สวนไม้ประดับภายในอาคาร
สวนไม้ประดับภายในอาคาร (Interior Landscaping)
ปัจจุบันการนำไม้ดอกไม้ประดับมาประดับตกแต่งบ้านเรือน สำนักงานและสถานที่ต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจาก โลกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุและเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตมนุษย์ห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้น พื้นที่สีเขียว ถูกเปลี่ยนเป็นบ้านพักอาศัย สภาพแวดล้อมที่ถูกปนเปื้อนด้วยสารพิษ มนุษย์จึงพยายามนำธรรมชาติ เข้ามาไว้ใกล้ตัว เพื่อทดแทนธรรมชาติที่ขาดหายไป การจัดสวน และการนำไม้ดอกไม้ประดับมาตกแต่งบ้านพักอาศัยและสถานที่ต่าง ๆ จึงได้รับ ความนิยม เป็นอย่างมากในปัจจุบัน แต่ปัญหาที่พบเสมอคือ จะมีวิธีการดูแลรักษาสวน และ ไม้ดอก ไม้ประดับ เหล่านั้นอย่างไรให้มีสภาพ สวยงามยาวนาน วิธีดูแลรักษาสวนสวยด้วยตัวเอง จึงเป็นแนวทาง ที่จะช่วยให้ ผู้รักการปลูกต้นไม้ แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พันธุ์ไม้และการดูแลรักษาได้ทราบวิธีการอย่างง่าย ๆ ในการปลูกเลี้ยงและดูแลรักษาต้นไม้ ให้เจริญงอกงาม พันธุ์ไม้ในสวน ถ้าแยกพันธุ์ไม้ในสวน ออกตามหน้าที่หรือลักษณะก็แบ่งได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. ไม้คลุมดิน กิ่งก้านเลื้อยทอดลงปรกดิน จึงทำให้ค่อนข้างเตี้ย ต้องตัดแต่งบ่อย ๆ เพราะโตเร็ว ปล่อยไว้มักรุงรัง และไม่สวย เพราะใบจะเล็กลง ไม่คอยแตกใบใหม่ และ ไม่ผลิดอก ไม้พวกนี้ใช้ปลูกคลุมโคนไม้ใหญ่ ขอบสระ แทรกก้อนหิน ริมขอบถนน สนาม รั้ว ปลูกเป็นแปลง ไม้คลุมดินมีทั้งไม้ดอกและไม้ใบ เช่น คุณนายตื้นสาย แพรเซี่ยงไฮ้ ฟ้าประดิษฐ์ ผกากรอง บัวฝรั่ง หัวใจม่วง ซุ้มกระต่าย เศรษฐีเรือนใน หนวดปลาดุก การะเกด เหิน พลูทอง พลูด่าง เงินใหลมา ไฟเรีย ปีกแมลงสาบ เป็นต้น
2. ไม้พุ่ม มีลำต้นแข็ง มักมีลำต้นย่อม ๆ อยู่ด้วยกันหลาย ๆ ลำ แผ่กิ่งก้าน และใบค่อนข้างแน่น มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยปกติต่ำกว่า 3-4 เมตร ตัดแต่งทรงพุ่มได้ ถ้าปลูกในสวนขนาดเล็ก อาจตัดแต่งให้มีลำต้นเดียว เพื่อให้เหมือนไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แต่ถ้าปลูกร่วมกับไม้ยืนต้นทั่วไปในสวนขนาดใหญ่ ก็ใช้ปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ในหมู่ไม้พุ่มด้วยกัน ปลูกริมรั่ว หรือทำรั่ว ปลูกเป็นแนวหรือแปลง ตัดแต่งให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ก็ได้ ตัวอย่างไม้พุ่ม ได้แก่ เข็มต่าง ๆ อังกาบ ปัตตาเวีย มะขามเทศด่าง กาหลง โยทะกา หางนกยูงไทย ชุมเทศเห็ด หลิวไต้หวัน ชบาต่าง ๆ พวงทองต้น แก้ว โมก หูปลาช่อน เล็บครุฑ โกสน ราชาวดี พุดฝรั่ง ยี่โถ พุตซ้อน เป็นต้น
3. ไม้ยืนต้น มีลำต้นแข็ง เป็นลำต้นเดี่ยว ๆ ขึ้นไปจนถึงยอด สูงใหญ่ และอายุยืน มีทั้งไม่ยืนต้นขนาดเล็ก เช่น แก้ว โมก แสงจันทร์ ยี่เข่ง เชอร์รี่ มะนาวเทศ หนามแดง คอร์เดีย ไม้ยืนต้นขนาดกลาง เช่น พิกุล ลั่นทม กุ่มบก มะกล่ำตาช้าง ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ อินทนิลบก และไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น ขนุน แคแสด ชมพูพันธุ์ทิพย์ ประดู่ สาเก ปีป (สูง 10-25 เมตร เป็นทั้งไม้ขนาดกลางถึงไม้ขนาดใหญ่) ไทร เสลา ตะแบกนา ไม้ยืนต้นใช้ปลูกเป็นร่มเงา ปลูกเป็นจุดเด่นหรือไม้ประธานในสวน มีทั้งไม้ดอก และไม้ผล บางชนิดไม่ควรปลูกใกล้ตัวบ้านหรือกำแพงมากนัก เพราะระบบรากแข็งแรง โดเร็ว อาจชอนเข้าไปยังฐานรากหรือตัวบ้าน และกำแพงจนร้าว เช่น ไทร หางนกยูงฝรั่ง หูกวาง บางชนิดมีกิ่งเปราะหักง่าย และอันตราย โดยเฉพาะเวลามีพายุเช่น ชมพูพันธุ์ทิพย์ ประดู่ ดังนั้น การปลูกต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ต้องคำนึงถึงขนาดของมันเมื่อโตขึ้นในอนาคตด้วย
