โปรไบโอติก

มหัศจรรย์โปรไบโอติก

อาหาร “โปรไบโอติก” (Probiotics) หรือที่ถูกต้องเรียกเต็มๆ ว่า อาหารที่มีจุลินทรีย์กลุ่มโปรไบโอติกดำรงอยู่ มีความสำคัญต่อสุขภาพ ของคนเรามากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากมายนัก สมควรที่จะรับประทานทุกๆ วันร่วมกับผักสด และผลไม้ นี่คือ หนึ่งในบทเสนอของผมในข้อเขียนชุดนี้เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ได้ด้วย หากพวกเรามีความเห็นพ้องร่วมกันว่า “ยา” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาสุขภาพ แต่ “อาหาร” ต่างหากคือ ปัจจัยพื้นฐานของการมีสุขภาพแข็งแรง

คำว่า “โปรไบโอติก” นี้มาจากภาษากรีก โดยมีความหมายว่า “สิ่งมีชีวิตที่ส่งเสริมการมีชีวิต” คำว่า โปรไบโอติกนี้ ในความหมายกว้างหมายถึง จุลินทรีย์ทุกชนิดที่เป็นมิตรต่อสุขภาพที่มักพบอยู่ภายในร่างกายขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกมันจะอยู่ในระบบย่อย และระบบทางเดินอาหาร และในอาหารหมักบ่ม อาทิ โยเกิร์ต เนยแข็ง และผักดองบางชนิด

กลุ่มประชากรโปรไบโอติกที่มาอาศัยสิงสู่อยู่ในระบบย่อย และระบบทางเดินอาหารของคนเรานั้น มีทั้งพวกที่อยู่แบบถาวร และพวกที่เข้าไป ท่องเที่ยวเป็นครั้งคราวโดยอาศัยเดินทางมากับอาหารหรือการบริโภคโดยตั้งใจ ปัญหาก็คือ มนุษย์ปัจจุบันมีจำนวนประชากรของพวกโปรไบโอติกน้อยเกินไป หรือน้อยกว่าจำนวนที่ควรจะมีซึ่งจะเอื้อให้พวกมันมีความสามารถทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิผล สิ่งนี้เปิดโอกาสให้เจ้าแบคทีเรียอื่นๆ ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับเราสามารถขยายจำนวนประชากรขึ้นมาก จนทำลายความสมดุลของชุมชนแบคทีเรียในร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะในการทำงานของระบบย่อยอาหาร

ในความเป็นจริง ผลกระทบจากการขาดแคลนโปรไบโอติก ในร่างกายของคนสมัยนี้กว้างไกลกว่าที่เคยคิดไว้มาก เพราะการแพทย์ยุคศตวรรษที่ 21 ได้ค้นพบแล้วว่า โปรไบโอติกมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของมนุษย์ อันที่จริงแล้ว พวกมันจะคอยส่งสัญญาณให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อให้ลดการตอบโต้ในเชิงทำลาย รวมถึงการก่อปฏิกิริยาที่จะนำไปสู่อาการอักเสบของเนื้อเยื่อ กล่าวโดยสรุปก็คือ การมีโปรไบโอติกในร่างกายน้อยเกินไป จะก่อผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง และนั่นย่อมหมายถึงการส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในทุกๆ ด้าน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าร่างกายของคนสมัยนี้ มักจะมีจำนวนโปรไบโอติกไม่เพียงพอ แต่ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยาก โดยแค่เพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารสุขภาพ หรืออาจรวมทั้งอาหารเสริม โดยพิจารณาคัดเลือกให้ถี่ถ้วนเท่านั้น ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจบทบาทของโปรไบโอติกให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นกันดีกว่า

โปรไบโอติกทำหน้าที่ปกป้องเราอยู่สองด้าน ด้านหนึ่งมันจะต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายในระบบทางเดินอาหารของเรา หรือที่ “ลำไส้” เป็นส่วนใหญ่ แต่มันไม่ได้ “ฆ่า” จุลินทรีย์พวกนั้นทั้งหมด อันที่จริงแล้วโปรไบโอติกแค่ไปทำให้จำนวนประชากรของจุลินทรีย์โดยรวมมีน้อยลงมาก จนกระทั่งไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ หรือเกิดโรคภัยต่างๆ ได้

ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทของโปรไบโอติก คือ การช่วยระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างเหมาะสม ระบบภูมิคุ้มกันของคนเรานั้น ทำงานคล้ายกับกองกำลังตำรวจที่คอยปกป้องเราจากเชื้อโรคร้าย แต่ทว่าบางทีมันก็ทำเกินกว่าเหตุ และก่อให้เกิดโรคแทนที่จะรักษา กล่าวคือ ระบบภูมิคุ้มกันที่ไวต่อการกระตุ้นเกินไป ก็จะปลดปล่อยสารที่เป็นเสมือนอาวุธต่อต้านออกไป ยังสิ่งที่ไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย เช่น ฝุ่น ขนแมว ไข่ ถั่วลิสง ผลก็คือมันก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ปฏิกิริยาเหล่านี้ มักจะไม่ค่อยน่ารื่นรมย์สำหรับผู้ที่เกิดอาการ และในหลายๆ ครั้งก็อาจมีระดับรุนแรงถึงขั้นคุกคามชีวิตได้ทีเดียว ในบางกรณี ระบบภูมิคุ้มกันที่ไร้ขอบเขตนี้ ก็อาจหันมาเล่นงานเซลล์ในร่างกายของเราเองด้วยซ้ำ ก่อให้เกิดโรคที่เป็นขึ้นเองจากการมีภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติ อาทิ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคข้อรูมาตอยด์ เหล่านี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจึงควรเพิ่มจำนวนประชากรโปรไบโอติกภายในลำไส้ของเรา โดยการบริโภคอาหารและอาหารเสริมที่มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ผสมอยู่ แต่เราก็จะต้องจัดที่อยู่ที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตให้แก่พวกมันด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ คำกล่าวที่เป็นที่รู้จักกันดีที่บอกว่า “เราเป็นอย่างที่เรากิน” นั้น ควรจะต้องกล่าวเสริมเพิ่มเติมไปอีกด้วยว่า “สภาพแวดล้อมภายในลำไส้ของเรา ก็เป็นไปตามสิ่งที่เรารับประทานเข้าไปด้วยเช่นกัน”

