ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
ความคิดสร้างสรรค์มิใช่พรสวรรค์ แต่ฝึกฝนได้
“You cannot teach a man anything; you can only help him to find it within himself.” (Galileo)
(อย่าคิดว่าจะสามารถสอนใครได้ ทำได้เพียงช่วยให้เขาค้นพบ(ศักยภาพ) ภายในตัวเขาเอง)
นิยามความคิดสร้างสรรค์
กระบวนการคิดของสมองซึ่งสามารถคิดได้หลากหลายและแปลกใหม่ สามารถนำไปประยุกต์ทฤษฎีหรือปฏิบัติได้อย่างรอบคอบและถูกต้อง จนนำไปสู่การคิดค้นและนวัตกรรม
Creativity มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน “creo” = to create, to make =สร้างหรือทำให้เกิด
ความคิดสร้างสรรค์คือ ปรากฏการณ์ที่บุคคลสร้างสรรค์”สิ่งใหม่” อาทิ ผลผลิต การแก้ปัญหา นวัตกรรม หรืองานศิลปะ ฯลฯ ซึ่งมีคุณค่า การจะตีความเกี่ยวกับ”ความใหม่” ขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์หรือสังคม หรือแวดวงที่สิ่งใหม่นั้นเกิดขึ้น การประเมินคุณค่าก็ในทำนองเดียวกัน คุณสมบัติที่มักใช้ในการตีความ “ความใหม่” ประกอบด้วย
- สิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
- สิ่งประดิษฐ์ที่อาจปรากฏอยู่ที่อื่น แต่มีผู้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยอิสระ
- การคิดวิธีดำเนินการใหม่
- ปรับกระบวนการผลผลิตเข้าสู่ตลาดที่แตกต่างออกไป
- คิดวิธีการใหม่ในการแก้ไขปัญหา
- เปลี่ยนแนวคิดที่แตกต่างจากผู้อื่น
ความคิดสร้างสรรค์คือ ความคิดใหม่ ๆ แนวทางใหม่ ๆ ทัศนคติใหม่ ๆ ความเข้าใจและการมองปัญหาในรูปแบบใหม่ ผลลัพท์ของความคิดสร้างสรรค์ที่ชัดเจน คือ ดนตรี การแสดง วรรณกรรม ละคร สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมทางเทคนิค แต่บางครั้งความคิดสร้างสรรค์ก็มองไม่เห็นชัดเจน เช่น การตั้งคำถามบางอย่างที่ช่วยขยายกรอบของแนวคิดซึ่งให้คำตอบบางอย่าง หรือการมองโลกหรือปัญหาในแนวนอกกรอบ
ความคิดสร้างสรรค์คือ ความคิดเชื่อมโยงที่พยายามหาทางออกหลาย ๆทาง ใช้ความคิดที่หลากหลาย แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และนอกกรอบ คัดสรรค์หาทางเลือกใหม่ ๆและพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีวิธีการอยู่ ๖ ขั้นตอน คือ
- แสวงหาข้อบกพร่อง(Mess Finding)
- รวบรวมข้อมูล(Data Finding)
- มองปัญหาทุกด้าน(Problem Finding)
- แสวงหาความคิดที่หลากหลาย(Idea Finding)
- หาคำตอบที่รอบด้าน(Solution Finding)
- หาข้อสรุปที่เหมาะสม(Acceptance Finding)
กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์ อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือโดยความตั้งใจ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการศึกษา การอบรมฝึกฝน การระดมสมอง (brain-storming) มากกว่าครึ่งหนึ่งของการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของโลก เกิดจากการค้นพบโดยบังเอิญ(serendity) หรือการค้นพบสิ่งหนึ่งซึ่งใหม่ ในขณะที่กำลังต้องการค้นพบสิ่งอื่นมากกว่า
การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) หมายถึง ความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่ง ต่างๆ การขยายขอบเขตความคิดออกไปจาก กรอบความคิดเดิมที่มีอยู่สู่ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อ ค้นหาคําตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นความคิดที่ หลากหลาย คิดได้กว้างไกล หลายแง่หลายมุม เน้นทั้งปริมาณและคุณภาพ องค์ประกอบของความคิด สร้างสรรค์ ได้แก่ ความคิดนั้นต้องเป็นสิ่งใหม่ไม่เคยมีมาก่อน (New Original) ใช้การได้(Workable) และมี ความเหมาะสม (Appropriate) การคิดเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นการคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิมไปสู่สิ่ง ใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปโดยสิ้นเชิงหรือที่เรียกว่า "นวัตกรรม" (Innovation)
ความคิดสร้างสรรค์ มีความหมายแยกได้เป็น 3 ประเด็นหลัก คือ
- เป็นความคิดแง่บวก หรือ Positive thinking
- เป็นการกระทําที่ไม่ทําร้ายใคร หรือ Constructive thinking
- เป็นการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือ Creative thinking
ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ
- เริ่มจากจินตนาการแล้วย้อนสู่ความจริง เกิดจากการที่เรานํา ความฝันและจินตนาการ ซึ่งเป็น เพียงความคิด ความใฝ่ฝันที่ยังไม่เป็นจริง แต่เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทําให้ความฝันนั้นเป็นจริง
- เริ่มจากความรู้ที่มีแล้วคิดต่อยอดสู่สิ่งใหม่ที่เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation) เกิดจากการนํา ข้อมูลหรือความรู้ที่มีอยู่มาคิดต่อยอด หรือคิดเพิ่มฐานข้อมูลที่มีอยู่ จะเป็นเหมือนตัวเขี่ยความคิดให้เราคิดใน เรื่องใหม่ๆ
วิธีการปรับปรุงทักษะความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์และการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาเป็นกิจกรรมที่ปฏิสัมพันธ์กัน
ความพยายามแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ด้วยการใช้เหตุผล(ตรรกะ)หนึ่งเชื่อมโยงไปยังอีกเหตุผลหนึ่งเป็นขั้นตอนขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อให้บรรลุการแก้ปัญหา เรียกวิธีการนี้ว่า “ความคิดแนวตั้ง”(vertical thinking) ซึ่งเป็นการใช้งานสมองซีกซ้ายเป็นหลัก
Dr.Edward de Bono นักจิตวิทยาและนักวิจัยทางการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ ได้เสนอการใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วย แนวคิดที่เรียกว่า”ความคิดข้างเคียง”(lateral thinking) ซึ่งแตกต่างจากวิธีการเดิม ๆจากการใช้ความคิดในแนวตั้ง แต่ใช้จินตนาการวาดภาพแบบนอกกรอบ ซึ่งเป็นการใช้งานสมองซีกขวา
Dr. Daniel Pink ในหนังสือขายดี A Whole New Mind(2005) ยืนยันประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันตลอดศตวรรษที่ ๒๐ ว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่ความสร้างสรรค์มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคแห่งวิสัยทัศน์ เราต้องเสริมสร้างและกระตุ้นการใช้สมองซีกขวา(right-directing thinking) ซึ่งหมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าสมองซีกซ้าย(left-directed thinking) ซึ่งหมายถึงเพียงการใช้เหตุผลและการวิเคราะห์ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
Dr. Pink ยังอธิบายถึง “แรงจูงใจ”(Motivation) ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างน่าสนใจว่า
- แรงจูงใจในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมีคุณภาพ ไม่สามารถใช้เงินเป็นตัวนำหลักได้ ยิ่งใช้เงินมากเท่าใด งานสร้างสรรค์ยิ่งมีคุณภาพต่ำ
- การใช้เงินสร้างแรงจูงใจต้องระมัดระวังและเฉพาะที่จำเป็นอย่างเหมาะสม แต่ต้องให้ความสำคัญกับจิตใจและความตั้งใจจริง
- การจะสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ต้องใช้องค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการคือ
- อิสระในการคิดและทำงาน(Autonomy)
- มีสิทธิและอำนาจที่จะพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆหรือก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ(Mastery)
- มีความตั้งใจจริง(Purpose)
ลักษณะการทำงานของสมองซีกซ้าย
- เป็นการใช้สติปัญญาอย่างมีเหตุมีผล
- เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข
- เป็นการคิดแบบนามธรรม
- เป็นการคิดเป็นเส้นตรง
- เป็นเรื่องของการวิเคราะห์
- ไม่เกี่ยวกับจินตนาการ
- คิดแบบต่อเนื่องตามลำดับ
- เป็นเรื่องของวัตถุวิสัย
- ไม่เกี่ยวกับคำพูด เห็นเป็นภาพ
ลักษณะการทำงานของสมองซีกขวา
- เป็นเรื่องของสหัชญาณ(ไม่เกี่ยวกับเหตุผล)(สหัช=ที่มีมาแต่กำเนิด)
- เป็นเรื่องของการอุปมาอุปมัย
- เป็นการคิดแบบเป็นรูปธรรม
- คิดอิสระไม่เป็นเส้นตรง เห็นภาพทั้งหมด
- เป็นเรื่องของการสังเคราะห์
- ใช้จินตนาการ
- ไม่เป็นไปตามลำดับ
- เป็นเรื่องของอัตวิสัย
- ไม่เกี่ยวกับคำพูด เห็นภาพ
การทำงานของสมองทั้งสองด้าน ทำให้ดูเสมือนจะมีลักษณะตรงกันข้ามกัน แต่ในความเป็นจริง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ต้องใช้สมองทั้งสองด้าน เพื่อเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยให้ความคิดสมบูรณ์ขึ้น
สรุป ความหมายและขอบเขตของความคิดสร้างสรรค์
- ความสามารถ (ability) ในการจินตนาการหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งมิได้เริ่มต้นจากสูญญากาศ แต่เป็นการสร้างสรรค์ความคิดใหม่จากการผสมผสาน
(combining หรือ synthesizing) เปลี่ยนแปลง(changing) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่(reapplying) ความคิดสร้างสรรค์บางเรื่องอาจน่าทึ่งและยอดเยี่ยมมาก บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องพื้น ๆธรรมดาที่คนส่วนใหญ่มองข้าม
ความจริงทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์พอตัวทีเดียว ดูได้ตั้งแต่วัยเด็ก แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์มักจะถูกครอบงำด้วยกระบวนการศึกษา แต่สามารถจะปลุกให้ตื่นได้ เพียงแต่ว่าต้องมีความตั้งใจที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่และให้เวลา - ทัศนคติ (attitude) คือ ความสามารถที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ ๆ
