การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก

การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก (The Development of Creativity in Children)

ส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ยังมีการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ค่อน ข้างน้อยคือ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ หรือภาวะสร้างสรรค์ (creativity) ก่อนยุคจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มีทรรศนะว่า ความคิดสร้างสรรค์ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจิตไร้สำนึก (the unconscious) จากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในสมัยนั้น Ellenberger อธิบายว่าจิตไร้สำนึกมีหน้าที่สี่อย่างคือ

(1) หน้าที่เชิงอนุรักษ์ (conservative function) กล่าวคือ ความจำและประสบการณ์ต่างๆ ไม่สูญหายไปไหน แต่จะถูกเก็บสั่งสม ไว้ในจิตไร้สำนึก

(2) หน้าที่เชิงการแตกตัว (dissolutive function) ซึ่งสัมพันธ์กับกลไกทางจิต ที่เรียกว่าการแตกแยก (dissociation) โดยเฉพาะการแตกแยกของบุคลิกภาพ อย่าง ที่พบในพหุบุคลิกภาพ (multiple personality)

(3) หน้าที่เชิงสร้างสรรค์ (creative function) ซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะ ดนตรี การประพันธ์ การค้นพบสิ่งใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และประยุกตวิทยา (technology) และ

(4) หน้าที่เชิงตำนานหรือนิยายโบราณ (mythopoetic function) เช่น ตำนานหรือนิยายโบราณของกรีก ตำนานพระปฐมเจดีย์ รวมถึงเรื่องลึกลับบางอย่าง เช่น การตายแล้วเกิด การเข้าทรง ภูตผี ปีศาจ เป็นต้น

Freud สนใจเรื่องปรากฏการณ์ของจิตไร้สำนึกอย่างมาก และได้เขียนหนังสือเรื่อง "การแปลความหมายของความฝัน (the interpretation of dreams)" ในปี ค.ศ. 1900 และเรื่อง "เรื่องตลกขบขันและความสัมพันธ์กับจิตไร้สำนึก (Wits and their relations to the unconscious)" ในปี ค.ศ. 1905 ในหนังสือทั้งสองเล่มนี้ Freud แสดงแนวคิดว่าความฝันและเรื่องตลกขบขันล้วนแต่เป็นการแสดงออกของสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึก ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ของคนเรา Freud ยังเชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์เริ่มต้นจากความขัดแย้ง (conflicts) ของมนุษย์ ซึ่งมีต้นตอมาจากแรงขับทางสัญชาตญาณพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญชาตญาณแห่งชีวิต (life instinct or libido) แรงจูงใจที่สร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา คือ ความพยายามของคนเราที่จะหาวิธีแก้ความขัดแย้งเหล่านี้ให้หมดไป

นอกจากนั้น Freud ยังเชื่อว่า แรงขับทางเพศมีบทบาทอย่างเด่นชัดในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเช่นนี้ มีส่วนสัมพันธ์กับความอยากรู้ อยากเห็น ทางเพศในวัยเด็ก ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเด็กอายุประมาณสามขวบ แรงขับทางเพศมักถูกกดเก็บเอาไว้ในจิตไร้สำนึกจากอิทธิพลทางศาสนา การศึกษา และสังคม ในคนบางคน ความอยากรู้อยากเห็นทางเพศจะมีการแปรเปลี่ยนโดยกลไกทางจิตที่เรียกว่าการทดเทิด หรือการเปลี่ยนให้เป็นที่ยอมรับ (sublimation) ไปเป็นความคิดสร้างสรรค์ ความฝันกลางวัน (day dreams) และจินตนาการ (imagination) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบบ่อยในวัยเด็ก คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มักชอบสร้างผลงานที่ตอบสนอง และทำให้เกิดความพอใจต่อความฝันกลางวันของเขา ตามปกติคนเรามักมีความละอายใจ ที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องราวของความฝันกลางวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีคนบางคนที่พยายามแปรเปลี่ยนความปรารถนาดังกล่าว ออกมาเป็นผลงานที่ทรงคุณค่า และมีสุนทรียภาพอย่างยอดเยี่ยม