พวกเราจะต้องตระหนักให้มากกว่านี้ว่า อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ฝ่ายร้ายในลำไส้ที่ทำอันตรายต่อสุขภาพของเรา ในขณะที่อาหารบางประเภทที่เรียกว่า “พรีไบโอติก” จะส่งเสริมความเข้มแข็งของโปรไบโอติกในลำไส้ของเรา พรีไบโอติกหมายถึงอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีเส้นใยอาหารประเภทต่างๆ รวมทั้งยังมีโปรตีนและไขมันซึ่งมีบทบาทช่วยจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพให้ขยายพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้นในร่างกายของเรา มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่บัญชีรายชื่ออาหารพรีไบโอติกนั้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อันเปี่ยมไปด้วยใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระอยู่แล้ว เช่น ผักสด ผลไม้สด และเมล็ดธัญพืชไม่ขัดขาว เพียงแต่เมื่อมองอาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้ จากมุมมองของโปรไบโอติก เราจะเรียกอาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้ว่า อาหารพรีไบโอติก เท่านั้นเอง

เพียงแต่ ในมุมมองของการแพทย์เชิงโภชนบำบัดแห่งศตวรรษ 21 ทั้งโปรไบโอติก และพรีไบโอติก ไม่ควรเป็นแค่เมนูเสริมสำหรับทางเลือกเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่ควรยกฐานะของมันให้เป็นกลุ่มอาหารที่จำเป็นต่อชีวิตเรากลุ่มหนึ่งที่ควรจะรับประทานทุกวันมิให้ขาดเลยทีเดียว

เพราะทั้งโปรไบโอติก และพรีไบโอติกไม่เพียงแต่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของเราเท่านั้น แต่มันยังมีความจำเป็นต่อการมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์เป็นปกติด้วย นายแพทย์แกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล (Gary Huffnagle) ผู้เขียนหนังสือ “โปรไบโอติก มหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” (The Probiotics Revolution) (สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2553) กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีหลักฐานใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่า โปรไบโอติกสามารถป้องกัน และรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังได้

ผลการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบข้อยืนยันว่า โปรไบโอติกช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อหรืออย่างน้อยก็ช่วยเร่งระยะเวลาในการฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วย โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ อีกด้วย ศักยภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่งของโปรไบโอติก คือ คุณประโยชน์ในด้านการช่วยผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการป่วยเป็นโรคเรื้อรัง การวิจัยเรื่องโปรไบโอติกทำให้นักวิชาการได้ค้นพบความเกี่ยวข้องระหว่างวิชาการสาขาจุลชีววิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา โภชนาการ และสรีรศาสตร์อย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ตัวอย่างการค้นพบข้างต้นนี้ได้แก่

(1) การย่อยอาหารผิดปกติ (ท้องร่วง, โรคลำไส้อักเสบ, การขับถ่ายผิดปกติเรื้อรัง และอื่นๆ) ปัจจุบันโปรไบโอติกถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีระบบขับถ่ายไม่ปกติ รวมถึงปัญหาการย่อยอาหารอื่นๆ โดยทั่วไป การทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน คือ สาเหตุของการมีปัญหาอาหารไม่ย่อยเรื้อรัง ซึ่งก่อให้เกิดอาการบวมอักเสบของลำไส้ เพราะระบบภูมิคุ้มกันดันไปสร้างปฏิกิริยาต่อต้านจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในลำไส้ตามปกติ โดยสำคัญผิดคิดว่าเป็นศัตรูผู้รุกราน ปฏิกิริยาตอบสนองแบบนี้ทำให้เกิดการอักเสบ และมีแผลเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อในบริเวณนั้น แต่โปรไบโอติกมีศักยภาพที่จะบำบัดอาการเหล่านี้ได้

(2) อาการแพ้ผื่นตามผิวหนัง หอบหืด และอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เราสามารถใช้โปรไบโอติกควบคุมปัญหาเหล่านี้ได้

(3) โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคมะเร็งและอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบัน วิธีแก้ปัญหาโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือดได้เปลี่ยนจุดสนใจจากคอเลสเตอรอลไปยังการเกิดอาการบวมอักเสบในเนื้อเยื่อของหลอดเลือด ทำให้บทบาทของโปรไบโอติกเป็นที่จับตา ขณะเดียวกัน การขาดโปรไบโอติกก็น่าจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ้วน หรือเป็นโรคอ้วนด้วย

นอกจากนี้ บทบาทของโปรไบโอติกน่าจะมีความสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย ไม่เพียงแค่นั้น อาหารเสริมที่มีโปรไบโอติก ยังช่วยให้ผู้ป่วยเด็กที่เป็น โรคออทิสติก อันเป็นสภาวะที่เกี่ยวกับการขาดความสามารถในการสื่อสาร และการเข้าสังคม รวมถึงการมีพฤติกรรมไม่ปกติต่างๆ ให้มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด...เรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของโปรไบโอติกที่ควรกล่าวถึงยังมีอีกมาก

การปฏิวัติโปรไบโอติก

หากการค้นพบ ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อโรค เป็นการปฏิวัติทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 20 บางที การค้นพบบทบาทของจุลินทรีย์หรือโปรไบโอติกที่อยู่ในตัวเราว่า สามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันและควบคุมอาการป่วย และโรคเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค อาจเป็นการปฏิวัติทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่านับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา ผู้คนเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากเชื้อโรคน้อยลง มีการค้นพบโรคใหม่ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค เช่น โรคหอบหืดอันเป็นโรคยอดนิยมมาตลอด 4 ทศวรรษ ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใดๆ

การศึกษาบทบาทของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนเรา เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า ชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าปราศจากจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ แล้วทำการทดลองสมมติฐานนี้กับหนู โดยการให้ยาปฏิชีวนะแก่หนูตัวแม่ท้องแก่ และผ่าท้องทำคลอดเจ้าหนูตัวน้อยๆ เหล่านั้นออกมา เจ้าหนูตัวน้อยเหล่านี้จะถูกเลี้ยงในสถานที่ปลอดเชื้อ ได้กินอาหารและน้ำที่สะอาดปลอดเชื้ออย่างสิ้นเชิง แม้แต่อากาศที่มันหายใจเข้าไปก็ถูกฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้วด้วย ผลลัพธ์ก็คือ พวกมันไม่มีจุลินทรีย์ใดๆ ที่ควรมีอยู่ในธรรมชาติ ในลำไส้เหมือนที่หนูปกติทั่วไปมี และหนูรุ่นต่อๆ ไปก็เกิดมาในลักษณะเดียวกัน

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบก็คือว่า แทนที่เจ้าหนูปราศจากเชื้อจุลินทรีย์อย่างสิ้นเชิงเหล่านี้ จะเป็นสัตว์ที่แข็งแรงมีสุขภาพพลานามัยดีเยี่ยม ตรงกันข้ามพวกมันกลับติดเชื้อได้ง่ายดายอย่างเหลือเชื่อ เมื่อสัมผัสกับเชื้อโรคและเกิดการเจ็บป่วยอย่างไม่ปกติธรรมดา เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของพวกมันไม่สามารถทำงานตามปกติที่ควรจะเป็นได้

จึงเห็นได้ว่า บทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนเรา มีความสำคัญในฐานะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการมีสุขภาพพลานามัยของเราทีเดียว จุลินทรีย์เหล่านี้ ต้องถือว่าเป็นเสมือนส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของร่างกายมนุษย์ ไม่ต่างจากอวัยวะชิ้นหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบและความสำคัญที่มันมีต่ออวัยวะหลักอื่นๆ อาทิ หัวใจ ไต ปอด เพราะภาระหน้าที่ของจุลินทรีย์เหล่านี้คือการช่วยทำให้เราสามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขท่ามกลางจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายที่เราต้องพบ และสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้นถ้าพวกโปรไบโอติกเหล่านี้ ไม่สามารถทำงานอย่างที่ควรจะเป็นได้แล้ว ก็จะส่งผลให้เราสูญเสียความสามารถในการรักษาสุขภาพพลานามัยที่ดีไว้ได้

ความรู้ใหม่เกี่ยวกับโปรไบโอติกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการยืนยันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และความสามารถในการระบุชื่อจุลินทรีย์ และการทำงานเฉพาะเจาะจงของพวกมันแต่ละตัวได้อย่างแม่นยำในสิ่งที่ การแพทย์จีนโบราณได้ค้นพบมาก่อนล่วงหน้าเป็นพันปีแล้วว่า ในช่องท้องของคนเรา มิได้เป็นเพียงศูนย์รวมอวัยวะย่อยอาหารเท่านั้น แต่มันคือศูนย์กลางของชีวิต และสุขภาพของคนเราด้วย

เมื่อการแพทย์ยุคปัจจุบันเข้าใจธรรมชาติของพวกโปรไบโอติกอย่างถ่องแท้ว่า ทำไมมันทำได้อย่างนั้น ซึ่งจะนำมาเป็นหลักในการประยุกต์ใช้เพื่อการบำบัดรักษาโรคได้อย่างกว้างขวางต่อไป สิ่งที่เป็นการปฏิวัติความรู้จริงๆ ก็คือ การใช้โปรไบโอติกเหล่านี้ในฐานะเป็นวิถีทางที่ปลอดภัย และเป็นสารธรรมชาติที่อาจจะสามารถนำไปช่วยคลี่คลายสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาสร้างความงุนงงสงสัยเกี่ยวกับสภาวะของโรคต่างๆ ที่เรายังคงหาคำตอบไม่ได้

นายแพทย์แกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล ผู้เขียนหนังสือ “โปรไบโอติกมหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” (สำนักพิมพ์มติชน, 2553) ได้เล่าว่าในตอนเด็กเขามีอาการหอบหืดและภูมิแพ้ อาการหอบหืดนี้จู่โจมมาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า มันมักจะมาในเวลากลางคืน เขาต้องตื่นขึ้นทันทีทันใด และพยายามที่จะหายใจ เขารู้สึกราวกับว่ากำลังหายใจผ่านรูของหลอดเล็กๆ ซึ่งไม่ว่า เขาจะพยายามหายใจแรงขึ้นเท่าไหร่ ก็ไม่ทำให้เขารู้สึกได้ว่าได้สูดอากาศเข้าไปอย่างเพียงพอเสียที

อาการภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ ของเขามีสาเหตุมาจากละอองเกสรจากหญ้าแร็กวีด สปอร์ของเชื้อรา ฝุ่นและสิ่งสามัญอื่นๆ อีกมากมันเลวร้ายเหลือเกิน เพราะมันคอยรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติในวัยเด็กของเขาเพราะแทนที่เขาจะได้ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ทุกวันหลังโรงเรียนเลิก เขากลับต้องไปหาหมอเพื่อรับการฉีดยาแก้ภูมิแพ้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคมในห้องปรับอากาศเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับละอองเกสรในช่วงฤดูร้อนที่บ้านเกิดของเขาที่เพนซิลเวเนีย

ภูมิแพ้และหอบหืดยังทำลายความฝันในวัยเด็กของเขาที่อยากเป็นนักเบสบอล แต่มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสนใจศึกษาวิจัยค้นคว้าทางการแพทย์เมื่อเขาโตขึ้น สำหรับเขาแล้ว “จุลชีววิทยา” เปรียบได้กับ “อวกาศ” อันเป็นดินแดนที่ยังไม่ค่อยมีคนสำรวจและรู้จักอย่างถ่องแท้ทั่วถึง

เขาศึกษาจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนท์สเตต และศึกษาต่อด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากโรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เวสเทิร์นในรัฐเทกซัส ในช่วงทศวรรษ 1980 ตอนนั้น เขาได้เรียนรู้ว่า หน้าที่หลักของระบบภูมิคุ้มกันคือการทำลายเชื้อโรค แต่ไม่มีใครพูดถึงโปรไบโอติกในช่วงนั้นเลย

