ความคิดวิพากษ์วิจารณ์ (Critical Thinking)

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

การคิดวิพากษ์ หมายถึง ความสามารถในการพิจารณา ประเมินและตัดสินสิ่งต่างๆหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ที่มีข้อสงสัยหรือ ข้อโต้แย้ง โดย การพยายามแสวงหาคำตอบที่มีความสมเหตุสมผล โดยการคิดวิพากษ์นั้นจะเกิดขึ้น เมื่อมีการเผชิญสถานการณ์แปลกๆ ที่ไม่คาดหวัง การพบปัญหาที่ยากๆ เกิดความสงสัยหรือเกิดข้อโต้แย้ง ในเหตุผลหรือข้ออ้างนั้น การที่ต้องการตรวจสอบ และสืบค้นความจริง

ทฤษฎีด้านการคิดเชิงวิพากษ์มีพื้นฐานมาจากผลงานของ เบนจามิน บลูม (Benjamin Bloom) ในปี 1956 ที่ได้จัดหมวดหมู่พฤติกรรม การเรียนรู้ด้านสติปัญญา โดยพัฒนาวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ให้ชัดเจน และให้ครูทดลองปฏิบัติในการสอนเป็นเวลาสองทศวรรษ แนวความคิดของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และใช้สอนในโปรแกรมการฝึกหัดครูทั่วสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน ในประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยก็นำแนวคิดของบลูม มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเช่นเดียวกัน
บลูม ได้แบ่งพฤติกรรมการเรียนรู้ ออกเป็น 6 ประเภท จากระดับแรกที่เรียกว่า ความรู้ จนถึงระดับของการประเมิน แต่ละประเภท เกี่ยวกับ การวิเคราะห์และประเมินข้อมูลที่ซับซ้อน ที่ใช้ความสามารถทางสติปัญญาในระดับสูง และเพื่อให้สอดคล้องกับ พฤติกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว บลูมได้แบ่งวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเป็น 6 ประเภท ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมของบลูม

  1. ความรู้ (Knowledge) – เน้นการจำและการอ้างอิงข้อมูล คำกริยาเชิงพฤติกรรมที่ใช้ เช่น ระบุ บอกรายการ บอกชื่อ ตั้งชื่อ ให้คำจำกัดความ บอกแหล่งที่ตั้ง จับคู่ จำได้ และทำใหม่
  2. ความเข้าใจ (Comprehension) – เน้นการเชื่อมโยงและจัดการข้อมูลที่ได้เรียนมา คำกริยาที่ใช้ เช่น อธิบาย เชื่อมโยง กำหนดหลักเกณฑ์ สรุป พูดใหม่ เรียงข้อความใหม่ สาธิต
  3. การประยุกต์ใช้ (Application) – เน้นการใช้ข้อมูล โดยการนำเอากฎหรือหลักการมาประยุกต์ใช้ คำกริยาที่เกี่ยวข้องเช่น แก้ปัญหา เลือก ตีความ ทำ สร้าง เอามาไว้ด้วยกัน เปลี่ยน ใช้ ผลิต แปล
  4. วิเคราะห์ (Analysis) – เป็นการคิดเชิงวิเคราะห์ส่วนประกอบและหน้าที่ของสิ่งต่างๆ คำกริยาที่ใช้ เช่น วิเคราะห์ เปรียบเทียบ จัดประเภท แยกส่วนประกอบ หาข้อแตกต่าง สำรวจ แบ่งเป็นส่วยย่อย แยกแยะ หาข้อขัดแย้ง
  5. สังเคราะห์ (Synthesis) – เน้นการคิดในการนำเอาส่วนประกอบปลีกย่อยหรือรายละเอียดมารวมกันสร้างสิ่งใหม่ คำกริยาที่เกี่ยวข้อง เช่น ประดิษฐ์ สร้าง(Create) รวมกัน ตั้งสมมุติฐาน วางแผน ริเริ่ม เพิ่มเติม จิตนาการ ทำนาย
  6. การประเมิน (Evaluation) – เน้นการประเมินและการตัดสินโดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน คำกริยาที่ใช้ เช่นประเมิน(Assess) แนะนำว่าดี (Recommend) วิพากษ์วิจารณ์ หาข้อดีและข้อเสีย ให้น้ำหนัก และตัดสินคุณค่า

การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นกระบวนการใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ปัญหา เป็นการใช้ข้อมูลและการแก้ปัญหา เพื่อช่วยตัดสินใจ อย่างมีเหตุผล เกี่ยวกับสิ่งที่จะทำหรือเชื่อต่อไป มีหลักฐานจากการวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนความคิดที่ว่า คนเราสามารถเรียนรู้ วิธีคิดในการตัดสินใจ และการแก้ปัญหาได้ กฏต่างๆ ที่เป็นนามธรรม การใช้เหตุผลในการคิดเป็นสิ่งที่สอนได้ ฝึกได้ การฝึกจะช่วย ให้คนเราคิดหา สาเหตุที่ซ่อนเร้นไว้ของเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มียุธวิธีหลายอย่าง (Strategies) ที่ช่วยให้เราคิด เชิงวิเคราะห์ ประเมินปัญหา และตัดสินใจแก้ปัญหาอย่าง สร้างสรรค์ (Feldman,1996: 274) ดังนี้

  1. การระบุและคิดทบทวนปัญหา (Redefine the problems)
  2. คิดอย่างมีวิจารณญาณ (Adopt a critical perspective)
  3. ใช้หลักการของเหตุผล (Use analogies)
  4. คิดหลากหลาย (Think divergently)
  5. ใช้แนวคิดแบบองค์รวม (Use heuristics)
  6. ทดลองแก้ปัญหาหลายๆ แบบ (Experiment with various solutions)

คนเราต้องใช้ทักษะการคิดในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูล เพื่อเลือกสิ่งต่างๆ จากตัวเลือก (Choices) ทั้งหลายที่มีอยู่มากมาย ผู้ที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ จะสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ (Morrison, 2000) ดังนี้

  1. ระบุประเด็นสำคัญได้
  2. เปรียบเทียบความเหมือนกันและความแตกต่างกัน
  3. ตัดสินใจได้ว่าข้อมูลใดใช้ได้หรือเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ
  4. ตั้งคำถามที่เหมาะสมได้
  5. แยกแยะระหว่างความจริงกับความคิดเห็นได้ และตัดสินได้ว่าการกระทำใดเป็น การกระทำที่ สมเหตุสมผล
  6. ตรวจสอบความคงที่ได้ (Checking consistency)
  7. ระบุความคิด / สมมุติฐานที่แฝงไว้ (Unstated ideas) ได้
  8. รู้ว่าอะไรเป็นการพูดแบบ Stereotype คือ การคิดถึงลักษณะของคนใดคนหนึ่งแล้วเหมารวมว่าคนอื่นๆ จะเป็นเช่นเดียวกัน
  9. รู้ว่าข้อมูลใดเบี่ยงเบน (Bias) ข้อมูลใดเป็นการชวนเชื่อ หรือลำเอียง
  10. รับรู้ถึงค่านิยมที่แตกต่างกันและรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี
  11. ประเมินได้ว่าข้อมูลที่จำเป็นมีอะไรบ้าง ต้องใช้ข้อมูลมากเพียงใด

คาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ (Consequences)

จุดมุ่งหมายของการฝึกทักษะการคิดแบบวิพากษ์( Critical Thinking Xคือการกระตุ้นให้เกิดคำถามอยู่เสมอ ให้สงสัยในสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น ได้อ่าน และสำรวจความคิดของตนเอง ผู้ฝึกควรกระตุ้นให้ผู้รับการฝึกคิดโดยการเตรียม/จัดสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำนึงถึงแนวความคิด ที่แตกต่างกันและหลากหลาย และเปิดโอกาสให้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างอิสระในลักษณะ ระดมสมองพร้อมกับยอมรับความคิดเห็น ของทุกคน

แนวทางในการวัดหรือประเมิณผลทักษะการคิดเชิงวิพากษ

ปัจจุบันทักษะการคิดและการแก้ปัญหานับว่าเป็นทักษะพื้นฐานธรรมดาเช่นเดียวกับทักษะทางด้านอื่นๆเช่น ทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ การสะกดคำ ความรู้ทางภูมิศาสตร์และอื่นๆ แนวโน้มของการอบรม ทุกวันนี้คือ มีการฝึกอบรมทักษะการคิดที่ให้กลายเป็น วัฒนธรรมของการเรียนรู้อย่างกลมกลืน
ในห้องฝึกอบรมที่เน้นการคิด จะมีการกระตุ้นให้ผู้รับการอบรมได้มีการสังเกตและวิเคราะห์ ฝึกใช้คำถามระดับสูงขึ้น (Higher-level questions) มีการถามให้ได้คิดไตร่ตรอง (Reflect) คิดใช้เหตุผลเกี่ยวกับความรู้ ข้อมูล และคิดแก้ปัญหา ต้องกระตุ้นให้ผู้รับการอบรมคิดเกี่ยวกับข้อมูลและกระตุ้นให้คิดเกี่ยวกับการคิดด้วย เช่นการคิดเช่นนี้ถูกหรือยัง มีเหตุผลหรือไม่ มีวิธีการคิดอย่างไร ทักษะต่างๆ ต่อไปนี้ สามารถใช้สร้างทักษะและเพื่อฝึกการคิดในการใช้เหตุผลได้

  • การวิเคราะห์ (Analyzing) สำรวจบางสิ่งบางอย่าง ระบุส่วนประกอบและความสัมพันธ์ของส่วนประกอบเหล่านั้น ได้อย่างชัดเจน
  • การสรุป (Inferring) ใช้เหตุผลสรุปจากข้อมูลที่ได้วิเคราะห์
  • การเปรียบเทียบหาสิ่งที่เหมือนกันและต่างกัน (Comparing and Contrasting)
  • การทำนาย (Predicting) สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากสถานการณ์ที่มีอยู่ โดยอาศัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ
  • การตั้งสมมุติฐาน (Hypothesizing) จากการวิเคราะห์หลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่แล้วหาคำตอบที่อาจจะเป็นไปได้ หาวิธีแก้ปัญหาหลายๆ วิธี โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ด้วย
  • การคิดเชิงวิพากษ์หรือคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) โดย การสำรวจข้อมูล สำรวจหลักฐานและข้อถกเถียงต่างๆ อย่างรอบคอบ ไม่มีการลำเอียง เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นไปได้
  • การใช้เหตุผลแบบอนุมาน (Deductive Reasoning) เป็นการใช้กฏ ทฤษฎี หรือหลักการเพื่อวิเคราะห์หารายละเอียดปลีกย่อย
  • การใช้เหตุผลแบบอุปมาน (Inductive Reasoning) เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบส่วนย่อยแล้วสรุปเป็นกฎ ทฤษฎีหรือหลักการ
  • การจัดระเบียบ การจัดการ (Organizing) สิ่งต่างๆ โดยใช้เหตุผลประกอบ
  • การจำแนกประเภท (Classifying) – จัดสิ่งต่างๆ เป็นเป็นประเภทเดียวกัน
  • การตัดสินใจ (Decision Making) - สำรวจทางเลือกทั้งหลายอย่างมีเหตุผลแล้วเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • การแก้ปัญหา (Problem Solving) – วิเคราะห์สถานการณ์ที่ยุ่งยาก คิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา

แนวคิดในการฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

การฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ทำได้หลายวิธีเช่น

  1. การตั้งคำถาม: นับว่าคือหัวใจสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์ นักคิดเชิงวิพากษ์ที่ดีนั้นต้องไม่รีบด่วนตัดสินใจ แต่จะต้องฝึกหัดในการตั้งคำถามก่อนเสมอ การแก้ปัญหาในโลกความจริงนั้น มักไม่มีคำตอบหรือวิธีแก้ที่ถูกต้องจริงๆ มีแต่คำตอบใดดีกว่ากันเท่านั้นเช่น กรณี นักเรียนที่มีปัญหาต้องเรียนรู้สิ่งต่อไปนี้คือ
    (1) รู้ปัญหา เช่นเรียนจบ ม. 6 แล้วจะหาที่เรียนต่อได้อย่างไร
    (2) ตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ เช่น ฉันควรสมัครเรียนต่อที่ไหนดี
    (3) รวบรวมข้อมูล เช่น มหาวิทยาลัยใด สถานศึกษาใดกำลังเปิดรับสมัครและเปิดสอนสาขาใดบ้าง
    (4) ได้คำตอบที่เป็นไปได้ และคิดว่าอาจจะมีข้อมูลใหม่ที่ช่วยให้แก้ปัญหาได้ดีขึ้นอีก
  2. การกระตุ้นให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาและกระบวนการ ถามชี้ให้เห็นว่าผู้ถามอยากรู้อยากเห็น สงสัยและไม่แน่ใจ กำลังคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักไม่กล้าที่จะตั้งคำถาม และมีคนส่วนน้อยมากที่ชอบถาม อาจเป็นเพราะไม่กล้าถาม รู้สึกอาย กลัวคนอื่นคิดว่าเป็นคำถามโง่ๆ หรือคิดไม่ออกว่าจะถามอะไร ดังนั้นผู้ฝึกอบรมจึง ควรกระตุ้นให้มีการถามมากๆ ซึ่งอาจจะมี ถามคำถามที่น่าสนใจบ้าง คำถามที่ไม่น่าถามบ้าง คำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ที่กำลังศึกษากันอยู่บ้าง ทำให้เสียเวลาบ้าง อย่าคิดว่าคำถามเหล่านั้นไม่ดี ไม่ควร แสดงอาการบางอย่างออกมาทันที และไม่เหมาะสม ทำให้เข็ดขยาดไม่อยากถามต่อไป ผู้ฝึกอบรมควรคิดก่อนแสดงอาการโต้ตอบที่ไม่เหมาะสมออกไป คิดว่าทุกคนมีเหตุผลของตัวเองในการถาม บางทีคำถามเป็นเพียงสัญญาณที่บอกให้รู้ว่า พวกเราเพียงแต่ต้องการการยอมรับ ต้องการความสนใจจากผู้อื่นหรือเพื่อนๆ เท่านั้น
  3. การหลีกเลี่ยงการแสร้งทำเป็นว่ารู้คำตอบทั้งๆที่ไม่รู้ ควรหลีกเลี่ยงการตอบคำถามที่ไม่รู้แต่ตอบออกมาผิด ๆ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า คำตอบที่แท้จริงคืออะไร เพราะจะทำให้ผู้รับการอบรมขาดความเชื่อมั่นในตัววิทยากร การที่วิทยากรยอมรับว่า ไม่รู้ไม่ใช่เรื่อง เสียหาย แต่ทำให้ผู้รับการอบรมคิดว่าวิทยากรก็เป็นมนุษย์เหมือนกันย่อมมีสิ่งที่ไม่รู้ได้ ช่วยให้ผู้รับการอบรมมีความเชื่อมั่น และความรู้สึกที่ดีต่อวิทยากรเอง สิ่งสำคัญคือ วิทยากรควรรู้แหล่งและวิธีหาคำตอบ และช่วยพัฒนาผู้รับการอบรม ให้มีความรู้และ ทักษะกระบวนการหาคำตอบด้วยตนเอง

การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Meaningful Learning)

การเรียนรู้อย่างมีความหมาย เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อการคิดแบบ Critical Thinking เชื่อมโยงกับสิ่งที่กำลังเรียน ผู้รับการอบรมต้องสร้าง ความหมายในการเรียนรู้ให้ตนเองจากหลักสูตรที่กำนดให้เรียน จะเป็นการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและคงอยู่ได้นาน ลำดับขั้นของสิ่ผู้รับการอบรมที่เรียนรู้มี 4 ระดับ (Critical thinking, 2546) คือ

  1. ความจริง (Facts) – การได้ข้อมูลที่เป็นความจริง ซึ่งเมื่อรู้แล้ว ประมาณ 90 % ของข้อมูลที่ได้จะลืมไป เป็นสิ่งที่ทำให้เกิด แรงจูงใจน้อย
  2. ความคิดรวบยอด (Concepts) – การประมวลผลข้อมูล การพัฒนาความสัมพันธ์และความเข้าใจ ความรู้ประเภทนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจ มากกว่าระดับแรก
  3. สิ่งที่มีความหมายสำหรับตนเอง (Personal Meanings) – การบูรณาการ และ การซึมซับความรู้ ความรู้ระดับนี้จะอยู่ได้นาน คงทน ทำให้เกิดแรงจูงใจมากที่สุด
  4. การเรียนรู้อย่างเข้าใจ (Comprehensive Learning) – การเรียนในระดับนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถาวร ด้านทัศนคติและ/หรือ ความสามารถ

ตัวอย่างการคิดวิพากษ์

การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี (Technological Literacy) มีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ได้คือ ช่วยให้สามารถ แยกแยะ สิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่เกิดจากการจินตนาการ แยกสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิดได้ ช่วยประเมินและตัดสินใจเกี่ยวกับ ข้อมูลที่คน ทั้งหลายเขียนลงในอินเตอร์เน็ต ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมีมากมายแต่ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะใช้ได้ มีประโยชน์เป็นจริง ถูกต้อง เหมาะสม ทั้งหมด ดังนั้นในการใช้อินเตอร์เน็ตผู้ใช้ต้องวิพากษ์ ซึ่งแนวทางสำหรับวิทยากรและผู้รับการอบรม ในการประเมินข้อมูลใน การเรียนการสอนโดยใช้อินเตอร์เน็ต มีดังนี้

  1. 1.ใครเป็นคนเขียน ทำไมจึงเขียน
  2. ใครบางคนกำลังจะขายสินค้า ขายแนวความคิดให้เราหรือไม่
  3. ข้อมูลเหล่านี้ใช้รหัสในเว็บไซท์อะไร เช่น .com = commercial (เกี่ยวกับการค้า) gov. = government (รัฐบาล) edu. = education (เกี่ยวกับการศึกษา) org.=non-profit organization (องค์กรที่ไม่หวังกำไร) เพราะแหล่งข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล เราคิดว่าข้อมูลที่มาจากสถาบันการศึกษาต้องเป็นจริงเสมอหรือไม่ แหล่งข้อมูลของรัฐบาล เป็นอย่างไร
  4. สามารถสืบต้นตอแหล่งข้อมูลที่เบี่ยงเบนได้หรือไม่ อย่างไร
  5. ถ้าเป็นคำพูดที่คัดลอกมามีการอ้างอิงแหล่งของข้อมูลเหมาะสมหรือไม่
  6. เราจะหาข้อมูลอื่นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลนี้ได้อย่างไรตรวจสอบแหล่งพิมพ์ได้หรือไม่
  7. ข้อมูลมีทฤษฎี / หลักฐานสนับสนุนหรือไม่ จะแยกข้อมูลเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อย่างไร
  8. แหล่งข้อมูลบางแห่งอาจถูกต้องแม่นยำกว่าแหล่งข้อมูลอื่น ๆ หรือไม่ อย่างไร เช่นวารสารทางวิชาการมักได้รับ การตรวจสอบอ่าน ทบทวน โดยผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว

ในการฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ไม่ควรใช้คำถามที่ตอบว่า ใช่หรือไม่ใช่ ควรเป็นคำถามที่ทำให้นักเรียนคิดหาคำพูดออกมา เพื่อแสดง ความคิดในระดับสูง มีความหมาย มีการสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล การคิดเชิงวิพากษ์ต้องใช้เวลา ดังนั้นควรให้เวลา นักเรียน ในการคิดเพื่อเรียบเรียงคำตอบ ตัวอย่างลักษณะของการถาม 3 แบบที่ช่วยฝึกทักษะการคิด (Critical thinking, 2546) ดังต่อไปนี้

การถามแบบโสเครติค (Socratic Questioning)

ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช โสเครติส ได้กระตุ้นให้เกิดความคิดเชิงวิเคราะห์โดยการใช้คำถามที่ท้าทาย นักเรียนให้คิดและ ใช้วาทะในการตอบ คำถามจะกระตุ้นการปฎิสัมพันธ์โต้ตอบ (Interaction) ระหว่างครูกับนักเรียน ท้าทายนักเรียนให้โต้ตอบ เพื่อแสดงเหตุผลสนับสนุนความคิดของตน เช่นถามว่า "ท่านเชื่อว่า คนเราควรพูดความจริงเสมอหรือไม่ จะเป็นอย่างไรถ้ากล่าวเท็จ เพื่อช่วยชีวิตคนอื่น ความจริงดีกว่าชีวิตหรือไม่"

การถามแบบอุปมาน (Inductive Questioning)

การถามประเภทนี้ เป็นการฝึกให้ใช้เหตุผลในการจัดการข้อมูลให้สัมพันธ์กับหลักการหรือประเภท ควรให้นักเรียนสรุปหลักการ และความสำคัญของข้อมูลที่กำลังเรียน เช่นมีสิ่งต่างๆ หลายอย่างให้นักเรียนได้จัดหมวดหมู่ใหม่ ครูอาจถามว่า อะไรสำคัญมากที่สุด อะไรสำคัญน้อยที่สุด นักเรียนควรเรียนสิ่งนี้หรือไม่ เพราะอะไร

การถามแบบอนุมาน (Deductive Questioning)

การถามประเภทนี้ช่วยฝึกนักเรียนให้ใช้เหตุผลในการวิเคราะห์กฎหรือหลักการ มองภาพใหญ่แล้วจึงศึกษารายละเอียด เชื่อมความรู้ใหม่กับความรู้เก่า ครูอาจถามว่า เมื่อรู้สาเหตุหลักของเหตุการณ์เหล่านี้แล้ว ลองดูซิว่าอะไรเป็นสาเหตุของสิ่งนี้

สิ่งที่ช่วยฝึกทักษะการคิดให้ผู้รับการอบรม คือการถามโดยใช้คำถามดังกล่าว ถามให้ผู้รับการอบรมสังเกตุ ถามให้คิดให้ใช้สติปัญญา และใช้เหตุผลในการหาคำตอบ เช่น ทำไมน้ำแข็งจึงละลาย ทำไมนักเรียนต้องขยันเรียน ลักษณะของคนดีเป็นอย่างไร นอกจากวิทยากรถามแล้ว ผู้รับการอบรมก็ควรฝึกถามด้วย เพราะขณะที่คิดหาคำถามนั้นก็ถือได้ว่าได้ฝึกทักษะการคิดในตัวอยู่แล้ว ได้ฝึกใช้คำพูดเรียบเรียงให้คนอื่นเข้าใจได้ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการพัฒนากระบวนการคิด เพื่อใช้แก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมาก และนิยมใช้ในทางทหาร และผู้เขียนคิดว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรอื่นๆได้นั่นก็คือ การคิดแบบกระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางทหาร (Military Dicision Making Process )

กระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางทหาร

ซึ่งในทางทหารนั้นนิยมใช้ในการเป็นเครื่องมือของฝ่ายอำนวยการในการแสวงหาหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุด สำหรับการปฏิบัติการยุทธ์ โดยมีองค์ประกอบอยู่ 4 กระบวนการหลักๆคือ

  1. วิเคราะห์ภารกิจ
  2. การพัฒนาหนทางปฏิบัติ
  3. การวิเคราะห์หนทางปฏิบัติ
  4. การเปรียบเทียบและตกลงใจ

โดยในแต่ละกระบวนการนั้นฝ่ายอำนวยการจะต้องดำเนินกระบวนการคิดทั้งการคิดวิพากษ์ในตอนแรกเช่น ต้องตั้งคำถามเสมอว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของภารกิจนั้นคืออะไรและการที่จะสามารถปฏิบัติจนสำเร็จนั้นจะต้องมีงานอื่นๆที่ต้องทำประกอบ หรือเสริม เพิ่มเติม เข้ามา(ในทางทหารเรียกว่ากิจแฝง)นั้นมีอะไรบ้าง ในขณะเดียวกันก็จะทำการประเมินปัญหาอุปสรรค (ข้าศึก) ว่ามีลักษณะ อย่างไร จะกระทบกับการปฏิบัติงานของเรามากน้อยอย่างไร พร้อมกับหาหนทางแก้ไว้รองรับอย่างครบถ้วน และจะต้องมีหนทางใน การแก้ปัญหาหรือ รองรับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 2 วิธีการทั้งนี้ก็เพื่อ ที่จะสามรถให้มีการนำมาเปรียบเทียบ หาข้อดีข้อเสีย ของหนทางหรือวิธีการปฏิบัติ ที่ดีที่สุดพร้อมกับ มีแผนสองรองรับอยู่เสมอ

เราจะเห็นได้ว่าทักษะการคิด แบบแสวงข้อตกลงใจทางทหารนั้น เป็นกระบวนการคิดที่มีความระเอียดรอบคอบรัดกุมมาก มีการทดสองซึ่งกันและกัน อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจว่า แนวทางปฏิบัติที่ได้มาจาก กระบวนการคิดนั้นมีโอกาสประสบผลสำเร็จ มากที่สุด และก็ยังสามารถนำกระบวนการดังกล่าวมาใช้ประยุกต์กับการคิดวิพากษ์ ได้อย่างดี ทั้งยังจะเป็นการพัฒนา ศาสตร์แห่ง กระบวนการคิดขั้นสูงต่อไปได้ในอนาคต ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะลองรับกับสภาวะการโลกของเรา ในปัจจุบันที่เป็น โลกแห่งการไร้พรหมแดน มีการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในทุกๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นบริบททางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การทหาร การก่อการร้าย ภัยคุกคามต่างๆ ก็จะสามารถนำกระบวนการคิด แบบแสวงข้อตกลงใจทางทหาร มาประยุกต์ ใช้ได้กับ ทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน

ปัญหาที่ท้าทาย การพัฒนาประเทศไทย ในปัจจุบันนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนากระบวนการคิด การเรียนรู้ของคนไทย ให้มีความสามารถในการคิด แก้ปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ ประเทศชาติก็จะมีความเจริญ ความมั่นคง อย่างแน่นอน ดังนั้นกระบวนการคิดของคนไทยจึงถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต้องมีการฝึกพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด เริ่มจากการคิดวิพากษ์ที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนเท่าไหร่นัก ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์ การคิดเปรียบเทียบและอีกหลายๆ เทคนิคกระบวนการคิด จนในที่สุดก็จะเกิดสังคมใหม่ของคนไทยที่มีพลังอย่างมากนั่นคือสังคมแห่ง "องค์ความรู้" ต่อไป