การวางแผนภาษีส่วนบุคคล

หลักการวางแผนภาษี

การวางแผนภาษีส่วนบุคคล เป็นการวางแผนภาษีของบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะมีอาชีพทำงาน รับเงินเดือน เจ้าของกิจการ หรือมีอาชีพอิสระ โดยบุคคล ทุกคนที่มีรายได้ ต้องมีหน้าที่เสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ถ้ารู้จักวางแผนภาษี จะช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับเราได้

การวางแผนภาษี (Tax Planning) คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน และประหยัด การทำให้ไม่ต้องชำระภาษีหรือ การทำให้เสียภาษี น้อยที่สุดโดยวิธีการที่ถูก ต้องตามกฎหมายก็ถือเป็นการวางแผนภาษีอากรด้วย

การหนีภาษี (Tax Evasion) คือ การที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายหรือฉ้อฉลเพื่อที่จะทำให้ไม่ต้อง เสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง ซึ่งการกระทำเช่นนี้มีความผิดและต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ตัวอย่างของการหนีภาษี เช่น ผู้เสียภาษีไม่กรอกจำนวนเงินได้หรือทรัพย์สิน ที่จะต้องเสียภาษีในแบบแสดง รายการโดยเจตนา หรือกรอกแต่กรอกไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อให้เสียภาษีน้อย หรือการตั้งราคาโอน (Transfer Pricing) ก็เป็นการหนีภาษีเช่นเดียวกัน

การตั้งราคาโอน (Transfer Pricing) คือ การที่บริษัทในเครือของบริษัทข้ามชาติ (Multinational Firm) ซื้อสินค้าจากบริษัทแม่หรือ ในบริษัทในเครือในต่างประเทศในราคาสูงกว่าความ เป็นจริง เพื่อทำให้ต้นทุนสูงกำไรของบริษัทในประเทศไทยจะได้ต่ำ และทำให้เสียภาษีน้อยลง หรือการที่บริษัทในประเทศไทยขายสินค้าให้แก่บริษัทแม่หรือบริษัทในเครือใน ต่างประเทศ ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง กำไรจะได้ต่ำหรือขาดทุน ทำให้เสียภาษีในประเทศไทยน้อยหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย

การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) คือ การที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลง การใช้ช่องโหว่ของกฎหมายภาษีอากร (Tax Loopholes) เพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลงก็ถือเป็นการหลบหลีกด้วย การหลบหลีกภาษีถือเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย ฉะนั้นการหลบหลีกภาษีจึงเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนภาษี ตัวอย่างของการหลบหลีกภาษี เช่น การที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่นำเงินได้ที่ได้รับจากการทำงานหรือ ประกอบธุรกิจในต่างประเทศเข้ามาในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้นั้น แต่นำเข้ามาในปีภาษีอื่น ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี ก็เป็นการหลบหลีกภาษีที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร หากผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่นำเงินได้ที่ได้รับจากการทำงาน หรือประกอบธุรกิจในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับที่ได้รับ เงินได้นั้น กรมสรรพากรก็ไม่เก็บภาษี (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/696 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2530)

ข้อควรจำที่ผู้วางแผนภาษีไม่ควรลืม:-

ผู้วางแผนภาษีควรจะรู้ว่ามีเงินได้ ทรัพย์สิน หรือธุรกรรมอะไรบ้างที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการยกเว้นภาษีนั้น อาจเป็นการยกเว้นโดยพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงก็ได้ นอกจากนี้อาจเป็นการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี การยกเว้นภาษีนั้นอาจจะเป็นการยกเว้น โดยพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงก็ได้ นอกจากนี้อาจจะเป็นการยกเว้นโดยอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Taxation Agreement) ซึ่งประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ รวม 40 ประเทศก็ได้

ผู้วางแผนภาษีควรจะรู้ว่าองค์กรธุรกิจใดเสียภาษีมากน้อยแตกต่างกันอย่าง ไร เพื่อที่จะช่วยให้ตัดสินใจเลือกองค์กรธุรกิจที่เหมาะสมแก่การประกอบการได้ ถูกต้อง ไม่ว่าองค์กรธุรกิจเหล่านี้จะเป็น กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด กิจการร่วมค้า (Joint venture) และกลุ่มบริษัท (Consortium)

ผู้วางแผนถาษีควรจะรู้รายละเอียดของภาษีแต่ละประเภท ตัวอย่างเช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้วางแผนภาษีควรจะรู้ว่าผู้ใดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เสียจากเงินได้อะไร? เสียในอัตราเท่าใด? ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นจะมีวิธีการในการหาข้อยุติอย่างไร?

