ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา
ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา
แม้จะมีทฤษฎีเชาวน์ปัญญาหลายทฤษฎี แต่ในที่นี้จะเสนอ ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา ที่ได้รับความนิยม และนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งสอดคล้องกับเรื่องที่จะสามารถนำไปพัฒนาตนได้เป็นอย่างดี คือ ทฤษฎีพหุปัญญาของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) พร้อมทั้งแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเชาวน์ปัญญาคือ หลักไตรสิกขา และโยนิโสมนสิการ
ทฤษฎีพหุปัญญาของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์
การ์ดเนอร์ได้เสนอว่าเชาวน์ปัญญามนุษย์มี 8 ด้าน แต่ละด้านเหล่านี้ ไม่ได้ทำงานแยกจากกัน ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่มีบทบาท ที่สลับซับซ้อน จะมีการผสมผสานการใช้สติปัญญาด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในการปฏิบัติบทบาทของตน เชาวน์ปัญญาทั้ง 8 ด้านประกอบด้วย
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) บุคคลผู้มีความสามารถด้านนี้จะไวกับความหมายของคำ เล่นคำ มีความสามารถ ใช้ภาษาได้อย่าง ถูกต้องตามหลักไวยกรณ์และบางครั้งก็ออกนอกกฎเมื่อไตร่ตรองดีแล้ว เป็นผู้มีความสามารถด้านภาษาในระดับสูง สามารถสื่อสารเชื่อมโยงได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ใช้ภาษาได้อย่างสละสลวยตลอดจนการใช้ภาษากระตุ้นอารมณ์และความรู้สึก บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ กวี นักเขียน นักการเมือง นักพูด นักข่าว ทนายความ และพิธีกร
2. ปัญญาด้านการใช้เหตุผลเชิงตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical Mathematical Intelligence) ผู้มีปัญญาด้านนี้สูง จะสามารถจัดเก็บ ตัวแปรหลาย ๆ ตัวแปรและสร้างสมมุติฐานได้มากมาย สามารถประเมินและยอมรับหรือปฏิเสธสมมุติฐานแต่ละข้อได้อย่างรวดเร็ว ความสามารถจะรวม ทั้งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์นั้นรักที่จะค้นคว้ากับสิ่งที่เป็นนามธรรม สนุกกับการแก้ปัญหาที่ต้องสรรหาเหตุผลมากมายมาประกอบ ส่วนนักวิทยาศาสตร์ จะได้แรงจูงใจจากความต้องการที่จะอธิบายทุกสิ่งให้เป็นรูปธรรม บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ และนักวิจัย
3. ปัญญาทางด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) ปัญญาด้านนี้เป็นความสามารถที่จะเข้าใจโลกที่เรามองเห็นอยู่ได้อย่างถูกต้อง เป็นเรื่องที่จำเป็นในการเดินทางการเดินเรือ และการใช้แผ่นที่ ผู้มีความสามารถด้านนี้สูงจะสามารถนำเสนอข้อมูลด้านมิติให้ออกมาเป็นภาพได้ มีความเฉียบแหลมในการดึงภาพจากความคิดฝันมาทำให้ปรากฎ มาสร้างเป็นชิ้นงานศิลปะ บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ วิศวกร ศัลยแพทย์ นักวาดแผนที่ ปฏิมากร และสถาปนิก
4. ปัญญาทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ (Bodily-Kinesthetic Intelligence) ผู้มีปัญญาด้านนี้สูงจะค้นพบความสามารถของตน ทันทีที่เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวนั้น ๆ โดยยังไม่ทันได้รับการฝึกมากนัก มีความสามารถในการหยิบจับวัตถุต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น นักประดิษฐ์และนักแสดง ร่างกายจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในอาชีพ บุคคลในกลุ่มนี้ได้แก่ นักเต้นรำ นักกีฬา และนักกายกรรม
5. ปัญญาทางด้านดนตรี (Musical Intelligence) คนทุกคนล้วนมีความสามารถทางดนตรีในระดับหนึ่ง ทุกคนสามารถสนุกไปกับเสียงดนตรี ได้แก่ จังหวะ ท่วงทำนอง ระดับเสียง ซึ่งบางคนจะมีทักษะด้านนี้มากกว่าคนอื่น สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในการเล่นเครื่องดนตรี ปัญญาด้านนี้ครอบคลุมความสามารถทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ผู้มีความสามารถด้านนี้สูง ได้แก่ นักประพันธ์เพลง นักร้อง นักดนตรี ผู้ควบคุมวงดนตรี และผู้เข้าซึ้งถึงดนตรี
6. ปัญญาทางด้านการเข้ากับผู้อื่น (Inter-Personal Intelligence) ปัญญาด้านนี้เป็นความสามารถที่จะมองไปที่ผู้อื่นหรือบุคคลที่อยู่ภายนอก ผู้ใหญ่ที่มีความชำนาญด้านนี้จะสามารถรับรู้ความตั้งใจและความปรารถนาของผู้อื่นได้ แม้เขาจะไม่แสดงออกให้เห็นหรือปิดบังไว้ก็ตาม จะมีความไวต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น บุคคลในกลุ่มนี้ได้แก่ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางการเมือง พ่อแม่ ครู นักบำบัด และนักแนะแนว
7. ปัญญาทางด้านการเข้าใจตนเอง (Intra-Personal Intelligence) ปัญญาด้านนี้คือการเข้าใจความรู้สึกของตนเองทุกแง่ทุกมุม รู้จักระดับและขอบเขตอารมณ์ของตนเอง สามารถระบุอารมณ์นั้นได้และใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของตน ปรับปรุงการกระทำของตน ผู้มีปัญญาด้านนี้สูงจะมีความเข้าใจภายในตนเองสูง จะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตของตนเอง สดชื่น และมีประสิทธิภาพ บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ นักเขียน นักแต่งนวนิยาย ผู้ทรงปัญญา และนักจิตวิทยา
8. ปัญญาทางด้านความเข้าใจธรรมชาติ (Naturalistic Intelligence) ปัญญาด้านนี้เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อม ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้สูงจะรู้จักจำแนกชนิด และสายพันธุ์ของพืชและสัตว์ สามารถแยกแยะความแตกต่าง จัดหมวดหมู่ จัดประเภทของสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติของโลกได้ดีบุคคลในกลุ่มนี้ได้แก่ นักเดินทาง นักพฤกษศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
การ์ดเนอร์มีหลักฐานหลายอย่าง ได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับสมอง พัฒนาการมนุษย์ วิวัฒนาการมนุษย์ ประกอบกับการเปรียบเทียบระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ แล้วเลือกสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานหลาย ๆ ด้านโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความหมายดั้งเดิมของ "สติปัญญา" ทำให้มีโอกาสค้นพบสติปัญญาด้านใหม่ ๆ
การ์ดเนอร์ พบว่า สติปัญญาต่าง ๆ ที่ศึกษาล้วนมีลักษณะที่ไม่ต้องอาศัยสติปัญญาด้านอื่น ๆ ดังจะเห็นได้จากคนที่สมองส่วนที่ควบคุมสติปัญญาด้านนั้น ๆ ถูกทำลายก็จะสูญเสียความสามารถในด้านนั้น โดยที่ความสามารถด้านอื่นยังคงอยู่ตามปกติ บทบาทของผู้ใหญ่เป็นผลมาจากปัญญาด้านใดด้านหนึ่ง อย่างไรก็ตามบทบาททางวัฒนธรรมทุกบทบาทไม่ว่าจะซับซ้อนมากน้อยเพียงไร จะต้องอาศัยสติปัญญาหลาย ๆ ด้านผสมผสานกัน
แนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเชาวน์ปัญญา
1. ความหมาย
ปัญญา ในทางพุทธศาสนา หมายถึง ความรอบรู้ รู้ทั่ว รู้ซึ้ง หรือความรู้จักคิดพิจารณาหาเหตุผล ภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปัญญาประกอบด้วย
1) ปัญญาอันเกิดแต่การสดับการเล่าเรียน
2) ปัญญาอันเกิดแต่การคิดพิจารณา
3) ปัญญาอันเกิดแต่การฝึกอบรมลงมือปฏิบัติแก่นแท้ของการศึกษา คือการพัฒนาปัญญาของตนเองให้เกิด สัมมาทิฐิ คือมีแนวความคิดที่ถูกต้อง
2. ปัจจัยเกื้อหนุน