อย่างไรก็ดี เขาได้อ่านเรื่องราวของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จากบทความอัตชีวประวัติของผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาผู้ชนะเลิศรางวัลโนเบลชื่อ อิลยา เม็คนิคอฟ (Ilya Mechnikov) ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 อิลยา หันไปสนใจศึกษาเรื่องสุขภาพและการมีอายุยืนยาว โดยอิลยาได้รับการกระตุ้นจาก ข้อมูลสถิติอายุเฉลี่ยอันยืนยาวผิดปกติกว่าชาวยุโรปอื่นๆ ของชาวนาบัลแกเรียผู้ยากไร้ และอยู่ในถิ่นทุรกันดาร

อิลยา พบว่า โภชนาการของชาวนาบัลแกเรีย อุดมไปด้วยการกินของที่ได้จากการหมักบ่มด้วยเชื้อจุลินทรีย์ รวมถึงโยเกิร์ตด้วย อิลยาได้ทำการเพาะเชื้อและแยกแบคทีเรียที่ใช้ในการหมักบ่มอาหารเหล่านี้ออกมา พร้อมทั้งชื่อให้ว่า “แล็กโตบาซิลลัส บัลการิคัส” (Lactobacillus bulgaricus) ซึ่งอิลยาเชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักในการมีอายุยืนยาวของชาวบัลแกเรียกลุ่มนี้ และทำนายต่อไปด้วยว่า คุณประโยชน์ของแบคทีเรียพวกนี้ต้องสำคัญมากต่อสุขภาพของมนุษย์ในการรักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า 80 ปีหลังจากนั้น ไม่ได้มีการศึกษาสำรวจสมมติฐานของอิลยา เม็คนิคอฟข้างต้นเลยทำให้เกิดการหยุดชะงักในการศึกษาระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ จนกระทั่งย่างเข้าสู่ทศวรรษ 1980 จึงได้มีการค้นพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันของคนเรา ไม่เพียงป้องกันเราจากโรคต่างๆ แต่ยังอาจกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอย่างโรคภูมิแพ้ได้ด้วย

นักวิจัยได้ค้นพบแล้วว่า อาการภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แต่มันมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมต่างหาก เพราะแทนที่มันจะปฏิบัติต่อละอองเกสรดอกไม้หรือสปอร์เชื้อรา ในฐานะสิ่งที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย มันกลับแสดงท่าทีราวกับว่า พวกนี้คือภัยร้ายคุกคามชีวิต และต้องถูกกำจัดออกไปโดยการบีบหดช่องทางเดินหายใจเพื่อป้องกันการผ่านเข้ามาของสิ่งเหล่านี้แล้วก็ระดมเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวมาต่อสู้กับ “ผู้รุกราน” ผลก็คือต่อมน้ำตาจะหลั่งน้ำตาออกมาเพื่อขับไล่ “ศัตรู” มีกลไกไปกระตุ้นหลอดลมให้เกิดการไอเพื่อ “ขับ” สิ่งแปลกปลอมออกมา อาการเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุจำเป็น แถมยังก่อความไม่สบายตัวอย่างมากสำหรับมนุษย์

นายแพทย์แกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล ผู้เขียนหนังสือ “โปรไบโอติกมหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” ได้ใช้เวลากว่า 20 ปี เพื่อศึกษาระบบภูมิคุ้มกัน แต่ผลวิจัยข้างต้นทำให้ตัวเขาต้องทบทวนองค์ความรู้ที่เขาเคยเรียนมาเสียใหม่ และทำให้ตัวเขาหันไปสนใจแนวคิดของ อิลยา เม็คนิคอฟ มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมันเห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นแล้วว่า หน้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันนั้น ไม่ใช่การทำลายเชื้อโรคอย่างที่เราเคยเข้าใจ แต่เป้าหมายของระบบภูมิคุ้มกันคือการอยู่ร่วมกับจุลินทรีย์ที่ห้อมล้อมเรา โดยยอมรับพวกที่ไม่ก่ออันตรายกับเรา และเลือกทำลายเฉพาะพวกที่มีความเสี่ยงที่จะก่อปัญหา

นายแพทย์แกรี่ ยังได้ทดลองใช้โปรไบโอติกมาแก้ปัญหาสุขภาพที่มีอาการโรคหอบหืด และภูมิแพ้มาตั้งแต่เด็กของตัวเขาเอง โดยเขาเปลี่ยนมากินโยเกิร์ตทุกวัน เพิ่มปริมาณบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ดไม่ขัดขาว กินผัก ผลไม้สด และเพิ่มเครื่องเทศ รวมถึงอาหารเสริมโปรไบโอติกลงในเมนูอาหารแต่ละวันของเขา ภายในเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น อาการภูมิแพ้รุนแรงที่ดำเนินมาเป็นสิบๆ ปีของเขาก็หายไป บัดนี้อาการภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ และอาการหอบหืดไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเขาอีกต่อไปแล้ว ต่อไปเราควรมาทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของโปรไบโอติกกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อตระหนักว่า โปรไบโอติกสามารถช่วยป้องกันและบำบัดโรคร้ายแรงต่างๆ ได้อย่างไร

โลกจุลินทรีย์ในตัวเรา

ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์เกือบ 10 ล้านล้านเซลล์ โดยที่ร่างกายของคนเราแต่ละคนยังเป็นเจ้าบ้านให้จุลินทรีย์จำนวน 100 ล้านล้านตัวพำนักอยู่ จุลินทรีย์ในตัวเราจึงมีจำนวนมากกว่าเซลล์ของเราเองถึง 10 เท่า แต่ขนาดของเซลล์จุลินทรีย์เล็กกว่าขนาดของเซลล์มนุษย์ราวๆ 20 เท่า ถ้าหากเราสกัดจุลินทรีย์จำนวนล้านล้านตัวที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราออกมา เราจะได้ก้อนเหนียวสีครีมกว่า 1 ควอร์ต พวกจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ส่วนประกอบที่ไม่สลักสำคัญในร่างกายเรา เพราะเมื่อรวมเข้าด้วยกันมันจะหนักเกือบ 3 ปอนด์ ซึ่งมากกว่าน้ำหนักของไต 2 ข้าง (หนักประมาณ 2/3 ปอนด์) ตับอ่อน (น้อยกว่า ¼ ปอนด์) และหัวใจ (ประมาณ ½ ปอนด์) รวมกันเสียอีก