กระบวนการของความคิด (The Process of Thinking)

Freud ได้แบ่งกระบวนการของความคิดออกเป็นสองแบบ ดังนี้

1.กระบวนการของความคิดปฐมภูมิ (Primary thinking process) เป็นความคิดที่ไม่มีการแยกความแตกต่าง ระหว่างสิ่งเร้า ที่เกิดขึ้นจากภายในกับสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นจากภายนอก ทำให้ไม่สามารถแยก ความจริง (reality) ออกจากความเพ้อฝัน (fantasy) ได้ กระบวนการนี้ยังเกี่ยวข้องกับ หลักแห่งความพอใจ (pleasure principle) ซึ่งเป็นการแสวงหาความพอใจให้กับตนเอง เป็นการทำงาน ตามแรงขับทางสัญชาตญาณ หรือ Id ในจิตไร้สำนึก โดยเฉพาะ แรงขับทางเพศ และแรงขับทางก้าวร้าว เป็นแนวคิดที่ไม่มีเหตุผล และไม่ขึ้นอยู่กับเวลา หรือสถานที่ กระบวนการของความคิด แบบนี้พบได้ในทารก เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยโรคจิต และอาจปรากฏออกมา ในรูปของความฝัน ความเพ้อฝัน จินตนาการ ความหลงผิด อาการประสาทหลอน และอื่นๆ

2.กระบวนการของความคิดทุติยภูมิ (Secondary thinking process) เป็นความคิดที่สามารถแยกสิ่งเร้า ที่เกิดจากภายใน ออกจากสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นจากภายนอก ทำให้สามารถแยกความจริงออกจากความเพ้อฝันได้ กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับ หลักแห่งความเป็นจริง (reality principle) กล่าวคือ มีการทดสอบความจริง (reality testing) และมีการเลื่อน หรือการยับยั้ง การตอบสนองความพอใจให้แก่ตนเองได้ เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ตามความเป็นจริง เป็นแนวคิดที่มีเหตุผล และเกี่ยวข้องกับ การทำงานของอัตตา หรือ Ego มีการพิจารณาถึงเวลา และสถานที่ กระบวนการของความคิดแบบนี้พบได้ในผู้ใหญ่ หรือคนที่บรรลุวุฒิภาวะแล้ว

Silvano Arieti มีทรรศนะว่าภาวะสร้างสรรค์ หรือความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถในการสร้างสิ่งที่ใหม่ และแปลกจากเดิม ซึ่งจัดอยู่ในกระบวนการของความคิดตติยภูมิ (tertiary thinking process) กระบวนการของความคิดแบบนี้ เกิดจากการผสมผสานกันอย่างสมดุลระหว่างกระบวนการของความคิดปฐมภูมิกับกระบวนการของความคิดทุติยภูมิ ในภาวะเช่นนี้เนื้อหาต่างๆ จากแรงขับสัญชาตญาณหรือ Id จะถูกนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ในการบริการของอัตตา (in the service of the ego) แนวคิดเช่นนี้มีส่วนตรงกับความเป็นจริงอยู่มากทีเดียว ตัวอย่าง จากผลงานของจิตรกรชื่อดังของโลก เช่น Picasso, Goya, Miro และ Dali พบว่าภาพวาดบางภาพมีรายละเอียดที่แปลก พิลักพิลั่น และเกี่ยวข้องกับแรงขับทางเพศ และทางก้าวร้าวอย่างชัดเจน ในเวลาเดียวกันภาพเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพและภาวะสร้างสรรค์อันสูงส่งของคนเหล่านี้ การรวมกันของกระบวนการ ของความคิดทั้งสองแบบ ทำให้เกิดกระบวนการของความคิดระดับที่สาม ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

