จิตวิญญาณ Spirituality

ในโลกตะวันตกนั้น คำว่า Spirituality ในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 นี้เอง รากศัพท์ดั้งเดิมของคำว่า spirituality มาจากคำว่า spiritus ในภาษาลาตินซึ่งหมายถึงลมหายใจ ผสมกับคำว่า enthousiasmos (รากศัพท์ของคำว่า enthusiasm) ที่หมายถึง the god within หรือพลังอำ นาจศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต Walter Principe ในบทความชื่อ Toward Defining Spirituality18 ได้สืบค้นความหมายของคำว่า spirituality ที่เริ่มปรากฏในช่วงศตวรรษที่ 17 ว่ามีความหมาย ที่สะท้อนความคิดดั้งเดิมที่ใช้กันในทางศาสนา และเทววิทยาที่แตกต่างกัน 4 ความหมาย คือ

1. ในความหมายแรกสัมพันธ์กับความหมายดั้งเดิมในภาษาลาติน คำดังกล่าวมีการใช้ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ในความหมายของ คุณธรรม ของชีวิต (moral sense of life) ซึ่งตรงกับคำในภาษากรีกคือ pneuma (life in the Spirit of God) คำว่า spirituality ในความหมายนี้ยังไม่ได้มีลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้ามระหว่าง body กับ spirit แต่หมายถึงพลังด้านคุณธรรมที่กำกับชีวิตของมนุษย์
2. ความหมายที่สองมีรากฐานมาจากอิทธิพลของคริสเตียน-เฮเลนนิสติค (Christain-Helenistic) ซึ่งในกระแสความคิดนี้เป็น การจำแนกแยกแยะความเป็นจริงในโลกออกเป็น
2 ส่วนคือ Spirit vs. Matter ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีการมองแบบทวิลักษณ์ (Dualism) ที่ Spirit กลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่ตรงข้ามกับวัตถุอย่างแท้จริง ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 นั้น มีการจำแนกชีวิตออกเป็นสามส่วนได้แก่ body คือร่างกายที่เป็นเนื่อหนังมังสา soul คือจิตใจ ส่วน spirit เป็นจิตวิญญาณที่เป็นสากล ไม่ใช่จิตที่เป็นปัจเจกในความหมายของ soul แต่ความหมายของ spirit ที่เป็นสากลนี้ค่อย ๆ ลบเลือนในยุคต่อ ๆ มา
3. ความหมายที่สามนั้น คำว่า spirituality ถูกใช้ในแง่ที่สะท้อนถึงขอบเขตอำนาจในเชิงของศาสนจักร โดยถือว่า คำว่า spirituality นั้นหมายถึงสิ่งที่อยู่ใต้อาณัติของศาสนจักร "proporty held or received in return for spiritual services"
4. ความหมายที่สี่เป็นความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบันนั้นมีพัฒนาการเนื่องมาจากความหมายของคำว่า spiritualité ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง คุณภาพหรือสภาวะแห่งชีวิตไปพ้นจาก ความเป็นไปในทางโลกียสุขหรือเข้าถึงความเป็นจริง ที่อยู่นอกเหนือจาก ชีวิตที่ฉาบฉวย มีนัยยะที่เน้นชีวิตด้านในของปัจเจกภาพอันเป็นความหมาย ที่เกิดขึ้นหลัง การปฏิรูปคริสต์ศาสนา ที่ทำให้การเข้าถึง พระเจ้ากลายเป็น เรื่องปัจเจกมากขึ้น

ความหมายของจิตวิญญาณ

จิตวิญญาณเป็น โครงสร้างส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่นอกเหนือจากร่างกายและจิตใจ พระมหาประทีป (2534: 14 ) ได้ให้ความหมาย ของกายว่า เป็นธรรมชาติ รู้สึกไม่ได้ ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟเป็นของกลาง ๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว เหมือนกันทุกชีวิต จิต เป็นธรรมชาติ รู้สึกได้ เป็นของกลาง ๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว เหมือนกันทุกชีวิต

