เทคนิคการบริหารเจ้านาย

เทคนิคการบริหารเจ้านาย

ในชีวิตจริงของการทำงานไม่ว่าในองค์กรแบบไหน องค์กรภาครัฐ บริษัทเอกชนหรือ แม้กระทั่งองค์กรการกุศล เสียงบ่นเกี่ยวกับเจ้านายมักจะอยู่ในร่องเสียงเดียวกัน (มองในแง่ลบ) เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นคล้ายๆกัน เช่น

เผด็จการชอบสั่งงานลูกน้อง “คุณต้องทำอย่างนี้” “ห้ามทำอย่างนั้น
รับแต่ความดีและ ความชอบ แต่โยนความผิดให้ลูกน้อง
จุกจิกเรื่องส่วนตัว สนใจในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
ชอบสั่งงานตอนใกล้เลิกงาน เป็นอาจิณ
เปลี่ยนความคิดทุกวัน วันนั้นจะเอาอย่างนี้ วันนี้จะเอาอย่างนั้น
เจ้าอารมณ์ หงุดหงิด โมโหง่าย เอาแต่ใจตัวเอง
เจ้านายไม่เก่ง ดีแต่ประจบเจ้านาย(ของเจ้านาย)
มีแต่จับผิด ไม่เคยจับถูก ไม่เคยชมลูกน้อง
รักลูกน้องไม่เท่ากัน ลำเอียง อคติ เลือกที่รักมักที่ชัง
เจ้านายเจ้าชู้ (สาวๆที่มีเจ้านายเป็นผู้ชาย)
ขี้โม้โอ้อวดว่าตัวเองเก่ง ดูถูกลูกน้อง
ฯลฯ
ปัญหาของ “เจ้านาย” ส่วนใหญ่อยู่ที่ใจของลูกน้องมากกว่าเกิดจากตัวเจ้านาย ลองพิจารณาดูดีๆซิครับว่า ไม่ว่าเราจะมีเจ้านายแบบไหน เราก็ยังสามารถหา ข้อไม่ดีของเจ้านายมาบ่นได้อยู่ดี วันแรกๆที่เข้าไปทำงานกับเจ้านายคนนั้นใหม่ ทุกอย่างดูเหมือนจะสดใสไปหมด แต่พอทำงานไปสักระยะหนึ่ง รู้สึกว่าความสัมพันธ์ทางใจของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้าเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งๆที่หัวหน้ายังเป็นคนเดิม นิสัยเดิม เพราะใจเราเปลี่ยนไปต่างหาก

เรามักจะหาข้อผิดมาดิสเครดิตทางใจของเจ้านาย เหมือนการแข่งกีฬาที่มีระบบการให้คะแนนแบบเต็มไว้ก่อน แล้วเมื่อทำผิดค่อยนำมาหักทีละจุดๆ เช่น ยิมนาสติกก่อนเล่นทุกคนมีคะแนนเต็มสิบ ถ้าพลาดตรงไหนก็จะถูกหักคะแนนในจุดนั้น (เหมือนรายการทำผิด อย่าเผลอ อะไรทำนองนั้น) สุดท้ายแล้วคนที่เก่งที่สุดคือคนที่ได้คะแนนเสมอตัว (ได้คะแนนเท่ากับคะแนนเต็มที่ให้ไว้) ไม่เหมือนกีฬาบางประเภท เช่น ฟุตบอลมีการนับแต้มที่ทำได้และบวกขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

แน่นอนว่าถ้าเราให้คะแนนเจ้านายแบบยิมนาสติก ดีที่สุดคือเขาจะมีคะแนนในใจเราเพียงแค่เสมอตัว ไม่รักและไม่เกลียด แต่ถ้าเราให้คะแนนเจ้านายแบบฟุตบอล ทำดีเมื่อไหร่ใส่คะแนนบวก ถูกใจเราเมื่อไหร่ก็ใส่คะแนนบวก ถ้าคิดอย่างนี้เจ้านายทุกคนก็มีโอกาสมีกำไรบ้าง ไม่ใช่มีทางเลือกเพียง “เจ๊า” กับ “เจ๊ง” ในสายตาของลูกน้อง

ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงปัญหาเจ้านายไม่ได้ เราก็มีทางเลือกและทางออกเพียงไม่กี่ทางคือ

ทะเลาะกับเจ้านาย

ทะเลาะกับเจ้านายทีไร ลูกน้องเสียเปรียบวันยังค่ำ เพราะโอกาสที่เจ้านายจะถูกย้ายไปหน่วยงานอื่นนั้นยากกว่าลูกน้องจะถูกย้าย เพราะตำแหน่งเจ้านาย(หัวหน้า) มีน้อยกว่าตำแหน่งลูกน้อง โอกาสที่ลูกน้องจะไปชี้แจงให้ผู้บริหารระดับสูงรับทราบก็น้อยกว่าเจ้านาย เพราะผู้บริหาร(ซึ่งทุกคนก็มีตำแหน่งเป็นเจ้านายาอีกตำแหน่งหนึ่ง)มักจะมอง ว่าลูกน้องคนไหนทะเลาะกับเจ้านาย แสดงว่าหัวแข็งปกครองยาก ดูแล้วโอกาสรอด.....ยากมากครับ

เซย์กู๊ดบายไปหาเจ้านายใหม่

นี่ก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่หลายๆคนชอบใช้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องทนอยู่กับเจ้านายมีปัญหา หนีปัญหาดีกว่า คนที่คิดแบบนี้ผมรับรองได้เลยว่า ชีวิตนี้เขาจะเปลี่ยนงานเป็นอาชีพ เพราะไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็จะมีปัญหากับหัวหน้าอยู่ดี หัวหน้าคนนี้อาจจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง หัวหน้าอีกคนก็จะมีปัญหา อีกอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถหาเจ้านายในฝันได้หรอกครับ

ทนอยู่จนกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะจากไป

บางคนใช้วิธี “ใครเหนียวกว่ากัน” คนประเภทนี้ไม่หนีและไม่สู้ซึ่งหน้า เจ้านายจะให้ทำอะไรก็ไม่ขัด แต่ก็ทำแบบขอไปที ไม่ให้มีความผิดจนเจ้านายไล่ออกได้ หรือไม่ทำเสียจนดูเหมือนเอาใจเจ้านาย กลุ่มนี้จะยึดคติที่ว่าจะอยู่ไปจนกว่า จะมีทางไปที่ดีหรือไม่ก็เจ้านายจำใจ ต้องจากไปเอง

เปลี่ยนใหม่หันมาเอาใจนายดีกว่า

บางคนมีเหตุผลส่วนตัวที่จะต้องอยู่กับองค์กร ไม่สามารถเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่นได้ เช่น สามีหรือภรรยาอยู่ที่นี่ บริษัทนี้อยู่ใกล้บ้าน ที่นี่สวัสดิการดี อายุมากแล้ว ออกไปอยู่ที่อื่นคงจะยาก ในเมื่อเสียเปรียบหัวหน้าทุกประตู อย่างนี้ก็แปรพักตร์ไปอยู่ฝั่งเจ้านายดีกว่า ไม่ต้องสนใจว่าเราจะชอบเจ้านายหรือไม่ แต่ขอให้เป้าหมายหลักของเราอยู่ก็พอแล้ว ยอมให้คนอื่นว่า “ชเลียร์” ก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงก็ยังมีงานทำ มีเงินเดือนใช้

บริหารเจ้านายซะ

มีไม่กี่คนที่คิดถึงวิธีนี้ เพราะส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาเจ้านายด้วยอารมณ์มากกว่าการใช้สติ ลูกน้องมักจะมองเจ้านายไปในแง่ลบมากว่าแง่บวก การบริหารเจ้านาย เป็นทางเลือกและทางออกที่ลูกน้องยุคใหม่ควรจะนำไปใช้ เพราะนอกจากจะอยู่ร่วมกันกับเจ้านายได้อย่างสบายแล้ว ยังสามารถพัฒนาทักษะในการบริหาร จัดการคน(ที่สูงกว่า) ได้เป็นอย่างดี

ลองมาดูกันต่อไปนะครับว่า ทำไมเราต้องเลือกวิธีการบริหารเจ้านายมากกว่าวิธีอื่น หรือถ้าเราไม่บริหารเจ้านายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าเราไม่บริหารนาย นายจะบริหารเรา