4. ไม้เลื้อย คือไม้ที่มีกิ่งก้านเลื้อยรัดพันขึ้นสู่ที่สูง บางพันธุ์เป็นไม้เถาเนื้ออ่อน เช่น อัญชัน พวงชมพู บางพันธุ์เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เช่น สายน้ำผึ้ง ชมนาด ชอบแสงจัด ใช้ปลูกขึ้นพันรั่ว กำแพง ซุ้มประตู หลังคาศาลา แผงบังตา นอกจากจะสวยงาม ยังให้ความเป็นส่วนตัว ไม้เลื้อยมีทั้งดอกหอมและไร้กลิ่น ใบเล็กละเอียดจนถึงใบใหญ่ เลือกใช้ตามความเหมาะสม
5. ไม้น้ำ เป็นพืชที่ปลูกในน้ำ อ่าง หรือสระ เนื้อที่น้อยปลูกใส่อ่างหรือภาชนะ ตั้งประดับในสวนหรือมุมบ้านได้ ชอบแสงจัด มิฉะนั้นจะเน่า หรือ ไม่ออกดอก ไม้น้ำมีทั้งชนิดดอกและใบ บางพันธุ์มีใบปริ่มน้ำ มีก้านใบชูสูงพ้นน้ำ แต่บางชนิดอยู่ใต้น้ำ เช่น พวกสาหร่ายต่าง ๆ ไม้น้ำที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ บัวหลากพันธุ์ กระจับญี่ปุ่น บัวบา ฝิ่นน้ำ ผักตบไทย ผักตบชวา อเมซอน คล้าน้ำ ลานไพลิน กก แว่นแก้ว จอก เป็นต้น
6. ไม้ริมน้ำ ขึ้นในที่ค่อนข้างชื้นแฉะได้ดี เหมาะที่จะปลูกประดับชายน้ำ ขอบสระ ชอบแสง ตัวอย่าง เช่น จิกน้ำ พลับพลึงต่าง ๆ กก พุทธรักษา เฮลิโคเนีย มหาหงส์ เตย หลิวเลื้อย กระดุมทองเลื้อย เป็นต้น
7. ไม้ในร่ม ปลูกได้ในที่มีแสงอ่อนหรือแสงรำไร โดยมากมักเป็นไม้ใบ มีตั้งแต่พวกไม้คลุมดินไปจนถึงไม้พุ่ม ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เช่น หนวดปลาดุก คล้า เฟิน เขียวพันปี เขียวหมื่นปี วาสนา สาวน้อยประแป้ง พลู หน้าวัวใบ ฟิโลเดนดรอน สังกรณี พุดกุหลาบ มุจลินท์ โมก จั๋ง ไทร หมากผู้หมากเมีย สับประรดสี หนวดปลาหมึก เป็ปเปอร์โรเมีย ไผ่ฟิลิปปินส์ หางกระรอก เป็นต้น
8. ไม้รูปทรง มีทรงสวยตามธรรมชาติโดยไม่ต้องตัดแต่งจัดให้เป็นไม้ประธาน ไม้เด่นในสวนได้ หรือจัดไว้ในสวนที่ไม่ต้องการการดูแลมาก โดยมากเป็นพวกสน ปรง ปาล์ม เป็นต้น พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่กล่าวมามีหลากหลายชนิด และการเรียนรู้ว่าแต่ละชนิดชอบแสง น้ำ ดินปลูกอย่างไร จะได้จัดกลุ่มที่ชอบเหมือนกันอยู่ใกล้ ๆ กันในสวน ไม่ใช่นำไม้ร่มมาอยู่รวมกับไม้แดด หรือไม้ชอบชื้นริมน้ำมาปลูกอยู่กับไม้ที่ไม่ชอบน้ำขัง ก็ต้องตายกันไปข้างหนึ่ง
การจัดสวนไม้ประดับภายในอาคาร
การจัดสวนไม้ประดับภายในอาคาร เริ่มตั้งแต่ใช้ไม้กระถางเพียงกระถางเดียว จนถึงกลุ่มของไม้กระถาง หรือจะเป็น การจัดสวน ลงในพื้นที่ภายในอาคารก็ได้ แต่การใช้ไม้กระถางจะเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะสามารถยกย้ายเปลี่ยนแปลง และดูแลรักษา ได้ง่ายกว่าการจัดสวนลงในพื้นที่ แต่ การจัดสวน ลงในพื้นที่ จะมองดูเป็นธรรมชาติ มากกว่า การจัดสวนไม้ประดับ ภายในอาคาร โดยจัดลงในพื้นที่ที่กำหนดให้ อาคาร บ้าน หรือสำนักงานที่มีขนาดใหญ่ ในปัจจุบันนี้มักจะ ออกแบบให้มี พื้นที่ว่างภายใน เพื่อใช้ใน การจัดสวน ให้เกิดความสวยงามและนำเอาธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตโดยการทำหลังคาโปร่งใส ให้แสงสว่างส่องลงมาถึง บริเวณพื้นที่จัดสวน อย่างไรก็ตามแสงที่ส่องลงมาถึงพื้นที่จะมากก็เพียงช่วงก่อนเที่ยง เที่ยงและหลังเที่ยงเท่านั้น ซึ่งอาคาร ยิ่งสูงมากขึ้น ช่วงเวลาของการได้รับแสงสว่างก็จะลดน้อยลง
การจัดสวน ลงในพื้นที่มีสิ่งสำคัญที่ต้องพิจาณาดังนี้
1. ปริมาณของแสง พรรณไม้ทุกชนิดต้องการแสงสว่างในการเจริญเติบโต หากปริมาณของแสงไม่เพียงพอ ก็จะเกิดปัญหา เรื่อง พรรณไม้ ซึ่งไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ สวนจะสวยได้เพียง 2-3 เดือนแรกเท่านั้น
2. การระบายน้ำ จากสวนภายในอาคารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะภายในอาคารซึ่งแสงสว่างมีน้อย การระเหยน้ำจากต้นไม้ จากพื้นดินย่อมน้อยตามไปด้วยหากการระบายน้ำไม่ดี ทำให้น้ำขังแฉะ พรรณไม้ที่ปลูกก็จะตายได้ ดังนั้นดินผสมที่ใช้ปลูกพรรณไม้ภายในอาคารจะต้องโปร่ง ซึ่งอาจจะใช้ดินผสมทราย ใบไม้ผุ และแกลบ ทั้งนี้ไม่ควรใช้ขุยมะพร้าว เพราะจะดูดซับความชื้นมาเกินไป
