การคิดเชิงประยุกต์ Applicative Thinking
การคิดเชิงประยุกต์ คืออะไร
การประยุกต์ หมายถึง การนำบางสิ่งมาใช้ประโยชน์ โดยปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสภาวะที่เฉพาะเจาะจง "บางสิ่ง" ที่นำมาใช้ ประโยชน์นั้น อาจเป็นทฤษฎี หลักการ แนวคิด ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และนำมาใช้ประโยชน์ในภาคปฏิบัติ โดยปรับให้เข้า กับบริบทแวดล้อม ที่เป็นอยู่อย่าง เหมาะสม นอกจากนี้ "บางสิ่ง" นั้นอาจเป็นวัตถุสิ่งของที่นำมานอกเหนือ บทบาทหน้าที่เดิม ให้เหมาะสมกับบริบทใหม่ การประยุกต์เป็นการนำทฤษฎี หลักการ กฎเกณฑ์แนวคิดเกี่ยวกับ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไปปรับใช้ให้เกิด ประโยชน์ในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ มักมีการประยุกต์ภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ใน การนำไปใช้จริง ในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพราะมีความเป็นรูปธรรมมากกว่า การประยุกต์เป็นการนำสิ่งหนึ่ง หรือแนวคิดหนึ่ง มาปรับใช้ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง การประยุกต์จึงแตกต่างจากการลอกเลียนแบบ การลอกเลียนเป็น การนำสิ่งที่อยู่ในบริบทหนึ่งมาใช้ในอีกบริบทหนึ่งทั้ง หลักการ วิธีการ และรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ในบริบทที่แตกต่าง กัน คนที่คิดเชิงประยุกต์ได้ดีจะสามารถนำ สิ่งหนึ่งมาใช้ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างลงตัว โดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น
สมองจะคิดประยุกต์เมื่อ
- ในปัญหาที่มีจำกัด สมองจะพยายามนำสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาโดยวิธีการทดแทนคุณสมบัติ สมองจะทำการ เทียบเคียง มโนทัศน์เชิงนามธรรมเพื่อหาตัวร่วมหรือ คุณสมบัติที่คล้ายคลึงกันของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อหาความเป็นไปได้ในการนำมา ทดแทน สมองอาจจะใช้วิธีการต่างๆในการแก้ปัญหาโดยการหาสิ่งทดแทน อาทิการใช้วิธี "ลองผิดลองถูก" เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ถ้าวิธีการที่ใช้ไม่ ประสบความสำเร็จจะมีการเปลี่ยนไปใช้วิธีการอื่นแทน
- สมองนำความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เรารู้ว่า กฎ หลักการ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น สิ่งของนั้นคืออะไร รู้ว่า เมื่อใดจึงต้องใช้กฎนี้ รู้ว่าจะต้องนำมาใช้ได้อย่างไรเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะช่วยให้เราตัดสินใจในเรื่องที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าไม่มีความรู้ และจะดียิ่งขึ้น ถ้าไม่เพียงแต่มีความรู้ แต่สามารถประยุกต์ความรู้นั้นไปใช้ในชีวิต ประจำวัน ได้อย่างเหมาะสม สิ่งใหม่ๆ มากมายเกิดจากการประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ให้เป็น สิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ การประยุกต์ช่วยให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองเป้าหมายใหม่ วัตถุประสงค์ใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนเราจะมีความสามารถในการคิดประยุกต์เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว แต่ยังมี ความแตกต่างกันเป็น อย่างมาก ระหว่างคนที่มีทักษะความสามารถในการคิดประยุกต์กับคนที่ปราศจากทักษะใน การคิดประยุกต์ อาทิ คนที่มีทักษะ การคิดเชิงประยุกต์ จะปฏิเสธการลอกเลียนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่เหมาะสมที่อาจเกิดตามมา แต่จะสามารถปรับเปลี่ยน ให้เข้ากับบริบทใหม่ รู้ว่าควรนำ ความรู้มาใช้อย่างไร รู้ว่าจะนำส่วนใดมาใช้ รู้ว่าจะใช้เมื่อใด เพื่อตองสนองวัตถุประสงค์ ที่ต้องการได้มากที่สุด คนที่คิดเชิงประยุกต์ จะเป็นนักพัฒนา และนักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้มากกว่า คนที่ปราศจาก ความสามารถใน การคิดด้านนี้
การคิดเชิงประยุกต์
