วัยชรา Old Age

ความหมายและความสำคัญของวัยชรา

วัยชรา คือ วัยแห่งความสุขหรือวังวนแห่งความทุกข์ อะไรเอ่ยยิ่งแก่ก็ยิ่งหวาน หลายท่านคงทายได้ ท่านเคยเฝ้ารอมะม่วงอกร่องตั้งแต่ตกช่อไปจนถึงเป็นลูกอ่อน ผลแก่ พอหัวมะม่วงเริ่มเหลืองเราก็สอยมาวางไว้ให้ลืมต้นอีกสองสามวันต่อมา เมื่อเราจับเบาๆ เราก็จะรู้ว่ามะม่วงผลนั้นสุกได้ที่ นำมาปลอกกิน รสชาติหวานเย็นชื่นใจ นั้นคือผลไม้ สำหรับคนก็เช่นกัน คนหรือมนุษย์ยิ่งแก่ยิ่งขาดความหวานหรือบางท่าน อาจขาดรสชาติในชีวิตก็อาจเป็นได้ ถ้าพูดถึงความแก่หลายๆ ท่านคงไม่ต้องการได้ยินดังนั้นในที่นี้ขอใช้คำว่า “ชรา” ก็แล้วกัน ท่านคิดอย่างไรกับประโยคต่อไปนี้ วัยชราเป็นวัยแห่งความสุขหรือวังวนแห่งความทุกข์ ท่านตอบคำถามได้หรือยัง ลองถามตัวท่านเองว่าถ้าท่านไม่ใช่คนชราท่านจะตอบว่าอย่างไร และถ้าวันหนึ่งท่านพัฒนาตนมาสู่วัยชราท่านคิดว่าวัยชราคืออะไร ท่านจะเลือกข้อความใดระหว่าง “วัยชรา คือช่วงวัยแห่งความสุข” หรือ “วัยชรา คือวังวนแห่งความทุกข์”

วัยชราเป็นวัยสุดท้ายของพัฒนาการของบุคคล เป็นวัยที่สั่งสมประสบการณ์มาตลอดชีวิตโดยเริ่มจากวัยเด็กมาเป็นวัยรุ่น จากนั้นก็เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แล้วทุกคนไม่ว่าเราหรือท่านต้องมาถึงช่วงเวลานี้ด้วยกันทั้งสิ้น พอถึงวัยนี้จะลุกจะนั่งก็โอย มันปวดเมื่อยเนื้อตัวไปหมด สามวันดี สี่วันไข้ บางทีแค่มีกำลังใจ คนชราบางท่านอาจลุกมานั่งคุยจ้อได้ทั้งวัน และก็มีหลายๆ ครั้งที่คนชราเห็นหรือได้ยินอะไรที่ไม่ถูกตา ฟังคำพูดไม่เลื่อนหูนักอาการไข้อาจกำเริบจนทำให้ลูกหลานต่างใจหายตามๆ กัน และกล่าวโทษคนนั้นคนนี้ให้เซ็งแซ่กันไปหมด ครอบครัวใดที่มีคนชราอยู่ร่วมในชายคาเดียวกัน เห็นทีจะต้องกลับมาทบทวนบทบาทกันใหม่ เพื่อให้คนชรา หรือญาติผู้ใหญ่ของเรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

“วัยชรา คือช่วงวัยแห่งความสุข” แม้ว่าตัวท่านอาจจะมีโรคภัยไข้เจ็บ ในวัยนี้ต้องพบแพทย์เป็นประจำ ถ้าท่านมีสุขภาพจิตดี มีอารมณ์ดีลูกหลานปรารถนาที่จะเข้าใกล้ เพราะความมีเมตตา การมีรอยยิ้มที่ดีใจเมื่อเห็นลูกหลาน การมีความสุขที่ได้ทำอะไรๆ หลายอย่างที่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือการปักชุนเสื้อผ้าเล็กๆ น้อย ๆ ให้กับลูกหลาน ความสดชื่นจากญาติผู้ใหญ่จะมีมาก เพราะจะรู้สึกว่าตนมีค่า การมีอารมณ์ที่แจ่มใสของท่านเหล่านี้เป็นเสน่ห์ให้ลูกหลานอยากเข้าใกล้ อยากพูดคุย อยากได้รับคำชี้แนะในเรื่องที่ท่านเหล่านั้นได้มีประสบการณ์ ในวัยนี้ท่านจงภูมิใจว่าท่านคือ ห้องสมุดชีวิตที่ลูกหลานอยากจะค้นคว้าอยากจะอยู่ใกล้