3. การเลือกชนิดของพรรณไม้ จะต้องเหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ โดยพิจารณาเป็นจุด ๆ ว่าจุดใดของพื้นที่ได้รับแสงมากหรือน้อย แล้วเลือกพรรณไม้ปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้พรรณไม้นั้น ๆ สามารถเจริญงอกงามอยู่ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง
การจัดสวนภายในอาคารโดยจัดลงในพื้นที่ควรจะพิจารณาความเรียบง่าย รวมทั้งดูแลรักษาไม่ยากนัก เช่น การจัดสวนกรวด สวนทราย หรือสวนญี่ปุ่น โดยใช้หินหรือองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น โอ่ง ไห ประกอบกับพรรณไม้เล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดความสวยงาม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต้องเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ได้
การจัดสวนไม้ประดับภายในอาคารด้วยไม้กระถาง การจัดสวนวิธีนี้เป็นที่นิยมทำกันมาก ในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในบ้าน สำนักงาน หรือสถานที่ราชการ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้มีการออกแบบจัดพื้นที่ให้มีการจัดสวนภายใน การนำไม้กระถางเข้ามาจัดวางภายใน จะเป็นการนำธรรมชาติเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ใช้สอยและจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ได้ เช่น
การใช้พรรณไม้ภายในอาคารต่อความรู้สึก พรรณไม้ในอาคารจะให้ความรู้สึกในเรื่องความงาม การัมผัส การมองเห็นและการได้กลิ่น ซึ่งความรู้สึกจะมีแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น
พรรณไม้ประเภทอวบน้ำ (cactus and succulents) จะให้ความรู้สึกถึงความร้อนในพื้นที่แห้งแล้ง
พรรณไม้ประเภทปาล์ม กล้วยไม้ สับปะรดสี รวมทั้งไม้เถาจะให้ความรู้สึกถึงความสงบของพื้นที่ชายทะเลในเขตร้อนชื้นภายใต้แสงจันทร์ รวมไปถึงป่าที่มีแมลงและสัตว์ต่าง ๆ ได้
การจัดสวนภายในอาคารส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการมองเห็นและการสัมผัส ส่วนเรื่องของเสียงก็อาจจะใช้วิธีอัดเสียงของน้ำตก เสียงของนกของลมมาใช้เปิดฟังได้ ในเรื่องของกลิ่นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของพรรณไม้ที่เลือกใช้
การใช้พรรณไม้ภายในอาคารในส่วนของสถาปัตยกรรม การใช้พรรณไม้ภายในจะเข้ามามีส่วนในการเป็นฉากหรือแบ่งส่วนของพื้นที่ ลดความกระด้างของอาคารทำให้เกิดความเป็นส่วนตัว รวมทั้งปิดบังส่วนที่ไม่น่าดูของอาคารนั้น ๆ
การใช้พรรณไม้ภายในอาคารในส่วนของวิศวกรรม จุดมุ่งหมายของการจัดวางพรรณไม้ในส่วนของวิศวกรรมก็เพื่อจะควบคุมทางสัญจร (traffic) เสียง แสงและการถ่ายเทอากาศ ซึ่งพรรณไม้สามารถจะช่วยลดแสงบริเวณหน้าต่าง ลดเสียง และจัดวางกั้น แนวทางเดินไปสู่จุดต่าง ๆ ได้
การใช้พรรณไม้ภายในอาคารในเรื่องความสวยงาม การใช้พรรณไม้เข้ามาตกแต่งภายในเพื่อความสวยงามเป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว และอาจจะเป็นเหตุผลเดียวที่นำพรรณไม้เข้ามาภายในอาคารก็เพื่อความสวยงามเท่านั้น ซึ่งการนำพรรณไม้เข้ามาจะต้องคำนึงถึง องค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้หรือสิ่งอื่น ๆ ภายในห้องนั้น ๆ ทั้งนี้การจัดวางกระถางพรรณไม้เพื่อความสวยงาม จะต้องพิจารณาถึง หลักการออกแบบและองค์ประกอบของศิลปะทั้งเรื่งของความเรียบง่าย ความกลมกลืน ความสมดุล รวมทั้งเรื่องสี ผิวสัมผัส และรูปร่าง มาประกอบการจัดวางพรรณไม้ต่าง ๆ เหล่านั้น
ชนิดของพรรณไม้ที่นิยมใช้ประดับตกแต่งภายในอาคาร
พรรณไม้ที่นำมาใช้ตกแต่งภายในบ้าน อาคารสถานที่ต่าง ๆ มีมากมายหลายชนิด มีทั้งไม้ที่มีรูปทรงตั้งขึ้นไปทางสูง (upright plants) ไม้ที่มีรูปทรงเป็นพุ่มเตี้ย (bushy plants) และไม้ที่มีรูปทรงแบบเลื้อยคลุม (trailing plants) ไม้ดังกล่าวจะต้องเป็นไม้ที่ต้องการแสงสว่างไม่มากนัก
ขนาดของพรรณไม้ภายในอาคาร