องค์ประกอบในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

จากการศึกษาของ Silvano Arieti ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ควรมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
1.การอยู่คนเดียวตามลำพัง (Aloneness) บางครั้งคนเราควรมีเวลาเป็นของตนเอง มีอิสระที่จะทำอย่างไรตามใจชอบในขอบเขตที่จำกัด เป็นการหลีกหนีจากสิ่งเร้าทางสังคมที่คอยกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา และเป็นแบบอย่างที่ซ้ำแล้วซ้ำอีก การอยู่คนเดียวทำให้มีโอกาสได้ยินเสียงจากภายใน รู้จักทรัพยากรอันมหาศาลในจิตไร้สำนึก และได้สัมผัสกับกระบวนการของความคิดปฐมภูมิด้วย

2.การอยู่เฉย (Inactivity) การอยู่นิ่งเฉยโดยไม่ประกอบกิจกรรมที่เคยกระทำอยู่เป็น
กิจวัตรมีส่วนช่วยกระตุ้นแนวโน้มของความคิดสร้างสรรค์ได้ การนั่งอยู่เฉยๆ ตามลำพังคนเดียวเป็นเวลานานพอทำให้เกิดความคิด และความรู้สึกที่เป็นอิสระ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อขณะกำลังเรียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมบางอย่างอยู่ ฉะนั้นกิจกรรมที่ทำเป็นประจำวันในแต่ละวันมีส่วนยับยั้ง ความคิดอิสระ จินตนาการ และภาวะสร้างสรรค์ได้

3.การฝันกลางวัน (Day dreaming) แม้ว่าความฝันกลางวันจะเกี่ยวกับกระบวนการของความคิดปฐมภูมิ ซึ่งอาจทำให้การทดสอบความจริง (reality testing) เสียไปอย่างที่พบในผู้ป่วยโรคจิต แต่ลักษณะเฉพาะเช่นนี้ช่วยทำให้คนบางคนแยกตนเองจากสิ่งที่พบเห็นเป็นประจำในสังคมที่อยู่ล้อมรอบตัวเขา ช่วยกระตุ้นหรือยั่วยุให้เกิดความคิดบางอย่างที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนของเดิม ขอบเขตของจินตนาการจะกว้างใหญ่ขึ้น และมีลักษณะสร้างสรรค์ด้วย

4.การระลึกถึงความขัดแย้งในอดีตที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางจิตใจ (Remembrance and inner replaying of past traumatic conflicts) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ บางคนที่มีความคิดเช่นนี้เชื่อว่าความขัดแย้งภายในจิตใจเป็นข้อจำเป็นก่อนหน้าอย่างหนึ่ง (a prerequisite) สำหรับภาวะสร้างสรรค์ ความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจเมื่อได้รับการแก้ไขแล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์ในบางราย อาจถูกกระตุ้นให้ออกมาสู่จิตสำนึกอีก พร้อมกับความรู้สึกที่คุ้นเคย แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอีก ความขัดแย้งในรูปแบบนี้จะก่อให้เกิดพลังอย่างสำคัญ และสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นผลงานของความคิดสร้างสรรค์ได้

5.ความเชื่ออะไรง่าย (Gullibility) ในที่นี้หมายถึงความเต็มใจที่จะยอมรับบางสิ่งอย่างง่ายดาย อย่างน้อยที่สุดเพียงชั่วคราวในระยะแรก จนกระทั่งมีการพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นผิด ในการยอมรับเช่นนี้จะมีการจัดระเบียบทุกๆ สิ่งทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในตัวเรา ภาวะสร้างสรรค์มักจะสัมพันธ์กับการค้นพบการจัดระเบียบที่อยู่ภายในตัวเรา มากกว่าการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเลย การจัดแจงอย่างเป็นระเบียบภายในจิตใจในลักษณะนี้อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการระแวงหรือผู้ป่วยจิตเภท แต่ในคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เขาสามารถแยกแยะความแตกต่างว่าอะไรคือความจริง และอะไรคือความเพ้อฝัน หรือจินตนาการ อีกนัยหนึ่งคนประเภทนี้สามารถที่เอากระบวนการของความคิดปฐมภูมิมาผสมผสานกับกระบวนการของความคิดทุติยภูมิ จนก่อให้เกิดความคิดที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ได้