วัยชราที่จะพบความสุขแบบนี้ได้ท่านต้องมาจากการพัฒนาการชีวิตช่วงแรกและช่วงกลางชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น มีการวางแผนชีวิต เข้าใจธรรมชาติของชีวิต เข้าใจความแตกต่างระหว่างคนรุ่นใหม่ กับคนรุ่นท่าน เข้าใจความต้องการของตนเอง โดยไม่เรียกร้องอย่างไร้ขอบเขต อยู่บนโลกของความจริง มีเหตุผล ท้ายสุดคือต้องเป็นผู้มีความสามารถพัฒนาอารมณ์ได้อย่างมั่นคง มีวุฒิภาวะสมวัย ถ้าท่านเข้าลักษณะนี้ไม่ว่าจะอยู่กับลูกคนใด ลูกเขยหรือลูกสะใภ้คนไหน หลานๆ เป็นอย่างไรท่านก็ปรับตัวได้ มนุษย์ปกติ ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่มีสิ่งแวดล้อมใดจะวิ่งมาปรับตัวตามท่าน เพราะสิ่งแวดล้อมนั้นหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งที่เป็นคน สัตว์ และสิ่งของ การปรับตัวของวัยชราโดยส่วนมากมักจะปรับตัวค่อนข้างอยาก เพราะ เป็นการสั่งสมบุคลิกภาพมายาวนาน มีการยึดติด และคิดว่าความคิดของตนถูก จึงไม่รู้จักปล่อยวาง จู้จี้ขี้บ่น ทำตัวให้ผู้อื่นห่วงใย ขาดความยืดหยุ่นในชีวิต ทุกอย่างต้องเป็นอย่างที่ฉันคิด เรียกว่าไม่ฟังใคร ถ้าไม่สนฉันๆ ก็จะเจ็บป่วย หรือ ไม่ยอมกินข้าว งอนไปงอนมา ในที่สุดสุขภาพของคนชราเปราะบาง อ่อนแออยู่แล้ว คราวนี้เลยยิ่งอ่อนแอลงไปอีก โรคต่างๆ ก็รุมเร้าเข้ามาไม่ว่าจะเป็น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคไขข้อต่างๆ เป็นมากๆ อาจจะลามไปถึงโรคอื่นๆที่รุนแรงกว่า ทำให้ไม่อาจเยียวยาได้ ในกรณีนี้เรียกว่า “วัยชราคือ วังวนแห่งความทุกข์” คนชราในกลุ่มนี้มักต้องการการดูแลและเอาใจใส่สูง เพราะฉะนั้นปัญหาของคนชราประเภทนี้ จึงเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ เป็นปัญหาในเรื่องของความรู้สึกนึกคิด หรือแม้กระทั่งมีปัญหาทางอารมณ์ รวมไปถึงการมีสัมพันธภาพกับบุคคลในครอบครัวไม่ดีนักในกรณีนี้ บุคคลที่จะช่วยให้คนชรามีอายุยืน คนแรกน่าจะเป็นตัวคนชราเอง ในวัยนี้คนชราต้องเตรียมตัว เตรียมใจ พร้อมที่จะต้องรับสถานการณ์ ที่จะเกิดต่อการเปลี่ยนแปลงที่มาจากตัวท่านเอง ตั้งแต่ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความปวดเมื่อยต่างๆ ทุกส่วนของร่างกาย หรือปัญหาต่างๆ ที่อาจมาจากคนใกล้ตัว คนที่ตนรัก รวมไปถึงการจากไปอย่างไม่อาจหวนคืนของคนที่ท่านรัก เป็นการปิดฉากพัฒนาการชีวิตขั้นสุดท้ายของคนทุกคน “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่คืน หนีไม่พ้น” ในวัยนี้ก็คงต้องปลง และยอมรับว่านี่คือความจริง ที่ทุกชีวิตต้องพบเพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น

สำหรับผู้ที่เลี้ยงดูคนชรา คนกลุ่มนี้จะต้องพยายามอย่างมากที่จะต้องเข้าใจธรรมชาติของคนชรา ต้องรู้จักการเอาใจใส่ การดูแล การให้ความสำคัญ การเคารพยกย่อง และให้ความรักที่มาจากก้นบึ้งของหัวใจ การสัมผัสที่แสดงให้รู้ว่าท่านรักปู่ ย่า ตา ยาย จะช่วยให้สุขภาพจิตของท่านเหล่านั้นดีขึ้น

คนชรามักไม่สนใจกิจกรรมกลุ่มมากนัก การทำกิจกรรมทางสังคมจะลดลง ดังนั้นในวัยชราควรหางานอดิเรกทำเพลินๆ ดูแลตนเองอย่าให้ถูกละอองฝน หาเสื้อหนาๆ มาใส่ อย่าตากลมแรงมากนักทำให้ร่างกายอบอุ่น

ในเรื่องอาหารก็เช่นกัน คนในวัยนี้ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายได้แก่ ข้าวหุงนิ่ม ๆ น้ำซุป เนื้อปลา ผักต้ม เช่น บวบ น้ำเต้า ฟักทอง บางวันเบื่ออาหารลองทำอาหารกลุ่ม มันเผาหอมๆ หรือเผือกนึ่ง ก็จะเปลี่ยนรสชาติของอาหารได้ ที่สำคัญอย่างลืม ผลไม้ พวกกล้วยน้ำว้า มะละกอ แอบเปิ้ล แตงโม มะเฟืองหวานคั้นเอาแต่น้ำ หรือสับปะรดสดๆ อย่ากินมากนะเดี๋ยวน้ำตาลขึ้น ผลไม้ที่กล่าวมาอาจกินกับข้าวก็ได้ บางครั้งก็ทำให้ชื่นใจเหมือนกัน ผู้เขียนเคยลองถามคุณย่าทวด อายุ 96 ซึ่งจะย่างเข้า 97 ปี ถามท่านว่า “คุณย่าทวดกินอะไรถึงอายุยืน” คำตอบที่ได้คือ ท่านไม่กินอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันกับกะทิและจะกินแค่รู้สึกว่าอิ่ม ไม่กินมาก ออกกำลังกายโดยทำงานโน้นบ้างนี่บ้างอย่าให้หนักเกินแรง ไม่วิตกปัญหาของคนอื่น นั่งเล่นบ้าง บางทีก็ท่องคาถาสวดมนต์ทำใจให้สบายๆ เมื่อใจนิ่ง ความเบาก็เกิดขึ้นอายุก็ยืน วิธีนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน แต่ถึงอย่างไร เราท่านต้องทำให้คนชรารู้สึกว่า คนในวัยชราเป็นวัยที่มีคุณค่าเป็นคนที่ทุกคนรักเห็นความสำคัญ เท่านี้สุขภาพจิตของคุณ ปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ก็จะดี คุณภาพจิตที่ดี จะส่งผลถึงพฤติกรรมที่แสดงออกของคนในวัยนี้ก็สมวัยด้วย

ช่วงชีวิตที่ผ่านมา คุณ ปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ทำเพื่อลูก หลานมามากแล้ว พอท่านสูงอายุขึ้นถึงเวลาหรือยังที่เราจะรักษา ท่านเหล่านี้ ให้มีความสุข และสามารถผ่านพัฒนาการชีวิตขั้นสุดท้ายได้เป็นอย่างดี และเมื่อเข้าสู่ วัยชรา ท่านเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า ท่านจะเป็นคนชราที่มีความสุข หรือวัยที่เกิดวังวนแห่งความทุกข์ คนที่จะเลือกปรับแต่งชีวิตก็คือคนชราเองอย่าฝากหัวจิตหัวใจไว้กับคนอื่น จงสร้างพลังจิตให้เข้มแข็ง เพื่อก้าวสู่ช่วงชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง

“ส่วนท่านที่ต้องอยู่กับคนชรา ท่านควรปรับแต่งพฤติกรรมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลเหล่านั้นหรือให้คิดเสียว่าคนชรา คือบทเรียนสำเร็จรูปที่เราต้องเปิดตำราอ่านทีละตัว ทีละขั้น อย่างแผ่วเบา ทั้งคำพูด และพฤติกรรมที่แสดงออกของเรา เมื่อใดที่ตำราถูกปิดลง เราอาจจะหาเปิดไม่ได้อีกเพราะมันคือบทเรียนสำเร็จรูปของชีวิตนั้นเอง ซึ่งในไม่ช้าตัวเราก็จะได้แบบแห่งพฤติกรรมที่จะก้าวเดินไปในเส้นทางสายเดียวกับท่านเช่นกัน”

