ทฤษฎียู u
ทฤษฎีที่จะทำให้ชีวิตชัดเจน
ใน วงจิตวิวัฒน์ที่ตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2546 พวกเราสนใจศึกษากันในเรื่องกระบวนการคิดและวิธีคิด หนึ่งในสมาชิกของเรา คือ คุณ เดวิด สปินแลน ได้นำทฤษฎียูจากหนังสือ Presence : An Explorations of Profound Change in People , Organizations and Society มาพูดถึงตั้งแต่ประมาณ 3 - 4 ปีก่อน หนังสือเล่มนี้ มีคนเขียนด้วยกัน 4 คน Otto Shcharmer , Peter M. Senge , Joshep Jaworski , Betty Sue Flowers
ทฤษฎี ยู มีหลักการอยู่ว่า ในกระบวนการคิดของคนเรา ส่วนใหญ่คิดเร็ว ตัดสินเร็ว เพราะทุกคนต้องการความรวดเร็วในการคิด และมีปฎิกิริยาตอบสนองให้รวดเร็วที่สุด เปรียบเหมือนลาดเส้นจากจุด A ไปยัง จุด B ระยะทางที่เร็วที่สุด และสั้นที่สุดคือ การลากเส้นตรงระหว่าง 2 จุด แต่ทฤษฎียูเสนอว่า ความคิดของเรา ควรเดินทางให้มากขึ้น จึงยึดเส้นตรงนี้ลงมา จนกลายเป็นเส้นโค้งตัวยูในที่สุด เพื่อให้เกิดทางเลือก คำตอบ และความเป็นไปได้อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าการคิดแบบเดิม
เส้นตรงจาก A ไป B คือ นิสัย บุคลิกภาพ และพฤติกรรมส่นใหญ่ในชีวิตประจำวัน ของเรา ตามปกติแล้วมีประโยชน์ เพราะช่วยให้เราดำรงชีวิตประจำวันไปได้อย่าง มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเราต้องการคำตอบ ทางเลือก และความเป็นไปได้อื่น ๆ หรือทำความเข้าใจอะไรที่ลึกซึ้งขึ้น เราต้องเลือกเส้นทางใหม่ในการเดิน
ผม เชื่อว่า ทฤษฎี คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมพยายามค้นหามาตลอด คือเรื่องสุขภาพแบบองค์รวมการพยายามเปลี่ยนแนวคิดเรื่องผู้รักษาไปสู่การ เป็นผู้เยียวยา หรือ From Curer to Healer ในทุกวันนี้ ผมนำทฤษฎีไปเป็นกรอบในการจัดสัมมนาให้กับแพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข เป็นประจำ
ทฤษฎียู สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีกับงานด้านสาธารณสุข จากเดิมแพทย์เพียงแค่รักษาโรค และคนไข้มาหาหมอเพราะต้องการให้หาย ซึ่งนั่นคือการคิดแบบลากเส้นตรงระหว่างจุด A และ B แต่เนื่องจากการรักษาโรคไม่หายขาด ระบบสาธารณสุขของไทย ทั้งหมอ คนไข้และเจ้าหน้าที่ทุกคน ต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมที่ลึกซึ้งมากขึ้น
กรณี ตัวอย่างของทฤษฎียูที่ผมชอบนำมากล่าวถึงมากที่สุด คือ กรณีของยายโต้ง ที่จ.เชียงใหม่ พยาบาลท่านหนึ่งซึ่งมาเข้าร่วม Workshop กับผมได้นำมาเล่าให้ฟัง
"ยายโต้งท่านอายุมากแล้ว และเป็นสารพัดโรค เบาหวาน ความดัน อ้วน จิตใจซึมเศร้าเพราะสามีเสียไปแล้ว ชีวิตไม่มีความหมาย อยู่ไปวัน ๆ ผมเผ้ารุงรัง ไม่ดูแลตัวเอง เวลามาหาหมอ ตอนบอกอาการให้หมอฟัง ก็น้ำตาไหลเหมือนหัวใจจะฉีกออก แล้วท่านก็ชอบมาเข้ากลุ่มอบรมสุขภาพเป็นประจำ กลุ่มเบาหวาน กลุ่มความดัน กลุ่มโรคอ้วน ท่านบอกว่า มาเพราะเอ็นดูหมอ มาช่วยนั่งให้น้องประชุมดูเต็ม ๆ กลัวหมอไม่มีคนฟัง
