7 วิธีคิดอย่างคนเก่ง
7 วิธีคิดอย่างคนเก่ง (7 Thinking methods to be genius)
การเป็นคนเก่งไม่ใช่ความโชคดีของพันธุกรรมหรอกครับ อยู่ที่การฝึกขัดเกลาสมองและหัวใจของคุณต่างหาก แล้วคุณจะมีความปราดเปรื่อง ในแบบฉบับของคุณ เป็นคนเก่งที่สามารถจัดการกับชีวิต ของตนเองได้อย่างลงตัว
- คิดในทางที่ดี
มองโลกในแง่ดี และทำทุกสิ่งอย่างเต็มกำลังด้วยรอยยิ้มและ ความเบิกบาน ทำตัวให้สดชื่นมีชีวิตชีวาและกระตือรือร้นอยู่เสมอ
พร้อมที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ จะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามา ได้อย่างอยู่มือ - มีศรัทธาในตัวเอง
ถ้าแม้แต่ตัวคุณเองยังไม่ศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวเองแล้ว จะมีมนุษย์หน้าไหนล่ะ จะเชื่อมั่นในความเก่งของคุณ อยากให้ใครๆเขาชื่นชอบและทึ่งในตัวคุณ คุณก็ต้องมั่นใจตัวเองก่อน - ขอท้าคว้าฝัน
ไม่มีอะไรที่จะทรงพลังมากเท่ากับความตั้งใจจริงและทุ่มสุดตัวหรอกครับ ความกระหายอันแรงกล้าที่จะพาตัวเองไปสู่จุดหมายนั่นแหล่ะ เป็นแรงผลักดันที่จะทำให้คุณสานฝันสู่ความจริงได้ - ค้นหาบุคคลต้นแบบ
ใครก็ได้ที่คุณชื่นชมเพื่อเป็นมาตรฐานที่ดีในการดำเนินรอยตาม ศึกษาแนวคิด วิธีการทำงาน จุดเด่นในตัวเขา
เผื่อว่าเราจะได้ไอเดียดีๆ มาปรับใช้ให้ชีวิตก้าวโลดสู่ความสำเร็จกับเขามั่ง - เริ่มต้นงานใหม่ทุกวันด้วยรอยยิ้มสดใส
คนที่มีรอยยิ้มระบายไว้บนใบหน้า เสมือนประตูที่เปิดกว้าง ให้ใครๆอยากเข้ามาคบหาด้วย การเจรจา ติดต่องานก็มักจะลงเอยด้วยความสำเร็จ มากกว่าคนที่หน้าตาแบกโลกนะครับ นอกจากนี้ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ยังสร้างความเบิกบานและคลายทุกข์ แถมยังเป็นยาอายุวัฒนะชั้นเยี่ยม ที่ทำให้เราดูเป็นอ่อนเยาว์กว่าวัยตลอดกาล รู้อย่างนี้แล้วหัดติดรอยยิ้มไว้ที่มุมปากเป็นประจำนะ ครับ - เรียนรู้จากความผิดพลาด
ก็สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง จะเป็นอะไรเชียวถ้าเราจะทำอะไร แล้วจะยังไม่สำเร็จอย่างที่หวังไว้ เพียงแต่ขอให้ทำเต็มที่ และเปิดใจให้กว้างยอมรับความจริง หันมาทบทวนดูว่ามีขั้นตอนไหนที่ผิดพลาดไป..... เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่ให้ดีกว่าเดิม - ทนุถนอมมิตรสัมพันธ์เก่าๆ
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พวกเราชาวโรทาเรียนตระหนักและทราบดี คงไม่มีใครที่จะอยู่อย่างมีความสุขโดยปราศจากเพื่อนหรือมิตรที่รู้ใจหรอกนะครับ แม้ว่าชีวิตของคุณในแต่ละวันจะวุ่นวายแค่ไหนก็ตาม คุณควรจะมีเวลาให้กับเพื่อนซี้ที่รู้จักมักจี่กันมานานซะบ้าง
แวะไปหากัน เมื่อโอกาสอำนวย ชวนกันออกมาทานข้าวในช่วงวันหยุด ส่งการ์ดปีใหม่ หรือร่อนการ์ดวันเกิดไปให้ เผื่อในยามที่คุณเปล่าเปลี่ยวหงอยเหงา เศร้าทุกข์ใจ ก็ยังมีเพื่อนซี้ไว้ พึ่งพาและให้กำลังใจกันได้นะ
วิธีคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)
การคิดเชิงระบบเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดในหลัก 5 ประการ ขององค์กรเรียนรู้และบุคคลเรียนรู้ Peter M. Senge ให้ความสำคัญกับ Systems Thinking มาก จึงเริ่มต้นชื่อหนังสือของเขาทั้งสองเล่มว่า The Fifth Discipline ซึ่งเป็นลักษณะของการคิดเชื่อมโยง มองภาพรวมหรือภาพจากตานก คิดเชิงสังเคราะห์มากกว่าวิเคราะห์แยกแยะ มองเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบ ทั้งความสัมพันธ์เชิงลึกและความสัมพันธ์แนวกว้าง ในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน มากกว่าคิดแบบเหตุ-ผล เชิงเส้นตรง คิดเน้นที่กระบวนการหรือแบบแผน (pattern) มากกว่าภาพเป็นจุด ๆ (events)
Stephen P.Robbins และ Mary Coulter นักวิชาการด้านการจัดการที่มีชื่อเสียงได้กล่าวถึง องค์กรแห่งการเรียนรู้ไว้ในหนังสือ Management 8th Edition ว่าแนวคิดเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ โครงสร้างองค์กรแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นเรื่องของกรอบความคิด (Mindset) หรือปรัชญา (Philosophy) ที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบองค์กร องค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นองค์กรที่ได้พัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงขององค์กรอย่างต่อเนื่อง พนักงานในองค์กรจะจัดการกับองค์ความรู้ต่างๆ ด้วยการศึกษา และการถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเต็มใจที่จะประยุกต์ความรู้เหล่านั้นไปใช้กับการตัดสินใจและการปฏิบัติงาน
