเขาไม่เห็น เช่นกัน น้ำในแก้วทรงสูงเมื่อถูกเทไปยังแก้วทรงเตี้ยทำให้น้ำหดตัวน้อยลง เป็นต้น เด็กซึมซับพฤติกรรมและอารมณ์จากคนใกล้ชิด เช่น ความร่าเริง รอยยิ้ม ความโกรธ ถ้าคนอื่นมีความเห็นต่างไปจากการรับรู้ของเขา เด็กจะเกิดความสับสน งงงวย
ระดับจิตที่สอง: จิตตามใจตน (Imperial Mind)
จิตตามใจตนเกิดเป็นจิตผู้รู้ใหม่ ไปรู้และสัมพันธ์กับจิตตามสิ่งเร้าที่กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ไปแล้ว ณ ระดับนี้ กล่าวคือ จิตตามใจตนสามารถเชื่อมโยง การรับรู้เป็นส่วนๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นมุมมอง (points of view) และสามารถเชื่อมโยงสิ่งเร้าเป็นครั้งๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นความชอบส่วนตัว (preferences) ตัวอย่างเช่น เขาสามารถบอกได้ว่า น้ำในแก้วทรงสูงเมื่อถูกเทไปยังแก้วทรงเตี้ยยังมีปริมาณเท่าเดิม เพราะสามารถเชื่อมโยงการรับรู้ระหว่าง น้ำในแก้วทรงเตี้ยกับทรงสูงได้ หรือสามารถบอกได้ว่า ของมีขนาดเท่าเดิมแม้ว่าจะเดินเข้าไปใกล้กับเดินออกมาห่าง นั่นคือ เขาสามารถตระหนักถึงและ เชื่อมโยง การรับรู้ต่างเวลาและระยะทางได้
ระดับจิตนี้มักพบในเด็กโตถึงวัยรุ่นตอนต้นช่วงอายุ ๗-๑๒ ปี เราจะเห็นได้ว่าเด็กวัยนี้สามารถรับรู้ได้ว่า คนอื่นมีมุมมองและความชอบส่วนตัว แยกต่างหากจาก มุมมองและความชอบของเขา เด็กวัยนี้จะเริ่มมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาจะรวมตัวกับพรรคพวกเพื่อนฝูงที่มีมุมมองและความชอบส่วนตัวคล้ายกัน หรือสนับสนุนกัน โลกของเด็กในระดับจิตนี้ มีตัวฉันเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวอย่างความเห็นที่สะท้อนระดับจิตนี้ได้แก่ "ฉันขโมยของคนอื่นได้ ก็เพราะฉันต้องการของชิ้นนั้น แต่คนอื่นจะมาขโมยของฉันไม่ได้ เพราะฉันก็ต้องการมัน" เป็นต้น
ระดับจิตที่สาม: จิตตามสังคม (Socialized Mind)
จิตตามสังคมเป็นจิตผู้รู้ และมีจิตตามใจตนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตตามสังคมจะจัดการกับมุมมองและความชอบส่วนตัว ทั้งของตนเองและคนอื่น ให้อยู่ภายใต้ข้อตกลง ร่วมกันของสังคม ไม่ว่าสังคมจะมีขนาดเล็กระดับครอบครัว ขนาดปานกลางระดับชุมชน หรือขนาดใหญ่ระดับประเทศ คนระดับจิตนี้สามารถระงับความชอบ ส่วนตัว เพื่อรักษาประเพณี กติกา ศีลธรรมจรรยา หรือกฎหมายที่สังคมกำหนด ดังนั้นในโลกของคนระดับจิตนี้ คนแต่ละคนจึงมีบทบาทและหน้าที่ภายในสังคม ทุกคนควรพยายามอย่างเต็มความสามารถ เพื่อผดุงคุณงามความดีของการดำรงอยู่ร่วมกันไว้ ด้วยเหตุนี้เอง คนในระดับจิตนี้จึงมักยึดถือบทบาทอย่างใด อย่างหนึ่งไว้ และจะใช้บทบาทนั้นในทุกสถานการณ์ เช่น บุคคลที่มีบทบาทเป็นครู ก็จะสวมบทบาทครูทั้งในโรงเรียนและในบ้าน เป็นต้น งานวิจัยพบว่า ร้อยละ ๔๓-๔๖ ของผู้ใหญ่อายุระหว่าง ๑๙-๕๕ ปี มีจิตอยู่ในระดับจิตที่สาม หรืออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างระดับจิตที่สามกับสี่
ระดับจิตที่สี่: จิตประพันธ์ตน (Self-authoring Mind)
ณ ระดับจิตที่สี่ จิตประพันธ์ตนเป็นจิตผู้รู้ใหม่ และจิตตามสังคมกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตประพันธ์ตนจะวางระบบการจัดการที่เป็นกลางจากข้อตกลงเฉพาะกลุ่ม สามารถสร้างและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ นโยบาย และข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ระบบทำงานบรรลุผล มีหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีในการปฏิบัติงาน สามารถประเมินผลงานและกระบวนการทำงานได้อย่างเป็นระบบ การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เกิดจากการเลือกวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสังคม เขามีสิทธิ์ในการเลือกชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเขาเอง โดยไม่ถูกชี้นำจากสังคม โลกของคนระดับจิตนี้จึงมักมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ เป้าหมาย และการสัมฤทธิ์ผล งานวิจัยพบว่าร้อยละ ๑๘ – ๓๔ ของผู้ใหญ่ระหว่างอายุ ๑๙-๕๕ ปี สร้างความหมายและความจริงตามระดับจิตนี้
ระดับจิตที่ห้า: จิตวิวัฒน์ตน (Self-transforming Mind)
