4 Q กับการพัฒนาความเป็นผู้นำ

ภาวะผู้นำ (Leadership) เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีอำนาจที่จะมีอิทธิพลต่อผู้อื่น อำนาจที่สำคัญมีอยู่สองประเภท ได้แก่ อำนาจที่ได้รับจากการแต่งตั้ง และอำนาจส่วนตัว ที่มาจาก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคน อำนาจส่วนตัวที่เกิดจาก ความสัมพันธ์นี้เป็น องค์ประกอบสำคัญของภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล และ เป็นอำนาจที่ผู้อื่นมอบให้แก่ผู้นำ ด้วยความเต็มใจ ซึ่งการที่บุคคลจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล (Effective Leadership) ได้นั้นจะ ต้องมีการเตรียมการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้นำ กล่าวคือ ต้องพัฒนาบุคลิกภายนอก อันได้แก่ การแต่งกาย กิริยาท่าทาง การรักษาสุขภาพร่างกาย เป็นต้น และพัฒนาบุคลิกภายใน ได้แก่ การพัฒนาด้านความรู้ สติปัญญา ความคิด อารมณ์ การตัดสินใจ และคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งก็คือ การพัฒนา 4 Q (IQ EQ AQ และ MQ) นั่นเอง

๔.๑ IQ (Intelligence Quotient)

IQ หรือ Intelligence Quotient หมายถึง ระดับสติปัญญาหรือระดับเชาวน์ปัญญาของคน
คนที่มี IQ สูง ๆ จะเป็นคนเก่ง มีสมองรับรู้ว่องไว เรียนหนังสือเก่ง แต่เดิมมามีความเชื่อว่าคนที่เรียนเก่งมี IQ สูง ๆ จะมีความก้าวหน้าทางการงานและอาชีพ แต่ปัจจุบันความคิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจริงเพียงครึ่งเดียว นักจิตวิทยาเชื่อกันใหม่ว่า IQ เป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น และมีส่วนทำให้คนเราประสบ ความสำเร็จ ได้เพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นผลของเจ้าตัว EQ นักวิชาการเชื่อว่า EQ ต่างหากที่ผลักดันให้คน ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง

การจัดประเภท IQ ตามแบบทดสอบ WISC (Wechsler Adult Intelligence Scale)

๑. ฉลาดมาก (Very Superior) มีระดับ IQ = ๑๓๐ ขึ้นไป
๒. ฉลาด (Superior) มีระดับ IQ = ๑๒๐-๑๒๙
๓. ค่อนข้างฉลาด (Bright) มีระดับ IQ = ๑๑๐-๑๑๙
๔. ปกติหรือปานกลาง (Average) มีระดับ IQ = ๙๐-๑๐๙
๕. ค่อนข้างโง่ (Dull) มีระดับ IQ = ๘๐-๘๙
๖. โง่คาบเส้น (Border line) มีระดับ IQ = ๗๐-๗๙
๗. บกพร่องทางสมอง (Mental Defective)มีระดับ IQ = ๖๙ ลงมา

สิ่งที่มีอิทธิพลสำคัญต่อเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ คือ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาการทุกขั้นตอนความฉลาดของบุคคล จะสะท้อนให้เห็นสิ่งที่บุคคลนั้น ได้รับมาแต่กำเนิดร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวบุคคลนั้น กล่าวคือ เมื่อเกิดเด็กจะมีความสามารถในตัวอยู่แล้วที่จะพัฒนาทางเชาวน์ปัญญา แต่ความเจริญทาง สมองจะไปไกลมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะได้รับจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทางอื่น และประสบการณ์ ที่เด็กได้รับในชีวิต อาจจะสรุปได้ว่า พันธุกรรมให้ศักยภาพ (Potentiality) แก่บุคคลแต่ละบุคคลจะพัฒนาได้ไกลเพียงใดขึ้นอยู่กับโอกาสที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม ที่มีปฏิสัมพันธ์กับพันธุกรรม สิ่งกระตุ้นทางเชาวน์ปัญญาในระยะแรก ๆ ของชีวิตมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อเชาวน์ปัญญาของบุคคลนั้น
ในระยะต่อมา เครื่องมือและแหล่งที่มาของสติปัญญาของบุคคลอยู่ที่การเจริญเติบโตทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ
สิ่งกระตุ้นและการสนับสนุน ให้เด็กได้ใช้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงให้เด็กพัฒนาทางสมองสืบไป (จิราภา เต็งไตรรัตน์ และคณะ, 2542:300)

