พรรรณไม้หอม
วงศ์จันทร์ วงศ์แก้ว
พรรณไม้หอมจัดเป็นพรรณพืชที่มีความสำคัญ ทางศิลปวัฒนธรรมไทยมากกลุ่มหนึ่ง มีความผูกพันกับคนไทยมายาวนาน ในวรรณกรรม หลายยุคหลายสมัย จะต้องมีบทกวีที่กล่าวถึงพรรณไม้หอมอยู่เสมอ พรรณไม้หอมหลายชนิด นอกจากให้ดอกหอม ชื่นใจแล้ว ยังเป็น สมุนไพรใช้ผสมเป็นยารักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ และใช้เนื้อไม้ทำเครื่องใช้และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้อีกด้วย ประเทศไทย อยู่ในเขตศูนย์สูตร ซึ่งมีป่าที่เป็นที่อยู่ของพรรณพืชต่าง ๆ ชนิดกันจำนวนมาก พรรณไม้หอมหลายชนิดพบในป่าของไทย บางชนิด นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ได้ปลูกกันไว้ใช้ประโยชน์มานานมาก ความรู้ที่คนไทยพื้นบ้าน ได้สั่งสมกันมาเป็นเวลา ยาวนาน ในการใช้ประโยชน์ของพรรณพืชต่าง ๆ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไทยที่สมควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นความภูใจของคนรุ่นหลัง ซึ่งนับวัน จะมีโอกาสได้สัมผัส ความรู้เหล่านี้น้อยลงทุกที
บทความนี้เป็นรายงานเพียงส่วนหนึ่งของผลการวิจัยเรื่องการอนุรักษ์และ การศึกษาความหลากหลาย ทางชีวภาพของพรรณพืช ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ การเจริญเติบโต การกระจายพันธุ์ การออกดอก ระยะเวลาการให้กลิ่นหอม การขยายพันธุ์ และการใช้ประโยชน์พื้นบ้าน ในรายงานได้กล่าวถึงเพียง 16 ชนิด ได้แก่ กรรณิการ์ กระถินเทศ กระทิง กระเบา กันเกรา กุหลาบ จันทน์เทศ จำปา จำปี จำปีสีนวล นมแมว พญาสัตบรรณ พิกุล มะลิ ลำดวน และสารภี ซึ่งเป็นพรรณไม้หอมที่ให้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งนี้ได้รวมเกร็ดประวัติ และตำรับยาที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลไว้ด้วย เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นที่สนใจสำหรับท่านผู้อ่าน หวังว่าการวิจัยครั้งนี้ จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่ศึกษา และสนับสนุนให้ศึกษาพรรณไม้กลุ่มนี้ให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
1. กรรณิการ์ Nyctanthes arbor-tritis Linn.
วงศ์ Verbenaceae
ชื่ออื่น กณิการ์, กรณิการ์ (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ Night Glooming Jasmine, Night Flower Jasmine, Night Blooming Jasmine, Tree of Sadness
กรรณิการ์ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้าน เป็นเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบสาก ขอบใบเรียบหรือมีจักเล็กน้อย ดอกออกตามโคนก้านใบหรือปลายกิ่ง มีขนาดเล็กออกเป็นช่อ กลีบดอกมีสีขาว มี 6 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีส้ม มีกลิ่นหอมเย็นในเวลากลางคืน เดิมเป็นไม้ต่างประเทศ และนำเข้ามาปลูก แพร่หลายในประเทศไทย ปลูกทั่วไปกลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอน หรือปักชำ
กรรณิการ์ ก้านดอกให้สีเหลืองแสด หรือสีส้ม ใช้ย้อมผ้าไหม หรือทำสีใส่ขนม รับประทานได้ ต้นแก้ปวดศีรษะ ใบบำรุงน้ำดี ดอกแก้ไขและลมวิงเวียน รากแก้อุจจาระเป็นพรรดึก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก บำรุงผิวหนังให้สดชื่น ต้นและรากต้มรับประทานแก้ไอ
2. กระถินเทศ Acacia farnesiana (L.) Willd.