Stephen P.Robbins และ Mary Coulter ได้กล่าวถึงลักษณะที่สำคัญขององค์กรแห่งการเรียนรู้ว่า เป็นองค์กรที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
รูปแบบขององค์กร (Organization Design) คือ ไร้พรมแดน (Boundless) การทำงานเป็นทีม (Team) และการให้อำนาจ (Empowerment) บุคลากรขององค์กรแห่งการเรียนรู้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแบ่งปัน (Share) ข้อมูล และให้ความร่วมมือ (Collaboration) กับทุกกิจกรรมของงานต่างๆ ของทุกหน่วยงานในองค์กร ถึงแม้ว่างานนั้นจะเป็นงานของหน่วยงานอื่น หรือแม้แต่งานในลำดับชั้นอื่นๆ ขององค์กรก็ตาม ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลด หรือกำจัดโครงสร้างหรือขอบเขตที่เป็นทางการขององค์กรในบรรยากาศการทำงาน บุคคลากรจะมีอิสระในการทำงานร่วมกันและเต็มใจให้ความร่วมมือในการทำงานขององค์กรด้วยวิธีการที่ดีที่สุดที่เขาสามารถทำได้ ตลอดจนเรียนรู้ร่วมกัน ความจำเป็นของความร่วมมือในรูปแบบต่างๆทำให้การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับองค์กรแห่งการเรียนรู้ พนักงานจะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมในการดำเนินทุกกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับองค์กร โดยทีมงานต่างๆเหล่านี้จะได้รับมอบอำนาจให้ตัดสินใจเกี่ยวกับงานหรือประเด็นปัญหาต่างๆ เมื่อพนักงานและทีมได้รับมอบอำนาจ ผู้บังคับบัญชาจึงไม่จำเป็นต้องกำกับหรือควบคุมการทำงาน บทบาทของผู้จัดการจึงเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ผู้สนับสนุน (Supporter) และที่ปรึกษา (Advocate) ของทีมงาน
บทบาทผู้นำ (Leadership) ต้องมีวิสัยทัศน์ร่วม (Share Vision) และความร่วมมือ (Collaboration) คือการส่งเสริมการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมเกี่ยวกับอนาคตขององค์กร ตลอดจนการโน้มน้าวให้สมาชิกขององค์กรมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ร่วมนั้นๆ นอกจากนี้ผู้นำยังต้องส่งเสริมและผลักดันบรรยากาศแห่งความร่วมมือให้เกิดขึ้น ผู้นำที่มีความมุ่งมั่นและเข้มแข็งเท่านั้นจึงจะสามารถแสดงบทบาทดังกล่าวได้อย่างสัมฤทธิผล
วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) ต้องมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด (Strong Mutual Relationship) สำนึกของความเป็นกลุ่ม (Sense of Community) ความใส่ใจ (Caring) และความไว้วางใจ (Trust) คือวัฒนธรรมขององค์กรที่ทุกคนเห็นด้วยและยึดมั่นในวิสัยทัศน์ร่วม และทุกคนตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกระบวนการ กิจกรรม และหน้าที่ขององค์กรกับสิ่งแวดล้อมภายนอก บรรยากาศขององค์กรจะเต็มไปด้วยสำนึกของความเป็นกลุ่ม ความใส่ใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนความไว้วางใจ ดังนั้น พนักงานในองค์กรแห่งการเรียนรู้จึงสามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยน ทดลองและเรียนรู้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับการวิพากษ์วิจารณ์หรือการลงโทษขององค์กร
สรุปหลัก 5ประการขององค์กรเรียนรู้องค์กรเรียนรู้เกิดจากการจัดบรรยากาศ กระบวนการ เงื่อนไข และการฝึกทักษะ ให้บุคลากรเป็นบุคคลเรียนรู้ โดยยึดหลักสำคัญ 5 ประการคือ
(1) การพัฒนาความเชี่ยวชาญในการสร้างพลังแห่งตน
(2) แบบจำลองความคิด
(3) การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม
(4) การเรียนรู้เป็นทีม
(5) การคิดเชิงระบบ
หลัก 5 ประการนี้เกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยอาศัยพลังแห่งการเรียนรู้เป็นกลุ่ม พลังแห่งการมองภาพรวม มองความเชื่อมโยง มองความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัต มองอนาคต มองเชิงบวก มองเห็นสภาพความเป็นจริง มองแบบไม่ยึดติด ลดอัตตาหรือตัวกู-ของกู มองที่ประโยชน์หรือความมุ่งมั่นเพื่อส่วนรวมหรือคุณค่าอันยิ่งใหญ่ อาศัยพลังแห่งทักษะของการเรียนรู้ร่วมกัน และ การเปลี่ยนสภาพหรือสิ่งที่ดูเสมือนเป็นจุดอ่อนหรือปัญหาให้กลายเป็นจุดแข็ง เป็นโอกาสหรือพลัง...