พร้อมที่จะเล่นกับความคิดที่หลากหลายและความเป็นไปได้(probability) มีความคิดที่ยืดหยุ่น ชอบเห็นสิ่งที่ดีขึ้นและพร้อมที่จะปรับปรุงอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ชอคโกแลตไม่จำเป็นต้องเคลือบด้วยสตอร์เบอรี่เสมอไป อาจจะเคลือบด้วยถั่วลิสงหรือผลไม้ชนิดอื่นได้ - กระบวนการ (process) ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะทำงานหนักเพื่อพัฒนาความคิดและแนวทางแก้ปัญหาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ ความคิดสร้างสรรค์ที่เยี่ยมยอดไม่เคยปรากฏว่าเกิดจากการคิดเพียงครั้งเดียวหรือจากกิจกรรมสั้น ๆ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์รู้ดีว่า การปรับปรุงให้ดีขึ้นสามารถทำได้เสมอ
วิธีการคิดสร้างสรรค์ (Creative Methods)
มีวิธีการที่หลากหลายแต่ที่สำคัญมี ๕ วิธีการ คือ
- วิวัฒนาการ (evolution) เป็นวิธีการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยวิธีการแบบสะสมทีละขั้นตอน ความคิดใหม่เกิดจากความคิดหลากหลาย แนวทางแก้ปัญหาใหม่ ๆเกิดจากแนวทางเก่า ๆ แต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น
- การผสมผสาน (synthesis) เป็นการผสมผสานหรือสังเคราะห์แนวคิดที่ ๑ กับ ที่ ๒
เป็นแนวคิดที่ ๓ ซึ่งกลายเป็นความคิดใหม่ เช่น ความคิดเกี่ยวกับหนังสือแมกกาซีนกับเครื่องเล่นเทป กลายเป็นแมกกาซีนที่สามารถเปิดฟังได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการที่ตาบอด
- การปฏิวัติ (revolution) ในบางครั้งความคิดใหม่ ๆเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เช่น แทนที่จะให้อาจารย์บรรยายให้นักเรียนฟังแบบเดิม ๆ ก็เปลี่ยนเป็นให้นักเรียนทำงานเป็นทีมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยการนำเสนอสิ่งที่ตนค้นพบ
- ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่(reapplication) ปรับมุมมองเรื่องเก่า ด้วยมุมมองใหม่หรือมองแบบนอกกรอบ เช่นการใช้คลิปหนีบกระดาษเป็นไขควง เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนทิศทาง (changing direction) เป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางการมองปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลาย
ทัศนคติทางลบที่เป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์
- ไม่ยอมรับฟังปัญหา
- ถอดใจหรือยอมแพ้ตั้งแต่ในมุ้งหรือตั้งแต่ยังไม่เริ่มสงคราม เพราะเชื่อว่าไม่ สามารถแก้ไขได้
- ไม่เชื่อว่าตนจะสามารถทำอะไรได
- คิดเอาเองว่าตนไม่มีความคิดสร้างสรรค์
- กลัวคนอื่นว่า
- กลัวล้มเหลว(โธมัส เอดิสัน ในการวิจัยหลอดไฟฟ้า ทำการทดลองหาวัสดุมา
ทำไส้หลอดไฟฟ้าด้วยการใช้วัสดุชนิดต่าง ๆถึง ๑๘๐๐ ชนิด รวมถึง
เพื่อนของตน เมื่อถูกถามว่าเขาท้อใจหรือไม่หลังจากความล้มเหลวนับพันครั้งเขากลับตอบว่า เขาได้ประสบการณ์มาก เพราะทำให้เขารู้ว่าวัสดุนับ
พันเหล่านั้นไม่เหมาะที่จะนำมาทำหลอดไฟฟ้า
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
- ทุกปัญหามีคำตอบเดียว
- มีคำตอบที่ดีที่สุดอยู่แล้ว
- คำตอบที่สร้างสรรค์ซับซ้อนเกินไป ซึ่งไม่จริง(ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการขาย hotdog ในระยะแรก ๆ ผู้ขายต้องแจกถุงมือให้ผู้ซื้อยืมสำหรับจับ แต่มีปัญหาเพราะผู้ซื้อมักจะลืมคืน ทางแก้ไขก็คือ มีการคิดทำขนมปังที่มีลักษณะยาวรีเพื่อใส่ไส้กรอกไว้ข้างใน ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยง่าย)
- คิดว่าไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวก็คิดได้เอง
สิ่งที่หยุดยั้งความคิดสร้างสรรค์
- อคติ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีอคติมาก
- ยึดติดกับภาระหน้าที่มากเกินไป เช่น ไม้กวาดใช้สำหรับกวาดพื้น แต่ลืมคิดไปว่าสามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ หรือ กรณีรถไฟที่มีความเร็วไม่มาก แต่ไม่ยอมพัฒนาจึงเสื่อมความนิยมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีผู้คิดค้นรถไฟความเร็วสูง(bullet train)
- หมดหวังที่จะเรียนรู้ ชอบอ้างว่าอายุมาก ไม่มีเงินไม่มีเครื่องมือ ไม่มีความสามารถ ชอบจำกัดตนเอง
- ปิดกั้นตนเอง เช่น หากเดินทางในป่าและเกิดหลงทาง ไม่ยอมกินสิ่งที่ตนไม่คุ้นเคย จนเสียชีวิตเพราะอดอาหาร ซึ่งหมายถึง บางครั้ง แม้จะพบหรือ
ได้ฟังความคิดดี ๆ แต่ก็ไม่ยอมรับเพราะไม่ชอบหรือไม่คุ้นเคย(ในสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันแก้ปัญหาเรื่องทากดูดเลือดด้วยการสวมถุงน่องสตรี)
ทัศนคติเชิงบวกที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
- ความกระหายใคร่รู้: อยากรู้ไปหมดทุกเรื่อง(Curiosity)
- ความท้าทาย(Challenge)
- ไม่ยอมรับความไม่สร้างสรรค์(Constructive Discontent) ความเชื่อว่าปัญหาส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้(A belief that most problems can be solved)
- ความอดทน(Perseverence)ในการรับฟังคำวิจารณ์และไม่ด่วนตัดสินใจ
- มีความคิดและจินตนาการที่ยืดหยุ่น(A flexible imagination)