การคิดเชิงประยุกต์ หมายถึง ความสามารถในการนำบางสิ่งมาปรับใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับ บริบทสภาพแวดล้อม และเวลาในขณะนั้น เพื่อบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ การประยุกต์อาจทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยทิศทางใหม่ ทั้งนี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการพยายามคิด เพื่อหาทางใช้ประโยชน์ของสิ่งที่มีอยู่มากกว่าเดิม เพื่อใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
การคิดเชิงประยุกต์อาจเข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อการคิดสร้างสรรค์ โดยในขั้นแรกของการคิดสร้างสรรค์มักจะเริ่มต้นด้วย การระดมความคิด ใหม่ๆ ที่หลากหลาย เน้นปริมาณความคิดมากกว่าคุณภาพ ความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นมาได้นั้นอาจจะมีความคิด ในเรื่องของการนำของ สิ่งหนึ่ง มารวมกับอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นสิ่งใหม่ที่ตอบสนองวัตถุประสงค์นั้นได้เช่น ผลิตเป็นสินค้าใหม่ที่น่า จะจำหน่ายได้ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย วิธีการที่แปลกใหม่ เป็นต้น
การคิดเชิงประยุกต์ทำหน้าที่เป็นเหมือนขั้นที่สองของการคิดสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ใน การนำมาใช้ความเหมาะสม เมื่อนำมาใช้ในบริบทนั้นๆ และพิจารณาว่าควรนำส่วนใดมาใช้ ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร รวมถึงการวิเคราะห์ว่า เมื่อนำมาใช้แล้ว จะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร คนที่ช่างคิดสร้างสรรค์มักจะเป็นนักคิดเชิงประยุกต์ที่ประสบความสำเร็จด้วย ผลงานสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อย ในโลกเป็นผลผลิตของการคิดเชิงประยุกต์ การคิดชิงประยุกต์จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความยืดหยุ่นทางความคิด พยายามฝึกให้ไม่ยึดติดกับบทบาทหน้าที่เดิมๆ แต่สามารถขยายขอบเขตเพื่อใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
การไม่คิดเชิงประยุกต์อย่างรอบคอบอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น สิ่งที่มีลักษณะเป็นแนวคิดเชิงนามธรรมอันได้แก่ แนวคิดเพื่อ แก้ปัญหาใด ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น กรอบแนวคิดทางคุณธรรมหรือแนวคิดใดๆก็ตามที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้คนปฏิบัติตาม จำเป็นต้องมีการประยุกต์ เป็นแนวทางปฏิบัติ เช่น ออกเป็นกฎหมายระเบียบปฏิบัติข้อบังคับ มีรูปแบบปฏิบัติ วิธีการ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามแนวคิดนั้น แต่แนวคิดเชิงนามธรรมจำนวนมาก ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ใน ภาคปฏิบัติได้ด้วย สาเหตุประการสำคัญ อันได้แก่ ขัดแย้งกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความต้องการของผู้ปฏิบัติ หรือไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เป็นต้น
ดังนั้น การนำแนวคิดใดๆ สู่ภาคปฏิบัติจำเป็นต้องมีการประยุกต์สิ่งนั้นเพื่อให้คนยอมรับในหลักการ เห็นพ้องกันในแนวคิดก่อน จนกระทั่ง ยินดี ที่จะปฏิบัติร่วมกัน การประยุกต์แนวคิดที่มีลักษณะเป็นนามธรรมสู่ความเป็นรูปธรรมนี้ จำเป็นต้องใช้การคิดเชิง ประยุกต์อย่าง เหมาะสม เพื่อทำให้แนวทางปฏิบัติสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติเข้าใจ และสามารถกระทำตามได้ เช่น หากต้องการให้ คนสวมหมวกกันน็อค ต้องเริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้คนเห็น ความสำคัญของ การสวมหมวกกันน็อค โดยการทำ ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง การจัดการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ การชี้ให้คนเห็นความสำคัญของชีวิต การเห็นคุณค่าความปลอดภัย อาจจะใช้วิธีการอ้างสถิติผู้เสียชีวิต เนื่องจากอุบัติเหตุลักษณะนี้ และผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ครอบครัว หลังจากนั้นอาจจะต้อง สนับสนุนการผลิตหมวกกันน็อค ที่ได้มาตรฐาน ในราคาต่ำเพื่อที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของได้ วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เกิด การยอมรับได้ ง่ายกว่าการออกกฎหมายบังคับใช้ทันที การพัฒนาวิธีคิดเชิงประยุกต์จะเน้นการพัฒนาความสามารถ ในการนำมาใช้อย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากบริบทขณะนั้นเป็นสำคัญ