วิธีคิดสร้างสรรค์ อย่างมีไอเดียเฉพาะตัว
วิธีคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์อย่างมีไอเดียแบบเฉพาะตัว
ธรรมชาติได้กำหนดการใช้งานสมอง 2 ซีก ซีกซ้ายมีหน้าที่เกี่ยวกับการคำนวณ ค้นหาเหตุผล การวิเคราะห์ ซีกขวามีหน้าที่เกี่ยวกับศิลปะ จังหวะ ดนตรี สีสันและการจัดระเบียบความคิด
10 เคล็ดลับวิธีการคิดนอกกรอบต่อไปนี้ อาจช่วยให้หลายคนได้พบว่าเรื่องราวของความคิดสร้างสรรค์ นั้นเป็นสิ่งที่เรียนรู้และ ฝึกฝนได้สำหรับทุกคน
- สลัดความคิดครอบงำ ไม่จำกัดความคิดไว้กับไว้กับความเคยชินเก่าๆ ไม่ตีกรอบความคิดผู้อื่นหรือคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้
- ฝึกความคิดอย่างรอบด้าน
- ไม่ยึดติดแนวความคิดด้านเดียว
- พยายามใช้ความคิดรอบด้าน
- ฝึกตั้งคำถามและหาเหตุผล
- คิดอย่างเป็นระบบและหาเหตุผลเปรีบเทียบ
- มองหลายมิติเพื่อค้นหาความจริง
- คิดแง่บวก
- พยายามสร้างโอกาสแห่งความบังเอิญ คือบางสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยอาจจะเป็นคำตอบต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจเป็นการจุดประกายใหม่ๆที่ผิดแผกแตกต่างจากเดิม ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
- การตั้งคำถาม อะไรที่ทำให้คนอื่นทำแล้วแต่เรายังไม่ได้ทำ เราทำได้ไหม ทำอย่างไร หรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
- ฝึกความเป็นคนช่างสังเกตจดจำ การสั่งสมประสบการณ์และกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ พยายามเรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจนั้นให้มากที่สุด
- ฝึกการระดมพลังสมอง โดยยึดมั่นในหัวใจนักปราชญ์ ได้แก่ ฟัง คิด ถาม เขียน
- บ่มฟัก เมื่อใดที่มีปัญหาหรือยังหาคำตอบไม่ได้ หลังจากที่ได้พยายามคิดหนักสุดๆ จึงค่อยหยุดคิดแล้วปล่อยวาง จากนั้น 2-3 วัน ค่อยกลับมาคิดปัญหานั้นใหม่
- ตัดแต่ง ทบทวนความคิดและคัดสิ่งที่ไม่ได้ผลออกมาแก้ไขเพิ่มเติม ปรับเปลี่ยนจนได้ความคิดที่ดีที่สุด
- ไม่ย้ำรอยอยู่แต่ความสำเร็จเดิม เช่น การกระทำทุกอย่างเมื่อเห็นว่าดี ประสบความสำเร็จแล้ว ต่อไปควรจะพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยวิธีการใหม่ ขึ้นอยู่กับความพยายาม
การคิดเชิงวิจารณญาณ
การคิดเชิงวิจารณญาณ (critical thinking) เป็นกระบวนการทางจิตสำนึกเพื่อวิเคราะห์ หรือ ประเมินข้อมูล ในคำแถลง หรือ ข้อเสนอที่มีผู้แถลงหรืออ้างว่าเป็นความจริง การคิดเชิงวิจารณญาณเป็นรูปแบบของกระบวนการ ที่สะท้อนให้เห็น ความหมาย ของคำแถลง (statement) และการตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับการไต่ตรองด้วยเหตุและผล แล้วจึงทำการตัดสินคำแถลง หรือข้อเสนอ ที่ถูกอ้างว่าเป็นความจริงนั้น
การคิดเชิงวิจารณญาณอาจทำได้จากการรวบรวมข้อมูล การสังเกตการณ์ ประสบการณ์ หลักแห่งเหตุและผล และ/หรือการสื่อความ การคิดเชิงวิจารณญาณต้องมีพื้นฐานของคุณค่าเชิงพุทธิปัญญาที่สูงเลยไปจากการเป็นเพียงการแบ่งเนื้อหาที่รวมไปถึง ความกระจ่างชัด ความแม่นยำ ความต้องตรงเนื้อหา หลักฐาน ความครบถ้วนและความยุติธรรม
ความหมายหรือนิยามการคิดเชิงวิจารณญาณมีมากมายและหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ไปในแนวเดียวกันคือการใช้เหตุผล หลักฐาน และตรรกะมาวิเคราะห์ให้แน่ชัดก่อนลงความเห็นหรือตัดสิน
พระพุทธเจ้าได้ใช้วิธีการสอนที่อาจนับเป็นการคิดเชิงวิจารณญาณที่เรียกว่า "ปุจฉาวิสัชนา" ด้วยการให้พระสงฆ์ใช้ "วิจารณญาน" ถามตอบซักไซ้ไล่เลียงค้านกันไปมาจนได้คำตอบซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการคิดเชิงวิจารณญาณ โดยทรงให้หลักแห่งความเชื่อ ที่ไม่งมงายไว้ในพระสูตรชื่อ กาลามสูตร
คำว่า "critical thinking" นับเป็นคำใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้ไม่นานมานี้ด้วยความหมายดังข้างต้น ดังนั้น จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ควรใช้ว่า"การคิดเชิงวิจารณญาณ" "การคิดเชิงวิจารณ์" หรือ "การคิดเชิงวิพากษ์" ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำ "วิพากษ์" ว่าเป็นการตัดสินหรือการพิพากษา แต่ในขณะเดียวกัน นิยามของ "critical thinking" ในบทความนี้บ่งว่า ไม่ใช่การตัดสิน แต่เป็นความเห็นสรุปที่สมเหตุผลที่สุด ณ ขณะนั้น ที่พร้อมที่จะเปลี่ยนได้ตาม ข้อมูลใหม่ ที่วิเคราะห์ถูกต้องมาหักล้างได้เสมอ ดังนั้น บทความนี้จึงใช้วลี "การคิดเชิงวิจารณญาณ" ไปก่อน