- มองเห็นสิ่งดี ๆในเรื่องที่ไม่ดี
- การเกิดปัญหาย่อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาคือเรื่องปกติ
- ปัญหาในตัวของมันเองคือทางแก้ไขปัญหาคือโอกาส
- ปัญหาเป็นเรื่องน่าสนใจและยอมรับได้
- ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เอาจริงเอาจัง
" เพื่อการแก้ไขปัญหา สร้างสิ่งใหม่ ก้าวไกลเกินฝัน "
การฝึกการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ : โดยกระบวนการพัฒนา จิตเหนือสำนึก การพัฒนาของ มนุษย์นั้น จะต้องพัฒนา 3 ด้าน คือ ร่างกาย , จิตวิญญาณ และสมอง การพัฒนาสมองโดยการฝึกให้คิด แบบสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาที่ง่าย และมี พลังอย่างยิ่งในการที่จะนำความสำเร็จมาสู่ผู้ที่สามารถพัฒนาได้ กระบวนการฝึกการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วยการฝึก ดังต่อไปนี้
- การใช้สมองซึกขวาเชื่อมโยงกับสมองซีกซ้าย
- การฝึกการคิดนอกกรอบ
- การฝึกการคิดทางบวก
- การฝึกการคิดแบบริเริ่ม คล่องตัว ยืดหยุ่น และละเอียดลออ ฯลฯ
และที่สำคัญยิ่ง คือ การฝึกดึงเอาพลังจิตเหนือสำนึก (Super Conscious) ขึ้นมาทำงานใสถานการณ์ ต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญใน การพัฒนาสร้างสรรค์ ผลงาน ที่แปลกใหม่ และมีคุณค่า
ท่านจะได้ทราบว่า ความคิดสร้างสรรค์ มิใช่พรสวรรค์ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคน สามารถฝึกและพัฒนาได้ การฝึกก็ไม่ยาก สนุก และใช้เวลาเพียง 2 วัน โดยผ่านกระบวนการพัฒนาทางจิตเหนือสำนึก และการคิด แบบ Problem Solving
" ท่านจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างฉับพลัน ถูกต้อง
ท่านจะสามารถพัฒนางานและชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง
ท่านจะมีความหลากหลายทางความคิดอย่างไม่สิ้นสุด แต่มีคุณค่ายิ่ง
เมื่อท่านผ่านกระบวนการคิดแบบสร้างสรรค์ "
แมรี่ โอมีโอรา ได้กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นความคิดที่เกิดจากจิตอันปราดเปรียวและรวดเร็ว สามารถจับหัวใจประเด็นของปัญหาจากข้อเท็จจริง คำพูด แผนภูมิ ความคิดเห็นต่างๆแล้วนำมาสร้างเป็นข้อเสนออย่างมีพลัง มีความสดใสใหม่ โน้มน้าวจิตใจของผู้พบเห็น
องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์
เป็นความคิดที่มีลักษณะอเนกนัย ซึ่งประกอบด้วย
- ความคิดริเริ่ม (Originality) มีลักษณะแปลกใหม่แตกต่างจากของเดิม / คิดดัดแปลง ประยุกต์เป็นความคิดใหม่
- ความคิดคล่องตัว (Fluency)
2.1 ด้านถ้อยคำ (Word Fluency) หลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้และไม่ซ้ำแบบผู้อื่น
2.2 ด้านความสัมพันธ์ (Associational Fluency) จากสิ่งที่คิดริเริ่มออกมาได้อย่างเหมาะสม
2.3 ด้านการแสดงออก (Expressional Fluency) เป็นความคิดที่สามารถนำเอา ความคิดริเริ่มนั้นมา แสดงออก ให้เห็นเป็น รูปภาพได้อย่างรวดเร็ว
2.4 ความคิดคล่องด้านความคิด (Ideational Fluency) เป็นการสร้างความคิดให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดได้ทันที ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ - ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) มีความเป็นอิสระคิดได้หลายๆอย่าง
- ความคิดสวยงามละเอียดละออ (Elaboration) มีความรอบคอบ มีความคิดสวยงาม ด้านคุณภาพ มีความประณีต ในความคิดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีคุณภาพในทุกๆด้าน
กระบวนการสร้างความคิดสร้างสรรค์
- เกิดสิ่งกระทบความรู้สึกให้ต้องคิด เป็นต้นเหตุหรือสาเหตุของเรื่องที่ต้องใช้ความคิดในการทําให้ เรื่องนั้นๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์
- รวบรวมข้อมูล เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทุกประเด็น ทุกแง่มุม
- แจกแจง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูล นําข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาแจกแจง วิเคราะห์ ความสัมพันธ์หรือดูความเชื่อมโยงระหว่างกัน
- การคิดและทําให้กระจ่างชัด จัดระบบความคิดตามข้อมูลที่ได้แจกแจงและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ แล้ว ให้สามารถมองเห็นภาพ ขั้นตอน ความเชื่อมโยงของแต่ละส่วนได้อย่างชัดเจน
- แสดงออก เป็นการนําเสนอผลจากการคิดเพื่อทดสอบความคิดและพิสูจน์ให้เห็นจริง
James Webb Young ได้เสนอแนวความคิด 5 ขั้นตอน
- ขั้นรวบรวมวัตถุดิบ
1.1 วัตถุดิบเฉพาะ เป็นข้อมูลวัตถุดิบต่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ต้องการประชาสัมพันธ์
1.2 วัตถุดิบทั่วไป เป็นข้อมูลวัตถุดิบทั่วๆไปทั้งในส่วนขององค์การ และสภาพแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการสร้าง ความคิดสร้างสรรค์ ให้สมบูรณ์ - ขั้นบดย่อยวัตถุดิบ เป็นขั้นการนำข้อมูลวัตถุดิบต่างๆ ที่ได้เก็บรวบรวมมาได้ นำมาแจกแจง พิจารณาวิเคราะห์ หาความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกันของข้อมูล
