การคิดเชิงสังเคราะห์ Synthesis Thinking

การคิดเชิงสังเคราะห์ Synthesis Thinking ผู้แต่ง : ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

การสังเคราะห์ หมายถึง การผสมผสานรวมกันอย่างกลมกลืน ของส่วนปะกอบต่างๆ จนกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะ
ลักษณะของการสังเคราะห์
1. ถักทอ หรือ หลอมรวมองค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ภายใต้โครงร่างเดียวกัน
2. ดึงเฉพาะส่วนที่ตอบวัตถุประสงค์จากองค์ประกอบต่างๆมารวมกัน
การสังเคราะห์ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีรูปลักษณะใหม่ คุณสมบัติใหม่แตกต่างไปจากเดิมที่มีอยู่เป็น
เหมือนการทำให้ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ปรากฏเมื่อนำมารวมกับศักยภาพ ของสิ่งอื่นๆ ซึ่งหากไม่ได้นำรวมกันจะไม่เกิดการใช้ศักยภาพในทิศทางใหม่ การสังเคราะห์จึงทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ทำหน้าที่อีกหน้าที่หนึ่งมีคุณสมบัติใหม่ที่เฉพาะเจาะจง และสามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้ดีกว่าการหยิบแต่ละสิ่งมาใช้อย่างแยกจากกัน

ความหมายของการคิดเชิงสังเคราะห์

การคิดเชิงสังเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการคิดที่ดึงองค์ประกอบต่างๆ มาหลอมรวมหรือถักทอภายใต้โครงร่างใหม่อย่าง เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
การคิดเชิงสังเคราะห์ เป็นมิติการคิดที่ต้องออกแรงทั้งในด้านการค้นคว้ารวมรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะคิด ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากและกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วไป เมื่อได้ข้อมูลเหล่านั้นมาแล้วจะต้องออกแรงดึงแนวคิดจากส่วนประกอบเหล่านั้น คัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวโยงกับเรื่องที่คิดและไม่เพียงการดึงแนวคิดจากแหล่งต่างๆ มากองรวมกันเท่านั้น แต่ยังต้องนำมาเข้าเตาเผาหลอมรวมแนวคิดเหล่านั้นหรือถักทอความคิดต่างๆ ให้อยู่ภายใต้ตัวแบบโครงร่างเดียวกันซึ่งได้กำหนดขึ้น เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ต้องการด้วย
การคิดเชิงสังเคราะห์จะเกิดขึ้นเมื่อ
1. เราจำเป็นต้องหาทางเลือกใหม่ อันเนื่องมาจากสิ่งที่ปฏิบัติเดิมนั้นใช้ไม่ได้ผล ไร้ประสิทธิภาพเนื่องจากบริบทแวดล้อมเปลี่ยนไป หรือพบอุปสรรคที่ไม่คาดคิด จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม
2. เราต้องการทำสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อนแต่สิ่งนั้นได้มีคนอื่นๆ ทำหรืกล่าวถึงไว้แล้ว
3. เราต้องการหาข้อสรุปที่กระจัดกระจายเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราต้องใช้การคิดเชิงสังเคราะห์เมื่อต้องการหาข้อสรุปของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเรื่องนั้นกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ อย่างไม่มีการจัดระเบียบ
การคิดเชิงสังเคราะห์ในที่นี้อาจจัดประเภทในเบื้องต้นได้เป็น 2 ลักษณะได้แก่
1. การคิดสังเคราะห์เชิงวิพากษ์
เป็นการวิพากษ์เรื่องราวต่างๆ หรือประเด็นต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปบางประการที่เหมาะสม สามารถานำมาใช้ในสิ่งที่เราต้องการต่อไปและตอบวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้
2 .การคิดสังเคราะห์เชิงสร้างสรรค์
เป็นการนำแนวความคิดต่างๆ หรือประเด็นต่างๆ ที่ได้รับมาจัดรูปความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างสมเหตุสมผล กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือมีความใหม่สำหรับเราเหมาะสมแก่การนำมาใช้งานบางอย่างตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตามการคิดเชิงสังเคราะห์จะใช้แง่มุมทั้งการวิพากษ์และสร้างสรรค์ไปด้วยกัน ไม่สามารถาแยกออกจากกันได้ เนื่องจากขณะเราทำการสังเคราะห์ประเด็นหรือสิ่งๆหนึ่ง เราจะต้องทำการวิพากษ์ถึงความเหมาะสม ข้อดีข้อเสีย จุดเด่นจุดด้อย ฯลฯ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้จากการวิพากษ์มาพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือแนวคิดใหม่ต่อไป
การคิดเชิงสังเคราะห์จะช่วยให้เราสามารถจัดระบบระเบียบข้อมูลที่กระจัดกระจายในความคิดของเราได้อย่างเหมาะสม ทำให้ย่นระยะเวลาในการคิด ความคิดของเราจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นไม่คลุมเครืออีกทั้งยังสามารถช่วยให้เราได้สิ่งใหม่ ๆ และนำมาใช้บริบทชีวิตจริงได้ เกิดความรอบคอบในแนวทางปฏิบัติเนื่องจากผ่านการคิดสังเคราะห์ที่มีข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการคิดจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย อันจะทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ทั้งต่อสังคมและตัวของเราได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