ความชราเชิงจิตวิทยา

ตุ้ย ชุมสาย, ศ.ม.ล. (2536 : 31-34) ได้กล่าวว่า ความชราเชิงจิตวิทยาสามารถแก้ไขหรือยึดเวลาให้เข้าสู่วัยชราได้ช้ากว่าความชราในเชิงอื่นๆเพราะจะขึ้นอยู่กับแนวทางการปฏิบัติของตนเอง โดยมีหลักการกระทำดังนี้

ดำเนินการชีวิตให้อยู่ในชีวิตประจำวันโดยการขจัดความกลัวให้หมดไปจากจิตใจ ด้วยการประหยัด สร้างฐานะ ปฏิบัติและประพฤติตนในทางสุจริต สำหรับความกลัวในสิ่งเหนือธรรมชาติควรลบล้างและแก้ไขด้วยเหตุผล
ประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับกลุ่ม ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง
ประพฤติปฏิบัติตนให้มีกริยาท่าทางเรียบร้อย พูดสำเนียงไพเราะ มีจังหวะเมตตากรุณา เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ แต่งกายเหมาะสมกับวัย รู้จักสร้างเสน่ห์ให้กับตน เพื่อให้ผู้อื่นมีความรู้สึกอยากคบค้าด้วย การมีเพื่อนจะทำให้ไม่เหงาหงอย
ประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ร่วมในสังคมได้เป็นอย่างดี รู้จักผ่อนปรน ประนีประนอม ฝึกการสังเกต ฝึกตนให้มีความรอบคอบ และรู้จักระงับความลำเอียงได้เป็นอย่างดี
รู้จักรักษาสุขภาพอนามัยร่างกายของตนให้สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยการเอาใจใส่ระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การหลับนอน การมีกิจกรรมทางเพศ การที่วัยชราสามารถรักษาสุขภาพทางร่างกายของตนได้ดี สมบูรณ์และแข็งแรง จะทำให้สภาพจิตใจของวัยชรานั้นดี มีความรู้สึกว่าตนยังห่างไกลจากความตาย (www.eclassnet.kku.ac.th) อ่านต่อ วัยชรา

วัยชรา (Old age)หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในชีวิตสะสมไว้มาก เป็นวัยที่ต้องการความเอาใจใส่ เพราะคิดว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมยาก เฉื่อยชาไม่กระฉับกระเฉง ร่างกายอ่อนแอ ความเจริญทางสมองค่อยๆเสื่อมลง การดูแลเอาใจใส่ผู้ที่อยู่ในวัยนี้ต้องอาศัยความอดทนด้วย สำหรับผู้หญิงในวัยชราทั่วไปมักมีอารมณ์ค่อนข้างจะเคร่งเครียด มีความปรารถนาเลอะเลือนประเภทที่ไม่ทราบว่าจะเอาอย่างไรแน่ มีอารมณ์หงุดหงิดมากกว่าผู้ชาย ขี้บ่น จู้จี้ และใจคอห่อเหี่ยวมากกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน

ลักษณะของคนวัยชรา เพื่อที่จะกำหนดว่ารายไหนอายุเท่าไรจึงจะเข้าเขตชรา สังเกตลักษณะได้ดังนี้

ร่างกายอ่อนแอ ปรับตัวกับสภาพดินฟ้าอากาศได้ยาก ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย
การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมทำได้ยาก
ชอบสั่งสอนเด็ก บางรายกลายเป็นคนขี้บ่น
มีความรู้สึกว่าตัวถูกทอดทิ้ง ข้อนี้หมายความว่าคนวัยนี้ต้องการความเอาอกเอาใจคล้ายกับวัยเด็กเล็ก เมื่อคนอื่นเขาทำไม่ถูกใจตัวก็หาว่าเขาแกล้งทอดทิ้งตัว
ประสาทตาจะเสื่อม โดยปกติจะเริ่มเสื่อมตั้งตั้งแต่อายุพ้น 40 ปีไปแล้ว แปลว่าต้องใช้แว่นสายตายาว (หรือที่เราเรียกว่า แว่นคนแก่)
ประสาทหูก็จะเริ่มเสื่อม แต่คนทั่วไปตาจะเสียก่อนหู ลักษณะของหูระยะนี้คือ มี
ความรู้สึกว่ามีลมออกหูอยู่เสมอ
เฉื่อยชาไม่กระฉับกระเฉง
ขี้หลงขี้ลืม
ผิวกายมักตกกระ ส่วนการเหี่ยวย่นนั้นเป็นลักษณะที่เห็นได้โดยทั่วไป

ความสำคัญของวัยชรา

บุคคลที่สูงอายุเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมมาแล้วมากมาย และเมื่ออายุมากขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะสำคัญของวัยชรา มีดังต่อไปนี้

วัยชราเป็นวัยของการเสื่อมถอยทางร่างกายและจิตใจ การเสื่อมถอยของร่างกายมี 2 ลักษณะ คือ

1.1 การเสื่อมถอยทางร่างกายและจิตใจเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกระบวนการ

ก้าวไปสู่ความชรา เรียกว่า ซีเนสเซน (Senescence) การก้าวไปสู่ความชราแบบนี้จะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใดๆเข้ามาเบียดเบียน

1.2 การเสื่อมถอยทางร่างกายและจิตใจที่มิได้เป็นไปตามธรรมชาติแต่เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย รวมทั้งความบกพร่องของการทำงานของสมองทำให้เกิดความชราภาพขึ้นมา เรียกว่า ซีนายลิตี้(Senility)

