หลักการและเทคนิคการบริหารตนเอง
ความหมายของการบริหารและทรัพยากรในการบริหาร
๓.๑.๑ หลักการบริหาร
ในปัจจุบันนี้องค์การหรือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องพึ่งการบริหารอยู่มากในบรรดา กิจกรรมของมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการบริหาร เพราะงานด้านการบริหาร จะเป็นงานที่สำคัญต่อ การอำนวยการ ให้มนุษย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากกว่าแต่ก่อน เราจะพบว่าองค์การเกิดขึ้น และมีอยู่ในสังคมมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนความพยามยามของกลุ่มคน ที่มีความรู้ความสามารถ ความชำนาญ รวมทั้งประสบการณ์ในวิชาชีพนั้น ๆ แล้วรวมตัวกันขึ้นเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ของ องค์การหรือหน่วยงาน ซึ่งบุคคลคนเดียวไม่สามารถทำได้สำเร็จได้โดยลำพัง และองค์การจะมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากน้อยเพียงใดจะประสบผลสำเร็จ หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับความสามรถของผู้ที่ทำน้าที่ในการบริหารในองค์การ จึงอาจกล่าวได้ว่า การบริหารเป็นสิ่งควรคู่และเกี่ยวข้องกับองค์การเสมอ
ความหมายของการบริหาร
คำว่า “การบริหาร” หรือ “การจัดการ” โดยทั่วไปเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน และใช้แทนกันได้เสมอ คำภาษาอังกฤษที่มักใช้เรียกในความหมายของ การบริหาร มี 2 คำ คือ Management และ Administration ส่วนมากคำว่า Management มักจะใช้ในทางธุรกิจ ซึ่งหมายถึง การนำเอานโยบายไปปฏิบัติ โดยมีการกำหนดแบบงาน วิธีการทำงาน และการใช้ปัจจัย หรือทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า การจัดการ ส่วนคำว่า Administration มักเน้นการบริหาร เกี่ยวกับนโยบาย มักนิยมใช้ในทางราชการ เช่น Public Administration
สำหรับคำนิยามของคำว่า “การบริหาร” มีคำนิยามอยู่หลายคำนิยามแต่ที่นิยมกันแพร่หลายกันอยู่ในปัจจุบันมี 2 นิยาม คือ
๑. การบริหาร คือ ศิลปะของการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยบุคคลอื่นในความหมายนี้ชี้ในเห็นว่าผู้บริหารประสบความสำเร็จในเป้าหมายของพวกเขา โดยการเตรียมการให้กับบุคคลอื่นปฏิบัติงานอะไรก็ได้ที่มีความจำเป็น ผู้บริหารมิได้ปฏิบัติงานดังกล่าวด้วยตัวของพวกเขาเอง
๒. การบริหาร คือ กระบวนการของการวางแผน การจัดองค์การ การสั่งการ และการควบคุมกำลังความพยายามของสมาชิกขององค์การ และใช้ทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อความสำเร็จในเป้าหมายขององค์การที่กำหนดไว้ ในความหมายนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริหารใช้ทรัพยากรทั้งหมดขององค์การ ซึ่งมีเงินทุน อุปกรณ์ ข่าวสาร และคน เพื่อความสำเร็จในเป้าหมายขององค์การ คนเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญที่สุดขององค์การ
จากคำนิยามของการบริหารดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าการบริหารจะกินความครอบคลุมประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ ได้ดังนี้
๑. จะต้องมีวัตถุประสงค์ ( Objective ) คือ เป้าหมายในการดำเนินงานที่ผู้บริหารต้องดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ
๒. จะต้องมีประสิทธิภาพ ( Effectiveness ) คือ ความสำเร็จของผลงานตามที่คาดหมายไว้
๓. จะต้องมีทรัพยากร ( Resource ) คือ ปัจจัยต่าง ๆ ของการบริหาร ที่ผู้บริหารเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง ซึ่งแต่เดิมโดยทั่วไป ประกอบด้วย คน (Man) เงิน (Money) วัสดุ (Material) และการจัดการ (Management) หรือที่เรียกโดยย่อว่า ๔ M’s แต่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทางสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ทรัพยากรดังกล่าวจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย กล่าวคือ ทรัพยากรที่เป็นส่วนประกอบในการบริหาร ประกอบด้วย ทรัพยากรคน (Human Resource) ทรัพยากรที่เป็นวัสดุและอุปกรณ์ (Physical Resource) และทรัพยากรทางด้านเงินทุน (Financial Resource) และทรัพยากรทางด้านข่าวสารข้อมูล (Information Resource)
๔. มีการประสมประสานกัน ( Integration and Coordination ) คือ กระบวนการในการดำเนินงานด้วยประการทั้งปวง ที่ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ สอดคล้องต่อเนื่องกัน
สาเหตุและความจำเป็นที่ต้องมีการบริหาร
ความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารนั้น เหตุผลต่าง ๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับแนวความคิดของการรวมตัวเป็นกลุ่ม และมีการร่วมกันทำงานในลักษณะที่เป็น องค์การ ตามที่กล่าวมา กล่าวคือ องค์การต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือให้สามารถทำการผลิตได้ดีขึ้นนั้นจุดสำคัญคือ ประสิทธิภาพและผลงานต่าง ๆ ที่จะทำได้ดีขึ้นนั้น จะอยู่ที่การสามารถเข้ามาร่วมกันทำงานโดยที่ภายในองค์การจะต้องมีการแบ่งงานกันทำ และคนที่เข้ามาจะช่วยกันทำหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ ที่ตนมีความถนัด หรือมีความชำนาญเป็นพิเศษ ตลอดจนช่วยกันแบ่งภาระรับผิดชอบตามความยากง่ายด้วย จึงจะสามารถเกิดสภาพที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในทุก ๆ จุดขององค์การได้
ทรัพยากรในการบริหาร
การบริหารงานทุกอย่างจะต้องอาศัยทรัพยากรหรือปัจจัยทางการบริหารทั้งสิ้นทรัพยากรทางการบริหารนี้ ตอนแรกนักวิชาการทางการบริหาร ได้แบ่งออกได้เป็น ๔ องค์ประกอบ ที่เรียกติดปากว่า ๔ M’s อันได้แก่ คน (Men) เงิน (Money) วัสดุ (Material) และวิธีการบริหาร (Management) ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี จึงมีการเพิ่มปัจจัยทางการบริหารจาก ๔ M’s เป็น ๗ M’s ๓ M’s ที่เพิ่มขึ้น คือ ตลาด(Market) เครื่องจักร(Machine) และขวัญ(Moral) ในปัจจุบัน มีการแบ่งทรัพยากรในการออกเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. Human Resources ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรมนุษย์ อันได้แก่ ผู้บริหารพนักงานในระดับต่าง ๆ ซึ่งหมายถึง “คน” นั่นเอง
๒. Financial Resources ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรทางด้านการเงิน อันได้แก่ เงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงานของกิจการ
๓. Physical Resources ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรทางด้านวัสดุ และอุปกรณ์ต่าง ๆตลอดจนที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการดำเนินงานของกิจการ
๔. Information Resources ซึ่งหมายถึงทรัพยากรทางด้านข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ที่กิจการใช้ในการบริหารงาน และใช้ในการตัดสินใจในการบริหาร
กิจกรรมทางการบริหาร
ตามความหมายที่ว่าผู้บริหาร คือ ผู้ทำให้งานต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จโดยอาศัยคนอื่นทำโดยมีระบบที่เกี่ยวข้องกับบริหาร ๒ ระบบ คือ ระบบคนและระบบงาน ปัญหาที่ตามมาที่ควรทราบก็คือว่า กิจกรรมที่ผู้บริหารต้องทำจริง ๆ คือ อะไรบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมี 5 หน้าที่หลัก ดังนี้ คือ
๑. การวางแผน ( Planning )
๒. การจัดองค์การ ( Organizing )
๓. การจัดคนเข้าทำงาน ( Staffing )
๔. การสั่งการและการประสานงาน ( Directing and Co-orpertion )
๕. การควบคุม ( Controlling )
กระบวนการในการบริหาร
การบริหาร ถือได้ว่าเป็นกระบวนการในการปฏิบัติที่เป็นสากลในการบริหารงานทุกอย่าง ในทุกองค์การของนักบริหารทุกคน ความหมายในที่นี้ก็คือ งานบริหารทั้ง 5 ประการข้างต้น ล้วนแต่เป็นขั้นตอนและกระบวนการทำงานพื้นฐานที่ผู้ปฏิบัติงานบริหารที่อยู่ในทุกระดับของการบริหาร และในองค์การทุกแห่งทุกชนิดต่างต้องปฏิบัติเหมือนกันหมดนั่นเอง ทั้งนี้จะแตกต่างกันแต่เพียงเฉพาะขนาดของเวลาที่ใช้เพื่อทำงานบริหารต่าง ๆ เหล่านี้จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามระดับการบริหารที่ยากง่ายต่างกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารของระดับใดก็ตามลักษณะงานการบริหารที่ต้องทำจะเหมือนกันหมด กระบวนการบริหารที่ประกอบด้วยหน้าที่งานการบริหารทั้ง 5 ประการดังกล่าวนี้ ตามความจริงแล้วจะไม่แยกชัดออกจากกัน แต่จะเกี่ยวข้องกันซึ่งกันและกันตลอดเวลา แต่การแยกหน้าที่งานออกเป็นส่วนต่าง ๆ ก็เพื่อสะดวกในการศึกษาหน้าที่งานการบริหารแต่ละอย่างและเพื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันที่มีอยู่ต่อกันของงานการจัดการทั้งหมด
ขอบเขตความหมายและข้อแตกต่างของหน้าที่งานบริหาร แต่ละประการข้างต้นจะได้ขยายความดังนี้
๑. การวางแผน (Planning) หมายถึง การกำหนดแผนงาน หรือวิธีการปฏิบัติงานไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อผลสำเร็จตามที่ต้องการ การวางแผนจะเกี่ยวข้องกับ การใช้ดุลพินิจพิจารณาถึงผลสำเร็จ ที่ต้องการจะได้และหนทางที่จะทำให้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ในทางปฏิบัติในการวางแผนผู้บริหารจะทำการคาดการณ์ เหตุการณ์ ในอนาคต และจะมีการคิดวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป้าหมายผลงานต่าง ๆ และจะกำหนดแผนงาน หรือแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ที่จะช่วยให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ หน้าที่การวางแผนจึงเป็นเครื่องช่วยให้ผู้บริหารเกิดความรอบคอบในการก้าวไปในอนาคต โดยไม่ตั้งอยู่ในความประมาทและสามารถเผชิญกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นข้างหน้า ผลดีของการวางแผนจึงเท่ากับช่วยให้เกิดการป้องกันปัญหามากกว่าการต้องคอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ในการวางแผนนั้นผู้บริหารจะใช้ดุลพินิจพิจารณาสิ่งต่าง ๆ คือ องค์การธุรกิจจะทำอะไรให้ได้ผลงานอย่างไร ทำอย่างไร ทำโดยใคร ทำเมื่อไร ซึ่งเมื่อคิดตลอดจนได้แผนงาน หรือแนวทางการปฏิบัติที่ดีออกมาแล้วก็จะช่วยให้องค์การสามารถทำงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้โดยมีประสิทธิภาพสูงทั้งในแง่ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ ชนะคู่แข่งได้ในที่สุด
กล่าวโดยสรุป การวางแผนจะมีขั้นตอนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การกำหนดเป้าหมาย และส่วนที่สองการวางแผน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย ดังกล่าว
๒. การจัดองค์การ (Organizing) คือ การพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อให้งานต่าง ๆ
สามารถดำเนินไปโดยมีการประสานงานกันอย่างดี การจัดโครงสร้างองค์การ คือ การจัดโครงสร้างงานประกอบด้วยการกำหนดตำแหน่งงาน การจัดกลุ่มงานเป็นหน่วย แผนก หรือเป็นกอง การมอบหมายอำนาจหน้าที่ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน โครงสร้างที่ดีจึงต้องกสามารถชี้ชัดได้ว่า ใครต้องทำอะไร และใครจะต้องรายงานต่อใคร ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมีระเบียบ ในขณะปฏิบัติงานเป็นกลุ่มได้อย่างดี การจัดโครงสร้างองค์การ โดยมีการกำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ระหว่างกิจกรรมและตำแหน่งต่าง ๆ นี้เอง จะช่วยให้มั่นใจได้ตลอดเวลาว่าการทำงานจะสามารถประสานกันได้ และอยู่ภายใต้การควบคุมเสมอ โครงสร้างองค์การที่จัดขึ้นจึงเป็นขั้นตอนงานการจัดการที่ต้องกระทำต่อเนื่องจากการวางแผน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เมื่อลงมือปฏิบัติงานจริงแล้วงานต่าง ๆ จะบรรลุผลสำเร็จลงได้ การจัดองค์การจะช่วยให้เกิดผลดีที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเตรียมทรัพยากรเพื่อการทำงานโดยจะไม่มีตำแหน่งงานที่ขาดหรือเกิน และในขั้นปฏิบัติจะไม่เกิดสับสน หรือการทำงานก้าวก่ายซ้ำซ้อนกันผู้ทำงานจะรู้ถึงขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ ฝ่ายต่าง ๆ จะรู้ว่าหน่วยงานใดเป็นหน่วยปฏิบัติและหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานที่ปรึกษา และโดยสายการบังคับบัญชาที่กำหนดไว้จะช่วยให้ทุก ๆ ฝ่ายสามารถทำงานได้ตลอดเวลาอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งข้อขัดแย้งต่าง ๆ จะไม่เกิดขึ้น
กล่าวโดยสรุป การจัดโครงสร้างองค์การก็คือ การมุ่งพยายามจัดระเบียบให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ ทั้งหลายเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ สะดวก และราบรื่น โดยมีขั้นตอนการจัด 2 ขั้น คือ
๑. การจัดกลุ่มงานที่จำเป็นเพื่อการทำงานตามเป้าหมาย
๒. การมอบหมายอำนาจหน้าที่ที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติงานต่าง ๆ
๓. การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing) หมายถึงภารกิจของบริหารในการดำเนินกิจกรรมทางการจัดการที่เกี่ยวกับ การจัดทรัพยากรมนุษย๎ โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ องค์การธุรกิจมีกำลังคนที่มีประสิทธิภาพพร้อมในการทำงานในทุกตำแหน่งงาน หลักการและนโยบายของหน้าที่จัดการเกี่ยวกับบุคคลที่จะยึดถือปฏิบัติก็คือ การพยายามให้เป็นไปตามหลัก “Put the right man on the right job” หรือการพยายามทำให้ทุกตำแหน่งมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถพร้อม และเหมาะสมกับงานที่ทำให้มากที่สุดตลอดเวลานั่นเอง
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดคนเข้าทำงานเพื่อให้ได้คนดีมีความสามารถพร้อม ก็คือการจำต้องทำการคัดเลือก ปฐมนิเทศ การอบรมและพัฒนาบุคคล ตลอดจนการประเมินงานและการจัดระบบรางวัลตอบแทนต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน และการริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะทุ่มเททำงาน ให้องค์การเป็นอย่างดีตลอดไป