พรรณไม้ที่ใช้ประดับตกแต่งภายในอาคาร อาจจะใช้ปลูกประดับลงในพื้นที่ที่กำหนดไว้ หรือปลูกในกระถางแล้วนำมาวางตกแต่ง ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเป็นการปลูกในพื้นที่โล่ง ไม่มีหลังคา ก็สามารถเลือกใช้พรรณไม้ที่มีความสูงได้มากถึง 5 เมตร แต่ถ้าหากมีเพดานหรือหลังคาเตี้ย จะต้องเป็นพรรณไม้ที่สามารถตัดแต่งควบคุมความสูงได้โดยไม่เสียรูปทรง ส่วนไม้กระถางไม่ควรมีขนาดใหญ่มากเกินไป เพราะจะมีปัญหาเรื่องการขนย้ายเปลี่ยนแปลง และควรเลือกขนาดของต้นให้สมดุลกับชนิดและขนาดของภาชนะปลูก ขนาดของพรรณไม้ที่นิยมใช้
ขนาดเล็ก ความสูงไม่กิน 0.50 เมตร
ขนาดกลาง ความสูงไม่เกิน 1.20 เมตร
ขนาดใหญ่ ความสูงไม่เกิน 2.00 เมตร
ขนาดพิเศษ ความสูงตั้งแต่ 2.50-3.50 เมตร
ซึ่งขนาดพิเศษนี้ จะใช้ในจำนวนที่น้อยและจัดวางไว้ตรงจุดที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงบ่อย
การจัดวางพรรณไม้
พรรณไม้ที่จะนำมาวางประดับตกแต่งมีความสวยงามแตกต่างกัน มีทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ การจัดวางเพียงกระถางเดียวโดด ๆ จะไม่ก่อให้เกิดความสวยงาม ดังนั้นการจัดหมู่พรรณไม้จะทำให้เกิดความสวยงามเป็นธรรมชาติมากกว่า การจัดหมู่พรรณไม้ อาจใช้กระถางเดียวปลูกพรรณไม้หลายต้น หลายชนิด หรือจัดวางกระถางเดี่ยวหลาย ๆ กระถางรวมกัน หรือใช้กระถางฝังในถาดกรวด ถาดทราย
ไม้กระถางที่นำเข้ามาตกแต่งภายในจะต้องมีการสับเปลี่ยนทุก 15-30 วัน ซึ่งจะทำให้สภาพของต้นไม้เจริญเติบโตแข็งแรง สวยงามอยู่ได้
การดูแลรักษาพรรณไม้ภายในอาคาร
ในกรณีที่พรรณไม้ถูกนำไปวางในตำแหน่งที่่อนข้างมืดทึบ ควรใช้แสงสว่างจากหลอดไฟช่วยให้พรรณไม้สามารถมีชีวิตอยู่ได้
การให้น้ำ เนื่องจากสภาพภายในมีแสงสว่างน้อย การให้น้ำควรทำด้วยความระมัดระวัง การให้น้ำมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของพรรณไม้ ขึ้นอยู่กับวัสดุปลูก การให้น้ำจนดินปลูกเปียกแฉะอยู่ตลอดเวลาจะทำให้พรรณไม้ตายได้
การให้ปุ๋ยหรือการป้องกันโรคแมลง จะทำในขณะที่นำพรรณไม้ออกมาพักเมื่อมีการเปลี่ยนพรรณไม้ทุก 15-30 วัน พร้อมกับตัดแต่งทรงต้นให้สวยงาม ตัดใบที่เน่าเสียถูกทำลายทิ้งไป เติมดินลงในกระถางปลูก ดูแลจนต้นสมบูรณ์ แข็งแรง สวยงาม พร้อมที่จะนำไปตกแต่งประดับภายในต่อไป
ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นกับไม้ประดับภายในอาคาร
- การรดน้ำมากเกินไป มักจะเกิดขึ้นได้มาก และตลอดเวลา อาการของพืชจะแสดงออกทางใบ โดยใบจะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองและทิ้งใบ ต่อไปรากจะกุดไม่สามารถเจริญเติบโตได้ นาน ๆ เข้าต้นก็จะตาย
- การรดน้ำน้อยเกินไป ผลที่เกิดขึ้นใบจะเหี่ยวลู่ลงและไม่เจริญเติบโต จากนั้นสีของใบพืชจะกลายเป็นสีน้ำตาล ผิวหน้าดินแห้ง แตกระแหง
- การเปลี่ยนอุณหภูมิกะทันหัน จะเกิดกับพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้ภายนอกอาคารซึ่งได้รับแสงสว่างมาก เมื่อนำมาวาง ประดับ ภายในอาคาร ทันที ใบส่วนโคนต้นจะร่วงหล่น ทะยอยขึ้นไป จนเหลือเพียงส่วนยอด ดังนั้นหากจะนำพรรณไม้ดังกล่าว เข้ามาวางตกแต่งภายใน จะต้องนำพรรณไม้นั้นมาวางในโรงเรือนพรางแสงก่อน 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้พรรณไม้ปรับตัวก่อนนำไปใช้
- ตำแหน่งที่วางพรรณไม้ หากนำพรรณไม้ไปวางในที่ที่มีแสงแดดจัด ใบไม้ในร่มจะไหม้เกรียม วัสดุปลูกในกระถาง จะแห้งโดยเร็ว และถ้าหากวางกระถางไว้ในที่ที่มีความชื้นต่ำ หรืออากาศแห้ง พรรณไม้จะสูญเสียน้ำมาก หากรดน้ำไม่เพียงพอใบ จะเหี่ยว และแสดงอาการแห้งริมขอบใบ แล้วลุกลามจนทั่วไป การนำกระถางพรรณไม้ไปวางในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ สีของใบจะซีด ใบที่ผลิออกมาใหม่จะเล็ก ข้อปล้องยาวยืด และในที่ที่อับลม อากาศไม่มีการถ่ายเท พรรณไม้จะชะงักการเจริญเติบโต และจะทนอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นพรรณไม้ก็จะตาย ส่วนการจัดวางพรรณไม้ในห้องปรับอากาศ ควรระมัดระวัง อย่าวางให้ขวางทางลมไม่ว่าจะเป็นลมเย็นหรือลมร้อนจากเครื่องทำความเย็นและอนเดนเซอร์ นอกจากนี้แล้วปัญหาเรื่อง ควันบุหรี่ก็มีผลต่อการเจริญเติบโตของพรรณไม้ภายในเช่นเดียวกัน