ลักษณะความเสื่อมถอยทางด้านร่างกายและจิตใจของวัยชราที่มีผลต่อพฤติกรรม

สามารถแสดงออกได้ด้วยลักษณะดังนี้

- ความจำเสื่อม มีอาการหลงลืม

- ร่างกายอ่อนแอ แต่มีการแสดงออกด้วยอาการดุร้าย

- มีความคิดซ้ำซาก

- มีพฤติกรรมกลับเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง

2. วัยชราเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงในสังคม

- สภาพการณ์ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป

- ลักษณะการประกอบอาชีพเปลี่ยนไป

- ต้องถูกออกจากงานและหางานใหม่เพื่อการมีรายได้

3. วัยชราเป็นวัยต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

วัยชราเป็นวัยที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้การดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละวันสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขและมีสุขลักษณะที่ดี ด้วยการเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง แบบแผนการกิน การนอน การออกกำลังกาย รู้วิธีการตรวจรักษาสุขภาพร่างกาย รวมทั้งก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุต้องรู้จักวิธีการเตรียมตัวเพื่อเป็นวัยชราที่มีคุณภาพอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

ในวัยชราจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายในลักษณะของการเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้าง และความสามารถในการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย รวมทั้งต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยทางร่างกาย

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยชราจะได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายในด้าน

1) ลักษณะทางร่างกายที่ปรากฏ

2) การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทและอวัยวะสัมผัส

3) ระบบอวัยวะภายในอื่นๆ ที่นอกเหนือจากระบบประสาท

ลักษณะที่ทางร่างกายที่ปรากฏ

คำว่า “ลักษณะทางร่างกายที่ปรากฏ” ในที่นี้มีความหมายถึง ลักษณะร่างกายที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ด้วยตาและกายสัมผัสของบุคคลแต่ละคนโดยตรง ซึ่งในวัยชรานี้จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของร่างกายแบบเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ

1. อวัยวะส่วนศีรษะ

จมูก มีลักษณะ งองุ้ม

ปากและฟัน รูปจะเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างของฟัน เพราะฟันจะหลุดร่วงเป็นจำนวนมาก ในบางรายอาจจะร่วงหมดปาก การที่ฟันหลุดร่วงนี้จะทำให้เสียงเปลี่ยนไปแม้ว่าจะใส่ฟันปลอมก็ตาม

ตา มีลักษณะขุ่นมัว ฝ้าฟาง มีลักษณะเป็นตาน้ำข้าว ลูกตาจะขุ่นแห้ง ขณะเดียวกันเปลือกตา เหี่ยวย่น ขนตาร่วงหมด แก้วตาขุ่น หนังตาบนหย่อนลงมาทับหนังตาล่างมีถุงใต้ตาเมื่อมองดูจะให้ถุงใต้ตาชัดเจนขึ้น

คาง เริ่มมีคาง 2-3ชิ้น คนอ้วนจะมีไขมันสะสมเป็นจำนวนมาก ส่วนวัยชราที่ผอมจะมีลักษณะหนังหุ้มกระดูก

แก้ม มีรอยย่น นุ่มนิ่ม ห้อย บางคนมีแก้มตอบ เนื่องมาจากบริเวณแก้มมีไขมันสะสมน้อยลง

ผิวหนังบริเวณใบหน้า มีรอยย่นรอยตีนกาปรากฏชัดเจนขึ้น ผิวหนังบริเวณใบหน้าจะเป็นส่วนที่บ่งบอกถึงความมีอายุมากที่สุด การที่ผิวหนังแห้ง หยาบ ตกกระ เป็นผลมาจากต่อมใต้สมองทำงานเสื่อมสมรรถภาพนั่นเอง

ผม ผมหลุดร่วงเป็นจำนวนมากทำให้ศีรษะล้าน ผมบางและหงอกมากขึ้น

2. อวัยวะส่วนลำตัว

ไหล่ มีลักษณะ คุ้มงอ เล็กลง

ท้อง มีลักษณะป่องห้อย

เอวและลำตัว มีลักษณะใหญ่ หนาขึ้น ทำให้มองดูมีลักษณะเป็นทรงกระสอบ

เต้านม มีลักษณะนุ่มนิ่มห้อย

แขน มีลักษณะอ้วน และดูมีน้ำหนัก ทำให้แขนส่วนบนดูหดสั้นลง

ขา อ่อนเปลี้ย ไม่มีแรง

มือ เล็ก เรียว มีเส้นเลือดบริเวณหลังมือโปนออกมา

เท้า ใหญ่ กล้ามเนื้อบริเวณข้อเท้าเหี่ยว ในบางรายมีเส้นเลือดโปนออกมา

เล็บ หนา แข็ง และเหนียว

3. โครงกระดูกและฟัน

โครงกระดูก โครงกระดูกของวัยชราจะมีลักษณะพรุน เปราะบาง แตกหักได้ง่าย ทั้งนี้เพราะโครงกระดูกของวัยชรามีแคลเซียมน้อยลง แม้แต่กระดูกสันหลังก็บางลงหมอนรองกระดูกสันหลังจะเหี่ยวและเสียความยืดหยุ่น นอกจากนี้มีแคลเซียมไปจับที่เอ็นกระดูกอ่อน ข้อต่อ มีผลทำให้รูปร่างของวัยชราดูผิดปกติได้

จากการศึกษาในเรื่องความสูงของผู้ใหญ่พบว่า เมื่ออายุ 40 ปีไปแล้วความสูงจะลดลงประมาณ 1-2 นิ้ว โดยเฉพาะวัยชราชาวอเมริกันชายที่มีอายุ 75 ปีความสูงจะลดลงจากความสูงเมื่ออายุ 35 ปี ประมาณ3.5 นิ้ว ส่วนวัยชราชาวอเมริกันเพศหญิงที่มีอายุ 75 ปี จะมีความสูงลดลงจากความสูงเมื่ออายุ 35 ปี ประมาณ 2.7 นิ้ว

ในเรื่องโครงกระดูกของวัยชรานี้ เมื่ออายุ 30 ปีแล้ว บุคคลทุกคนจะเริ่มสูญเสียแคลเซียม โดยเฉพาะเพศหญิงจะสูญเสียแคลเซียมมากกว่าชาย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเข้าสู่วัยชราจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อต่างๆ อันเป็นสาเหตุเนื่องมาจากลักษณะทางพันธุกรรมฮอร์โมนภายในร่างกายเปลี่ยนแปลง ภาวะโภชนาการ และสภาพการใช้งานของข้อต่อหรือโครงกระดูกนั้นๆการเสื่อมของข้อกระดูกจะมีผลทำให้เกิดโรคข้ออักเสบเรื้อรัง มีอาการปวดเมื่อยตามข้อต่อ ข้อแข็ง การเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนอิริยาบถทำได้ไม่ดี