วิญญาณ ทำหน้าที่ รู้ดี รู้ชั่ว รู้สุข รู้ทุกข์ รู้ยึดมั่นทุกชีวิตไม่เหมือนกันเป็นไปตามปัจจัยที่ถูกฝึกฝนอบรม คำว่า จิตวิญญาณ มาจากคำภาษาอังกฤษ spirit (n) spiritual (adj) และ spirituality (n) ซึ่งหมายถึง วิญญาณ จิตใจ เกี่ยวกับใจ ความองอาจ เจตนา ผู้มีปัญญา ความอดทน และภูตผีปีศาจ ( สอ เสถบุตร : ฉบับภาษาอังกฤษ-ไทย 2541: 562 ) และจิต หมายถึง ใจ , ความรู้สึกนึกคิด ส่วนคำว่า "วิญญาณ" หมายถึง ความรู้แจ้ง ความรู้สำนึก , ความคิด , ความในใจ (เปลื้อง ณ นคร, 2539 : 125 )

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้ให้คำจำกัดความว่า จิตวิญญาณ คือจิตชั้นสูง จิตที่ลดความเห็นแก่ตัว จิตที่เห็นแก่ผู้อื่น จิตที่เข้าถึงสิ่งสูงสุด คือนิพพานหรือพระผู้เป็นเจ้า ( สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ .2544 : 155 )

พรจันทร์ สุวรรณชาต (2534 : 1 ) ได้ให้ความหมายของคำว่า จิตวิญญาณ ที่นำมาใช้ในวิชาชีพการพยาบาลว่าหมายถึง พลังชีวิตของคนซึ่งแสวงหาจุดมุ่งหมายของสัมพันธภาพและการมีชีวิตรอด เป็นจิตวิญญาณที่แสวงหาจุดมุ่งหมายของความรัก ความไว้วางใจ ความหวัง และการให้อภัยแก่ตนเองและผู้อื่น

นพ. ดร. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ( "สุขภาพทางจิตวิญญาณ" 2545 : 1 ) ได้แยกคำว่า จิต กับ จิตวิญญาณ ว่า จิต คือความสบายใจ ความสนุกสนาน ไม่เครียด คำว่าจิตวิญญาณ มีความหมายถึง เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคืออะไร ซึ่งสอดคล้องกับ เอมิลิ่ง และ โพวิโอนิส ( Ameling and Povilonis ,2001: 16 ) ที่ให้คำนิยามจิตวิญญาณว่า "เป็นการค้นหาความหมายของชีวิต ( Meaning Making ) เช่น ฉันเป็นใคร ฉันอยู่ที่นี่เพราะอะไร สิ่งต่างๆเหล่านี้มีความหมายอย่างไรต่อฉัน และ อะไรคือสิ่งที่ฉันหวังจะทำในช่วงเวลาที่เหลืออยู่บนโลกนี้

อนันทราช และไฮท์ (Anandarajah and Hight. 2001:89 อ้างอิงจาก พีระศักดิ์ เลิศตระการนนท์ . 2546 : 1 ) ได้ให้ความหมายของจิตวิญญาณว่า เป็นประสบการณ์ของมนุษย์ที่ซับซ้อนและมีหลายมิติประกอบด้วยด้านสติปัญญา ( cognitive ) ประสบการณ์ (experience) และพฤติกรรม ( behavior )

1. มิติด้านสติปัญญาและปรัชญา ได้แก่ การค้นหาความหมาย วัตถุประสงค์และความจริงในชีวิต ความเชื่อและคุณค่าในสิ่งที่แต่ละบุคคลอาศัยอยู่

2. มิติด้านประสบการณ์และอารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึกของการคาดหวัง ความรัก ความสัมพันธ์ ความสงบภายใน สิ่งปลอบใจและผู้ให้การสนับสนุน