การดูแลรักษาไม้ประดับในอาคาร
1. แสง แสงสว่างเป็นกุญแจสำคัญ ในการตัดสินใจเลือกชนิดของต้นไม้และการวางโปรแกรมในการดูแลรักษาไปด้วย โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีแสงสว่างมาก การให้น้ำและให้ปุ๋ยต่อต้นไม้เพื่อการเจริญเติบโตก็มีมาก แต่ถ้าแสงสว่างน้อย การให้ปุ๋ยและให้น้ำกับต้นไม้ก็น้อยครั้งลงไปเช่นกัน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าต้นไม้ต้องการน้ำและปุ๋ยน้อยลงนั้นเอง ในกรณีที่ต้นไม้ถูกวางไว้ในที่มืดทึบ ควรมีแสงจากหลอดไฟฟ้าช่วย เพื่อให้ต้นไม้สามารถมีชีวิตอยู่ได้แต่ไม่ควรให้หลอดไฟใกล้เกินไปเพราะใบจะแห้ง การเปิดไฟช่วงนี้อาจจะเปิดในตอนกลางวันหรือกลางคืนก็ได้เช่นกัน ต้นไม้สามารถปรับตัวได้ เพียงแต่มีปัญหาระหว่างความเข้มของแสงและระยะเวลาในการเปิดไฟเท่านั้น ถ้าไฟสว่างมากหรือมีความเข้มของแสงมาก อาจจะเปิดในระยะเวลาสั้น แต่ถ้าแสงไฟมีความเข้มน้อยก็อาจเปิดทิ้งไว้ในระยะเวลายาวนานกว่า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำค่าของแสงที่เหมาะสมสำหรับต้นไม้ คือ 2,400 แรงเทียน ซึ่งค่านี้ได้จากความเข้มแสง (แรงเทียน) x จำนวนชั่วโมง = 2,400 แรงเทียนพอดี
2. น้ำ การให้น้ำสำหรับไม้ภายในอาคาร สมควรที่จะระมัดระวังมาก เพราะคนทั่ว ๆ ไปก็คงคิดว่ารดน้ำวันละครั้ง 2 ครั้งไปเรื่อย ๆ ความจริงแล้วการให้น้ำเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของต้นไม้ ชนิดของต้นไม้และแสงในที่นั้น ๆ ด้วยและต้องยึดหลักที่ว่าให้น้ำที่อยู่ในดินหมดไปก่อน ก่อนที่จะรดน้ำใหม่อีกครั้ง ซึ่งตรวจสอบได้โดยสังเกตดูดินในกระถางว่าแห้งหรือแฉะ แต่ถ้ามีประสบการณ์พอสมควรก็อาจจะดูได้หลายวิธีจากสภาพต่าง ๆ ว่าเมื่อไรควรจะรดน้ำ เช่น ดูลักษณะทั่วไปของต้นไม้ ดูน้ำหนักของดิน กระถาง และต้นไม้ สิ่งที่ควรต้องระมัดระวังคือ การที่ปล่อยให้ดินเปียกแฉะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุให้รากขาดอากาศ เชื้อโรคก็เพิ่มขยายขึ้นอาจทำให้รากเน่าตายได้ และการที่ต้นไม้มีอาการใบแห้งนั้นไม่ได้มาจากสาเหตุของการขาดน้ำเพียงอย่างเดียว อาจเป็นเพราะน้ำขัง รากเน่า หรือรากของต้นไม้เป็นแผลก็ได้
3. ปุ๋ย ในบริเวณที่มีแสงสว่างน้อย ต้นไม้ก็ควรได้รับปุ๋ยน้อยตามไปด้วย ซึ่งแสงสว่างกับการให้ปุ๋ยก็มีความสัมพันธ์กัน โดยส่วนใหญ่แล้วต้นไม้ที่มีประดับในอาคารหรือปลูกภายในอาคารจะเจริญเติบโตช้า ความต้องการปุ๋ยลดน้อยลงจากเดิม ถ้าปุ๋ยมากกิ่งก้านของต้นไม้ก็จะแผ่ออกไปยึดยาว บอบบางไม่เข้ารูปทรง มองดูแล้วไม่สวยงาม มักเป็นเพราะแสงน้อยและให้ปุ๋ยมากไปด้วย การให้ปุ๋ยสำหรับไม้ประดับในอาคารอาจจะให้ปุ๋ยทางใบ หรือปุ๋ยชนิดที่ค่อย ๆ ละลายเพื่อให้ธาตุอาหารอย่างช้า ๆ การให้ปุ๋ยทางใบอาจละลายเจือจางในการให้บ่อยครั้ง ถ้าปุ๋ยเข้มข้นก็ให้นาน ๆ ครั้งก็ได้ หรือให้ในระดับพอเหมาะและอาจจะพ่นปุ๋ยได้ทุก 10-15 วันต่อครั้งพร้อมยากำจัดโรคและแมลง
4. วัสดุปลูก วัสดุปลูกที่เหมาะสมกับไม้ประดับในอาคารควรยึดหลักที่ว่าต้องโปร่ง การระบายน้ำดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้กระถางต้องมีน้ำหนักเบาด้วย เพราะสะดวกในการเคลื่อนย้ายอยู่บ่อย ๆ ไม่ควรใช้ดินเหนียวเพราะมีน้ำหนักมากและการระบายน้ำไม่ดี อาจทำให้ต้นไม้ตายเพราะรากเน่าได้ ดินปลูกที่ใช้อาจมี ดินร่วน อิฐมอญหัก ใบไม้ผุ แกลบสด ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ และทราย การที่จะใช้ส่วนผสมอะไร เป็นจำนวนเท่าไรนั้นให้พิจารณาที่ชนิดของต้นไม้เป็นหลักด้วย
