ฝึกจิตรู้ตน บนความเปลี่ยนแปลง
ฝึกจิตรู้ตน บนความเปลี่ยนแปลง นิติศักดิ์ โตนิติ - มิถุนายน 2549
การฝึกฝนภายในเบื้องต้น เป็นความพยายามดำรงตนให้จิตตื่นจากหลับ เพื่อรู้ตัวรู้ตนในทุกขณะที่ดำเนินชีวิต ในเดือนมิถุนายน 2549 การเคลื่อนตัว ของชีวิตที่เป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เป็นชีวิตของปุถุชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่ประสบกับสิ่งที่เป็นสุขและทุกข์ ปนเปกันไป รู้ตัวบ้าง ลืมตัวบ้าง แต่ การทบทวนตัวตนในแต่ละช่วงเวลาที่ดำเนินชีวิตผ่านไป ในสมาธิ ช่วยให้เราได้เรียนรู้และบันทึกไว้เป็น ความทรงจำ อันเป็นฐานแห่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราจากภายใน บางเรื่องเป็นการรื้อ และแก้อนุสัยที่ฝังจำไว้ในจิต เบื้องลึกทีละเล็ก ทีละน้อย เป็นสิ่งที่ตนสามารถ เรียนรู้ได้เองจากการลงมือ ปฏิบัติ พบประสบการณ์ที่น่าสนใจดังนี้
"การมีทรัพย์เป็นทุกข์" อันเป็นจุดเกิดแห่งเวทนาที่รบกวนจิตใจ ทำให้เราไม่สามารถสงบเย็น หรือดำรงจิตในชีวิตความเป็นอยู่ด้วย ความว่างได้ เพราะ "เราไปยึดมั่นถือมั่นเอาว่าเรา ว่าของเรา" เมื่อมีเรา มีของเรา ก็เกิดความห่วง ความกังวล ความร่ำไรรำพัน ว่าจะของๆ เราจะยังอยู่ดี หรือไม่ มีใครมาหยิบไปหรือไม่ มีคนดูแลให้หรือไม่ แต่ในความเป็นจริงตามกฎของธรรมชาติ สรรพสิ่งล้วน เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เมื่อได้พิจารณาแล้วก็ได้ทบทวนเอาสติปัญญากลับคืนมา ให้ได้รู้ตามที่เป็นจริงว่า "ทรัพย์ทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง"
ดังนั้นเราจึงควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์ด้วยจิตสงบเย็น ใช้งานทรัพย์นั้นๆ ตามคุณค่าแท้และหน้าที่ที่เป็นอยู่จริง และดูแล รักษาให้สามารถ ใช้งานได้ตามสภาพแห่งความเปลี่ยนแปลงอันเป็นไปตามธรรมดา เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จิตของเราก็จะหา ความสงบเย็นจากการมีทรัพย์ ไม่ทุกข์ทนด้วยอาการที่ไม่น่าปารถนา ความไม่สบายใจ ความร่ำไรรำพรรณ
"ความทุกข์อันเกิดจากความอยาก" อยากได้ อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น ต่อสิ่งที่แวะเวียนเข้ามากระทบต่อจิตเรา ในแต่ละขณะลมหายใจ เป็นอาการฟุ้งของจิตในตัวเราที่ก่อกวนความสงบเย็นทั้งยามหลับและยามตื่น เช่น การหมกมุ่นครุ่นคิดว่า ต้องทำสิ่งหนึ่ง เพื่อจะให้ได้สิ่งหนึ่ง จิตตกเป็นทาสแห่งกิเลสอันเกิดจาก มโนวิญญาณ คือ ความคิด เป็นเหตุของความโลภ ที่มายั่วยวนจิตของเรา ให้เกิดเวทนา และก็ยึดถือเป็น อุปทาน ว่าเรา ว่าของเรา อันฐานแห่งความทุกข์ในที่สุด เป็นไปตาม กฏปฏิจจสมุปบาท คือ การอาศัยกันเกิดขึ้น
การปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส ดังกล่าว ให้เรามีสติคอยประคับประคองจิตให้สงบเย็นไว้ ในหลักของพุทธศาสนา ใช้การปฏิบัติพรหมจรรย์ 10 เพื่อการดูแลจิตให้ถูกต้อง สามารถฝึกจิตได้ดังนี้