โดยธรรมชาติแล้ว เจ้านายต้องบริหารลูกน้องอยู่แล้ว เจ้านายมักจะวางแผน สั่งงาน ติดตามงาน ควบคุมงาน ประเมินผลงานของลูกน้อง ถ้าเราเป็นลูกน้อง โดยธรรมชาติเหมือนกัน รับรองได้ว่าวันๆหนึ่งเราจะต้องนั่งรอว่าเจ้านายจะสั่งงานอะไรบ้าง วันๆเราจะต้องคอยทำงานคำสั่งที่เจ้านายต้องการ คอยมานั่งตอบว่างานนั้นงานนี้ไปถึงไหนแล้ว เราจะต้องทำงานที่มีเดทลายน์ไปตลอด เพราะเจ้านายมักจะกำหนดงานเพราะกับวันส่งหรือวันเสร็จมาให้เสมอ ถ้าเจ้านายเราคือกระแสน้ำ แน่นอนว่าเราไม่อาจจะป้องกันไม่ให้มันไหลได้ แต่ถ้าเราเตรียมตัวล่วงหน้าเราอาจจะไม่ถูกกระแสน้ำพัดจนจมหายไป ถ้ายิ่งเราวางแผนบริหารจัดการกับกระแสน้ำนั้นได้ เผลอๆเราอาจจะใช้ประโยชน์จากกระแสน้ำนั้นได้ เช่น การค่อยๆเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำไปยังทิศทาง ที่เราต้องการมากกว่าให้มันไหล ไปตามธรรมชาติ

นายเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงบ่อย

เหตุผลหนึ่งที่เราจะต้องหันมาเลือกวิธีการบริหารเจ้านาย เพราะเจ้านายเกือบทุกคนจะมีการเปลี่ยนแปลงความคิด แนวทาง วิธีการทำงานบ่อยๆ จนบางครั้งลูกน้องรู้สึกหงุดหงิด ถ้าเจ้านายทุกคนไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง เราคงไม่ต้องมานั่งบริหารเจ้านายให้เมื่อยหรอกนะครับ

เจ้านายมีหลากประเภท หลายสไตลน์

เจ้านายก็คือคนๆหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของเอกบุรุษหรือสตรีที่ไม่เหมือนใคร เจ้านายคนหนึ่งเป็นแบบนี้ เจ้านายอีกคนเป็นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นสไตลน์การบริหาร ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพส่วนบุคคล ดังนั้น ถ้าเราไม่พร้อมสำหรับการบริหารเจ้านาย รับรองได้ว่าโอกาาสพลาดของเรามีเยอะ เพระาไม่พลาดกับเจ้านายคนนี้ก็อาจจะพลาดกับเจ้านายอีกคนหนึ่ง

ถ้าบริหารนายได้ จะทำงานง่ายขึ้น

ถ้าเราสามารถบริหารเจ้านายได้ การทำงานทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น เพราะบางเรื่องเราสามารถชี้นำความคิดเจ้านายให้เข้าทางเราได้ บางเรื่องเราสามารถโน้มน้าว ต่อรองให้เจ้านายเห็นด้วยกับแนวทางการทำงานของเราได้ เมื่อเจ้านายและลูกน้องมีความชัดเจนในการตกลงเป้าหมายการทำงานร่วมกันแบบ เห็นชอบด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว

นายไม่มีเวลาบริหารตัวเอง เพราะมัวแต่บริหารคนอื่น

เจ้านายส่วนใหญ่มักจะมองออกไปข้างนอก(ตัวเอง) คือมุ่งเน้นแต่การบริหารคนอื่น(ลูกน้อง) ดังนั้น จุดอ่อนอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นและเป็นโอกาสให้กับเรา ในฐานะลูกน้องคือ เจ้านายขาดการบริหารตัวเอง จุดอ่อนนี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถบริหารเจ้านายได้