เมื่อพยาบาลลองใช้ ทฤษฎียู โดยการฟังให้มากขึ้น จดอาการให้ตามที่คุณยายเล่า รับฟังเรื่องราวต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง และเริ่ม Sensing กับชีวิตของคุณยาย สักพักหนึ่งน้ำตาพยาบาลหยดแหมะลงมา
คุณรู้ไหมการรักษาครั้งนี้ ได้ช่วยทั้งคุณยายและทั้งคุณพยาบาล บังเอิญว่า พยาบาลท่านนี้กำลังจะเลิกกับสามี แต่เมื่อฟังชีวิตคุณยาย ก็เกิดมุมมองใหม่ต่อสามีตนเอง
วันรุ่งขึ้น ยายโต้งพบว่า ทำไมเช้าวันนี้ทุกอย่างดูสวยงาม ยายเกิดการปิ๊งเแวบขึ้นมา ว่าชีวิตยังมีความหมายกับหลานตัวเล็ก ๆ เกิดภาพหลานขึ้นมาในใจ "ยาย ..ยาย อย่าเพิ่งตายนะ" ยายโต้งเพิ่งรู้ว่า ชีวิตของตนเองมีค่า หลังจากวันนั้น ยายโต้งก็อาการดีขึ้น วิ่งออกกำลังกายเอง เปลี่ยนแปลงตัวเอง ใช้ยาน้อยลง มาหาหมอน้อยลง
นี่ไม่ใช่หรือ ? นี่สุขภาพองค์รวมที่เรากำลังสนใจกัน
คำ ถามหนึ่งซึ่งผมได้ยินจากทุกงานที่ไปบรรยาย คือ "ไม่มีเวลาหรอกครับ อาจารย์ วันหนึ่ง ๆ มีคนไข้เป็นร้อย แค่ตรวจตามปกติก็ไม่ทันแล้ว จะให้มานั่งฟังคนไข้นาน ๆ สัมผัสความรู้สึกของเขา แล้ว Heal เขา เราจะทำได้อย่างไร? "
ตามปกติแล้ว ผมจะไม่ตอบคำถามใด ๆ แต่จะให้ผู้เข้าร่วมฟังช่วยกันหาคำตอบ มีคุณหมอจากจังหวัดขอนแก่น ท่านหนึ่งเป็นผู้ให้คำตอบแก่คำถามนี้ ท่านบอกว่า มีคนไข้เป็นร้อย ๆ ต่อวัน เช่นกัน แต่มีคนไข้บางคนที่ท่านคิดว่า ถ้าเราให้เวลาฟังและคุยกับเขานานขึ้นแค่ 5 นาที เลือกเฉพาะบางรายก่อน แล้วคนไข้คนนั้นจะพึงพอใจมากขึ้นและความถี่ในการกลับมาหาหมอก็ค่อย ๆ ลดลง
ผม เชื่อว่า คนไข้ต้องการบอกอะไรบางอย่างในระดับที่ลึกซึ้ง แต่หมอไม่เคยรับฟัง ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้สึกร่วมกับเรา ถ้ามีหมอสักคนรับฟังอย่างแท้จริง เขาจะรู้สึกว่าได้สิ่งที่เขาต้องการ และจะคิดว่า การเจ็บป่วยนั้นไม่มีความสำคัญ เพราะเขาได้รับการเยียวยาและได้รับการรักษาแล้ว
ถ้าเราลองเลือกคนไข้ สาม คน จากใน 100 คนนั้น และใช้เวลากับเขามากขึ้น การกลับมาหาลดลง ในวันรุ่งขึ้น คนไข้จะเหลือ 97 คน แล้วในระยะยาว คนไข้ก็จะลดลงเองไปเรื่อย ๆ คนไข้อยากจะช่วยหมอเอง จริง ๆ แล้ว คนไข้เกรงใจหมอจะตาย
การมอง เวลาของคนเราในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ตั้งแต่ในวิธีคิดของเรา ถ้าเราเปลี่ยนการมองเวลาเสียใหม่ กลับจะยิ่งทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเราบอกว่า เวลามีค่า เราเลยตรวจคนไข้เร็ว ๆ ปุ๊ ๆ ปัญหามันเลยสะสมพอกพูนกันมาแบบนี้ แต่ถ้าเราเสียเวลามานั่งดูแลใกล้ชิด เราเปลี่ยนชีิวิตเขา เขาหาย และเขาก็เปลี่ยนชีวิตเราด้วย
หลักสูตรแพทยศาสตร์ 6 ปี ก็แน่นมาก สิ่งเหล่านี้อาจจะยังไม่สามารถสอดแทรกเข้าไปได้มากนัก ทีมงานเราก็รู้ว่า เรื่องแบบนี้ไม่ต้องรีบร้อน แต่ขอให้เราทำไปเรื่อย ๆ และเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้มีความหมาย จะมากหรือน้อยก็ช่าง มันจะค่อย ๆ เกิดกลุ่มพลังเล็ก ๆ ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประทเศในตอนนี้ก็มีโรงเรียนแพทย์หลายแห่งสนใจ และเชิญทีมงานของเราไปอบรม นักศึกษาที่กำลังจะจบ