ภาพรวมภายใต้กรอบแห่ง "ความน่าสงสัย" (skepticism) กระบวนการคิดเชิงวิจารณญาณเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสืบหาข้อมูล และการประเมินข้อมูล เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปหรือคำตอบที่เชื่อถือได้ การคิดเชิงวิจารณญาณประกอบด้วย "ตรรกะที่ไม่เป็นทางการ" (informal logic) ผลการวิจัยด้านการรับรู้เชิงจิตวิทยา (cognitive psychology) ทำให้นักการศึกษาเริ่มเชื่อมากขึ้นว่า สถาบันการศึกษาทุกแห่งควรเน้นการสอน ทักษะการคิดเชิงวิจารณญาณ ให้มากขึ้นแทนการสอนให้เรียนรู้แบบท่องจำ
กระบวนการของการคิดเชิงวิจารณญาณสามารถตอบสนองประเด็นและสถานการณ์ได้หลายๆ อย่างและทำให้เราสามารถสืบเสาะหาสิ่งเชื่อมโยง ระหว่างกันได้ด้วย ดังนั้น การคิดเชิงวิจารณญาณจึงเป็นตัวสร้างระบบช่องความคิดต่างๆ ที่สัมพันธ์กับความรู้ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยาเศรษฐศาสตร์ หลักเหตุผลทางศีลธรรม และปรัชญา
เราอาจแบ่งการคิดเชิงวิจารณญาณได้เป็นสองลักษณะได้แก่
1. ชุดของทักษะการรับรู้ (cognitive skill) และ
2. ความสามารถและการใช้ทักษะนั้นๆ เพื่อเป็นแนวทางแห่งประพฤติกรรม
การคิดเชิงวิจารณญาณไม่เป็นเพียงการหาและการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือการเป็นเพียงผู้มีทักษะแต่ไม่ได้ใช้อย่างสม่ำเสมอ การคิดเชิงวิจารณญาณจึงไม่ใช่เป็นเพียงการฝึกฝนทักษะเพื่อการไม่ยอมรับรองผลเพียงอย่างเดียว
กรรมวิธีของการคิดเชิงวิจารณญาณ
การคิดเชิงวิจารณญาณมีขั้นตอนการคิดที่มีประโยชน์ดังนี้
1. การจำแนกความเห็นในประเด็นปัญหาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและการจัดเก็บข้อโต้แย้งที่มีตรรกะที่สนับสนุนในแต่ละฝ่าย
2. แตกข้อโต้แย้งออกเป็นส่วนๆ ตามเนื้อหาของคำแถลงและดึงเอาเนื้อหาส่วนเพิ่มเติมที่มีความหมายตรงนัยของคำแถลง
3. ตรวจสอบคำแถลงและความหมายตามนัยเหล่านี้เพื่อหาความขัดแย้งในตัวเอง
4. บ่งชี้เนื้อหาการอ้างที่ขัดแย้งกันในบรรดาข้อถกเถียงต่างๆ ที่มีแล้วจึงใส่น้ำหนักหรือคะแนนให้ข้ออ้างนั้นๆ
1. เพิ่มน้ำหนักเมื่อข้ออ้างมีหลักฐานสนับสนุนที่เด่นชัด โดยเฉพาะการมีเหตุมีผลที่สอดคล้องกัน หรือมีหลักฐานจากแหล่งใหม่ๆ หลายแหล่ง ลดน้ำหนักเมื่อข้ออ้างมีความขัดแย้งกัน
2. ปรับน้ำหนักขึ้นลงตามความสอดคล้องของข้อมูลกับประเด็นกลาง
3. จะต้องหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับใช้ในการตัดสินข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือมิฉนั้น จะต้องไม่นำประเด็น การกล่าวอ้าง ดังกล่าว มาประกอบการตัดสิน
5. ประเมินน้ำหนักด้านต่างๆ ของข้ออ้าง
แผนที่ในจิตสำนึก (Mind maps) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการจัดรูปและการประเมินค่าข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในขั้นสุดท้าย เราอาจกำหนดน้ำหนักเป็นตัวเลขสำหรับแต่ละแขนงของแผนที่ในใจ
การคิดเชิงวิจารณญาณไม่ใช่สิ่งที่ใช้ประกันว่าได้บรรลุถึงความจริง หรือ ข้อสรุปที่ถูกต้องแล้ว ประการแรก เราอาจไม่สามารถ หาข้อมูลที่ถูกต้องได้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ข้อมูลที่มีความสำคัญอาจยังไม่มีการค้นพบ หรือยังเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นอะไร ประการที่สอง ความลำเอียงของคนการปิดบังหรือถ่วงประสิทธิภาพในการเก้บ ประเมินข้อมูลที่มีอยู่แล้ว
การเอาชนะความลำเอียง
เพื่อลดความลำเอียง ผู้คิดจะต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อใช้ในกระบวนการของการคิดเชิงวิจารณญาณ แทนที่จะตั้งคำถามว่า "เรื่องนี้มีประเด็นที่ค้านกับความเชื่อของเราหรือไม่" ควรถามว่า "ประเด็นนี้มีความหมายอย่างไร"
ในขั้นแรกๆ ของการเก็บรวบรวมและประเมินข้อมูล สิ่งแรกสุดที่ผู้คิดจะต้องทำคือ "การไม่ด่วนตัดสิน" (เหมือนที่ทำในการอ่านนิยายหรือดูภาพยนตร์) วิธีการนี้รวมถึงการสำเหนียก (perceptive) มากกว่าการตัดสิน (judgmental) นั่นคือการหลีกเลี่ยงการเลื่อนไหลจากใช้การมองกว้างไปสู่การตัดสิน ในคำเทคนิคของ "เอ็ดเวิร์ด เดอโบโน ในหมวกความคิด 6 ใบ" ใช้ หมวกขาว หรือ หมวกน้ำเงิน สำหรับการคิด และชลอการคิดแบบ หมวกดำ ไว้ในระยะหลัง