5. โรค และแมลง ต้นไม้ที่ปลูกประดับภายในอาคารนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จะมีโอกาสเป็น โรคมากมายและติดโรคได้ง่ายกว่าต้นไม้ที่ปลูกอยูภายนอกอาคาร เช่น ใบไหม้ ซึ่งอาจเป็นเพราะรากเน่าหรืออื่น ๆ ซึ่งภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะลำบากในการรักษา นอกจากว่าจะโยกย้ายต้นนี้ออกไปรักษาข้างนอกเท่านั้น อาจมีการแนะนำให้พ่นบ้าง แต่ที่จริงแล้ว ไม่ควรใช้ยาภายในอาคาร เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ส่วนเรื่องแมลงที่รบกวนต้นไม้ภายในอาคารนั้นก็เข่นกัน ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ไม่แนะ นำให้พ่นยาฆ่าแมลงชนิดใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นอันตรายต่อคนได้ คงมีวิธีแก้ได้ 2 ทางสำหรับแมลงที่มาทำลายต้นไม้คือ
- ถ้ามีแมลงรบกวนไม่ควรใช้สารเคมีในการทำลาย ควรใช้วิธีตามธรรมชาติ คือนำต้นไม้ออกมาล้างใบด้วย น้ำผสมสบู่ก็ได้เพื่อให้แมลงหลุดไป
- ถ้าวิธีแรกไม่ได้ผล ก็ควรนำต้นไม้มาเปลี่ยนทดแทนใหม่ และนำต้นที่เป็นถูกทำลายไปรักษาที่เรือนเพาะเลี้ยงหรือทำลายก่อนและหลังนำไม้ประดับเข้าในอาคาร
การนำไม้ประดับเข้าในอาคารนั้นควรแน่ใจว่าก่อนว่าต้นไม้แข็งแรงปลอดภัยจากโรคและแมลงต่าง ๆ แล้ว ควรเลือกต้นไม้ที่มีสภาพดีที่สุด และสวยงาม ก่อนนำต้นไม้เข้าในอาคารควรตรวจสอบ ดังนี้
- ต้นไม้มีสภาพแข็งแรงปราศจากโรคและแมลง
- ปรับสภาพแสงที่ต้นไม้ได้รับให้ใกล้เคียงกับภายในอาคารเสียก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน
- ทำความสะอาดต้นไม้โดยการล้างใบ เช็ดใบให้สะอาด ก่อนนำเข้าอาคาร
- ไม้ประดับในอาคารควรสับเปลี่ยนทุก ๆ 2 สัปดาห์ แต่บางชนิดอาจทนได้นาน 1-2 เดือน เมื่อนำต้นไม้ออกจากอาคาร ควรนำมาวางไว้ภายในโรงเรือนหรือที่พรางแสงประมาณ 50-70 % อย่านำต้นไม้ไปตากแดด เพราะต้นไม้จะ ปรับสภาพไม่ทันอาจตายได้หรือใบไหม้เหี่ยวแห้ง
เมื่อนำต้นไม้ออกจากอาคารควรปฏิบัติดังนี้
- ทำความสะอาดต้นและใบด้วยการใช้น้ำละออกฝอยฉีดให้ทั่วต้น
- เติมดินผสมลงในกระถางให้ได้ระดับพอดี
- ตัดแต่งกิ่งที่หัก เหี่ยวแห้งออก ปรับสภาพต้นให้ตั้งตรง
- พ่นยาป้องกันโรคและแมลง
- ให้ปุ๋ยใบสูตร 30-20-10 สัปดาห์ละครั้ง หรือปุ๋ยละลายช้า 1 ช้อนชาต่อต้น และอาจเสริมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยหมักชนิดของไม้ประดับในอาคาร ไม้ดอกไม้ประดับทุกชนิดสามารถนำไปใช้ประดับภายในอาคารได้ทั้งนั้น เพียงแต่ระยะเวลาในการใช้งานสั้นยาวต่างกัน เช่น ต้นดาวเรือง กุหลาบ อาจอยู่ได้ 1สัปดาห์ เบญจมาศ อาจถึง 2 สัปดาห์ กล้วยไม้ 2-3 สัปดาห์ เป็นต้น
ปุ๋ยและการให้ปุ๋ย
ปุ๋ย หมายถึง สารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ ที่ได้จากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ เป็นสารที่ใส่ลงไปในดิน เพื่อให้ธาตุอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ตามความต้องการของพืชนั้น ๆ หรือเมื่อดินขาดแคลนธาตุใดธาตุหนึ่ง และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทางเคมีของดิน และละลายธาตุอาหารพืชลงสู่ดินเพื่อพืชนำไปใช้ในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของพืชการจำแนกประเภทของปุ๋ย สามารถแบ่งปุ๋ยออกเป็น 2 ประเภท
1. ปุ๋ยอินทรีย์ คือ สารประกอบอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบและเป็นสารปรับปรุงดิน ทำให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพดีขึ้น มีต้นกำเนิดจากสารอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด เป็นต้น
2. ปุ๋ยอนินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบอนินทรีย์ต่าง ๆ หรือเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นจากกระบวนการทางเคมี ที่ให้ธาตุอาหารพืชในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที เรียกอีกชื่อหนี่งว่า ปุ๋ยเคมี การจำแนกปุ๋ยเคมีตามความต้องการของธาตุอหารพืช แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
2.1 ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ปุ๋ยที่ให้ธาตุปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุปุ๋ยทั้ง 3 ธาตุเป็นองค์ประกอบในรูปของปุ๋ยเดี่ยวที่มีธาตุเดียว หรือปุ๋ยเชิงประกอบที่มีธาตุปุ๋ยนี้ตั้งแต่ 2 และ 3 ธาตุ