Workshop 4 วัน 3 คืน มีทีมอีก 3 คน คือ คุณหมอวรวุฒิ โฆวัชรกุล ที่สันทราย คุณพัฒนา แสงเรียง ที่จ.แพร่ คุณหมอสกล สิงหะ ที่ จ.ปัตตานี
ตั้งแต่วันแรก เรามีสมุดแจกให้ทุกคนจดไม่ใช่จดสิ่งที่ผมบรรยาย แต่เป็นการจดความคิดของตนเอง เช่น ลองดูว่า ตอนนี้คุณเห็นอะไร บรรยายสิ่งที่คุณเห็นเหมือนกับคุณเป็นผู้สื่อข่าว นี่คือ ขั้นตอน Seeing การสังเกตแบบไม่ต้องบอกว่า มันคือ ทฤษฎียู หลายคนงงมากว่า ทำเพื่ออะไร
หลัง จากนั้น ก็มีการแทรกความรู้เรื่องสมอง 3 ชั้น เข้ามา คือการใช้ Head - Hart - Hand เรื่องความคิด - อารมณ์ความรู้สึก - การลงมือกระทำ และให้ผู้เข้าร่วม Workshop รู้ว่ากระบวนการเหล่านี้มีสื่อสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะคนสมัยนี้ไม่ใช้ความรู้สึก เนื่องจากถูกฝึกให้คิดมากกว่าการใช้หัวใจ ซึ่งผมถือว่า นี่คือขั้นตอน Sensing
ในวันสุดท้ายเราจะจบด้วยการบ รรยาย ทฤษฎียู ว่า ทั้งหมดที่ผู้เข้าร่วมได้เดินมานี้ คืออะไร และพวกเขาอยากทำอะไรต่อไป ลองหา Prototyping ของตนเองและลงมือทำเลย
การ มีทฤษฎีที่ชัดเจน ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น และชัดเจนขึ้น จาการทำงานจัด Workshop แบบนี้มาหลายปี และนำทฤษฎียู มาเป็นกรอบในการจัดหลักสูตร โดยการนำความรู้เรื่องอื่น ๆ มาบูรณาการร่วมกัน ทำให้ผมรู้สึกว่า ชีวิตมีพลังมากขึ้น เพราะชีวิตชัดเจนขึ้นกว่าเมื่อหลายปีก่อน เรารู้ว่า จะทำอะไร งานเราจึงชัดขึ้น ชีวิตส่วนตัวก็ชัดเจนขึ้น
ความชัดเจนว่า เรากำลังจะทำอะไร ดีกับการมีชีวิตอยู่ การที่เรารู้ตัวว่า กำลังทำอะไร และจะทำอะไร มันหล่อเลี้่ยงเรา
การเดินทางเป็นตัวยูของความคิดนั้นสามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอนดังนี้
ขั้นแรก Downloading เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ที่เข้าถึงคำตอบจากข้อมูลที่บันทึกไว้แต่เดิม แล้วดาวน์โหลดมาใช้งาน
ขั้นที่ 2 Open Mind คือการเปิดความคิดและเปิดสายตาให้กว้าง (Seeing) เพื่อให้เห็นความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า โดยการไม่ด่วนตัดสินและการสังเกตที่ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งตรงข้ามกับการคิดและการมองแบบ Stereotype เช่น เวลาเห็นคนผิวดำก็บอกว่าเป็นคนดุร้าย เป็นต้น
ขั้นที่ 3 Open Heart คือการเปิดหัวใจรับรู้ความรู้สึกร่วม (Sensing) เพื่อการเป็นหนึ่งดียวกันกับสิ่งที่เราสังเกต ด้วยการลุกออกจากมุมมองของเรา แล้วเดินไปมองด้านมุมเดียวกับเขา เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยที่เราก็ยังเป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องคิดเห็นเหมือนกันหมด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้เกิดความหลากหลายของความคิด