วงศ์ Mimosaceae
ชื่ออื่น กระถิน, กระถินเทศ (กรุงเทพ), กระถินหอม, คำใต้, ดอกคำใต้ (ภาคเหนือ), มอนคำ (แม่ฮ่องสอน), เกากรึนอง (กาญจนบุรี), ถิน (แถบคาบสมุทร), บุหงาเซียม (แหลมมาลายู), บุหงา (อินโดนีเซีย), บุหงาละสะมะนา (ปัตตานี)
ชื่อสามัญ Sponge Tree, Cassie Flower
กระถินเทศ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-5 เมตร มีหนามแหลมคมที่โคนก้านใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ช่อย่อยมีใบย่อย 10-21 คู่ รูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายแหลม โคนตัดตรง ดอกสีเหลือง กลิ่นหอมตลอดวัน ออกเป็นช่อตามซอกใบเป็นกระจุกประมาณ 5 ช่อ ช่อดอกเป็นรูปกลมคล้ายดอกกระถิน มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ผลเป็นฝักโค้ง กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-7.5 ซม. เมล็ดรูปรี กว้าง 0.5 ซม. ยาว 0.7-0.8 ซม. ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนทั่วโลก และมีดอกตลอดปี เดิมมาจากต่างประเทศ แต่ปลูกกันทั่วไปตามบ้านและวัด เนื่องจากใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ
สรรพคุณทางยา รากใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แก้พิษสัตว์กัดต่อย ยางของไม้นี้เรียกว่า กัมอะเคเซีย
ในอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ใช้ลำต้นกระถินเทศ 2-3 กิ่ง ตำหรือทุบแล้วนำมาต้มกับน้ำครึ่งลิตรพอเดือด ทิ้งให้อุ่น ให้หญิงคลอดลูกที่อ่อนเพลียเนื่องจากการตกเลือด ดื่มบำรุงหัวใจจะสดชื่นขึ้นทันที แต่จะให้ดื่มหลังจากการดื่มน้ำใบเสนียด โดยนำใบเสนียดสด 5 ใบ มาโขลกกับเกลือเล็กน้อยดื่มเพื่อห้ามเลือด ถ้ายังไม่หายอ่อนเพลียก็จะให้รับประทานน้ำต้มกิ่งกระถินเทศ แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ตามพื้นบ้านทั่วไป เป็นตำรับยาบำรุงหัวใจพื้นบ้านของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล แต่ผู้เขียนยังไม่ได้พิสูจน์)
3. กระทิง Calophyllum inophyllum Linn.
วงศ์ Guttiferae
ชื่ออื่น กระทิง, กากะทิง (ภาคกลาง), สารภีแนน (ภาคเหนือ), ทิง (กระบี่), เนาวกาน (น่าน), สารภีทะเล (ประจวบฯ)
ชื่อสามัญ Alexandrian Laurel, Borneo Mahogany
กระทิงเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 5-12 เมตร เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ กว้าง 4-8 ซม. ยาว 8-15 ซม. ใบคล้ายใบสารภีแต่กว้างกว่า ปลายกลมหรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบ เส้นใบถี่และขนานกัน ใบมียางสีขาว ดอกสีขาว กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นสารภี ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอก 5-6 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 ซม. เกสรเพศผู้สีเหลืองมีจำนวนมาก ผลรูปกลมสีเขียวขนาดประมาณ 2 ซม. เมื่อผลแก่จะแห้ง ผิวย่น มีสีน้ำตาล สามารถปลูกได้ทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์แถบป่าชายทะเล และตามป่าชื้นทั่วไปที่สูงจากระดับน้ำทะเล 5-50 เมตร