การคิดเชิงประยุกต์เป็นการพัฒนาทักษะการคิดที่สำคัญอีกมิติหนึ่ง จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลสำคัญหลายประการ อาทิ
- การคิดเชิงประยุกต์ช่วยลดข้อจำกัดในการแก้ปัญหาของสมอง
คนที่ความคิดไม่ยึดติดกับบทบาทหน้าที่จะคิดเชิงประยุกต์ได้ดี เพราะจะมีมุมมองที่หลากหลาย สามารถประยุกต์สิ่งๆ เดียวให้สามารถ ปรับใช้ได้ในหลายๆ บริบทสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะ โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่าเคยใช้มาก่อนหรือไม่ จึงทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่าคนอื่น เพราะมีทางออกที่ไม่จำกัด นอกจากนี้ การคิดเชิงประยุกต์ยังช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น เพราะไม่ยึดติดกับ วัตถุประสงค์หรือ บทบาทหน้าที่ของสิ่งนั้น ทำให้แม้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่เราจะพยายามค้นหา ความเป็นไปได้จากสิ่งที่มีอยู่ และนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาในเวลานั้นได้ - การคิดเชิงประยุกต์ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง
แนวคิดดีๆ หากเราไม่ประยุกต์เข้ากับบริบทให้เหมาะสมอาจจะประสบความล้มเหลวเมื่อนำมาใช้ เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ที่ขัดแย้งกับ วิถีชีวิต ประจำวัน ความเคยชินค่านิยมของผู้ปฏิบัติ ไม่เหมาะสมกับช่วงเวลา สถานการณ์หรือขัดกับบริบทความเคยชินของสังคม จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมภายใต้บริบทแวดล้อมที่แตกต่างกัน เพื่อให้คนสามารถรับแนวคิดที่เราต้องการนำเสนอได้ - การคิดเชิงประยุกต์ช่วยเพิ่มศักยภาพของการคิดสร้างสรรค์
การคิดสร้างสรรค์ เป็นการระดมความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เป็นความคิดนอกกรอบวงความคิด หรือความรู้เดิมๆ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ใช้การได้ดี และเหมาะสมมากยิ่งกว่าเดิม ส่วนหนึ่งของการคิดสร้างสรรค์เกิดจากการประยุกต์สิ่งหนึ่ง เข้ากับอีกสิ่งหนึ่ง จนกลายเป็นสิ่งใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน - การคิดเชิงประยุกต์ช่วยให้ลดการลอกเลียนแบบลดอาการวัวหายล้อมคอก
การคิดเชิงประยุกต์จะช่วยให้เราไม่ด่วนฉกฉวยความพึงพอใจในสิ่งหนึ่งมาใช้ แต่ช่วยให้เกิดการคิดใคร่ครวญว่า จะนำมาใช้อย่าง เหมาะสม ได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง เนื่องจากก่อนที่จะนำสิ่งใดมาประยุกต์ใช้จะต้องมีการคิดพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบก่อน โดยคำ นึงถึงความเหมาะสมมากที่สุดในเป้าหมายใหม่ วัตถุประสงค์ใหม่ จึงช่วยป้องกันการเกิดปัญหา เมื่อต้องนำสิ่งใด สิ่งหนึ่งมาใช้ - การคิดเชิงประยุกต์เป็นแนวทางนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ
การมีเครื่องมือที่ประยุกต์ประโยชน์จากความรู้อื่นๆมาใช้จะช่วยพัฒนาความก้าวหน้าในสาขาวิชานั้นๆ หรือพัฒนานวัตกรรมของ สิ่งประดิษฐ์ ต่างๆ ให้ทันสมัยต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้งอย่างไรก็ตาม การที่เราจะเป็นนักคิดเชิงประยุกต์ที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนา ทัศนคติ และนิสัยต่างๆ เหล่านี้ให้สอดคล้องเหมาะสมด้วย อาทิ
(1) เป็นนักพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง นักพัฒนาที่มีความปรารถนาที่จะทำให้สิ่งที่มีอยู่ดีขึ้นอยู่เสมอ เป็นคนที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่พยายาม ตรวจสอบอยู่เสมอว่ามีอะไรต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นคนที่ช่างสังเกต ช่างเรียนรู้ และพยายามดึง ส่วนดีที่พบเห็นจากภายนอกมาปรับใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาสิ่งที่ตนเองมีอยู่ให้ดีขึ้น