ขั้นสุดท้าย Open Will หรือ Presencing อาจารย์หมอประเวศ วะสี ใช้คำแปลว่า "มหาสติ" คือการอยู่กับปัจจุบันที่สุด เราจะเห็นคำตอบมากมาย ทางเลือกหลากหลาย และความเป็นได้ทุกทางในอนาคต
ความคิดสร้างสรรค์ ไหวพริบปฎิภาณ การปิ๊งแวบ! ซาโตริ หรือ Intuition คือ จุดที่ก้นตัวยูนี่เอง หลายคนอาจจเดินทางผ่านจุดนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่อาจจะยังไม่รู้ว่า มีโมเดลหรือทฤษฎีอธิบายไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และสามารถนำมาทำซ้ำได้ เมื่อทำซ้ำด้วยโมเดลเดิม ก็จะได้ผลแบบเดิม จากแต่เดิมที่เคยเชื่อว่า สภาวะนี้ต้องปล่อยให้มันเกิดเอง จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ เมื่อไรก็ได้ พิสูจน์ซ้ำไม่ได้
เมื่อมาถึงก้นตัวยูและได้ความคิด คำตอบ และทางเลือกที่ต้องการแล้ว ขาขึ้นของตัวยู คือการนำไปสู่การปฎิบัติลงมือทำนั่นเอง
ขั้นแรก Crystallizing คือการตกผลึกของความคิดให้ชัดเจนเข้มแข็ง
ขั้นที่ 2 Prototyping คือการนำความคิดนั้นมาแปรให้กลายเป็น "ต้นแบบ" และฝังอยู่ภายในตัวตนความคิดของเรา
ขั้นที่ 3 Performing คือการนำความคิดและการลงมือกระทำทั้งหมดนำไปสู่ผลสำเร็จ
จุดมุ่งหมายของทฤษฎียู ไม่ใช่เพื่อให้เราได้คิดเร็วขึ้นหรือช้าลง แต่ต้องการให้เราคิดอย่างถ้วนถี่มากขึ้น ระยะทางที่เห็นเป็นเส้นโค้งยาวในแผนผัง ไม่ได้มีนัยยะว่า ต้องไกลหรือ นานขึ้น เพราะกระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสมอง เรายังไม่ทันรู้ตัวว่า จะช้าหรือเร็วได้แค่ไหน ตััวยูจึงไม่จำเป็นต้องช้า เร็วขึ้นได้ถ้าฝึกฝน เพียงแค่เราไม่เลือกเส้นทางเก่า และฝึกฝนการเดินลงสู่ก้นตัวยูอย่างสม่ำเสมอ
โดย : นพ. วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เรียบเรียง : วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ นิตยสาร GM ฉบับเดือน เมษายน 2009
Theory U เรียนรู้จากอนาคตกับ Otto Scharmer
เรียนรู้จากอนาคตรึ เป็นไปได้อย่างไร คนเราเรียนรู้จากสิ่งที่ปรากฏขึ้นแล้วทั้งนั้น อนาคตยังมาไม่ถึงแล้วจะเอาอะไรมาให้คนรู้ได้เล่า ตอนแรกผู้เขียนก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน แต่ อ็อตโต ชาเมอร์ ยืนยันว่า อนาคต สามารถเรียนรู้ได้ ด้วยกระบวนการที่เขาเสนอขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Theory U
ในขณะที่ชาวโลกกำลังโหยหาความรู้เพื่อเป็นทางออกของวิกฤติปัญหาที่กำลังรุมเร้า คนที่คิดอะไรใหม่ๆและสามารถอธิบายอย่างเป็นระบบ แสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมจึงกลายเป็นจุดสนใจใฝ่รู้ของผู้คน
อ็อตโต ชาเมอร์ - Otto Scharmer นักคิดชาวเยอรมันที่ร่ำเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการ แต่ภายหลังหันมาทุ่มเทศึกษาเกี่ยวกับการสร้างองคาพยพแห่งการเรียนรู้ (organization learning) และไม่ยอมหันหลังกลับ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่ MIT และเป็นผู้ก่อตั้ง Emerging Leaders Innovate Across Sectors –ELIAS ซึ่งเป็นสถาบันให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับการสร้างผู้นำในองค์กรภาครัฐและเอกชน