แก่นไม้มีสีน้ำตาลอมแดง มักมีเส้นสีแก่กว่าสีพื้นหนักปานกลาง ใช้ในน้ำได้ทนทาน เลื่อยไสกบ ตกแต่งไม่ยาก ไม้ใช้ทำเรือ กระดูกงูเรือ สร้างบ้านเรือน ทำตู้ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดใช้จุดตะเกียง ผสมทำเครื่องสำอาง ในสรรพคุณยาไทย ใช้ใบสดขยำแช่น้ำเอาน้ำล้างตา แก้ตาฝ้า ตามัว ตาแดง น้ำมันใช้ทาถูนวด แก้ปวดข้อ เคล็ด บวม ดอกปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ
กากทิงค์ คือพรรณไม้ตรัสรู้ของพระศรีอาริยเมตไตรย
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 84 ของ ส.ธรรมภักดี กล่าวว่า พรรณไม้ที่ชื่อบาลีว่า กากทิงค์ จะเป็นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นามว่าพระศรีอาริยเมตไตรย บางท้องที่ในภาคกลาง เรียกกระทิงว่า กากะทิง
กะลาจากผลกระทิงใช้หยอดขนมครก
คนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ใช้กะลาของผลกระทิงมาตักแป้งหยอดขนมครก โดยนำมาทำเป็นกระบวยแล้วใช้ไม้สักทำด้าม จะทำให้ได้ขนมครกที่ไม่หนาจนเกินไป และมีความกรอบพอเหมาะ โดยจะหยอดแป้งโรยไปตามขอบ ๆ หรือเทลงแล้วเอาก้นกระบวยเกลี่ยแป้งไปตามขอบ ประมาณปี พ.ศ. 2490-2495 มีขนมครกที่หยอดด้วย กระบวยกระทิงขายหน้าวัดมหาธาตุฯ ในกรุงเทพมหานคร (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล)
4. กระเบา Hydonocarpus anthelminthicus Pierre
วงศ์ Flacourtiaceae
ชื่ออื่น กระเบาน้ำ, กระเบาเบ้าแข็ง, กระเบาใหญ่, กาหลง, แก้วกาหลง, กระเบา (ภาคกลาง), กระเบาตึก (เขมร-อีสาน), ตัวโฮ่งจี๊ (จีน), เบา (สุราษฎร์)
กระเบาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวเรียงสลับ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 15-24 ซม. โคนใบมนปลายเรียวแหลม ดอกแยกเพศและอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้สีชมพูกลิ่นหอมมากเรียกกันว่า ดอกแก้วกาหลง ออกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อสั้นตามซอกใบ ลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ ผลกลม ขนาดเส้นผ่านศูนยืกลาง 8-10 ซม. ผิวเรียบ มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลแดง ลักษณะคล้ายผลมะขวิด มีถิ่นกำเนิดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีเขตการกระจายพันธุ์ตามป่าดิบใกล้น้ำทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกดอกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็๋ด
ผลสุกของกระเบารับประทานเนื้อหุ้มเมล็ดได้ เนื้อนุ่ม รสหวานมัน คล้ายเผือกต้ม มีเมล็ดกลมขนาดนิ้วมือ น้ำมันในเมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อนและโรคผิวหนังอื่น ๆ เป็นส่วนผสมของน้ำมันใส่ผมได้ดีที่สุด เพราะรักษาผิวหนังบนศีรษะด้วย เนื้อไม้มีสีแดงแกมน้ำตาลเมื่อตัดใหม่ แต่นานไปจะมีสีน้ำตาลอมเทา เสี้ยนตรง เนื้อละเอียดและสม่ำเสมอ แข็ง เลื่อยผ่าง่าย เนื้อไม้ใช้ทำกระดานพื้นบ้าน และทำพื้น
คนพื้นบ้านในพิจิตรใช้เมล้ดกระเบาตำให้ละเอียด อัดใส่ชิ้นตับควายสดให้คนหรือสุนัขกลืนดิบ ๆ จะทำให้ผิวหนังที่เป็นโรคเรื้อนหายเป็นปกติได้จนกว่าจะหมดฤทธิ์ยา เมล็ดกระเบาทำให้เมาได้ ต้องใช้ในปริมาณน้อย (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งผู้เขียนยังไม่ได้พิสูจน์ด้วยตนเอง)
