ความเชื่อ (Beliefs)

ความหมายของความเชื่อ

ความเชื่อ เป็นการแสดงถึงวิธีทางในการมองสิ่งต่างๆรอบๆตัว ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่อยู่ระหว่าง 2 ขั้วคือ ถูก กับ ผิด หรือ ใช่ กับ ไม่ใช่ และการแสดงออกถึงที่บุคคลเห็นด้วย และยอมรับว่าเป็นความจริง

การศึกษาเรื่องความเชื่อ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความรู้ของมนุษยชาติความเชื่อเป็นหน่วย ของความรู้ ซึ่งผ่านกระบวนการของประสบการณ์ และผลจากการติดต่อกับบุคคลอื่น

เราไม่อาจสังเกตความเชื่อได้โดยตรง แต่จะสังเกตได้จากพฤติกรรมที่บุคคลกระทำ และสันนิบฐานว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากความเชื่อ ความเชื่อไม่จำเป็น ต้องมีเหตุผลแต่เป็นการกำหนดขึ้น จากสิ่งที่บุคคลต้องการจะเชื่อในสิ่งใด เขาสามารถเชื่อในสิ่งใด เขาสามารถเชื่อในอะไร และเขาถูกวางเงื่อนไขในสิ่งที่เชื่อมาอย่างไร อีกประการหนึ่งความเชื่อนั้นทำให้เขาตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้

 

ความหมายของความเชื่อ


โรคีช(M. Rokeach) ได้อธิบายความหมายของความเชื่อว่า หมายถึง “ความคิดใดๆ ที่เป็นไปได้ หรือแน่ใจเกี่ยวกับการมีอยู่ การเป็นอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ทั้งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้คนแสดงพฤติกรรมตามความเชื่อนั้น”
ทัศนีย์ ทานตวณิช (2523) กล่าวว่า “ความเชื่อคือการยอชมรับนับถือว่าเป็นความจริง หรือมีอยู่จริง การยอมรับหรือการยึดมั่นนี้ อาจมีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ หรืออาจไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์สิ่งนั้นให้เห็นจริงได้”
สุนทรี โคมิน (2539) กล่าวว่า “ความเชื่อเป็นความนึกคิดยึดถือ โดยที่เจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่สามารถจะศึกษาและวัดได้จากคำพูดและการกระทำของคน”
สถาพร ศรสัจจัง (2533) ให้ความหมายของความเชื่อไว้ว่า “ความเชื่อหมายถึงการยอมรับข้อเสนออย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นความจริง การยอมรับนี้อาจจะเกิดจากสติปัญญา เหตุผลหรือศรัทธา โดยไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ รอบรับก็ได้”
สรุปได้ว่า ความเชื่อ หมายถึง ความคิด ความเข้าใจและการยอมรับ นับถือ เชื่อมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ต้องมีเหตุผลใดมาสนับสนุนหรือพิสูจน์ ทั้งนี้บางอย่างอาจมีหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ หรืออาจจะไม่มีหลักฐานที่จะนำมาใช้พิสูจน์ให้เห็นจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็ได้

ประเภทของความเชื่อ

โรคีช (M. Rokeach) ได้จัดแบ่งประเภทของความเชื่อว่ามี 4 ประเภท ได้แก่

1. ความเชื่อตามที่เป็นอยู่ เป็นการเชื่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่า จริง-เท็จ ถูก-ผิด เชื่อ ความเชื่อว่าโลกกลม พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก เป็นต้น
2. ความเชื่อเชิงประเมินค่า เป็นความเชื่อที่แฝงความรู้สึก รวมทั้งมีการประเมินในขณะเดียวกัน เช่น เชื่อว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น
3. ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำและควรห้าม เป็นความเชื่อว่าสิ่งใดที่พึงปรารถนา-ไม่พึงปรารถนา เช่น เชื่อว่าเด็กควรเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ เป็นต้น
4. ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุ เป็นความเชื่อในสภาพที่ก่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามมา เช่น เชื่อว่าการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดความแห้งแล้ง การสร้างเขื่อนเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ประเภทของความเชื่อตามแบบของสังคมไทย จากการศึกษาพบว่า สังคมไทยมีความเชื่อที่หลากหลาย หากจะแบ่งประเภท อาจแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภทใหญ่ ดังนี้
1. ความเชื่อเกี่ยวกับลัทธิและศาสนา เช่น เชื่อในเรื่องการทำสมาธิเพื่อรักษาโรค เชื่อในพลังอำนาจของพระเจ้า เชื่อในเรื่องนรก-สวรรค์ เชื่อในเรื่องบาป-บุญ ด่าพ่อแม่ชาติหน้าปากจะเท่ารูเข็ม เป็นต้น
2. ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ผีสางเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เชื่อในเรื่องคาถาอาคม การทำเสน่ห์ การเสกตะปูเข้าท้อง การเสดาะเคราะห์ เชื่อในเรื่องผีบ้านผีเรือน ผีปอบ ผีแม่หม้าย หรือ เชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง บั้นไฟพญานาค หรือสิ่งที่มีปาฏิหาริย์ต่างๆ

3. ความเชื่อเกี่ยวกับโหราศาสตร์ โหงวเฮ้ง และฮวงจุ้ย เช่น เชื่อในเรื่องของการดูดวงชะตา ดูลายมือ เชื่อในเรื่องบุคลิกลักษณะสัมพันธ์กับชีวิต หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำงานและที่อยู่อาศัยสัมพันธ์การดำเนินชีวิต

4. ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลางและฤกษ์ยาม เช่น เชื่อในเรื่องของการไม่ตัดผมในวันพุธ การไม่เดินทางไกลถ้าจิ้งจกทัก หรือ การหาฤกษ์ยามสำหรับการทำงานมงคลต่างๆ

5. ความเชื่อเกี่ยวกับความฝันและคำทำนายฝัน เช่น เชื่อว่าถ้าฝันว่าเห็นงู จะได้เนื้อคู่ ถ้าฝันว่าฟันหัก ญาติผู้ใหญ่จะเสียชีวิต ฝันเห็นคนตาย จะเป็นการต่ออายุ

6. ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ เช่น การแห่นางแมวขอฝน การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบุญต่างๆ

7. ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก เอาไม้กวาดตีกันชีวิตจะไม่เจริญ กินข้าวเกลี้ยงจานจะได้แฟนสวยหรือหล่อ ห้ามปลูกต้นลั่นทม ระกำ ไว้ในบ้าน ให้ปลูกต้นมะยม มีคนนิยมชมชอบ ปลูกขนุน จะทำให้มีผู้สนับสนุนค้ำจุน

การเกิดความเชื่อ

ชัยพร วิชชาวุธ (2530) ได้กล่าวถึงสิ่งที่ใช้กำหนดความเชื่อของบุคคล ว่ายึดหลักดังต่อไปนี้

1.  หลักความสงสัย

2.  หลักความรู้สึก เป็นการใช้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเป็นหลักในการตัดสินใจ

3.  หลักเหตุผล

4.  หลักประจักษ์ ซึ่งได้แก่การรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสของเราเอง การรับรู้เช่นนี้ ได้จากการรวบรวมข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกต การทดลอง การวิจัย

นอกจากหลักทั้ง 4 ประการที่กล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ทำให้บุคคลเกิดความเชื่อในเรื่องต่างๆนั้น ยังพิจารณาได้จากการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว การถ่ายทอด ทางศาสนา จารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี อิทธิพลของเพื่อนสนิท อิทธิพลของกลุ่ม การได้รับประสบการณ์ตรงการได้รับประสบการณ์ตรง การได้รับการศึกษา การให้ความรู้สึกที่ถูกต้อง การโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อมวลชน    

การเกิดของความเชื่อ ความเชื่ออาจจะเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. เกิดจากประสบการณ์ตรง เป็นความเชื่อที่บุคคลได้ประสบมาด้วยตนเอง อาจจะด้วยความบังเอิญ เป็นเรื่องของธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้นก็ตาม ทั้งนี้อาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้
  2. เกิดจากการได้รับข่าวสารต่อๆ กันมา หรืออ้างถึงคำโบราณที่ยึดถือกันมา หรือการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นความเชื่อที่เกิดจากการคำกล่าวอ้างต่อๆ กันมาก หรืออ้างถึงคำกล่าวโบราณที่เชื่อถือและยอมกันมา หรือใช้สื่อต่างๆ ในการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งสามารถโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อถือได้
  3. เกิดจากการที่ได้ปฏิบัติสืบต่อๆ กันมาของคนรุ่นก่อน เป็นความเชื่อที่เกิดจาก พิธีกรรม หรือการปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา อาจถือเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและประเพณีทางสังคม ซึ่งสร้างให้เกิดความเชื่อในกลุ่มคนได้ง่าย
  4. เกิดจากการนึกคิดเอาเองตามความรู้สึกของตน เป็นความเชื่อที่คาดเดา หรือคิดเอาเอง หรือรู้สึกไปเอง อาจจะไม่มีข้อมูลใดๆ มาสนับสนุน

การเปลี่ยนแปลงความเชื่อ

โรเจอรส์ (Rogers, 1988) กล่าวว่าความเชื่อของบุคคลจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรขึ้นอยู่กับว่า ความเชื่อนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และบุคคลได้ใช้ ความเชื่อนั้น ไปเป็นแนวปฎิบัติในการดำเนินชีวิตมากน้อยเพียงใด

สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ก็คือเมื่อความรู้สึกไปทำให้ความเชื่อเปลี่ยนไป นอกจากนั้นยังมีองค์ประกอบอื่นที่เปลี่ยนไป ได้แก่เวลา กลุ่มบุคคล วัฒนธรรมและความต้องการของบุคคลเมื่อความเชื่อเปลี่ยนแปลงไปทำให้พฤติกรรมของบุคคลเปลี่ยนไปด้วย

การเปลี่ยนความเชื่อ มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนเปลี่ยนความเชื่อได้ ดังนี้

  1. ประสบการณ์ตรง โดยที่ตนเองได้ประสบกับเหตุการณ์ หรือสิ่งใหม่อื่น ๆ ที่คัดค้านกับความเชื่อเดิม
  2. ความเชื่อบางอาจได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าไม่เป็นจริงตามที่เชื่อถือ
  3. การล้มเลิกพิธีกรรมหรือประเพณีการปฏิบัติบางอย่างที่ทำสืบต่อกันมา
  4. การรู้จักใช้เหตุและผลในการวิเคราะห์ความเชื่อของตนเอง หรือปฏิบัติด้วยตนเองจนรู้ความเป็นจริง