๔. การสั่งการและการประสานงาน (Directing and Coordinating) หมายถึงกิจกรรมทางการบริหารโดยผู้นำหรือผู้บริหารในการบังคับบัญชา ให้การทำงานต่างๆภายในโครงสร้างองค์การดำเนินไปโดยราบรื่นมีการประสานงานร่วมใจร่วมแรงกันทำ ทั้งนี้ความพยายามของผู้บริหาร ในการสร้างศิลปะการบังคับบัญชา ที่จะทำการให้การทำงานประจำวันของเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นไปด้วยดีนั้น คือ ต้องฝึกทักษะให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่สามารถโน้มน้าวและชักจูงผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทุ่มเทการทำงานนั่นเอง ซึ่งในการนี้การสร้างความเข้าใจ โดยมีทักษะในด้านการสื่อสารนับว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น และการเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์จะเป็นพื้นฐาน ที่จะช่วยให้ผู้บริหารมีความคล่องตัวสามารถ ประยุกต์ศิลปะการสั่งการ และการประสานงานให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องตามสถานการณ์ได้
กล่าวโดยสรุป หน้าที่การสั่งการและการประสานงานจะเกี่ยวข้องกับการชักนำและช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานของตนอย่างดี ทั้งนี้โดยอาศัยวิธีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดีนั่นเอง
๕. การควบคุม (Controlling) คือกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าการทำงานต่าง ๆ จะสำเร็จผลตามแผนที่ตั้งไว้ ซึ่งขั้นตอนการควบคุม ที่สำคัญนั้น จะต้องมีการวัดผลงานสิ่งที่ทำได้ มีการเปรียบเทียบผลงานกับเป้าที่ตั้งไว้ และการดำเนินการแก้ไขเมื่อมีสิ่งผิดปกติหรือมีเหตุการณ์ ทำให้ผลงานคลาดเคลื่อนจากที่กำหนดไว้ในแผน ด้วยกลไกการควบคุมดังที่กล่าวนี้ การควบคุมจึงต้องมีการพิจารณาตกลงใจให้ชัดว่าจะวัดผลงานอะไร จะวัดโดยวิธีการอย่างไร จะใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัววัด
หลักและนโยบายของการควบคุมนั้น พื้นฐานจะอยู่ที่ “การควบคุม” ผู้ทำงานเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะงานต่าง ๆ จะสำเร็จได้ผลดีเพียงใดนั้น จะอยู่ที่คนปฏิบัติงานมากกว่าวัตถุสิ่งของ หรือเครื่องจักร ด้วยแนวความคิดดังกล่าว การควบคุมที่มีประสิทธิภาพ จึงอยู่ที่พยายามติดตามดูว่า มีงานในความรับผิดชอบของใครบ้าง ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และการพยายามกำกับให้ผลงานของผู้ทำงานทุกจุดเบนกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ โดยเทคนิคที่ใช้ในการควบคุมในทางการบริหารนั้น วิธีการจะกระทำโดยการประเมินผลงาน การวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาและการให้ข้อแนะนำปรึกษาต่าง ๆ นั่นเอง
กล่าวโดยสรุปกระบวนการบริหารที่ประกอบด้วยหน้าที่งานการบริหารทั้ง 5 ประการ จึงเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญของผู้บริหารที่พึงต้องปฏิบัติ เพื่อการบริหารงานหรืองานคนในระบบองค์การธุรกิจ เพื่อให้งานต่าง ๆ เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจากหน้าที่งานการบริหารนี้ หากนำมาสรุปเป็นขอบเขตงานที่ผู้บริหารต้องเกี่ยวข้องคอยจัดการตลอดเวลาแล้ว จะเห็นว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องที่ผู้บริหารต้องคอยจัดการจะมี 3 สิ่ง คือ
๑. การจัดการเกี่ยวกับด้านความคิด คือ ต้องคอยคิดวิเคราะห์สถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้องค์การธุรกิจสามารถ “วางแผน” เพื่อให้สามารถมีทางเลือกแผนงานที่ดีที่สุด
๒. การจัดการเกี่ยวกับสิ่งของ คือ การจัดองค์การเพื่อให้มีการแข่งกิจกรรมและจัดระเบียบทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรวมเป็นกลุ่มงานที่ทุกฝ่ายสามารถ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓. การจัดการเกี่ยวกับคน คือ เป็นส่วนของการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อการปฏิบัติงานให้เกิดผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ ซึ่งหน้าที่การบริหารที่เกี่ยวกับคนทั้ง ๓ หน้าที่ คือ การจัดคนเข้าทำงานเพื่อให้ได้คนดีที่มีความสามารถ และการสั่งการเพื่อให้มีการจูงใจผู้ทำงานโดยศิลปะการปกครองบังคับบัญชาที่ดี รวมทั้งการควบคุมเพื่อติดตามดูแลและกำกับการทำงานคนให้เข้าสู่มาตรฐานที่ตั้งไว้เหล่านี้ล้วนเป็นการบริหารเกี่ยวกับคนทั้งสิ้น
๑.๓.๒ เทคนิคการบริหารตนเอง
การบริหารตนเองถ้ายึดถือตามหลักการบริหารโดยทั่วไปแล้ว ก็หมายถึงการทำให้งานต่าง ๆ ที่ตนได้ตั้งเป้าหมายไว้ให้เสร็จลุล่วงไปด้วยดี
โดยทั่วไปเป้าหมายของคนเรานั้นมักจะตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้ ๓ ด้านด้วยกันคือ
๑. ความสำเร็จในเรื่องส่วนตัว ซึ่งได้แก่ความสำเร็จในด้านการศึกษา ในด้านได้รับตอบสนองความต้องการทั้ง 5 ขั้นตอนของ Maslow
๒. ความสำเร็จในด้านหน้าที่การงาน ซึ่งได้แก่การประสบความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชา
๓. ความสำเร็จในชีวิตครอบครัว ซึ่งได้แก่การมีคู่ครองที่ดีมีบุตรที่ดีและมีสภาพครอบครัวที่ดีพร้อม
การที่เราจะมีความสำเร็จตามเป้าหมายทั้ง ๓ ประการที่ตั้งไว้ ก็ต้องใช้หลักการบริหารเข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งได้แก่กระบวนการบริหารทั้ง ๕ ประการ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว คือการวางแผน การจัดองค์การ การจัดคนเข้าทำงาน การสั่งการและการประสานงานและการควบคุม ซึ่งจะได้กล่าวขยายความได้ดังนี้
๑. การวางแผน ทุกคนต้องมีการวางแผนตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือ การวางแผนในด้านการศึกษาว่าจะศึกษาทางด้านใด โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อม ทั้งภายนอก และภายใน สภาพแวดล้อมภายนอกหมายความว่า หลังจากที่เราสำเร็จการศึกษาแล้ว มีงานรองรับมากน้อยแค่ไหน สถานศึกษาที่เราจะเข้าศึกษา ต่อมีที่ไหนบ้าง การเดินทางสะดวกมากน้อยแค่ไหน ส่วนสภาพแวดล้อมภายใน หมายถึง ความสามารถของตัวเราเองว่ามีความสามารถที่จะเรียนสำเร็จหรือไม่ ทุนที่จะใช้ในการศึกษามีพอที่จะเรียนต่อได้สำเร็จหรือไม่ หรือความถนัดของตัวเราเองนั้นชอบทางสายที่เราจะศึกษาหรือไม่ซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาว ส่วนการวางแผนระยะสั้นนั้น หลังจากที่เราได้เข้าศึกษาตามที่เราวางแผนไว้แล้ว เราจะวางแผนการเรียนแต่ละปีเป็นอย่างไร วางแผนการเรียนแต่ละวัน
อย่างไรในด้านของการวางแผนทางด้านการงาน โดยเราควรจะวางแผนก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาว่าเราจะทำงานในหน่วยงานแบบใด ทำงานในหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของเอกชน ในหน่วยงานของเอกชนก็ควรจะวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะทำงานในธุรกิจประเภทใดธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชย์กรรม หรือสถาบันการเงิน เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ถูกต้องตามความต้องการของหน่วยงาน ในด้านของการวางแผนทางด้านครอบครัว ควรจะวางแผนในด้านการมีครอบครัวเมื่อใด วางแผนการจัดซื้อทรัพย์สิน ตลอดจนการวางแผนการใช้จ่ายเงิน เช่น จะแบ่งรายได้ออกเป็นกี่ส่วนเพื่อเก็บสะสม ใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น และใช้จ่ายในส่วนเพื่อความเพลิดเพลินพักผ่อนหย่อนใจ ความสะดวกสบาย จะเห็นได้ว่าในชีวิตของคนเราถ้าเราสามารถวางแผนชีวิตได้ดีเราก็จะประสบความสำเร็จ ทั้งด้านส่วนตัว หน้าที่การงาน ตลอดจนครอบครัวในที่สุด
๒. ด้านการจัดองค์การ ความจริงชีวิตของคนเราก็เหมือนองค์การธุรกิจ เนื่องด้วยเราเองมีงานที่จะต้องทำหลายด้านเช่นกัน เช่น งานเกี่ยวกับการศึกษา งานเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางบ้านหรืองานอดิเรก เราก็ควรจะต้องจัดการแบ่งงานต่าง ๆ และแบ่งเวลาให้ตามความสำคัญของงาน เช่น จะหาเวลาช่วงใดสำหรับการศึกษา ให้เวลาช่วงใดแค่ไหนสำหรับช่วยเหลืองานทางบ้าน และให้เวลาช่วงใดแค่ไหนสำหรับงานอดิเรก ซึ่งก็เท่าว่าเราจัดการแบ่งเวลาให้สำหรับการทำงานแต่ละอย่างไว้อย่างมีแผน และเมื่อเราได้ทำงานแล้วการจัดการเกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่และงานส่วนตัวก็ถือว่าเป็นการจัดการเรื่องของเรา เรามักจะได้ยินผู้ที่ทำงานบางคนบ่นเป็นประจำว่า ไม่มีเวลา มีงานที่จะต้องทำเยอะ บางคนต้องนำงานที่ทำงานมาทำที่บ้าน นั่นเป็นเพราะว่า ไม่สามารถจัดการเกี่ยวกับการแบ่งเวลาและแยกแยะงานได้ถูกทำให้มีปัญหาทั้งทางบ้านและที่ทำงาน ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนในการจัดองค์การในครอบครัวเราเอง ในกรณีที่เราเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีสมาชิกหลายคน ถ้าเรารู้จักแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้แต่ละคนทำ ตามหลักการจัดองค์การแล้วก็จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่เป็นภาระของคนใดคนหนึ่งหรืองานไปหนักอยู่ที่คนใดคนหนึ่งเรามักจะพบเห็นกันบ่อยว่า บางบ้านแม่บ้านทำงานหนักตัวเป็นเกลียว ในขณะที่สมาชิกบางคนไม่ต้องทำอะไรเลย นั่นเป็นเพราะว่าหัวหน้าครอบครัวไม่รู้จักมอบหมายงานให้ทำนั่นเอง ในขณะที่บางบ้านหัวหน้าครอบครัวแบ่งภาระหน้าที่ให้แต่ละคนทำ ซึ่งแต่ละคนมีความรับผิดชอบไปคนละอย่างงานก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
๓. การจัดคนเข้าทำงาน ตามหลักที่เราได้ศึกษามาแล้วว่า การจัดคนเข้าทำงานนั้นยึดหลัก “Put the right man on the right job” ในชีวิตครอบครัวของเรา เราก็สามารถจัดสมาชิกในครอบครัวให้เหมาะสมกับงานได้เช่นกัน เช่น หัวหน้าครอบครัว มอบหมายหน้าที่ในการรดน้ำต้นไม้ให้กับลูกชาย มอบหมายหน้าที่ในการล้างจานให้กับลูกสาว และหน้าที่ในการทำกับข้าวให้กับแม่บ้านและหัวหน้าครอบครัวมีหน้าที่หารายได้ ซึ่งในการจัดสมาชิกในครอบครัวให้รับผิดชอบทำงานหน้าที่ต่าง ๆ ก็เท่ากับการจัดบุคคลเข้าทำงาน ตามหลักของการจัดการเช่นกัน
๔. การสั่งการและการประสานงาน มนุษย์ทุกคนจะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ จะต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ฉะนั้นความจำเป็นในการเป็นผู้นำการสื่อสาร จึงจำเป็นต้องมี แม้ว่าไม่ได้เป็นองค์การธุรกิจหรือหน่วยงานรัฐบาลก็ตาม เช่นตัวเราเมื่อเป็นผู้นำของครอบครัว ต้องมีความรับผิดชอบ ก็จะต้องเป็นผู้สั่งการและประสานงาน การสั่งการและการประสานงานที่ดี ก็จะต้องมีความเป็นผู้นำ และมีทักษะในการสื่อสารที่ดี เพราะถ้าเราเป็นหัวหน้าครอบครัวแต่ขาดความเป็นผู้นำที่ดี ก็ไม่สามารถจะสั่งใครให้ทำอะไรได้ หรือถ้าไม่มีทักษะในการสื่อสารการสั่งการและการประสานงานก็จะไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน
๕. การควบคุม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องกระบวนการบริหาร องค์การธุรกิจจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จะต้องมีการควบคุม ในชีวิตคนเราก็เช่นกัน ถ้าขาดการควบคุมก็เปรียบเสมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ การควบคุมนี้ยังรวมถึงการควบคุมตนเองให้ดำเนินชีวิตตามแผนที่เราวางไว้ตอนแรก โดยเปรียบเทียบระหว่างแผนการที่วางไว้กับผลที่สามารถทำได้ นอกจากนี้การ
ควบคุมยังหมายถึงการควบคุมทางด้านใช้เงิน การใช้เวลา ของตนเองว่าเป็นไปตามที่เราวางแผนไว้หรือไม่
สรุปแล้วจะเห็นได้ว่า การบริหารตนเองโดยยึดหลักการบริหาร ถ้าเราสามารถทำได้ถึงแม้ว่าจะไม่ทุกระบวนการ หรือทุกหน้าที่ในการบริหารถ้าเรารู้จักประยุกต์ใช้ก็จะสามารถทำให้ชีวิตของเราประสบความสำเร็จ และมีความสุขในชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และชีวิตครอบครัวตลอดไป
๓.๒ การนำธรรมมาใช้ในการบริหารตนเอง
๓.๒.๑ ลักษณะของชีวิตที่มีคุณภาพ
ชีวิตทุกชีวิตประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ ๒ ส่วน คือ กายและจิต ดังนั้นชีวิตที่มีคุณภาพคือชีวิตที่ประกอบด้วยกาย และจิต ที่มีคุณภาพซึ่งมีโอกาส จะพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ต่อไป ทำให้มีสุขภาพกายดีและมีสุขภาพจิตดี
สุขภาพกายดี คือ ร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งต้องเป็นมาตรการเอาใจใส่ดูแลรักษาสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มีคุณค่าแก่ร่างกาย ออกกำลังกายให้พอเหมาะพอควรตามวัย และมีเวลาพักผ่อนที่พอเหมาะ หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นสาเหตุในการบั่นทอนสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น
สุขภาพจิตดี จะส่งผลให้มีสุขภาพกายดีด้วย เพราะจิตใจที่ดีย่อมต้องอยู่ในร่างกายที่ดี ในขณะเดียวกันสุขภาพกายดีก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้สุขภาพจิตดีและ ยังพบว่า การที่บุคคลมีสุขภาพจิต ดีนั้นเกิดจากการมองโลกในแง่ดี การที่คนจะมองโลกในแง่ดีได้ก็ย่อมมาจากรู้จักคิดแต่สิ่งดี ๆ คิดในเชิงสร้างสรรค์เป็นประโยชน์เลือกที่จะคิดในเชิงบวก
ลักษณะความคิดของคนเรา สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ
๑. ความคิดที่ดี เป็นความคิดที่นำความสุขมาให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นความคิดทางบวก มองทุกสิ่งในแง่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม เช่น เมื่อถูกตำหนิติเตียน ก็ไม่โกรธ ไม่รู้สึกท้อแท้ ไม่เกิดปมด้อย แต่กลับรู้สึกขอบคุณผู้ตำหนิ เพราะคิดว่าเขาช่วยบอกหรือแนะนำในส่วนที่เรายังบกพร่องอยู่ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป ทำให้มองผู้ตำหนิเป็นมิตรไม่ใช่ศัตรู
๒. ความคิดไม่ดี เป็นความคิดที่นำความทุกข์มาสู่ตนและผู้อื่น เช่น ความคิดเกี่ยวกับปมด้อย ขาดความเชื่อมั่น ดูถูกตนเอง หรือความคิดกังวล เป็นต้น เมื่อเกิดความคิดดังกล่าวทำให้เกิดความท้อแท้ ทำให้เครียดมีผลทำให้รู้สึกอ่อนล้า เหนื่อยหน่าย ซึมเศร้าเหงาหงอย ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาการ ที่บ่งบอกถึงสุขภาพจิตไม่ดีและมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคลผู้นั้น
เมื่อบุคคลเกิดความคิดที่ดีก็ย่อมส่งผลให้การแสดงพฤติกรรมหรือการทำต่อบุคคล