ผู้วางแผนภาษีควรจะรู้ว่าสัญญาแต่ละประเภทมีภาระภาษีอย่างไร? ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายสัญญาจ้างทำของ สัญญาเหมาเบ็ดเสร็จ (Turnkey contract) สัญญาให้เช่าช่วยเหลือทางเทคนิค (Technical Assisstance Agreement) สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement) สัญญาร่วมค้า (Joint Agreement) สัญญากลุ่มบริษัท (Consortium Contract) และควรจะรู้ต่อไปว่าคู่สัญญาฝ่ายใดเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีและหักภาษี ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ควรจะรู้ว่ามีสัญญาอะไรบ้างที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีหรือได้ รับการลดภาษี

ผู้วางแผนภาษีควรจะรู้บัญชีภาษีอากร (Tax Accounting) เพราะในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มต้องใช้บัญชีภาษีอากร จะใช้รับบัญชีการเงิน (Financial Accounting) ไม่ได้ บัญชีภาษีอากรเป็นบัญชีที่กำหนดโดยภาษีอากร เช่น ประมวลรัษฎากรต่างจากบัญชีการเงิน ฉะนั้นกำไรหรือขาดทุนที่ปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุนซึ่งทำขึ้นตามหลักบัญชีการ เงินจึงยังใช้เสียภาษีไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุง (Adust) ให้เป็นไปตามหลักบัญชีภาษีอากร ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 65, 65 ทวิ และ 65 ตรี

ผู้เสียภาษีควรจะทำบัญชีและเก็บรักษา บัญชีพร้อมเอกสารประกอบการลงบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นอาจได้รับโทษทางอาญาและต้องเสียภาษี เพิ่มขึ้น เช่น เจ้าพนักงานประเมินอาจจะใช้อำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) แม้บริษัทผู้เสียภาษีจะขาดทุนก็ตาม

เทคนิควางแผนภาษีส่วนบุคคล

การวางแผนภาษีส่วนบุคคล เป็นการวางแผนภาษีของบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะมีอาชีพกินเงินเดือน เจ้าของกิจการหรือมีอาชีพอิสระ โดยบุคคลที่มีรายได้ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการรู้จักวางแผนที่เหมาะสมจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเราได้

รายได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี
รายได้ที่ต้องเสียภาษีของบุคคลธรรมดา ตามกฎหมายเรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ ซึ่งได้แก่
1. เงิน
2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง
3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

กลยุทธในการวางแผนภาษีบุคคลธรรมดา
โครงสร้างของการคิดภาษีบุคคลธรรมดา คือ
ภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ X อัตราภาษี

ขณะที่เงินได้สุทธิคิดมาจาก
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน - เงินบริจาค

ดังนั้นกลยุทธ์ในการวางแผนภาษีส่วนบุคคลคือ
1. ลด ยอดเงินได้ให้ต่ำลง
2. เพิ่ม ค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น
3. เพิ่ม ค่าลดหย่อนให้สูงขึ้น
4. เพิ่ม ยอดเงินบริจาคให้สูงขึ้น

รายละเอียดของแต่ละขั้นตอนมีดังนี้

1. การลดยอดเงินได้ให้ต่ำลง ทำได้โดย

1.1 แยกรายได้ที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีออกไป
มีรายได้บางอย่างที่กม.ยกเว้นภาษีให้ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ บำนาญตกทอด หรือ เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล การแยกรายได้ส่วนนี้ออก ช่วยให้ประหยัดภาษีได้มาก ( ดูรายละเอียดเพิ่มเติม )
1.2 แยกรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและเป็นประเภทภาษีสุดท้าย ( final tax ) ออก
เพราะผู้มีเงินได้สามารถเลือกได้ว่า จะนำไปรวมคำนวนภาษีหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นควรพิจารณาก่อนว่ามันจะคุ้มค่าหรือไม่ ที่จะนำรายได้ดังกล่าวเข้าไปรวมคำนวณ เช่นดอกเบี้ย เงินปันผล หรือเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งทางการค้าหรือหากำไร
1.3 แยกรายได้จากต่างประเทศออก
กรณีมีเงินได้จากต่างประเทศ พิจารณาดูว่าสามารถวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษี หรือขอยกเว้นภาษีทั้งจำนวนได้หรือไม่ โดยดูว่าประเทศต้นทางที่เป็นแหล่งเงินได้ มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่ ถ้ามีก็ไม่ต้องเสียให้ซ้ำซ้อน ถ้าไม่มีก็ให้ใช้วิธีพักเงินรายได้ไว้ในต่างประเทศ รอให้ข้ามปีภาษีก่อน (รอให้เลยวันที่ 31 ธันวาคม ) แล้วจึงนำเงินได้จำนวนนี้กลับเข้ามา ก็จะทำให้ได้สิทธิยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
1.4 เพิ่มหน่วยภาษีออกไป
เนื่องจากอัตราภาษีบุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้า ดังนั้นถ้าเราสามารถแตกฐานภาษีออกไปมากเท่าไร ฐานภาษีของแต่ละคนก็ยิ่งต่ำลงเท่านั้น วิธีที่นิยมคือ การจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นเป็นหน่วยภาษีใหม่ เพื่อกระจายรายได้ออกไป และยังสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนได้เหมือนคนธรรมดาอีกด้วย