ถ้าเติบโต เรามีโอกาสโตตาม

ถ้าเรามีส่วนช่วยบริหารเจ้านายให้เติบโตในหน้าที่การเงินได้เร็วเท่าไหร่ มากเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะโตตามเจ้านายก็มีมากขึ้นเท่านั้น เพราะถ้าเราบริหารเจ้านายได้ดี แล้วเจ้านายจะขาดเราไม่ได้ พูดง่ายๆว่าถ้าเจ้านายได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นไป เขาจะต้องหนีบเราติดไปด้วย เพราะยิ่งสูงยิ่งหนาว ต้องการเพื่อนที่รู้ใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น

นายคือเครื่องมือที่ทรงพลังของเรา

ถ้าเรามองโลกในแง่ดีแล้ว เราจะพบว่าเจ้านายคือเครื่องมือการทำงานที่ทรงพลัง เพราะเจ้านายมีทั้งอำนาจบารมี ในบางโอกาสเจ้านายสามารถ นำเสนองานต่อผู้บริหารแทนเราได้ เจ้านายสามารถจัดการกับหน่วยงานอื่นที่มีปัญหากับเราได้ เราสามารถใช้เจ้านายให้เป็นที่ปรึกษาให้เราได้ในหลายๆเรื่อง เราสามารถใช้เจ้านายเป็นผู้ที่ให้ความรู้กับเราได้

นายคือฝ่ายการตลาดของเรา

เจ้านายคือช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตจากการทำงานของเรา บางครั้งเจ้านายเอาผลผลิต(งาน)ของเราไปขายให้ผู้บริหาร บางครั้งเอาไปขายให้กับ หน่วยงานอื่น เอาไปขายให้พนักงาน ในขณะเดียวกันเจ้านายถือเป็นช่องทางในการทำการตลาด การโฆษณาตัวเรา ผลงานของเราได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่สามารถไปโฆษณาผลงานและความสามารถของตัวเราเองได้ ต้องอาศัยเจ้านายซึ่งมีเครือข่ายที่ดีกว่าเราช่วยทำการตลาดให้กับเรา

เพื่อความสบายใจของเราเอง

มีคำกล่าวว่า “ในโลกนี้ทุกคนมีอิสระในการเลือกอยู่ตลอดเวลา” ในการทำงานกับเจ้านายก็เหมือนกัน เรามีทางเลือกตลอดเวลา เช่น เราไม่สามารถเลือกเจ้านายได้ก็จริง แต่เราก็มีทางเลือกที่จะทำงานอย่างมีความสุขหรือเลือกที่จะทำงานอย่างมีความ ทุกข์กับเจ้านายคนนั้นๆ ถึงแม้เราเลือกจะมีความทุกข์กับเจ้านายคนนั้น เราก็ยังมีทางเลือกต่อไปอีกว่า เราจะทำงานอย่างมีความทุกข์ระดับไหน มาก ปานกลาง น้อย และเราก็ยังเลือกได้ต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด

นายคือทางผ่านของสะพานชีวิต

คิดว่าเสียว่าการบริหารเจ้านายคือการบริหารตัวเอง ถ้าเราผ่านการบริหารเจ้านายได้หลายคนหลายแบบ แสดงว่าเราได้ผ่านการทดสอบในการพัฒนาตัวเอง ไปมาก เจ้านายคือสะพานสู่ความสำเร็จในชีวิตของเรา บางช่วงของชีวิตอาจจะเจอสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี บางช่วงอาจจะเจอสะพานไม้แผ่นเดียว บางช่วงอาจจะเจอสะพานแขวนที่แกว่งไปแกว่งมา ยิ่งเราผ่านสะพานมาทุกรูปแบบยิ่งทำให้เราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ฝึกซ้อมก่อนที่เราจะเป็นนาย