- มีความพอใจต่อการงาน ต่อการดำรงชีวิต เป็นเหตุเบื้องต้น (ฉันทมูลกา) โดยมีวิชชา ปัญญา เป็นพื้นฐานว่า ต้องกระทำ เพื่อก่อให้เกิด การเรียนรู้ธรรม (ธรรมสโมทาน)
- กระทำทางจิต (มนสิการสัมพวา) ด้วยการฝึกอบรมด้วยศีล ด้วยการฝึกสมาธิภาวนา ด้วยการให้ทานการเสียสละ เพื่อแก้กิเลส ในจิตใจของเรา เป็นแดนเกิดของพรหมจรรย์
- ต้องรู้ภูมิหลังของกิเลส (ผัสสสมุทยา) รู้ว่ากิเลสมาอย่างไร ทำหน้าที่อย่างไร ต้องมีสติปัญญาที่มารับรู้ให้ทัน เมื่อนามรูป(ภายนอก) มากระทบ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะ ๖ ภายใน) เกิดการรับรู้เป็นวิญญาณ ผัสสะ(การกระทบ)
- การรู้เท่าทันต่อการถูกยั่วยวนให้เราพอใจ ไม่พอใจ (เวทนาสโมรณา) ที่ปรุงต่อให้เป็น ตัณหา (ความอยากได้ อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น) ในที่สุดก็ยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปทาน (ว่าเรา ว่าของเรา มีตัวกู ของกู) เกิดเป็นภพ ชาติ ชรา และทุกข์ในที่สุด สิ่งที่เราควรทำคือ การทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเกิดผัสสะ เวทนา ให้รู้ตัวรู้ตน ว่า ชอบ พอใจ ไม่พอใจ ต่อสิ่งที่มายวนยั่ว และหยุดเสียให้ได้ไม่ปรุงต่อเป็น ความอยาก(ตัณหา) เพื่อให้จิตมีโพธิปัญญาที่สูงขึ้นในทุกขณะที่ดำรงตน
- การจัดทัพต่อสู้กับสิ่งที่มายั่วยุ (สมาธิปมุกขา) ด้วยการฝึกจิตให้มีสติ ด้วยสมาธิ เพื่อใช้สมาธิเป็นแม่ทัพหลวง ให้มีความบริสุทธิ์ จากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายหรือจากนิวรณ์ ๕ (ปริสุทโธ / Cleaness) และการฝึกจิตให้เป็นหนึ่งเดียว หรือ เอกะคะหาจิต ตั้งมั่น เผาปัญหาที่มากระทบได้ (กัมมะหิโต / Fermness) ตลอดจนการฝึกจิตให้อ่อนโยน ว่องไวต่อการงาน(กัมมะนีโย / Activness) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเราสามารถฝึกจิตให้สติสมบูรณ์ ให้จิตเป็นสมาธิได้ด้วยการกำหนดอารมณ์ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีอากาศปลอดโปร่ง อุณหภูมิพอเหมาะ มีความสงบจากสิ่งรบกวน อีกทั้งร่างกายต้องมีความพร้อม ด้วยศีล และมีกัลยาณมิตรที่บริสุทธิ์ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนตามสมควร การฝึกจิตให้มีสมาธิ สามารถกระทำได้ทั้งในท่ายืน นอน เดิน นั่ง หรือนอนก็ได้ ในเบื้องต้นให้ฝึกตามลมหายใจเข้าลึก ยาว จากปลายจมูก ถึงท้อง แล้วต่อด้วยการตามลมหายใจออกยาว จากท้อง สู่ปลายจมูก ด้วยความผ่อนคลาย ฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกิดความชำนาญโยเรียนรู้จากการกระทำ จนกระทั่งเกิดความสงบ จิตแน่วแน่ มีสติมั่นคง ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน เพื่อผูกมัดจิตไว้ ให้เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม และเท่าทันเมื่อเกิด ผัสสะ เวทนา ให้สามารถหยุด เย็น และยอมรับใช้ในสิ่งที่ถูก