ชาเมอร์เสนอว่า วิธีการเรียนรู้ของคนสามารถเกิดขึ้นได้สองลักษณะ ลักษณะที่หนึ่งคือ เรียนรู้จากผลของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือมีอยู่ก่อนแล้วเช่น จากความคิดของคนที่เป็นที่ยอมรับแล้วก็เอาไปเผยแพร่ต่อ วิธีการนี้เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ชาวโลกใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบัน คือสร้างประสบการณ์ บทเรียนหรือความรู้ขึ้นมาก่อน หรือต้องรอให้มีคนสร้างความรู้ ทฤษฎีจากการปฏิบัติ ทดลองเสียก่อน แล้วค่อยเอามาแล้วค่อยพิจารณาเป็นบทเรียนถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเอาไปบริโภคต่อ
ส่วนวิธีการเรียนรู้ในอีกลักษณะหนึ่งที่ชาเมอร์เสนอขึ้นมา คือ การเรียนรู้จากอนาคต (learning from the future) ซึ่งแนวคิดนี้ ได้เปิดพื้นที่การคิดและการเรียนรู้แบบใหม่ที่ท้าทายวิธีการเรียนรู้แบบเดิมเป็นอย่างมาก ชาเมอร์เขียนขึ้นจากชีวิตจริงและจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับนักคิด นักปฏิบัติชั้นนำของโลกรวม 150 คน
วิธีการทำงานของชาเมอร์ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ เกี่ยวกับการนำประสบการณ์ และการคิดอันลุ่มลึกของตนเองมาทำให้เกิดคุณภาพใหม่ (transcended knowledge) และเรียบเรียงนำเสนออย่างเป็นรูปธรรม เป็นเหตุเป็นผล จนกลายเป็นทฤษฎีที่มีคนนำไปอ้างอิงกันทั่วโลก ทั้งๆที่สิ่งที่ชาเมอร์ นำมาเขียนนั้นก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคน
ชาเมอร์เริ่มต้นที่การมองเห็นคุณค่าที่อยู่ภายในความเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นคนโดยไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคนต้องดำรงอัตตาตนเองด้วยการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและสถานการณ์รอบข้าง ข่ายใยชีวิตของความเป็นคนจึงมีความสลับซับซ้อน หาจุดเริ่มต้นและที่สิ้นสุดไม่ได้ แต่การที่คนมุ่งใช้ประสบการณ์และความรู้จากอดีต เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นภายใต้สมการ action = reaction นั้น ทำให้ยากที่จะสลัดตัวเองให้หลุดพ้นจากข่ายใยที่พันธนาการอยู่อย่างเหนียวแน่น ชาเมอร์เรียกข่ายใยชีวิตภายใต้สมการปฏิสัมพันธ์ว่าเป็น ‘social field’ หรือ อาจเรียกว่า “สนามวัฏฏะ” เพราะมันพันธนาการความเป็นมนุษย์ไว้อย่างเหนียวแน่น และในขณะเดียวกันก็เป็น ‘blind spot’ หรือ “ภาวะแห่งความไม่รู้” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสารพัด คนโดยทั่วไปไม่มีโอกาสรู้ว่า สิ่งที่นำมาคิด หรืออุปนิสัยที่นำมาใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนั้น มาจากไหน แต่คนก็ใช้มันไปตามความเคยชิน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านั้นไป (taken-for-granted habit)