1.5 การเลื่อนระยะเวลารับรู้รายได้ออกไป
ถ้าหากปีนี้ ฐานรายได้ของเราค่อนข้างสูง และเราสามารถต่อรองให้คู่ค้าของเรา หรือนายจ้างผู้จ่ายเงิน เลื่อนการจ่ายเงินออกไปเป็นต้นปีหน้า เพื่อให้รายได้ใหม่ไปตกปีหน้าซึ่งเราคาดการณ์ว่า ฐานรายได้จะต่ำกว่า เป็นการเกลี่ยรายได้ออกไป ทำให้ไม่ต้องแบกรับฐานภาษีที่สูงเกินไปในปีใดปีหนึ่ง

1.6 การเปลี่ยนเงินได้เป็นสวัสดิการ ( fringe benefits )
หากเรารับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนทั้งหมด เราก็ต้องเสียภาษีแบบเต็มที่ แต่ถ้าเราเปลี่ยนรายได้บางส่วนเป็นสวัสดิการ เช่น รถประจำตำแหน่ง ค่าน้ำมันรถ เบี้ยเลี้ยง ซึ่งรายการเหล่านี้ได้สิทธิยกเว้นภาษี เพราะถือเป็นสวัสดิการ หรือถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทได้

1.7 เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ หรือออมเงินประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากรัฐบาล ผลตอบแทนที่ได้จะได้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี

2. เพิ่มค่าใช้จ่าย ทำได้โดย
2.1 เลือกอาชีพที่หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด
เนื่องจาก กรมสรรพากรแบ่งรายได้ของบุคคลธรรมดาออกเป็น 8 ประเภท แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกัน ดังนั้นการรู้จักจัดสรรให้เงินได้ของเราไปอยู่ในกลุ่มอาชีพที่หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ย่อมช่วยประหยัดภาษีได้มาก ( ดูรายละเอียดแต่ละอาชีพ )
2.2 แยกรายได้ให้มาจากหลากหลายอาชีพ เพื่อเพิ่มสิทธิหักค่าใช้จ่าย
เนื่องจาก การเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนจะหักค่าใช้จ่ายสูงสุดได้ 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน
60,000 บาท แต่ถ้าเราสามารถทำให้รายได้มาจากหลายลักษณะอาชีพ เช่น ค่าที่ปรึกษาในฐานะ
ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ค่าลิขสิทธิ์ หรือค่ารับเหมา จะช่วยทำให้หักค่าใช้จ่ายจากแต่ละหมวดได้มากขึ้น
2.3 เครดิตภาษีเงินปันผล
โดยต้องดูว่า อัตราภาษีของบริษัทที่จ่ายปันผลให้เรานั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าฐานภาษีของเรา
เพราะถ้าบริษัทนั้นได้รับสิทธิยกเว้นภาษี หรือใช้อัตราภาษีที่ต่ำอยู่แล้ว อาจทำให้เราต้องเสียภาษีเพิ่มได้ถ้านำมารวมคำนวณภาษี

3. เพิ่มค่าลดหย่อน ทำได้โดย
3.1 พยายามใช้สิทธิค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนดให้ได้มากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนบุตร ค่าเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย การทำประกันชีวิต หรือการซื้อกองทุนต่างๆที่กม.ให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ( ดูรายละเอียดเพิ่มเติม )
3.2 การเครดิตภาษีล่วงหน้า
สำหรับค่าลดหย่อนต่างๆที่เราจะใช้สิทธิลดหย่อนตามข้อ 3.1 นั้น หากเราไม่ต้องการมาทำเรื่อง
ขอภาษีคืนภายหลัง ก็ให้ทำเรื่องเครดิตภาษีไว้ล่วงหน้า โดยวิธีแสดงหลักฐานให้ฝ่ายบุคคลหรือฝ่ายบัญชีทราบว่า เราได้มีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่กฎหมายอนุญาตให้นำมาลดหย่อนภาษีได้ ฝ่ายบุคคลก็จะนำรายการเหล่านั้นไปรวมคำนวณ ทำให้ยอดหักภาษี ณ ที่จ่ายลดลง และแสดงตัวเลขใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น

4. เพิ่มยอดเงินบริจาค ทำได้โดย

4.1 เงินที่ได้บริจาคให้วัด โบสถ์ หรือมัสยิด สามารถขอใบอนุโมทนาบัตรมาลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ยังมีองค์กรการกุศล ตามที่ กรมสรรพากรประกาศ หากเราได้เข้าไปช่วยเหลือบริจาคเงิน ก็สามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีได้ แต่รวมกันไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว
4.2 เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

หากเราทำได้ครบถ้วนทุกข้อ เชื่อว่าการวางแผนภาษีของเราจะช่วยแบ่งเบาภาระให้เราได้เป็นอันมาก และสามารถนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ไปสร้างความมั่งคั่ง ทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น