- การใช้สติเป็นบุคคลสำคัญในการทำงาน (สตาธิปเตยยา) เช่น การปลูกถั่วดิน (ถั่วลิสง) ที่ต้องใช้แรงงานร่วมกันหลายคน ซึ่งบางครั้งอาจจะมีความเหลื่อมล้ำกันจากการทำงานได้ หากเรามีสติเท่าทัน เราก็จะสามารถพิจารณาถึง เหตุการณ์ที่ทำงาน ด้วยกันได้อย่างละเอียด และจะค้นพบสาเหตุแห่งการเหลื่อมล้ำในการทำงานร่วมกันนั้นได้ไม่ยากนัก รวมทั้งจะมีสติค้นพบ การเปลี่ยนแปลง ที่ตัวเราเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการทำงานร่วมกัน ด้วยความสุข ไม่เครียด ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่จะและกันอย่างเป็นบรรยากาศการทำงานด้วยกันอย่างอ่อนโยน หนุนเสริมกันและกัน ด้วยการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ กันต่อเนื่อง ซึ่งหากขาดสติเท่าทันในการทำงานร่วมกัน จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ที่พร้อมจะบานปลายเป็นเรื่องใหญ่โต ขยายวงสู่บุคคล ที่เกี่ยวข้องแวดล้อมมากมาย และจิตจะขุ่นมัวครุ่นคิดเช้าค่ำ กังวลว่าจะถูกเอาเปรียบ จะถูกดูถูก ยิ่งพยามจะแก้ไข ก็เกิดข้อติดขัดตกเป็นทาส แก่ผู้จ้องหาประโยชน์จากความผิดพลาดที่เราสร้างขึ้น ความเสียหายก็จะเพิ่มมากขึ้น อย่างไม่อาจคาดการณ์ได้
- การใช้ปัญญาเป็นสิ่งสูงสุดเพื่อฆ่ากิเลส (ปัญโญตตรา) เป็นการมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นจริงอยู่เสมอ (ยถาภูตสมปัญญา) คือเห็นว่าอะไร คือ อะไร ตามเหตุปัจจัย
- หลุดพ้นจากการปรุงแต่ง แห่งกองทุกข์ หรือกิเลส กิน กาม เกียรติ (วิมุตติสารา) โดยเห็นแก่นสารของสรรพสิ่งว่าตั้งอยู่ใน "วัฏฏะสงสาร" ซึ่งล้วน "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป"
- การไม่ปรุงแต่งอะไร เป็นจิตว่าง (อมโตคธา) เป็นจิตพุทธะ ไม่ใช้ความคิด ไม่ใช้ความรู้สึกเป็นจิตเดิมแท้ ว่างจากการปรุงแต่งทั้งปวง (จิตประภัสสร) เป็นภาวะแห่งความ "สะอาด สว่าง สงบ"
- ความสงบเย็น สุดรอบ (นิพพานปริโยสาณา) เป็น การเป็นอยู่โดยจิตว่าง อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่มีตัวกู ของกู ไม่ยึดมั่นตัวตน เป็นการทำงานโดยความว่างด้วยสติปัญญา อันเกิดจากการฟัง (สุตตมปัญญา) ปัญญาอันเกิดจากการใคร่ครวญ (จินตามยปัญญา) และปัญญาอันเกิดจากการรู้แจ้ง เห็นแจ้ง จากการปฏิบัติตน (ภาวนามยปัญญา)
การฝึกจิตเพื่อรู้ตัวตน บนความเปลี่ยนแปลงของชีวิตประจำวัน จึงเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ธรรม สำหรับพัฒนาการพึ่งพาตนเอง ในด้านพฤติกรรมความเป็นอยู่อย่างพอเหมาะ ดำเนินชีวิตโดยไม่แตะส่วนเกิน ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ให้เกิดความพร้อมในการฝึกสมาธิเพื่ออบรมจิตให้เกิดปัญญารู้แจ้งตามที่เป็นจริง สำหรับพัฒนาการอาศัยกันและกันอย่างเกื้อกูล ซึ่งต้องอาศัยความสนใจ ความมีสติ ความพร้อมด้วยศีล และมีความพร้อมในการเรียนรู้ธรรมที่ใช้ทุกโอกาส ทุกขณะลมหายใจ เพื่อยกระดับพัฒนาจิตให้สะอาด สว่าง สงบ เย็น ว่าง และเหมาะควรแก่การงาน