6.ความตื่นตัว และระเบียบวินัย (Alertness and discipline) คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกจิตรกรมักมีความเชื่อว่า จินตนาการ (imagination) การจรรโลงใจ (inspiration) ความรู้เองหรืออัชฌัตติกญาณ (intuition) และวุฒิสามารถ (talent) เป็นคุณสมบัติสำคัญของภาวะสร้างสรรค์ คนพวกนี้ไม่ค่อยยอมรับกลวิธีในการเรียนรู้ใหม่ การคิดอย่างมีเหตุผล หรือระเบียบวินัย โดยลืมนึกถึงความจริงที่ว่าแม้แต่ Leonardo, Freud และ Einstein ก็มีครูเป็นผู้สอนการเรียนรู้จากบุคคลที่สามารถและมีประสบการณ์สูง มีส่วนช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้คนที่เป็นอัจฉริยะ และมีความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ล้วนแต่มีลักษณะของการตื่นตัวในการยอมรับสิ่งใหม่ และในขณะเดียวกันก็มีระเบียบวินัยด้วย

ลักษณะเฉพาะของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์

Paul Torrance ได้กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ไว้ดังนี้

ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดอย่างไม่มีขอบเขต ชอบถามคำถามอยู่ตลอดเวลา มีความสนใจในสิ่งที่แปลก ไม่เป็นเช่นปกติ และไม่รู้ว่าเป็นอะไร และคำถามที่ถามอาจทำให้ผู้ใหญ่บางคนรู้สึกหงุดหงิดและรำคาญใจ ตัวอย่าง Einstein ชอบถามคำถามที่ครูตอบไม่ได้อยู่เรื่อยๆ เช่น ทำไมเราจึงไม่รู้สึกว่าโลกหมุน? อวกาศคืออะไร? วัตถุเป็นพลังงานได้หรือไม่? คำถามเหล่านี้ทำให้ครูและพวกเพื่อนๆ ไม่ชอบเขา เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์เรียนรู้รูโหว่ในความรู้ของเขาอย่างรวดเร็ว และมีความต้องการที่จะปิดรูโหว่เหล่านี้จนบางทีดูเหมือนเป็นการรบกวนผู้ใหญ่
ความคิดแบบลู่ออก (Divergent thinking) JP Guilford พบลักษณะถาวรอย่างหนึ่งของบุคลิกภาพที่เรียกว่า ความคิดแบบลู่ออก ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความคิดสร้างสรรค์ เด็กที่มีความคิดแบบนี้จะพยายามแสวงหาคำตอบที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก สำหรับคำตอบเพียงอย่างเดียว ตรงกันข้ามกับ
ความคิดแบบลู่เข้า (convergent thinking) เด็กที่มีความคิดแบบนี้จะพยายามหาคำตอบที่ถูกต้อง เพียงอย่างเดียวสำหรับคำถามนั้นๆ ประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กส่วนมาก ต้องการความคิดแบบลู่เข้า แต่ในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เด็กจะต้องสัมผัสกับ การเรียนรู้ที่อาศัยความคิดแบบลู่ออก