เราพึงตระหนักถึงข้อข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นกับตนเองได้แก่
1. การยอมรับว่าทุกคนมีความลำเอียงอยู่ในจิตใต้สำนึก และมักจะตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การตัดสินที่นึกไว้แล้ว
2. ยอมรับการไร้อัตตา และควรตั้งทีท่าเป็นคนถ่อมตัว
3. ย้อนนึกถึงความเชื่อมั่นเดิมๆ ที่เคยมีและถูกหักล้างไปด้วยจริงหรือความถูกต้อง
4. ยอมรับว่าทุกคนยังมี จุดบอด อยู่มากทั้งๆ ที่รู้แล้ว
เราจะขจัดความลำเอียงได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คำตอบที่เป็นไปได้อาจเป็นได้ว่า ด้วยการอิงการคิด เชิงวิจารณญาณ ไว้กับ "แนวคิดมนุษย์" (concept of man – Erich Fromm) ซึ่งอาจทำให้เห็นการคิดเชิงวิจารณญาณ และการสร้างสม จรรยาบรรณที่มั่นคงสร้างองค์รวมทั้งหมดขึ้นมา แต่เป็นองค์รวมซึ่งยังคงจำกัดอยู่ ยังขาดการสนับสนุน จากแนวคิด ของมวลมนุษย์
ในท้ายที่สุด อาจต้องใช้คำถามแบบโสกราตีส และ กรรมวิธีโสกราตีส (Socratic method) สำหรับการประเมินข้อขัดแย้งที่ถามคำถามแบบเปิด เช่น
* สิ่งนี้มีความหมายว่าอย่างไร
* ข้อสรุปได้มาอย่างไร
* เชื่อได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
* แหล่งข้อมูลที่ใช้มาจากใหน
* ถ้าผิดจะเกิดอะไรขึ้น
* ให้บอกแหล่งหรือบุคคลอ้างอิงที่เห็นแย้งพร้อมกับคำอธิบายสักสองราย
* ทำไมประเด็นนี้จึงมีความสำคัญ
* จะรู้ได้อย่างไรว่าคนๆ นั้นพูดความจริง
* คำอธิบายที่เป็นทางเลือกอื่นสำหรับประเด็นนี้มีอะไรบ้าง
การมุ่งสู่การสรุป
มุมมองที่เป็นประโยชน์ในการคิดเชิงวิจารณญาณเกี่ยวพันถึง "ใบมีดโกนของอ็อกแคม" (Occam's Razor) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "หลักการแห่งความตระหนี่ถี่ถ้วน" ซึ่งกล่าวไว้ว่าเราไม่ควรตั้งสมมุติฐานมากเกินความจำเป็น หรืออีกนัยหนึ่งคือ "การทำให้เรียบง่าย" โดยธรรมชาติของกระบวนการ การคิดเชิงวิจารณญาณไม่มีความเป็นที่สิ้นสุด เราอาจมาถึงข้อสรุปเบื้องต้น ได้หากมีการประเมิน หลักฐาน มาแล้ว อย่างไรก็ดี ข้อสรุปทุกครั้งควรจะต้องเปิดช่องให้มีการประเมินได้อีกเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม
การคิดเชิงวิจารณญาณในห้องเรียน
ในระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษมีการกำหนดการคิดเชิงวิจารณญาณไว้เป็นวิชาเรียนสำหรับนักเรียนวัย 17-18 ปี ซึ่ง นักเรียนสามารถเลือกสอบในหัวเรื่อง "ความเป็นที่น่าเชื่อถือได้ของหลักฐาน" (Credibility of Evidence) หรือ "การประเมิน / การสร้างข้อโต้เถียง" (Assessing/Developing Argument) นักเรียนทั่วไปถือว่า วิชาในส่วนนี้สนุก และเป็นประโยชน์เพราะ สามารถรู้เรื่องและปฏิบัติได้หลังการเข้าเรียนเพียงไม่กี่ครั้ง
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่าทักษะการคิดเชิงวิจารณญาณของประชาชนโดยรวมลดลงมาก ประชาชนถูกชักจูง และหลงเชื่อการบอกเล่าหรือเชื่อปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติได้ง่าย แม้ส่วนใหญ่จะนับถือ พุทธศาสนา แต่ก็มิได้ตระหนักถึง คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้คิดเชิงการคิดเชิงวิจารณญาณ คือ ปุจฉาวิสัชนา และการสอนไม่ให้เชื่อในสิ่ง "เขาว่ามา" ให้สืบสวนไต่ตรองให้รอบคอบก่อนจึงค่อยเชื่อ การสอนการคิดเชิงวิจารณญาณในโรงเรียนชั้นมัธยมปลาย ดังที่ประเทศอังกฤษ ปฏิบัติอยู่จึงน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นรีบด่วน
คำคม
วิลเลี่ยม แกรแฮม ซัมเนอร์ ได้เสนอข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ยิ่งเกี่ยวกับการคิดเชิงการคิดเชิงวิจารณญาณ
การคิดเชิงวิจารณญาณคือการตรวจสอบและการทดสอบประเด็นของคำเสนอทุกประเภทที่ผ่านเข้ามาขอการยอมรับ เพื่อดูว่าคำเสนอนั้นตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ความสามารถในการคิดเชิงวิจารณญาณเป็นผลที่เกิดจากการศึกษาและการฝึกฝน จนเป็นนิสัยและเป็นพลังทางใจ การคิดเชิงวิจารณญาณเป็นเงื่อนไขสำคัญแห่งความผาสุขของปวงชน เป็นสิ่งมนุษย์ทั้งหญิงและชายพึงฝึกฝนให้ชำนาญ การคิดเชิงวิจารณญาณคือหลักประกันที่สามารถปกป้องการบิดเบือน การหลงละเมอ การหลอกลวง การเชื่อผีสางและการหลงผิดของเราและสิ่งล้อมรอบตัวเรา