การทบทวนตัวตนภายใน เป็นการรู้จักตัวเอง ในด้านใน (จิตใจภายใน) ว่าเกิดการยึดมั่นว่าเรา ว่าของเรา เมื่อไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แบ่งออกได้เป็น ๓ พวก คือ
1. ตัวกูสีดำ เป็นตัวกูที่เต็มไปด้วยกิเลส มักง่าย ชอบความสะดวกสบาย ไม่รับผิดชอบ ทำงานด้วยอวิชชา มีกิเลสคอยสั่งการ เช่น การกินอาหารที่แม้ว่า เราอิ่มแล้สก็ยังกิน เพราะติดใจในรสชาติของอาหาร ทำใจไม่ได้ เกิดตัวกู เกิดตัณหาคือความอยาก แต่ถ้ากินอาหารด้วยความหิวแต่พอดี โดยสติปัญญาเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย ไม่ถือว่าเป็นตัวกูสีดำ ตัวกูชนิดนี้เป็นตัวกูแห่งกิเลสที่กำกับจิตให้ "ทำบาป"
2. ตัวกูสีขาว เป็นตัวกูที่เต็มไปด้วยกิเลส อยากช่วยเหลือ อยากทำดี เป็นตัวกูเพราะทำด้วยความอยาก (ตัณหา) "ทุกข์เพราะอยากทำดี"
3. ไม่มีตัวกู เป็นการดำรงอยู่ ทำงานด้วยการเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นการทำงานตามกฏเกณฑ์ตามธรรมชาติ สบายใจกับการทำงาน "จิตบริสุทธิ์" ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จิตว่าง จึงทำงานได้ดีกว่าตัวกูสีดำ หรือตัวกูสีขาว เพราะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น
ตัวกูแต่ละพวก ใน 1 เดือน เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน เพราะแต่ละลมหายใจเข้าและออก มีโอกาสเกิดตัวกูได้หลายแบบ แต่ตัวกูที่ต้องระวังและจำเป็นต้องละวางลงเสีย เพื่อจะไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น เพื่อเว้นจากการทำบาปทั้งปวง คือ ตัวกูสีดำ ซึ่งละวางได้ด้วย
- เว้นจากการเพ่งมองด้วยความโลภ ตาลุก (โลภะ)
- เว้นจากความคิดอยากทำลายผู้อื่น(โทสะ)
- เว้นจากการโกรธตนเอง(โกรธะ)
- เว้นจากการผูกโกรธพยาบาท (อุปนา)
- เว้นจากความโมโหซึ่งเกิดจากความโง่ (โมหะ) ประกอบด้วย
5.1 การไม่รู้บุญคุณคน (มักขะ)
5.2 การยกตนเสมอท่าน (ปราสะ)
5.3 การตระหนี่ขี้เหนียว ไม่แบ่งปัน (มัจฉริยะ)
5.4 ความไม่อยากให้เพื่อมีมากกว่า (อิจฉา)
5.5 การไม่ยอมใคร หัวดื้อ (ถัมภะ)
5.6 การบิดพลิ้ว แก้ตัวเก่ง (สารัมภะ)
5.7 การแสดงออกไม่ตรงกับใจ (มายา)
5.8 การพูดเรื่องไม่จริง โม้ โอ้อวด (สาไถย)
5.9 การแสดงออกว่าเป็นตัวตน (มานะ)
5.10 การเหยียดหยามผู้อื่น ข่มผู้อื่น(อติมานะ)
5.11 การหลงเมาทางจิต (มท)
5.12 ความประมาท (ปมท)
เมื่อทบทวนแล้วพบว่า ใน 1 เดือนที่ผ่านมา ผมได้พาจิต ผ่านความเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันไปแวะเวียนเยี่ยมเยือนตัวกูสีดำ ครบทุกข้อ บางข้อหลายครั้ง ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งยามตื่นและหลับฝัน แต่สิ่งที่ต้องคิดหาวิธีกระทำตนต่อไป ก็คือ จะลดตัวกูสีดำในแต่ละข้อ ให้เหลือน้อยลง และน้อยครั้ง หรือหมดไปได้อย่างไร เป็นปริศนาสำคัญในการพัฒนาภายใน เพื่อเรียนรู้สู่ความเป็นอยู่อย่างว่าง และสงบเย็น