ในหนังสือพุทธประวัติของนักธรรมชั้นตรีกล่าวว่า กระเบาเป็นพรรณไม้ประจำตระกูลโกลิยวงศ์ ซึ่งเป็นตระกูลของพระนางพิมพา คำว่า โกลิยวงศ์ หมายถึงวงศ์ไม้กระเบา ในสมัยพุทธกาลนิยมตั้งชื่อพรรณไม้เป็นชื่อประจำวงศ์ตระกูล น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ในยุคก่อนเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว (ความเห็นของผู้เขียน)
5. กันเกรา Fagraea fragrans Roxb
วงศ์ Potaliaceae
ชื่ออื่น ตำเสา, ทำเสา (ใต้), ตำเตรา (เขมร-ตะวันออก), มันปลา (เหนือ-ออกเฉียงเหนือ), ตำมะซู, ทำมะซู, ตะมะซู (มลายู-นราธิวาส)
ชื่อสามัญ Anan, Tembusu
กันเกรา เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 10-25 เมตร มักแตกกิ่งต่ำ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดแหลม แคบ หรือรูปกรวยทรงสูง ต้นใหญ่เรือนยอดไม่เป็นระเบียบ เปลือกนกหยาบสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่สม่ำเสมอ เปลือกชั้นในสีเหลือง เป็นเสี้ยน เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งเว้นระยะใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน เป็นกลุ่มตอนปลายกิ่ง แผ่นใบรูปรี ยาว 5-10 ซม. กว้าง 2.5-4.5 ซม. ปลายเป็นติ่งเรียวแหลม โคนสอบเรียวแคบ ผิวใบเกลี้ยง เส้นใบไม่ชัด ก้านใบยาว 1-2 ซม. หูใบคล้ายถ้วยขนาดเล็ก ติดที่โคนก้านใบ ดอกสีขาวนวลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนเมื่อแก่ เมื่อใกล้ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมดอกออกเป็นกระจุกบนช่อสั้น ๆ ตามง่ามและปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10 ซม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 3 มม. กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปแตร ยาวประมาณ 2 ซม. กว้างประมาณ 2 ซม. ผลกลมสีส้มถึงแดงเข้ม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มม. มีรสขม เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก รูปทรงไม่แน่นอน กันเกราสามารถขึ้นได้ดีในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น บนดอนหรือดินลูกรัง ขึ้นในที่ลุ่มบริเวณขอบพรุและพื้นที่น้ำขังชั่วคราว มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาค แต่พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่าตอนล่าง หมู่เกาะอันดามัน คาบสมุทรอินโดจีน มาเลเซีย เกาะชวา เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว หมู่เกาะฟิลิปปินส์ถึงซีลีเบส ออกดอกระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน
เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน เนื้อละเอียด เสี้ยนตรง เหนียวแข็ง และทนทานต่อปลวก เลื่อย ผ่า ไสกบ ตกแต่งง่าย มีน้ำมันในตัวชักเงาได้ดี ชาวจีนทางภาคใต้นิยมใช้ทำหีบจำปาบรรจุศพ ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น เสา ทำเครื่องเรือน และเครื่องกลึง แกะสลัก กล่องบุหรี่ ทำพื้น ฝา วงกบ ประตู หน้าต่าง รอด ตง อกไก่ ต่อเรือ เช่น ทำกระดูกงู โครงเรือ ทำกระโดงเรือ ด้ามเครื่องมือการเกษตร กังหันน้ำ กระเบื้องไม้ หมอนรอง รางรถไฟ ไม้นี้มีชื่อทางการค้าว่า Anan ตามตำราสรรพคุณยาไทยแก่นกันเกรามีรถเฝื่อน ฝาด ขม เข้ายาบำรุงธาตุ แก้ไขจับสั่น แก้หืด ไอ ริดสีดวง ท้องมาน แน่นหน้าอก ลงท้อง เป็นมูกเลือด แก้พิษฝีกาฬ บำรุงม้าม แก้เลือดลมพิการ เป็นยาอายุวัฒนะ เปลือกบำรุงโลหิต มีศักยภาพเป็นไม้เบิกนำ และไม้ประดับข้างถนนด้วย