3. มิติด้านพฤติกรรม ได้แก่ สิ่งที่บุคคลแสดงออกมาจากความเชื่อทางจิตวิญญาณของแต่ละคน

สรุป ความหมายของจิตวิญญาณ หมายถึง พลังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมีชีวิตจิตใจ ผดุงชีวิต และให้ความหมายที่สำคัญแก่ชีวิต พร้อมทั้งแสดงพฤติกรรมออกมาจากความเชื่อทางจิตวิญญาณของบุคคล

คำว่า จิตวิญญาณ หมายถึง มิติที่สูงส่งของจิต จิตในระนาบธรรมดาทั้งคน และสัตว์ หมายถึงความรู้สึกสุขทุกข์ ชอบชัง จำได้หมายรู้ นึกคิด แต่จิตหมายถึงความรู้สึกนึกคิด แต่จิตวิญญาณหมายถึงมิติที่สูงส่งของจิต หรือการที่มีจิตใจสูง ความดี กุศล บุญ คุณค่า หรือจิตที่เจริญ จิตที่หลุดพ้น จิตที่เห็นแก่ตัวน้อย จิตเข้าถึงสิ่งสูงสุด ในทางพุทธ จิตวิญญาณ หมายถึง ปัญญา
จิตวิญญาณเป็น มิติที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ สัตว์ไม่มีบุญไม่มีบาป ทำอะไรก็ถือว่าทำไปตามธรรมชาติของสัตว์ หรือ ตามสัญชาตญาณ แต่มนุษย์มีบุญมีบาปมีดีมีชั่วความดี หรือความมีจิตใจสูง คำว่ามนุษย์มาจากคำว่าจิตสูง จิตวิญญาณ หรือความดีจึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์ มนุษยธรรมคือธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์อันต่างจากสัตว์ความเป็นมนุษย์จึงอยู่ที่การมีมนุษยธรรม แต่จิตของสัตว์ที่เรียกว่าคน เมื่อเอาระดับของจิตวิญญาณ เข้ามาจับต่างกันได้ราวฟ้าจรดดิน ตั้งแต่จิตใจมหาโจรจนถึงจิตของพระพุทธเจ้า หรือของพระเยซูคริสต์ หรือของพระมะหะหมัด คนที่จิตวิญญาณต่ำก็จะใกล้เคียงกับสัตว์ หรือเลวร้ายกว่าสัตว์ เพราะสัตว์ทำไปตามธรรมชาติของสัตว์ มีความเห็นแก่ตัว ระดับต่ำตามความจำเป็นของร่างกาย แต่คนมีเจตนา และความสามารถในการทำเจตนาได้มากกว่าสัตว์ ฉะนั้นคนที่มีจิตใจต่ำ จึงทำอันตรายต่อคนอื่น และสรรพสิ่งได้มากกว่าสัตว์ แม้ความเห็นแก่ตัวจะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของคน แต่ไม่ใช่ธรรมชาติอย่างเดียว มนุษย์ไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา และมนุษย์สามารถพัฒนาจิตให้สูงจน แม้หลุดพ้นจาก ความเห็นแก่โดยสิ้นเชิง สามารถออกจากความคับแคบในตัวเอง (self transcending) เป็นจิตที่เลยตัวออกไป ระดับของความเป็นมนุษย์ ขึ้นอยู่กับระดับทางจิตวิญญาณ