ถ้าเจ้านายเป็นนักมวย เราอาจจะเป็นเพียงคนล่อเป้าให้นักมวยชก วันนี้เราอาจจะเจ็บตัวบ้างก็ยอมไปเถอะครับ วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เมื่อเรามีโอกาสเป็น นักมวยตัวจริง (เจ้านาย) เราจะรู้ได้ทันทีว่าจุดอ่อนจุดแข็งของนักมวยส่วนใหญ่อยู่ตรงไหน เราจะได้หาทางป้องกันได้อย่างถูกต้อง การที่เราบริหารเจ้านาย ก็เท่ากับว่าเราได้ฝึกซ้อมการเป็นเจ้านายไปในตัว เพราะการที่เราจะบริหารเขาได้ เราก็ต้องไม่คิดต่างไปจากเขา เราต้องรู้ทันความคิดของเจ้านาย เมื่อเราฝึกคิดแบบเจ้านายบ่อยๆ ก็เท่ากับว่าเราได้ฝึกซ้อมการคิดแบบคนที่เป็นเจ้านายไว้ล่วงหน้า
ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดคงจะพอสรุปได้ว่า การบริหารเจ้านายเป็นทางออกและทางเลือกให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ลูกน้องทุกคน เมื่อเราในฐานะลูกน้อง เริ่มเห็นความสำคัญและความจำเป็นตรงนี้แล้ว ลองมาดูกันต่อนะครับว่า มีเทคนิควิธีการอย่างไรบ้างในการ “บริหารเจ้านาย” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในความเป็นจริงแล้ว เทคนิคการบริหารเจ้านายมีเยอะแยะมากมาย แต่ผมจะขอยกตัวอย่างที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้งานง่ายๆดัง นี้ครับ

อย่าให้เจ้านายมีเวลาว่าง

โดยธรรมชาติของเจ้านายที่มีหน้าที่หางานให้ลูกน้องทำ เพราะเจ้านายส่วนใหญ่จะมีเวลาว่างมากกว่าลูกน้อง จึงมักจะคิดโน่นคิดนี่ แต่ไม่คิดเปล่า ชอบเอาความคิดที่เกิดขึ้นในหัวมามอบหมายให้ลูกน้องไปลองทำ และผลพวงทางความคิดของเจ้านายที่มักจะมอบหมายให้เรามักจะมาพร้อมกับวันกำหนด ส่ง ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะถูกเจ้านายบริหารเสียมากกว่าจะบริหารเจ้านาย แนวทางที่เราสามารถบริหารเจ้านายได้ทางหนึ่งก็คือ พยายามคิดโครงการ และนำเสนอโครงการให้เจ้านายบ่อยๆ และให้มีจำนวนโครงการมากเพียงพอที่ไปลดเวลาว่างของเจ้านายลงได้ พูดง่ายๆคือหลอกให้เจ้านายยุ่งอยู่กับ โครงการที่เรานำเสนอไปให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อไหร่ที่เราเป็นผู้เสนอโครงการ เราคือผู้กำหนดชะตากรรมของตัวเอง อย่างน้อยเราก็เป็นคนกำหนดสิ่งที่ต้องทำ เราเป็นคนกำหนดเวลาที่จะทำ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็สามารถใช้โครงการเหล่านี้เป็นเครื่องมือลดเวลาว่างของ เจ้านายลงได้อย่างแน่นอน และไม่ต้องกลัวว่าถ้าเจ้านายอนุมัติโครงการทั้งหมดมาแล้ว เราจะไม่ยุ่งกว่าเดิมหรือ เพราะโดยธรรมชาติของเจ้านายส่วนใหญ่ชอบติมากกว่าที่จะเห็นด้วย