ในพิธีวางศิลาฤกษ์และพิธียกเสาเอก มีไม้มงคล 9 ชนิดที่ใช้ในพิธี กันเกราเป็นชนิดหนึ่งที่นำมาใช้
6. กุหลาบ Rosa spp. and hybrid
วงศ์ Rosaceae
ชื่อสามัญ Rose
กุหลาบมีมากกว่า 1,000 ชนิด เป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศ มีทั้งไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร และไม้เลื้อย ต้นและกิ่งมีหนาม ใบเป็นใบประกอบ แบบขนนก เรียงสลับ มีใบย่อย 5-7 ใบ รูปไข่ กว้าง 1.8-4 ซม. ยาว 3-7 ซม. ปลายใบแหลม โคนมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย หูใบแนบติดกับ ก้านใบ ดอกมีหลายสีแตกต่างกันตามพันธุ์ เช่น แดง ขาว ชมพู เหลือง ฯลฯ มีกลิ่นหอมตลอดวัน ดอกจะออกที่ปลายกิ่งอาจเป็นดอกเดี่ยวหรือ ดอกช่อ ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยมีกลีบเลี้ยงตั้งแต่ 5 กลีบขึ้นไป ลูกผสมจะมีกลีบดอกซ้อนหลายชั้น เกสรเพศผู้และเพศเมียมีจำนนมาก ผลรูปไข่ ผลสุกเป็นสีแดง เจริญเติบโตได้ทุกภาคของประเทศไทย ชอบดินกรดและที่มีอากาศเย็น ออกดอกได้ตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการติดตา ตอน กิ่งปักชำ เมล็ด และแยกหน่อ ที่นิยมมากคือการติดตา เพราะสามารถใช้ต้นตอ เป็นกุหลาบป่า ที่มีระบบรากแข็งแรงและทนโรคในขณะที่ยอให้ ดอกที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ
กุหลาบใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกกุหลาบใช้ประดิษฐ์พวงมาลัยบูชาพระ และใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ใช้ประดิษฐ์พานพุ่ม กลีบกุหลาบสีแดง นิยมใช้ประดับบนหน้าขนมตะโก้ หรือลอยน้ำหรือน้ำเชื่อมเพื่อให้มีกลิ่นหอม กุหลาบที่ใช้เป็นยา ได้แก่ กุหลาบหนูหรือกุหลาบแดง มีปลูกในยุโรป หรือเอเซีย ต่อมามีผู้นำไปปลูกในอินเดียและไทย กุหลาบชนิดนี้จะมีลำต้นตรง สูงประมาณ 60-90 ซม. มีกิ่งใหญ่ มีหนามแหลมและคม ใบเรียงสลับ มีขั้วใบสั้น ใบย่อยเป็นรูปไข่ ริมใบจัก ปลายใบแหลม มีดอกใหญ่และตั้งตรงเป็นดอกชั้นเดียว สีแดงจัด ดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นกุหลาบทั่วไป สรรพคุณทางยาใช้ดอกแห้งเป็นยาบำรุงธาตุ และยาสมานอ่อน ๆ แก้อาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
กุหลาบที่มีสรรพคุณทางยาอีกชนิดหนึ่ง คือ กุหลาบมอญ (Rosa damascena Mill) ซึ่งมีกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดใหญ่ ปลายงอ ตามใบมีหนาม ใบมีสีเขียวอมเทา กุหลาบมอญทางภาคใต้จะเป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ กลีบสีชมพูอ่อน เมื่อบานจะมีขนาดใหญ่และบานเพียง 2-3 ชั้น แต่กุหลาบมอญ ชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว คงพบแต่กุหลาบมอญที่มีขนาดเล็กกว่า ดอกซ้อนแน่นมากกว่า และมีสีชมพูเกือบขาว ชมพูเข้ม และแดง แต่มีลักษณะ เหมือนกัน คือกลิ่นหอมเฉพาะตัว (คล้ายกลิ่นสบู่) และใบสีเขียวอมเทา สรรพคุณทางยาของกุหลาบมอญใช้เป็นยาเย็น บำรุงหัวใจ ขับน้ำดี ทำให้ หัวใจเบิกบาน กลีบดอกเป็นยาสมาน
