องค์ประกอบของศิลป์ ในการออกแบบจัดสวน

องค์ประกอบของศิลป์

การจัดสวนเป็นศิลป์ที่เกิดจากการนำเอาองค์ประกอบ ทั้งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งที่ มนุษย์สร้างขึ้นมา ผสมผสาน เพื่อให้เกิด สภาพแวดล้อม ที่ดีให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งสัมพันธ์กับตัวอาคารและสิ่งก่อสร้างทุกชนิด
การศึกษา เกี่ยวกับ องค์ประกอบของศิลป์ นั้น จำเป็นจะต้องมี ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับ ศิลป์ โดยทั่วไปเป็นพื้นฐานก่อน จะต้องรู้ว่าศิลป์คืออะไร มีความหมายอย่างไร

ความหมายของศิลป์ (Art)

คำว่าศิลป์ มีความหายและขอบเขตกว้างขวางมาก นักปราชญ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะให้ความหมายของศิลป์แตกต่างกันไป จนดูเสมือนว่าศิลป์เป็น สิ่งที่เราไม่อาจจับความหมายที่แท้จริงได้ แต่ความเป็นจริงจะพบว่าศิลป์เป็นเกือบทุกสิ่งที่ทุกคนกล่าวไว้ โดยคนหนึ่งเน้นความเห็นของตนหนักไปแง่หนึ่ง อีกคนหนึ่งก็จะเน้นไปอีกแง่หนึ่ง เป็นการมองของสิ่งเดียวกันในแง่มุมต่างกัน เช่น
ศิลป์คือการเลียนแบบ
ศิลป์คือการเป็นตัวแทน (ของชีวิต)
ศิลป์คือการแสดงออก
ศิลป์ไม่ใช่การเลียนแบบธรรมชาติ
ธรรมชาติเลียนแบบศิลป์
ศิลป์คือรูปทรง
ศิลป์คือความสมปรารถนา
ศิลป์คือประสบการณ์
ศิลป์คือการเห็นแจ้ง

จากทัศนะของนักปราชญ์ทั้งหลาย ศิลป์มีคุณลักษณะที่เป็นตัวร่วมสำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ การแสดงออก เพราะไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ ความงาม ความเห็นแจ้ง สัญลักษณ์ เรื่องราว หรือเหตุการณ์ ล้วนแต่แสดงออกโดยผ่าน ทางรูปทรง ที่ศิลปินเลอกสรร หรือสร้างสรรค์ขึ้นทั้งสิ้น ดังนั้นความหมายของศิลป์ในแนวกว้าง ๆ ก็คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อแสดงออกซึ่ง อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และ/หรือความงาม

การแบ่งประเภทของศิลป์

1. วิจิตรศิลป (Fine Art) เป็นศิลป์ที่ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ อารมณ์ เพื่อความสุขทางใจ มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ แบ่งออกเป็น

  • ทัศนศิลป์ (Visual Arts) คืองานที่มองเห็นความงามจาก รูปลักษณะ รับสัมผัสทางตา ได้แก่จิตรกรรม (paintings) ประติมากรรม (sculpture) ภาพพิมพ์ (graphic design) หัตถกรรม (crafts) และสถาปัตยกรรม (architecture)
  • โสตศิลป์ (Aural Arts หรือ Audio Arts) คืองานศิลป์ที่รับรู้ความงามได้จากการฟังและการอ่าน รับสัมผัสทางหู ได้แก่ ดนตรี วรรณกรรม
  • โสตทัศนศิลป์ (Audio Visual Arts) คือ ศิลป์เกี่ยวกับการแสดง มีการมองเห็นพร้อมกับได้ยินเสียง รับสัมผัสได้ทางตาและหู ได้แก่ นาฎกรรม ภาพยนตร์ โทรทัศน์

2. ประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) เป็นงานศิลป์ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะแต่ทางสุนทรียภาพเท่านั้น แต่ได้ประยุกต์ให้ตอบสนอง ความต้องการของมนุษย์ทาง ด้านประโยชน์ ใช้สอยด้วย แบ่งออกเป็น