จงเข้าหาเจ้านายเวลาเจ้านายอารมณ์ไม่ดี

โดยธรรมชาติของลูกน้อง มักจะเลือกที่จะไม่เข้าหาเจ้านายเวลาเจ้านายอารมณ์ไม่ดี เพราะกลัวโดนลูกหลง กลัวอารมณ์มือสอง จึงทำให้เจ้านายถูกโดดเดี่ยว จากลูกน้อง และเจ้านายเองก็ไม่ค่อยมีที่ปรึกษาเมื่อมีปัญหาทางจิตใจ เราในฐานะลูกน้องมืออาชีพ จึงควรฉกฉวยจังหวะนี้เปลี่ยนวิกฤติของเจ้านาย ให้เป็นโอกาสของเรา โดยการเข้าไปหาเจ้านายเวลาเจ้านายมีปัญหาหรืออารมณ์ไม่ดี ยอมโดนลูกหลง ยอมเป็นที่ระบายอารมณ์เพียงไม่กี่นาที แต่สิ่งที่เราจะได้คือ เจ้านายจะรู้สึกผิดที่ระเบิดอารมณ์ใส่เราโดยที่เราไม่มีความผิดอะไร ยิ่งทำกับเราบ่อยๆ แล้วเราไม่โกรธ ยิ่งจะทำให้เจ้านาย เกิดความรู้สึกผิด เกรงใจและคอยหาโอกาสชดใช้ความผิดกับเรา เช่น เวลาจะด่าเราก็มีอารมณ์ส่วนลดเพื่อชดเชยความผิดที่เจ้านายเคยด่าเราโดยที่ เราไม่มีความผิดมาบ่อยๆ การเข้าหาเจ้านายตอนที่อารมณ์ไม่ดี จะสร้างพฤติกรรมที่เจ้านายคุ้นเคยที่ทุกครั้งเวลาอารมณ์ไม่ดี จะติดเรา จะคอยถามหาเรา เพื่อต้องการระบายอารมณ์ เมื่อถึงตอนนั้น เราคือที่ปรึกษาส่วนตัวของเจ้านายไปโดยอัตโนมัติโดยที่เจ้านายไม่รู้สึกตัว เข้าทำนองที่ว่า “ขาดฉันแล้วเธอ (เจ้านาย) จะรู้สึก (เหงา)”

จงทะยอยสร้างผลงานไว้ให้มีกินไปนานๆ

อะไรก็ตามที่เขา(เจ้านาย)รู้หมดในครั้งเดียว โอกาสที่จะสร้างเซอร์ไพรส์จะไม่มีเหลือ เช่น มีฝีมือเท่าไหร่แสดงหมด ฝีมือที่เราแสดงออกไปอาจจะกลับมา เป็นดาบแทงตัวเอง เพราะการทำงานครั้งแรกคือมาตรฐานการทำงานที่อยู่ในใจเจ้านาย วันไหนเราทำงานต่ำกว่าที่เราเคยทำ กลับกลายเป็นว่า เราทำงานต่ำกว่ามาตรฐานในใจเจ้านาย (ถึงแม้ว่าจะสูงกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบก็ตาม) ดังนั้น จงวางแผนที่จะนำเอาฝีมือที่เรามีออกมาโชว์เจ้านาย เป็นช่วงๆ เหมือนกับการทำโปรโมชั่นให้เลือกค้าซื้อสินค้า ถ้าเรามีทางเลือกในการงัดฝีมือมาใช้มากเท่าไหร่ โอกาสที่ผลงานเราจะเข้าตาเจ้านาย ก็มีมากขึ้นเท่านั้น บางช่วงอาจจะทำเพียงรักษาระดับผลงานอย่าให้อยู่นอกสายตาเจ้านายก็พอแล้ว แต่บางช่วงบางจังหวะต้องงัดเอาฝีมือออกมาโชว์ให้เต็มที่ โดยเฉพาะตอนที่เจ้านายอยู่ในภาวะคับขันต้องการความช่วยเหลือ ตอนที่เจ้านายมีปัญหารุมเร้ามากมาย การที่เราเสนอตัวเข้าไปช่วยแค่เพียงเรื่องเล็กน้อย เจ้านายก็ถือเป็นเรื่องใหญ่เป็นผลงานขึ้นมาทันที

จงบริหารใจนาย

เจ้านายคือคนธรรมดาคนหนึ่ง ย่อมมีจุดอ่อนในชีวิตไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนโดยลักษณะนิสัย เช่น เป็นคนใจร้อน เป็นคนที่ไม่ค่อยละเอียดรอบคอบ ฯลฯ หรือจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาตามลักษณะของปัญหาที่เข้ามารุมเร้า เราจงคอยเฝ้าดูว่าอะไรคือจุดอ่อนของเจ้านาย เมื่อไหร่เจ้านายมีจุดอ่อน แล้วคอยหาจังหวะเข้าไปคุย เข้าไปเป็นเพื่อน และประเด็นสำคัญคือ จงอาสาทำงานที่เจ้านายอยากจะทำมาก แต่ลูกน้องคนอื่นไม่ค่อยอยากจะทำ นี่คือโอกาสอันดีที่เราจะซื้อใจเจ้านายได้ เพราะการอาสาของเราคือความหวังของเจ้านาย โดยเฉพาะโครงการที่เป็นความอยากส่วนตัวของเจ้านาย นอกจากนี้ ลูกน้องมืออาชีพต้องสามารถวิเคราะห์ลักษณะนิสัยใจคอเจ้านายออกว่า เจ้านายเราเป็นคนอย่างไร เช่น เจ้านายบางคนหน้าใหญ่ เจ้านายบางคนชอบคนยกยอ เจ้านายบางคนชอบคนเก่ง ฯลฯ ดังนั้น เราควรจะทำงานให้ถูกใจและตรงกับลักษณะนิสัยของเจ้านาย

จงเถียงเจ้านายเรื่องความคิดเห็น แต่อย่าเถียงเรื่องข้อเท็จจริง

การเป็นผู้ตามเพียงอย่างเดียว เจ้านายบางคนไม่ชอบ แต่จะชอบลูกน้องที่มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง เพื่อให้เจ้านายได้มีโอกาสประลองวิชาความรู้ ถ้าเราอยากจะเป็นบุคคลที่มีคุณค่าในสายตาเจ้านายจงหัดเถียงเจ้านายบ้าง แต่ขอแนะนำว่าควรจะเถียงกับเจ้านายในเรื่องที่เป็นความคิดเห็นจะดีกว่า เพราะโอกาสผิดนั้นมีน้อย (เพราะมันเป็นความคิดเห็น) และไม่มีใครผิด ไม่มีใครเสียหน้า เจ้านายมีโอกาสใช้บารมีข่มเราให้ยอมรับความคิดเห็นของเขาได้ เราก็ยอมได้เพราะมันเป็นเพียงความคิดเห็น แต่...ถ้าเราไปเถียงกับหัวหน้าเรื่องข้อมูลหรือข้อเท็จจริง สามารถพิสูจน์ได้ง่ายว่าเราหรือเจ้านายผิด ถ้าเราผิดจะกลายเป็นชะนักติดหลังเราไปที่อยู่ในใจเจ้านายไปตลอด แต่ถ้าเจ้านายผิด จะทำให้เจ้านายเสียนายถึงแม้ว่าไม่มีใคร(นอกจากเรา)รู้ก็ตาม

อย่าเอาใจ แต่ต้องรู้ใจ

การบริหารเจ้านาย เราจะต้องรู้ใจ แต่..อย่ามัวแต่เอาใจเจ้านายจนเกินหน้าเกินหน้า เผลอๆทำให้เจ้านายเกิดอาการสะอิดสะเอียนได้ แต่ขอให้รู้ใจว่า ในแต่ละช่วงเวลาเจ้านายต้องการอะไร เช่น บางครั้งเจ้านายต้องการให้เราเป็นผู้ฟัง บางครั้งเจ้านายต้องการให้เรามีส่วนร่วม บางครั้งเจ้านายต้องการคนยืนยัน ความคิดของเจ้านาย บางครั้งเจ้านายต้องการข้อมูลสนับสนุน คนที่เป็นลูกน้องที่เก่งๆ จะต้องมองตาแล้วรู้ใจว่าในแต่ละช่วงเวลา เจ้านายต้องการอะไร และเราค่อยตอบให้ตรงใจเจ้านาย บางครั้งลงทุนเพียงแค่พยักหน้าเห็นด้วย ก็อาจจะได้คะแนนในใจเจ้านายไปเพียบแล้ว

สรุป การบริหารเจ้านายถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการทำงานปัจจัยหนึ่ง นอกเหนือจากฝีมือและความสามารถในการทำงานแล้ว เพราะเจ้านายคือผู้ที่จะแปลงความสามารถของเราเป็นคุณค่าทั้งในสายตาเจ้านาย เองและผู้อื่น และถ้าเราสามารถบริหารเจ้านายได้โดยที่เจ้านายไม่รู้ตัวแล้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จอของลูกน้องมืออาชีพ และวันหนึ่งเวลาเราขึ้นไปเป็นหัวหน้า เราก็จะรู้ทันลูกน้อง รวมถึงสามารถล่วงรู้ใจของลูกน้องได้โดยไม่ยากเช่นกัน


ที่มา:http://www.peoplevalue.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539104746&Ntype=10