โดยรวมจุลินทรีย์ที่อยู่ในตัวเราเรียกกันว่า ไมโครฟลอร่า (Microflora) หรือ ไมโครไบโอต้า (Microbiota) เกือบร้อยละ 80 ของพวกมัน รวมถึงทั้งหมดของพวกที่มีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันอยู่ภายในลำไส้ ที่เหลืออาศัยอยู่ที่อื่นๆ ทั้งในระบบทางเดินอาหาร บนผิวหนัง ในปอด ตลอดจนในท่อรังไข่ (ของสตรี) ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก หัวใจ ไต รวมถึงอวัยวะภายในอื่นๆ ปกติจะไม่มีจุลินทรีย์ ยกเว้นในกรณีติดเชื้อ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักแล้วว่า จุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ได้เป็น “ขาจร” ที่บังเอิญเข้ามาสู่ในตัวเรา แต่พวกมันร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นต่อสุขภาพของเราเป็นอย่างยิ่ง

โปรไบโอติกอาศัยอยู่ในตัวเราท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และมีการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น มันจึงต้องการการสนับสนุนเกื้อกูลจากเรา โดยที่เราสามารถใส่โปรไบโอติกเพิ่มเติมเข้าไปในตัวเราได้ง่ายๆ เพียงแค่กลืนกินอาหาร หรืออาหารเสริมที่มีพวกมันเข้าไป นอกจากนี้ เรายังสามารถเลี้ยงดูโปรไบโอติกในตัวเราได้ด้วยการกิน “พรีไบโอติก” ซึ่งเป็นอาหารที่เลี้ยงดูจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ ในการปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการมีสุขภาพดีด้วยความสมดุลของจุลินทรีย์ ซึ่งเหมาะสมสำหรับเรา

กว่าร้อยละ 99 ของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในสำไล้ของเราคือ กลุ่มแบคทีเรียซึ่งมีความหลากหลายมากมีอยู่ 500-1,000 สายพันธุ์ ส่วน ที่เหลือเป็นกลุ่มยีสต์และพยาธิ คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าแบคทีเรียทุกชนิดเป็นเชื้อโรคอันตราย แต่ความจริงแล้วมีแบคทีเรียเพียงไม่กี่ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรียที่ชื่อ เอสเซอริเจีย โคไล (Escherichia coli) ที่รู้จักกันดีในชื่อ อี. โคไล (E. coli) นั้น สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นเป็นเท่าตัวได้ภายในเวลาสั้นๆ ราว 20 นาทีเท่านั้น นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมต้องเอาเนื้อดิบซึ่งอาจมีอี.โคไลที่เป็นอันตรายแช่ไว้ ในตู้เย็น เพราะถ้าปล่อยไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของพวกมัน มากกว่า จุลินทรีย์เหล่านี้ก็จะสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงระดับที่ทำให้ เกิดอาหารเป็นพิษได้

นอกจากแบคทีเรียแล้ว จุลินทรีย์ที่เหลือในลำไส้เราเกือบทั้งหมดคือ ยีสต์ (yeast) ยีสต์คือ เชื้อราชนิดหนึ่ง แต่ละตัวประกอบด้วยเซลล์รูปไข่เซลล์เดียวซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเซลล์แบคทีเรีย อื่นๆ แต่เล็กกว่าเซลล์ร่างกายมนุษย์ ยีสต์ตัวสำคัญในกลุ่มไมโครฟลอร่าของมนุษย์คือ แคนดิด้า อัลบิคันส์ ถ้าจำนวนของมันถูกควบคุมให้ต่ำโดยการแข่งขันกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ มันก็ไม่มีพิษภัย แต่ถ้ามันเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยหลายชนิด รวมถึงท้องร่วง การติดเชื้อยีสต์ในช่องคลอด และโรคปากนกกระจอก หรือการติดเชื้อในปาก ซึ่งมักพบในทารกและผู้รับประทานยาปฏิชีวนะ

ท้ายสุด แม้แต่คนสุขภาพดีที่สุดก็ยังเป็นเจ้าบ้านให้แก่ พยาธิ (Parasites) 2-3 ชนิด พยาธิเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาเราสำหรับอาหาร และที่อยู่แต่ไม่ได้ให้อะไรตอบแทนกลับมา อย่างดีที่สุดก็คือ ไม่ทำอันตราย แต่พยาธิอาจเป็นสาเหตุสำคัญของโรค โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร ยกตัวอย่างเช่น พวกพยาธิตัวแบน หรือกิอาร์เดีย (Giardia) ซึ่งเป็นพยาธิที่พบตามทะเลสาบและห้วยน้ำลำธาร ซึ่งพวกนักเดินป่าหวาดผวา หรือคริปโตสโพริเดียม (Cryptosporidium) ซึ่งเป็นพยาธิที่ทำให้ท้องร่วง ขาดน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจทำให้ตายได้

สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือ ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างเรากับจุลินทรีย์ (หรือไมโครฟลอร่า) ภายในร่างกายของเราโดยทั่วไป ไมโครฟลอร่าให้บริการที่สำคัญต่อสุขภาพแก่เรา เป็นการแลกเปลี่ยนที่เราเอื้อเฟื้อที่อยู่ที่กินให้ บางชนิดให้คุณประโยชน์ล้วนๆ ไม่มีโทษใดๆ เลย บางชนิดปราศจากประโยชน์ใดๆ และยังอาจทำให้เกิดโรคได้ด้วย ถ้าจำนวนของมันเพิ่มขึ้นสูงเกินไป แต่การมีจุลินทรีย์จำนวนมากๆ บางครั้งก็ดีต่อสุขภาพ และบางครั้งก็เลวต่อสุขภาพของเรา ขึ้นอยู่กับขนาดของประชากรจุลินทรีย์และบริเวณที่มันอาศัยอยู่