จิตวิญาณสูงทำให้มีสุขภาวะ (Well being) ทุกคนเคยมีประสบการณ์ความสุขนี้แล้วทั้งสิ้น ยามใดเราไม่เห็นแก่ตัว จิตใจหย่อนคลายเป็นอิสระ มีความสุขในการทำความดี เช่น เมื่อช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือการให้รู้สึกมีความสุขทั้งเนื้อทั้งตัว ยิ่งเห็นแก่ตัวน้อยยิ่งมีสุขมาก ถ้าหมดความเห็นแก่ตัวก็มีความสุขสูงสุดที่เรียกว่า วิมุติสุข (spiritual happiness) เพราะเป็นความสุขอันเนื่องด้วยมีจิตวิญญาณสูง ถ้ามนุษย์ไม่พบความสุขทางจิตวิญญาณถือว่า ยังไม่พบความสุขที่แท้จริงยังต้องแสวงหาอยู่ร่ำไป ดังคนที่มีฐานะดีแต่พร่องทางจิตวิญญาณ ก็ยังไม่พบความสุขที่แท้จริง
จิตวิญญาณสูงทำให้เป็นอิสระ จิตที่ติดอยู่ในความเห็นแก่ตัวจะอยู่ในที่คับแคบ บีบคั้น เครียด ไม่สงบ จิตที่หลุดจากความเห็นแก่ตัวได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นอิสระ เบาสบายสงบมีความสุข ความเป็นอิสระ ความสงบ และความสุขจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ความเป็นอิสระทำให้รักคนอื่นได้ คนที่ถูกบีบคั้นด้วยความเห็นแก่ตัวรักคนอื่นได้ยากต่อเมื่อเป็นอิสระความรักผู้อื่นเกิดขึ้นมาในตัวเอง ทำให้การอยู่ร่วมกัน หรือสังคมเป็นไปด้วยดี เกิดภาวะทางสังคม ( social well-being)
จิตวิญญาณเป็นธรรมชาติ เนื่องจากมิติทางจิตวิญญาณเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ไม่ว่าอยู่แห่งหนใดบนพื้นพิภพ ก็จะมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ขึ้นมาเอง และเรียกสิ่งนี้ด้วยภาษาต่างๆ กันจนถึงเรียกว่าเป็นศาสนา ศาสนาเป็นธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเองในที่ต่างๆ เพราะจิตวิญญาณเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเองว่าแผ่นดินมีคุณ และมีความศักดิ์สิทธิ์ แล้วเรียกขานว่าพระแม่ธรณี หรือ Mother Earth แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เรียกขานว่าพระแม่คงคา ต้นไม้มีความศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า มีรุกขเทวดาอยู่ในต้นไม้ สัตว์ซึ่งสัมผัสอยู่กับแผ่นดิน แม่น้ำ ต้นไม้ ไม่มีความรู้สึกอันนี้ เพราะมิติทาวจิตวิญญาณมีแต่ในคนเท่านั้น
ในสภาวะที่มีจิตวิญญาณสูงร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟินส์ (endophins) ออกมา สารเอ็นโดรฟินส์ทำให้เกิดความสุขทั้งเนื้อทั้งตัว ทำให้สุขภาพดี และอายุยืนการที่ร่างกายจะหลั่งเอ็นโดรฟินส์ออกมาต้องมียีนซึ่งอยู่ใน DNA อะไรที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของชีวิตธรรมชาติจะเอาไปใส่ไว้ในดีเอ็นเอซึ่งเป็นรหัสทางพันธุกรรม อาจกล่าวได้ว่ามิติทางจิตวิญญาณ หรือทางศาสนาเป็นธรรมชาติที่อยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์ที่เดียวเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เพราะจำเป็นต่อสุขภาวะ และการมีอายุยืนยาว หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวว่ามนุษย์ขาดความดีไม่ได้ถ้าขาดความเป็นมนุษย์จะไม่สมบูรณ์ขาดความเต็มอิ่ม หรือความสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency)
มนุษย์สมัยใหม่เพราะ ความคิดทางวัตถุ ซึ่งวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อประมาณ 400 ปี นำมาให้ทำให้เข้าสู่ลัทธิวัตถุนิยม บริโภคนิยม มิติทางจิตวิญญาณหดหายไป ดังที่พูดกันว่า พระเจ้าตายแล้ว หมายถึง มิติทางจิตวิญญาณหายไป ทำให้มนุษย์ขาดมิติทางลึก มีแต่ความแบนราบอยู่กับวัตถุ ไม่มีความสุขที่แท้จริงทุรนทุรายเครียด และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ความไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ทำให้ต้องหาอะไรมาเติม เช่น ยาเสพติด ความฟุ่มเฟือย ความรุนแรง ปัญหาเหล่านี้คงแก้ไขไม่ได้ตราบใด ที่มนุษย์ยังเป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณอยู่

