ขั้นตอนการวางแผนการเงิน
1. กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางการเงิน
ในการวางแผนการเงิน ควรจะเริ่มจากการมีเป้าหมายคร่าวๆว่า เราอยากบรรลุเป้าหมายทางการเงินในเรื่องอะไร และต้องใช้เวลาเท่าไร เช่น
- อยากเกษียณการทำงานตอนอายุเท่าไร ตอนนั้นอยากมีเงินใช้เดือนละเท่าไร
- อยากเตรียมทุนการศึกษาให้ลูกเรียนถึงระดับไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไร
- หรืออยากวางแผนจัดสรรมรดกให้ลูกหลาน ต้องทำอย่างไร
เป้าหมายที่กำหนดขึ้น อาจเป็นเป้าหมายเดี่ยว หรือ เป้าหมายผสมผสานเต็มรูปแบบก็ได้
2. รวบรวมข้อมูล
เป็นการรวบรวมข้อมูลทางการเงิน ทั้งของตนเอง ครอบครัว และภาวะรอบล้อมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นฐานในการวิเคราะห์ เช่น รายรับ , รายจ่าย , ทรัพย์สิน , หนี้สิน , ภาระผูกพัน , ดอกเบี้ย หรือทิศทางการลงทุนในปัจจุบันและในอนาคต
3. วิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงิน
นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อหาสถานะทางการเงินปัจจุบัน ว่าตอนนี้มีเงินเก็บสุทธิเท่าไรแล้ว ยังขาดอีกเท่าไรเพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และมีทางเลือกอะไรบ้างที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
4. จัดทำแผนการเงิน
หลังจากวิเคราะห์เงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆแล้ว ให้ประเมินทางเลือกที่ดีที่สุด แล้วเขียนแผนการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเรา ภายใต้สมมติฐานและข้อมูลที่รวบรวมไว้
5. นำแผนไปปฎิบัติ
เป็นการปฎิบัติตามแผนที่ได้เขียนไว้ ว่าต้องลงมือทำอะไรบ้างในกรอบเวลาเท่าไร เช่น ต้องออมให้ได้เดือนละเท่าไร ต้องนำเงินไปลงทุนอะไรบ้าง หรือ ต้องทำประกันภัยเพิ่มในเรื่องอะไรบ้าง โดยต้องมีการตรวจทานด้วยว่า ได้ทำครบพอที่จะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
6. ติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผน
หลังจากปฎิบัติไปได้ระยะหนึ่ง ต้องหมั่นตรวจสอบและประเมินผลที่เกิดขึ้นว่า ได้ผลตามที่คาดหวังหรือไม่ สมมติฐานที่วางไว้มีการเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร และควรจะมีการปรับเปลี่ยนแผนให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปเราจะมีการทบทวนแผนการเงินปีละ 1 ครั้ง
7. ทบทวนและปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอ
คนที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ตามที่ต้องการมักเกิดจากการไม่มีวินัยในตนเองหรือไม่สามารถปฏิบัติตามแผนการเงินที่วางไว้ได้
ในขณะเดียวกันการปฏิบัติตามแผนการที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด ไม่มีความยืดหยุ่นก็อาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน เพราะแผนการเงินที่จัดทำไว้มักถูกกระทบโดยปัจจัยหลายด้าน เช่น ความมั่นคงในอาชีพ ภาวะเศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม อัตราผลตอบแทน นโยบายของรัฐบาล ความมั่นคงทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การวางแผนการเงินที่ดี จึงควรมีการทบทวน (Review) และปรับปรุง (Revise) แผนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเดินทางไปยังเป้าหมายเป็นการเดินทางที่อยู่บนเส้นทางแห่งความเป็นจริง