- ขั้นความคิดฟักตัว
- ขั้นกำเนิดความคิด
- ขั้นปรับแต่งและพัฒนา ก่อนไปใช้ปฏิบัติจะนำเสนอความคิดสู่การวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อการปรับแต่ง และพัฒนาความคิด ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เป็นจริง
ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์
นิวแวล ชอล์ และ ซิมสัน ได้เสนอหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- เป็นผลผลิตที่แปลกใหม่และมีค่าต่อผู้คิด สังคมและวัฒนธรรม
- เป็นผลผลิตที่เป็นไปตามปรากฏการณ์นิยมในเชิงที่ว่ามีความคิดดัดแปลงหรือยกเลิก ความคิดที่เคยยอมรับกัน มาก่อน
- เป็นผลผลิตซึ่งได้รับจากการกระตุ้นอย่างสูงและมั่นคงด้วยระยะยาว หรือความพยายามอย่างสูง
- เป็นผลผลิตที่ได้จากการประมวลปัญหาซึ่งค่อนข้างจะคลุมเครือและไม่แจ่มชัด
ระดับความคิดสร้างสรรค์
- ความคิดสร้างสรรค์ระดับต้น เป็นความคิดที่มีอิสระ แปลกใหม่ ยังไม่คำนึงถึงคุณภาพและการนำไปประยุกต์ใช้
- ความคิดสร้างสรรค์ระดับกลาง คำนึงถึงผลผลิตทางคุณภาพนำไปประยุกต์ใช้งานได้
- ความคิดสร้างสรรค์ระดับสูง สรุปสิ่งที่ค้นพบเป็นรูปธรรมนำไปใช้ในการสร้างหลักการ ทฤษฎีที่เป็นสากล ยอมรับโดยทั่วไป
กระบวนการดำเนินการการพิจารณาความคิด
- ประเมินค่าของความคิด
- การปรับแต่งความคิด
- การนำความคิดไปปฏิบัติให้เกิดผล
การส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
- ทางตรง คือ การฝึกอบรม
- ทางอ้อม อาจทําได้หลายวิธี เช่น
2.1 ยอมรับในความสามารถของแต่ละบุคคล
2.2 แสดงให้เห็นว่าความคิดที่แสดงออกมานั้นมีคุณค่าและนําไปใช้ประโยชน์ได้
2.3 อย่าพยายามให้ทุกคนคิดไปในแนวทางเดียวกัน ต้องยอมรับในความคิดที่แปลก
2.4 อย่าสนับสนุนเพียงผลงานเหมือนกับผู้ที่เคยได้รับรางวัล หรือเป็นที่ยอมรับมาแล้ว ควรให้การ สนับสนุน ยกย่องชมเชย หรือให้รางวัลกับผลงานที่แปลกใหม่แต่มีคุณค่า
2.5 ส่งเสริมและสนับสนุนให้คิดค้นผลงานที่สร้างสรรค์อย่างไม่มีขีดจํากัด
2.6 ให้กําลังใจและเอาใจใส่ต่อการสร้างสรรค์ผลงาน ที่อาจต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป
วิธีการฝึกเพื่อพัฒนาศักยภาพการคิดสร้างสรรค์ มีวิธีการดังนี้
- ฝึกคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราต้องฝึกคิดว่ามีอะไรที่เป็น ประโยชน์กับเราบ้าง เช่น ถ้าเราตกงานเราก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองแบบเต็ม เวลา ถ้าเราอกหักก็คิดเสียว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เปิดโอกาสให้กับคนดีๆอีกหลายคนเข้ามาในชีวิตของเรา ถ้า เครียดมากๆ ก็ให้คิดเสียว่าเป็นการทดสอบความแข่งแกร่งของจิตใจว่าจะสามารถรับมือกับสภาพความเครียด ได้มากน้อยเพียงใด เพราะในอนาคตเราอาจจะมีเรื่องที่เครียดมากกว่านี้ก็ได้ การฝึกคิดเชิงบวก นอกจากจะช่วยให้เราฝึกการแสวงหาโอกาสแล้วยังช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้ที่ เหนือกว่าคนอื่น เพราะถ้าเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เราสามารถเรียนรู้ทั้งสิ่งที่คนทั่วไปเขารู้กันแล้ว เรายังเรียนรู้ใน สิ่งที่คนอื่นๆ เขามองข้ามไป เมื่อเราฝึกแบบนี้ไปนานๆ หลายๆครั้งเข้า จํานวนเท่าของความรู้ของเราจะ เหนือกว่าคนทั่วไปอย่างน้อยสองสามเท่าตัว
- ฝึกคิดย้อนศร (Backward Thinking) เมื่อไหร่ก็ตามเราคิดสวนทางกับคนอื่น อาจจะทําให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ดีๆขึ้นมาก็ได้ ตัวอย่างการทําธุรกิจที่ตรงกันข้ามจากคนอื่น เช่น ปกติรถเสียต้องพารถไปหาอู่ แต่เมื่อคิดใหม่คือเอาอู่ไปหารถ จึงทําให้เกิดธุรกิจบริการซ่อมรถฉุกเฉินขึ้นมามากมาย หรือ เมื่อก่อนถ้าเราจะกินพิซซ่าเราจะต้องไปที่ร้าน แต่เมื่อมีคนคิดย้อนศรคือ ส่งพิซซ่าไปหาลูกค้าจึงเกิดธุรกิจ Home Delivery ขึ้นมามากมาย ปัจจุบันนี้เกิดธุรกิจอีกมากมาย เช่น การส่งดอกไม้ ร้านหนังสือ ร้านวีดีโอ เป็นต้น
- ฝึกคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible Thinking) บางสิ่งบางอย่างที่เราเคยคิดว่ามัน เป็นไปไม่ได้ในอดีต แต่ในปัจจุบันมันเป็นไปได้และเป็นไปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ มันอาจจะ เป็นไปได้ในอนาคต ดังนั้นอะไรก็ตามที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้อย่าเพิ่งด่วนตัดทิ้งไป เพราะนั่นเท่ากับเป็นการ ดับอนาคตแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเราเอง ตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์แบบนี้เห็นได้จากภาพยนตร์การ์ตูน บางประเภทที่เราคิดว่าเป็นไป ไม่ได้ ความคิดของนักวิทยาศาสตร์นําไปค้นคว้าวิจัยเพื่อนําไปสู่ความเป็นไปได้ต่อไป