ฟัน โดยปกติแล้ว วัยชราที่มีสุขภาพฟันดีจะสามารถใช้ฟันไปได้ถึง 200 ปี แต่สภาพเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุต้องเชิญกับปัญหา ฟันผุ รากฟันหรือเหงือกอักเสบ

การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทและอวัยวะสัมผัส

1. ระบบประสาท

1.1ระบบประสาทอัตโนมัติ คือ อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ ความดันโลหิต การย่อยอาหาร การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย การตอบสนองทางด้านร่างกายเหล่านี้พบว่ามีการทำงานช้าและอ่อนแรงลง

1.2ระบบประสาทส่วนกลาง คือสมองและไขสันหลังพบว่าเซลล์สมองจะมีขนาดเล็กลง มีความเสื่อมถอยมากของเซลล์สมองและไขสันหลัง ส่วนคลื่นหรือลอนสมองจะเล็กลง ร่องของสมองจะมีจำนวนน้อยลง ผลคือ จะเกิดอาการทางจิต แขนขากระด้าง มือสั่น ใจน้อย เศร้าหมอง ความจำเสื่อม

1.3เส้นประสาท เส้นประสาทของผู้สูงอายุมักจะเสื่อมสมรรถภาพอย่างเห็นได้ชัดจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรมและการทำงานของระบบร่างกายทุกส่วนทุกระบบ

2. อวัยวะรับความรู้สึก

อวัยวะรับความรู้สึก 5 ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น และกายสัมผัส จะมีการเสื่อมถ่อยลงได้อย่างชัดเจน ดังนี้

2.1การทำงานของนัยน์ตา พบว่า นัยน์ตาเป็นอวัยวะส่วนที่เสื่อมถอยเร็วที่สุดกว่าอวัยวะรับสัมผัสอื่นๆ กล้ามเนื้อของลูกตาในการรับจับภาพต่างๆอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด การมองเห็นจะไม่คล่องแคล่ว เรติน่าจะเสื่อมและหลุดแยกออกจากที่เดิม ทำให้การมองเห็นผิดปกติไปจำเป็นต้องใช้แว่นสายตาช่วย

2.2การได้ยินเสียง พบว่า เยื่อแก้วหูเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การรับฟังเสียงไม่ดี โดยเฉพาะเสียงสูง

2.3การได้กลิ่นและการลิ้มรส การแยกแยะกลิ่นจะเริ่มเสื่อมถอยลง ขณะเดียวกัน ปลายประสาทของการรับรสในลิ้นเสื่อมลง ทำให้การรับรู้รสเปลี่ยนแปลงไป

2.4สัมผัสทางกาย สัมผัสทางกายในเรื่องความเจ็บปวด จะมีการทำที่บกพร่อง ทำให้วัยชรานั้นทนต่อความเจ็บปวดโดยเฉพาะการบาดเจ็บทางผิวหนังจะอดทนได้ดีแต่จะไม่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอากาศในเรื่องคามหนาว

2.5สัมผัสทางการเคลื่อนไหวและการทรงตัว ความสามารถของกล้ามเนื้อและเอ็นลดน้อยลงทำให้วัยชราหกล้มง่าย เนื่องจากหูชั้นในเริ่มเสื่อม ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ มึนงง เป็นลมได้ง่าย

3. ระบบอวัยวะภายในอื่นๆ ที่นอกจากระบบประสาท

มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงดังนี้

3.1ระบบการหายใจ พบว่าปอดมีสมรรถภาพลดน้อยลง ปริมาณเนื้อที่ของถุงลมปอดลดน้อยลง ทำให้ความจุของปวดในวัยผู้สูงอายุลดลง การทำงานของปอดได้รับอิทธิพลมาจากอากาศเป็นพิษ มีการสูบบุรี่ ไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้ปริมาณอากาศเข้าไปตกค้างในปอดมาก อากาศผ่านเข้าออกหลอดลมน้อย

3.2ระบบทางเดินอาหาร อวัยวะของระบบการย่อยอาหารเหี่ยวฝ่อประสิทธิภาพในการทำงานลดลง กระเพาะอาหารจะผลิตกรดและน้ำย่อยได้น้อย ทำให้การย่อยาหารไม่สมบรูณ์และดูดซึมได้น้อย ร่างกายของวัยชราจะขาดอาหาร ไม่สบายท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ กระเพาะอาหารมีอาการอักเสบได้ง่าย

3.3ระบบขับถ่ายของเสีย โดปกติไตและเนื้อเยื่อที่กระเพาะปัสสาวะจะมีการหดสั้นลง มีความหนาเพิ่มมากขึ้น ทำให้การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายไม่ดี ส่วนการขับถ่ายทางทวารหนัก มักพบเสมอๆว่า วัยชรามักมีอาการท้องผูก

ระบบการไหลเวียนของโลหิต การไหลเวียนของโลหิตและการทำงานระบบประสาทส่วนปลายของวัยชราจะมีการทำงานในลักษณะของการเสื่อมถอยลงตามลำดับ ทำให้มือเท้าเย็น มีไขมันเข้าไปอุดในเส้นเลือดทำให้เสียความยืดหยุ่นในเส้นหลอดเลือดแคบ การไหลเวียนโลหิตช้าลง ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจเกิดอาการหัวใจวายได้ง่าย

3.4ระบบสืบพันธุ์

วัยชราจะมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศมาก เพศชายจะพบว่าต่อมลูกหมากจะโตขึ้นเนื่องจากมีพังผืดเพิ่มขึ้น เซลล์เยื่อบุอัณฑะเหี่ยวลง แต่ยังคงผลิตอสุจิได้ตามปกติ เพศหญิงประจำเดือนจะหมด ทำให้รังไข่ มดลูก ปีกมดลูก ช่องคลอด อวัยวะสืบพันธุ์จะเหี่ยวและเล็กลงลง วัยชราทั้งหญิงและชายถ้ามีสุขภาพแข็งแรงสมบรูณ์ก็ยังสามารถร่วมเพศต่อไปได้

4. การเปลี่ยนแปลงทางด้านความสามารถของอวัยวะมอเตอร์ อาการที่มองเห็นชัดเจนมีดังนี้

การพูด ศีรษะและคางจะสั่นได้ง่าย คำพูดที่เปล่งออกมาจะช้า มีการหยุดระหว่างคำนานขึ้น

