เมื่อคนเราไม่อาจสู้หรือถอย

นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2546 เมื่อคนเราไม่อาจสู้หรือถอย

ในที่สุดนักวิจัยก็สามารถสรุปได้ว่า ใช่เพียงแต่ โรคซึมเศร้าซึ่งเป็น โรคทางใจร้ายแรง เท่านั้น ที่อาจสามารถทำร้ายร่างกายเราได้ แม้แต่เพียง อาการป่วยทางใจที่รุนแรงน้อยกว่าอย่างอาการเครียดเรื้อรัง ก็สามารถทำให้ ร่างกายหลั่งฮอร์โมนหลายต่อหลายตัว ซึ่งในระยะสั้นแล้วมีประโยชน์ แต่กลับเป็นพิษต่อร่างกาย หากคงอยู่เป็นเวลานาน ที่แย่ก็คือ อาการเครียดเรื้อรัง ดังกล่าว เป็นสิ่งเกือบจะเกิดขึ้นเป็นปกติ

ในชีวิตประจำของคนนับล้านๆ คนทั่วโลก อันเกิดจาก การพยายามจัดการกับ แรงกดดัน ของวิถีชีวิตสมัยใหม่ในยุคนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่กลวิธีต่างๆ ในการลดความเครียดซึ่งช่วยทำให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย อันได้แก่ การทำสมาธิ โยคะ และการออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลายอื่นๆ จึงไม่เพียงแต่ช่วย ด้านจิตใจเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้ร่างกาย ของคุณรู้สึกสบายไปด้วย

ปฏิกิริยาทางร่างกายของมนุษย์ที่มีต่อความเครียด ที่เรียกว่าปฏิกิริยา "สู้หรือหนี" อาจวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อ ช่วยให้บรรพบุรุษยุคหิน ของเรา สามารถจัดการกับโลกที่ยัง ป่าเถื่อนในสมัยนั้นได้ เมื่อเผชิญหน้ากับอันตรายที่อยู่ตรงหน้า เช่น เสือที่กำลังแยกเขี้ยวพร้อม จะกระโจนเข้ามาขม้ำ หรือศัตรูที่กำลังควงตะบองอย่างบ้าระห่ำ ร่างกายของเราจำเป็นต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมในทันที เพื่อปกป้องตัวเองหรือเผ่นป่าราบเพื่อเอาชีวิตรอด

ด้วยเหตุนั้น สมองซึ่งกำลังตื่นตกใจ จึงส่งสัญญาณไปยังต่อมหมวกไต ซึ่งตั้งอยู่เหนือไต เพื่อให้หลั่งฮอร์โมนได้แก่ adrenaline (หรือชื่อทางเทคนิคคือ epinephrine) และฮอร์โมนกลุ่ม glucocorticoids และส่งสัญญาณไปยังเซลล์ประสาทให้หลั่งฮอร์โมน norepinephrine สารเคมีอันทรง พลังเหล่านี้ ช่วยทำให้ประสาทรับความรู้สึกของเราเฉียบคมขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น ในกระแสเลือดเต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำตาล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที เมื่ออันตรายที่คุกคามนั้นผ่านพ้นไป ปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้จะหยุดลงทันที

แต่ในโลกสมัยใหม่ยุคคอมพิวเตอร์ ความเครียดมักจะปรากฏในรูปแบบที่แตกต่างไปจากยุคหินโดยสิ้นเชิง แต่ทว่าปฏิกิริยา "สู้หรือหนี" ของร่างกายเรากลับ ยังคงอยู่เหมือนเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงตามลักษณะของความเครียดส่วนใหญ่ที่เราเผชิญในโลกสมัยใหม่ มักเป็นความเครียดที่คงอยู่อย่าง ต่อเนื่องและไม่รุนแรง และมักจะเกิดในสถานการณ์ที่เราไม่อาจจะ "สู้หรือถอย" ได้ เช่น การเผชิญกับเจ้านายเจ้าอารมณ์ รถติด ทะเลาะกับแฟน หุ้นตก หรือแม้แต่การรู้สึกว่าคุณไม่สามารถควบคุมอะไรๆ ในชีวิตได้อีกต่อไปแล้ว

แม้ว่าฮอร์โมนบางตัวที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียดจะไม่คงอยู่ในระดับสูงตลอดเวลา แต่ฮอร์โมนกลุ่ม glucocorticoids จะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ความเครียดนั้นจะผ่านพ้นไปแล้ว โดยเฉพาะฮอร์โมน cortisol ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ สามารถจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ และอาจทำให้โรคมะเร็งและโรคติดเชื้ออื่นๆ เลวร้ายลง อย่างไรก็ตาม การวัดผลต่อร่างกายที่เกิดจากความเครียดเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ผลการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ถึงผลดีของการนำกลวิธีคลายเครียดต่างๆ มาใช้กับผู้ป่วย ในการศึกษาผู้ป่วยโรคเรื้อนครั้งหนึ่ง ได้แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกผู้ป่วยได้ทำสมาธิร่วมกับการรักษา ส่วนกลุ่มหลังไม่ได้ทำสมาธิ ผลปรากฏว่า กลุ่มแรกเห็นผลในการรักษาเร็วกว่า ผลการศึกษาอีกหลายชิ้น แสดงว่า ผู้ป่วยที่สวดมนต์เป็นประจำและผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่มีทัศนคติเป็นบวก หรือสามารถระบายความโกรธที่มีต่อโรคร้ายที่ตนเป็นออกมาได้ มักจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ป่วย ด้วยโรคเดียวกัน ที่ไม่ได้มีการสงบจิตใจหรือระบายความอัดอั้นตันใจออกมา

ผลการศึกษาต่างๆ ข้างต้นเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่เวลาเผชิญกับโรคร้ายแรงมากๆ จริงๆ กลวิธีคลายเครียดต่างๆ จะสามารถช่วยได้เพียง เล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับการรักษาแผนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หากการทำสมาธิ การสวดมนต์และการออกกำลังกาย ประเภทคลายเครียดต่างๆ สามารถกำจัดแรงกดดันออกไปจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราได้ แม้จะเพียงทีละเล็กละน้อยเท่านั้น ก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่าน ไปนานๆ เข้า ก็ย่อมจะมีส่วนช่วยให้เรามีชีวิตที่มีสุขภาพ ดีขึ้นได้