สมการปฏิสัมพันธ์แบบ action = reaction เป็นสมการเส้นตรงที่ปิดกั้นการเติบโตของความรู้จากภายใน (inner knowing) ซึ่งเป็นบ่อเกิดของจิตสำนึก และปัญญาที่ทำให้เห็นความจริงใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ เพราะสมการ action = reaction เป็นการตอบสนองผ่านความรู้ ความเคยชินของประสบการณ์เก่า ความรู้ก็เป็นความรู้นอกกายที่หยิบฉวย จดจำ ลอกเลียนกันไปมา
ชาเมอร์ เรียกความรู้จากประสบการณ์เดิมว่า เป็นความรู้แบบ ‘download’ ความเป็นมนุษย์ภายใต้ข่ายใยชีวิตได้เก็บสะสมความรู้ประเภทนี้ไว้มากมายและ ถูกนำออกมาใช้โดยไม่ต้องคิด (taken-for-granted downloading) การใช้ความรู้download แบบอัตโนมัติได้ปิดกั้น กดทับความรู้สิ่งที่ชาเมอร์เรียกว่า sensing หรือ “การระลึกรู้” ซึ่งเป็นสำนึกจากภายใน ( inner knowing) มิให้เจริญงอกงาม
ผลจากการที่คนนำเอาความรู้สึกตัวออกมาใช้ไม่ได้ ทำให้โลกาภิวัฒน์เต็มไปด้วยการครอบงำทางความรู้ ปัญญา การต่อสู้ ขัดขืน เพราะคนต่างหยิบฉวยความรู้แบบ download กันไปมาเพื่อทำปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยไม่นำความรู้สึกจากภายในออกมาใช้ ความรู้แบบ download ทำให้โลกเต็มไปด้วยคนที่มีความสามารถจำ เลียนแบบและสร้างปัญหาให้กับโลก
กระบวนการเรียนรู้จากอนาคต ชาเมอร์ได้เสนอสมการขึ้นมาใหม่ โดยยืดเส้นตรงของสมการ action = reaction ให้ยาวออกไปอีก เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับห้อยแขวน (suspension) ความรู้แบบ download ไว้ที่เส้นสมการใหม่ ซึ่งเอนตัวกลายเป็นรูปตัว U และมีชื่อเรียกสมการใหม่ว่า U Theory การห้อยแขวนความรู้แบบ download ไว้บนเส้นสมการแบบตัว U เท่ากับเป็นการช่วยชะลอ หรือ ระงับปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีทันใดแบบ action = reaction นั่นเอง
ถ้าหากไล่ตามความเคลื่อนไหวของปฏิกิริยาแบบ action = reactionได้ทัน จะเห็นความเป็นจริงที่ซ่อนเร้นได้ไม่ยาก เหมือนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์เซลลูลอยด์ที่แสดงภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอในอัตรา 16 ภาพต่อวินาที จนกลายเป็นอาการต่อเนื่องจนคนดูคิดว่าเป็นของจริง จนคนดูเกิดอารมณ์ร่วมไปกับบทภาพยนตร์ แต่ถ้าหากดูทีละเฟรม ก็จะมองภาพถูกแยกเป็นชิ้นๆและไม่ก่อให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกใดๆกับมัน
U Theory ของ ออตโต ชาเมอร์ จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการระลึกรู้ หรือทำให้เกิดสติ เพราะการดึงเส้นสมการปฏิสัมพันธ์แบบ action = reaction ให้ยาวออกไปนั้น ทำให้คนมีเวลาคิด พิจารณา ใคร่ครวญนานขึ้น และอาจป้องกันมิให้นำความรู้แบบ download มาใช้ ยิ่งเส้นสมการใหม่ยาวมากเท่าไร ก็มีพื้นที่สำหรับการคิดพิจารณา หรือห้อยแขวนความรู้แบบ download มากขึ้นเท่านั้น เมื่อไม่รีบร้อนรนตอบโต้ หรือรีบส่งปฏิกิริยาออกไป คนก็มีเวลาคิด พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มีสติมากขึ้น สามารถมองหาทางเลือกอื่นๆมากขึ้น