เป็นโครงสร้างจิตที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่งานวิจัยค้นพบในปัจจุบัน ณ ระดับจิตนี้ จิตวิวัฒน์ตนเป็นจิตผู้รู้ และจิตประพันธ์ตนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ โดยจิตวิวัฒน์ตนจะเชื่อมโยง ประสาน ข้ามกระบวนทัศน์ ข้ามระบบความสัมพันธ์ต่างๆ เนื่องด้วยเล็งเห็นว่า ความชัดเจนจากการวางระบบในบางครั้ง อาจกลายเป็นกรอบที่ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และยากต่อการปรับตัว เมื่อเกิดสถานการณ์และความท้าทายใหม่ๆ ความสามารถในการถักร้อยระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ใหม่ บางครั้งอาจหมายถึง การวิวัฒน์ไปสู่ระบบความสัมพันธ์ใหม่ โลกของคนในจิตระดับนี้ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง กันคนละระบบ แต่ทั้งหมดต่างก็ร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นทางรอดของสังคม ชุมชน และตนเอง สรรพสิ่งมีความสมบูรณ์และเป็นองค์รวมในตัวมันเอง การจะเข้าใจความสมบูรณ์ได้ อาศัยการวิวัฒน์ตนเองให้สอดคล้องไปกับการวิวัฒน์ของจักรวาลที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและสร้างสรรค์ งานศึกษาของคีแกนยังไม่พบหลักฐานว่า มีใครอยู่ที่ระดับจิตห้าอย่างเต็มขั้น พบแต่เพียงหลักฐานบุคคล ที่อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระดับจิตที่สี่ถึง ระดับจิตที่ห้ามีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๓ - ๖ ของผู้ใหญ่อายุระหว่าง ๑๙-๕๕ ปี
เมื่อคีแกนวางรากฐานทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ-ประกอบสร้างไว้แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๒ เขาและลาเฮเพื่อนนักวิจัยของเขา ได้ร่วมกันคิดค้นว่า เขาจะช่วย ให้คนเติบโตและเปลี่ยนแปลงระดับจิตได้อย่างไร ยี่สิบกว่าปีของการทดลอง นำมาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นที่น่าพอใจ กลายเป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยให้คน ปลดปล่อย ศักยภาพที่แท้จริง แปรเปลี่ยนจากความตั้งใจอย่างจริงใจ ให้กลายเป็นสิ่งที่เขาสามารถทำได้จริง แบบฝึกหัดดังกล่าวเรียกว่า "ภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลง" (Immunity to Change)
เขาพบว่าการพาคนให้พบกับความขัดแย้งที่ดีที่สุด (optimal conflict) ภายในตัวเอง จะช่วยให้คนเติบโตและเปลี่ยนแปลงระดับจิต เหตุผลที่เรียกว่า ความขัดแย้งที่ดีที่สุด ก็เพราะว่าความขัดแย้งนั้นทำให้เรา ๑. เกิดความสับสน งงงวย ลังเล กลับไปกลับมา มาอย่างยาวนาน ๒. จนทำให้เรารู้สึกได้ถึงข้อจำกัดของวิธีการรับรู้ของเรา ๓. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้ชีวิตในบางด้านที่เราใส่ใจ และ ๔. มีเหตุปัจจัยรองรับอย่างเพียงพอ ที่ทำให้เราไม่สามารถหลุดออกจากความขัดแย้งนั้นได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถหลีกหนีหรือปฏิเสธมันได้
ความขัดแย้งที่ดีที่สุดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรายังคงดำรงอยู่ในจิตระดับหนึ่งๆ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไประดับถัดไป การมีแบบฝึกหัดที่ทำหน้าที่เป็น เครื่องฉายแสงเอ็กซเรย์เข้าไปในจิตใจ จนเห็นทะลุปรุโปร่งถึงการทำงานของความขัดแย้งที่ดีที่สุด จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยปลดปล่อยศักยภาพ ที่มีอยู่ออกจากกับดักของความขัดแย้งนั้น
แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำเสมอไป ภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลงที่ถูกสร้างขึ้นในตัวมนุษย์ ก็มีเหตุผลของตัวมันเอง ที่ทำให้มนุษย์สามารถ ดำรงอยู่ในโลกได้อย่างสมดุล เพียงแต่เมื่อใดก็ตาม ที่จุดสมดุลนั้นไม่อาจรองรับความซับซ้อนของโลกที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป มนุษย์ก็จำเป็นต้องเคลื่อนตัวไปสู่ ความไร้สมดุล เพื่อพบกับจุดสมดุลทางจิตที่รองรับความซับซ้อนใหม่ได้
เอกสารอ้างอิง: 1. Kegan, R. (1982) The Evolving Self: Problem and Process in Human Development. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.; 2. Kegan, R. (1994) In Over Our Head: The Mental Demands of Modern Life. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.; 3. Kegan, R. and Lahey, L. (2009) Immunity to Change: How to Overcome it and Unlock the Potential in Yourself and Your Organization. Cambridge, Mass: Harvard University Press.