2.2 ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารรอง ได้แก่ ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารรอง ซึ่งเป็นธาตุที่พืชใช้ในประมาณน้อยกว่าธาตุอาหารหลัก แต่มีความจำเป็น เช่น ปุ๋ยให้ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน เป็นต้น
2.3 ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารเสริมแก่พืช ซึ่งตามปกติพืชมีความต้องการธาตุอาหารเสริมในปริมาณน้อยมาก แต่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับธาตุอื่น ๆ การให้ปุ๋ยจะให้เมื่อพืชแสดงอาการขาดธาตุ อาจเป็นในรูปของปุ๋ยผสมกับธาตุอาหารหลัก เป็นปุ๋ยทางดินหรือปุ๋ยทางใบ ซึ่งเป็นปุ๋ยสังเคราะห์ขึ้นในรูปคีเลต
การแบ่งปุ๋ยตามสูตรปุ๋ยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
1.ปุ๋ยสูตรเสมอ คือปุ๋ยที่มีธาตุทั้ง 3 ในปริมาณที่เท่ากัน ใช้เมื่อไม่ต้องการเร่งส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะ คือ ให้พืชเจริญเติบโตตามปกติทุกส่วน เช่น สูตร 15-15-15 ,20-20-20 เป็นต้น
2.ปุ๋ยสูตรหน้าสูง คือปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนมากกว่าธาตุฟอสฟอรัสและโปรแตสเซียม ใช้เมื่อต้องการเร่งการเจริญเติบโตทางต้นหรือใบ มักให้ในระยะกล้า จะทำให้พืชมีใบเขียวขึ้น เช่นสูตร 30-20-10 ,20-10-10 เป็นต้น
3.ปุ๋ยสูตรกลางสูง คือปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสมากกว่าธาตุไนโตรเจนและโปรแตสเซียม ใช้เมื่อต้องการเร่งการเจริญเติบโตทางราก หรือเร่งให้ออกดอกเร็วขึ้น เช่น ปุ๋ยสูตร 15-30-15 ,12-24-12 เป็นต้น
4.ปุ๋ยสูตรหลังสูง คือปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียมมากกว่าธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ใช้เร่งสีให้เข้มขึ้น เช่น สูตร 12-12-27 ,10-20-30 เป็นต้น
วิธีการให้ปุ๋ย แบ่งออกเป็น 2 แบบ ตามชนิดของปุ๋ยคือ
1. การให้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ (ปุ๋ยใบ) ปุ๋ยชนิดนี้มีลักษณะเป็นเกล็ดขนาดเล็กหรือเป็นผง ต้องนำมาละลายน้ำให้เจือจางก่อนใช้ อัตราที่ใช้ประมาณ 50 – 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ปุ๋ยใบควรละลายน้ำแล้วพ่นให้เปียกทั่วต้นพืช เพราะปุ๋ยใบสมารถซึมเข้าทางใบเป็นประโยชน์กับพืชได้อย่างรวดเร็ว ถ้าพ่นกับพืชที่มีใบติดน้ำยายากจำเป็นต้องผสมสารจับใบลงในน้ำด้วยจึงจะได้ผลดี
2. การให้ปุ๋ยเม็ด ปุ๋ยชนิดนี้มีลักษณะเป็นเม็ด เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยละลายช้าใช้หว่านหรือโรยที่ผิววัสดุปลูก หรือให้เป็นจุดบนดิน หรือฝังเป็นจุด บนวัสดุปลูกหรือรองก้นกระถางตอนย้ายปลูก ห้ามใส่ปุ๋ยเม็ดชิดหรือใกล้โคนต้นพืช เพราะอาจทำให้ผิวพืชเกิดอาการไหม้และเกิดบาดแผล เชื้อโรคเข้าทำลายต้นพืชได้ง่ายขึ้น การให้ปุ๋ยเคมีควรให้ในอัตรา 5 – 10 กรัมต่อต้นต่อครั้ง ส่วนปุ๋ยละลายช้าควรให้ในอัตรา 1 ช้อนชา ต่อเส้นผ่าศูนย์กลางกระถาง 6 นิ้ว ก่อนให้ปุ๋ยทุกชนิด ใบไม้ต้องแห้งและต้องไม่เหี่ยว วัสดุปลูกต้องชื้นไม่แห้ง ถ้าแห้งหรือเหี่ยว ต้องรดน้ำให้ต้นฟื้นดีก่อนจึงจะให้ปุ๋ย ควรให้เวลาเช้าหรือเย็น และใช้หลัก ให้ปุ๋ยจำนวนน้อยและให้บ่อยครั้งดีกว่าให้จำนวนมากแต่น้ำครั้ง
การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ปัญหาที่สำคัญที่ผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับมักพบเห็นได้บ่อยได้แก่ ไม้ดอกไม้ประดับถูกแมลงกัดกิน ทำลายหรือเป็นโรค ทำให้ไม่เจริญ เท่าที่ควรหรืออาจตายไปเลยก็ได้ จึงจำเป็นที่ผู้ปลูกควรใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบ้าง เป็นบางช่วงเวล าเพื่อป้องกันไม้ดอกไม้ประดับ ให้รอยพ้นจากการทำลายของศัตรู ทั้งนี้ผู้ปลูกควรใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ถูกกับชนิดของศัตรูพืชที่เข้าทำลาย เพราะอาการ ผิดปกติ บางอย่างอาจเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตได้เช่นเดียวกัน เช่น อาการใบไหม้ที่เกิดจากแดดเผา อาการใบเหลือง เนื่องจากขาดธาตุอาหารไนโตรเจน เป็นต้น ดังนั้น ก่อนใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และเพื่อความมั้นใจ ควรพ่นสารป้องกัน กำจัดเชื้อราและสารป้องกันกำจัดแมลงเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะยังไม่ปรากฏอาการก็ตาม เพราะการป้องกันจะดีกว่าการรักษา อาการผิปกติที่มักพบกับไม้ดอกไม้ประดับ ได้แก่