(2) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ความจำกัดของทรัพยากร ทำให้นักเศรษฐศาสตร์พยายาม ใช้สิ่งที่มีอยู่อย่าง คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด
(3) ใช้ความรู้คู่การเรียนรู้ ความรู้ที่เรามีจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานิสัยการคิดเชิงประยุกต์ ถ้าเราเป็นคนที่ไม่เพียง แต่มีความรู้แต่ตั้งมั่นที่จะใช้ความรู้นั้นประยุกต์ใช้ประโยชน์ในบริบทต่างๆ ในแง่มุมใหม่ๆ โดยต่อยอดพัฒนาความรู้นั้นอยู่เสมอ
(4) ยืดหยุ่น และแง่บวก นักคิดเชิงประยุกต์ต้องเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นทางความคิด ไม่ยึดติดใน กรอบบทบาทหน้าที่หรือ วัตถุประสงค์ ของสิ่งใด และต้องเป็นคนที่มีความคิดแง่บวก พยายามหาสิ่งที่พอจะช่วยแก้ปัญหาได้คัดเลือก คุณสมบัติที่พอจะทดแทนกันได้ แม้จะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ย่อมช่วยให้ปัญหาในเวลานั้นลดน้อยลงไปได้
(5) มีความสามารถในการคิดมิติอื่นๆ การคิดเชิงประยุกต์เกี่ยวข้องกับการคิดในมิติอื่นๆ อย่างแยกกันลำบาก เพราะการประยุกต์เรื่องใดๆ มาใช้จำเป็นต้องพึ่งพาการคิดในมิติอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ
• ความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์จะช่วยในการค้นหาสิ่งที่จะนำ มาใช้ประยุกต์ได้อย่างรวดเร็ว การหาสิ่งทดแทนจะรวดเร็วขึ้นมาก
• ความสามารถในการคิดเชิงเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ในด้านต่างๆ เพื่อคัดเลือกสิ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ตอบสนองต่อ วัตถุประสงค์มาใช้ ประโยชน์ได้
• ความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์คิดแตกแขนงความรู้ที่มีอยู่ให้ขยายในขอบเขตที่จะนำไปใช้กับคนกลุ่มต่างๆคนในบริบทต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางมากที่สุด เพื่อให้สิ่งนั้นสามารถได้รับการนำ ไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าเหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายภายใต้สถานการณ์นั้น
• ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์สามารถแยกแยะส่วนประกอบหรือความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของสิ่งนั้นเพื่อให้ดึงส่วนประกอบ หรือหลักการ ที่เกี่ยวข้องมาตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้
• ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อช่วยให้ได้การมองในมุมตรงกันข้าม หาจุดอ่อน จุดที่ต้องการแก้ไขของสิ่ง ที่นำมา ประยุกต์ใช้ประโยชน์
(6) รอบคอบแต่กล้าเสี่ยง ผลผลิตของการคิดเชิงประยุกต์เรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับบริบทใหม่ที่เกิดขึ้นการนำมาใช้จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ ความสอดคล้องเหมาะสมของปัจจัยต่างๆ ภายใต้บริบทใหม่นั้นด้วยซึ่งอาจจะมีความผิดพลาดล้มเหลวเกิดขึ้นได้ นักคิดเชิงประยุกต์จึงต้อง มีความรอบคอบ ในการคิดวิเคราะห์วิจัยหรือองค์ประกอบที่มีความแตกต่างกัน และประสบสิ่งที่ต้องการนำ มาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม กับบริบทใหม่ทดสอบความเป็นไปได้ก่อนที่จะนำมาใช้จริง มิฉะนั้นแทนที่จะช่วยแก้ปัญหาอาจจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นมากขึ้นอีกก็เป็นได้
นักคิดเชิงประยุกต์ต้องมีความกล้าเสี่ยง โดยตระหนักว่าแม้มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้ว แต่เมื่อนำมาใช้ประโยชน์จริงแล้ว อาจมีปัญหาที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ นักคิดเชิงประยุกต์ต้อง ไม่เป็นคนที่ท้อแท้หรือล้มเลิกอะไรง่ายๆ แต่ต้องเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้จาก ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในหลายๆ ครั้งอาจต้องลองผิดลองถูกหลายครั้ง จึงจะประสบความสำเร็จ แต่ต้องคิดแง่บวกอยู่เสมอว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นแม้จะดูช้าไปสักหน่อยแต่เป็นสิ่งที่คุ้มค่าแก่การรอคอยเสมอ