คนที่มีสุขภาพดีจะมีจำนวนจุลินทรีย์โปรไบโอติกในระดับสูง และยิ่งมีมากยิ่งดี เพราะจุลินทรีย์โปรไบโอติกจะปกป้องเราด้วยการแข่งขันกับจุลินทรีย์ที่เป็น อันตราย และช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในบรรดาจุลินทรีย์โปรไบโอติกในไมโครฟลอร่ามีอยู่ 2 ชนิดที่มีจำนวนมากที่สุด และเรารู้จักมากที่สุดคือ (ก) กลุ่มแล็กโตบาซิลลัส เป็นแบคทีเรียที่พบในผลิตภัณฑ์หมักบ่มจากนมเช่น โยเกิร์ต (ข) กลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ซึ่งพบในโยเกิร์ตด้วยเช่นกัน ร่างกายของเราเป็นเจ้าบ้านให้แก่แล็กโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียมหลายสายพันธุ์ โปรไบโอติกบางชนิดไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของไมโครฟลอร่า เพราะปกติไม่ได้อาศัยถาวรในร่างกายของเรา แต่ถ้ามันเกิดผ่านเข้าไปในระบบทางเดินอาหารก็สามารถส่งผลที่เป็นคุณต่อ สุขภาพได้

สำหรับจุลินทรีย์อื่นๆ ที่เป็น “ผู้ร้าย” นับเป็นชนส่วนน้อยของไมโครฟลอร่า แต่เราก็ไม่อาจหลีกหนีพวกมันได้พ้น หากประชากรของพวกมันถูกควบคุมไว้ด้วยจุลินทรีย์อื่นๆ ก็จะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าจำนวนของพวกมันเพิ่มขึ้นมากเกินไป ก็อาจเป็นต้นเหตุของโรคได้ และอาจกระทบกระเทือนต่อการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกันได้ ตัวอย่างจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายที่เรารู้จักกันดีได้แก่

(ก) แคนดิด้า อัลบิคันส์ เป็นยีสต์ที่ก่อให้เกิดอาการติดเชื้อยีสต์ในช่องคลอด

(ข) คลอสตริเดียม ดิฟฟีไซล์ เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง

(ค) ซูโดโมแนส แอรุกิโนสา เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม

ภายในร่างกายของเราประกอบด้วยพื้นที่ซึ่งมีเส้นเลือด และอวัยวะภายในต่างๆ ได้แก่ ตับ ไต สมอง หัวใจ และอื่นๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปลอดจากจุลินทรีย์ อย่างน้อยก็ในยามที่เรามีสุขภาพแข็งแรง ส่วนภายนอกร่างกายนั้นรวมเอาผิวหนังเข้าไปด้วย แต่ในทางการแพทย์จะรวมเอาปอดทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึง “ท่อ” (tube) ซึ่งทอดยาวตลอดจนถึงส่วนกลางลำตัวเข้าเป็น “ภายนอก” ด้วยเพราะต้องสัมผัสกับโลกรอบตัวอยู่ตลอดเวลา

“ท่อ” เหล่านี้ประกอบด้วยจมูก โพรงจมูก ทางเดินหายใจส่วนบน ปอด ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กและใหญ่ ทวารหนัก และรูทวารหนัก การที่ “ท่อ” เหล่านี้ต้องสัมผัสกับโลกรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ผ่านเข้าไปในร่างกายทางอาหารที่เรารับประทานของเหลวที่ เราดื่ม และอากาศที่เราหายใจเข้าไป จุลินทรีย์บางชนิดก็เข้าไปอยู่อาศัยแบบถาวรใน “ท่อ” เหล่านี้ ส่วนมากจะอยู่ในระบบทางเดินอาหาร และกลายเป็นส่วนหนึ่งของไมโครฟลอร่าของเรา

การสัมผัสกับโลกภายนอก สร้างความเปราะบางแก่ “ท่อ” แต่ ผิวหน้าของ “ท่อ” มีกลไกปกป้องที่สำคัญ คือ เมือก เยื่อบุผิวหน้าของ “ท่อ” ทำจากเยื่อบุเมือก เมื่อจุลินทรีย์จากโลกภายนอกร่อนตกลงบน “ท่อ” ระบบภูมิคุ้มกันของเราก็จะทำการตีตราลงทะเบียนพวกมันก่อนว่าเป็นมิตรหรือ ศัตรู

ถ้าเป็นมิตรระบบภูมิคุ้มกันก็พัฒนาให้เกิดความทนทานที่จะยอมรับ จุลินทรีย์นั้นๆ ให้อยู่ร่วมกับเราได้ แต่ในทางกลับกัน หากถือว่าเป็นศัตรูแล้ว จุลินทรีย์จะถูกดักจับไว้ด้วยเมือกเหนียวๆ นี้ และจะถูกขับออกมาจากร่างกาย ถ้าเมือกนี้อยู่ในระบบทางเดินหายใจ มันก็อาจออกมาทางจมูกและปาก แต่ส่วนมากจะถูกพาลงไปถึงระบบทางเดินอาหาร และถูกขับออกจากร่างกายทางทวารหนัก เพราะฉะนั้น ทุกๆ สิ่งที่เราหายใจเข้าไป เรากลืนมันลงไปด้วย สิ่งนี้จึงอธิบายได้ว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ และอนุภาคอื่นๆ ที่ติดมากับอากาศที่เราหายใจเข้าไปนั้น มันไปเกี่ยวโยงกับระบบทางเดินอาหารได้อย่างไร เนื่องจาก ทางเดินอาหารของเราต้องสัมผัสกับทุกๆ สิ่งที่เราหายใจเข้าไป นั่นเอง

เมื่อจุลินทรีย์ถูกพาลงไปถึงระบบทางเดินอาหาร ซิเลีย (cilia) ซึ่งเป็นกลไกปกป้องคล้ายบนเส้นเล็กๆ จากเซลล์ในทางเดินหายใจ จะทำหน้าที่คล้ายไม้กวาด โดยกวาดพาเมือกที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์เข้าไปในปากโดยไม่รู้ตัว เราจะกลืนพวกมันลงไปโดยอัตโนมัติหลายๆ ครั้งในหนึ่งชั่วโมง เมือกและจุลินทรีย์เหล่านี้จะถูกดันตกลงไปตาม “ท่อ” ถูกการบีบรัดตัวของลำไส้มารับช่วงต่อจนขับออกทางรูทวารหนักในที่สุด