1.อาการเหี่ยว อาจเกิดจากการขาดน้ำ เมื่อรดน้ำแล้วก็จะฟื้นเป็นปกติ หรือสังเกตว่า ตอนเช้ายอดจะไม่เหี่ยว แต่จะเหี่ยวในเวลากลางวัน ที่แสงแดดจัดจึงควรให้น้ำมากขึ้น แต่ถ้าหากเกิดจากเชื้อโรค ถึงแม้จะรดน้ำแล้ว อาการก็ไม่ดีขึ้น
2. อาการใบไหม้ อาจเกิดจากแดดเผา (อาการไม่ลามต่อไป) ควรพรางแสงหรือย้ายที่วางกระถางหรือย้ายที่ปลูกใหม่ หรือหากเกิดจากเชื้อโรค (อาการจะลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง) ควรใช้สารฆ่าเชื้อราหรือแบคทีเรียแล้วแต่สาเหตุของโรค สารที่ใช้มากสำหรับไม้ดอกไม้ประดับคือ สารป้องกันและกำจัดเชื้อรา สารป้องกันกำจัดแมลงและไร เราสามารถผสมสารหลายอย่างแล้วพ่นพร้อมกันได้เพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน เช่น สารป้องกันกำจัดเชื้อรา + สารป้องกันกำจัดแมลง + ปุ๋ยใบ + สารจับใบ โดยมีขั้นตอนการผสมดังนี้
- ผสมสารที่มีลักษณะเป็นผงกับน้ำน้อย ๆ ประมาณ 250 ซีซี ก่อน คนให้เป็นสารละลายเข้มข้นก่อน
- .เติมน้ำลงไปอีให้ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ต้องการคนให้เข้ากัน
- .เติมสารที่เป็นน้ำลงไป แล้วคนให้เข้ากัน
- เติมน้ำลงไปให้ได้จำนวนที่ต้องการ แล้วคนให้เข้ากัน
- ใส่ปุ๋ยลงไป แล้วคนให้เข้ากัน
- ใส่ฮอร์โมนหรืออาหารเสริมลงไป (ถ้ามี) แล้วคนให้เข้ากัน แต่ไม่แนะนำให้ผสมสารพวกนี้กับสารอื่น ๆ ควรแยกพ่นต่างหาก
- ใส่สารจับใบลงไป แล้วคนให้เข้ากัน หลักการพ่นสารเคมีให้ถือหลักว่าให้พ่นสารเหนือลม ให้ลมพันละอองของสาร ออกจาก ตัวผู้พ่นยาโดยให้เดินขวางทางลมหรือเดินขึ้นไปทางต้นลม ปรับหัวพ่นให้น้ำยาออกเป็นฝอยละเอียดและละอองยาจับอยู่ที่ใบพืช ไม่พ่นนานเกินไปจนน้ำยาไหลออกจากใบ ควรใส่ถุงมือ รองเท้าบูท เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว แว่นตากันละอองยา หน้ากากเพื่อป้องกันละอองยาเข้าจมูก การเลือกสารที่ใช้ต้องรู้ด้วยว่าเป็นสารดูดซึมหรือไม่ (สารประเภทดูดซึมคือ จะซึมเข้าไปในทุกส่วนของพืชเมื่อศัตรูพืช เช่น แมลงกันกินหรือดูดน้ำเลี้ยงของพืชก็จะตาย เนื่องจากฤทธิ์ของสาร) หรือเป็นสารแบบถูกตัวตาย (คือเมื่อพ่นสารถูกศัตรูพืชเช่น แมลง ๆ จะตาย) มีสารบางชนิดเหมือนกันที่ออกฤทธิ์ทั้งแบบดูดซึม และถูกตัวตาย แมลงศัตรูไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกเป็นการค้า หรือปลูกประดับตามอาคารบ้านพักอาศัยทั่วไป มักพบปัญหาการทำลายของแมลงศัตรูหลาย ๆ ชนิด ถ้าพบน้อยก็อาจไม่จำเป็นต้อง ป้องกันกำจัด แต่ถ้ามีการทำลายรุนแรง ก็จำเป็นต้องหาวิธีป้องกันกำจัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม
แมลงศัตรูไม้ดอกไม้ประดับ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- .แมลงปากดูด มีหลายชนิด เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เป็นต้น แมลงเหล่านี้ทำลายพืชด้วยการดูดน้ำเลี้ยง ทำให้พืชหงิกงอ เหี่ยวแห้ง
- หนอนผีเสื้อ มีหลายชนิดเช่นเดียวกัน หนอนจะกัดกิน ทำให้ใบ ดอกขาดหรือเป็นรู
- แมลงปีกแข็ง เช่น ด้วงกุหลาบ เต่ากล้วยไม้ จะกัดกินดอกและใบ
- .แมลงวัน เช่น แมลงวันดอกกล้วยไม้ ตัวหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในดอก การระบาดเป็นครั้งคราว
- .ศัตรูอื่น ๆ เช่น ไร ทาก และหนู การป้องกันกำจัด
5.1 หมั่นตรวจดูไม้ดอกไม้ประดับอย่างสม่ำเสมอ หากพบมีการทำลายไม่มากก็จับแมลงที่พบมาทำลายทิ้ง
5.2 หากพบมีการระบาดรุนแรงก็ฉีดพ่นด้วยสารเคมีทุก ๆ 5 – 7 วัน จนกว่าจะไม่พบการระบาด