ส่วนกุหลาบหอมนั้นเป็นกุหลาบที่มีในอินเดียและไทย กุหลาบชนิดนี้มีลำต้นตั้งตรง มีหนามงอ ๆ ทั่วไปตามกิ่ง และก้านเป็นขน แข็งทั่วไป ทั้งลำต้น มีกลีบดอกใหญ่และซ้อนกันเป็นชั้น กลีบเลี้ยงป้อมและหนา ปลายกลีบเรียวเล็กตามริม กลีบมีขนอ่อน มีใบขนาดเล็กขึ้นแซมใบใหญ่ ดอกตั้งตรงและอ่อนโน้มลง มีสรรพคุณเป็นยาระบายอย่างอ่อน
น้ำมันกุหลาบและน้ำดอกไม้เทศ เป็นน้ำมันที่กลั่นได้จากดอกกุหลาบมอญชนิดหนึ่ง (Rosa damascena Mill) กุหลาบมอญ ชนิดมีในอินเดีย อาฟริกาตอนเหนือ และฝรั่งเศสตอนใต้ ในการกลั่นน้ำมันกุหลาบ ต้องเก็บดอกกุหลาบสด ที่ยังตูมก่อนเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึง 10.00 น. สำหรับ วันที่มีเมฆหมอกครึ้มเก็บได้ตลอดทั้งวัน กล่าวคือพยายามหลีกเลี่ยง การเก็บดอกกุหลาบเวลามีแสงแดดจัด วิธีกลั่นแบบดั้งเดิมใช้หม้อกลั่น ที่ทำ ด้วยทองแดงเหมือน เครื่องกลั่นน้ำที่มีขนาดจุ 20 แกลลอน นำดอกกุหลาบสด 10 กิโลกรัม และน้ำ 75 ลิตร ใส่ลงในหม้อกลั่นแล้วใส่ไฟให้ร้อนจัด เช่นเดียวกับการกลั่นน้ำ เมื่อกลั่นนานประมาณ 2 ชั่วโมง จะได้น้ำกลั่นครั้งแรก 10 ลิตร เก็บไว้ส่วนหนึ่ง แล้วลดความร้อนลงเล็กน้อยกลั่นต่อไปอีก จนได้น้ำกลั่น 15 ลิตร จึงหยุดกลั่นแล้วเอาดอกกุหลาบที่กลั่นในหม้อทิ้ง ส่วนน้ำที่กลั่นได้ 15 ลิตรนั้นเทลงในหม้อกลั่น แล้วเพิ่มน้ำเย็นลงในหม้อ กลั่นอีก 75 ลิตร ใส่ดอกกุหลาบสดลงไปใหม่อีกเท่าจำนวนเดิม 10 กิโลกรัม กลั่นซ้ำ ๆ กันอย่างนี้ จนได้น้ำที่กลั่นรวมกันคราวละ 10 ลิตร จนถึง 40 ลิตร แล้วให้เอาน้ำกุหลาบที่กลั่นได้ 40 ลิตรที่ใส่ลงในหม้อกลั่น และกลั่นต่อไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลั่นได้ 5 ลิตรให้เอาน้ำ 5 ลิตรนี้ใส่ขวดกลม คอยาวเก็บไว้ ส่วนที่ยังเหลืออีก 35 ลิตร ให้นำไปใช้กลั่นดอกกุหลาบสดต่อไป ส่วนน้ำกุหลาบกลั่น 5 ลิตรที่ใส่ขวดไว้นั้น เมื่ออยู่นานหลายวัน เข้าจะมีน้ำมันลอยขึ้นข้างบนเป็นฝา ซ้อนเอาน้ำมันขึ้น น้ำมันนี้เรียกว่า น้ำมันกุหลาบ ส่วนน้ำที่เหลืออยู่ในขวด ซึ่งเอาน้ำมันออกไปหมด แล้ว ใช้เป็นน้ำกุหลาบ เรียกว่า น้ำดอกไม้เทศ ซึ่งไทยเราใช้เป็น น้ำละลายยาใช้ทั่วไป น้ำดอกไม้เทศนี้มีสรรพคุณทำให้จิตใจผ่องใส ชื่นบาน แก้อาการอ่อนเพลีย ร้อนใน กระวนกระวาย
7. จันทน์เทศ Myristica fragrans Houtt
วงศ์ Myristicaceae
ชื่ออื่น จันทน์บ้าน
ชื่อสามัญ Nutmeg tree
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 5-18 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีหรือไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 4-5 ซม. ยาว 10-15 ซม. ผิวใบมัน ดอกเดี่ยว หรือช่อ 2-3 ดอกออกที่ซอกใบ ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกมีขนาดเล็กรูปคนโท สีเหลืองนวล ผลเป็นผลสด กลม แกมรีมีร่องตาม แนวยาวโตประมาณผลไข่ไก่เนื้อฉ่ำน้ำ รกหุ้มเมล็ดมีสีแดง เรียกว่าดอกจันทน์ (mace) มี 1 เมล็ด เมื่ออ่อนสีขาว เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลเปลือกแข็ง ชื่อว่าลูกจันทน์ (nutmeg) เนื้อไม้และแก่นเรียกจันทน์เทศ
ลูกจันทน์และดอกจันทน์ใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงมัสหมั่นและแกงกะหรี่ เนื้อไม้และแก่นกลั่นน้ำมัน หอม ปรุงเครื่องสำอาง ทำเทียนอบ ทำธูปหอม ทำเครื่องเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี ป้องกันมด ปลวกได้ดี ทำเกสรดอกไม้จันทน์ในงานศพ
ตำรายาไทยใช้แก่นลดไข้ บำรุงตับและปอด หัวใจ น้ำดี ลูกจันทน์หรือเมล็ดบำรุงกำลัง ขับลมจุกเสียด แก้ปวดมดลูก ขับลมในลำไส้ แท้ท้องร่วง ธาตุพิการ แก้บิดมูกเลือด ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ใช้บำรุงโลหิต
8. จำปา Michelia champaca Linn
วงศ์ Magnoliaceae
ชื่ออื่น จำปาเขา (ตรัง), จำปาทอง (นครศรีธรรมราช), จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี), จำปากอ (แหลมมาลายู)
ชื่อสามัญ OrangeChempaka, Champac, Champak, Sonchampa
จำปาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง 10-30 เมตร ลำต้นปลากลม กิ่งอ่อนเปราะและหักง่าย เรือนยอดเป็นรูปเจดีย์เมื่ออายุยังน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อน ใบคล้ายใบมะม่วง หลังใบสีเกือบขาว แผ่นใบมีขนอ่อนด้านล่าง รูปไข่หรือรูปหอก ดอกเป็นดอกเดี่ยว เรียงสลับ ดอกสี ส้มให้กลิ่นหอมแรงตั้งแต่เย็นถึงเช้า ออกดอกตลอดปี กลีบซ้อนกัน 2-3 ชั้น มีกลีบดอกประมาณ 10-15 กลีบ เป็นรูปหอกกลับ กลีบชั้นในแคบกว่า กลีบชั้นนอก ผลเป็นช่อยาวประมาณ 6-9 ซม. ประกอบด้วยผลย่อย รูปร่างกลมหรือรูปไข่ เรียงตามแกนกลาง แต่ละผลแยกจากกัน ตามผิวมีจุด สีขาวนูนขึ้นเล็กน้อย ผลเมื่อแก่จะแตกด้านเดียว เมล็ดมีเนื้อหุ้มสีแดง เมื่อลอกออกจะเป็นสีดำหรือน้ำตาลเกือบดำ
จำปาขึ้นกระจายทั่วไปในป่าดิบและป่าดิบเขาทั่วประเทศ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อค่อนข้าง หยาบแต่สม่ำเสมอ เป็นมันเลื่อม เหนียว เลื่อย ไสกบ ตบแต่งง่าย ขัดชักเงาได้ดี ผึ่งแห้งได้ง่ายและไม่เสื่อมเสีย มีความทนทานตามธรรมชาติ ตั้งแต่ 1-8 ปี คนพื้นบ้านเชื่อกันว่าปลวกและแมลงไม่ทำลายเนื้อไม้ จึงนิยมใช้ทำหีบใส่ของ ทำโลงศพชั้นดี ไม้จำปายังใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำพื้น ฝา ประตู หน้าต่าง เครื่องบน ทำเรือมาด เรือพาย เรือข้างกระดาน แจว พาย กรรเชียง เครื่องเรือน ไม้บุผนังที่สวยงาม ทำของ เด็กเล่น แกะสลัก ทำเครื่องกลึง ทำซี่ล้อและตัวถึงเกวียน สันแปรง กลอนประตู กระเบื้องไม้
ในประโยชน์ทางยานั้น ดอกจำปาแห้งใช้ปรุงยาหอมรับประทานเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิต จัดอยู่ในเกสรทั้งเจ็ด ดอกและ ลูกบำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ใบแก้โรคประสาท แก้ป่วง รากแห้ง และเปลือกหุ้มรากผสมกับนมสำหรับบ่อฝี เนื้อไม้บำรุงประจำ เดือนสตรี น้ำมันที่ได้จากดอกใช้ทาแก้ปวกศีรษะ และตาบวม เปลือกจากต้นแก้ไข้ ดอกจำปาใช้ทำอุบะในมาลัย มะลิบูชาพระหรือหุ้มไตรบวช นาค (4)
สรรพคุณยาโบราณของกรมหลวงวงศาฯ กล่าวว่าในจำปาแก้ไขอภิญญาณ ดอกทำให้เลือดเย็น เปลือกทำให้เกิดเสมหะในลำคอ (แก้คอแห้ง) กระพี้แก้พิษสำแลง (ไข้ซ้ำ) แก่นแก้กุฏฐัง ยางแก้ริดสีดวงพรวก รากขับเลือดเน่า