  • สถาปัตยกรรม (Architecture) คือ การออกแบบก่อสร้าง ซึ่งสนองความต้องการทางด้านที่พักอาศัย ประโยชน์ใช้สอยทั้ง ภายในและภายนอก เป็นการนำความรู้ทางด้านต่าง ๆ มากมายมาประกอบกัน สถาปัตยกรรม ในกลุ่มประยุกต์ศิลป์ นี้แตกต่างจากใน กลุ่มวิจิตรศิลป์ เพราะสถาปัตยกรรม ประยุกต์ศิลป์ จะนำเอาความเจริญทางด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี เข้ามาผสม ทำให้เกิดความรวดเร็วในการผลิตในลักษณะ mass product ซึ่งเหมือนกันจำนวนมาก เช่น บ้านจัดสรร เป็นต้น ในส่วนสถาปัตยกรรมยังแบ่งออกเป็น
    สถาปัตยกรรม (architecture) คือ การออกแบบอาคารชนิดต่าง ๆ เช่น อาคารที่พักอาศัย อาคารสาธารณะต่าง ๆ
    ภูมิสถาปัตยกรรม (landscape architecture) คือการนำเอานิเวศวิทยา (ecology) มาสู่การออกแบบสภาพแวดล้อม (environmental design) เป็นการนำเอา องค์ประกอบ ทั้งที่เป็น ธรรมชาติและ มนุษย์สร้างขึ้น มาผสมผสาน ให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของมนุษย์ โดยสัมพันธ์กับตัวอาคารและสิ่งก่อสร้างทุกชนิด
    ผังเมือง (city planning) คือการจัดผังเมืองในทุก ๆ ด้าน เช่น ที่พักอาศัย คมนาคม การศึกษา อุตสาหกรรม ฯลฯ การวางผังเมือง ไม่ใช่เฉพาะ การจัดเมืองใหม่เท่านั้น แต่จะเป็นการวางแผนปรับปรุงเมืองเก่าแก้ปัญหาเดิม เพื่อยกสภาพ ความเป็นอยู่ของประชากรด้วย
  • ศิลปอุตสาหกรรม (industrial design) เป็นศิลป์ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน สนองความต้องการ ในด้านความสุขสบาย เป็นการคิดค้นกรรมวิธีที่จะทำให้ผลผลิตที่มีประโยชน์ใช้สอย เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ของขวัญ ของชำร่วย เป็นต้น วิวัฒนาการชนิดนี้ ขึ้นอยู่กับ ความก้าวหน้าทางด้าน เทคโนโลยีของเครื่องจักร รวมทั้งสัมพันธ์กับ แนวโน้มทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย
  • มัณฑนศิลป์ (decorative art) คือศิลป์ที่เกี่ยวกับการตกแต่ง หรือเรียกว่า "ศิลป์การตกแต่ง" ซึ่งเน้นไปทางการตกแต่งบ้าน หรือห้องต่าง ๆ เช่น ห้องนอน ห้องรบแขก และห้องอื่น ๆ ภายในบ้าน
  • ศิลป์หัตถกรรม (art artcrafts) คือ ศิลป์ที่ทำด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ งานที่ทำจึงต่างกันตามความพอใจของผู้ทำ เช่น การทำโต๊ะ เก้าอี้ หรือปั้นหม้อ โอ่ง ไห ออกมาเหมือน ๆ กัน โดยไม่ใช้เครื่องจักรทำงาน แต่อาจใช้เครื่องทุ่นแรงช่วยบ้าง

องค์ประกอบของศิลป์ Composition

เป็นองค์ประกอบที่ถูกกำหนดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบมูลฐานของความงาม ในการออกแบบจัดสวน จำเป็นต้องเข้าใจคุณค่า และมูลฐานที่สำคัญของความงาม สามารถนำไปใช้ให้เกิดความกลมกลืน องค์ประกอบของศิลป์ ประกอบด้วยจุด (point) เส้น (line) สี (colour) รูปร่างรูปทรง (shape and form) ลักษณะผิว (texture) ลวดลาย (pattern) และช่องว่าง (space or voloume)