ขงจื๊อ "คำวิจารณ์ มิอาจตัดสินคน"
นิรนาม "ไม่มีประโยชน์ที่จะไปโทษกระจกเงา ใบหน้าของท่านต่างหากที่ขี้เหร่"
'การคิดเชิงวิจารณญาณ' (Critical thinking) ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรระดับสูงของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกาภิวัฒน์ ทุกประเทศตื่นตัวนำการคิดเชิงวิจารณญาณ บรรจุเป็นวิชา หรือส่วนของการเรียนการสอน ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ชั้นระดับประถมถึงอุดมศึกษา
ด้วยกระแสแห่งความการยอมรับที่แพร่หลาย นิยามของการคิดเชิงวิจารณญาณจึงหลากหลาย ข้อความข้างล่างนี้คือ นิยามที่รวบรวม จากแหล่งต่าง ที่มาของนิยามปรากฏตามโยงที่อยู่ที่ท้ายของแต่ละนิยาม
นิยามของ "การคิดเชิงวิจารณญาณ"
โดยที่แนวคิเกี่ยวกับการคิดเชิงวิจารณญาณเพิ่งเป็นที่แพร่หลายและมีความสำคัญต่อสังคมแห่งโลกไร้พรมแดนมากขึ้นเป็นลำดับ จึงมีผู้เขียนหนังสือและมีการเปิดสอนวิชานี้อย่างแพร่หลายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นความหมายและนิยามของ "การคิดเชิงวิจารณญาณ" จึงมีความหลากหลายดังนิยามที่ได้รวมรวมไว้ข้างล่างนี้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ศึกษาเห็นภาพที่กว้างขึ้น แหล่งที่มาได้ให้ไว้ที่ท้ายของแต่ละนิยามแล้ว
* การคิดเชิงวิจารณญาณหมายถึงชนิดของกิจกรรมทางจิตที่แจ่มแจ้ง แม่นยำและมีความมุ่งหมายที่ชัดเจน ปกติจะเกี่ยวโยงกับ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในโลกของความเป็นจริง เป็นการสร้างทางแก้ปัญหาเชิงซ้อน เป็นการหยิบยกความแตกต่าง การสังเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลข่าวสาร ชูความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น หรือการอนุมาณศักยภาพของผลที่จะตามออกมา แต่การคิดเชิงวิจารณญาณยังโยงไปถึงกระบวนการประเมินคุณภาพในความคิดของตนเองได้ด้วย
* การคิดเชิงวิจารณญาณหมายถึงความสามารถในการประเมินข้อมูลและความเห็นอย่างมีระบบ มีเป้าหมายที่ชัดเจน และถูกต้อง และด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือเครื่องมือที่จำเป็นยิ่งยวดเพื่อการตัดสินหรือลงความเห็นด้ววิธีสืบเสาะ กำหมดเป้าหมาย ที่ถูกต้องชัดเจน และการบังคับตนเองไม่ให้ถูกชักจูง เพื่อให้ได้มาซึ่งการแปลความหมาย การวิเคราะห์ การประเมินและ การลงความเห็นตลอดจน การอธิบายพยานหลักฐานหรือสิ่งอ้างอิง แนวคิด วิธีการ การกำหนดกฎเกณฑ์หรือบริบทของข้อพิจารณาที่เป็นที่มาของข้อสรุป ความเห็น หรือข้อตัดสิน
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือกระบวนการรับรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสะท้อนความคิดและการอดทน (ต่อการหาความกระจ่าง) ในความคลุมเครือไม่ชัดเจนซึ่งมีลักษณะประจำดังนี้
o มีวินัยและชี้นำตนเอง
o หันเหไปทางการสืบค้น วิเคราะห์และวิจารณ์
o ใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบหลายมิติและหลายตรรกะมากกว่าการแก้แบบมิติเดียว ตรรกะเดียว หรือ ใช้ความรู้คิดยาวไปทางเดียว จะต้องใช้ความสามารถสร้างทางเลือกหลายทางที่นำไปสู่การชั่งใจตัดสินที่ปราศจากการเอนเอียง
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือการสะท้อนความคิดที่มีเหตุผลโดยการพุ่งประเด็นไปเน้นที่การตัดสินใจที่จะเชื่อหรือ ตัดสินใจที่จะ กระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กล่าวให้ชัดก็คือการประเมินในความจริง ความแม่นยำ และ/หรือคุณค่าของความรู้หรือข้อถกเถียงที่ได้รับ ในการนี้ต้องการการวิเคราะห์ความรู้หรือความเชื่อที่ได้รับรู้มาอย่างระมัดระวัง ตรงจุด เกาะติดและเป็นรูปธรรมที่มีเหตุผล เพื่อให้สามารถตัดสินได้ว่าสิ่งนั้นๆ จริงหรือมีคุณค่าจริงหรือไม่
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือ กระบวนการประเมินข้อเสนอ หรือสมมุติฐานที่ได้รับแล้ว ทำการไตร่ตรองตัดสินบนพื้นฐานแห่ง พยาน หลักฐาน ที่นำมาสนับสนุน ตัวอย่าง: พิจารณาตาม 5 ขั้นตอนของการคิดเชิงวิจารณญาณ
1. เรากำลังถูกบอกให้เชื่อหรือยอมรับอะไร? สมมุติฐานในเรื่องนี้คืออะไร?