ภาพสมการที่ 1. สมการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (conventional)
Holding the Space ___________________ Performing
(ฟัง คิด ตัดสินใจ) (ตอบโต้ ปฏิบัติการ)
ภาพสมการที่ 2. สมการแบบ Theory U
Holding the Space(ฟัง รับรู้) ___________________Performing แสดงออก
........... Observing(เฝ้าสังเกต) ______________ Prototypingออกแบบ
......................Sensing(รับรู้อาการ) ________Crystallizing(เลือกสรร)
........................................Presencing(รู้ตัวในตัว)
จะเห็นได้ว่า สมการแบบ Theory U ทำให้คนมีเวลาไตร่ตรองมากขึ้น พอได้ยินหรือรับรู้อะไรบางอย่าง แทนที่จะตอบสนองเปรี้ยงปร้างออกไปทันที ก็ระงับห้อยแขวนปฏิกิริยาไว้ หลังจากนั้นก็สังเกต รับรู้อาการด้วยสติอันตื่นรู้ แล้วเลือกสรร ออกแบบสิ่งที่จะสำแดงออกไป ด้วยสติปัญญา หัวใจที่เปิดกว้าง และมือที่บริสุทธิ์สะอาด แล้วค่อยแสดงออกไป
ชาเมอร์เสนอว่า คนจะใช้สมการ Theory U ได้ดี ก็ต่อเมื่อคนสามารถยกระดับของการฟังสู่ขั้นสูงสุด ซึ่งชาเมอร์แบ่งระดับการฟังออกเป็น 4 ระดับ คือ
ระดับที่หนึ่ง การรับฟังแบบน้ำเต็มแก้ว (downloading listening) เป็นพวกลากเข้าความ จะเลือกเปิดรับฟังเฉพาะข้อมูลที่สามารถนำมาช่วยยืนยันสิ่งที่เชื่ออยู่เดิม เป็นการฟังแบบคนที่เรียนรู้อะไรไม่เป็น คนที่ฟังแบบน้ำเต็มแก้ว มักแสดงอาการตอบโต้ออกมาในทำนอง “รู้แล้วๆ” ซึ่งเป็นการเอาความจำที่ download ไว้ก่อนมาตัดสินสิ่งที่ได้ยินแบบทันทีทันใด
ระดับที่สอง การรับฟังแบบเอะใจ (factual listening) เป็นการเปิดรับฟังเพราะเหตุว่าสิ่งที่ได้ยินนั้นไม่ตรงกับข้อมูลที่ตนเองมีอยู่ ฟังเฉพาะจุด โดยไม่ฟังเสียงกระตุ้นเตือนของจิตสำนึกภายในให้ฟังทั้งหมด สนใจรับฟังเฉพาะประเด็นที่แตกต่างจากที่รู้ อย่างไรก็ตาม การฟังแบบเอะใจ เป็นพื้นฐานของกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสนใจเปิดรับฟังข้อมูล ตั้งคำถาม และให้ความสนใจเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ระดับที่สาม การฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ (empathic listening) เป็นขั้นการรับฟังที่สูงขึ้นจากระดับปกติ การรับฟังขั้นนี้เกิดจากผู้ฟังได้มีโอกาสเข้าร่วมวงสนทนา (dialogue) และรับรู้ความจริงในแง่มุมอื่นๆที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน รวมทั้งความสำเร็จในการเปิดใจสามารถรับเอาความรู้สึกของคนอื่นมาเป็นความรู้สึกของตัวเองได้ เมื่อคนสามารถเข้าถึงความรู้สึกนี้ได้ พรมแดนความแตกต่างระหว่างตัวเองกับคนอื่นจะเริ่มจางหายไปพร้อมกับวาระและเป้าหมายส่วยตัว และพร้อมกันนั้นก็สามารถระลึกรู้ (sensing)ความเชื่อมโยงด้วยตนเอง