1. จุด (point) จุดเป็นสิ่งแรกสุดของการเห็น โดยความรู้สึกของเราแล้ว จุดไม่มีความกว้าง ความยาว และความลึก เป็นสิ่งที่เล็กที่สุดไม่สามารถแบ่งแยกออกได้อีก ดังนั้นจุดจึงหยุดนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหว (static) ไม่มีทิศทางและเป็นศูนย์รวม (centrlized) จุดเป็นองค์ประกอบเริ่มแรกของรูปทรง จุดจึงเป็นตัวกำหนด

  • ปลายทั้งสองข้างของเส้น
  • จุดตัดของเส้นสองเส้น
  • วางบรรจบกันของเส้นที่มุมของแผ่นระนาบ หรือก้อนปริมาตร

ในธรรมชาติเราจะเห็นจุดกระจายซ้ำ ๆ อยู่ทั่วไปในที่ว่าง เช่น จุดที่สุกใสของกลุ่มดาวในท้องฟ้า ลายจุดในตัวสัตว์และพืชบางชนิด เมื่อเราอยู่ในที่สูง ๆ แล้วมองลงมายังกลุ่มคน จะเห็นเป็นจุดกระจายเคลื่อนไหวไปมา หรือรวมกลุ่มกัน ตัวจุดเองนั้น เกือบจะไม่มี ความสำคัญอะไรเลย เนื่องจาไม่มีรูปร่าง ไม่มีมิติ แต่เมื่อจุดนี้ ปรากฏตัวในที่ว่าง ก็จะทำให้ที่ว่างนั้น มีความหมายขึ้นมา ทันที เช่น ถ้าในที่ว่างนั้นมีจุดเพียงจุดเดียว ที่ว่างกับจุดจะมีปฏิกริยาผลักดัน โต้ตอบซึ่งกันและกัน จุดที่อยู่กึ่งกลางบริเวณจะมั่นคง (stable) สงบ ไม่เคลื่อนที่ และเป็นสิ่งสำคัญโดดเด่น แต่เมื่อจุดถูกย้ายออกจากกึ่งกลาง บริเวณรอบๆ จะดูแกร่งขึ้น และเริ่มแย่งกัน เป็นจุดเด่น ของสายตา แรงดึงสายตาจะเกิดขึ้นระหว่างจุดกับบริเวณรอบ ๆ
ส่วนจุดที่รวมกันหนาแน่น เป็นกลุ่ม เส้นรูปนอก หรือเส้นโครงสร้างของกลุ่มจะปรากฏให้เห็นในจินตนาการ และจุดที่ซ้ำ ๆ กันในจังหวะต่าง ๆ จะให้แบบรูป (pattern) ของจังหวะที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่จำกัด

2. เส้น (line) เส้นเป็นพื้นฐานของโครงสร้างของทุกสิ่งในจักรวาล เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบ สิ่งต่าง ๆ ล้วนเกิดจากเส้นประกอบเข้าด้วยกัน ความหมายของคำว่าเส้นคือ

  • เส้นเกิดจากจุดที่ต่อกันในทางยาว
  • เส้นเป็นขอบเขตของที่ว่าง ขอบเขตของสิ่งของ ขอบเขตของรูปทรง ขอบเขตของน้ำหนักและขอบเขตของสี
  • เส้นเป็นขอบเขตของกลุม สิ่งของ หรือรูปทรงที่รวมกันอยู่ เป็นเส้นโครงสร้างที่เห็นได้ด้วยจินตนาการ