วิถีพัฒนาจิตวิญญาณ ประกอบด้วย

1. การอยู่ร่วมกันที่ดี ได้แก่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน อันได้แก่ ทาน และการไม่เบียดเบียนกันอันได้แก่ ศีล ปัจจุบันการเบียดเบียนกัน สามารถทำกันในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นการเบียดเบียนขนาดใหญ่ตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกันอย่างรุนแรง
2. การทำจิตใจให้สงบ การทำจิตใจให้สงบเป็นหลักของทุกศาสนา เพราะจิตใจที่สงบทำให้เข้าถึงความจริง หรือปัญญาได้ง่าย การทำจิตใจให้สงบมีหลายวิธี เช่น การไปโบสถ์ไปวัด การฟังพระเทศน์ การสวดมนต์ การเจริญสติ การเจริญสมาธิ เมื่อจิตใจสงบก็จะเป็นอิสระ จากความบีบคั้น มีความปีติ มีความสุข เป็นฐานที่ทำให้เกิดปัญญาได้ง่าย
3. ปัญญา หมายถึงการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด สำหรับศาสนาที่มีพระเจ้า พระเจ้าคือธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด หรือจิตจักรวาลผู้สร้างธรรมชาติทั้งหมด การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าคือการยกระดับจิตวิญญาณไปสู่สิ่งสูงสุด ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ความจริงของธรรมชาติคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเข้าถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทำให้หลุดพ้นจากการยึดมั่นในตัวตน หรือธรรมชาติจิตที่ใหญ่ที่สุดคือความว่าง หรือ สุญญตา การเข้าถึงความว่างก็เป็นการพัฒนาการทางจิตวิญญาณสูงสุด

จิต

จิตคืออะไร

 

1.จิตคือสิ่งที่คิดเป็น ในชีวิตมนุษย์มีการคิดตลอดเวลา มีการวางแผน มีการนึกคิดว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จะได้สิ่งที่ชอบมาอย่างไร คิดถึงอนาคตบ้าง คิดถึงอดีตบ้าง คิดสารพัดเรื่อง
2.จิตเป็นสิ่งที่รู้สึกเป็น รู้สึกได้ในชีวิต รู้สึกสบาย รู้สึกไม่สบาย รู้สึกร้อน รู้สึกเย็น รู้สึกง่วงนอน รู้สึกตื่น
3.จิตเป็นสิ่งที่จำได้ คือความจำ โดยอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
4.จิตเป็นสิ่งที่มีอารมณ์ เช่น กลัว โมโห อิจฉา รัก หึงหวง ขี้เกียจ
5.จิตเป็นสิ่งที่รู้เป็น ทื่มีความรู้ชนิดที่เรียกว่า สัญชาตญาณ ตั้งแต่ความรู้ที่โง่เขลา ไปจนถึงความรู้ที่ฉลาด
6.จิตเป็นสิ่งที่อิสระ คือไม่คับแคบ ไม่ตึงเครียด ไม่ยึดติด ไม่ถูกจำกัดโดยอะไร

 

จิตกับสมอง

 

ในโลกวิทยาการสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาค้นพบว่า สมองมนุษย์มี 3 ชั้น ชั้นในสุด เป็นระบบสมองที่เก่าแก่ที่สุด เป็นส่วนสมองที่เราไม่รู้สึกตัว ทั้งที่มันทำงานอยู่ตลอดเวลา ในการควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร
สมองชั้นที่ 2 ซึ่งควบคุมเกี่ยวกับความรู้สึก เช่น รัก เกลียด กลัว
สมองชั้นที่ 3 เป็นสมองที่ทำงานสลับซับซ้อน ส่วนนี้ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ เช่นมีความรู้สึกนึกคิด จินตนาการ รู้จักวางแผน
เมื่อใช้มุมมองเช่นนี้จะมีคำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ คือ จิต เกิดขึ้นได้อย่างไร หากใช้มุมมองของวิทยาศาสตร์ จิตเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการมาจากวัตถุ แต่ถ้ามองแบบศาสนา จักรวาลนั้นวิวัฒนาการมาจากจิต หมายความว่าจิตมีมาก่อน ที่เรียกว่า จิตสากลจักรวาล หรือพระเจ้า นั่น

ซิกมันด์ ฟรอยด์ และจิตใต้สำนึก

ฟรอยด์ใช้เวลาหลายปีคุยกับคนไข้ที่เขาศึกษาความเป็นไป และพฤติกรรมทางจิตของคนเหล่านั้น และได้สรุปกลไกของจิตออกมาเป็น ทฤษฎีต่างๆฟรอยด์กล่าวว่าจิตคนเรานั้นมี 3 ส่วน ซึ่งเป็นนามธรรมที่เป็นพฤติกรรมของจิต ส่วนหนึ่งเป็นสัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ การสืบพันธุ์ การแสวงหาอาหาร เป็นต้น เรียกว่า Id แล้วยังมีอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า Ego เป็นผู้กระทำ ผู้คิด ผู้เฝ้าดู ผู้ที่เป็นตัวตนที่เคลื่อนไหวในโลกนี้ ซึ่งตัว Ego ก็รับใช้ Id บ้าง พยายามควบคุม Id บ้าง ควบคุมโดยความคิด และความรู้สึก ส่วนที่ 3 นั้นเรียกว่า Superego คำว่า Super แปลว่าอยู่เหนือ เป็นตัวที่อยู่เหนือทั้ง Id และEgo และพยายามควบคุมทั้ง Id และ Ego Superego เป็นส่วนที่เกี่ยวกับศีลธรรม กฎ ระเบียบ และความเชื่อทางศาสนาทั้งหลายที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก เราจะพยายาม ควบคุมพฤติกรรมของ Id และ Ego ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้เรียนมา
ฟรอยด์ให้ความสำคัญกับเรื่อง จิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการเก็บกด หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เด่นชัดในจิตใต้สำนึกคือการฝัน ในยามที่เรานอนหลับ
ฟรอยด์สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับ พฤติกรรมของจิตทั้งที่สำนึก และใต้สำนึกได้ วัตถุประสงค์ของ ฟรอยด์ในการศึกษาเรื่องดังกล่าว คือ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ท่ามกลางความรัก ความเกลียดชัง ความสุข ความทุกข์ โดยให้มนุษย์ สามารถ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ให้อยู่ในระดับที่รุนแรงเกินไปฟรอยด์ค้นพบวิธีรักษา และบรรเทาอาการของคนป่วยโรคประสาท และโรคจิต
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ จิตวิทยาสมัยใหม่นี้เกิดขึ้น และมีความจำเป็นเมื่อวิทยาศาสตร์ และศาสนาแยกออกจากกัน หากศาสนา และวิทยาศาสตร์ผสมกลมกลืนกัน จิตวิทยาก็จะแทรกอยู่ในนั้น แต่เมื่อแยกจากกันแล้ววิทยาศาสตร์ก็อาศัยศาสนาไม่ได้เลย จึงต้องหา อะไรมาแทนที่ศาสนา ดังปัจจุบันหลายคนก็อาศัยจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ และแสวงหาความสุขในชีวิต และสรุปสั้นๆว่าจิตวิทยาสมัยใหม่สามารถอธิบายกลไกทางจิต ทั้งที่เป็นสำนึก และใต้สำนึกได้ชัดเจนพอสมควร และอาศัยความรู้นี้หาวิธีที่จะบำบัดคนที่มีปัญหาทางจิตใจต่อไป


Source :