ระดับที่สี่ การฟังด้วยปัญญาจากภายใน (generative listening)เป็นการฟังขั้นสูงสุดด้วยปัญญาที่เจริญงอกงามอยู่ภายใน การฟังเสียงตนเอง ฟังเสียงความเงียบ และเสียงคนอื่นช่วยสลายพรมแดนความแตกต่างลงอย่างสิ้นเชิง และสามารถรับรู้ถึงการเชื่อมต่อระหว่างสนามพลังแห่งอนาคตที่มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ ระดับจิตสำนึกที่ถูกยกขึ้นนั้น ถือเป็นผลจากการฟังเป็นสิ่งที่สามารถรู้ได้เฉพาะตน คนที่สามารถเข้าถึงการฟังในระดับนี้ได้ จะต้องเริ่มต้นด้วยการทิ้งกรอบอ้างอิงเดิม มีความกล้าหาญทางจิตใจ เปิดหัวใจ ข้ามพรมแดนแห่งเหตุผลและกำหนดรู้ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ชาเมอร์บอกว่า สภาวะนี่แหละคือสนามพลังแห่งอนาคตที่สามารถเอามาสร้างเป็นประสบการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยมีบทพิสูจน์อยู่ในหลายวงการ โดยเฉพาะในวงการกีฬาอาชีพระดับโลก ซึ่งนอกจากจะต้องแข่งขันกันด้วยทักษะและพละกำลังที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว นักกีฬายังต้องรู้วิธีกำหนดจิตของตนเองในสภาวะกดดันอย่างหนักอีกด้วย
เท่าที่รู้ นักกอล์ฟอาชีพบางคน เช่น เรทีฟ คูเซ่น โปรกอล์ฟโนเนมชาวอาฟริกาใต้ ลงทุนจ้าง mental coach จนทำให้สามารถผงาดขึ้นมาคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น ซึ่งเป็นรายการแข่งขันที่หินที่สุดรายการหนึ่งของโลก นอกจากทักษะและพละกำลังที่นักกีฬาต้องมีแล้ว กีฬากอล์ฟ เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความสามารถในการเรียนรู้อนาคตมากำหนดผลของเกมส์อีกด้วย เพราะกีฬากอล์ฟ download เอาอดีตมาคิด หรือมากำหนดวิธีการเล่นไม่ได้ เพราะการเล่นช็อตใหม่ คือการแก้โจทย์ใหม่ซึ่งต้องจินตนาการอนาคตขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
แต่ชาเมอร์นำกรณีตัวอย่างสภาพจิตใจของนักบาสเก็ตบอล เอ็น.บี.เอ คนหนึ่งคือ บิล รัสเซล มาเล่า รัสเซลบอกว่า บางช่วงเวลาในขณะที่สภาพร่างกาย จิตใจผนวกเข้ากันอย่างมีสมาธิ มีบางสิ่งบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ ความเคลื่อนไหวทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติ เขาสามารถสร้างผลงานได้เหนือคำบรรยาย วิ่งรับส่งลูก และชู๊ตได้โดยไม่มีความผิดพลาด และไม่รู้สึกเจ็บปวดจากการปะทะ ความเป็นไปทุกอย่างเหมือนสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า
การที่นักกอล์ฟ นักบาสเก็ตบอล สามารถเข้าถึงสนามพลังแห่งอนาคตนี้ได้ เพราะเขาสามารถข้ามพ้น (transcend) ตัวเองจากกระบวนการ download ความรู้สึกเดิมๆ มีความฮึกเหิมและมุ่งมั่น เพื่อก้าวเข้าสู่สภาวะใหม่ที่กำหนดชัยชนะ
การเป็นผู้นำองค์กรสมัยใหม่ ก็ต้องรู้จักเรียนรู้จากอนาคต ด้วยการเริ่มต้นพัฒนาระดับการฟังจากระดับที่หนึ่งและสอง เพื่อก้าวข้ามสภาวะเดิมสู่ระดับที่สามและที่สี่ให้ได้
Scharmer C.O 2007 Theory U Leading from the Future as it Emerges The Social technology of Presensing, MIT Cambridge
Scharmer C.O (2007) Addressing the Blind Spot of Our Time An Exclusive Summary of the NewBook by Otto Scharmer Theory U: Leading from the Future as It Emerges. www.TheoryU.com
โดย Dr.Sixteen