คุณลักษณะของเส้น เส้นมีมิติเดียว คือความยาว เส้นขั้นต้นที่เป็นพื้นฐานมี 2 ลักษณะ คือเส้นตรง กับเส้นโค้ง เส้นทุกชนิด สามารถ แยกออกเป็น เส้นตรงกับเส้นโค้งได้ทั้งสิ้น เส้นลักษณะอื่น ๆ ซึ่งเราเรียกว่า เส้นขั้นที่ 2 เกิดจากการประกอบกัน เข้าของเส้นตรง และ/หรือเส้นโค้ง เช่น เส้นฟันปลา เกิดจากเส้นตรงมาประกอบกัน และเส้นโค้ง ที่ประกอบกันหลาย ๆ เส้น ก็จะได้เส้นลูกคลื่น หรือ เส้นเกล็ดปลา เป็นต้น นอกจากนี้เส้นยังมีทิศทางของเส้น ได้แก่ แนวราบ แนวดิ่ง แนวเฉียงเป็นต้น ส่วนขนาดของเส้น เส้นไม่มีความกว้าง จะมีแต่เส้นบาง เส้นหนา เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ความหนาของเส้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความยาว หากเส้นสั้น และมีความหนามาก ก็จะหมดคุณลักษณะของความเป็นเส้นกลายเป็นรูปร่าง (shape) สี่เหลี่ยมผืนผ้า

ความรู้สึกที่เกิดจากลักษณะของเส้น

  1. เส้นตรง ให้ความรู้สึกแข็งแรง แน่นอน ตรง เข้ม ไม่ประนีประนอม และเอาชนะ
  2. เส้นโค้งน้อย หรือเส้นเป็นคลื่นน้อย ๆ ให้ความรู้สึกสบาย เปลี่ยนแปลงได้ เลื่อนไหลต่อเนื่อง มีความกลมกลืน ในการเปลี่ยนทิศทาง ความเคลื่อนไหวช้า ๆ สุภาพ นุ่ม อิ่มเอิบ แต่ถ้าใช้เส้นลักษณะนี้มากเกินไป จะให้ความรู้สึกกังวล เรื่อยเฉื่อย ขาดจุดหมาย
  3. เส้นโค้งวงแคบ เปลี่ยนทิศทางรวดเร็ว มีพลังเคลื่อนไหรุนแรง
  4. เส้นโค้งของวงกลม การเปลี่ยนทิศทางที่ตายตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้สึกเป็นเรื่องซ้ำ ๆ เป็นเส้นโค้ง ที่มีระเบียบ มากที่สุด แต่จืดชืดไม่น่าสนใจ เพราะขาดความเปลี่ยนแปลง
  5. เส้นโค้งก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวคลี่คลาย เติบโต เมื่อมองจาก ภายในออกมา และถ้ามองจากภายนอกเข้าไป จะให้ความรู้สึกที่ไม่สิ้นสุดของ พลังเคลื่อนไหว
  6. เส้นฟันปลาหรือเส้นคดที่หักเหโดยกะทันหัน เปลี่ยนทิศทางรวดเร็วมาก ทำให้ประสาทกระตุก ให้จังหวะกระแทก รู้สึกถึงกิจกรรมที่ขัดแย้งและความรุนแรง

ความหมายของเส้น

ความรู้สึกที่เกิดจากทิศทางของเส้น

เส้นทุกเส้นมีทิศทาง คือ ทางตั้ง ทางนอน และทางเฉียง ในแต่ละทิศทางจะให้ความรู้สึกต่างกัน

1. เส้นตั้ง ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง พุ่งขึ้น จริงจัง เงียบขรึม และให้ความสมดุล เป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้อง ซื่อสัตย์ มีความสมบูรณ์ในตัว สง่า ทะเยอทะยาน และรุ่งเรือง
2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกพักผ่อน ผ่อนคลา เงียบ เฉย สงบ
3. เส้นเฉียง เป็นเส้นที่อยู่ระหว่างเส้นตั้งกับเส้นนอน ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว ไม่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ ต้องการเส้นเฉียงอีกเส้นหนึ่งมาช่วยให้มั่นคงสมดุลในรูปของมุมฉาก
4. เส้นที่เฉียงและโค้ง ให้ความรู้สึกที่ขาดระเบียบตามยถากรรม ให้ความรู้สึกพุ่งเข้าหรือพุ่งออกจากที่ว่าง

3. รูปร่างและรูปทรง (shape and form)