2. มีพยานหลักฐานใดที่ใช้สนับสนุนในเรื่องนี้? และหลักฐานนี้เชื่อถือได้และหนักแน่นแล้วหรือ?
3. มีทางเลือกอื่นใดอีกหรือไม่สำหรับใช้ในการตีความพยานหลักฐานนี้
4. มีหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดอีกหรือไม่ที่จะนำมาช่วยประเมินทางเลือกเหล่านั้น
5. ข้อสรุปใดที่มีเหตุผลมากที่สุดตามพยานหลักฐานและคำอธิบายของทางเลือก
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือการเจาะมุ่งเฉพาะจุด การจัดรูปความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ อย่างมีความสัมพันธ์กันในระหว่างความคิดต่างๆ ในหลักฐานที่แน่ชัดและในความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น[8]
* 'การคิดเชิงวิจารณญาณคือความมุ่งมั่นยึดติดกับการตรวจสอบหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อ ทางแก้ปัญหา หรือข้อสรุปการยอมรับ การคิดเชิงวิจารณญาณหมายถึงความสามารถในการคิดอย่างกระจ่าง การวิเคราะห์และการมีให้เหตุผลอย่างมีตรรกะ
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือการแสดงให้เห็นถึงหรือความต้องการการวิเคราะห์อย่างระมัดระวังก่อนการตัดสิน
* 'การคิดเชิงวิจารณญาณคือการให้เหตุผลและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ที่รวมถึงการตะล่อม และการมีตรรกะในของ การคิดที่อยู่ในระดับสูง
* 'การคิดเชิงวิจารณญาณคือ การเก็บเกี่ยวทักษะเชิงวิเคราะห์ที่จะช่วยให้นิสิตนักศึกษา มีความสามารถในการแก้แนวคิด หรือปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนได้
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือเซทที่ซับซ้อนของทักษะการรับรู้ที่ต้องใช้ในการแก้ปัญหาและการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างมีปัญญา และนวัตกรรม
* 'การคิดเชิงวิจารณญาณคือกระบวนการที่ท้าทายให้บุคคลใช้การไตร่ตรอง เหตุผล การคิดอย่างมีหลักเพื่อรวบรวม แปลความหมายและประเมินข้อมูลข่าวสารเพื่อให้สามารถตัดสิน กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับ การคิดที่ล่วงเลยไปมากกว่า การให้เหตุผลเพียงอันเดียว สำหรับนำมาใช้ในการตัดสินว่าทางเลือกใดเหมาะสมที่สุด
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันที่สูงกว่านั้น เป็นการค้นหาความหมาย ที่อยู่เบื้องใต้ของคำแถลง กวีนิพนธ์ บทบรรณาธิการ รูปภาพ การโฆษณา หรือข้อเขียนใดๆ ด้วยการใช้การวิเคราะห์ นักคิดเชิงวิจารณ์ จะแยกคำแถลงหรือข้อเขียนนั้นออกเป็นส่วนๆ เพื่อค้นหาความหมาย ความสัมพันธ์และสมมุติฐาน อาจอาจถูกฝังไว้ในนั้นต่อไป
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือหนทางแห่งการตัดสินที่ต้องใช้การไตร่ตรองอย่างระมัดระวังว่าจะยอมรับ บอกปัดหรือพัก คำแถลงนั้นไว้ก่อน
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือกระบวนการที่มีเหตุผลและที่สะท้อนถึงการชั่งใจตัดสินในสิ่งต่างๆ กระบวนการนี้ให้ความสำคัญ ในความเป็นเอกเทศ และกึ่งเอกเทศในการตัดสินใจ การคิดเชิงวิจารณญาณยังรวมถึง ความสามาถในการจัดการ กับความคลุมเครือ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประจำในบทบาทและประสบการณ์ของมนุษย์ทั่วไป
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือกระบวนการที่มีระบบการใช้ปัญญาเพื่อการวางแนวความคิด การประยุกต์ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และ/หรือประเมินข้อมูลด้วยทักษะที่กระตือรือล้นด้วยการสังเกต การเข้าไปมีประสบการณ์ การสะท้อนกลับ การให้เหตุผลและ/หรือด้วยการสื่อ เพื่อใช้เป็นแนวทางไปสู่ความเชื่อหรือการปฏิบัติ
การคิดเชิงวิจารณญาณไม่ใช่การเสาะหาหรือการคงไว้ซึ่งข้อมูลแบบธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่เป็นการพัฒนาเซทเฉพาะของทักษะ และ/หรือการประยุกต์ทักษะเหล่านั้นซ้ำๆ โดยปราศจากประเมินผลลัพธ์เชิงวิจารณ์
การคิดเชิงวิจารณญาณครอบคลุมถึงองค์ประกอบของเหตุผลทั้ง 8 นั่นคือ ความมุ่งหมาย จุดความเห็น คำถามของประเด็น ข้อมูลข่าวสาร การแปลความหมายและการอนุมาน แนวคิดหรือมโนทัศน์ ข้อสมมุติ การชี้บ่งเป็นนัยและผลที่จะตามมา
* การคิดเชิงวิจารณญาณคือกระบวนการทางจิตที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือประเมินข้อมูล ข้อมูลดังกล่าวอาจเก็บรวบรวม จากการ สังเกตการณ์ ประสบการณ์ การใช้เหตุผล หรือจากการสื่อความ การคิดเชิงวิจารณญาณมีพื้นฐานของมันเอง ทางคุณค่าแห่งพุทธิปัญญา ที่ล้ำลึกไปจากการแบ่งเรื่องราวโดยรวมถึง ความกระจ่างแจ้ง ความแม่นยำ การมีพยานหลักฐาน การครบถ้วนและการมีความยุติธรรม
เทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์
เทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือผู้กำลังคิด ให้สามารถจำแนก, แยกแยะ, จัดหมวดหมู่, องค์ประกอบที่เกี่ยวพันในเนื้อหา ของเรื่องที่กำลังคิดอย่างเป็นระบบ สามารถทำให้ผู้คิดมองเห็นความสัมพันธ์ได้อย่างสอดคล้องและกระจ่างชัด โดยไม่ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งง่ายต่อการนำไปศึกษาหรือพยายามทำความเข้าใจ ตลอดจนสามารถสืบค้นตรวจทานเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คิดสามารถนำไปตีความ หรือให้คุณค่าในเนื้อหาเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทั้งนี้ มีนักวิชาการหลายท่านที่กล่าวถึงเทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์ไว้ ดังนี้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้กล่าวโดยสรุปในการบรรยาย เรื่องการคิดเชิงวิเคราะห์ ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับกลาง ของกระทรวงมหาดไทย ไว้ตอนหนึ่งว่า "การคิดเชิงวิเคราะห์ ช่วยให้เราเข้าใจหลักการวิเคราะห์และนำไปใช้วิเคราะห์ทุกๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต สามารถอ่านสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างทะลุปรุโปร่งช่วยในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี และสามารถนำหลักแนวคิดวิธีการไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและองค์กรต่อไปในอนาคต"
นอกจากนี้ ดร.ไสว ฝักขาว (2547) ยังได้ให้ความหมายของ "การคิดเชิงวิเคราะห์" ไว้ว่า "การคิดเชิงวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการจำแนกแจกแจง องค์ประกอบต่างๆของสิ่งใดสิ่งหนึ่งและหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่าง องค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น"
จากความหมายดังกล่าวจะเห็นว่าความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์นั้นมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราอย่างมาก ในการที่บุคคลใดจะเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดีหรือไม่นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) คือ
1) ความสามารถในการตีความ ซึ่งหมายถึง ความพยายามที่จะทำความเข้าใจและให้เหตุผลแก่สิ่งที่เราต้องการจะวิเคราะห์เพื่อแปลความหมายสิ่งที่ไม่ปรากฏของสิ่งนั้น ซึ่งแต่ละคนอาจใช้เกณฑ์ต่างกัน เช่น จากความรู้เดิม จากประสบการณ์ หรือจากข้อเขียนของคนอื่น
2) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ ผู้วิเคราะห์จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ดีพอเสียก่อนไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการใช้ความรู้สึกส่วนตน
3) ความช่างสังเกต ช่างสงสัยและช่างถาม คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยให้ผู้วิเคราะห์ได้ข้อมูลมากเพียงพอก่อนที่จะวิเคราะห์
4) ความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยเริ่มจากการแจกแจงข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมเสียก่อนจากนั้นจึงคิดหาเหตุผลเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อค้นหา ความจริง
นอกจากองค์ประกอบของการคิดเชิงวิเคราะห์ที่กล่าวมาแล้ว การเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดียังต้องมีคุณสมบัติ (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) ดังนี้
1) เป็นผู้ที่รับข้อมูลแล้วไม่ด่วนสรุป ผู้คิดจะต้องตีความข้อมูลที่ได้ให้กระจ่างเสียก่อนโดยเริ่มจาก การกำหนดนิยามของสิ่งที่จะคิดให้ตรงกัน จากนั้นจึงตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยพิจารณาจาก สิ่งที่สื่อความหมายสัมพันธ์กัน สิ่งที่ละไว้ สิ่งที่ส่อนัย (Implication) และความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ในปัจจุบันคนในสังคมจำนวนไม่น้อยกำลังถูกหลอกให้หลงเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผลโดยการอ้างเหตุผลที่ไม่ถูกต้องแต่ดูเหมือนถูกต้องซึ่งในทางปรัชญา เรียกว่า "การใช้เหตุผลวิบัติ" (Fallacy)
2) เป็นผู้ไม่ด่วนแก้ปัญหาแต่มีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าปัญหาที่แท้จริง คืออะไรเสียก่อน อาจใช้เทคนิค Why-Why Analysis คือ การถามว่าทำไมไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 5 คำถาม
3) เป็นนักตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งอาจเป็นคำถามในลักษณะต่อไปนี้
(1) คำถามแบบ "5Ws 1 H" คือ What (มันคืออะไร) Who (ใครเกี่ยวข้องบ้าง) Where (มันเกิดที่ไหน) When (มันเกิดเมื่อไร) Why (ทำไมจึงเกิดขึ้น และ How (มันเป็นอย่างไร)
(2) คำถามเชิงเงื่อนไข (Conditions) โดยถามในลักษณะ "ถ้า.......จะเกิด.........." (If................Then............)
(3) คำถามเกี่ยวกับจำนวน (Number) หรือ ความถี่ (frequencies) เช่นเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกี่ครั้งแล้ว หรือมีความถี่แค่ไหน
(4) คำถามเกี่ยวกับลำดับความสำคัญ (Priority) เช่น เราควรทำอะไรก่อน-หลัง
(5) คำถามเชิงเปรียบเทียบ (Comparative) เช่น สุขภาพกับความสุขอะไรสำคัญกว่ากัน
สำหรับเครื่องมือที่นักคิดเชิงวิเคราะห์นิยมใช้เพื่อช่วยในการคิด (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) ได้แก่
1) แผนผังแบบ Conceptual Map เช่น Concept Map, Web Diagram และ Mind Map
2) แผนภูมิแบบก้างปลา (Fishbone Diagram) ซึ่งนิยมใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบ
3) แผนภาพแสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal relation) ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งนิยมใช้สำหรับการคิดเชิงระบบ (System Thinking)