จะเห็นได้ว่า “ท่อ” ที่อยู่ภายในตัวเรา คือ สมรภูมิสำหรับพวกจุลินทรีย์ทั้งหลายที่ต้องแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด และสุขภาพของเราก็ขึ้นอยู่กับว่า จุลินทรีย์กลุ่มไหนจะเป็นฝ่ายชนะ หรือฝ่ายที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน

*ภาวะขาดแคลนโปรไบโอติกของคนทั่วไป*

เราได้กล่าวไปแล้วว่า “ท่อ” ที่อยู่ภายในตัวเราคับคั่งไปด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งล้วนกำลังแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด โดยที่สมดุลของจุลินทรีย์หมายถึงสุขภาพของเรา ขึ้นอยู่กับว่า จุลินทรีย์ชนิดใดที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน โดยปกติจุลินทรีย์จะแข่งขันกันเองในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

(1) เรื่องการใช้ประโยชน์จากสารอาหาร ในการแข่งขันจุลินทรีย์ที่สามารถใช้ประโยชน์จากสารอาหารที่อยู่เป็นฝ่ายได้เปรียบ หากเราอยากมีสุขภาพดี เราก็ควรช่วยให้โปรไบโอติกได้เปรียบ ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใย (หรือพรีไบโอติก) เพราะโปรไบโอติกสามารถย่อยเส้นใยอาหารได้ ในขณะที่แบคทีเรียที่เป็นโทษหลายชนิดไม่สามารถทำได้ ในอีกด้านหนึ่ง อาหารที่อุดมด้วยน้ำตาลจะช่วยจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อร่างกายให้เจริญเติบโต

เมื่อพูดถึง โทษของน้ำตาล หรือ โทษของอาหารที่มีความหวาน จึงอยากจะแทรกไว้ว่า โรคและอาการผิดปกติที่เกิดจากการกินหวานนั้น มีมากเกินกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากนัก คนทั่วไปมักไม่ค่อยทราบกันว่า อาหารที่มีความหวานที่บริโภคเข้าไปเป็นประจำ มันจะไปกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำลายสมดุลของเกลือแร่ต่างๆ ในร่างกาย ทำให้สมาธิสั้น ทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ทำให้ความยืดหยุ่นและการทำงานของเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลง ทำลายสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นกรด ทำให้เกิดข้อต่างๆ อักเสบ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นโดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคอลลาเจน ทำให้ไขมันในตับเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งชนิดต่างๆ ฯลฯ

(2) เรื่องการเข้าถึงเซลล์ลำไส้ จุลินทรีย์สามารถอยู่รอดนานขึ้นในทางเดินอาหาร หากมันยึดเกาะอยู่กับเซลล์ของลำไส้ได้ มิฉะนั้นแล้วมันจะถูกกวาดออกไปจากร่างกายด้วยการบีบรัดตัวของลำไส้ หนึ่งในวิธีการที่โปรไบโอติกแบคทีเรีย ช่วยปกป้องเราจากแบคทีเรียที่เป็นโทษก็คือ พวกมันจะต้องเอาชนะให้ได้ในการเข้าไปยึดเกาะเซลล์ลำไส้ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ พวกมันจะต้องมีจำนวนมากพอซึ่งเราควรจะต้องช่วยเพิ่มจำนวนของมัน โดยเลือกรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่อุดมไปด้วยโปรไบโอติกทุกๆ วัน เช่น นมเปรี้ยว เป็นต้น

(3) เรื่องการผลิตเคมีต้านจุลินทรีย์ แบคทีเรียบางชนิดสามารถผลิตสารปฏิชีวนะได้เอง เคมีเหล่านี้ไม่มีผลต่อเรา แต่มันจะไปยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียอื่นๆ และในขณะที่จุลินทรีย์ย่อยสลายอาหาร ผลพลอยได้จากกระบวนการเผาผลาญอาหารอาจส่งผลในทางตรงกันข้ามต่อคู่แข่งของมันได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโปรไบโอติกใช้เส้นใยเป็นแหล่งอาหาร ผลพลอยได้จากกระบวนการเผาผลาญอาหารของพวกมัน คือ กรดที่คล้ายกับน้ำส้มหมัก และยีสต์ไม่อาจเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีกรดเหล่านี้อยู่ด้วย

ต่อไปเรามาดูถิ่นที่อยู่ของจุลินทรีย์ในร่างกายของเรากัน ประชากรแบคทีเรียในทางเดินอาหารของเราแตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณตลอดความยาวของ “ท่อ” โดยที่แต่ละบริเวณจุลินทรีย์ต่างชนิดกัน จะเข้ายึดครองและทำหน้าที่แตกต่างกัน ในบริเวณตอนบนและตอนล่างของระบบทางเดินอาหาร จะเป็นที่ซึ่งโปรไบโอติกส่วนมากจะชนะจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ (หากคนผู้นั้นมีสุขภาพดี) นี่ย่อมหมายความว่า โปรไบโอติกในลำไส้ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้จริงๆ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งต่อสุขภาวะโดยรวมของร่างกายของเราอย่างไม่อาจมองข้ามได้

นอกจากจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ในไมโครฟลอร่าของเราจะอาศัยอยู่ตามลำไส้แล้ว ลำไส้ยังเป็นสถานที่ซึ่งการติดต่อสื่อสารสำคัญที่สุดระหว่างจุลินทรีย์ และระบบภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากลำไส้เป็นที่ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเติบโต และสร้างอาณาจักรของจุลินทรีย์ เนื่องจากพื้นผิวตลอดความยาว 30 ฟุตของลำไส้นั้น มีรอยย่นเล็กๆ จำนวนมหาศาลซึ่งจุลินทรีย์สามารถอาศัยอยู่ได้ ว่ากันว่าถ้าหากสามารถคลี่รอยย่นและขดทั้งหมดในลำไส้ออกมากางแผ่ได้ จะพบว่าพื้นผิวของเนื้อเยื่อนี้กว้างกว่าสนามเทนนิสเสียอีก

จำนวนประชากรจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ มีจำนวนมากกว่าที่มีอยู่ในลำไส้เล็กประมาณหนึ่งแสนต่อหนึ่ง นั่นเป็นเพราะในลำไส้เล็กเอื้อต่อการอยู่อาศัยของจุลินทรีย์น้อยกว่าลำไส้ใหญ่ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดสูงกว่า แถมยังมีความเข้มข้นของเอนไซม์และสารเคมีต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสูงกว่า นอกจากนี้ การบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อลำไส้เล็กยังเร็วกว่าของลำไส้ใหญ่มาก เป็นเรื่องดีที่โปรไบโอติกนั้น สามารถพบได้ในลำไส้ทั้งสอง การที่มีพวกมันอยู่จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการรักษาความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ทั้งหมดให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ดี กระบวนการรักษาสมดุลของไมโครฟลอร่ามีความซับซ้อนคล้ายๆ กับการรักษาน้ำหนักตัวของคนเรา เพราะจะมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะมีวินัยในการใช้ชีวิต ที่สามารถปฏิบัติตัวเคร่งครัดในเรื่องการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันได้ หลักการข้างต้นเรื่องการรักษาน้ำหนักตัวก็เป็นจริง เช่นเดียวกับการรักษาสมดุลประชากร ไมโครฟลอร่าในร่างกายของเรา

ด้วยเหตุนี้เอง คนทั่วไปได้ทำลายสมดุลของประชากรไมโครฟลอร่าในร่างกายของตนโดยไม่รู้ตัว จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่มองไม่เห็นของภาวะขาคแคลนโปรไบโอติกในคนทั่วไป ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบที่เลวร้ายต่อระบบภูมิชีวิตหรือระบบภูมิคุ้มกันของผล และตามมาซึ่งปัญหาสุขภาพของประชาชนในที่สุด

ในยุคปัจจุบัน ผู้คนในสังคมทุนนิยมได้ทำลายสมดุลของประชากรไมโครฟลอร่าในร่างกายตนเองโดยไม่รู้ตัว ผ่านช่องทางหลักๆ 2 ช่องทางคือ (1) การใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น กับ (2) การเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการ

(1) การใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่มีการใช้ยาเพนนิซิลินอย่างแพร่หลาย ได้ทำให้ยาปฏิชีวนะถูกใช้ทางการแพทย์ และทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ถึงแม้ว่ายาปฏิชีวนะจะมีความสำคัญมากในฐานะเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการต่อต้านจุลินทรีย์อันตราย แต่ผลกระทบข้างเคียงของยาปฏิชีวนะก็คือมันก็ฆ่าจุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นประโยชน์ไปพร้อมกันด้วย การบำบัดความเจ็บป่วยด้วยยาปฏิชีวนะในปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับอาการติดเชื้อในหู สามารถกวาดล้างจุลินทรีย์ซึ่งปกติจะอยู่ในลำไส้ไปจนเกือบหมดสิ้น

จึงเห็นได้ว่า ยาปฏิชีวนะส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อไมโครฟลอร่าในร่างกายของผู้คนสมัยนี้ จริงอยู่หลังการบำบัดไมโครฟลอร่าจะกลับมาเจริญเติบโตอีก แต่โปรไบโอติกแบคทีเรียจะฟื้นตัวช้ากว่าจุลินทรีย์อื่นๆ ยิ่งถ้าผู้นั้นกินอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวและมีพรีไบโอติกต่ำ สมดุลของแบคทีเรียหลังการบำบัดด้วยยาปฏิชีวนะของบุคคลผู้นั้น ก็จะแตกต่างไปจากสภาวะที่เคยเป็นอยู่ ก่อนรับยาปฏิชีวนะ สภาวะสมดุลใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้นั้น

นอกเหนือไปจากการรับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคเป็นครั้งคราวแล้ว ผู้คนในปัจจุบันจะได้รับมันในปริมาณต่ำมาก แต่บ่อยครั้งกว่าโดยผ่านการบริโภคเนื้อสัตว์ การได้รับยาปฏิชีวนะทางอ้อมแบบนี้ ย่อมส่งผลในระยะยาวต่อไมโครฟลอร่าของผู้คนอยู่ดี

(2) การเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการ การที่ผู้คนสมัยนี้รับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยขึ้น หรือแม้จะรับประทานอาหารที่บ้าน แต่อาหารเหล่านั้นก็มักถูกตระเตรียมมาจากที่อื่น ผลก็คือ พวกเขามักทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปมีผลไม้ และผักสดน้อยลง มีธัญพืชเต็มเมล็ดน้อยลง และมีเส้นใยอาหารน้อยลง แต่พวกเขากลับบริโภคน้ำตาลและไขมันมากขึ้น คนทั่วไปมักจะเคยได้ยินมาว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านอาหารนี้เป็นที่มาของการระบาดของ “โรคอ้วน” แต่คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้กันว่า การเปลี่ยนแปลงด้านอาหารนี้ ยังส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายมากกว่าโปรไบโอติกด้วย

ทั้งนี้ก็เพราะว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา ต้องกินสิ่งเดียวกับที่เรากินเข้าไป แต่จุลินทรีย์แต่ละกลุ่มชอบอาหารแตกต่างกัน จุลินทรีย์บางชนิดอาจเจริญงอกงามดี ในขณะที่บางตัวหิวโซขึ้นอยู่กับอาหารที่เรา “เลือก” ทานเข้าไป ด้วยเหตุนี้ โภชนาการของคนเรา จึงเป็นปัจจัยหลักในการควบคุมความสมดุลท่ามกลางกลุ่มจุลินทรีย์ต่างๆ ในไมโครฟลอร่าของเรา โดยที่มีข้อเท็จจริงจากงานวิจัยออกมาแล้วว่า จุลินทรีย์ที่ได้รับสารอาหารสุขภาพ จะมีความสามารถในการทำลายสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนมากับอาหารได้ดีกว่า

เพราะฉะนั้น การเสริมโปรไบโอติก และพรีไบโอติกเข้าไปในโภชนาการของเรา จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญมาก และขาดเสียไม่ได้ในการทำให้ระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรง ต่อไปเราจึงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันกับบทบาทของการอักเสบ และหน้าที่ของโปรไบโอติกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


โดย ดร.สุวินัย ภรณวลัย www.manager.co.th/Daily/