3.1 รูปร่าง (shape) เกิดจากการนำเส้นตรง และเส้นโค้งมาประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นรูป รูปร่างประกอบด้วยด้าน 2 ด้าน คือ ด้านกว้างและด้านยาว เรียกว่ารูป 2 มิติ รูปร่างมีเฉพาะพื้นผิวหน้าของรูปเท่านั้น ไม่มีส่วนลึกส่วนหนา รูปร่างมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น

- รูปร่างตามธรรมชาติ (organic shape) เป็นรูปร่างที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
- รูปร่างเรขาคณิต (geometric shape) เป็นรูปร่างที่ประกอบด้วยเส้นตรงและเส้นโค้ง เช่น รูปครึ่งวงกลม รูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม รูปห้าเหลี่ยม เป็นต้น
- รูปร่างอิสระ (free shape) เป็นรูปร่างต่ง ๆ ที่นอกเหนือจากรูปร่างตามธรรมชาติและรูปร่างเรขาคณิต
จากวิชาเรขาคณิตรูปที่เรียบง่ายที่สุดคือ รูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม และรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

รูปวงกลม คือ จุดเป็นจำนวนมากเรียงตัวโดยมีระยะห่างเท่า ๆ กันรอบจุดหนึ่ง วงกลมเป็นรูปที่รวมเป็นจุดศูนย์กลาง (centralized) และเป็นรูปที่จบในตัวเอง เมื่อวางวงกลมให้อยู่ในศูนย์กลางบริเวณจะยิ่งเน้นให้เกิดความรู้สึกมุ่งสู่ศูนย์กลาง และเมื่อประกอบวงกลมกับรูปทรงตรง หรือเป็นเหลี่ยม หรือใส่องค์ประกอบอื่นตามแนวรอบวง จะทำให้เกิดความรู้สึกถึงการหมุน
รูปสามเหลี่ยม เป็นตัวแทนความเสถียร (stability) และจะเสถียรอย่างยิ่งเมื่อตั้งบนด้านใดด้านหนึ่ง หากตั้งบนจุดยอดจะเป็นได้ทั้งสถานะสมดุลอย่างล่อแหลม หรือสถานะไม่เสถียร ซึ่งมักจะให้ความรู้สึกล้มคว่ำไปด้านใดด้านหนึ่ง
รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นรูปที่บอกถึงความบริสุทธิ์มีเหตุผล เป็นรูปที่หยุดนิ่ง (static) และเป็นกลางจะไม่แสดงทิศทางด้านใดด้านหนึ่อย่างชัดเจน ส่วนรูปสี่เหลี่ยมอื่น ๆ อาจถือได้ว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงไปจากสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยการเพิ่มส่วนสูง ส่วนกว้าง และเช่นเดียวกับสามเหลี่ยม เมื่อตั้งบนด้านใดด้านหนึ่งจะรู้สึกเสถียรและจะมีพลังเคลื่อนไหว (dynamic) เมื่อตั้งบนมุมใดมุมหนึ่ง

3.2 รูปทรง (form) หมายถึงโครงสร้างของสิ่งต่าง ๆ ประกอบด้วยด้าน 3 ด้าน คือด้านกว้าง ด้านยาว และด้านหนา เป็นรูป 3 มิติ รูปทรงสามารถวัดขนาดและปริมาตรได้ รูปทรงมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น
- รูปทรงธรรมชาติ (organic form) ได้แก่รูปทรงที่เหมือนวัตถุจริงในธรรมชาติ
- รูปทรงเรขาคณิต (geometric form) ได้แก่รูปทรงกลม รูปทรงวงรี รูปทรงสามเหลี่ยม หรือรูปทรงเหลี่ยมอื่น ๆ เป็นต้น
- รูปทรงอิสระ (free form) ได้แก่รูปทรงอื่น ๆ ที่ไม่เข้าข่ายรูปทรงธรรมชาติและรูปทรงเรขาคณิต ในงานตกแต่งนิยมใช้รูปทรงทั้งสามชนิดในอัตราที่พอเหมาะ แต่ถ้าใช้รูปทรงเหล่านี้มากเกินไปจะขาดจุดเด่น มองดูซับซ้อนยุ่งเหยิง

