คิดอย่างไรให้หมดทุกข์ไร้กังวล
อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์กลุ้มอกกลุ้มใจ
อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์กลุ้มอกกลุ้มใจ ตีอกชกลม หน้าดำหมองคล้ำและรู้สึกเศร้าสร้อยเป็นอาจิณ ?
1. อัตตา "ตัวกูของกู" เข้มข้นจนเกินไป ซึ่งปรากฏชัดใน 3 ลักษณะคือ
1.1 เกิดความรู้สึกกลัวเสียภาพพจน์ ซึ่งกระทบชื่อเสียง เงินทอง ลาภยศ สรรเสริญ ความกลัวดังกล่าวจะทำให้เกิดความว้าวุ้นใจ จิตแกว่ง จิตไหว ไม่สามารถทำงานต่างๆ ได้ตามปกติ ผลคือ ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงจะโถมใส่จิตใจที่เปราะบาง จนหนักหน่วงยากต่อการเยียวยา
วิธีแก้
• ให้รำลึกคำสอนเจ้าคุณนร วัดเทพศิรินทราวาสว่า "มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ" ซึ่งเป็นเรื่องปกติวิสัยของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งเป็นการเตรียมใจอยู่เสมอเพื่อรับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอย่างไม่คาดฝัน
• ทำใจให้ได้ว่า ความสุขหรือความทุกข์เป็นของคู่กัน ความสมหวังหรือความผิดหวัง ความดีใจหรือความเสียใจ ความปีติหรือความอาดูร ล้วนเป็นของคู่กันกับมนุษย์ เพื่อเตรียมใจรับสภาพต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนไปตามกฎอนิจจังอยู่เสมอ
• คิดเสมอว่าเราไม่ต้องเหมือนใคร เราพอใจในสิ่งที่เรามีเราเป็น แต่เราก็พยายามอยู่เสมอที่จะยกระดับสติปัญญาและคุณภาพของจิตให้เลื่อนระดับขึ้นเสมอ อีกทั้งพยายามใช้แรงกายแรงใจของเราในการบรรลุเป้าหมายในชีวิตที่เราตั้งและพึงประสงค์ไว้อย่างแน่วแน่และไม่ย่อท้อ
• ให้เรามีความหวังว่า ในโลกนี้เต็มไปด้วยคนมองโลกในแง่ร้าย ชอบวิพากย์วิจารณ์ในทางที่ไม่สร้างสรรค์ ดังนั้น เราจะเลือกฟังเฉพาะคนที่วิจารณ์เราพร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพราะคนอย่างนี้แหละจึงเป็นกัลยาณมิตรที่ควรคบและเสวนาด้วยเพื่อความเจริญและเพื่อความสร้างสรรค์
• อยู่อย่างสมถะ ลดความโลภลงนิด ใช้จ่ายอย่างพอประมาณ ไม่เกินรายได้ รู้จักอดออมเพื่อใช้ในยามจำเป็น
1.2 เจ็บใจที่ไม่สามารถบังคับคนและสภาพการณ์ให้เป็นไปตามทีนึก
วิธีแก้
• ต้องยอมรับก่อนว่า ใจเราเองยังควบคุมไม่ได้ ประสาอะไรจะไปควบคุมคนอื่นให้เป็นไปตามที่เราต้องการ ทุกข์ตอนนี้ของเรายังไม่สามารถขยับเขยื้อนออกจากจิตใจเราเลย แล้วจะไปทำอะไรได้กับโลกนี้ทั้งโลก
1.3 ความหลงตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (Center of the Universe) ทุกข์ตัวเองใหญ่หลวงนัก ยากที่ใครจะเสมอเหมือน
วิธีแก้
• หัดมองคนอื่นบ้าง คนก็ทุกข์สาหัสสากรรจ์กันทั้งนั้น เพียงแต่เราไม่เคยดู ไม่เคยฟังความทุกข์ของเขาโดยละเอียด ดังนั้นควรเปลี่ยนเรื่องทุกข์ที่กำลังคิดอยู่ โดยคิดแต่สิ่งดีๆ ที่เราเคยได้รับมาจนถึงวันนี้ แล้วทุกข์ก็จะปลิดทิ้งไปโดยง่ายดาย
2. มองโลกในแง่ร้ายเกินไป คิดว่าปัญหาที่เกิดอาจจะรุนแรงขนาดโลกต้องระเบิด แผ่นดินต้องไหว ไม่มีอะไรจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อีก ต่อไปแล้ว เมื่อคิดอย่างนี้จิตจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงยอมจำนนต่อสภาพการณ์ ไม่คิดหาทางแก้ไข
วิธีแก้
• คิดว่าใครๆ ก็ทุกข์กันทั้งนั้น แต่คนก็อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะโรคทุกโรคย่อมมียาแก้ แต่ปัญหาคือ เราหายาแก้แล้วหรือยัง เราต้องหนักแน่นและทำใจเสมอว่า เราต้องอยู่รอดให้ได้และจะต้องรอด มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้