ความต้องการที่จะเผชิญกับการท้าทาย และพยายามทำงานเฉพาะที่ยาก (A need to meet challenges and attempt difficult tasks) เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์อาจเสียเวลานานในการตอบคำถาม และหารายละเอียดในบางเรื่อง เขาจะยึดแน่นอยู่กับงานเฉพาะที่ยาก และบางครั้งเสี่ยงต่ออันตราย และไม่สนใจความจริงที่ว่าพวกเขาถูกมองว่าแตกต่างไปจากคนอื่น คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เช่น Benjamin Franklin หรือ Wilbur และ Orville Wright มีความพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ สมัยที่เป็นเด็ก Franklin เกือบจมน้ำเสียชีวิต เมื่อเขาทำการทดลองกับว่าวที่ได้รับการออกแบบให้ดึงเข้าไปในขณะที่ลอยตัวอยู่ในน้ำ ส่วน Wright เคยใช้ว่าวที่ทำเป็นกล่องขนาดใหญ่ลอยตัวอยู่ในท้องฟ้า และครั้งหนึ่ง Orville เคยประสบอุบัติเหตุจากการเล่นว่าวแบบนี้
ความซื่อสัตย์และการแสวงหาความจริง (Honesty and searching for the truth) เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีนิสัยซื่อสัตย์และชอบแสวงหาความจริง โดยไม่สนใจต่อความกดดันอื่นๆ เขาเป็นตัวของเขาเองในเรื่องความจริง และดูเหมือนไม่มี ผลกระทบอะไรเมื่อเขากลายเป็นคนที่อยู่ในพวกกลุ่มน้อย ชอบติดตามหาคำตอบที่ใหม่ แม้ว่าจะได้รับความกดดันทางสังคม ให้ยอมรับ คำตอบที่มีอยู่แล้ว ฉะนั้นผลสุดท้ายเขาจะกลายเป็นพวกกลุ่มน้อยที่พยายามท้าทาย และหาคำตอบใหม่จนคนอื่นๆ ที่อยู่ล้อมรอบเขา ไม่ยอมเปิด โอกาสให้ทำเช่นนั้น มักประสบกับความยากลำบากเมื่อเขาต้องการที่จะทำการสำรวจบางอย่างต่อ แต่ผู้ใหญ่กลับบอกให้เขาหยุด เขาก็ยังต้องการบอกผู้ใหญ่ให้รู้ในสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง แม้ว่าจะได้รับผลที่ไม่ดีตามมา
ปัจเจกภาพ (Individuality) เด็กกลุ่มนี้ดูเหมือนจะแตกต่างจากเด็กกลุ่มอื่น เพราะว่าเขาชอบหมกมุ่นอยู่กับคำถามหรือปัญหา แม้ว่าเขาพยายามทำตัวไม่ให้แตกต่างไปจากคนอื่น แต่เขาก็ต้องการความเป็นตัวเองส่วนบุคคล เพื่อติดตามแนวคิดสร้างสรรค์ของเขา ผู้ใหญ่ส่วนมากมักอดทนไม่ค่อยได้ในความเป็นส่วนตัวเช่นนี้ แม้ว่าเด็กพวกนี้จะทำในสิ่งที่สังคมยอมรับ เช่น การทำงานหนัก การมีความ รับผิดชอบสูง แต่อาจได้รับคำวิพากวิจารณ์จากผู้ใหญ่ และเพื่อนรุ่นเดียวกัน เมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมเด็ก ที่มีความคิด สร้างสรรค์สูง มักจะรู้สึกแตกต่างและแยกตัวเองจากคนอื่น

การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก

ผู้ใหญ่มีบทบาทสำคัญมากในการปลูกฝัง ความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก วิธีการดังต่อไปนี้สามารถช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้ ผู้เขียนคิดว่าวิธีการเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง

1.การกระตุ้นเสรีภาพทางเชาวน์ปัญญา บิดามารดาจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กแสวงหาสารนิเทศ หรือรายละเอียด และพบวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง ส่วนมากเรามักชอบช่วยเหลือเด็กด้วยการให้คำตอบและวิธีแก้ปัญหา ซึ่งจะไปปิดกั้นการสอบถามของเด็กต่อไป เขาเพียงแต่เต็มใจที่จะยอมรับคำตอบที่ผู้ใหญ่ให้ แต่สิ่งที่เด็กต้องการอย่างแท้จริง คือ การสนับสนุนและการช่วยเหลือในการหาคำตอบ ตัวอย่าง ถ้าเด็กถามว่าทำไมต้นไม้จึงเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใหญ่อาจเพียงแต่เสนอแนะวิธีค้นหาคำตอบ หรือถามคำถามบางอย่างที่กระตุ้นความสามารถอย่างมีเหตุผลในตัวเขาเอง บางครั้งเด็กต้องการการสนับสนุนเพียงเล็กน้อย เพื่อให้เขาตระหนักว่าเขาสามารถหาคำตอบได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่น
เมื่อเด็กเผชิญกับความรู้สึกว่าเขายังทำอะไร แล้วไม่สมบูรณ์ ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนให้เขาทำต่อไป บ่อยครั้งเด็กอาจเกิดความรู้สึกคาดหวังมากไปเพราะความคิดว่าเขายังขาดความรู้ สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่ควรจะเก็บรายละเอียดเอาไว้ หรือปล่อยให้เด็กหมดกำลังใจ อย่างไรก็ตามควรยึดหลักสำคัญว่าอย่าบอกเด็กในบางสิ่งที่เขาสามารถค้นพบได้ด้วยตัวของเขาเอง

2. การแสวงหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นทางเลือก เด็กควรได้รับการสนับสนุนให้รู้จักแสวงหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นทางเลือกอย่างอื่น (alternative solutions) เขาควรมองเห็นว่าวิธีแก้ปัญหามีหลายอย่างสำหรับปัญหาเพียงอย่างเดียว และคำตอบมากกว่าหนึ่งอย่างต่อคำถามเพียงอันเดียว คือสิ่งที่เป็นไปได้ เด็กที่มีอายุมากขึ้นสามารถที่จะเรียนรู้ว่าวิธีแก้ปัญหาและคำตอบขึ้นอยู่กับเวลา และสถานที่ที่จำเพาะเจาะจง และเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่าง ผู้ใหญ่อาจเล่านิทานให้เด็กฟัง และให้เด็กแต่ละคนเล่าต่อไปจนจบ เห็นได้ว่าการจบเรื่องนิทานของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป

3. การอนุญาตให้เด็กทำการสำรวจตรวจค้นอย่างเสรี เด็กควรมีเวลาอิสระที่จะสำรวจตรวจค้นโลกภายนอกด้วยตัวเขาเอง และบางครั้งร่วมกับผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่สนับสนุนการสำรวจตรวจค้นเช่นนี้ เด็กจะเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในกิจกรรมและสถานการณ์ต่างๆ ที่ใหม่ และไม่กลัวอันตรายเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ใหญ่อาจกระตุ้นให้เด็กได้เผชิญกับสิ่งลึกลับ ตื่นเต้น และผจญภัย เช่น การไปท่องเที่ยวตามป่าเขา โบราณสถาน และสถานที่สำคัญๆ อื่นๆ อย่างไรก็ตามควรปล่อยให้เด็กมีเวลาเป็นตัวของเขาเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่คอยควบคุมดูแล เขาจะได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการจะทำ หรือบางทีก็อาจไม่ทำอะไรเลย เช่น นั่งคิด นั่งฝัน หรือมีจินตนาการตามที่เขาชอบ

4. การสนับสนุนความคิดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ (Improbable thinking) อาจถามเด็กเกี่ยวกับบางสิ่งที่ไม่อาจจะเป็นไปได้ เช่น ทันที่ทันใดบรรดานกทั้งหลายสูญเสียความสามารถที่จะบิน มันจะไปอยู่ที่ไหน มันจะกินอะไร พวกมันสามารถเรียนรู้ที่จะบินได้อีกหรือไม่? คำถามในลักษณะเช่นนี้ มีส่วนช่วยพัฒนาแนวโน้มเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ตัวอย่างที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ การเล่นสนุกโดยบอกกับเด็กว่า "ลองนึกคิดดูนะ" แล้วบอกให้เด็กสร้างจินตนาการถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น เอาเด็กมากลุ่มหนึ่งแล้วให้ดูภาพของสระน้ำ ให้ทุกคนบอกว่าอยากเป็นอะไรในสระน้ำ บางคนอาจเลือกเป็นจระเข้ ปลา ยุง น้ำ ดอกบัว เศษไม้ที่ก้นสระ กบลอยอยู่ในน้ำ แล้วให้เด็กวาดภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้น และให้ร้องเพลงที่เกี่ยวข้องด้วย การเล่นสนุกแบบนี้ทำให้เด็กสามารถสร้างนิทาน และการผจญภัยมากมายหลายอย่าง วิธีการเช่นนี้สามารถนำมาใช้กับใครๆ ก็ได้ในการช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

5. การใช้ส่วนประกอบที่ไม่เกี่ยวข้องกัน (Irrelevant elements) เด็กต้องการรวบรวมรายละเอียดบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องไว้ในความคิดของเขา เพื่อทำให้แนวความคิดเข้าสู่การแก้ปัญหาขยายขอบเขตขึ้น เด็กสามารถเล่นกับบางสิ่งที่น่าสนใจ แต่ดูไปแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย และคิดว่าสิ่งที่เขากำลังเล่นอยู่นั้นจะมีคุณค่าอย่างไรบ้าง ที่ไหน และเมื่อไร ตัวอย่าง เด็กบางคนอาจสนใจเล่นกับใบไม้เป็นเวลานาน ไม่ยอมสนใจอย่างอื่น ผู้ใหญ่เห็นแล้วรู้สึกว่าไม่ได้เรื่องอะไรเลย พฤติกรรมในลักษณะเช่นนี้ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้รายละเอียดที่ดูเหมือนว่าไม่สำคัญในเวลานี้ อาจกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในวันหน้าก็ได้

สมาธิกับความคิดสร้างสรรค์

ตามปกติสำหรับผู้ถนัดมือขวา ความเด่นของสมองจะอยู่ทางซีกซ้าย หน้าที่ของสมองซีกขวาจะเกี่ยวกับกิจกรรมที่ไม่ต้องอาศัยการพูด รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความซาบซึ้งในศิลปะและดนตรี ความรู้ตัวเองหรืออัชฌัตติกญาณ และการสังเคราะห์ การฝึกสมาธิช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา และยังช่วยให้มีการประมวลเอาความชำนาญในการวิเคราะห์และการใช้ภาษาของสมองซีกซ้ายร่วมกับความสามารถในทางศิลปะ ดนตรี ความรู้ตัวเอง และความคิดสร้างสรรค์ของสมองซีกขวาเข้าด้วยกัน ทำให้ระดับของเชาวน์ปัญญา (IQ) และเชาวน์อารมณ์ (EQ) เพิ่มขึ้น พริ้มเพรา ดิษยวณิช ได้ทำการศึกษาผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพและเชาวน์อารมณ์ พบว่าการฝึกอบรมดังกล่าวตามหลักสูตรแบบเข้มเป็นเวลา 7 วัน สามารถเพิ่มระดับของเชาวน์อารมณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางจิตใจ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้
สิ่งที่ควรพิจารณาคือในขณะเจริญสมาธิไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน มีลักษณะของการอยู่คนเดียวตามลำพัง (aloneness) ถึงแม้จะมีการปฏิบัติเป็นกลุ่มในสถานที่เดียวกัน แต่ต่างคนต่างปฏิบัติ ไม่ให้สนใจหรือพูดคุยกับคนอื่น การอยู่เฉย (inactivity) เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดในการเจริญสมาธิ รวมทั้งการตื่นตัว และระเบียบวินัย (alertness and discipline) องค์ประกอบเหล่านี้มีส่วนช่วยส่งเสริม และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในขณะเจริญสมาธิด้วย