บริหารสู่ความเป็นเลิศด้วยพลังสมองด้านขวา

คนที่คิดด้วยสมองซีกขวาจะครองโลก A Whole New Mind แต่งโดย Daniel Pink

บทความที่นำเสนอสรุปจากหนังสือเรื่อง A Whole New Mind : Why Right-brainers Will Rule the Future แต่งโดย Daniel H. Pink ว่าด้วยวิธีคิดแบบคนเหนือคน ถึงเวลาแล้วสังคมจต้องเปลี่ยนนิยามและเจตคติ เกี่ยวกับ ความฉลาดและนิยามจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราะอนาคตอันใกล้นี้ โลกจะอยู่ในมือของคนที่คิดด้วยสมองซีกขวาหรือคนสมองซีกขวานำ(Right-Brainers) ไม่ใช่คนสมองซีกซ้ายนำ (Left-Brainers) เหมือนในอดีต

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสมองมนุษย์ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว

  1. สมองซีกซ้ายควบคุมซีกขวาของร่างกาย สมองซีกขวาควบคุมซีกซ้าย สมองซีกขวาสั่งให้เราหันหน้าจากขวาไปซ้าย สมองซีกซ้ายสั่งให้เราหันหน้าจากซ้ายไปขวา เพราะสมองซีกขวาเป็น ‘ศิลปิน’ มากกว่าสมองซีกซ้าย ผู้เป็น ‘นักคิดเลข’ ของเรา ภาษาที่อ่านจากขวาไปซ้ายจึงดูเหมือนภาพเขียน
    ภาษาที่อ่านจากซ้ายไปขวาจึงดูเหมือนสัญลักษณ์แต่ถ้าหากไร้หัวใจ เราอ่านออกไป ก็เท่านั้น เพราะเราจะไม่อาจได้ยินเสียงร่ำร้องของผู้เพรียกหาความเป็นธรรมผ่านตัวหนังสือ
  2. สมองซีกซ้ายเข้าใจลำดับเหตุการณ์ สมองซีกขวาเข้าใจปรากฎการณ์ที่มีหลายสิ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน สมองซีกซ้ายจึงเข้าใจภาษาพูด อ่าน เขียน และสมองซีกขวาก็เข้าใจภาษาของแววตา สีหน้า และท่าทาง แต่ถ้าหากไร้หัวใจ เราเข้าใจไปก็เท่านั้น เพราะเราจะเมินเฉยและชาชิน กับความทุกข์ยากของคนที่เพียรสื่อสารให้เราเข้าใจ
  3. สมองซีกซ้ายเชี่ยวชาญด้านเนื้อหา สมองซีกขวาเชี่ยวชาญด้านบริบท เวลาได้ยินใครพูดเสียงห้วนว่า "คนบ้านนอกไร้การศึกษา" สมองซีกซ้ายจึงทำให้เรารับรู้ว่า ประโยคนี้หมายความว่าอะไร และสมองซีกขวาก็ทำให้เรารับรู้ว่า คนพูดตั้งใจถากถางอย่างไร แต่ถ้าหากไร้หัวใจ เรารับรู้ไปก็เท่านั้น เพราะเราจะไม่สนใจคิดหาวิธี ที่จะทำให้คำแบบ ‘บ้านนอก’ หลุดพ้นจากอคติทั้งมวล
  4. สมองซีกซ้ายวิเคราะห์รายละเอียด สมองซีกขวาสังเคราะห์ภาพรวม สมองซีกซ้ายจึงช่วยให้เราบันทึกจำนวนผู้ยากไร้ และสมองซีกขวาก็ช่วยให้เรามองเห็นความเกี่ยวโยง ระหว่างความยากจนกับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่ถ้าหากไร้หัวใจ เราบันทึกได้และมองเห็นไปก็เท่านั้น เพราะเราจะไม่อาจบันทึกความหิวโหยของผู้ยากไร้ หรือมองเห็นความอยุติธรรมใดๆ ในสังคม

ยุคแห่งความล้นหลายทางวัตถุ(Abundance) เอเซีย (Asia) และเทคโนโลยี (Automation)

เมื่อ30-40ปีก่อนเมื่อสมัยเราเป็นเด็ก ผู้ปกครองมักสอนให้ลูกหลานตั้งใจเรียน ให้ได้เกรดดีๆ เข้ามหาวิทยาลัย เรียนให้สูง เพื่อจะได้หางานที่มั่นคงทำได้ หลังจากเรียนจบ ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ถ้าหากลูกเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เก่ง พ่อแม่ก็จะสนับสนุน ให้เรียนแพทย์ ถ้าหากลูกเรียนภาษาและสังคมศาสตร์เก่ง ก็จะส่งเสริมให้เรียนกฏหมาย ถ้าหากลูกไม่ชอบวิทยาศาสตร์และภาษามากนัก ก็จะให้เรียนบัญชี

จากนั้นไม่นานหลังจากยุคที่คอมพิวเตอร์เฟื่องฟู เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็เลือกที่จะเรียนทางด้านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี หรือไม่ก็เลือกเรียนบริหารธุรกิจโดยคิดว่าคำว่า “ความสำเร็จ” สะกดว่า “MBA”

นักกฏหมาย แพทย์ นักบัญชี วิศวกร และนักธุรกิจผู้บริหาร อาชีพเหล่านี้ ถูกจัดอยู่ในพวกที่เรียกว่า “แรงงานปัญญาชน” (Knowledge workers) ซึ่งหมายความว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับค่าจ้างจากการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ ในโรงเรียนมาใช้ในการทำงาน แทนที่จะนำกำลังกายมาแลกค่าตอบแทน

แต่โลกของเราในยุคต่อไปนี้ จะมีปัจจัยสำคัญ3ประการ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะอยู่รอดได้หรือไม่.

1. “ยุคแห่งความล้นหลามทางวัตถุ (Abundance)” ในยุคประวัติศาสตร์ เมื่อสมัยที่โลกของเรายังไม่มีเครื่องจักร ไฟฟ้า หรือวิทยาการในการผลิตสิ่งของ ชีวิตของพวกเราต้องเผชิญกับคำว่าขาดแคลน (Scarcity) แต่ปัจจุบันชีวิตของผู้คนต่างมีความร่ำรวยทางวัตถุ ตัวอย่างเช่น

เมื่อ30-40ปีก่อน เมื่อถามชนชั้นกลางในประเทศอเมริกา ความฝันสูงสุดของคน ในยุคนั้นก็คือการมีบ้านและรถยนต์เป็นของตนเอง ปัจจุบันสองในสามของ คนอเมริกันมีบ้านเป็นของตนเอง ในส่วนของรถยนต์ ปัจจุบันประเทศอเมริกา มีจำนวนรถยนต์ที่มากกว่าจำนวนใบขับขี่ที่มีทั้งประเทศ หรือดูจากธุรกิจให้เช่าสถานที่ใช้ในการเก็บสิ่งของที่ล้นจากบ้านเรือน ที่มีสิ่งของมากเกินกว่าบริเวณของตน (Self-storage business) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 170ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มว่าธุรกิจนี้จะเติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันที่สังคมเข้าสู่ยุคที่มีความล้นเหลือทางวัตถุ ทางกลับกันคุณภาพชีวิต ความเป็นส่วนตัว ครอบครัว และความพอใจในชีวิตกลับลดน้อยลงมาก

2.”ความรุ่งเรืองของเอเซีย (Asia)” แต่ละปี ที่อินเดียจะผลิตนักศึกษาปริญญาทางด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ ออกมาประมาณ 350,000 คน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบริษัทชั้นนำ ทางด้านเทคโนโลยีในอเมริกาจึงย้ายฐานธุรกิจไปอินเดีย เหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการดังกล่าวก็เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ยกตัวอย่างเช่นงานในการคิดค้นออกแบบชิพคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั่วไปแล้วในอเมริกา พนักงานในหน้าที่นี้จะได้รับเงินเดือนประมาณ 7,000 USD แต่เมื่อบริษัทจ้างคนอินเดีย (ซึ่งก็มีความรู้ความชำนาญทัดเทียมกัน) ในประเทศอินเดีย บริษัทจ่ายเงินค่าจ้างเพียงแค่ 1,000USD หรือไม่ว่างานทางด้านบัญชี ซึ่งโดยเฉลี่ยนักบัญชีในอเมริกาจะมีเงินเดือน ประมาณ 5,000USD แต่ค่าแรงนักบัญชีในฟิลลิปปินส์ ตกเพียงเดือนละประมาณ 300USDเท่านั้น

3. “เทคโนโลยี (Automation)” ในปี 1996 Garry Kaspatrov นักเล่นหมากรุกอันดับหนึ่งของโลก ถูกท้าชิงให้แข่งขันเล่นหมากรุกกับคอมพิวเตอร์ เขาพ่ายแพ้ในเกมส์การแข่งขันครั้งนั้น ในการเล่นหมากรุก ผู้เล่นจำเป็นต้องมีสมาธิ มีความคิดที่เป็นระบบ มีการคำนวนเกมส์ที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้คอมพิวเตอร์ก็ชนะมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย เหตุผลก็เพราะคอมพิวเตอร์เหนื่อยไม่เป็น ปวดหัวไม่เป็น ไม่มีความกดดันต่อความพ่ายแพ้ ไม่กังวลว่าผู้เข้าชมการแข่งขันและนักวิจารณ์จะจับจ้องและพูดอย่างไร ในอนาคต งานประจำ (Routine jobs) ใด ๆ ที่สามารถลดขั้นตอนงานได้ออกเป็นขั้นๆ งานเหล่านั้นจะกลายเป็นงานของคอมพิวเตอร์ไป นักโปรแกรมเมอร์ที่สามารถเขียน ภาษาโปรแกรมได้รวดเร็วถึง 400 บรรทัดต่อวัน ก็ยังแพ้โปแกรมที่ชื่อว่า Appligenics ที่สามารถทำงานเดียวกันได้เสร็จด้วยเวลาที่น้อยกว่าหนึ่งวินาที

ในการอยู่รอดในโลกอนาคต บุคคลและองค์กรจำเป็นจะต้องคำนึงว่า งานที่เราทำอยู่นั้นตอบโจทย์สามข้อต่อไปนี้ได้หรือไม่

1. งานที่ฉันทำอยู่นี้ จะมีคนอื่นในต่างประเทศ (โดยเฉพาะจีน อินเดีย) จะทำได้ดีเท่ากัน แต่ถูกกว่าไหม
2. งานที่ฉันทำอยู่นี้ คอมพิวเตอร์จะสามารถทำได้เร็วและดีกว่าไหม
3. งานที่ฉันทำอยู่นี้ อยู่ในความต้องการของยุคที่มีความเฟื่องฟูทางด้านวัตถุไหม

ความอยู่รอดในยุคปัจจุบันจะขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะทำงาน ที่แรงงานต่างชาติไม่สามารถทำได้ถูกกว่า งานที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำได้เร็วกว่า และงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ในยุควัตถุนิยมในปัจจุบัน

คนที่คิดด้วยสมองซีกขวา

โดยผู้แต่งเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยการทำงานของสมองข้างขวา ที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การสร้างมโนภาพ และการมีคุณธรรม โดยหลักการในการสร้างความสำเร็จดังกล่าวมีใจความสำคัญ ดังนี้

หลักสำคัญของประสาทสัมผัส 6 ประการ หรือความถนัดของสมองซีกขวาเพื่อประสบความสำเร็จในโลกอนาคต

  1. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เน้นการออกแบบ (Design) ไม่ใช่เน้นแต่การใช้งาน (Function)
    สามารถออกแบบนวัตกรรมหรือสินค้าใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด โดยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั้น จะเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามต่าง ๆ เพื่อสนองตอบ ต่อความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เช่น สินค้าของเราแพงไปหรือไม่ ใช้สะดวกหรือไม่ รูปลักษณ์น่าใช้หรือไม่ หรือใช้แล้วคุ้มหรือเปล่า เป็นต้น คำถามเหล่านี้จะต้องเกิดจากความรู้สึกที่ว่าถ้าเราเป็นลูกค้า เราจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นการทำงานของสมองข้างขวานั่นเอง
  2. เป็นนักเล่าเรื่อง (Story) ไม่ใช้ใช้เหตุผลอย่างเดียว (Argument)
    การจะเป็นผู้นำที่มีบุญญาบารมี พูดแล้วมีคนฟัง เป็นที่น่าจดจำ และมีคนนำไปปฏิบัติตาม จะต้องรู้จักถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ โดยการผูกเป็น เรื่องราว ให้น่าติดตาม น่าสนใจ และเข้าใจง่าย โดยการเล่าควรเล่าสั้น ๆ มีการขมวดมุมให้ผู้ฟังได้คิดตาม และที่สำคัญจะต้อง กระตุ้นอารมณ์ ของผู้ฟังให้รู้สึกคล้อยตามในสิ่งที่เราพูด ตระหนักถึงความสำคัญในสิ่งที่เราพูด และนำไปปฏิบัติตามทันที ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เป็นการทำงาน ของสมองข้างขวา โดยผู้พูดจะต้องสร้างมโนภาพก่อนที่จะเล่าเรื่องนั่นเองผสม
  3. ผสมผสานสิ่งที่แตกต่างให้เข้ากันได้เป็นอย่างสอดคล้อง (Symphony) ไม่ใช่เน้นบางส่วนดี (Focus)
    ในกรณีที่ผู้ร่วมงานไม่ลงรอยกัน หรือมีความสามารถแตกต่างกัน แต่จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ผู้นำที่เก่งจริงจะต้องมองข้ามคำว่า "เป็นไปไม่ได้" และสามารถผสมผสานสิ่งที่แตกต่างให้เกิดความลงตัว มีความขัดแย้งกันน้อยที่สุด มีความไว้วางใจ และเต็มใจที่จะให้ ความร่วมมือซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นทีมเวิร์คขึ้นในองค์กร นอกจากนั้น ผู้นำจะต้องรู้จักคิดนอกกรอบ นอกกฏเกณฑ์ หรือนอกตำราบ้าง เพื่อสร้างความคิดริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
  4. เข้าถึงจิตใจของผู้อื่น (Empathy) ไม่ใช่เน้นแค่ตรรกะ (Logic)
    การเอาใจเขามาใส่ใจเราสามารถทำได้โดยการสร้างมโนภาพว่า ถ้าเราเป็นอีกฝ่าย ทำไมเราจึงแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ออกมา เพราะเหตุใด เมื่อเราเข้าใจอีกฝ่ายจะทำให้เราเห็นอกเห็นใจคน ๆ นั้นไปโดยปริยาย ดังนั้น ผู้นำที่ต้องการจะประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าเคารพรัก และศรัทธาจากบุคคลรอบข้าง จะต้องมีความเข้าอกเข้าใจลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน และลูกค้า เป็นต้น
  5. มีความสุขในการทำงาน (Play) ไม่จริงจังเกินไป (Seriousness)
    การจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ลูกน้องรักใคร่ปรองดอง และมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ผู้นำจะต้องสร้างความรัก ความพอใจในงาน ให้เกิดขึ้นในจิตใจของลูกน้อง และในจิตใจของตนเองให้ได้เสียก่อน การสร้างฉันทะใน การทำงานทำได้โดย การบอกตนเองเสมอว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตรงหน้านี้เป็นบันไดก้าวหนึ่งที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้ เมื่อคิดได้เช่นนี้ เราจะไม่เหนื่อย กับการทำงานเลย เราจะทำงานด้วยความเต็มใจ และมีความหวังอยู่ตลอดเวลา
  6. มีคำนิยามให้กับชีวิตของตัวเอง (Meaning) ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน (Accumulation)
    คนจะประสบความสำเร็จได้จะต้องมีนิยามให้กับชีวิตของตัวเองเสียก่อน โดยการตั้งคำถามกับตนเองว่า ชีวิตนี้เราเกิดมาเพื่ออะไร เราต้องการชีวิตแบบไหน ที่ผ่านมาเราเคยมีความสุขที่แท้จริงบ้างหรือเปล่า เราเคยทำประโยชน์อะไรให้กับสังคม หรือประเทศชาติบ้างหรือไม่ และเมื่อเราจากโลกนี้ไปเราอยากให้คนข้างหลังจดจำเราได้ในภาพลักษณ์แบบใด เป็นต้น

 

คนที่คิดด้วยสมองซีกขวา-ซีกซ้าย

 

ใจความสำคัญของ “A Whole New Mind” คือ การส่งเสริมให้ผู้อ่านฝึกใช้สมองซีกขวามาสร้างเสริมสติปัญญาและทักษะ สมองซีกขวาเป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ซีกขวาให้ความเพ้อฝันจินตนาการ คิดค้นหาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จดจำนิยายและนิทาน

คุณดาเนียลเขียนไว้ว่าคนเราส่วนใหญ่ใช้สมองซีกซ้ายในชีวิตและการงานประจำวัน สมองด้านซ้ายเก็บข้อมูลซ้ำๆ เช่น การจดจำตัวเลขของนักบัญชี การต่อสายไฟฟ้า ต่อท่อประปา วิธีแก้เครื่องยนต์ของช่างกล รวมทั้งงานประจำของเหล่าวิศวกรทั้งหลาย การประกอบรถยนต์ ประกอบสินค้า เย็บเสื้อผ้า ตัดรองเท้า งานเหล่านี้ ใช้สมองซีกซ้ายทั้งสิ้น แต่ในอนาคตงานประจำเหล่านี้นับวันจะหดหายไปในอนาคต แต่ผู้ใช้สมองซีกขวาคิดค้นคอมพิวเตอร์ ประดิษฐ์หุ่นยนต์เครื่องจักร เข้ามาทำหน้าที่แทนคนงานประจำไปเสียแล้ว การใช้สมองซีกขวาเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นแหล่งสร้างความงอกงามส่วนตัว ไม่มีใครล่วงรู้นอกจากผู้ค้นคิดขึ้นมาเอง

คุณดาเนียลเขียนว่าชาวประชาในโลกปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสฝึกหัดให้กล้ามเนื้อสมองซีกขวามีความแข็งแรงจนสร้างความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆได้ งานประจำในกรอบของคนส่วนใหญ่ใช้สมองซีกซ้าย ใช้เวลาส่วนใหญ่ของแต่ละบุคคล กล้ามเนื้อสมองซีกซ้ายจึงแข็งแรง ส่งกำลังทั้งข่มขู่ทั้งปิดบังการทำงานของสมองซีกขวาให้ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย ถ้ามองเผินๆผู้ใช้สมองซีกซ้ายดูว่าเป็นคนขยันทำมาหากิน

สมองซีกซ้ายสั่งให้เราตื่นแต่เช้า หิ้วกระเป๋า ขับรถไปทำงาน ให้บริการลูกค้า ทำอาหาร ทำภาษี ตรวจสอบบัญชี พิมพ์รายงาน กินอาหารกลางวัน ทำงานยันค่ำ ทำกับข้าว สมองซีกขวาเชิญชวนให้เราทำสวน เลี้ยงลูก เล่านิทานก่อนนอน เขียนจดหมาย เขียนอีเมล์ คนใช้สมองซีกขวาจึงดูคล้ายๆว่าเป็นคนขี้เกียจเอื่อยเฉื่อย เป็นคนเพ้อฝัน เป็นคนนั่งคิดนอนคิด ใช้เวลาไร้ประโยชน์ แต่ความจริงกล้ามเนื้อสมองซีกขวากำลังทำงาน เมื่อสมองซีกซ้ายลดการสั่งซ้ำๆซากๆลง

ผู้ใช้สมองซีกขวาส่วนใหญ่คือผู้ประดิษฐ์ คิดค้นสิ่งใหม่ๆในโลกนี้ด้วยการปล่อยความคิดให้ล่องลอยใฝ่ฝันไปกับสายลม เช่น คุณโทมัส เอดิสัน ค้นคิดหลอดไฟฟ้า ท่านเบื่อกับการจุดตะเกียงโคมไฟให้สว่างซ้ำๆทุกๆค่ำคืน คุณโนเบลสร้างระเบิด TNT Dynamite ในสมัยโบราณ คุณเจมส์ วัตต์ ทำงานในเหมืองแร่ มีความรำคาญไอน้ำที่พวยพุ่งรุนแรง เลยประดิษฐ์เครื่องจับไอน้ำมาใช้งานในรถไฟและเครื่องยนต์กลไกหลายชนิด

คุณแซม มอส นั่งหลับๆตื่นๆ เพราะคิดถึงญาติมิตรในรัฐแดนไกล ท่านคิดค้นวิธีส่งเสียงเคาะตามสายมีชื่อว่าโทรเลข คุณอเล็กซานเดอร์ เกรแฮมเบล มีคุณแม่พิการหูหนวกตึงต้องการประดิษฐ์โทรโข่งพูดเสียงดังๆให้คุณแม่ได้ยินกลับกลายเป็นโทรศัพท์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ คุณโคลท์ไม่ชอบวิธีหมุนลูกปืนเขาจึงสร้างปืนกลอัตโนมัติมาใช้ยิงกันตายทีละหลายๆคน

เวลาคุณบิล เกตต์เรียนหนังสือในชั้น ท่านใช้เวลานั่งฝันว่าทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์อ่านข้อมูลง่ายขึ้น จึงประดิษฐ์วินโดว์ (window) ขึ้นมา ท่านจดลิขสิทธิ์ตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ครองตำแหน่งบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลกไปหลายปี คุณแอล กอร์ นายใหญ่ของคุณดาเนียล ใช้สมองซีกขวาหาวิธีส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตป้อนความรู้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ จนผู้คนแทบไม่มีเวลาว่างทำอย่างอื่นไปเสียแล้ว ในความคิดส่วนตัวของลูกสิงห์ ผู้ประดิษฐ์ประเสริฐเลิศเลอที่สุดคงไม่มีใครเกินหน้า ผู้ใช้สมองซีกขวา 2 ท่าน คือ พี่ชายน้องชายตระกูลไรท์ (Wright Brothers) ท่านผลิตเครื่องบินเครื่องแรกในโลกของเรานี้ วิวัฒนาการผ่านมา 110 ปี มีคนเดินทางรอบโลกด้วยเครื่องบินเป็นจำนวนพันๆล้านคน เป็นการพัฒนาโลกาภิวัฒน์อย่างแท้จริง เครื่องบินคือสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ ไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้

ในหนังสือ “A Whole New Mind” คุณดาเนียลสนับสนุนให้พ่อแม่ปล่อยให้ลูกๆอยู่ในสภาวะสร้างสรรค์ ชักชวนให้คิดประดิษฐ์ประดอยมี Imagine ในสิ่งใหม่ๆ เป็นการส่งเสริมให้กล้ามเนื้อในซีกขวาของสมองแข็งแรง อย่าไปปลูกฝังความคิดให้ลูกๆว่า เขาควรเติบโตตามสูตรที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ใช้สมองซีกซ้ายสั่งการเพื่ออบรมลูกๆให้ท่องหนังสือเป็นนกแก้วนกขุนทอง เขาจะได้มีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เช่น นักบัญชี นักวิศวกรหรือทนายความ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่มีความสามารถทำงานลักษณะนี้ตามสูตรที่พ่อแม่ปูพื้นฐานไว้ แต่งานสรรค์สร้างไอเดียใหม่ๆ ใช้สมองซีกขวาของพ่อแม่สามารถเปิดทางเป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่หรือนักศิลปินเอกของโลก เช่น ไมเคิล แอนเจลโล, ปิกาโซ่ แวนโก๊ะ หรือเป็นผู้ค้นคิดตัวยาวัคซีนใหม่ๆใช้ป้องกันโรคมะเร็งหรือโรคเอดส์เป็นต้น ผู้ใช้สมองซีกขวาเหล่านี้สร้างผลงานทิ้งไว้ให้ชาวโลก เป็นสิ่งที่ “ประดับไว้ในโลกา” อย่างถาวร

คุณดาเนียลเขียนถึงคุณสตีฟ จ๊อบส์ (Steve Job) ผู้ร่วมสร้างบริษัท Apple ผู้ให้สัมภาษณ์ว่าคุณตาคุณยายของคุณสตีฟ ขับรถไม่ได้ ไม่เคยเป็นเจ้าของรถยนต์ เป็นคนเจ้าระเบียบ ท่านบังคับให้พ่อแม่คุณสตีฟเล่าเรียนและทำงานอยู่ในกรอบ พ่อและแม่ไม่ชอบความกดดัน จึงเปิดโอกาสให้คุณสตีฟนั่งคิดนอนคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตัวคุณสตีฟเองอยากฟังเพลงและดนตรีได้โดยไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น ในความคิดของคุณตาคุณยายเป็นเด็กเกียจคร้าน ชอบขีดเขียนภาพไร้สาระบนกระดาษหลายๆแผ่นอย่างเสียเวลา มิช้ามินานคุณสตีฟ ผลิตเครื่องฟัง IPod ขึ้นมาฟังเพลง มีผู้ซื้อ IPod หลายสิบล้านเครื่อง แต่ผลิตโดยผู้ชำนาญการใช้สมองด้านซ้ายที่รับงานตามคำสั่งของผู้ใช้สมองซีกขวาทั้งนั้น
มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เป็นเศรษฐีหนุ่มวัย 26 ปี ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย จากการก่อตั้งและพัฒนาเครือข่ายออนไลน์ facebook.com เขาเริ่มก่อตั้งเว็บไซต์ Facebook.com เมื่อ 7 ปีก่อน ขณะที่เขาอายุได้เพียง 19 ปี และยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดอยู่ในขณะนั้น แต่แล้วหลังจากที่เขาเห็นแววว่า เฟซบุ๊กจะได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจจากวัยรุ่น เขาก็ได้หยุดเรียนกลางคัน เพื่อออกมาพัฒนาเว็บไซต์เฟซบุ๊กร่วมกับเพื่อน หลังจากนั้นเพียง 2 ปี เว็บไซต์เฟซบุ๊กก็เริ่มมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยคุณสมบัติที่สามารถเข้าถึงข้อมูล รูปถ่าย และติดตามความเป็นไปของสมาชิกแต่ละคนได้อย่างสะดวก จนในที่สุด เว็บไซต์เฟซบุ๊ก ก็กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และเป็นเครือข่ายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีผู้ใช้บริการไปแล้วกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก จนนิตยสารไทม์ ยก มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เป็นบุคคลแห่งปี

คุณดาเนียลเสนอวิธีให้พ่อแม่ส่งเสริมลูกๆตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยการซื้อดินสอสีนานาชนิด ปากกาสี ดินสอเทียน กระดาษขนาดเล็กใหญ่ เวลาไปไหนให้ลูกนำไปด้วย เพื่อขีดเขียนออกแบบ (Design) ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่เสื้อผ้าแบบที่เขาอยากใส่ รองเท้าสไตล์ไหนที่เขาชอบ รถยนต์แบบจ๊าบในความคิดของเขา รวมถึงห้องนอนที่เขาตกแต่ง คุณดาเนียลเขียนว่าการออกแบบ (Design) สร้างได้ด้วยสมองซีกขวาเท่านั้น จึงจะเป็นการสร้างความก้าวหน้าใหม่ๆให้กับประชาโลกในอนาคต

คุณดาเนียลยกตัวอย่างถึงการออกแบบกล้องถ่ายรูปตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ก่อนเป็นกล้องเจาะรูจนถึงกล้องขนาดยักษ์ใช้คลุมผ้าคนถ่ายรูป มีฟิลม์ทำด้วยกระจกขนาดใหญ่ คนใช้สมองซีกขวาทนไม่ได้ในความเทอะทะจึงออกแบบออกใหม่ให้เป็นกล้องตัวเล็กลงๆ มีเลนส์กระจกจนถึงกล้องโพรารอยด์(Polaroid) อัดภาพได้อัตโนมัติ ปัจจุบันเป็นกล้องดิจิตอลไม่ต้องใช้ฟิลม์อีกต่อไป ของใหม่ๆเหล่านี้มาจากการใช้ความคิดออกแบบไปเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง

ส่วนเด็กสาวอายุ 12 ปีมองเห็นความยากลำบากที่คุณตาคุณยายจำชื่อยาตัวเองไม่ได้ ทั้งสองอ่านขวดยาไม่เห็น เธอจึงออกแบบง่ายๆโดยใช้ยางสติกสีต่างๆมัดขวดยาสีฟ้าของคุณตา สีชมพูของคุณยาย ในปัจจุบันเธอได้ขายความคิดนี้ให้กับผลิตยา เป็นการออกแบบง่ายๆของเด็กๆ แต่สามารถช่วยชีวิตผู้ใช้ยาได้เป็นจำนวนหลายคน

สำหรับลูกๆวัยรุ่น พ่อแม่ควรซื้อคอมพิวเตอร์ฉบับกระเป๋าเรียกว่า Laptop หรือ Notebook ให้เขาได้พิมพ์บันทึกเขาไว้ เพื่อจะได้นำมาใช้ออกแบบเมื่อเขามีเวลาว่าง การออกแบบสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ทุกๆชนิดมีคุณภาพดีขึ้น รูปร่างสวยขึ้น ประหยัดไฟหรือประหยัดเวลา เด็กๆสามารถเริ่มออกแบบฝึกฝนสมองซีกขวาด้วยการตกแต่งห้องนอนของเขา ออกแบบเอาใจตนเอง มีคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เป็นต้น

วิธีสร้างกล้ามเนื้อสมองซีกขวาที่ทำด้วยวิธีง่ายดาย ไม่ต้องจ่ายสตางค์ คือการเขียนนิทาน นวนิยาย หรือการเล่าเรื่องราวปะติดปะต่อด้วยการคิดไปพูดไปเป็นช่วงๆ อาจเป็นนิทาน มีตัวเอกเป็นคนที่ลูกๆรู้จัก เช่น ญาติสนิทมิตรสหาย ถ้าลูกๆอ่านนิทาน อ่านหนังสือ เป็นการใช้สมองซีกซ้าย การเล่าเรื่องราวด้วยการใช้ความคิดสดๆออกมาเท่านั้นที่ทำให้สมองข้างขวาส่งพลังมากระตุ้นให้กล้ามเนื้อสมองแข็งแรง

การพาลูกๆไปดูดาวดูเดือนบนท้องฟ้าเป็นการฝึกสมองซีกขวาเช่นกัน พ่อแม่ควรชี้ชวนให้เขาลากเส้นด้วยนิ้วมือจากดาวแต่ละดวง ให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วแต่ใจเขามีทัศนียภาพด้วยตัวของเขาเอง โดยไม่ต้องบอกลูกๆล่วงหน้าว่าควรเป็นรูปอะไร การมองเห็นเมฆลอยฟ่องเป็นรูปร่างสัตว์หลายชนิด ทำให้ลูกๆได้ความคิดจินตนาการอย่างง่ายดาย

สมองซีกขวาสามารถเพิ่มกล้ามเนื้อในเซลสมองด้วยการนั่งสมาธิ ปล่อยจิตใจให้ว่างพร้อมที่จะรับความคิดใหม่ๆ การทำจิตใจให้เปี่ยมด้วยความกรุณาปราณี มีความสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ยากไร้และสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย ซึ่งพ่อแม่สามารถพาลูกๆไปยังงานการกุศล สถานุเคราะห์คนพิการหรือสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าให้ลูกๆได้มีโอกาสแสดงความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

การฝึกสมองซีกขวาวิธีสุดท้ายที่คุณดาเนียลแนะนำไว้ในหนังสือของเขาคือการหัวเราะดังๆอย่างจริงๆจังๆ ด้วยการเล่าโจ๊ก ดูรายการตลกโปกฮาในทีวี ดูภาพยนตร์ขำขันในโรงภาพยนตร์ ถ้าลูกๆได้หัวร่อปากอ้า ตาหยีวันละบ่อยๆครั้ง สมองซีกขวาจะมีพลังให้เจ้าของนำออกมาใช้ในทางสร้างสรรค์ออกแบบ มีความคิดประดิษฐ์ใหม่ๆตลอดชีวิตของเขา