อื่นในลักษณะที่ดี โดยสามารถจะสังเกตเห็นได้ชัดเจน ทั้งกิริยาท่าทาง น้ำเสียงและคำพูดจะ แสดงออกในลักษณะที่เป็นมิตร ซึ่งจัดว่าเป็นคุณลักษณะที่ดีมีเสน่ห์เปรียบเสมือนเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดให้บุคคลอื่น ๆ ต้องการเข้าใกล้เพื่อทำความรู้จักคุ้นเคย บุคลิกภาพเช่นนี้ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด มีความจริงใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จึงย่อมจะมีมิตรสหายมากเพราะถ้าได้รู้จักค้นคว้าสมาคมด้วยก็จะได้รับแต่ความสบายใจ ดั้งนั้น เมื่อความคิดมีอิทธิพลต่อสุขภาพทั้งกายและจิต จนก่อให้เกิดเป็นบุคลิกภาพของบุคคล เราทุกคนจึงควรที่ฝึกฝนให้รู้จักคิดแต่ในสิ่งที่ดี มีสาระและประโยชน์ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวพันใกล้ชิดกัน
๓.๒.๑ หลักธรรมในการบริหารตนเอง
ธรรมช่วยทำให้มนุษย์รู้จักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั่นคือการดำเนินชีวิตที่นำมา ความสงบสุขมาสู่ตนและสังคมโดยส่วนรวม สถานที่ใดก็ตามที่ประกอบด้วยบุคคลที่ยึดหลักธรรม เป็นหลักในการดำเนินชีวิต สถานที่นั้นจะสงบร่มเย็นมีแต่ความสุข ไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่มีการให้ร้ายป้ายสีกัน ไม่มีการอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน มีแต่ความเมตตา อภัยซึ่งกันและกัน แนะนำในสิ่งที่พึงกระทำและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่พึงกระทำ บุคลที่อยู่ในสถานที่นั้นย่อมเป็นสุข และทำให้สังคมเกิดความสงบสุขที่อยู่ในสถานที่นั้น
ก่อนที่จะนำหลักธรรมไปใช้ควรจะได้ทำความเข้าใจกับคำว่า "ธรรม" ก่อน ธรรม คือ สภาพความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา ธรรมชาติ
หลักธรรมที่จะนำมาใช้ในการบริหารตนเอง มีดังนี้
๑. อิทธิบาท 4 เป็นธรรมที่เป็นแนวปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งมี ๔ ประการด้วยกัน บุคคลผู้ใดยึดหลักอิทธิบาท ๔ ในการเรียน การทำงาน หรือการบริหารกิจการ ย่อมทำให้งานที่กำลังดำเนินอยู่หรือรับผิดชอบอยู่ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์
เสถียรพงษ์ วรรณปก ( ๒๕๓๓: ๖๔-๖๕) ได้อธิบายความหมายของอิทธิบาท ๔ ในเรื่องการงานไม่อังกูร หรือ การทำงานไม่คั่งค้าง ไว้ดังนี้
ฉันทะ แปลว่า ความพอใจ และถ้าจะให้เข้าใจง่ายต้องแปลว่า ความรักงาน หรือเต็มใจทำ เมื่อคนเรามีความรักงานเราก็ย่อมทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเต็มที่
วิริยะ คือ ความเพียรพยายามหรือแข็งใจทำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าฝืนใจทำแบบซังกะตาย แต่หมายถึงท่านทำงานด้วยความเข้มแข็ง กล้าสู้ไม่ว่างาน จะลำบาก มากมายเพียงใด พยายามทำเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
จิตตะ คือ ตั้งใจทำ หมายถึง คิดถึงงานที่ได้ลงมือทำไว้แล้วตลอดเวลา เราใจจดจ่อที่งานนั้น ไม่ทิ้งงานพยายามหาทางปรับปรุงให้งานก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่างานจะใหญ่ จะยาก จะมากแค่ไหน ก็สำเร็จลงได้ง่ายเพราะใจสู้งาน
วิมังสา เข้าใจทำนั่นคือทำงานด้วยการใช้ปัญญา ทำงานอย่างฉลาด คนเราถึงจะรักงานเพียงใด พากเพียรเพียงใด เอาใจจดจ่ออยู่กับงานเพียงใด ถ้าขาดปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ แทนที่งานจะสำเร็จ อาจไม่สำเร็จตามที่มุ่งหวัง
ดังนั้น ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานใด ๆ ก็ตามจะต้องประกอบด้วย พอใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ และเข้าใจทำ หรือ ฉลาดทำ
๒. ฆราวาสธรรม เป็นหลักธรรมที่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปจำเป็นจะต้องมีไว้เพื่อเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต เหมือนเป็นอาภรณ์ประดับกายที่มีค่า ทำให้เป็นคนที่มีลักษณะน่าเชื่อถือ น่าเคารพ น่าศรัทธา น่าไว้วางใจ เป็นหลักธรรมที่เสริม และไปด้วยกันดีกับอิทธิบาท 4 ทำให้เพิ่มพลังในการ ทำงานยิ่งกว่ารถยนต์ที่เติมน้ำมันเบนซินซูเปอร์เสียอีก ดังนั้น เราซึ่งควรมาศึกษารายละเอียดของฆราวาสธรรมว่ามีประการใดบ้างจึงขอยกคำสอนของหลวงพ่อทัตฺตชีโว วัดธรรมกาย ที่ได้เทศน์อบรมพุทธศาสนิกชน เกี่ยวกับฆราวาสธรรม ดังนี้
๒.๑ สัจจะ คิดทำอะไรให้จริงจังและจริงใจ ทุ่มหมดตัว ไม่ยั้ง ไม่เหยาะแหยะ ได้แก่
๒.๑.๑ จริงต่อหน้าที่ บุคคลไม่ว่าสถานะใดต้องมีหน้าที่ทุกคน เมื่อรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนแล้ว ก็รับผิดชอบและทำหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง
๒.๑.๒ จริงต่องาน เมื่อบุคคลมีหน้าที่ก็ต้องมีงานตามมาคนที่จริงต่อการงานไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่อะไรก็ทุ่มทำงานในหน้าที่นั้นให้หมดตัว ไม่ต้องขยักไว้ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ชาติไทยเรื่องการกู้เอกราชของพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงคราวที่พระองค์จะตีเมืองจันทบุรี พระองค์ก็ทรงทุ่มเทหมดตัวเหมือนกัน เย็นวันนั้นพอพวกทหารกินข้าวกินปลาอิ่มกันดีแล้ว ก็ทรงสั่งให้เผาอาหารที่เหลือทิ้งให้หมด หม้อข้าวหมอแกงสั่งให้ทุบทิ้งไม่ให้มีเหลือ แล้วทรงรับสั่งอย่างเฉียบขาดว่า “คืนนี้ต้องตีเมืองจันท์ให้ได้แล้วเข้าไปกินข้าวในเมือง แต่ถ้าตีไม่ได้ก็ตายกันอยู่หน้าประตูเมืองจันทบุรี อดตายกันอยู่นี่นั่นแหละ”
จากวิธีการทำงานของท่าน ก็คงจะเห็นได้ว่า ท่านทุ่มเทหมดตัว งานซึ่งสำเร็จดังใจหวัง ถ้าเราทำงานแล้วทุ่มหมดตัว งานก็ต้องสำเร็จเช่นกัน ทำงานแต่ละชิ้นต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งหมายความว่าที่ดีสุดเท่าที่เวลาอำนวย ดีที่สุดสำหรับอุปกรณ์ที่หามาได้ในตอนนั้น ดีที่สุดเท่าที่งบประมาณกำหนดมาให้ เมื่อคิดว่าดีที่สุดแล้วก็ทุ่มทำเต็มที่ ฝึกให้เคยต่อไปก็จะเกิดความคล่องขึ้นเอง
๒.๑.๓ จริงใจต่อเวลา รู้จักใช้เวลาให้คุ้มค่า เรื่องไม่เป็นเรื่องไม่ควรทำเสียเวลาเปล่า เวลาที่ผ่านไปมันไม่ได้ผ่านไปเปล่า ๆ มันเอาอายุ เอาชีวิตของเราไปด้วย
๒.๑.๔ จริงต่อบุคคล นั่นคือคบกับใคร ก็คบกันจริง ๆ ไม่ใช่คบกันเพียงแต่มารยาท หรือต่อหน้าสรรเสริญ ลับหลังนินทา
๒.๑.๕ ตรงต่อความดี คือ จริงใจต่อคุณธรรมความดี จะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเพื่อน หรือทำตามหน้าที่ ต้องมีคุณธรรมกำกับด้วย อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน
แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันที่ตรัสรู้นั้นเมื่อท่านนั่งสมาธิบัลลังก์แล้ว ท่านก็ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานทุ่มชีวิตเลยว่า “แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดหายไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเราจะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด”
๒.๒ ทมะ คือ การข่มใจ เป็นการรู้จักบังคับใจต่อตัวเอง หรือฝึกปรับปรุงตัวเองเรื่อยไป เราในฐานะชาวพุทธ เราควรจะบังคับตัวเองหรือฝึกตนเองในการแก้นิสัย นิสัยใดที่รู้ว่าไม่ดีก็ต้องรีบแก้ เช่น นิสัยของความเกียจคร้าน ต้องฝืนใจให้ได้ ฝึกฝนอยู่บ่อย ๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ช้าก็จะคุ้นจนไม่รู้สึกว่าฝืนใจทำงาน นิสัยเสียอื่น ๆ ก็เช่นกัน เมื่อได้ข่มใจฝึกปรับปรุงตัวเองเรื่อย ๆ ไป ก็ย่อมจะเป็นที่รักแก่คนทั่วไป ไม่มีพิษมีภัยกับใคร
๒.๓ ขันติ คือความอดทนเป็นลักษณะบ่งถึงความเข้มแข็งทางใจ ขันติมี ๔ ลักษณะ
๒.๓.๑ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ได้แก่ อดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนจะตก แดดจะร้อน อากาศจะหนาว หรือภูมิประเทศจะแห้งแล้งอย่างไรก็ทนได้ทั้งสิ้น
๒.๓.๒ อดทนต่อความทุกขเวทนา คือ ทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย
๒.๓.๓ อดทนต่อความเจ็บใจ คือ ทนต่อการดูถูกว่ากล่าวกระทบกระเทียบเปรียบเปรย การกระทำให้เจ็บอกเจ็บใจ
๒.๓.๔ อดทนต่ออำนาจกิเลส หมายถึง การไม่เอาแต่ใจตัว อดทนต่อสิ่งยั่วยวนหรือความฟุ้งเฟ้อต่าง ๆ
๒.๔ จาคะ แปลว่า เสียสละ หมายถึง ตัดใจหรือตัดกรรมสิทธิ์ของตน ตัดความยึดถือ ความเสียสละมี 2 นัย
๒.๔.๑ สละวัตถุ หมายถึง การแบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ รวมทั้งการทำบุญให้ทานด้วย
๒.๔.๒ สละอารมณ์ หมายถึง ไม่ผูกโกรธใคร ใครจะทำให้โกรธ เราก็อาจจะดุด่าว่ากล่าวกันไป แต่ไม่ผูกใจโกรธไม่คิดจะตามจองล้างจองผลาญ
๓. อริยสัจ ๔ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการในการดำเนินชีวิตของบุคคลหรือการบริการกิจการต่าง ๆ มักจะประสบกับปัญหา และอุปสรรคนานาประการ ซึ่งถ้ามีหลักธรรมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วเป็นหลักยึดเพื่อการประพฤติปฏิบัติบุคคลผู้นั้นก็ย่อมจะผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ และประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด สาระสำคัญยิ่งของอริยสัจ ๔ มีดังนี้
๓.๑ ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุนานาประการ
๓.๒ สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งเกิดจากตัณหาทั้งหลาย
๓.๓ นิโรธ คือ ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาให้หมดจะเป็นภาวะที่ปลอดทุกข์
๓.๔ มรรค คือ วิถีทางในการดับทุกข์ ได้แก่ ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ทำให้ทุกข์หมดไป นั่นคือ อริยมรรค ๘ ประการ
จากสาระสำคัญของอริยสัจ ๔ สามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งในการดำเนินชีวิตและการบริหารกิจการต่าง ๆ โดยการทำเป็นตารางแก้ปัญหาด้วยอริยสัจ ๔ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นพุทธวิธีในการแก้ปัญหา ดังนี้ปัญหา(ทุกข์)ความทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งมีมากมายหลายประการ
สาเหตุของปัญหา(สมุทัย)วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหามีอะไรบ้าง เกิดจากตัวบุคคลหรือเกิดจากระบบงาน
แนวทางแก้ไข(นิโรธ)หาทางแก้ไขให้ตรงกับสาเหตุของปัญหา
วิธีแก้ไข(มรรค)ลงมือปฏิบัติแก้ไขทันที โดยทำเป็นขั้นตอน
ตารางแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4
๔. สังควัตถุ ๔ เป็นธรรมที่เสริมสร้างเสน่ห์ให้แก่ตนเอง ทำให้เป็นที่รักของคนทั่วไป ช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์ซึ่งมีส่วนช่วยในการดำเนินงาน บรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ สังควัตถุมี 4 ประการคือ
4.1 ทาน คือ การให้ ซึ่งต้องมาจากจิตใจที่มีความเอื้อเฟือเผื่อแผ่ หรือ ความโอบอ้อมอารี การให้ดังกล่าวนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งของ เงินทอง ความรู้ ความเข้าใจวิทยาการต่าง ๆ
4.2 ปิยวาจา คือ การพูดจาที่น่ารัก น่านิยมยกย่อง พูดด้วยวาจาสุภาพ อ่อนโยนไพเราะ ชี้แจงด้วยเหตุผลแยบยลที่ทำให้เกิดประโยชน์และ สร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน
4.3 อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์หรือทำประโยชน์แก่บุคคลอื่น ๆ นั่นคือประพฤติหรือกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน มีการช่วยเหลือกันโดยให้กำลังกายกำลังใจ กำลังความคิด และกำลังทรัพย์
4.4 สมานัตถตา คือ การวางตนให้เหมาะสม วางตนเสมอต้นเสมอปลายมีกิริยาอัธยาศัยเหมาะสมกับฐานะหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน
กล่าวโดยสรุปสำหรับสังคหวัตถุ 4 คือธรรมที่ช่วยในการสร้างมนุษยสัมพันธ์นั่นเอง ซึ่งประกอบด้วย
1. โอบอ้อมอารี
2. วจีไพเราะ
3. สงเคราะห์ประชาชน
4. วางตนพอดี
นอกจากนี้ โคลงโลกนิติบางบทยังให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการใช้ ดังนี้
ให้ท่านท่านจักให้ ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปอง นอบไหว้
รักท่านท่านควรครอง ความรัก เรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้ แด่ผู้ทรชน
5. สัปปุริสธรรม 7 คือ ธรรมของคนดี ซึ่งก็คือธรรมของมนุษย์โดยทั่ว ๆ ไปนั่นเอง กนก จันทร์ขจร (2526: 202-203) กล่าวสั่งสัปปุริสธรรมไว้ได้ดังนี้ สัปปุริสธรรม 7 หรือ “ธรรมเป็นผู้ควรคำนับ 7 ประการ” เป็นธรรมของสัตตบุรุษ คือ ธรรมของคนดี คนที่สมบูรณ์แบบ หรือ มนุษย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกที่ดี มีคุณค่าอย่างแท้จริงของมนุษย์ชาติ ธรรมที่ทำให้คนเราเป็นสัตตบุรุษ หรือเป็นคนดี จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 7 ประการดังนี้ คือ
5.1 ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายความว่า เป็นผู้รู้จักธรรมหรือรู้จักเหตุคือ รู้หลักการที่จะทำให้เกิดผลดี ผลเสีย เช่น รู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นคืออะไร มีอะไรบ้าง
5.2 อัตตัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักผล หมายความว่า รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำ เช่น รู้ว่าข้อบัญญัตินั้น ๆ มีความหมายว่าอย่างไรเมื่อทำไปแล้วจะเกิดอะไรบ้าง
5.3 อตัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักตน หมายความว่า รู้จักฐานะความเป็นอยู่ของตนจะได้วางตนให้เหมาะสมกับฐานะ
5.4 มัตตัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายความว่า ให้รู้จักประมาณในการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคอาหารแต่พอควร
5.5 กาลัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล หมายความว่า รู้จักเวลาอันควรกระทำ หรือไม่ควรกระทำ คือ รู้จักกาละเทศะนั่นเอง
5.6 ปริสัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน หมายถึง ชุมชนที่อยู่ร่วมกันอยู่เป็นหมู่คณะ และการกระทำที่จะต้องประพฤติปฏิบัติต่อกันในชุมชนนั้น ๆ
5.7 ปุคคลปโรปรัญณุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล หมายถึง การรู้จักเลือกคบค้าสมาคมกับบุคคลดีมีประโยชน์ เช่น การคบมิตร ต้องรู้จักเลือกคบคนดีเพราะมิตรนั้น มีทั้งดีและชั่ว ถ้าคบคนดีก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แต้ถ้าคบกับคนชั่วก็จะพาตนชั่วไปด้วย
มีคำกลอนที่กล่าวเกี่ยวกับสัปปุริสธรรม ดังนี้
ดอกเอ๋ยดอกแก้ว
เมื่อบานแล้วกลิ่นกล้าลมพาหวน
หอมเวลาค่ำ ๆ คล้ายลำดวน
กลิ่นรัญจวนชื่นอุราในราตรี
เหมือนผู้ดีมีจรรยารู้กาละ
รู้เทศะสมาคมสมศักดิ์ศรี
รู้เหตุรู้ผลรู้บุคคลสามัคคี
รู้ตนดีรู้ประมาณรู้กาลเอย............
นอกจากหลักธรรมที่ได้นำมากล่าวในบทเรียนนี้แล้ว ยังมีหลักธรรมอื่น ๆ ที่น่าจะได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้แก่ ทิศ 6 พรหมวิหาร 4 และมงคลชีวิต 38 ประการ เป็นต้น
3.2.3 นำหลักธรรมไปปฏิบัติเพื่อการบริหารตนเองในชีวิตประจำวัน
การบริหารตนเองโดยการใช้หลักธรรมควรดำเนินการดังนี้
ประการแรก ฝึกคิดดี มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ซึ่งจะต้องฝึกเรื่องต่อไปนี้
1. มองโลกในแง่ดี เพราะมุมมองที่บุคคลจะมองวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมมีทั้งด้านดีและด้านร้าย จงฝึกที่จะมองแต่เฉพาะด้านดีด้านร้ายหัดละทิ้งบ้าง จะเป็นการลดความเครียด และจะทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ดี ยอมรับสิ่งต่าง ๆ ให้มากขึ้นชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นตามไปด้วย
2. รู้จักให้ ให้ในที่นี้หมายถึง ให้อภัย ให้ความเมตตากรุณา คนเราถ้ารักแต่ตัวเองจะไม่รู้จักให้ใคร จะมีแต่ความเครียดแค้นชิงชังอาฆาต พยาบาทจองเวรในเมื่อไม่ได้ดังใจ ถ้าเราพิจารณากันอย่างรอบคอบและทำใจได้ จะพบว่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมปัจจุบันสามารถจะให้อภัยต่อกันได้
3. รู้คุณค่าในตัวเอง ก่อนที่เราจะยอมรับความเด่นความดีของคนอื่น เราต้องรู้จักหามุมมองที่ดีของตัวเราเองด้วย มิฉะนั้นความรู้สึกต่ำต้อยจะเป็นปมด้อย ทำให้บุคคลขาดความเชื่อมั่น การงานต่าง ๆ ที่จะทำจะไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ลองหาจุดเด่นของตนเองที่คนอื่น ๆ ก็ยอมรับ เช่น ความสามารถในงาน ความเป็นนักประสานที่ดี การมีมนุษยสัมพันธ์เยี่ยม เป็นต้น แล้วพัฒนาจุดเด่น ดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจุดด้อยของเราที่พัฒนาได้เราก็ไม่ควรทอดทิ้ง
ประการที่สอง ฝึกทำดี นั่นคือ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งตนเองและผู้อื่น อยู่ในสถานที่ใดก็จะมีแต่คนรักเพราะไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ไม่เป็นบุคคลที่ทำลายบรรยากาศขององค์การหรือหน่วยงาน หรือจัดเป็นบุคคลที่ไม่เป็นภัยต่อสังคม หรือไม่เป็นตัวแสบของหน่วยงาน การทำดีควรทำในกิจกรรมดังต่อไปนี้
1. พูดจาปราศรัย ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ก่อเกิดกำลังใจ สร้างความสามัคคีไม่กล่าวจี้จุดอ่อนของบุคคล ไม่เอาปมด้อยของคนอื่นมาพูดทำนองตลกขบขัน เพราะผู้พูดอาจจะรู้สึกสนุกสนาน แต่ผู้ถูกวิจารณ์คงจะรู้สึกขมขื่น และปราศจากความสุข จึงควรพูดแต่ในสิ่งที่ดี เพื่อประสานประโยชน์ทำให้งานและ องค์การดำเนินไปด้วยดีและทีมงานทั้งหมดมีความสุข
2. สงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บุคคลแต่ละบุคคล อย่ายึดติดอัตรามากเกินไปจะทำให้เป็นคนใจแคบ จะช่วยอะไรใครสักครั้งก็คิดมาก คิดละเอียด จนกระทั่งไม่ได้ช่วยเหลือใครเลย ทำให้เสียโอกาสในการทำประโยชน์ให้กับสังคมและตนเอง ซึ่งต้องพยายามตระหนัก หรือฝึกที่จะใช้หลักการเอาใจ เขามาใส่ใจเรา มาพิจารณาตลอดเวลา
3. ประพฤติตนเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมโดยการลองวิเคราะห์ตนเองว่ามีบ่อยครั้งหรือไม่ที่เราไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเป็น เพราะกลัวคนจะรู้แล้วจะตำหนิเอาได้ ถ้าคำตอบออกมามีบ่อยครั้งก็แสดงว่าการทำดีของเรานั้นเราทำเพราะกลัว คนอื่นจะตำหนิจะว่าเราถ้าเราทำไม่ดี แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากความคิดที่เราอยากทำด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องดังกล่าว เราก็ควรต้องฝึกที่อยากจะทำดี เพราะตัวเราเองอยากทำ เพราะทำแล้วเรารู้สึกมีความสุขไม่ว่าคนอื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม
4. การสร้างสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ทั้งพูดดี ทำกิจการงานดี ช่วยเสนอแนะความคิดเห็น ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความจริงใจ งานที่มอบหมายบรรลุจุดประสงค์ตามต้องการ ทำให้หมู่คณะทำงานด้วยความสุข ไม่ทำให้เกิดการแตกแยก แตกพวกแตกหมู่
5. รู้จักการบริหารเวลา ในแต่ละวันทุก ๆ คนมีจำนวนเวลาเท่า ๆ กัน แต่การใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ไม่เท่ากัน
เทคนิควิธีในการบริหารเวลา เพื่อให้บรรลุความสำเร็จในการทำงาน ดังนี้
1. กำหนดเวลาให้กับงานแต่ละงานไม่ต้องมากนัก นั่นคือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จลงได้
2.จัดลำดับงานตามความสำคัญหรือความเร่งด่วนซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตนเอง
3. ถ้างานมากหรือเป็นงานใหญ่ จงแบ่งซอยงานใหญ่ให้เป็นงานย่อย ๆ เพื่อสะดวก ในการที่จะได้เลือกทำงานย่อยตามโอกาสที่เหมาะสม และขณะเดียวกันการทำงานย่อย ๆ ได้เสร็จ ก็จะเป็นกำลังใจให้ทำงานย่อยอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นโอกาสที่งานใหญ่จะสำเร็จจึงอยู่แค่เอื้อม
4. ลงมือทำทันที เลิกนิสัยผลักวันประกันพรุ่งได้แล้ว งานใด ๆ ก็ตามถ้าได้เริ่มลงมือทำแล้ว โอกาสที่งานจะเสร็จย่อมเป็นไปได้อย่างมาก น่าสังเกตว่างานส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยจะเสร็จนั้น เพราะเรามักรีรอไม่เริ่มต้นที่จะลงมือทำสักที
5.บังคับใจตนเองด้วยความอดทน เพื่อข่มความเกียจคร้านไม่ให้มีโอกาสแสดงออก
แล้วดำเนินงานที่ได้เริ่มต้นเอาไว้แล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้งานสำเร็จสมกับที่ตั้งใจไว้
สำหรับข้อสุดท้ายนี้ ต้องตั้งใจมีสัจจะทำอย่างจริงจังอย่าเผลอสติเป็นอันขาด เพราะถ้าเผลอสติเมื่อใดความเกียจคร้านที่แอบแฝงร่างเอาไว้ก็จะโชว์ตัวเต็มที่ และจะน๊อคเจ้าของจนโงศีรษะไม่ขึ้น ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นผู้แพ้ที่ไม่เคยชนะสักครั้ง
จากการฝึกหัดดังกล่าวมาแล้วก็จะเป็นแนวทางที่ทำให้บุคคลเกิดคุณธรรมประจำใจได้หลายประการ ดังนี้
1. ความขยันหมั่นเพียร
2. ความอดทน
3. ความซื่อสัตย์
4. ความยุติธรรม
5. ความกตัญญูกตเวที
6. ความเมตตา
7. ความตรงต่อเวลา
8. ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน
9. ความมีสัมมาคารวะ
3.3 เข้าใจการพัฒนาตนเอง
องค์ประกอบการพัฒนาตนเอง
การพัฒนาตนเองนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน และเราไม่อาจหยุดที่จะพัฒนาตนเองได้ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ชีวิตของปัจเจกชนก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้วย จุดหมายที่ผู้บริหารบ้านเมืองต้องการให้ประเทศเป็น คือ การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ถ้าบ้านเมืองเราพัฒนาไปถึงจุดนั้น เราจะพบว่าจะเกิดข้อเสียบางประการ คือ คนแต่ละคนในสังคมอุตสาหกรรมจะมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น จะประสบกับมลภาวะแวดล้อมตัวเรามากขึ้น อันจะส่งผลต่อสุขภาพกายใจของเรา เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เช่น อากาศเสีย น้ำในคูคลองหรือแม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสีย อย่างนี้จะให้เรามีสุขภาพดีได้อย่างไร คนในสังคมอุตสาหกรรมจะต้องทำงานอย่างเร่งร้อน เดินทางด้วยความเร่งรีบ แต่ขณะเดียวกันการจราจรก็ติดขัด ทำให้อารมณ์เสียและสุขภาพจิตเสื่อมโทรม เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อสิ่งแวดล้อมตัวเราที่เปลี่ยนไป ( สมิต อาชวนิจกุล : 2534 : บทนำ )
แนวความคิดทางการบริหารงานทุกชนิด มีจุดประสงค์หลักเพื่อความเป็นเลิศนิรันดรกาล ( Long - Term Excellence ) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกคนต้องการ “การจะบริหารได้ดีนั้นต้องฉลาด ต้องวางแผนดี และนำแผนไปปฏิบัติด้วย” จึงจะพบความเป็นเลิศได้ และถ้าเริ่มต้นถูกต้องตั้งแต่แรกแล้ว ก็จะทำให้งานนั้นไม่ต้องแก้ไขมากมาย ไม่ต้องทำแล้วทำอีก และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกในแง่ของธุรกิจ การเริ่มต้นที่ดีและถูกต้องเน้นให้ “คนในสังคมพยายามปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา” ไม่โอ้อวดตนเอง ยกตนข่มท่าน แต่ให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
การทำให้ถูกตั้งแต่ต้นนั้น เราต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผิด ไม่ใช่มาแก้ไขโดยที่ยังไม่รู้ว่าสิ่งใดผิดและผิดตรงไหนซึ่งเราจะแก้ไขไม่ได้ แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ผิดพลาดนั้นมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ เกิดจากการขาดแคลนความรู้ ( Lack of Knowledge ) หรือความไม่รู้อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ และสาเหตุที่เกิดจากการขาดความเอาใจใส่ ( Lack of Attention ) จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้เราต้องรีบเร่งในการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน สิ่งที่บกพร่องทั้งหลายที่เรายอมรับในอดีตต้องนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นจากสภาพที่ทนอยู่อย่างนั้น ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและผลของงานต่ำลง
ค่านิยมปัจจุบันที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการบริหารและการพัฒนามาจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงหรือที่เรียกว่า “ไฮ-เทค” ความทันสมัยและก้าวไกลของการติดต่อสื่อสารหรือที่เรียกว่า “โลกาภิวัตน์” ซึ่งมีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา มีความรวดเร็วของการค้นคว้าเพื่อหาความก้าวหน้า ความรุนแรงในการแข่งขันพัฒนาเพิ่มขึ้นทุกขณะเวลา และมีความต่อเนื่องจริงจังอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อผลสำเร็จในแง่ของประสิทธิภาพ การผลิตคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และความสะดวกรวดเร็วในการบริหาร การพัฒนาทั้ง 3 ส่วนนี้ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานราชการอื่น ๆ ต่างเน้นการพัฒนามาตลอด งบประมาณค่าใช้จ่ายมีมากมหาศาล แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปก็คือ การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพซึ่งไม่ได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การพัฒนาและการปรับปรุงบุคลิกภาพส่วนตนเอง เพื่อความเป็นเลิศนิรันดร์กาล ในวงการธุรกิจถือว่ามีความสำคัญมาก กิจกรรมธุรกิจเกือบทุกชนิดและทุกขนาดในปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและจริงจังมาก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและคงสภาพของตนไว้ โดยต้องมีมาตรฐานสูงเยี่ยมใน 2 ด้าน คือ ด้านผลิตภัณฑ์ และ ด้านบุคลากร ให้บริการชั้นเยี่ยมแก่ลูกค้า
(Superior Customer Services) สรรหาสิ่งที่ดีและเหมาะสมมาพัฒนา ต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้ทันสมัยและก้าวหน้าอยู่เสมอ พร้อมทั้งการรู้จักใช้พลังความสามารถจากบุคลากรที่มีอยู่ให้เต็มที่
กระบวนการที่จะให้บุคลากรมีมาตรฐานที่ดีเยี่ยมได้ ต้องอาศัยการปรับปรุงและการพัฒนาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบหรือนอกรูปแบบ เพื่อให้บุคลากรมีความมั่นใจว่าสามารถทำได้ดีกว่า ( Do it better ) สามารถพิชิตผู้อื่นได้ ( win the others ) และสามารถประกันความสำเร็จได้ ( Assure the Success ) ถ้าสามารถทำให้บุคลากรทำได้ทั้ง 3 ส่วนนี้ ก็จะสามารถประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ บุคลากรที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาแล้วก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ( Quality People ) ซึ่งอาจทำได้โดยการทำงานเป็นกลุ่มและใช้วิธีการระดมความคิด ( Brain Storming ) เพื่อให้เกิดคุณภาพ 5 ประการคือ
1. ความรู้ใหม่ ( New Knowledge )
2. แนวความคิดใหม่ ( New Concepts )
3. ประสบการณ์ใหม่ ( New Experience )
4. ทักษะใหม่ ( New Skills )
5. ทัศนคติใหม่ ( New Attitudes )
เราต้องยอมรับว่าทุกองค์การปรารถนาให้บุคลากรของตนทุกคนทุกระดับมีความสามารถที่จะทำงานในความรับผิดชอบได้ดีและเต็มที่ แต่ส่วนมากพบว่าคนเรามักจะรับชอบมากกว่ารับผิด ดังนั้น การทำงานให้สำเร็จด้วยดีนั้นต้องทราบว่าเขาต้องการหรือคาดหวังอะไรจากการทำงานในระดับต่าง ๆ ซึ่งอาจสรุปได้ว่า มนุษย์ต้องการความสำเร็จในการทำงานที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นปัจจัยที่สำคัญมากแต่ก็ยากที่จะได้มา การวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพื่อหาแนวทางแก้ไข หรือปรับปรุงให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มที่เกิดปัญหา
แนวทางการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา วิเคราะห์ได้ 4 สาเหตุคือ
1. ตนเอง
2. ผู้อื่น
3. ระบบ
4. สิ่งแวดล้อม
ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมักโทษคนอื่นหรือสิ่งภายนอกตัวเองก่อนเสมอและก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น เพราะมนุษย์มักเข้าข้างตนเอง มองตนเองถูกต้องและดีกว่าเสมอ ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาต้องวิเคราะห์สาเหตุให้รอบด้าน โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจระบบและสิ่งแวดล้อม เล่าจื้อ นักปราชญ์ของจีนได้กล่าวว่า “ผู้ที่รู้จักสรรพสิ่งทั้งหลาย คือ ผู้เรียนรู้ แต่ผู้ที่รู้จักตนเอง คือ ผู้ฉลาด” จะเห็นได้ว่าความสำคัญในชีวิตขึ้นอยู่กับ “ตัวเรา” เป็นสำคัญ
องค์ประกอบที่มีผลต่อการพัฒนาตนเอง
ความสำเร็จของมนุษย์เกิดได้ด้วยการปรับปรุง ( Improvement ) การพัฒนา ( Development ) ภาพพจน์ ( Image) และคุณค่า ( Value ) โดยกระทำต่อสิ่งต่อไปนี้
1. คุณภาพส่วนตัว ( Personal Qualities ) ได้แก่ รูปร่างหน้าตา จิตใจ อารมณ์ความรู้สึก
2. เทคนิควิธีการ ( Technical know-how ) กระบวนการปรับปรุงหรือการพัฒนามนุษย์ จะประกอบด้วยวัฎจักร QPC ( Quality Person Cycle ) เป็นต้นว่า
- เจตคติ
- ความรู้และประสบการณ์
- บุคลิกภาพ
- ทักษะและความคล่องแคล่วเจนจัด ดังแผนภูมิต่อไปนี้
เจตคติ ( Attitudes )
ความรู้ บุคลิกภาพ ( Knowledge ) ( Personality )
ทักษะ ( Skills )
องค์ประกอบการพัฒนาตนเอง
เจตคติ ( Attitudes ) เรามีเจตคติต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างไรบ้าง เจตคตินี้จะเป็นตัวกำหนดตัวเราเอง จะผลักดันให้เราแสดงความคิดเห็นและแสดงออกถึงความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ และโดยทั่วไปมนุษย์มักมีเจตคติโน้มเอียงไปในแง่ลบ ( Negative ) คือ มองโลกในแง่ร้าย (Pessimism) มากกว่าการมองโลกในแง่ดี ( Optimism ) หรือ ด้านบวก ( Positive ) ดังนี้ จึงควรสร้างเจตคติ
ดังต่อไปนี้
1. บวก ( Positive )
2. มั่นใจ เลื่อมใส ศรัทธา ( Belief, Trust )
3. ความกระตือรือร้น มุ่งมั่น ( Enthusiasm )
4. แน่วแน่ มั่นคง ( Determination )
ความรู้ ( Knowledge ) คือ ฐานรองรับประดุจบัลลังก์ โดยจะต้องรู้
1. องค์การ ( Organization Knowledge )
2. ผลิตภัณฑ์ ( Products Knowledge )
3. งานในภารกิจ ( Job Knowledge )
4. ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ( Self Improvement & Development )
ปัจจุบันสื่อการสอนมีมากมาย อาทิ ตำราเรียน เทปวิทยุ เทปโทรทัศน์ รายการเกี่ยวกับการศึกษาทางโทรทัศน์ การปาฐกถา การประชุมสัมมนา ฯลฯ เหล่านี้เราต้องแสวงหาและพยายามหาโอกาสร่วมรับการฝึกอบรมให้เท่าเทียมหรือเท่าทันคนอื่นอีกด้วย และการฝึกอบรมอาจกล่าวได้ว่า เป็นวิธีทางลัดในการพัฒนาตัวเราให้ดีกว่าเดิม เพราะลำพังเราอ่านหนังสือ หรือฝึกด้วยตนเองจากหนังสือยังไม่เพียงพอ และอาจต้องใช้เวลามากด้วย แต่การฝึกอบรมจะช่วยย่นระยะเวลาและทำให้ท่านพัฒนาความรู้ความสามารถได้รวดเร็วกว่าวิธีอื่น ๆ หากไม่มีการฝึกอบรมหรือการฝึกงานเลย ในไม่ช้าเราก็จะอยู่ล้าหลังผู้อื่น
การที่เราจะเป็นคนหนึ่งที่สำเร็จในชีวิตเราจำต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้วอย่างแน่นอน ฉะนั้น ผู้ปรารถนาจะพัฒนาตนเองให้เก่งให้มีความสามารถ ต้องพยายามแสวงหาในการรับความรู้ด้วยการฝึกอบรม การสัมมนาการประชุมทางวิชาการ การฝึกงาน การเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ
เราอาจแสวงหาการฝึกอบรมได้ดังต่อไปนี้
1. การแสวงหาความรู้จากโรงเรียนไปรษณีย์ หรือโรงเรียนที่มีการสอนทางไกล โดยเราเรียนด้วยตัวของเราเอง อันเป็นการฝึกอบรมในอีกรูปแบบหนึ่งที่ครูอาจารย์กับลูกศิษย์ไม่ได้มาพบกัน นอกจากนาน ๆ ครั้ง ลูกศิษย์จะได้พบอาจารย์โดยการสอนผ่านโทรทัศน์ อย่างนี้เป็นต้น
2. โรงเรียนที่เปิดสอนในเวลากลางคืนหรือหลังเวลาทำงานในตอนกลางวัน จะเป็น
โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนสารพัดช่างของกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ แล้วแต่เราจะรักวิชาทางด้านใด ก็จงรีบขวนขวายรับความรู้ทางด้านนั้น อย่าไปเสียดายค่าเล่าเรียน เพราะการใช้ทรัพย์เพื่อแสวงหาความรู้โดยการรับการฝึกอบรมเท่านั้น ที่จะทำให้ทรัพย์และปัญญาของเราเพิ่มพูนขึ้นในภายหลัง
3. บุคลิกภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จ ฉะนั้นโรงเรียนที่สอนเน้นในการพัฒนาบุคลิกภาพและการพูด จึงเป็นอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจควรเข้ารับการฝึกอบรม แม้ว่าค่าเล่าเรียนจะสูงไปสักหน่อย แต่ก็มีประโยชน์อย่างมาก
4. ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากจะไปฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ก้าวแรกเราต้องฝึกฝนภาษาต่างประเทศให้ชำนาญ และไม่ละทิ้ง จงแสวงหาการเรียนตามโรงเรียนสอนภาษาที่เปิดสอนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือเปิดสอนในเวลากลางคืน การเตรียมความรู้ในด้านภาษาให้ชำนาญไว้ เมื่อโอกาสถึงเราก็อาจจะสอบแข่งกับคนอื่นได้
5. อย่าปล่อยเวลาว่างให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่ทุกคนในสังคมต่างก็แสวงหาความก้าวหน้า เราจะหยุดอยู่กับที่มิได้เลย มิฉะนั้นคนอื่นจะเดินล้ำหน้าเราไป และเราจะอุทธรณ์ร้องทุกข์กับใครที่ไหนก็ไม่ได้ จงรีบแสวงหาการฝึกฝนวิชาความรู้และประสบการณ์ ปริญญาโทหรือปริญญาเอกได้ ด้วยการฝึกฝนภาษาเป็นเบื้องต้นมาก่อน ฉะนั้น ขอให้เราแสวงหาแล้วประตูชัยแห่งความสำเร็จจะคอยเราอยู่ที่ตรงนั้น
คุณลักษณะของบุคคลที่ได้มีการพัฒนาตนเองแล้ว
การบริหารตนจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีคุณลักษณะเด่น 3 ประการคือ
1. เก่งคิด
2. เก่งคน
3. เก่งงาน
คุณลักษณะของบุคคลที่ได้มีการพัฒนาตนเองแล้วสามารถอธิบายได้ดังนี้
เก่งคิด ประกอบด้วย
1. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
2. มีหลักการและเหตุผล
3. มีความละเอียดรอบคอบ
4. มีความสามารถในการตัดสินใจ
เก่งคน ประกอบด้วย
1. ยอมรับนับถือความรู้ความสามารถของผู้อื่น
2. มีหลักจิตวิทยาในการทำงาน
3. เข้าใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา
4. มีเทคนิคในการใช้คน
5. มีเหตุผลในการทำงาน
6. มีศิลปะในการติดต่อสื่อสาร
เก่งงาน ประกอบด้วย
1. ความอดทน
2. ความขยันหมั่นเพียร
3. ใฝ่หาความรู้ประสบการณ์
4. มีทักษะในการทำงาน
5. มีความรอบคอบ
6. มีไหวพริบ สามารถแก้ปัญหาได้
7. มีความกระตือรือร้น
ส่วนในทางธรรมของพระพุทธศาสนานั้น ความรู้ย่อมแตกต่างไปตามขั้นหรือภูมิ โดยแยกออกเป็น 3 ขั้น คือ (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญานวงศ์ 2525, 125-131)
1. ในชั้นต้น เป็นความรู้ที่เกิดจากอวัยวะของการรับรู้เป็นต้นว่าตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสและใจ ความรู้ในขั้นนี้เป็นความรู้ที่มีอยู่ในสัตว์และมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปในชั่วขณะหนึ่ง
2. ในชั้นสอง เป็นความรู้ที่หลงเหลือมาจากความรู้ในชั้นต้น เป็นต้นว่า คนเรียนหนังสือ ความรู้ที่ได้รับจากอวัยวะของการรับรู้ในเวลาเรียน คงเกิดและดับอยู่เสมอ ๆ แต่ความรู้อีกระดับ ซึ่งให้ผลเป็นความเข้าใจถูกหรือผิดคงเหลืออยู่ จึงทำให้คนที่เรียนหนังสือรู้ อ่านออก แล้วไม่จำเป็นต้องเรียนใหม่ คงอ่านออกเป็นพื้นเพอยู่ แต่เมื่อไม่ได้ใช้อ่านก็ไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฎ เราจึงกล่าวว่า ส่วนที่ละเอียดเช่นพื้นเพที่ชั่ว ฉลาด โง่ จึงอยู่ในชั้นนี้ พระบรมศาสดาจึงตรัสเตือนให้พิจารณาว่า“เราเป็นผู้มีกรรมของตนจักทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”
3. ในชั้นที่สาม คือ ความรู้ที่ปลอดโปร่งไม่ติดข้องในสังขาร ยากที่จะแสดงเพราะเกิดวิสัยที่สามัญชนจะรู้ถึงและแสดงให้ถูกต้องได้ ต้องอาศัยข้อความในพระพุทธศาสนาที่พระบรมศาสดาทรางแสดงไว้ในพระสูตรต่าง ๆ เป็นหลักวิจารณ์หาความจริง ความถูกต้อง แต่จะจริงจะถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ก็แล้วแต่ผู้อ่านจะคิดเห็น
ดังนั้น ความรู้ในส่วนนี้จะต่างกันไป ในชั้นต้นรู้จำ รู้ตั้งชื่อ และรู้ตามเรื่อง เป็นส่วน ทฤษฎีและแนวคิดจากการเรียนหนังสือหรือจากผู้รู้ (ปริยัติ) ส่วนการรู้ทันกิเลสที่เกิดขึ้นและสงบเสียได้ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปเป็นส่วนปฏิบัติ รู้ทั่ว รู้ถึง รู้รอบ จนกำจัดกิเลิสเสียได้จนขาดไปไม่เกิดอีกได้ตามชั้นของความรู้เป็นส่วนปฏิเวธ ไม่รู้เลยอาจให้รู้ปริยัติได้ ตั้งใจเรียนรู้เพียงปริยัติอาจให้รู้ถึงปฏิบัติได้ด้วยมีสติตั้งใจปฏิบัตามปริยัติ รู้เพียงปฏิบัติอาจให้รู้ถึงปฏิเวธได้ด้วย ตั้งใจปฏิบัติอบรม ทำให้มากบ่อย ๆ เข้าให้มีกำลังยิ่งขึ้น ๆ ด้วยประการฉะนี้
บุคลิกภาพ ( Personality ) หมายถึง ยอดรวมของแบบอย่างความประพฤติของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นลักษณะที่สม่ำเสมอในการดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นแก่นของบุคคลนั้นที่ผู้อื่นมองเห็นหรือเข้าใจ (ถิรนันท์, 2125 78-91) การพัฒนาบุคลิกภาพ อาจแบ่งออกได้เป็นขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอนคือ
1. ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลิกลักษณะ
2. มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาบุคลิกลักษณะ
3. วิเคราะห์ถึงส่วนดีและส่วนเสียของตัวเอง
4. มีแผนการพัฒนาอย่างเป็นระเบียบ
โดยประเภทของบุคลิกภาพที่ควรพัฒนาจะจำแนกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ลักษณะทางกายได้แก่ รูปลักษณ์ของร่างกาย ท่าทาง การแต่งกาย
2. การเพิ่มพูนความรอบรู้และขยายทัศนะ
3. การปรับอารมณ์และควบคุมการแสดงออก
4. การพัฒนามนุษยสัมพันธ์ทางด้านการพูด
บุคลิกที่พัฒนาแล้วอาจสังเกตได้จากการแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1. ความเป็นมิตร ( Friendliness )
2. การยอมรับ ( Recognition )
3. การฟัง ( Listening )
4. การให้ความช่วยเหลือ ( Helpfulness )
ทักษะ (Skills) คือ ความคล่องแคล่วเจนจัด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศ อาจแบ่งประเภทของทักษะออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. ทักษะทางเทคนิค ( Technical Skills ) คือ การมีวิธีการดำเนินงานตามลำดับขั้นตอน
2. ทักษะทางความคิด ( Conceptual Skills ) คือ มีแนวความคิดที่เป็นระบบไม่สับสนในทางความคิด
3. ทักษะทางมนุษย์ ( Human Skills ) คือ มีความเข้าใจคนและเข้ากับคน ไม่ว่าจะกระทำกิจกรรมนั้นด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นทำแทน
เมื่อพิจารณาจากวัฎจักร QPC แล้ว เราจะพบว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนตัวและการงานนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างคือ เก่งคิด เก่งงาน เก่งคน การมีความรู้และทักษะดีอาจส่งผลให้เป็นผู้ทีเก่งงานใด้ และการมีความรู้และทัศนคติดีอาจส่งผลให้เป็นผู้ที่เก่งคิดได้ ตลอดจนการมีบุคลิกและทักษะดีอาจส่งผลให้เป็นผู้ที่เก่งคนได้ แต่หากมีองค์ประกอบของวัฎจักร QPC ดีครบถ้วน 4 ประการ คือ ความรู้ เจตคติ บุคลิกภาพ ทักษะ แล้วก็ย่อมทำให้ตนเองมีลักษณะควบถ้วนทั้ง 3 ประการ คือ เก่งคิด เก่งงาน และเก่งคน และยังผลให้ชีวิตทั้งในส่วนตัวและการงานประสบความสำเร็จได้ตามจุดหมายของชีวิตที่มุ่งหวังไว้
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนา คือ พฤติกรรม ( Behavior ) ซึ่งมีทั้งพฤติกรรมขององค์การ และพฤติกรรมของบุคลากรที่เป็นตัวกำหนดภาพพจน์ คุณค่า และมีอุณหภูมิเป็นตัวบอกความปกติของพฤติกรรม อาจเป็นตัวการที่จะสร้างหรือทำลายก็ได้ การสร้างสัมพันธภาพ
( Relationship ) ทางพฤติกรรมของบุคลากรก็เป็นการช่วยให้เกิดการพัฒนาได้ ดังนั้น การพัฒนา การบริหาร การปรับปรุงบุคลิกภาพส่วนตนเองในด้านที่ถูกต้องตั้งแต่แรกจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ
ของงานอย่างดีเยี่ยม และสามารถพัฒนาองค์การให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ ( อำนวย คงมีสุข, 2533 : 49- 52)
พัฒนาพฤติกรรม
พฤติกรรม หมายถึง การกระทำต่าง ๆ ของอินทรีย์ ทั้งที่เราสามารถสังเกตเห็นได้และมีเป้าหมายหรือพฤติกรรมภายในที่เราไม่อาจสังเกตเห็นได้โดยตรง นักจิตวิทยาเชื่อว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนจะสามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเราสามารถเข้าใจการทำงานที่เกี่ยวข้องกันระหว่างพฤติกรรมจิตใจและสมอง และนำความรู้มาปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตด้วย
วิธีการดัดแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมของบุคคล แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. การดัดแปลงทั่วไป เช่น การดัดแปลงด้านร่างกายหรือการแต่งกายให้สอดคล้องกับกาลเทศะ และสมัยนิยม
2. การดัดแปลงอารมณ์ให้สอดคล้องกับอารมณ์ของบุคคลอื่นได้ ซึ่งเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะทำให้เข้ากับคนอื่นได้ เช่น การยอมรับผิด เป็นต้น
3. การดัดแปลงสติปัญญา เช่น การยอมคล้อยตามกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ทั้งนี้เพื่อดัดแปลงตัวเองให้เข้ากับเขาให้ได้เท่านั้น
4. การดัดแปลงอุดมคติ หมายถึงการเปลี่ยนอุดมคติไปตามความจำเป็นแม้ว่าจะมิใช่อุดมคติของตนที่ยืดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตก็ตาม กล่าวคือ บางครั้ง บางคราวบุคคลก็จำต้องเปลี่ยนแปลงอุดมคติของตนเองไปตามผู้อื่น หรือเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ ทั้งนี้เพราะต้องดัดแปลงให้เข้ากับบุคคลอื่นในสังคม เพื่อผลประโยชน์แก่ตนนั่นเอง
สรุปแล้วการดัดแปลงตัวเองเป็นกระบวนการที่บุคคลกระทำเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในสังคมทั้งนี้เพื่อสวัสดิภาพของตนเองและของกลุ่ม
พัฒนาการเรียนรู้
การเรียนรู้ ( Learning ) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความคิด อารมณ์ หรือ พฤติกรรมซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์
การเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมค่อนข้างจะถาวร ซึ่งเป็นผลที่ได้มาจากประสบการณ์
การเรียนรู้ หมายถึง ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่บุคคลได้รับในการเสริมสร้างและปรับปรุงเจตคติและความประพฤติตั้งแต่เกิดจนตาย
การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือศักยภาพแห่งพฤติกรรมที่ ค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากประสบการณ์หรือการฝึก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากสาเหตุอื่น เป็นต้นว่าความเหนื่อยล้า ความเจ็บป่วยผลจากฤทธิ์ยา รวมทั้งวุฒิภาวะ และการเจริญเติบโตนั้นไม่ถือเป็นการเรียนรู้
ฉะนั้นการเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมค่อนข้างถาวรของ มนุษย์ไปตามประสบการณ์ที่ได้รับมาตั้งแต่เกิดจนตายนั่นเอง
ประเภทของการเรียนรู้
T.L. Harris และ W.E Schwahn ได้แบ่งการเรียนรู้ออกไปตามกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ไว้ 6 ประเภท คือ
1. การเรียนรู้ทักษะ (Skill Learning)
2. การเรียนรู้เหตุผล (Reasoning) เพื่อแก้ปัญหา
3. การเรียนรู้เจตคติ (Attitudinal Learning) ซึ่งรวมถึงค่านิยม (Value) ด้วย
4. การเรียนรู้สังกัป (Conceptual Learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่จะสรุปความเหมือน (Generalization) ของสถานการณ์และของเครื่องหมายหรือสัญญาณ (Sign)
5. การเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่ม (Group Learning) เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและอิทธิพลจากการปะทะสังสรรค์ (Interaction) กันในสังคม
6. การเรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic Creativity)
ทัศนะเกี่ยวกับการเรียนรู้
George A. Kimble และ Norman Garmezy ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเรียนรู้ไว้ดังนี้
1. การเรียนรู้นั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นการเปลี่ยน
แปลงให้ดีขึ้นของพฤติกรรม
2. การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นค่อนข้างจะถาวร จึงจะเรียกว่าเป็นการเรียนรู้
3. การฝึกฝนและประสบการณ์ที่ได้รับนั้นเป็นความจำเป็นที่จะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้น
4. เราอยากจะเน้นถึงผลิตผล หรือประสบการณ์นั้นว่าจำเป็นที่จะต้องเน้นย้ำ (Reinforce) โดยทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้น ถ้าการเน้นย้ำไม่ได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการฝึกฝน หรือประสบการณ์ พฤติกรรมหลายอย่างก็อาจจะละลายหายไปในที่สุด
การเรียนรู้ระเบียบและพฤติกรรมของสังคม
นักสังคมวิทยากล่าวว่ามนุษย์เราจำเป็นต้องเรียนรู้แบบพฤติกรรม วัฒนธรรมที่เป็นที่ต้องการของสังคมที่บุคคลผู้นั้นเป็นสมาชิกอยู่ ตลอดจนจะต้องเรียนรู้บทบาทที่ควรจะแสดงออกได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มบุคคลในสังคมนั้น ๆ ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวจะไม่มีที่สิ้นสุด บุคคลจะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยทราบตรงและทางอ้อม
ส่วนการถ่ายทอดวัฒนธรรม ระเบียบธรรมเนียมประเพณีจากชนรุ่นหนึ่งไปสู่ชนรุ่นหลังนั้นได้อาศัยสื่อกลางในการถ่ายทอดดังนี้คือ ครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในสังคมและสื่อมวลชน
วิธีการพัฒนาตนเอง
มองตนเอง ( Look at Yourself )
“ถ้าท่านไม่รู้จักตัวเอง ท่านจะไม่มีวันที่จะปรับปรุงตัวเองได้เลย
ใครในโลกนี้ที่จะทำประโยชน์ให้แก่ตัวท่าน ก็จะไม่ยั่งยืนหรือ
มั่นคงเท่ากับตัวท่านทำประโยชน์ให้แก่ตัวเอง” ( สมิต อาชวนิจกุล, 2534 : 15 )
“ท่านรู้จักตัวเองท่านเองแค่ไหน และท่านมองตัวเองอย่างไร ชีวิตของท่านจะเป็นไปตามที่ท่านคิดหรือมองตนเอง ตัวเราเองเป็นสิ่งสำคัญและเป็นศูนย์กลางของโลกและชีวิตในแง่ที่ท่านจะปรับปรุงตัวเอง ถ้าท่านไม่รู้จักตัวเอง ท่านจะไม่มีวันที่จะปรับปรุงตัวเองได้เลย ใครในโลกนี้จะทำประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ก็จะไม่ยั่งยืน หรือมั่นคงเท่ากันตัวท่านทำประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในโลกแห่งความสับสนในฐานะผู้แพ้หรือผู้ชนะก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านจะต้องรู้จักมองตนเอง และสอนใจตนเอง”
พุทธภาษิตที่ว่า “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตนเอง” เป็นวาทะที่ปราชญ์ทั้งหลายเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ภาษิตของฝรั่งก็มีทำนองเดียวกันว่า “สวรรค์ย่อมช่วยแต่ผู้ที่ช่วยตนเอง” โดยเหตุนี้ เราอาจตั้งภาษิตทำนองเดียวกันนี้ได้อีกหลายข้อ ดังนี้
- ถ้าจะคิดต่อสู้กับใครละก็ ต่อสู้กับกิเลสในตนเองก่อน
- ถ้าจะขออะไรจากคนอื่น จงขอสิ่งนั้นจากตนเองจะดีกว่า
- ถ้ามีเรื่องจะต้องโกรธกับใครอื่นละก็ จงโกรธตนเองก่อน
- ถ้าอยากมีวิชาหรือมีทรัพย์ใด ๆ ก็จงขอจากตนเองนั่นแหละดีที่สุด
- ถ้าอยากเป็นคนเก่ง ก็จงฝึกฝนมันสมองของตนเองบ่อย ๆ
- ถ้าจะศรัทธาเชื่อถือลัทธิใด ๆ ก็ขอจงศรัทธาในตนเองก่อน
- ไม่มีอะไรจะควรศรัทธา เท่ากับการศรัทธา (เชื่อมั่น) ในตนเอง
- ชีวิตนั้นไม่มีผู้อื่นใดมาลิขิตให้เราได้ การกระทำ การพูด การคิดของตนเองบ่อย ๆ นั่นแหละคือการลิขิตชีวิตของตนเอง
- ในยามที่เราเกียจคร้านอย่างมาก หรืออ่อนแอท้อถอยมากเพียงใดก็ตาม ขออย่าให้เราเสียขวัญ และเราต้องปลุกใจตนเองให้มาก
- ถ้าจะด่าใครสักคน จงด่าตนเอง
- ถ้าจะยกย่องใครสักคน ก็จงยกย่องตนเอง
- มิตรที่ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง และศัตรูที่ร้ายแรงที่สุดก็คือตัวเราเองเช่นกัน
- ในเวลาที่เราอ่อนแอ เราต้องปลุกใจตนเองด้วยถ้อยคำที่ปราชญ์ทั้งหลาย ได้กล่าวไว้แล้ว และลุกขึ้นสู้กับอุปสรรคในชีวิตอีก
- ถ้าเราเศร้าโศกเสียใจ หรือคิดท้อแท้ด้วยประการใดก็ดี ขอให้เรารู้จักปลอบใจตนเอง
ทุกคนเกิดมามีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าจะดีหรือเลว ย่อมเป็นไปตามวิบาก (ผล) แห่งกรรมที่ตนเองก่อไว้ในอดีตนั่นเอง เพราะความเชื่อเช่นนี้ จะทำให้เรารู้จักปรับปรุงตนเอง หรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ไม่ใช่ปล่อยชีวิตให้แล่นไปตามกระแสโลกหรือกระแสกิเลสตัณหา
จงตรวจสอบตนเองเป็นครั้งคราว หรือทุกครั้งที่ประสบความล้มเหลวใด ๆ ก็ตาม และจงมองให้เห็นคติในการดำรงชีวิตใหม่ ๆ ขึ้นมา อย่าได้ท้อแท้ใจ
เพื่อนที่แสนดีที่สุดของเราก็คือ ตัวเราเอง ความคิดหรือดวงใจของเราจะเป็นไปตามที่เราคิดและเป็นไปตามที่เราเชื่อ จงอย่าปล่อยให้ความวิตกกังวล ความโกรธ เกลียดกลัว และความระทมทุกข์ กัดกินสุขภาพพลานามัยของเรา อย่าเป็นคนเจ้าทุกข์ จะทำให้จิตใจหดหู่ ห่อเหี่ยวและอ่อนแอ จงพยายามสลัดนิสัยที่ไม่ดีเหล่านี้ออกไปให้หมดโดยเร็ววัน อย่าให้มันมาครอบครองจิตใจเป็นแรมปีแรมเดือน เพราะมันจะทำให้ชีวิตของเราไม่มีความสุข และทำให้เสียหายถึงการทำงานของตนเอง ในภาวะที่สังคมสับสนและซับซ้อนเกือบทุกคนประสบความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นแก่ตน ดังนั้น จงคิดว่าในเวลาที่เราทุกข์นิดเดียวและเห็นเป็นเรื่องใหญ่โตนั้น ยังมีคนนับจำนวนเป็นล้านต่างก็ตกอยู่ในภาวะทุกข์ร้อน เขาทุกข์ด้วยความยากจน ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยความพิการทางกาย ด้วยความพิการทางจิต ด้วยการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก หรือสิ่งที่รักต้องมาพลัดพรากจากไปก่อน แม้ในที่สุดความแก่เฒ่าชราและความตายล้วนแต่เป็นเรื่องทุกข์ ที่เรามองเห็นอย่างชัดแจ้งรออยู่ข้างหน้า หนทางเดียวที่เราจะต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตให้ตลอดรอดฝั่งได้ เราจะต้องรู้จักมองตนเองในแง่ดี และต้องรู้จักปลุกจิตปลอบใจตนเองด้วย ไม่ว่าเหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจะร้ายแรงเพียงใด ขอให้เราสามารถรักษา “ขวัญ” หรือ “กำลังใจ” ให้มั่นคงในเวลาที่เรามีเคราะห์ร้าย เราต้องสามารถเผชิญหน้ากับมันได้ทุกรูปแบบ และจงยิ้มสู้
ความเป็นสุขหรือทุกข์ของคนเรานั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมองตนเองว่ามองอย่างไร ถ้ามองตนเองว่าเป็นคนต้อยต่ำ เคราะห์ร้าย หรือทุกข์ยาก ชีวิตก็จะเป็นอย่างที่มองหรือคิดคนที่เก่งหรือฉลาดแท้จริงนั้น เขาต้องมองตนเองในแง่ดี มองโลกในแง่ดี ที่ว่ามองในแง่ดีนี้ หมายถึง มองเพื่อให้เราทำให้ดีขึ้น พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น แม้ว่าชะตาจะร้ายเพียงใดก็ตามหากเรามองความเคราะห์ร้ายไปในแง่ดีและแก้ไขให้กลายเป็นดี หรือถือเป็นบทเรียนได้ นี่คือจุดสำคัญที่สุดของการมองตนเอง หลวงวิจิตรวาทการเคยเขียนบทเพลงไว้บทหนึ่งว่า
“ ชีวิตเหมือน เรือน้อย ล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้ แรงลม ประสมคลื่น
ต้องทนทาน หวานสู้อม ขมสู้กลืน
ต้องทนฝืน สู้ไป ได้ทุกวัน
เป็นการง่าย ยิ้มได้ ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่น เหมือนบรรเลง เพลงสวรรค์
แต่คนที่ ควรชม นิยมกัน
ต้องใจมั่น ยิ้มได้ เมื่อภัยมา “
ในทัศนะของพุทธศาสนานั้น คนเราทุกคนที่เกิดมาต่างมีทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในระหว่างที่คนยังมองไม่เห็นทุกข์หรือความทุกข์ยังไม่ได้มาบีบคั้นให้รู้สึกสำนึก เขามักจะใช้ชีวิตไปในทางประมาทและไม่สนใจที่จะทำบุญหรือทำกุศล ต่อเมื่อความทุกข์บีบหนักเข้า เขาจึงนึกถึงพระ นึกถึงพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขานับถือความประมาทดังกล่าวนี้ ทำลายชีวิตคนให้ตกต่ำไปหลายคนแล้ว พระเจ้าท่านจะช่วยมนุษย์ท่านก็ดูเหมือนกันว่า คนคนนั้นมีความดีเพียงพอที่จะช่วยหรือไม่ถ้าเขางอมืองอเท้าไม่ยอมช่วยตนเองเลยจะหวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยบางครั้งก็ไร้ผลเหมือนกัน
มีทุกข์ชนิดหนึ่งที่หาทางแก้ไขได้ยากที่สุด นั่นคือโรคที่เกิดจากกรรมเก่า ถ้าวิบากของกรรมยังรุนแรงอยู่ จะไปหายาชนิดใดก็แก้ไม่หาย จะใช้หมอสมัยใหม่หรือหมอสมุนไพรหรือหาพระหาเจ้าก็ไม่อาจแก้ได้จนกว่าวิบากกรรมของกรรมจะหมดไปโรคก็จะคลาย ที่ร้ายก็จะเบา ที่เบาก็จะหาย
วิธีที่ดีที่สุดเมื่อต้องเผชิญกับโรคที่เกิดจากกรรมเก่าของเรานั้น ท่านสอนไว้ว่าให้หมั่นประกอบการกุศลให้มากที่สุด ทำดีให้มากที่สุด สร้างผลงานที่ดีเท่าที่จะทำได้และต้องใช้กำลังใจเท่านั้นจะต้านทุกข์ร้อนอันนั้น ความทรหดอดทนเท่านั้น ที่จะทำให้ไม่ถึงกับล้มลงไปได้ ความทรหดอดทนจะทำให้เรายืนหยัดอยู่กับที่ แล้วโลกก็จะหมุนไป เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็จะคลี่คลายไปในทางดี ในเวลาที่เราตกทุกข์ได้ยากเช่นนี้ เราต้องทำให้ใจเราเย็นและเข้มแข็ง เราจะต้องไม่จับเจ่าเจ้าทุกข์ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำเช่นนั้น ขอให้เรามั่นใจในตนเอง มองตนเองสำรวจดูว่าเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นคืออะไร แล้วเตรียมใจรับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงสุดนั้น ถ้าเราทำได้ดังนี้ จิตใจเราก็จะค่อยสงบลง ตอนนี้เองการมองตนเองจะทำให้เราตาสว่างขึ้น และอาจแลเห็นหนทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคแห่งชีวิตได้ ขอแต่อย่าตีตนไปก่อนไข้ อย่าคิดทำร้ายตนเอง เพราะการทำร้ายตนเองไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ มีแต่คนตราหน้าว่า เป็นคนอ่อนแอ และจะจากโลกนี้ไปอย่างอัปยศอดสูจำไว้ว่า ถ้าสามารถยืนหยัดอยู่กับที่ไม่ยอมถอยเคราะห์ร้ายก็จะผ่านไปเมื่อ ถึงระยะหนึ่งผ่านไปแล้วนั้นจะหันกลับมามองเหตุการณ์นี้อีก จะรู้สึกทันทีว่าเป็นเรื่องน่าละอายที่เราจะตัดสินใจโง่ ๆ ลงไปในเหตุการณ์เช่นนั้น
อันที่จริงที่ทางพุทธศาสนาสอนในเรื่องการมองตนเองนั้น ท่านมองจนไม่ยึดไม่ติดในตนเอง คือมองเพื่อลบ “อัตตา” หรือ “ตัวกู-ของกู” ถ้าเราสามารถมองไปไกลได้ถึงขนาดนั้น เราจะปลอดจากทุกข์ร้อนทุกชนิด เพราะขันธ์ห้าคือ ร่างกาย เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณนั้นจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตน สักแต่เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งไปตามสภาพที่มันจะเป็นไป ถ้าเราลดอัตตานี้ได้ ถึงจะไม่ตลอดไป เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เราก็จะมีทุกข์น้อยลง และการมองตนก็จะเป็นกุศลตรงจุดนี้เอง การมองตนเองนับว่าเป็นบันไดขั้นแรกในการที่จะพัฒนาตนเองไม่ว่าจะในทางโลกหรือในทางธรรมในทางโลกุตระหรือโลกียะในการทำงาน ถ้าเราหมั่นมองตนเองเราก็จะเห็นข้อบกพร่องของตนเอง แล้วก็จะแก้ไขข้อเสียต่าง ๆ ของตนได้ ทางพระท่านให้หมั่นถามตนเองอยู่เสมอ ๆ ว่า “วันคืนล่วงไป ๆ เรากำลังทำอะไรอยู่”
“เวลา” เป็นสิ่งที่มีค่าไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ เราจะดีขึ้นหรือเลวลง ก็ขึ้นอยู่กับการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เพียงใด จงอย่าทำตนเป็นคนรกโลกที่เกิดมาแล้วไม่ได้ทำอะไร หรือสร้างอะไรที่เป็นคุณงามความดีทิ้งไว้ให้คนภายหลังคิดถึงบ้างเลย อย่างน้อยถ้าเรายังไม่อาจสร้างผลงานที่โดดเด่นได้ก็ขอให้เราเป็นคนดีเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างเป็นคนดีของครอบครัว ของมิตรสหาย ไม่ใช่มองตนเองในแง่ “เห็นแก่ตัว” และหวังประโยชน์ตนอยู่ร่ำไป นั่นเป็นการมองตนในแง่ที่ไม่ถูกต้อง
ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนหรือวิธีการมองตน เพื่อการพัฒนาตนเอง มีดังนี้
1. ทุกครั้งที่ทำอะไรผิดพลาด ล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ต่อชีวิต ก่อนอื่น ขอให้หันเข้ามองตนเอง และตรวจสอบความบกพร่องของตนเอง มองดูว่าเรายังมีขวัญหรือกำลังใจอยู่หรือไม่ และเราจะลุกขึ้นต่อสู้กับวิถีชีวิตใหม่ได้อย่างไร
2. จงหมั่นสำรวจตนเองเป็นครั้งคราว อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง แล้วดูว่าตนเองพัฒนาตนเองไปได้เพียงใด ใช้เวลาเป็นประโยชน์หรือไม่ ทำคุณงามความดีอะไรบ้าง ทำคุณให้แก่สังคมหรือครอบครัวบ้างหรือไม่
3. ในการมองตนเองที่ดี นั่นคือ การสำรวจอุปนิสัยที่ดีและไม่ดีของตนเอง จงทำเป็นตารางสองช่อง เขียนอุปนิสัย บุคลิกลักษณะและความสามารถของตนแล้ว เปรียบเทียบดูว่าระหว่างนิสัยที่ดีกับไม่ดี สิ่งไหนมากกว่ากัน แล้วหมั่นแก้ไขไปทุก ๆ ครั้งที่มองตนเอง
4. จงมีเศษกระดาษเล็ก ๆ สักแผ่นหนึ่งก่อนนอนเขียนกิจที่ต้องทำหรือพึงทำ เรียงลำดับตามความสำคัญ แล้ววันต่อมาดูว่า เราทำได้หมดในวันนั้นหรือไม่ และในเศษกระดาษแผ่นนี้เขียนด้วยว่า เรามีอุปนิสัยที่อยากจะแก้ไขอะไรบ้าง เช่น ควรตื่นเช้า ควรออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ตรงต่อเวลา อ่านหนังสือเรียนให้ได้ 1 บทหรือ มีความเพียรพยายามเพียงพอหรือยัง เป็นต้น
5. สุขภาพกาย สุขภาพใจ เป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือเลวลง ละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ลงบ้างหรือไม่ อาทิ งดสูบบุหรี่ งดพูดเพ้อเจ้อ หรือพูดฟุ้งซ่าน เป็นต้น เราจะทำอะไรในทางที่ให้เกิดสุขภาพกายและสุขภาพจิตแข็งแรงดีขึ้น ให้เท่าเทียมคนที่เราเห็นเป็นแบบอย่างในทางที่ดี
6. วันหนึ่ง ๆ เราอ่านหนังสือ หรือฟังการอภิปราย หรือรับการฝึกอบรมไปได้เพียงใด เราหาความรู้ด้วยตนเองไปได้มากยิ่งขึ้นหรือไม่ คนที่ไม่เรียนรู้อะไรเลย ในที่สุดก็จะล้าหลังเพื่อนฝูง
7. ในสายตาของคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัวมีทัศนะต่อเราอย่างไร เรามีการปรับปรุงตัวเองเพื่อให้ตนเป็นที่พึ่งแก่คนในครอบครัวหรือไม่ เราเป็นพ่อหรือเป็นแม่ หรือเป็นลูกที่ดีหรือไม่ มีอะไรที่เราควรทำให้ดีกว่าหรือดียิ่งขึ้น ชีวิตในครอบครัวเป็นสุขหรือทุกข์ มีการทะเลาะกันบ้างหรือไม่ เราเป็นสาเหตุให้คนรอบข้างต้องเดือดร้อนเพราะเราหรือไม่
8. ก่อนนอน เราสวดมนต์ไหว้พระบ้างหรือไม่ หรือเราทำจิตใจให้ผ่องใสด้วยการฝึกสมาธิบ้างหรือไม่ เราแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์หรือไม่ เราเป็นคนเห็นแก่ตัวเพียงใด ลดละความเห็นแก่ตัวลงมากกว่านี้ได้หรือไม่
9. ชีวิตในแต่ละวัน เราเป็นสุขหรือทุกข์ เกิดจากเหตุอะไร เราสันโดษและหาความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่หรือไม่ เราใฝ่สูงจนเกินควรหรือไม่ เรากำลังเดินทางไปสู่จุดหมายชีวิตที่ตั้งไว้หรือไม่
10. เราลดละ “อัตตา” หรือ “ตัวกู-ของกู” ลงไปได้บ้างเพียงใด เราแคร์ต่อคำนินทาหรือคำติฉินต่อตัวเราหรือไม่ เราโกรธเคืองหรืองอนต่อคนที่เรารักหรือไม่ ฯลฯ
มองโลกในแง่ดี ( The Optimist Creed )
บทกวีบทหนึ่ง..... “ สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคมเห็นดวงดาวอยู่พราวพราย “ กล่าวคือ มีนักโทษสองคนติดคุกอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งมองลอดลูกกรงเหล็กหน้าต่างคุกออกไป แต่เขามองสูงขึ้นไปบนท้องฟ้าก็พบดวงดาวมากมาย รู้สึกสวยงามทำให้ใจเป็นสุข การมองโลกในแง่ดีจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต และมีอิทธิพลต่อทุกคนอย่างมาก
หลักการมองโลกในแง่ดี
1. พยายามฝึกจิตให้เข้มแข็ง เพื่อรับแรงของความทุกข์ได้ทุกรูปแบบ
2. พยายามหาเรื่องของความสุขสนุกสนานมาพูดคุยสังสรรค์กับคนรอบข้า
3. พยายามทำให้เพื่อฝูงหรือผู้ที่เราติดต่อคบหาด้วยรู้สึกว่า เขาเป็นคนมีค่ามีความสำคัญในตัวเองที่คนอื่นควรยอมรับนับถือ
4. พยายามทำงานให้ดีที่สุด สร้างความหวังไปในทางที่ดี
5. จงยินดีและกระตือรือร้นต่อความสำเร็จของผู้อื่น (ไม่อิจฉาริษยาให้เกิดทุกข์ในใจตน) และเอาเยี่ยงอย่างเพื่อตนจะได้ประสบความสำเร็จบ้าง
6. อย่ากังวลทุกข์ร้อน กับความผิดพลาดในอดีตจนบั่นทอนกำลังใจตนเองเพียงแค่เอาความผิดพลาดนั้นมาเป็นข้อควรระวังมิให้เกิดขึ้นอีก พร้อมกับมุ่งไปสู่ความสำเร็จในอนาคตต่อไปเรื่อย ๆ
7. บำรุงสุขภาพกาย สุขภาพจิตให้ดี แสดงความร่าเริงแจ่มใส และยิ้มแย้มผูกมิตรกับทุก ๆ คนที่เราพบเห็น และคบหาสมาคมด้วย
8. จงใช้เวลาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไปกับการปรับปรุงตนเอง อย่าเอาเวลาอันมีค่าไปนั่ง
วิจารณ์ หรือ ติฉินนินทาผู้อื่น
9. ตัดความวิตกกังวลใด ๆ ออกไปจากใจ ทำใจให้เข้มแข็ง แต่ขอให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โกรธง่าย
10. ฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีน้ำใจ จงทำดีต่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน คิดถึงการให้มากกว่าการได้รับ
11. จงละความเห็นแก่ตัวแล้วมาสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวม การพัฒนาตนเองนั้นอย่าพัฒนาไปด้วยความเห็นแก่ตัว หรือประชันขันแข่งกันอย่าเหยียบย่ำทำลายผู้อื่นให้ตัวเองสูงขึ้น ต้องรู้จักความเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างความสามัคคี การไม่เห็นแก่ตัวจะทำให้ทุกคนรู้จัก การประนีประนอมกับผู้อื่น มีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น จะได้ไม่เกิดความแตกแยก ดังนั้นความสามัคคีในหมู่คณะก็จะตามมา
หากปฏิบัติได้เช่นนี้จิตใจจะสุขสงบและมีความรู้สึกนึกคิดที่เปิดกว้างสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้สังคมและประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาลต่อไป
การฝึกฝน อบรม ใฝ่ความรู้
การฝึกฝน อบรม ใฝ่หาความรู้ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองอย่างไร ตอบได้ว่า ลำพังการพัฒนาความรู้ด้วยตนเองอย่างเดียวก็ไม่พอ เราต้องขวนขวายหาความรู้และทักษะ ประสบการณ์เพิ่มเติมโดยการฝึกอบรมอีกด้วย เราจึงจะพัฒนาการทำงาน และพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองมากยิ่งขึ้น คนใดก็ตามที่เคยผ่านการฝึกอบรมมา เขาจะเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นในการทำงาน
เทคนิควิธีการพัฒนาตนเอง
เทคนิควิธีการพัฒนาตนเองในการที่จะช่วยให้ตนเองมีสุขภาพจิตสมบูรณ์ สามารถผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตของตนภายใต้สังคมที่แวดล้อมได้ด้วยความสุข ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร ( 2523 , หน้า 36 – 38 ) ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาตัวบุคคลไว้ดังต่อไปนี้ โดยแต่ละบุคคลควรจะต้องรู้จักให้ โดยแต่ละบุคคลควรจะมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดทั้งสามารถให้กำลังใจแก่กันและกันได้
1. รู้จักให้โดยแต่ละบุคคลควรจะมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดทั้งสามารถให้กำลังใจแก่กันและกันได้
2. รู้จักพอและรู้จักประมาณตน เพื่อทำให้จิตใจของเราเองสงบและสังคมก็จะสงบตามตามไปด้วย
3. รู้จักยอม ซึ่งในที่นี้จะหมายถึง รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวมากกว่าจะชิงดีชิงเด่น เอาชนะประหัตประหารกัน หรือเอาชนะกันด้วยเล่ห์เหลี่ยม
4. รู้จักเชื่อฟังในเหตุผลของบุคคลอื่น ไม่กระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมด้วย
5. รู้จักเกรงใจและเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่น โดยคำนึงถึงใจเขาใจเราควรจะมีหลักธรรมหรือธรรมและศีลธรรมประจำใจ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ แก่บุคคลอื่น
6. มีความอดกลั้น ในที่นี้จะหมายถึง อดทนทั่ว ๆ ไป อดทนต่อปัญหา ความเครียดปัญหาชีวิตและปัญหาอื่น ๆ อดทนที่จะปฏิบัติหน้าที่และมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ควรจะต้อง อดรอ คือ รอเวลาซึ่งจะต้องอดทนรอเวลาทั้งนี้เพราะว่า บางสิ่งบางอย่างที่เราต้องการจะพูดนั้น หากเราสามารถอดกลั้นที่จะพูด ก็จะดีพูดออกไปเพราะผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการรอเวลามักจะคุ้มค่าแก่การรอ
7. รู้จักให้อภัยซึ่งดีกว่าการผูกโกรธ
8. เห็นผู้อื่นดีกว่าตน ดีกว่าเห็นตนดีกว่าผู้อื่น
9. สามารถชนะตนดีกว่าชนะผู้อื่น ตลอดทั้งสามารถชนะกิเลสต่าง ๆ ด้วย ซึ่งดีกว่าชนะสิ่งใด ๆ ทั้งหมด
เทคนิคการปรับตัวเพื่อที่จะมีสุขภาพจิตที่ดี
ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล เนื่องจากว่าบุคคลนั้นมีปัญหาและจะต้องแก้ปัญหาเอง เรื่องการแก้ปัญหานี้เป็นเทคนิคเฉพาะตัว ซึ่งแต่ละคนมักจะต้องค้นหาทดลองด้วยตัวเอง คลินิก ผู้เชียวชาญ จิตแพทย์ เพื่อน ฯลฯ เป็นแต่เพียงผู้ช่วยเหลือให้เราช่วยแก้ปัญหาด้วยตนเองได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมาแล้ว ข้อแนะนำถึงวิธีการปรับตัวที่ถูกต้องเพื่อที่จะมีสุขภาพจิตที่ดีได้ จึงควรติดตามมาเพื่อที่จะได้ทราบถึงวิธีการโดยทั่ว ๆ ไปที่นิยมปฏิบัติกัน
1. พยายามเข้าใจตนเอง
คุณลักษณะโดยทั่วไปของผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดีและมีการปรับตัวที่ถูกต้องคือผู้ที่กล้าเผชิญความจริงเกี่ยวกับตนเอง ไม่หลอกตัวเอง เขาเป็นผู้ที่ยอมรับและมีความอดทนต่อความวิตกกังกล ความกระวนกระวายใจ โดยเขายอมรับว่าความวิตกกังวล ความกลัว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หากเรากล้าเผชิญความจริงข้อนี้ได้ เราก็จะมีความมั่นคงในจิตใจและสามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจด้วยตนเองได้ ซึ่งต้องพยายามเลี่ยงการใช้กลวิธานในการป้องกันตนเองและพยายามเข้าใจความต้องการของตน ดังจะอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้คือ
1.1 พยายามเลี่ยงการใช้กลวิธานในการป้องกันตนเองอย่าใช้มากจนเกินไป คนที่มีความอดทนต่อความวิตกกังวลมักไม่มีความจำเป็นต้องใช้ บุคคลที่มีการปรับตัวดีมักจะรู้สึกตัวก่อนใช้กลวิธานในการป้องกันตนเองและมักจะรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าตัวเองพยายามจะใช้ ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่เริ่มต้นบ่นอาจารย์ผู้สอนในการที่ตนได้คะแนนไม่ดีนัก ในที่สุดมักจะรู้สึก ว่าตนก็กำลังใช้ เหตุผลซึ่งก็เป็นกลวิธานในการป้องกันตนอีกชนิดหนึ่งแต่โดยสภาพความจริงถ้านักศึกษาผู้นั้นเข้าเรียนสม่ำเสมอ พยายามทำความเข้าใจในเนื้อหา ส่งรายงานอยู่เสมอก็คงไม่ถึงกับได้คะแนนไม่ดี ดังนี้เป็นต้น
1.2 เข้าใจความต้องการของตนเอง จุดมุ่งหมายของตนเรา เราต้องรู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไรเช่น นักศึกษาที่บ่นอาจารย์ผู้สอนในการที่ตนได้คะแนนไม่ดี หากนักศึกษาผู้นั้นหันมาถามตนเองว่า“เราต้องการอะไรแน่” เขาก็จะต้องยอมรับกับตนเองว่าคำตอบก็คือต้องการได้คะแนนดีโดยที่ไม่ต้องเข้าชั้นเรียนหนังสือซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเขาก็ต้องตัดสินใจว่าเขาต้องการอะไรแน่ระหว่างคะแนนดีกับการเข้าชั้นเรียนด้วยความสม่ำเสมอ และทำงานมอบหมายส่งทันตามกำหนด
2. เข้าใจจุดมุ่งหมายและเข้าใจความต้องการ
การเข้าใจจุดมุ่งหมายและเข้าใจความต้องการของตนเองเป็นของดีที่คนเราจะมีจุดมุ่ง
หมายในชีวิต เช่น ต้องการเป็นแพทย์ วิศวกร เภสัชกร นักส่งเสริมการเกษตร มีอาชีพอิสระ ทำธุรกิจ ฟาร์มโคนม เหล่านี้ล้วนเป็นจุดมุ่งหมายทั้งนั้น แต่จุดมุ่งหมายไม่ใช่ของตายตัวที่อะลุ้มอล่วย ยืดหยุ่นกันไม่ได้เลยการตั้งจุดมุ่งหมายที่สูงเกินระดับความสามารถของเรามากนัก มักก่อให้เกิดความคับข้องใจ ความวิตกกังวลอยู่เสมอ การปรับจุดมุ่งหมายให้พอดีกับระดับที่เราสามารถทำให้สำเร็จจะขจัดความคับข้องใจโดยไม่จำเป็นให้หมดไปได้ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
2.1 การลดสภาพความขัดแย้งทางจิตใจและความคับข้องใจ
ระบบสังคมของเราในปัจจุบันนี้ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อนมาก และจุดมุ่งหมายของเราก็มีมากมายจนอาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเกิดมาโดยไม่เคยพบสภาพความขัดแย้งหรือความคับข้องใจได้ ดังนั้นวิธีเดี่ยวที่เราสามารถแก้ได้คือ การลดสภาพความขัดแย้งและความคับข้องใจลงให้น้อยที่สุดด้วยการ
พยายามหาโอกาสให้ความต้องการได้บำบัดทั่วถึงกันตัวอย่างเช่นนักศึกษาที่ต้องการได้คะแนนดีแต่ในเวลาเดียวกันต้องการได้ชื่อเสียง ความมีหน้ามีตาในการเป็นนักกีฬาด้วย การลดสภาพความขัดกันอาจทำได้โดยพยายามให้ความต้องการทั้งสองอย่างได้บำบัดโดยแบ่งเวลาคืนหนึ่งสำหรับการเรียนและคืนหนึ่งสำหรับฝึกซ้อมกีฬาด้วย
ฝึกจิตใจให้อดทนต่อความคับข้องใจดังได้กล่าวแล้วว่าคนเราไม่สามารถได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการและในเวลาที่ต้องการเสมอไปหมดได้ การทำใจให้อดทนต่อความข้องคับใจเป็นของฝึกได้โดยฝึกหัดใจให้อดทนในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน เช่น ความข้องคับใจในการคอยรถเมล์ ความอึดอัดในการหาที่ร่มจอดรถไม่ได้ ถ้าในเรื่องเล็ก ๆ นี้ เราสามารถอดทนได้ เราก็พร้อมที่จะอดทนต่อความข้องคับใจในเรื่องใหญ่ ๆ ต่อไปได้
การพูดถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่พอใจ โดยสามารถระงับอารมณ์ได้พอสมควรคนบางคนสามารถพูดถึงสิ่งที่ก่อความระคายใจ เคืองใจได้โดยไม่เสียเพื่อน หรือเสียความนับหน้าถือตา และคนบางคนไม่สามารถพูดหรือระบายความอึดอัดใจได้เลย เทคนิคเหล่านี้เป็นของที่ฝึกหัดได้โดยค่อยทำค่อยไปแล้วจะค่อย ๆ ทำได้เอง
ทำงานที่เป็นประโยชน์ งานที่เป็นประโยชน์ช่วยไม่ให้เราคิดถึงความแย้งมากนัก และเมื่อมีงานที่สนใจทำ ความสำเร็จจากการทำงานมักช่วยให้จิตใจสบายขึ้น
2.2 ฝึกทำใจให้มีสมาธิ ไม่ยึดติด ยืดหยุ่น รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา ไม่มุ่งร้าย ซึ่ง
จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง ขาดความสุขในการดำเนินชีวิต
2.3 ฝึกคิดในทางที่ดี คิดในทางบวก คิดตลกๆ เช่น คิดว่าเออดีคิดได้อย่างไร เป็น
แนวคิดที่แปลกอีกแบบหนึ่ง คิดได้ไง บางที่เอาสิ่งที่เครียดๆ มาคิดสนุกๆ ความทุกข์ก็ลดลงได้
2.4 ลดจุดมุ่งหมายในชีวิตลงบ้าง บางคนตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้สูงเกิน บางทีทางที่จะไปให้ถึงดวงดาวอาจไปไม่ได้ทุกคน แต่เมื่อเราไม่สามารถไปให้ถึงตามความต้องการที่เรามุ่งหวัง เราก็ลดเป้าหมายตัวเราเองลงได้ สำรวจตนเองว่าเราชอบอะไร เราทำอะไรได้ ชีวิตก็มีความสุขขึ้น
ลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตดีและสามารถปรับตนเองได้
ลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตดีและสามารถปรับตนเองได้ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน และประกอบกับมีจิตใจที่
เป็นสาธารณะ เป็นผู้ไม่เอาเปรียบสังคม เป็นผู้รู้จักประมาณตน มีจิตใจเอื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะช่วยคนอื่นแบบไร้เงื่อนไข ร่างกายที่สวยงามอยู่ในจิตใจที่งดงามเช่นกัน
2. ต้องสามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกได้ มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึก มีเลือด
เนื้อ มีชีวิต มีสิ่งเร้าใด ๆ มากระทบไม่ต้องตาต้องใจ ไม่ถูกหูถูกใจ หรือต้องตาต้องใจ เหล่านี้บุคคลต้องพิจารณา ต้องฟัง ต้องไม่เอาอารมณ์และความรู้สึกรัก ชอบ เกลียด เข้าตัดสินสิ่งเร้านั้นๆ หรือสถานการณ์นั้นๆโดยใช้เกณฑ์จากตนเองประเมินการกระทำเช่นนี้เรียกว่า ยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้เพราะ อารมณ์เป็นความตึงเครียดซึ่งทำให้อินทรีย์พร้อมที่จะแสดงออกเพื่อตอบสนองความต้องการที่ตนรู้สึก การเป็นคนเจ้าอารมณ์ไม่เกิดผลดีต่อบุคคลเลย บุคคลที่ต้องการมีสุขภาพจิตที่ดีต้องพยายามควบคุมอารมณ์และความรู้สึกให้ได้
3. ต้องเป็นผู้มีความสามารถยอมรับความจริง มองโลกตามที่เป็น มองในแง่ดี มองอะไรดี ๆ ดังนั้นเราทุกคนจึงควรอยู่อย่างรู้ตัว อยู่อย่างมีสติและรู้ว่าที่นี่ขณะนี้ ฉันคือใครและฉันจะทำอะไร เท่านี้ชีวิตก็สุขพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราคงปฏิเสธ ไม่ได้ว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก เรายังมีเพื่อน มีใครต่อใครที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน สมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนอื่นๆ รอบๆ ตัวเราล้วนแต่มีคนอยู่ใกล้ตัวเราทั้งนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้ตัวเรา สามารถ เข้ากับคนอื่นๆได้และจะทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้คนหลายคนที่มีความแตกต่างกันแล้วมีความสุข สามารถยอมรับความจริงได้ตรงนี้ต้องขอยืมบทประพันธ์หรือคำกลอนของ ท่านพระพุทธทาสภิกขุมาสอนใจแล้ว ท่านบอกว่า “มองแต่ดีเถิด” ดังคำกลอนต่อไปนี้
“เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง ฯ”
จากบทประพันธ์หรือคำบทกลอนของท่านพระพุทธทาสภิกขุนี้ ทำให้รู้สึกว่าความเป็นมนุษย์นั้นมีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี แต่ในการอยู่ร่วมกันเราก็เลือกในส่วนที่ดีๆ ให้กัน เวลาเรามีเพื่อนดูเหมือนว่าโลกนี้ช่างมีความสุขเหลือเกิน ท่านจงรู้จักเปิดหัวใจ เปิดตัว มีความจริงใจ วันนั้นอาจเป็นวันช่างสดใสกว่าวันใดๆก็ได้ วันที่เรารู้สึกในค่าของความเป็นเพื่อน และ มีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา
แนวปฏิบัติในการมีเพื่อนดีๆ อยู่ข้างๆ อาจใช้ แนวทางและวิธีการยอมรับความจริง หรือการมองมุมดีๆ เพื่อประโยชน์ในการคบเพื่อน โดยผู้เขียนได้สรุปแนวปฏิบัติไว้ดังนี้คือ
1. จงรักเพื่อนเสมือนหนึ่งรักตัวเราเอง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้ธรรมดามากตัวเรายังรักตัวเราเองเลยไม่ต้องการให้ใครว่ากล่าว หรือตำหนิอย่างนั้นอย่างนี้ คนอื่นเขาก็เช่นเดียวกับเรา เขาก็ไม่ต้องการให้ใครมาว่ากล่าวทั้งต่อหน้าและรับหลังเช่นกัน ในข้อนี้คือการปฏิบัติกับคนอื่นเช่นเดียวกับปฏิบัติกับตัวเรา ทางพระบอกว่าปฏิบัติเสมอตน อย่ายกตนข่มท่าน คนมีต่ำกว่าคนนั้น ฉันมีค่ามากกว่าคนโน้น ปฏิบัติตนเหนือมนุษย์ปกติ ความสุขจะเกิดแก่ใจได้อย่างไร ดวงดาวบนท้องฟ้าแม้ดวงจะเล็กมองแทบจะไม่เห็น แต่ในคืนเดือนมืดดาวดวงเล็กๆที่มองดูไร้ค่า อาจส่องสว่างจนแสงเจิดจ้าให้เราท่านได้ประจักษ์สายตา เป็นแสงนำพาให้เราในยามค่ำคืน ดาวดวงเล็กก็มีค่าของเขา มีค่าโดยตัวเขาเอง แล้วท่านเคยคิดบ้างมั๊ย.....ว่าเพื่อน ท่านก็อาจมีค่าไม่แพ้ ดาวเช่นกัน
2. จงเป็นคนมองโลกในแง่ดี หรือการมองหลายสิ่งหลายอย่างในทางบวก ไม่มองแบบเจ้าคิดเจ้าแค้น จิตใจผูกพยาบาทตลอดเวลา มุ่งเอาชนะ มุ่งให้คนอื่นคอยพะเน้าพะนอ คอยเอาใจ หรือมองคนอื่นไม่ดีแต่มองตนเองไม่เห็น หรือบางครั้งทำเป็นว่าเห็นแต่แสร้งทำว่าปรับปรุงตนแล้ว นิสัยเดิมๆก็ปรากฏ นักจิตวิทยาเคยอธิบายว่าบุคลิกภาพของบุคคลที่พัฒนาจนเข้าวัยผู้ใหญ่แล้วโอกาสเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทำได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าบุคคลมีหัวจิตหัวใจที่ดีมีพื้นฐานจิตใจที่ดีงามมาก่อน น่าจะไม่ยากที่จะหัด หรือ ฝึกเป็นคนมองในแง่ดี คิดดีๆ เพราะกว่าเราจะผ่านช่วงวัยผู้ใหญ่มาได้ ชีวิตเราแต่ละคนคงพบและเจอกับปัญหามากมายหลายอย่าง ประสบการณ์เหล่านั้นน่าจะมาเป็นบทเรียนชีวิตให้แก่ตัวเราได้ ผ่านทุกข์ ผ่านสุข มาหลายครั้งหลายหน คนเราน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ฉะนั้นการหัดมองอะไรง่ายๆ มองในเชิงสร้างสรรค์ มองอะไรทางบวก การ ฝึกมองเช่นนี้บ่อยๆ เราก็จะเป็นผู้หนึ่งที่มองโลกในแง่ดีได้ มองอะไรสวยๆงามๆ มองตามธรรมชาติที่มันเป็น อย่าหัดเป็นคนมองอะไรโดยผ่านวัตถุ เอาวัตถุมาเป็นเครื่องบดบังความดีความงามและ เนื้อแท้ของตน ในที่สุดค่าของตนก็จะหมดไปอย่างไม่รู้ตัว ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสต้องมาจากหัวใจที่ดีงาม รอยยิ้มจึงจะมีเสน่ห์เป็นรอยพิมพ์ใจที่ใครปรารถนาจะเห็น จะคบค้าสมาคม ฉะนั้นดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ความคิดข้างในดีพฤติกรรมที่แสดงภายนอกดีด้วยไม่ต้องใช้แก้วแหวนเงินทองหรอกล่อ เราก็หารมิตรภาพจากคนอื่นได้ไม่ยากนักเพียงของให้มองอะไรดี ๆ คิดอะไรดีๆ แล้วเราก็จะมองโลกในแง่ดีเอง
3. จงคิดเสมอว่าตนเองเป็นคนที่มีคุณค่าและคนอื่นก็มีคุณค่าเช่นกัน หลายคนมองตนเองต่ำต้อย มองตัวเองด้อยกว่าคนอื่น มักนึกน้อยใจในโชคชะตา วาสนา กลายเป็นคนไม่ชอบสังคม เก็บตัว แยกตนเองจากสังคมมีโลกส่วนตัว ท่านที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ท่านโปรดทราบด้วยว่าท่านกำลังทำร้ายตนเองและทำร้ายคนใกล้ตัวท่านเองแบบไม่ตั้งใจ ในความเป็นมนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองหมด ไม่ว่าจะเกิดมายากจน หรือเป็นคนผิวขาว ดำ สวย หรือ ขี้เหล่ หรือแม้กระทั่งทำงานที่ต่างกัน เจ้านาย ลูกน้อง ทุกคนทุกชีวิตมีคุณค่ามีค่าของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่ากัน เพียงแต่ทำงานต่างหน้าที่กัน สวยของคนหนึ่ง อาจจะไม่สวยของอีกคนหนึ่ง ดีที่สุดสำหรับคนนี้อาจไม่ดีที่สุดสำหรับอีกคนก็ได้ แต่ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน เราจะต้องรู้จักรักตนเอง เคารพตนเองและยอมรับตัวเราเองได้ รวมไปถึงการมองเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ใช่มัวแต่นั้นคิดน้อยใจในโชคชะตาวาสนาใครที่คิดเช่นนี้เป็นคนทำร้ายตนเอง ทำร้ายจิตสำนึกที่ดีงามของตนเองด้วย จงลุกขึ้นมาให้คุณค่าแก่ตัวเราเองให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “เพชรเม็ดงามมีแสงใสด้วยตัวมันเอง”
4. การรู้จักก้าวไปเผชิญโลกด้วยความมั่นใจ ปัจจุบันเทคโนโลยีล้ำหน้าไปมาก เราควรจะเป็นเปิดประตูใจออกไปสู่โลกภายนอกบ้าง เพื่อให้วิสัยทัศน์กว้าง ความรู้ต่างๆส่งผ่านข้อมูลใยแก้วเป็นจำนวนมากเรา ควรทำความเข้าใจแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยศึกษา ความคับข้องใจก็จะไม่เกิด ข่าวสารต่างๆที่ได้มาต้องนำมาพินิจพิเคราะห์แล้วเลือกใช้ ให้เหมาะสมกับตัวเรามุมมอง ต่างๆในบางเรื่องอาจชัดเจนขึ้น แง่คิดต่างๆ ความคิดใหม่อาจเกิดขึ้นโดยที่ตัวคุณเองอาจไม่รู้ตัว เป็นการฝึกรับข้อมูล ส่งผ่านข้อมูล รู้จักการเลือกสรร วิเคราะห์เรื่องต่างๆได้แม่นยำขึ้น
5. จงเป็นผู้ที่มีหน้าต่างใจเต็มกรอบ หมายถึง การมีจิตใจที่ดีงาม ใจมีคุณภาพ ใจนิ่ง เรียบ เกิดสมาธิไม่รุ่มร้อน อย่างที่โบราณว่า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ฝึกให้ใจทำงานด้วยสติ ฝึกคิด ไตร่ตรองก่อนลงมือทำงาน ฝึกใจให้รับเรื่องราวต่างๆแล้วส่งผ่านข้อมูลออกไปโดยไม่กลับมาทำร้ายตัวเราเอง ใจที่มีคุณภาพต้องไม่จับไม่ยึดไม่ติด ถ้าทำได้ ไม่ว่าเราจะเผชิญกับสถานการณ์ใดๆ คับขันขนาดไหน เราก็ยังทนในสภาพนั้นได้ บางครั้งหลักธรรมทางพระศาสนาก็สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับดำเนินชีวิต ในการฝึกจิตฝึกใจให้เกิดพลังได้ดีที่เดียว เมื่อท่านเป็นผู้ที่มีหน้าต่างใจเต็มกรอบมุมมองในการคิดเรื่องใดๆก็จะมีศักยภาพมากขึ้น ชีวิตก็ดำเนินไปแม้ว่าจะพบปัญหาใดๆ อุปสรรคใดๆเราก็สามารถช่วง ตอน นั้นๆได้ไม่ยากนัก แต่บุคคลที่ใจไม่เต็มกรอบ ใจไม่สมบูรณ์ ใจไม่เป็นสุขกลุ่มคนเหล่านี้มักแก้ปัญหาโดยการเว้นวรรคชีวิต ถ้าพลาดชีวิตก็สลาย ถ้ายับยั้งทันแผลในใจก็เกิดขึ้นกว่าจะรักษาแผลใจ คงต้องมาเริ่มเปิดหน้าต่างใจกันใหม่เสียเวลาเสียความรู้สึกทั้งต่อตนเองและคนใกล้ชิด ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เราควรมาฝึกจิตฝึกใจให้มีพลัง มีคุณภาพโดยสมบูรณ์
6. รู้จักควบคุมอารมณ์และความรู้สึกที่เศร้าหมอง มนุษย์เรามักจะคาดหวังว่าเรื่องนั้นต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนนั้นต้องทำกับฉันอย่างนั้น แต่พอเขาไม่ทำตามที่เราคิดความคาดหวังที่เรามีมันกลับมาทำให้ตัวเราคับข้องใจเอง ทำให้เกิดอารมณ์ ทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าหมอง ในเรื่องนี้ถ้าจะให้ดีคือฝึกคิดฝึกมองอะไรโดยปราศจากอารมณ์ ฝึกการใช้เหตุผลมากๆ ทำสิ่งใดช้าๆแต่ให้สำเร็จทันการ แลเมื่อมีสิ่งใดมากระทบก็ไม่ผันแปรไปตามเรื่องนั้นๆจนขาดการยับยั้งชั่งใจ เท่านี้อารมณ์ก็สามารถถูกควบคุมได้ มีนักจิตวิทยาบางท่านแนะว่าถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่สามารถแก้ได้แต่ตัวเราต้องเผชิญจะทำอย่างไรดี วิธีการหนึ่งที่อาจใช้ได้ผลคือ การมองแบบผ่านไปเหมือนมองผ่าอากาศธาตุ ฝรั่งเรียกว่ามองแบบ Transparency คือมองแบบทะลุไปเลยไม่มีอะไรกันเหมือนมองกระจกใส หรือพลาสติกใสนั้นเอง
7. จงฝึกเป็นคนมองย้อนกลับ เราท่านหลายคนมักทำอะไร คิดอะไร มักคิดไปตรงๆ คิดไปข้างหน้า คิดเข้าข้างตนเอง คิดในแง่มุมของเรา แต่ไม่เคยจะคิดในแง่มุมผู้อื่นบ้าง ตัวอย่างเช่น เรามักคิดว่าเราเป็นเจ้าของ สุนัข เราจะปฏิบัติต่อสุนัขด้วยความรัก ความเคยชิน ต้องการให้อาหารก็ให้วันนี้รีบ ไม่มีเวลาให้ฉันก็ไปทำงานสุนัขรอกินข้าวก็แล้วกัน เราท่านแต่ละคนเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า สุนัขอาจคิดว่า ตัวมันเองเป็นเจ้าของคนนะ คนเป็นข้ารับใช้สุนัข ดังนั้นคนต้องหาอาหาร ต้องอาบน้ำ คนไหนที่ชอบตีสุนัข รังแกสุนัข สุนัขอาจคิดว่าคนๆนี้มีการฝึกจิตในระดับต่ำก็ได้จึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมที่มนุษย์แต่ละคนแสดงสุนัขจะจำและแสดงพฤติกรรมของ สุนัขออกมาให้คนเข้าใจ จากตัวอย่างนี้คือการคิดในมุมกลับ อยู่กับคน อยู่กันหลายคนก็คิดหลายแบบ แบบของเราว่าดี แบบของเขาก็ว่าดีเหมือนกัน คิดคนละอย่างก็อาจอยู่ด้วยกันได้ถ้าเราจะเป็นผู้คิดแบบย้อนกลับบ้างอย่าคิดเข้าข้างตนเองจนเกินความพอดี แค่นี้เราก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้แล้ว
การยอมรับกันเพื่อให้เกิดการมุมมองดีๆมีให้กัน เริ่มวันนี้เห็นวันนี้ ใครที่เริ่มมานานแล้วผลที่เกิดขึ้นหลายท่านคงประจักษ์แล้วว่าดีอย่างไร ถ้าบุคคลช่วยกันสร้างความรู้สึกที่ดีๆมีให้ต่อกัน เมื่อนั้นสิ่งดีๆก็จะเกิดกับตัวเราสุขภาพจิตของเรา การเป็นผู้มีความสามารถยอมรับความจริง มองโลกตามที่เป็น มองในแง่ดี มองอะไรดี ๆ ก็จะทำให้สุขภาพจิตดี
8. ต้องรู้จักใช้หลักธรรมทางศาสนาช่วยพัฒนาระดับจิต บางครั้งหลายอย่างที่เรา
พยายามปรับและแก้ไขที่ตัวเรา แต่สถานการณ์บางสถานการณ์อาจทำให้เราหมดกำลังใจและตัวเราก็ไม่สามารถหลีกหนีสถานการณ์นั้นๆได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ปวดร้าวนั้น แนวทางที่สามารถเลือกได้แนวทางหนึ่งคือ การใช้หลักธรรมศาสนามายึดในการประคองชีวิตในช่วงวิกฤต หรือ นำหลักธรรมมาเป็นกรอบในการดำเนินความคิดเราอาจจะดีขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาต่างๆรุมเร้าจนทำให้สุขภาพจิตเราเสื่อมนั่นเท่ากันท่านกำลังทำร้ายตัวเอง และสะกัดกั้นการพัฒนาบุคลิกภาพที่จะดำเนินไปอย่างไม่รู้ตัว
9. ต้องยอมรับเรื่องมนุษย์มีความแตกต่างกัน สุขภาพจิตจะดีได้ต้องยอมรับความ
แตกต่างระหว่างบุคคลด้วยมนุษย์แม้แต่แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันพอโตขึ้นมาแม้ว่าจะเลี้ยงดูเหมือนกันแต่ก็มีหลายอย่างที่แตกต่างกัน คนที่เขาแสดงพฤติกรรมใดๆที่ต่างจากเราต่างจากกลุ่มก็ไม่ใช่ว่าเขาแย่กว่าเรา เขาอาจมองอีกมุมหนึ่ง เราก็อาจจะมองอีกมุมหนึ่ง ความแตกต่างของมนุษย์ในส่วนนี้ถ้าเราเข้าใจยอมรับธรรมชาติของแต่ละคน สุขภาพจิตท่านก็ดีด้วย อย่าคิดไปแก้ไขคนอื่นแต่ต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง สุขภาพจิตเราก็ดี รับผิดชอบตนเอง รับผิดชอบการกระทำ และความคิด เข้าใจเรื่องความแตกต่างกันของบุคคลท่านก็มีสุขภาพจิตดีสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้
สรุปเรื่องสุขภาพจิตกับการปรับตัวการปรับตัวสิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึง คือ เรื่องต้องมีร่าง
กายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ต้องสามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกได้ ต้องเป็นผู้มีความสามารถยอมรับความจริง มองโลกตามความเป็นจริง ต้องยอมรับเรื่องมนุษย์มีความแตกต่างกัน ทั้งหมดจะช่วยให้บุคคลสามารถรักษาสุขภาพจิตที่ดีและสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้