เช่น ในอดีตใครเคยคิด บ้างว่าเรื่องการโคลนนิ่งสัตว์หรือมนุษย์จะเป็นไปได้ ใครเคยคิดบ้างว่ามนุษย์จะมีธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ ใครจะคิดบ้างว่าคนที่อยู่กันคนละโลกสามารถพูดคุยกันแบบเห็นหน้าตาได้เหมือนสมัยนี้ ในชีวิตการทํางาน เรามักจะตกหลุมพรางทางความคิดแบบนี้อยู่บ่อยๆ พอคิดจะทําโน่นทํานี่เราก็ มักจะถูกขัดขวางด้วยความคิดที่ว่า มันทําไม่ได้หรอก หัวหน้าเขาคงไม่มีงบประมาณ ผู้บริหารคงไม่สนับสนุน ฯลฯ ความคิดในลักษณะนี้เกิด ขึ้นมากมายกับคนทํางาน สาเหตุที่สําคัญคือ เรามักจะนําเอาสภาพแวดล้อม ภายนอกมาทําลายต้นกล้าแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเราเสียเอง ตั้งแต่ยังไม่ลงมือทําอะไรเลย ทําให้เราไม่มี โอกาสได้คิดไปถึงที่สุดว่า ที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้นั้น จริงๆแล้วมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ
- ฝึกคิดบนหลักของความเป็นจริง (Thinking Based Principle) การฝึกคิดแบบนี้คือ การคิด วิเคราะห์สิ่งต่างๆ โดยย้อนกลับไปหาหลักความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆว่าคืออะไร เช่น คนที่สามารถผลิต เครื่องบินได้นั้นจะต้องเข้าใจถึงหลักความเป็นจริงในเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกก่อน จึงจะสามารถออกแบบ เครื่องบินได้ ต้องเข้าใจว่าการบินได้นั้น จะต้องมีพลังขับเคลื่อนเท่าไหร่ มีความเร็วเท่าไหร่ จึงจะสามารถหนี ออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้
- ฝึกคิดข้ามกล่องความรู้ (Lateral Thinking ) การคิดข้ามกล่องความรู้คือการนําเอา ความรู้ที่มีอยู่ในหัว ในเรื่องต่างๆ มาคิดไขว้กัน ยิ่งเรามีกล่องความรู้หลากหลาย โอกาสที่เราจะคิดข้ามกล่อง เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ก็มีมากยิ่งขึ้น เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยํา มาจากกล่องความรู้เกี่ยวกับก๋วยเตี๋ยว ผสมกับ กล่องความรู้ในการทําต้มยํา หรือแอร์มุ้ง มาจากกล่องความรู้ด้านแอร์กับกล่องความรู้ด้านมุ้ง ปลาดุกในห้อง เช่า มาจากกล่องความรู้เรื่องห้องเช่ากับกล่องความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาในบ่อดิน
ข้อควรปฏิบัติในการพัฒนาทัศนคติและพัฒนานิสัยนักคิดสร้างสรรค์ มี 9 ข้อ ดังนี้
- อย่าคิดแง่ลบ ต้องคิดแง่บวก เพราะพลังความคิดแง่บวกจะช่วยสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น
- อย่าชอบพวกมากลากไป ต้องกล้าคิดเองและเชื่อมั่นในตัวเองกล้าเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตนเองเพื่อ พัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง
- อย่าปิดตนเองในวงแคบ ต้องเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆเพราะความรู้ใหม่ จะช่วยให้เกิดมุมมองที่ แตกต่างและต่อยอดสู่ความคิดใหม่ๆ
- อย่ารักสบาย ทําไปเรื่อยๆ ต้องลงแรง บากบั่น มุ่งความสําเร็จเพราะความสําเร็จใดๆ ต้องแลกมา ด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน
- อย่ากลัว -ต้องกล้าเสี่ยง ต้องฝึกตนเองให้เป็นคนท้าทายตนเองให้คิดสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ
- อย่าหมดกําลังใจ เมื่อไม่พบคําตอบ ต้องอดทนต่อความคลุมเครือ
- อย่าท้อใจกับความผิดพลาด ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว ความผิดพลาดเป็นครูเพื่อเรียนรู้ใน ก้าวต่อไป
- อย่าละทิ้งความคิดใดๆ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไร้ประโยชน์ ต้องชะลอการตัดสินใจเพราะบาง ความคิดเห็นอาจจะยังใช้ไม่ได้ในตอนนี้แต่อาจนําไปใช้ได้ในสถานการณ์อื่น
- อย่ากลัวการเผยแพร่ผลงาน ต้องกล้าเผยแพร่ผลงานที่แตกต่าง เพราะหลายครั้งที่การค้นพบใหม่ๆ มักมาจากการคิดแหวกแนว
วิธีพัฒนาความคิดสร้างสรรค์(Creative Thinking) ที่มักใช้ในการทํางาน
- ช่วยกันระดมสมอง ( Brainstroming ) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในองค์กร เพราะวิธีนี้ สามารถทําให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมากมาย
- ลองคิดในมุมกลับ การคิดวิธีนี้จะทําให้เราไม่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ และเป็นการช่วยกระตุ้นให้ เกิดความคิดใหม่ๆ ที่เราไม่คาดคิดมาก่อน
- ตั้งคําถามให้ตัวเอง วิธีนี้เป็นการฝึกนิสัยเราให้เป็นคนใช้ความคิด โดยที่เราหมั่นตั้งคําถามกับสิ่งที่ เกิดขึ้นรอบตัว ( What? , Why? , What's happen? , If? )
- ใช้การเปรียบเทียบ เทคนิคนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในการพัฒนาองค์กร ปัญหาที่เราไม่คุ้นเคย จะถูกทําให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อเรานํามาเปรียบเทียบ หรือ อุปมาอุปไมย และปัญหาที่เราคุ้นเคยมาก จนกลายเป็นอุปสรรคที่ทําให้เราไม่สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ได้วิธีนี้ก็จะช่วยให้เราคิดในมุมที่แตกต่างได้
การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (Creative thinking) เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมและใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ความคิดนั้นต้องเป็นสิ่งใหม่ (New, Original) ใช้การได้ (Workable) และมีความเหมาะสม (Appropriate)
ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ 2 ทางด้วยกัน ได้แก่
- เริ่มจากจินตนาการแล้วย้อนกลับสู่สภาพความเป็นจริง เกิดจากการที่เรานำความฝันและจินตนาการ ซึ่งเป็นเพียงความคิด ความใฝ่ฝันที่ยังไม่เป็นจริง แต่เกิดความปรารถนาอย่าง แรงกล้าที่จะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริง
- เริ่มจากความรู้ แล้วคิดต่อยอดสู่สิ่งใหม่ เกิดจากการนำข้อมูลหรือความรู้ที่มีอยู่มาคิดต่อยอดหรือคิดเพิ่ม ฐานข้อมูลที่มีอยู่จะเป็นเหมือน “ตัวเขี่ยความคิด” ให้เราคิดในเรื่องใหม่ๆ
การคิดเชิงสร้างสรรค์ หมายถึง การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ สู่ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น
การคิดเชิงสร้างสรรค์เป็นการคิดที่มีลักษณะเป็นกระบวนการ (Process) มักประกอบไปด้วย ขั้นตอนสำคัญ 3 ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดเป้าหมายการคิด การแสวงหาแนวคิดใหม่ และการประเมินและคัดเลือกแนวคิด
องค์ประกอบที่ช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะกำหนดว่าแต่ละคนมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับทัศนคติและบุคลิกลักษณะความสามารถทางสติปัญญา (กำหนดขอบเขตของปัญหา การใช้จินตนาการ การคัดเลือกอย่างมี ยุทธศาสตร์ การประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ) ความรู้ รูปแบบการคิด แรงจูงใจ และ สภาพแวดล้อม
เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ลงตัวกับปัญหา ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่หยุดยั้ง ช่วยให้เราได้สิ่งที่”ดีกว่า”แทนการจมอยู่กับ สิ่งเดิมๆ และเป็นองค์ประกอบสำคัญของความฉลาด ในการสร้างสรรค์ (creative intelligence) การวิเคราะห์ (analytical intelligence) และการปฏิบัติจริง (practical intelligence)
สถานะทางความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่จะกำหนดรูปแบบ และความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ มีอิทธิพลมากจากแหล่งใหญ่ๆ ได้แก่
1. บริบทสังคมไทย
- สังคมพึ่งพิงผู้ใหญ่มากกว่าพึ่งพิงตนเอง
- ระบบการศึกษาสอนให้จำมากกว่าสอนให้คิด
- สังคมให้คุณค่าความดังมากกว่าความสร้างสรรค์
- สังคมให้คุณค่าความเหมือนมากกว่าความแตกต่าง
- สังคมไทยดำเนินการตามสถานการณ์ ไม่ช่างคิด
- สังคมลงโทษคนคิดสร้างสรรค์ด้วยการลอกเลียน
2. ความเป็นตัวเรา
- การตอบสนองตามความเคยชิน
- มองตัวเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์
- เต็มไปด้วยความคิดแง่ลบ
- ความกลัวว่าตัวเองจะเป็นแกะดำ
- กลัวต่อความผิดพลาด ล้มเหลว
- ยึดติดกับความรู้ ความเชี่ยวชาญมากเกินไป
- ยึดติดกรอบความคิดเดิม
การฝึกมองในมุมที่แตกต่าง หรือการแหวกม่านประเพณี ทางความคิดจะช่วยพัฒนาความคิด สร้างสรรค์ได้อย่างดี โดยฝึกมองต่างมุม สร้างจินตนาการอิสระ ขยายขอบเขตของความเป็นไปได้ ตั้งคำถามแบบมองต่างมุม เป็นคนไม่พอใจอะไรง่ายๆ ด้วยคำถาม “ทำไม” กระตุ้นความคิดด้วย คำถาม”อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า” มองมุมตรงข้ามตั้งคำถามและหาคำตอบ เชื่อมโยงสิ่งที่ไม่คุ้นเคย คิดทางลัด ค้นหาข้อบกพร่องเพื่อพัฒนา และคิดเองทำเอง
เทคนิคในการแก้ปัญหาและพัฒนางานต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ช่วยให้ค้นพบแนวคิดใหม่ๆ นอกกรอบความซ้ำซากเดิมๆ ก่อนที่จะนำไปสู่การค้นพบทางออกของปัญหา ได้แก่
- หาความคิดใหม่ที่หลากหลายด้วยการระดมสมอง (Brainstorming) เป็นเทคนิคการระดมความคิดแปลกๆใหม่ๆ เป็นการแก้ปัญหาในองค์กรที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
- ทำของเก่าให้เป็นของใหม่ โดยการพิจารณา 9 แนวทาง ได้แก่ เอาไปใช้อย่างอื่น ดัดแปลง ใช้อย่างอื่น ปรับเปลี่ยน เพิ่ม,ขยาย ลด,หด ทดแทน จัดใหม่ สลับ และผสม,รวม ได้หรือไม่ เป็นเทคนิคที่ช่วยในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ
- ขยายขอบเขตปัญหาจากรูปธรรมสู่นามธรรมแล้วค่อยคิด คือไม่คิดในเรื่องที่กำลังคิดอยู่แต่ คิดในความเป็นนามธรรมของเรื่องนั้นที่มีอยู่ในสิ่งทั้งปวง เนื่องจากนามธรรมของปัญหาสามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ เทคนิคนี้ได้มีการนำไปใช้ร่วมกับการระดมสมอง แต่จะแตกต่างกับวิธีการระดมสมองคือ ไม่มีการชี้แจงปัญหาอย่างละเอียดก่อนล่วงหน้า แต่จะกล่าวถึงปัญหาในแนวกว้างๆ