• ความสุขหรือความทุกข์ ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราต่อสิ่งที่มากระทบกระทั่งจิตใจเรามากกว่า ถ้าคุณว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ก่อความรำคาญใจ คุณก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าคุณเกิดอาการเฉยๆ แต่รับรู้ว่าสิ่งอะไรกำลังเกิดขึ้น ทำใจให้และกำลังหาวิธีแก้ไข แน่แหละท่านก็จะไม่ทุกข์ไปตามสิ่งที่มากระทบท่าน ดังนั้น ท่านมีสิทธิที่จะเลือกทุกข์ เลือกสุข หรือเลือกเฉยๆ ในโลกนี้ขึ้นอยู่กับท่าน
• ให้ระวังอยู่เสมอว่าคุณคิดอย่างไร คุณก็เป็นคนประเภทนั้นเราต้องฝึกควบคุมความคิด ให้คิดบวกอยู่เสมอ คิดสร้างสรรค์ ทิ้งอดีตอันขมขื่น อยู่กับปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความหวังและความท้าทาย เมื่อนั้นพลังชีวิตก็จะผุดขึ้นในดวงจิตอย่างแน่วแน่ การฝึกคิดเช่นนี้จำเป็นมาก เพราะเผลอปุ๊บ มนุษย์ก็คิดแต่เรื่องอดีตอันน่าเศร้าและผิดหวัง การมัวคิดเรื่องอดีตก็ไม่ต่างกับคนที่ชอบเลื่อยขี้เลื่อย แทนที่จะใช้เลื่อยไปเลื่อยไม้ให้เกิดประโยชน์
• คิดว่าเราก็มีอะไรดีหลายอย่างที่คนอื่นไม่มี และหนำซ้ำ เราเคยได้สิ่งดี สิ่งพึงปรารถนามาหลายอย่างด้วยกัน ดังนั้น ครั้งนี้อาจไม่สมหวังหรือผิดหวังบ้าง แต่เราก็ได้สิ่งดีๆ มาเยอะ ซึ่งน่าจะพอชดเชยทุกข์โศกที่ปัจจุบันกำลังประสบอยู่ได้บ้างเลิกสนใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้อารมณ์เราขุ่นมัว หัดรู้จักปล่อยวางเรื่องที่ "ไม่เป็นสับปะรด" จดจ่อต่อเรื่องสำคัญ เรื่องเกี่ยวข้องกับเป้าหมายชีวิต อย่าไปติดกับดักเสียเวลากับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนเสียการใหญ่
• หัดยอมรับความเป็นจริง สิ่งใดต้องเกิดก็ต้องเกิด คงไปห้ามไม่ได้ แต่เราก็ต้องพิจารณาดูว่าร้ายสุดของสถานการณ์นั้น จะออกมาในรูปลักษณะใด จะมีอะไรบ้างไหมที่จะผ่อนหนักเป็นเบา หรือในทางกลับกันกับ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดก็มีโอกาสไม่เกิดขึ้นได้ หรือเกิด แต่เราก็พอทำใจได้ เมื่อคิดอย่างนี้แล้วรับรองว่าจิตใจจะกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอีกครั้ง
3.. อาฆาตพยาบาท คิดเสมอว่าอีกฝ่ายไม่รู้คุณเรา อกตัญญู เลยรู้สึกว่าตัวเองถูกทรยศหักหลัง เจ็บใจอยากล้างแค้น ความรู้สึกดังกล่าวไม่สร้างสรรค์ รังแต่จะทำให้ความดันโลหิตสูง เป็นโรคกระเพาะ โรคเบาหวาน หรือโรคไมเกรนได้
วิธีแก้
• ให้เจริญเมตตาอย่างลุ่มลึกว่า ให้ใครแล้วอย่าคิดทวงบุญคุณ ให้แล้วให้เลย และเวลาให้หรือช่วยเหลือใคร เราจะไม่เลือกปฏิบัติ หากแต่จะดูความเหมาะสมตามกาละและเทศะ และที่สำคัญคือ สักแต่ให้ สักแต่ช่วย โดยไม่ต้องมีความรู้สึก "ตัวกู ของกู" ว่า เป็นผู้ให้ เมื่อนั้นจึงจะเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์จริงเปี่ยมด้วยมหาอานิสงส์
• คิดเสมอว่า การแก้แค้นเป็นการเปลืองสมอง บั่นทอนจิตใจ เราเจ็บมากกว่าอีกฝ่ายเสียอีก ทำไมเราจึงควรเสียเวลาไปกับเรื่องเปล่าประโยชน์เช่นนี้หรือ
• คิดเสมอว่า "อภัยทาน คือ ทานอันสูงสุด" ไม่มีบารมีอื่นใดแล้วจะสูงส่งและมีพลังบารมีมากกว่าการให้อภัยทาน
4. ความเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นต้นตอหรือรากเหง้าแห่งความหมองเศร้าทั้งปวง ชีวิตจะอยู่ไปวันหนึ่งๆ โดยปราศจากความหมาย โลกช่างแห้งเหี่ยว ไร้สีสรรด้วยประการทั้งปวง
วิธีแก้
• ทำตัวให้ยุ่งอยู่เสมอ อย่าอยู่นิ่งเฉยๆ เพราะจะเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกียจคร้าน แต่สิ่งที่ทำน่าจะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับเป้าหมายของชีวิต
• สร้างความพอใจกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน สามี ภริยา , ลูกๆหรือภาระความรับผิดชอบต่างๆ เพราะชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป แทนที่จะนั่งเบื่อหรือนั่งเหม่อลอย เราควรใช้พลังสมองกับการลองระดมสติปัญญาหาวิธีการแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ออกจากบ่วงบาศก์ของความเบื่อ สร้างบรรยากาศอันสดชื่นสดใส ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง
5. สิ่งที่เกิดขึ้นทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการขาดการประมวลข้อเท็จจริงของปัญหาหรือทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นได้แต่คิดวกไปวนมา แต่ไม่มีการเขียนออกมาชัดเจนว่า อะไรคือต้นเหตุแห่งปัญหาแน่ และแนวทางการแก้ไขน่าจะเป็นอย่างไรหรือไม่มีการหาข้อเท็จจริง ก็มักจะหามาเพื่อสนับสนุนมุมมองของเราในแง่ลบต่อเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว แทนที่จะหาข้อเท็จจริงเพื่อให้เห็นภาพรวมอย่างถูกต้องและแม่นยำ จึงทำให้ยิ่งแก้ปัญหา ปัญหายิ่งบานปลาย
วิธีแก้ คือ ทำตัวให้เป็นกลาง พยายามหาข้อเท็จจริง พยายามหาต้นตอแห่งปัญหา และพยายามหาทางแก้ไข ทั้งหมดจบลงด้วยความพยายามทำในสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อทำได้ดังนั้น ทางออกสู่กองทุกข์ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ยากมากนักทุกข์ทางกายภาพยังออกมาในรูปทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิต เช่น
• หากท่านั่ง , เดิน , ยืน , นอน มีการบิดของเส้นเอ็น และเกิดอาการเจ็บปวดทางร่างกาย โอกาสที่สภาพจิตจะเสื่อมโทรมตามไปด้วย ย่อมมีได้มาก ดังนั้น จึงควรจะจับตามองดูสภาวะของร่างกายอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงอาการตึงเครียด และปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้จิตใจปรุงแต่งต่อทุกขเวทนาทางกายตามไปด้วย
• เป็นโรคนอนไม่หลับ หัวถึงหมอนแต่ยังคิดต่อเป็นตุเป็นตะ กังวลจนนอนไม่ได้หรือไม่กล้านอน วิธีแก้คือ จะนอนก็นอน จะทุกข์ก็ทุกข์ คิดทีละอย่างทำทีละอย่าง จิตจะได้ไม่สับสนกระวนกระวาย การแบกความคิด ถือเป็นนิสัยที่แย่มาก รังแกร่างกายและจิตใจ เพราะร่างกายต้องการพักผ่อน ในขณะที่จิตใจอยากหยุดพัก เลิกคิดสักครู่หลังจากคิดและทุกข์มาหลายชั่วโมงติดต่อกันแล้ว เพราะฉะนั้น จะนอนก็นอนห้ามคิดโดยเด็ดขาด
• ไม่รู้จักหาเวลาว่าง ๆ เพื่อนอนหลับสักงีบ ซึ่งถือเป็นยาอายุวัฒนะ คลายความเครียด ลดความเศร้าหมอง ลดระดับความเป็นไปของจิตที่ถูกห่อหุ้มด้วยความกังวลและความทุกข์ร้อนเป็นอาจิณ
• ขาดการออกกำลังกาย เราต้องยอมรับว่า จิตใจที่เข้มแข็งย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้น เราต้องดูแลรักษาร่างกายอยู่เสมอเพื่อให้เลือดลมไหลสะดวก หัวใจแข็งแรง ความดันเป็นปกติร่างกายสามารถขจัดสารพิษออกทางเหงื่อ และสิ่งอื่นที่ถูกขับออกจากร่างกาย