๔.๒ EQ (Emotional Quotient)

อีคิว หรือ Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ เชาวน์อารมณ์ เป็นความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง และผู้อื่น สามารถจูงใจตนเองและผู้อื่นได้ มีความเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ตลอดจนสื่อสารสร้างมิตรกับผู้อื่นได้อย่างดี
ภาวะผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ และทางสังคมให้สมบูรณ์เต็มที่ รวมทั้งการประยุกต์ใช้เพื่อโน้มน้าวให้ ผู้คนใช้ความอุตสาหะพยายามในทางที่สร้างสรรค์ อย่างมีประสิทธิผล

ทักษะผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์ประกอบด้วย

๑ ทักษะหลัก (Core Skills) ทักษะหลักของความฉลาดทางอารมณ์ มีความสำคัญมากสำหรับแต่ละบุคคลในการพยายามที่จะทำงานใด ๆ ได้แก่

  • การรู้จักตนเอง (Knowing Yourself) เป็นการรู้จักความรู้สึกของตนเอง และรู้ว่าทำไมจึงเกิดความรู้สึกนั้น ๆ ช่วยให้ประเมินสถานการณ์ และตัดสินใจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจ ในสิ่งที่เป็นอุปสรรคส่วนตนที่มิให้เราก้าวสู่ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลได้อีกด้วย
  • การครองสติ (Maintaining Control) เป็นเรื่องของการดำรงตนอยู่ในสภาพที่สงบท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย เมื่อเราคุมสติได้เราก็จะมีอารมณ์ที่สงบ แม้ในขณะที่ใกล้ถึงกำหนดเส้นตาย หรือการเผชิญหน้ากับวิกฤติ
  • การอ่านผู้อื่น(Reading Others) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของผู้อื่น เมื่อเราอ่านผู้อื่น เข้าใจและรู้สึกถึงอารมณ์ของผู้อื่น เราก็จะสามารถจะเชื่อมโยงกับพวกเขาได้ดีขึ้นในจินตภาพของเรา เราสามารถจะเน้นความสนใจเฉพาะวิธีที่พวกเขาจะมีส่วนร่วมอยู่ใน
    วิสัยทัศน์ของเราได้
  • การรับรู้ที่แม่นยำ (Perceiving Accurately) เป็นการเจาะข้อมูลทางอารมณ์ที่มีอยู่ให้แก่เราในลักษณะของการไร้อคติ เพื่อว่าเราจะสามารถประเมิน สถานการณ์ได้อย่างมีเหตุมีผล หากเราเกาะติดอยู่กับอารมณ์ของเราอย่างลึกซึ้งจนเกินไป การรับรู้ของเราก็จะผิดรูปผิดร่างไปได้ใน การรับรู้อย่างแม่นยำนั้น
    เราจะต้องมองให้ลึกถึงอคติต่าง ๆ เมื่อเรารับรู้อย่างถูกต้อง เราก็สามารถจะตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผล
  • การสื่อสารด้วยความยืดหยุ่น (Communicating with Flexibility) ผู้นำที่มีประสิทธิผล หมายถึง การทำให้ผู้อื่นกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการและเขา ก็ต้องการที่จะทำสิ่งนั้น ๆ ด้วย เราทำเช่นนั้นได้ ก็เพราะมีการยืดหยุ่นในสิ่งที่เราพูดและวิธีการพูดของเรา องค์ประกอบสำคัญของการสื่อสารด้วย ความยืดหยุ่น ก็คือการใช้การสื่อสารที่ไม่ใช้คำพูด (ภาษากาย) ในลักษณะที่เป็นไปในแนวเดียวกัน กับข้อความที่เราต้องการจะสื่อ

๒. ทักษะขั้นสูง (Higher – order Skills) ทักษะหลักของความฉลาดทางอารมณ์ เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้นำที่มีประสิทธิผล ในขณะที่เรานำผู้อื่นนั้น เราจำเป็นจะต้องมีทักษะเพิ่มเติม คือ ทักษะขั้นสูง ซึ่งประกอบด้วย

  • การยอมรับหน้าที่ความรับผิดชอบ (Taking Responsibility) คือ การกระทำใด ๆ โดยอิสระและมีความรับผิดชอบ เป็นเรื่องของการยอมรับเอาปัญหาและทางแก้ไขของตนเอง
  • การสร้างทางเลือก (Generating Choices) เป็นการเปิดตัวของเราให้พบกับความเป็นไปได้หลาย ๆ ทางในแนวคิด การกระทำหรือสถานการณ์ใด ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ การเป็นผู้นำที่มีความฉลาด
    ทางอารมณ์ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการค้นหาทางเลือกที่มีอยู่ในสถานการณ์ที่กำหนดให้ และช่วยให้ผู้อื่น
    เข้าใจถึงทางเลือกนั้นด้วย
  • การยอมรับในวิสัยทัศน์ (Embracing a Vision) เป็นการผูกพันตนเองเข้ากับภาพที่ชัดเจน
    ในอนาคต วิสัยทัศน์เป็นเครื่องมือสร้างความกระจ่างชัด และชี้ทิศทางที่ก่อให้เกิดพลัง และมีแนวทางที่ชัดเจนให้กับทุกคนที่ยอมรับและผูกพัน
  • การมีความกล้าหาญ (Having Courage) เป็นความกล้าหาญที่จะมองหาทางเลือกของเราและตัวของเรา คัดค้านการยึดติดกับแนวคิดและมาตรฐานในการทำงานรูปแบบเดิม ๆ การมีความกล้าหาญที่จะ
    ค้นหาหนทางที่จะให้ผลดีที่สุดกับทุกสถานการณ์
  • การแสดงความแน่วแน่ (Demonstrating Resolve) เป็นการตัดสินใจอยู่เสมอว่าจะทำอะไร ด้วยความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวและมั่นคง การแสดงความแน่วแน่นี้ ทำให้เกิดการดำเนินการที่มีความตั้งใจอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งก็เท่ากับว่าเราได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นแล้ว การแสดงความแน่วแน่เป็นการสื่อให้เห็นความหมายและความสำคัญในงานขององค์กร ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนอื่น ๆ ด้วยบุคคลที่มีความฉลาด ทางอารมณ์ จะมีความรู้สึกที่ไวต่อความต้องการของบุคคลอื่น ๆ และจะตอบสนองความต้องการนั้น แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ ที่กำลังเผชิญอยู่ พวกนี้จะสามารถปรับตัวได้ดีมาก และผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์ สามารถสร้างความมั่นคงจากความสับสนวุ่นวายได้ ถึงแม้องค์กรหลายแห่งในปัจจุบันจะมีความอลหม่าน แต่ผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotionally Intelligent Leaders) จะทำการกำหนด
    ทิศทางและสร้างความมั่นคง ซึ่งบันดาลใจให้เกิดการยอมรับหน้าที่และมีแรงจูงใจ อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จขององค์กร

๔.๓ AQ (Adversity Quotient)

เอคิว หรือ Adversity Quotient หมายถึง ความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรคและแก้ปัญหา หรือ เชาวน์แห่งความอึด เป็นความสามารถในการควบคุม มีสติ เชื่อว่าปัญหาเกิดจากสิ่งแวดล้อม ไม่โทษตัวเอง ถ้าหากเกิดจากตนเองจะยอมรับและพร้อมแก้ไข ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ อดทนต่อความยืดเยื้อ
ของปัญหา เป็นความสามารถในการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส มองความล้มเหลวเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ

๔.๔ MQ (Moral Quotient)

เอ็มคิว หรือ Moral Quotient หมายถึง ความฉลาดทางจริยธรรม หรือ ระดับสติปัญญาทางด้านศีลธรรม นิยามคำว่า คุณธรรมในที่นี้หมายถึง ระดับความเห็นแก่ตัว MQ นั้นไม่สามารถฝึกฝนหรือขัดเกลาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะที่บุคคลเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว เหมือนดังคำโบราณของไทยที่ว่า "สันดอนนั้นขุดได้ แต่สันดานนั้นขุดไม่ได้" การที่บุคคลคนหนึ่งจะมี MQ ระดับดี ต้องเริ่มปลูกฝังในวัยเด็กจึงจะได้ผล อาศัยปัจจัย ๓ อย่างด้วยกันคือ

๑. การสอนศีลธรรมโดยตรงให้กับเด็ก
๒. การถ่ายทอดทางศีลธรรมจากผู้ใหญ่ให้กับเด็ก
๓. ความรักและวินัย

สรุปว่า MQ เป็นเรื่องที่ต้องฝึกมาแต่เด็ก ถ้าได้รับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมา แต่ยังเป็นเด็ก บุคคลก็สามารถพัฒนาพื้นฐาน MQ ของตนขึ้นมาในระดับหนึ่ง (มากน้อยแล้วแต่การปลูกฝัง) และ MQ นี้ก็จะฝังลึกลงไปในจิตให้สำนึกของบุคคลผู้นั้นและจะรอเวลาที่ได้รับการกระตุ้นอีกครั้ง
โดยการอบรมสั่งสอน การฟังธรรม และวิธีอื่น ๆ แต่ถ้าบุคคลไม่มี MQ อยู่ในจิตสำนึกดั้งเดิมแล้ว ไม่ว่าโตขึ้นจะได้รับการกระตุ้นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นคนดีขึ้นมาได้มากนัก นี่คือเหตุผล ที่ว่าทำไมเราจึงมี ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมรุ่นร่วมชั้นเดียวกัน ที่มีระดับคุณธรรม จริยธรรมไม่เท่ากัน ทั้ง ๆ ที่เรียนจบออกมาจากสถาบันเดียวกันแท้ ๆ
จะเห็นได้ว่า ผลของ IQ ถ้าได้ไม่สูงมากนัก หมายถึงสติปัญญาไม่ดี ส่วนผลของ EQ ที่ต่ำ ก็จะหมายถึงบุคคลนั้นจิตใจอ่อนไหว โกรธง่าย ใจร้อน หรือ เสียใจง่าย สำหรับ AQ นั้นเป็นความสามารถในการควบคุม มีสติที่จะฟันฝ่าอุปสรรคและแก้ปัญหา แต่ผลจากการวัด MQ หมายถึง ระดับจริยธรรมสูง หรือ ต่ำ นั่นหมายถึงท่านถูกตีค่าว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนเลวเลยทีเดียว


สรุป

การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจำเป็นต้องให้ความสนใจ เนื่องจาก การบริหารยุคใหม่มุ่งเน้นการบริหารคน มาก่อนการบริหารงาน การเรียนรู้เกี่ยวกับคน มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน เพราะเป็นความพยายามที่จะเข้าใจและวิเคราะห์ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของบุคคลให้ได้ ว่าบุคคล
มีความต้องการแต่ละระดับขั้นอย่างไร ความสามารถในการวิเคราะห์คนถือว่าเป็นศิลปะของนักบริหารที่มีคุณภาพที่จะนำไปประยุกต์ใช้สร้าง แรงจูงใจ สร้างความพอใจ ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายขององค์การคือ สร้างบุคลากรมีคุณภาพ เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ที่มีคุณภาพ คำว่า “บุคลากรมีคุณภาพ” สำหรับองค์การแล้ว คือ ทีมงานคุณภาพนั่นเอง ผู้บริหารไม่เพียงดูแลในความเป็นบุคคล แต่ต้องเอาใจใส่กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เรียนรู้พื้นฐานกระบวนการกลุ่ม เพื่อนำไปใช้ในการส่งเสริมการทำงาน ของบุคคล ได้อย่างเหมาะสมในแต่ละขั้น ของพัฒนาการกลุ่ม ในเรื่องแนวคิดกลุ่มและทีมงานอาจมีความหมายหลายลักษณะ แต่ทีมงานที่มีประสิทธิภาพ จะยึดเรื่องเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของ กลุ่มเป็นสำคัญ และ ในการปฏิบัติงานร่วมกันก็ต้องรู้บทบาทและหน้าที่ของตนซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม สามารถทำงานประสานกันได้อย่างดี มีความสามัคคี เต็มใจร่วมมือช่วยเหลือกัน ความสามัคคีของกลุ่มจะเกิดขึ้นในทีมงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะต้องพยายามสร้างให้เกิดขึ้นในกลุ่มของตน เพราะจะเป็นหนทางนำพากลุ่มไปสู่ความสำเร็จ

  • จิตวิทยาสำหรับผู้บังคับบัญชา