การเดิน จะมีอาการขาสั่น

แขนขา เวลาหยิบของ มือและแขนจะสั่น

เนื้อเยื่อทั่วไป จะเหี่ยวย่น มีพังผืดเข้าไปแทรกมากขึ้น ผนังเซลล์เสื่อมลงทำให้สารต่างๆ เข้าออกไม่ดี

โรคของผู้ชรา

1. โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากจากสาเหตุสำคัญ 4 ลักษณะ คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะไขมันสูงในเลือด การสูบบุรี่ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ คือ อายุที่มากขึ้น โรคหัวใจ ยาคุมกำเนิด แอลกอฮอล์ ความอ้วน การขาดการออกกำลังกาย โรคเลือด และกรรมพันธุ์ ลักษณะของโรค คือ มีการอุดตันของเส้นเลือดบริเวณสมอง ทำให้สมองส่วนที่ขาดโลหิตไปหล่อเลี้ยงไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จึงเกิดอาการต่างๆ เช่น อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตของใบหน้า พูดไม่ได้ ชักกระตุก หมดสติ
2. โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด หรือเลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อย จะมีอาการเพลีย มีอาการหอบหายใจเร็ว บางรายมีอาการหัวใจวาย
3. โรคความดันโลหิตสูง คือผู้ที่มีแรงดันโลหิตในขณะที่หัวใจบีบตัว(Systolic) สูงเกิน 160 มิลลิเมตรปรอท และมีแรงดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว(Diastolic) สูงเกิน 90 มิลลิเมตรปรอท หรือมีแรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวสูงเกิน
4. โรคเบาหวาน วัยชรามีโอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานมาก ผู้เป็นโรคเบาหวาน คือผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดในตอนเช้าก่อนการรับประทานอาหารสูงในระดับ 140 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร
5. โรคข้อเสื่อม ข้อเสื่อมมักจะเกิดกับ ข้อเข่า ข้อหลัง ข้อคอ ข้อสะโพก ข้อปลายนิ้ว

6. โรคมะเร็ง โรคมะเร็งที่พบบ่อยๆ ในผู้สูงอายุ คือ มะเร็งที่ปอด เร็งตับ มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งปากมดลูก เพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคผู้ชราที่จะป้องกันสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายเสื่อมถอยลง

7. โรคต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้ชรา เกิดจากการสูญเสียโปรตีนที่ละลายได้กับเลนส์ เลนส์ตาจะมีลักษณะขุ่นแข็ง ซึ่งมีผลต่อการมองเห็น

8. โรคทางจิตและประสาท เช่น โรคเศร้าซึม วิตกกังวล เพราะเซลล์สมองมีจำนวนลดน้อยลง และมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของสมองเลือดมาหล่อเลี้ยงสมองน้อย มีการหลั่งสารสื่อนำประสาทลดลง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป

9. โรคสมองเสื่อม มีอาการหลงลืมทำกิจวัตรประจำวันของตนเอง สาเหตุ คือ การบกพร่องทางด้านร่างกายโดยที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงและหลอดเลือดผิดปกติ ขาดการกระตุ้นที่ดีจากสังคม มีโภชนาการที่บกพร่อง และเป็นผลที่ได้รับมาจากพันธุกรรม

10. โรคถุงลมปอดพอง เกิดขึ้นจากปอด และทางเดินหายใจผิดปกติ ทำให้ความสามารถในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลงมากขึ้น

11. โรคขาดอาหาร ในผู้ชรามักจะเบื่ออาหารและรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ รวมทั้งรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณค่าทำให้เกิดโรคขาดอาหาร จึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย

12. โรคหัวใจ หัวใจมีหลอดเลือดโคโรนารีไปเลี้ยงหัวใจ เมื่อหลอดเลือดนั้นถูกอุดตัน เลือดจึงไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ หัวใจเริ่มพิการหรือตายไป มีสาเหตุมากมายที่รวมกันเป็นเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็งหรือถูกอุดตัน กล่าวคือ บุคคลที่บริโภคอาหารที่มีไขมันสูง กินจุ อ้วน มีน้ำหนักเกินตัว มีระดับโคเลสเตอรอลและไขมันต่างๆในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน สูบบุหรี่จัด ขาดการออกกำลังกาย ต้องเคร่งเครียดต่อภารกิจประจำวัน เป็นต้น

13. สภาวะฉุกเฉินในผู้ชรา อาการปัสสาวะไม่ออก ชักกระตุก หายใจไม่ออก ตาเห็นเป็นสองภาพ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ผู้ชราทุกคนต้องเผชิญกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางสังคม ถ้าผู้ชราคนใดเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นปูชนียบุคคลทีมีคุณค่า ในทางตรงกันข้าม อาจจะมีผู้ชราบางรายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม คิดว่าผู้ชราคนนั้นเป็นคนแก่ที่ไร้คุณค่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของผู้ชราที่ได้เผชิญในแต่ละสังคม

1. ลักษณะความชราเชิงสังคม

ผู้ชราในเชิงสังคมและวัฒนธรรมนั้นไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนเหมือนเกณฑ์ทางกายภาพ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ค่านิยมของคนชราและบุคคลอื่น ในสังคมที่เกี่ยวข้องคนชรา เกณฑ์กำหนดความหมายของผู้ชราเชิงสังคมจึงเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของแต่ละสังคม

2. ทฤษฏีความชราเชิงสังคม

บริบูรณ์ พรพิบูลย์, นพ. (2525 : 156-157) ได้กล่าวถึงทฤษฎีเกี่ยวกับความชราเชิงสังคมไว้ดังนี้

- ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ถ้าสังคมเปลี่ยนแปลงเร็ว สถานภาพของสังคมผู้ชรานั้นจะเปลี่ยนแปลงเร็วเช่นกัน

- ทฤษฎีจำนวนสัมพันธ์ คนชราจะมีส่วนสัมพันธ์กับสถานภาพทางสังคม คือ ถ้าในสังคมมีคนชราจำนวนน้อย สถานภาพของคนชราผู้นั้นมักจะดีกว่า

- ทฤษฎีเกียรติภูมิ คือ ถ้าคนชราผู้ใดเป็นผู้ที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมสถานภาพของคนชราผู้นั้นมักจะดีเช่นกัน