ในภาษาสันสกฤตโบราณ กล่าวว่า ดอกจำปามีรสขม ใช้รักษาโรคเรื้อน และหิด ฝี ดอก และเมล็ดของจำปามีรสขมเย็น แก้ไขและแก้โรค ธาตุเสีย (Dyspepsia) คลื่นเหียนวิงเวียน (Nausea) และแก้ไข นอกจากนี้แพทย์หลายคนได้กล่าวถึงสรรพคุณของจำปาไว้ต่างกัน เช่น นายแพทย์เทเลอร์ (Taylor) กล่าวว่าดอกจำปา ผสมกับน้ำมันงาใช้เป็นยาภายนอกทาหน้า แก้ลมวิงเวียนซึ่งเกิดจากกระเพาะอาหารดีมาก ส่วนนายแพทย์รัมเฟียซ (Rumphius) กล่าวว่าดอกจำปาเป็นยาขับปัสสาวะแก้โรคทางไต แก้หนองใน นายแพทย์รีด (Rheede) กล่าวว่า รากจำปา แห้งและเปลือกของรากจำปาแห้งผสมกับกากนมพอกฝีจะเรียกหนองให้ขึ้นเร็วขึ้นทำให้ระงับการอักเสบได้ น้ำมันหอมของจำปา นอกจากจะใช้ทา แก้ปวดศีรษะ แก้ตาอักเสบแล้วยังใช้แก้โรคปวดข้อ (Gout) น้ำมันของเมล็ดจำปาทาหน้าท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ (Flatulence) ในสรรพคุณยาของ อังกฤษซึ่งกล่าวถึง สมุนไพรของอินเดีย (Pharmacopia of India) กล่าวไว้ว่า เปลือกจำปาเป็นยาแก้ไข นายแพทย์คาเนลานเด ลง ความเห็นว่า เป็นยาวิเศษใช้แทน Guaiacum ได้ดีใน หนังสือพิมพ์แพทย์ ชื่อ Azetteen oforissa กล่าวว่า เปลือกจำปาเป็นยาบำรุงกำลังใจ หัวใจ ขับเสมหะ และเป็นยาสมาน ผลแมลเมล็ดจำปาแก้แผลที่เท้าแตก ส่วนรากเป็นยาถ่าย ส่วนนายแพทย์ Moodeen Sherif กล่าวว่า ดอกจำปาเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้เส้นกระตุก บำรุงธาตุ และขับลมในลำไส้ จึงทำเป็นยาดอง ยาต้ม และชงรับประทานแบบชา (จากตำราสรรพคุณยาไทยของโรงเรียนแพทย์ แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ)
9. จำปี Michelia alba Dc.
วงศ์ Magnoliaceae
ชื่อพ้อง Michelia longifolia Bl.
ชื่ออื่น จำปีบ้าน
ชื่อสามัญ White Chempaka
จำปีเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดเป็นรูปเจดีย์สูง 10-15 เมตร อาจสูงถึง 20 เมตร ถ้าปลูกในที่ชุ่มชื้นจะสูงใหญ่ทรงพุ่มแผ่กว้าง กิ่งแขนงหรือก้านอ่อนเปราะ หักง่ายใบเป็นใบเดียว เรียงสลับเวียน ใบรูปรีปลายเรียวแหลมเกลี้ยง ดอกเป็นดอกเดียว สีขาวออกตามซอกกิ่ง ดอกซ้อนกัน 2-3 ชั้น มี 8-12 กลีบ ออกดอกตลอดปี ดอกมีกลิ่นหอม ตอนเย็นไปจนถึงเช้าแล้วจึงโรย ออกดอกสม่ำเสมอตลอดปี ดอกให้ กลิ่นหอมไกลกว่าดอกจำปา กลิ่นหอมจัดเวลาเย็นจวนใกล้ค่ำ ลักษณะดอกคล้ายจำปา แต่กลีบเล็กกว่าและแข็งกว่าขึ้นได้ดีทั่วประเทศไทย เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตง่ายกว่าจำปา ไม่เลือกดิน ขยายพันธุ์โดยการตอน ยังไม่ปรากฎว่าจำปีติดผลในประเทศไทย
ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกใช้ทำอุบะ ห้อยชายพวงมาลัย และใช้บูชาพระ ดอกมีรสขมเย็น กลิ่นหอม ปรุงเป็นยาแก้ไข แก้ลม บำรุงหัวใจ (4)
10. จำปีสีนวล Michelia champaca x M. Alba
วงศ์ Magnoliaceae
เป็นลูกผสมระหว่างจำปีและจำปา ทรงพุ่มและเรือนยอดมีลักษณะคล้ายจำปี ใบมีลักษณะคล้ายจำปี แต่สีนวลกว่า ใบจำปีจะมีสีเขียวเข้มกว่า ลักษณะการเจริญ เติบโตค่อนข้างไปทาง จำปีแต่สีดอกจะมีสีเหลือง และกลีบดอกอ่อน และขนาดกว้างคล้าย จำปา ปลูกเป็นไม้ประดับ และใช้ ดอกบูชาพระ ร้อยอุบะ ยังมีไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากเป็น ลูกผสมที่เกิดใหม่จึงไม่มีการใช้เป็นยาพื้นบ้าน