ความรู้สึกต่อรูปทรงต่าง ๆ

รูปทรงกลม (sphere) เป็นรูปทรงที่เป็นศูนย์กลางของตนเอง มองดูเสถียร เมื่อวางบนพื้นลาดเอียงจะเกิดการเคลื่อนที่แบบหมุน
รูปทรงกระบอก (cylinder) มีแกนเป็นศูนย์กลางถ้าตั้งบนผิวหน้าวงจะรู้สึกเสถียร และจะไม่เสถียรเมื่อแกนกลางเอียงไป
รูปทรงกรวย (cone) เมื่อตั้งบนฐานวงกลมจะเสถียรมาก หากแกนดิ่งเอียงหรือล้มจะไม่เสถียรแต่ถ้าตั้งบนจุดยอดจะมีสถานะสมดุลได้
รูปทรงปิระมิด (pyramid) มีคุณสมบัติคล้ายรูปทรงกรวย โดยที่รูปทรงกรวยจะมีลักษณะนุ่มนวล (soft) แต่รูปทรงปิระมิดมีลักษณะที่กระด้าง (hard) และเป็นเหลี่ยมมุม
รูปทรงลูกบาศก์ (cube) เป็นรูปทรงที่มีสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากันหกหน้า มีขอบยาวเท่ากัน 12 ขอบ รูปทรงลูกบาศก์เป็นรูปทรงที่เสถียร ไร้ทิศทางและการเคลื่อนไหว

4. ลักษณะผิว (texture)

ลักษณะผิว หมายถึง ลักษณะของบริเวณพื้นผิวของสิ่งต่าง ๆ เมื่อสัมผัสจับต้องหรือมองเห็นแล้วรู้สึกได้ว่าหยาบ ละเอียด เป็นมัน ด้าน ขรุขระ เป็นเส้น เป็นจุด เป็นกำมะหยี่ เป็นต้น ลักษณะผิวของวัสดุที่ใช้ในงานศิลป์ีความสำคัญต่อความงามในด้านสุนทรียภาพ ลักษณะผิวจะมีความหมายทั้งในด้านการสัมผัสโดยตรงและจากการมองเห็น ทำให้เกิดความสุขทั้งทางกายและทางใจ ลักษณะผิวของงานศิลป์ อาจจะเป็นลักษณะผิวตามธรรมชาติ สามารถจับต้องได้ เช่น ลักษณะผิวของกระดาษทราย ผิวส้ม หรือลักษณะผิวที่ทำเทียมขึ้น ซึ่งเมื่อมองดูจะรู้สึกว่าหยาบหรือละเอียด แต่เมื่อสัมผัสจับต้องกลับกลายเป็นพื้นผิวเรียบ ๆ เช่น วัสดุสังเคราะห์ที่ทำลักษณะพื้นผิวเป็นลายไม้ ลายหิน เป็นต้น
ความรู้สึกต่อลักษณะผิว ลักษณะผิวที่เรียบและขรุขระจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ลักษณะผิวที่เรียบจะให้ความรู้สึกลื่น คล่องตัว รวดเร็ว ส่วนลักษณะผิวที่ขรุขระ หยาบ หรือเน้นเส้นสูงต่ำ จะให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง

5. ลวดลาย (pattern)

ลวดลายในแต่ละสิ่งล้วนแตกต่างกันมากมาย มีทั้งลวดลายที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ลายไม้ หรือลายที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เช่น ลวดลายบนผ้าบนกระดาษ หรือลวดลายในการปรุงแต่งจัดลักษณะพื้นผิวให้เกิดความสวยงามบนทางเท้า เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งการสร้างลวดลายจะสร้างนผิวพื้นให้เป็นรูปต่าง ๆ ตามความนิยม โดยที่การจัดลวดลายนี้ ถ้าหากวัสดุนั้นมีลวดลายน้อยเกินไปก็จะดูไม่น่าสนใจ แต่ถ้ามีมากเกินไปก็จะดูยุ่งเหยิง วุ่นวาย