เหตุใดเราจึงต้องคิดเชิงสังเคราะห์

1. เพื่อช่วยหาทางออกของปัญหาโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
การคิดเชิงสังเคราะห์จะช่วยให้เราไม่ต้องคิดสิ่งต่างๆ ราวกับว่าสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่สามารถนำสิ่งที่คนอื่นคิดหรือได้ปฏิบัติมาแล้วมาใช้ประโยชน์โดยดูจากเรื่องเดียวกันในหลายๆ ที่ หลายๆ แห่ง ทั้งที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงและที่เกี่ยวข้องกันโดยอ้อมเอามาผสมผสานกันเป็นทางออกของปัญหา
2. เพื่อช่วยให้มีความเข้าใจที่คมชัดและครบถ้วนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ
3. เพื่อช่วยขยายขอบเขตความสามารถของสมอง
เนื่องจากสมองมีข้อจำกัดด้านความจำ ขอบเขตความทรงจำจึงจำกัดอยู่ในเรื่องที่เรามีความสนใจ เรื่องที่คนส่วนใหญ่ให้คุณค่าหรือเรื่องที่เราเคยมีประสบการณ์มาก่อนซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ดีแต่ข้อด้อยคือ ทำให้เราไม่เก็บทุกๆเรื่องที่ควรรู้ได้ทั้งหมด ความทรงจำที่จำกัดจึงอาจนำเราไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด อันเนื่องจากการคิดบนพื้นฐานที่ไม่ครบถ้วน ด้วยเหตุนี้วิธีการที่ดีกว่าคือนอกจากเราจะนำความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเรื่องนั้นๆ อันใดอันหนึ่งที่มีอยู่ในสมองออกมาใช้ เราควรพยายามดึงลิ้นชักความจำอื่นที่อาจเกี่ยวข้องทางอ้อมกับประเด็นนั้นๆ รวมถึงการพยายามสืบเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ ภายนอกนำมาสังเคราะห์เข้าด้วยกันเพื่อทำให้เราได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถนำมาใช้การได้จริงและประสบความสำเร็จในที่สุดอันจะทำให้เราเอาชนะขีดความจำกัดของสมองได้อย่างแท้จริง
4. ข้อมูลที่สังเคราะห์จะเป็นประโยชน์ในการติดต่อยอดความรู้
5. เพื่อช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่

การคิดเชิงสังเคราะห์สามารถแบ่งรูปแบบการคิดได้เป็น 2 ลักษณะ

1. การคิดเชิงสังเคราะห์เพื่อการสร้าง “สิ่งใหม่” ซึ่งเป็นการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆตามความต้องการของเรา
2.การคิดเชิงสังเคราะห์เพื่อการสร้าง “แนวคิดใหม่” อันเป็นการพัฒนาและคิดค้นแนวความคิดใหม่ๆ ในประเด็นต่าง ๆ ตามที่เราตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้
หากเราสามารถคิดเชิงสังเคราะห์ได้ดี จะทำให้เราสามารถพัฒนาความคิดหรือสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน องค์กร ครอบครัวและตัวของเราซึ่งในแต่ละรูปแบบของการคิดจะมีวิธีการหรือเทคนิคการฝึกฝนที่แตกต่างกันออกไป
กล่าวโดยสรุปการคิดเชิงสังเคราะห์เป็นมิติการคิดที่ต้องอาศัยความสามารถในการรวบรวมข้อมูลและทักษะในการดึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะมีเป็นจำนวนมากและกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แต่คัดสรรมาเฉพาะส่วนที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่จะคิดนำมาหลอมรวม/ถักทอ/ผสมผสาน ให้อยู่ภายใต้โครงร่างเดียวกันเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้
การคิดเชิงสังเคราะห์จะช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือแนวคิดให้เพิ่มขึ้นได้เป็นจำนวนมาก การพัฒนาทักษะการคิดเชิงสังเคราะห์จึงเหมาะสำหรับทุกกลุ่มคน ทุกเพศและทุกวัย ซึ่งจะทำให้เราได้รับการเสริมสร้างให้เป็นคนหนึ่งที่มีคุณภาพสามารถรังสรรค์ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ตลอดจนประเทศชาติของเราอย่างเต็มศักยภาพ.
------------------------------------
อ้างอิง
สามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ/เอกสาร
ชื่อหนังสือ : การคิดเชิงสังเคราะห์ SYNTHESIS THINKING
ผู้แต่ง : ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

 


สรุปเนื้อหา โดย นายอภิชาติ บุณยรัตพันธุ์ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน