ขวัญ (Morale)
ความหมายของขวัญ
คำนิยามของขวัญ (Morale) มีอยู่หลายแง่หลายมุมต่างๆ กัน เช่นบางหน่วยงานถือว่าขวัญ คือน้ำใจ
ที่ผูกพันกับหมู่คณะ ความกระตือรือร้น หรือความจงรักภักดีต่อหน่วยงาน แต่บางแห่งใช้ในแง่ของความหมาย
ที่ว่า ขวัญคือทัศนคติของ กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีต่องาน ความพึงพอใจในการทำงานอธิบายไปได้ดังนี้คือ
ถ้ากลุ่มเจ้าหน้าที่มีทัศนคติดีต่อองค์การและมีความพอใจ ในการทำงานสูง ก็ถือว่ากำลังขวัญของเจ้าหน้าที่มีมาก แต่ถ้าเจ้าหน้าที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อองค์การหรือต่อผู้บังคับบัญช าและเพื่อนร่วมงาน และมีความคับข้องใจ
ในการทำงาน ก็แสดงว่ามีกำลังขวัญต่ำ
ศาสตราจารย์ Dale Yoder ให้คำนิยามขวัญในลักษณะที่เกี่ยวกับการทำงานว่า "ขวัญ คือ
องค์ประกอบแห่งพฤติกรรมของผู้ที่ปฏิบัติที่แสดงออก ในรูปของความรู้สึกที่มีต่องาน ตามความหมายนี้
ถ้าผู้ปฏิบัติงานมีความรู้สึกสนุกสนานในการทำงาน รู้สึกรักงานรู้สึก ผูกพันต่องาน และรู้สึกว่ามีความมั่นคง
ในการทำงานก็เรียกว่าผู้ปฏิบัติงานนั้นมีขวัญดี แต่ถ้ารู้สึกตรงกันข้ามก็เรียกว่าขวัญไม่ดีหรือขวัญต่ำ"
ศาสตราจารย์ Ralph C. Davis ให้ความหมายของขวัญไว้อีกแง่หนึ่งอย่างกะทัดรัดว่า
"ขวัญคือ พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออก และสะท้อนให้เห็นถึง ลักษณะการทำงาน เช่น ความกระตือรือร้น ความมีอารมณ์ดี และความมั่นใจ
ความสำคัญของขวัญ
การบริหารงานมีลักษณะเป็นการระดมทรัพยากรการบริหาร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดการ ให้คนร่วมกันทำงานอย่างมีน้ำหนึ่งใจเดียว และทำงานด้วย ความพึงพอใจ โดยแต่ละคนมุ่งมั่นถึงวัตถุประสงค์อย่างแรงกล้า มีผู้กล่าวว่าในการรบ ขวัญของทหารในกองทัพขึ้นอยู่กับแม่ทัพ หากแม่ทัพยอมรับใน ความสำคัญของขวัญ การรบจะประสบชัยชนะได้ในที่สุด การจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์ให้แก่กองทัพ และการอบรมสั่งสอน ให้ทหารมีความชำนาญ ในการรบเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอในการต่อสู้เอาชัยชนะข้าศึก กองทัพที่ดีจะต้อง มีทหารที่กระตือรือร้นที่จะรบ มีความตั้งใจที่จะทำ การร่วมรบร่วมเป็น ร่วมตายกับเพื่อนทหารทุกคนรวม ทั้งแม่ทัพ ความสำคัญของขวัญพอจะจำแนกได้ดังนี้ คือ
๑. ขวัญจะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันทำงานอย่างสมานฉันท์
๒. ขวัญจะสร้างความจงรักภักดีต่อองค์การให้เกิดขึ้นแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน
๓. ขวัญจะเกื้อหนุนให้ระเบียบข้อบังคับขององค์การ เกิดผลในการควบคุมความประพฤติของบุคคลกล่าวคือ เจ้าหน้าที่จะอยู่ในระเบียบวินัย
๔. ขวัญจะสร้างสามัคคีธรรมขึ้นในหมู่คณะ และก่อให้เกิดพลังร่วม (Group efforce)
๕. ขวัญจะเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างบุคคลในองค์การกับนโยบายและวัตถุประสงค์
ขององค์การ
๖. ขวัญจะจูงใจให้เจ้าหน้าที่ในองค์การมีทัศนคติที่ดีต่อองค์การและมีความคิดสร้างสรรค์
ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การ
๗. ขวัญจะทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นคงทางใจ และทำงานอยู่กับองค์การนานเท่านาน
ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดกำลังขวัญที่ดี
๑. บทบาทของผู้บังคับบัญชาที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน หากผู้บังคับบัญชามีความสัมพันธ์อันดีกับลูกน้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ย่อมจะทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันมีชีวิตชีวา และลูกน้องจะมีขวัญดี
แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาวางตัวแบบเจ้านายผู้เรืองอำนาจ ขาดมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ขวัญของลูกน้องจะตกต่ำ
การบริหารยุคใหม่จึงมุ่งคน (Human oriented) มากกว่ามุ่งงาน (Task oriented) ตามเหตุผลว่าเมื่อคนได้รับ
ความเอาใจใส่ดีเขาจะทำงานดีด้วย
๒. การมอบหมายงาน การมอบหมายงานให้บุคคลปฏิบัติหรือรับผิดชอบนั้น หากมอบหมายงาน
ไม่เหมาะสมกับความสามารถของบุคคล และไม่เหมาะกับบุคลิกภาพของเขา จะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิด
ความคับข้องใจ เกิดความไม่พึงพอใจ ซึ่งเป็นการทำลายกำลังขวัญของเขาด้วย แต่ถ้าการมอบหมายงาน
ที่ถูกใจ ถูกกับความถนัด ถูกนิสัยใจคอ เขาย่อมจะพึงพอใจและทำงานด้วยความสบายใจ ขวัญก็เกิดขึ้น
ตามมา การจะมอบหมายงานให้เหมาะสมจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual difference:- Physical, Intellectual, Emotional, Skill) หรือใช้หลักการของ ดร. ดักลาส แมกเกรเกอร์ (Dr.Douglass Mcglegor) ซึ่งแบ่งคนออกเป็น ๒ พวก คือพวก X ได้แก่ พวกที่มีลักษณะเป็นลบ :- เกียจคร้าน ไม่พัฒนาตนเอง
ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และก้าวร้าว และพวก Y ได้แก่พวกที่มีลักษณะเป็นบวก :- ขยัน พัฒนาตัวเองเสมอ
มีความคิดสร้างสรรค์ และสุภาพอ่อนน้อม ผู้บริหารเมื่อต้องมอบหมายงาน จะต้องอดทนพยายามปรับคนกลุ่ม X ให้ดีขึ้นกลายเป็น Y หรือเข้าใกล้ Y ทั้งนี้ผู้บริหารควรจะมองโลกในแง่ดี แสดงออกดี คิดเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ตามหลักศาสนา
๓. การจัดสภาพการทำงาน สภาพการทำงาน (Working Conditions) มีอิทธิพลต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลเป็นอันมาก และมีส่วนเสริมสร้าง ขวัญและทำลายขวัญเป็นอย่างยิ่ง การจัดสภาพการทำงานที่ดี
ถูกหลักอนามัย จะทำให้พนักงาน บังเกิดความสบายใจ ไม่รู้สึกรำคาญ หรือมีอารมณ์ขุ่นมัว ขวัญของเขาก็จะดี แต่ถ้าการจัดสภาพการทำงานไร้ระเบียบ ขาดความสะอาดความสวยงาม พนักงานจะขาดความตั้งใจ
ในการทำงาน และเป็นการทำลายขวัญให้หมดสิ้นไปด้วย
๔. ระบบการวัดผลความสำเร็จในการทำงาน เช่น ระบบการเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน
การโยกย้าย ถ้าปฏิบัติอย่างไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ขาดความยุติธรรม จะมีผลกระทบกระเทือนขวัญมากที่สุด
๕. โอกาสในการแสดงความคิดเห็นและการยอมรับฟัง ตามปกติทุกหน่วยงานมักจะมีเหตุอันก่อให้เกิดความคับแค้นใจระหว่างผู้ร่วมงาน หรือระหว่างคนงานกับฝ่ายบริหาร หากพนักงานไม่มีโอกาสแสดง
ความคิดเห็น หรือมี แต่ฝ่ายผู้บังคับบัญชาไม่ยอมรับฟัง ก็จะทำให้พนักงานเกิดความคับข้องใจ และทำลายขวัญของเขาด้วย
๖. การให้บำเหน็จรางวัลและการลงโทษ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดีต้องรับรู้ในความดีของเขาโดยให้บำเหน็จความดี เป็นการเสริมแรงบวก (Positive Reinforcement) ซึ่งอาจจะเป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเพิ่มเงินเดือนให้มากขึ้น ตลอดจนการชมเชยให้รางวัลพิเศษ จะเป็นการทำให้เขามีกำลังใจ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดวินัยหรือมีข้อบกพร่องก็ควรมีการลงโทษ เป็นการเสริมแรงลบ (Negative Reinforcement) ตามควรแก่กรณี
โดยเคร่งครัดเสมอหน้ากัน และเป็นธรรม มีข้อสังเกตว่าวิธีการลงโทษไม่สามารถทำให้บุคคลที่กระทำผิด
มีความประพฤติดีขึ้นอย่างแท้จริง เนื่องจากจิตใจขาดการยอมรับ แต่ยอมตามบ้างเพราะกลัวการลงโทษเท่านั้น
วิธีการประเมินขวัญ
๑. การสังเกตการณ์ (Observation)
๒. การสัมภาษณ์ (Interviewing)
๓. แบบสอบถาม (Questionnaires)
๔. การเก็บประวัติ (Record – keeping)
ลักษณะที่ชี้ให้เห็นถึงสภาพของขวัญ
๑. ระดับความสม่ำเสมอของผลงาน
๒. การขาดงาน การลาออก
๓. คำร้องทุกข์หรือบัตรสนเท่ห์
๔. การวิพากษ์วิจารณ์งานของคนอื่น
การบำรุงรักษาขวัญ
๑. ควรจัดให้มีการสำรวจทัศนคติ (Attitude survey) เป็นครั้งคราว เพื่อให้รู้ว่าลูกน้องมีปฏิกิริยา
ต่องานหรือหัวหน้างานอย่างไร
๒. สร้างเครื่องวัดผลสำเร็จในการทำงานของแต่ละบุคคลขึ้น การดำเนินการพึงปฏิบัติให้เป็นไป
ตามระเบียบ หากปฏิบัติอย่างไม่ เป็นธรรม จะมีผลกระทบกระเทือนขวัญมากที่สุด
๓. เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ หรือระบายความอัดอั้นตันใจของเขาบ้าง
๔. ผู้บังคับบัญชาต้องทำตัวเป็นที่ปรึกษาหารือที่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชา ช่วยแก้ปัญหาส่วนตัวและ
เรื่องงาน ดังที่เรียกว่า Counseling Service คือ การช่วยชี้ทางแก้ปัญหาในการปรับปรุงตัวเอง
๕. การชมเชยให้รางวัล ต้องทำด้วยใจจริงและระวังมิให้เหลิง การชมเชยให้รางวัลจะทำให้เกิด
แรงจูงใจ การทำความดี ถ้าไม่มีใครเห็น ก็จะเกิด การเบื่อหน่ายและท้อถอยผู้บังคับบัญชาต้องรับรู้
ความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทั่วถึง
๖. สร้างบรรยากาศการทำงานให้ทุกคนมีความหวัง มีโอกาสก้าวหน้า รู้อนาคตของตัวเองและ
เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงาน แสวงหาความก้าวหน้า ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างเต็มที่
๗. ให้โอกาสอันเทียมกันในอันที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามส่วนสัดแห่งผลการปฏิบัติงานและความสามารถ จงใช้ความเป็นธรรม พิจารณาแต่งตั้งให้รอบคอบที่สุด
๘. ผู้บังคับบัญชา ต้องวางตัวเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีมีน้ำใจเมตตากรุณา โดยทำตัวให้
ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าถึง มิใช่วางตัว แบบผู้เรืองอำนาจ เผด็จการ
๙. พึงส่งเสริมสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