- ปรับสภาพแวดล้อมและเวลาให้เหมาะสมสำหรับการคิด การอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกันนานๆ อาจจำกัดความคิดสร้างสรรค์ และเวลาก็มีความสำคัญต่อการคิด ในบางเวลาจะคิดได้ดี และในบางเรื่องการจำกัดเวลาช่วยกระตุ้นความคิดได้ แต่บางเรื่องจำเป็นต้องให้เวลาในการคิด
- กลับสิ่งที่จะคิด แล้วลองคิดในมุมกลับ เป็นเครื่องที่ช่วยให้มองมุมอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยคิดที่จะมองมาก่อน และการคิดแบบกลับด้านจะทำให้ไม่ยึดติดกับรูปแบบการคิดเดิมๆ ที่เคยชิน เป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้มาก่อน
- จับคู่ตรงข้าม เพื่อหักมุมสู่สิ่งใหม่ เป็นวิธีการหาสิ่งที่อยู่ตรงข้าม ในลักษณะขัดแย้ง (conflict) เพื่อก่อให้เกิดการหักมุมความคาดหวังที่คนทั่วๆ ไปไม่คิดว่าจะเป็น กลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ เช่น มิตร ศัตรู
- คิดแหวกวงความน่าจะเป็น ย้อนกลับมาหาความเป็นไปได้ เป็นการเชื่อมโยงถึงความเป็นไปได้โดยแสวงหาแนวคิดใหม่ จากการคิดนอกกรอบของตรรกศาสตร์ที่มีตัวเลือกว่าถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ แต่พยายามหาคำตอบที่แหวกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มากที่สุด แล้วจากนั้นพยายาม ดัดแปลงความคิดนั้นให้ทำได้จริงในทางปฏิบัติ
- หาสิ่งไม่เชื่อมโยง เป็นตัวเขี่ยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ เพื่อตอบปัญหาที่คิดอยู่ให้เห็นทางออกของปัญหาที่สร้างสรรค์ และปฏิบัติได้จริง โดยตัวเขี่ยความคิด หาได้จากเปิดหนังสือ และเปิดพจนานุกรม
- ใช้เทคนิคการสังเคราะห์ส่วนประกอบ เป็นการเขียนรายการของแนวคิดที่เกี่ยวกับลักษณะหรือแง่มุมของสิ่งที่ต้องการตอบออกมาเขียนไว้ในแกนหนึ่ง และเขียนรายการของแนวคิดที่เกี่ยวกับลักษณะหรือแง่มุมของสิ่งที่ต้องการตอบออกมาแล้วเขียนไว้อีกแกนหนึ่ง ผลที่ได้คือ ช่วงตัด (matrix) ระหว่างรายการของแนวคิดทั้งสอง
- ใช้การเปรียบเทียบ เพื่อกระตุ้นมุมมองใหม่ๆ เทคนิคนี้ได้รับความนิยมในวงการอุตสาหกรรมและองค์กรที่ต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ วิธีการรวมกันขององค์ประกอบที่แตกต่างและไม่เกี่ยวข้องกันในลักษณะของการเทียบเคียง หรืออุปมาอุปไมย เนื่องจากปัญหาที่ไม่คุ้นเคยจะถูกทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคย เพราะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ในทางตรงกันข้าม ปัญหาที่คุ้นเคยมากเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคทำให้เราไม่สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ได้ การอุปมาหรือเทียบเคียงในลักษณะที่เราไม่คุ้นเคย จะช่วยกระตุ้นให้เราคิดในมุมที่แตกต่างได้ โดยเปรียบเทียบตนเองกับสิ่งอื่น เปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งโดยตรง
ดังนั้น คนที่สร้างสรรค์ ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างทัศนคติที่เอื้อต่อการสร้างความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นหลักการให้สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้โดย 9 อย่า หรือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง และ 9 ต้อง หรือจำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น ดังนี้
- อย่าคิดแง่ลบ ต้องคิดแง่บวก
- อย่าชอบพวกมากลากไป ต้องลองหัวเดียวกระเทียมลีบดูบ้าง
- อย่าปิดตัวเองในวงแคบ ต้องเปิดรับสถานการณ์ใหม่
- อย่ารักสบายทำไปเรื่อยๆ ต้องลงแรง บากบั่น มุ่งความสำเร็จ
- อย่ากลัว ต้องกล้าเสี่ยง
- อย่าหมดกำลังใจเมื่อไม่พบคำตอบ ต้องอดทนต่อความคลุมเครือ
- อย่าท้อใจกับความผิดพลาด ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว
- อย่าละทิ้งความคิดใดๆ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไร้ประโยชน์ ต้องชะลอการตัดสินใจ
- อย่ากลัวการเผยแพร่ผลงาน ต้องกล้าเผยแพร่ผลงาน
“ ทัศนคติจะเป็นตัวบ่งบอกตั้งแต่ต้นว่าเราเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์มากน้อย หรือไม่สร้างสรรค์เลย ทัศนคติที่ไม่ถูกต้องจะเป็นอุปสรรคสำคัญให้เราไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ แม้จะ รู้เทคนิควิธีคิดสร้างสรรค์มากมายเพียงใด ดังนั้นในก้าวแรกเราจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีอยู่ให้สมกับการเป็นนักคิดสร้างสรรค์เสียก่อน ”
“ การคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การพัฒนาสติปัญญาของตนเอง พัฒนางาน และการพัฒนาสังคม ”
สรุปโดย น.ส.วัชราภรณ์ หาสะศรี
เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณ 6 ว
ส่วนการงบประมาณ 1
สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