ปัญญา เกิดจากปัจจัยเกื้อหนุน 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ "ปรโตโฆสะ" หรือปัจจัยภายนอก ซึ่งหมายรวมถึงสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพ และสภาพแวดล้อมทางด้านบุคคล อันได้แก่ กัลยาณมิตร ปัจจัยเกื้อหนุนอีกประการหนึ่ง ได้แก่ "โยนิโสมนสิการ" หรือกระบวนการคิดอันแยบคาย อันเป็นปัจจัยภายใน
ก. ปรโตโฆสะ คือเสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงภายนอก เช่น การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียนความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับวัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยานมิตร
ข. โยนิโสมนสิการ หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ออกให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
โยนิโมนสิการมีองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ
1) การคิดอย่างเข้าถึงความจริง
2) การคิดอย่างมีลำดับขั้นตอนไม่สับสน
3) การคิดอย่างมีเหตุผล
4) การคิดอย่างมีเป้าหมาย คิดให้เกิดเหตุผล
หลักการคิดตามแบบโยนิโมนสิการมีอยู่ 10 วิธี คือ
1) วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย เป็นวิธีคิดเพื่อให้รู้สภาวะที่เป็นจริง
2) วิธีคิดแบบแยกส่วนประกอบ เป็นวิธีคิดเพื่อแยกปรากฏการณ์ต่างออกเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมและสิ่งที่เป็นนามธรรม
3) วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ เป็นวิธีคิดแบบรู้เท่าทัน รู้ว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นเองและดับไปเอง
4) คิดแบบอริยสัจ เป็นวิธีคิดแบบแก้ปัญหา โดยเริ่มจากตัวปัญหาหรือทุกข์ทำความเข้าใจให้ชัดเจน สืบค้นหาสาเหตุ เตรียมแก้ไข วางแผนกำจัดสาเหตุของปัญหา
5) วิธีแบบอรรถสัมพันธ์ เป็นวิธีคิดให้มีความสัมพันธ์กันระหว่างหลักการและความมุ่งหมาย รู้ว่าเราทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ทำให้การกระทำมีขอบเขต
6) วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก เป็นการคิดบนพื้นฐานที่ว่าทุกสิ่งในโลกนี้มีทั้งส่วนดีและส่วนด้อย ทำให้ไม่ประมาท
7) วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ – คุณค่าเทียม เป็นวิธีคิดที่สามารถแยกแยะได้ว่าคุณค่าแท้คืออะไร คุณค่าเทียมคืออะไร วิธีคิดนี้ใช้เพื่อมุ่งให้เกิดความเข้าใจและเลือกเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์แก่เป็นการเกี่ยวข้องด้วยปัญญามีขอบเขตเหมาะสม
8) วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม เป็นการคิดถึงแต่สิ่งที่ดีมีกุศล แทนที่จะคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีงาม
9) วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน เป็นวิธีคิดให้ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสิ่งที่กำลังรับรู้ สิ่งที่กำลังกระทำอยู่ การปฏิบัติกิจการงานตามหน้าที่มีจุดหมายไม่เพ้อฝัน
10) วิธีคิดแบบมองให้เห็นความจริง โดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่แต่ละมุมจนครบทุกด้าน ไม่พิจารณาสิ่งใด ๆ เพียงด้านหรือแง่มุมเดียว
โยนิโสนมสิการ คือการคิดโดยแยบคาย เป็นองค์ประกอบภายในที่มีความเกี่ยวข้องกับการฝึกใช้ความคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ คิดอย่างวิเคราะห์ไม่มองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างตื้น ๆ ผิวเผิน เป็นขั้นตอนสำคัญของการสร้างปัญญา การทำใจให้บริสุทธิ์ และเป็นอิสระ จะนำไปสู่ความเป็นขั้นตอนสำคัญของการสร้างปัญญา การทำใจให้บริสุทธิ์ และเป็นอิสระ จะนำไปสู่ความเป็นอิสระไร้ทุกข์ คนปกติสามารถใช้โยนิโสมนสิการง่าย ๆ ได้