6. สี (colour)

ช่วงคลิ่นของสีสีเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ สีมีอยู่ในแสงแดดเป็นคลื่นแสงชนิดหนึ่ง จะปรากฏให้เห็นเมื่อแสงแดดผ่านละอองไอน้ำในอากาศ เกิดการหักเหเป็นสีรุ้งบนท้องฟ้า 7 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ม่วงน้ำเงิน (คราม) และม่วง หรือให้แสงแดดส่องผ่านแท่งแก้วสามเหลี่ยม (prism) ก็จะแยกสีออกมาให้เห็นเป็นสีรุ้งเช่นกัน
สีเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานศิลป์ที่มีความหมายมาก เพราะสีช่วยให้เกิดคุณค่าในองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การใช้สีให้เกิดรูปร่าง การใช้สีให้เกิดจังหวะ หรือการใช้สีแสดงลักษณะของพื้นผิว นอกจากนี้การใช้สียังมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ สีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. สีที่เป็นแสง (spectrum) เป็นสีที่เกิดจากการหักเหของแสง
2. สีที่เป็นวัตถุ (pigment) เป็นสีที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป เช่น ในพืช ในสัตว์ เป็นต้น

แม่สี

สีที่เป็นวัตถุ (pigment) แบ่งออกเป็น

1. แม่สี หรือสีขั้นต้น (primary colours) มี 3 สี คือ สีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน แม่สีทั้ง 3 สี เป็นสีที่ไม่สามารถผสมขึ้นมาได้ แต่สามารถผสมเข้าด้วยกันเป็นสีอื่น ๆ ได้
2. สีขั้นที่สอง (secondary colours) มี 3 สี เกิดจากการนำแม่สีทั้ง 3 มาผสมกันเข้าทีละคู่ก็จะได้สีออกมาดังนี้
สีเหลือง + สีแดง > สีส้ม
สีเหลือง + สีน้ำเงิน > สีเขียว
สีแดง + สีน้ำเงิน > สีม่วง
3. สีขั้นที่สาม (tertiary colours) เป็นสีที่ได้จากการนำสีขั้นที่ 2 ผสมกับแม่สีทีละคู่ ก็จะได้สีเพิ่มขึ้นอีก 6 สี คือ ส้มเหลือง ส้มแดง เขียวเหลือง เขียวน้ำเงิน ม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน
4. สีกลาง (neutral colour) เป็นสีที่เกิดจากการนำเอาสีทุกสีผสมรวมกันเข้า หรือเอาแม่สีทั้ง 3 สี รวมกัน ก็จะได้สีกลาง ซึ่งเป็นสีเทาแก่ ๆ เกือบดำ

วงล้อสี
วงล้อสี (colour wheel)

จากสี 12 สี ในวงล้อจะแบ่งออกเป็น 2 วรรณะ คือ
- วรรณะสีอุ่น (warm tone) ได้แก่ สีเหลือง (ครึ่งหนึ่ง) ส้มเหลือง ส้ม ส้มแดง แดง ม่วงแดง และม่วง (ครึ่งหนึ่ง)
- วรรณะสีเย็น (cool tone) ได้แก่สีเหลือง (อีกครึ่งหนึ่ง) เขียวเหลือง เขียว เขียวน้ำเงินน้ำเงิน ม่วงน้ำเงินและม่วง (อีกครึ่งหนึ่ง)
สำหรับสีเหลืองและสีม่วงนั้น เป็นสีที่อยู่ในวรรณะกลาง ๆ หากอยู่ในกลุ่มสีอุ่นก็จะอุ่นด้วย แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มสีเย็นก็จะเย็นด้วย

คู่สี (complementary colours)

สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสีจะเป็นคู่สีกัน ถ้านำมาวางเรียงกันจะให้ความสดใส ให้พลังความจัดของสีซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการตัดกันหรือขัดแย้งกันอย่างมาก คู่สีนี้จะเป็นสีที่ตัดกันอย่างแท้จริง (true contrast) การใช้สีที่ตัดกันจะต้องพิจารณาดังนี้
- ปริมาณของสีที่เกิดจากการตัดกันจะต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมดในภาพ
- การใช้สีตัดกันต้องมีสีใดสีหนึ่ง 80% และอีกสีหนึ่ง 20% โดยประมาณ
- ถ้าหากต้องใช้สีคู่ตัดกัน โดยมีเนื้อที่เท่า ๆ กัน จะต้องลดความเข้มของสี (intensity) ของสีใดสีหนึ่ง หรือทั้งสองสีลง

สีข้างเคียงสีข้างเคียง (analogous colours)

เป็นสีที่อยู่เคียงกันในวงล้อสี เช่น สีเหลืองกับส้มเหลือง สีทั้ง 2 จะดูกลมกลืนกัน (harmony) สีที่อยู่ห่างกันออกไป ความกลกลืนก็จะค่อย ๆ ลดลง ความขัดแย้ง หรือความตัดกันก็จะเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นคู่สี หรือสีตัดกันอย่างแท้จริงเมื่อห่างกันจนถึงจุดตรงข้ามกัน

การใช้สี

การใช้สีมีอยู่ 2 วิธี คือ การใช้สีให้กลมกลืน (harmony) หรือตัดกัน(contrast) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการใช้งาน แต่ละลักษณะ การใช้สีให้ดูกลมกลืนมากเกินไปก็จะจืดชืด น่าเบื่อ แต่ถ้าใช้สีตัดกันมากเกินไปก็จะเกิดการขัดแย้งสับสนได้

จิตวิทยาของสี (colour phychology) คือการที่สีมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์

- สีแดง สีแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ ตื่นเต้น เร้าใจ
- สีแดงอ่อน ความประณีต ความเยือกเย็น ความหวาน ความสุข
- สีแดงเข้ม มีอุดมคติสูง ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์
- สีชมพู สีแห่งความเป็นหนุ่มสาว สีแห่งความรัก ความมั่นใจ
- สีน้ำเงิน สีแห่งความเชื่อมั่น หนักแน่น สุภาพ ถ่อมตน
- สีฟ้าอ่อน สีที่าบรื่น ร่มเย็น
- สีเหลือง สว่างสดใส ร่าเริง รู้สึกมีรสเปรี้ยว
- สีแสด ตื่นตัวเร้าใจ สนุกสนาน
- สีม่วง สีแห่งความผิดหวัง ไม่เชื่อมั่น ไม่แน่นอน เศร้า
- สีเขียวอ่อน สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน
- สีเขียวแก่ เศร้า ชรา เบื่อหน่าย
- สีดำ ทุกข์ เสียใจ
- สีน้ำตาล อับทึบ
- สีเทา เงียบสงัด ขรึม สุภาพ

7. ช่องว่าง หรือช่วงระยะ (space)

ช่องว่าง หรือช่วงระยะ มีความหมายดังนี้
- ปริมาตรที่รูปทรงกินเนื้อที่อยู่
- อากาศที่โอบรอบรูปทรง
- ระยะห่างระหว่างรูปทรง (ช่องไฟ)
ดังนั้นคำว่าช่องว่างนี้ หมายถึง ที่ที่ทำให้เกิดรูปร่างและที่ที่เรามองไม่เห็นว่าเป็นรูปร่าง ในการเขียนภาพใดภาพหนึ่ง ภาพที่เขียนก็คือ ช่องว่างและบริเวณรอบ ๆ ของภาพก็คือช่องว่างเช่นกัน ช่อว่างประเภทแรกเป็นช่องว่างที่ตัวของวัตถุเอง เรียกช่องว่างนี้ว่า positive space ส่วนช่องว่างรอบ ๆ ตัววัตถุเรียกว่า negative space ในการเขียนตัวหนังสือ space ก็คือช่องไฟ ช่องว่างทั้ง positive space and negative space นี้จะต้องสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ช่องว่างหรือช่วงระยะนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง เช่น ความใกล้ ความไกล ความต่อเนื่อง หรือความขาดตอนกัน