- ทฤษฎีไร้ภาระผูกพัน ทฤษฎีนี้เชื่อว่า ควรอย่างยิ่งที่จะต้องแนะนำให้คนชรายอมรับว่าตนเป็นคนชราที่ชราแล้ว ลูกหลานจะให้ความสำคัญ ให้ความสนใจกับคนชราน้อยลง เพราะคนชราจึงต้องลดความรับผิดชอบต่างๆ ลง

- ทฤษฎีให้ทำกิจกรรม เป็นที่ทฤษฎีที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีไร้ภาวะผูกพัน แม้ว่าลูกหลานจะให้ความสนใจในวัยชราน้อยลง แต่ผู้ชราจะต้องเป็นตัวของตัวเองหางานทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ตามความสามารถ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง

การเปลี่ยนแปลงบทบาททางสังคม

การเปลี่ยนแปลงบทบาททางสังคม หมายถึง บทบาทในเรื่องต่างๆ ของผู้ชราจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการลดบทบาทที่เคยดำรงอยู่หรือหมดหน้าที่ไปอย่างสิ้นเชิง มีสาระสำคัญดังนี้

3.1 ลักษณะภูมิหลังของผู้สูงอายุ

ปัจจัยที่มีผลทำให้ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทในสังคมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิหลังของผู้ชราแต่ละคน มีสาระดังนี้

- ลักษณะสภาพการแต่งงาน มีคู่แต่งงานหรือไม่มี ผู้ที่มีคู่แต่งงานจะมีการเข้าร่วมสังคมมากกว่าผู้ที่โสดหรือเป็นหม้าย

- การมีครอบครัวที่อบอุ่น ลูกหลานเอาใจใส่ จะเป็นคนที่มีความสุข

- การมีทรัพย์สมบัติ การมีเศรษฐกิจดีย่อมต้องมีความแตกต่างจากผู้ชราที่ยากจน

- สภาพการศึกษา ผู้สูงอายุที่มีการศึกษาดี มีความรู้ความสามารถจะได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่าผู้ด้อยทางการศึกษา

- บุคคลที่อยู่ในระดับต่างชั้นกันในสังคม คนชั้นสูงมักจะมีความสัมพันธ์ทางสังคมมากกว่าชนชั้นต่ำ

- เพศ เพศหญิงจะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมมากกว่าชาย เช่นเข้าวัดฟังธรรม

- ลักษณะสุขภาพทางร่างกายของผู้ชรา ผู้ที่ร่างกายแข็งแรงจะไม่เป็นภาระของสังคม สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดีกว่าผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ

3.2 บทบาทในสังคมกับภาวการณ์ทำงาน

เมื่ออายุมากขึ้น ผู้ชราก็เกษียณอายุ การออกจากงานเป็นการเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างฉับพลัน ทำให้ขาดการติดต่อกับผู้ร่วมงาน เข้าสู่ความเหงาว้าเหว่ใจหาย ตามความเป็นจริงแล้ว การออกจากงานมิได้ทำให้ผู้ชราถูกัดขาดจากสังคมเพราะผู้ชราสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีกมากมาย

3.3 บทบาทในสังคมกับครอบครัว มีดังนี้

- การปรับตัวต่อบทบาทหัวหน้าครอบครัว จากการเป็นหัวหน้าครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงไปโดยบุตรจะมาเป็นผู้รับผิดชอบแทน

- การปรับตัวต่อสมาชิกใหม่ของครอบครัวจากที่บุตร-ธิดาได้แยกครอบครัว ทำให้มีสมาชิกใหม่ขึ้นโดยเฉพาะการปรับตัว เขยหรือสะใภ้ และหลาน

- การปรับอารมณ์ในเรื่องปัญหาครอบครัว ความรู้สึกว่าตนไม่เป็นบุคคลที่สำคัญของครอบครัว มีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งลูกหลานไม่ให้ความสนใจเอาใจใส่ หรือลูกหลานไม่เข้ามาหา ไม่มาขอคำปรึกษา ทำให้คิดมาก มีปัญหาทางด้านจิตใจ

- การเผชิญกับภาวการณ์เป็นหม้าย ในวัยชราต้องเผชิญกับภาวะเป็นหม้าย หรืออยู่ตามลำพัง เพราะการตายจากของคู่ครอง

3.4 ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นภายนอกครอบครัว

ศรีธรรม ธนะภูมิ, รศ.พญ.(2534:111) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของวัยชรากับบุคคลภายนอกครอบครัว ดังนี้

สัมพันธภาพกับบุคคลอื่นภายนอกครอบครัว เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับวัยชราบุตรธิดาอาจแยกครอบครัว คู่สมรสอาจตายจากกันไปหรืออย่าร้าง เพื่อนสนิทอาจเจ็บป่วยหรือตายไปวัยชราจึงต้องมีความต้องการผู้สนใจตนและผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข ทั้งยังต้องการผู้ยอมรับนับถือตนบุคคลที่วัยชราควรมีความสัมพันธ์ด้วย ได้แก่

เพื่อนสนิท ที่เข้าใจกันและเคยผ่านประสบการณ์ชีวิตร่วมกันมา อาจเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่วัยเรียน เพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่ทำงานร่วมกันและมีความสนใจคล้ายกัน หรือเพื่อนจากวงสังคมทั่วไปก็ได้ ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมวัยช่วยในการปรับตัวด้านอารมณ์และสังคมของผู้สูงอายุได้มาก เพราะต่างก็เข้าใจปัญหาและเห็นอกเห็นใจกัน มีความสนใจและคุ้นเคยกับประสบการณ์ชีวิตร่วมสมัยกันมา ผู้ที่มนุษย์สัมพันธ์ดีจะมีความสนใจคนอื่นและคอยห่วงใยผู้อื่น ชอบช่วยเหลือ รู้จักให้และรู้จักรับ

ผู้สูงอายุไม่ควรหมกมุ่นกับอดีตมากเกินไป ควรสนใจสิ่งรอบตัวในปัจจุบันทั้งยังไม่ควรให้ความสำคัญแก่ตนมากเกินไป เพราะจะทำให้เป็นคนที่น่าเบื่อ

บุคคลในกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อาจร่วมกิจกรรมกันในวัยกลางคนหรือในวัยชราก็ได้ ส่วนมากจะเป็นผู้มีความสนใจร่วมกัน อาจเป็นบุคคลในกลุ่มงานอดิเรกหรืองานบำเพ็ญประโยชน์ มีทั้งผู้ร่วมวัยและผู้ต่างวัยก็ได้ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทัศนคติกัน

บุคคลในวัยหนุ่มสาวหรือวัยรุ่น นอกจากจะเป็นผู้ช่วยดูแลอบรมบุตรหลานตัวเองแล้ว วัยชรายังสามารถมีความสัมพันธ์กับคนหนุ่มสาวอื่นๆได้ เช่น บุตรหลานของเพื่อน บุคคลในกลุ่มกิจกรรมต่างๆ การได้คบกับหนุ่มสาวทำให้ชีวิตของคนวัยชรามีความแจ่มใสได้เห็นความเจริญเติบโตของผู้อ่อนวัย ทั้งยังสามารถนำประสบการณ์ของตนมาเล่าให้คนหนุ่มสาวฟังและให้เขานำไปแก้ไขปัญหาชีวิตได้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนหนุ่มสาวทำให้วัยชราไม่ล้าหลังและได้รู้ถึงความเป็นไปของสังคมปัจจุบันอีกด้วย ประสบการณ์ชีวิตของผู้สูงอายุย่อมเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์แก่ผู้อ่อนวัยกว่า

ในกรณีที่วัยชราไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้จะด้วยเหตุผลใดก็ตามวัยชราสามารถเข้าอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา ซึ่งในประเทศไทยได้มีสถานสงเคราะห์คนชราหลายแห่ง ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์ของภาครัฐบาลและภาคเอกชน

การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์

พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจของวัยชราได้มีการแสดงออกมาตาม ลักษณะบุคลิกภาพของผู้นั้นซึ่งมีการสะสมประสบการณ์ต่างๆมาแล้วตลอดชีวิต การยอมรับต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่มีการเสื่อมถอย บทบาทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจะช่วยให้วัยชราอายุมีอารมณ์ที่มั่นคงและแสดงออกได้อย่างเหมาะสม

ลักษณะทางบุคลิกภาพที่แสดงออกตามสภาพจิตใจ

ลักษณะทางบุคลิกภาพที่แสดงออกมาในวัยชรา จะมีพฤติกรรมการแสดงออกมาตามสภาพทางจิตใจของแต่ละคน ดังนั้น วัยชรามีความรู้สึก มีความคิดเห็น มีความต้องการเป็นอย่างไรจะแสดงพฤติกรรมออกมาได้หลายลักษณะ ดังนี้

ประเภทของบุคลิกภาพ

ไบเรน ( Birren , 1964 อ้างถึงใน สุภัททา บิณทะแพทย์ 2527 : 234-235)

นักจิตวิทยาที่ได้รวบรวมลักษณะของคนชราซึ่งมีบุคลิกภาพที่แสดงออกมาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพจิตใจไว้เป็น 4 ประเภท คือ

ประเภทมีเอกลักษณะเฉพาะตัว ยอมรับตัวเอง (Integrated) เป็นผู้ที่สามารถปรับสภาพของตนเองได้ดี พอใจในสิ่งที่ตนเป็นอยู่ในชีวิตปัจจุบัน ลักษณะของบุคคลประเภทนี้ อาจแสดงออกในลักษณะ

เข้าร่วมกิจกรรม บุคคลประเภทนี้จะเป็นบุคคลที่มีความคิดริเริ่ม ชอบทำงานที่มีประโยชน์ มองโลกในแง่ดี ต้องการหาความสุขด้วยการแสดงตนว่า เป็นบุคคลที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ และเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมใดที่เลือกสรรว่า พอใจแล้ว ก็จะทำให้ความจริงจังกับกิจกรรมนั้นๆเป็นอย่างมาก

ไม่เข้าร่วมกิจกรรม บุคคลที่อยู่ในลักษณะนี้ อาจไม่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมใด ดำเนินชีวิต มีความสุขกับการเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลง หรือความสำเร็จของบุคคลรอบข้าง โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย บุคคลประเภทนี้จะมีใจสงบ เยือกเย็น ศึกษาธรรมะ หรือไม่ก็อยู่กับลูกหลานอย่างสงบ

ประเภทต่อสู้ (Defended) เป็นกลุ่มบุคคลที่มักไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ จึงพยายามต่อสู้ ดิ้นรน และมีความหวาดกลัวต่อความไม่แน่นอนของชีวิตยังพยายามที่จะก้าวไปในอนาคต

ใจสู้ หมายถึง บุคคลที่ไม่ยอมให้สิ่งทั้งหมดมาทำลายความตั้งใจที่แน่นอนของตน บุคคลเหล่านี้จะตั้งจุดหมายไว้ และจะพยายามทำทุกอย่างตามความตั้งใจ ความสุขใจของบุคคลเหล่านี้จะมีในระดับปานกลาง เนื่องจากการที่พวกเขายังมุ่งกับกิจกรรมต่างๆตลอดเวลา ไม่ค่อยปล่อยให้เวลาผ่านไป โดยที่ไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คนชราประเภทนี้จะไม่ยอมให้สิ่งใดแม้แต่ความเจ็บป่วยเข้ามาขัดขวางตามตั้งใจ

ไม่ยอมแพ้ บุคคลประเภทนี้มักจะไม่ยอมแพ้สังขารความชรา โดยจะต่อต้านความชราอยู่เสมอ มีสังคมอยู่ในวงจำกัด ไม่ยอมเปิดโอกาสแก่ประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ยอมรับตนเองว่าตนเอง “แก่” พยายามทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเคยมีความสามารถทำได้เมื่อยังหนุ่มสาว

ไม่สามาช่วยตนเองได้ (Passive Dependent ) คนชราที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้นั้น มักจะเป็นบุคคลที่ไม่กล้าตัดสินใจหรือกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ด้วยตนเอง มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ยิ่งถ้าถูกทอดทิ้งก็จะยิ่งมีลักษณะที่หมดความสุขไปเลยทีเดียว คนชราประเภทนี้อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

การพึ่งพาผู้อื่น คนชราประเภทนี้มีความรู้สึกไม่สามารถช่วยตนเองได้ต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา มักเป็นบุคคลประเภทที่ไม่ใคร่ร่วมกิจกรรมใดๆ มีชีวิตด้วยความสุขใจ พอประมาณตราบเท่าที่มีผู้คอยดูแลและเอาใจใส่ แต่ถ้าปราศจากคนช่วยเหลือแล้ว ชีวิตก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป

ความท้อถอย พวกนี้มีความรู้สึกว่าคนชรา คือ ศัตรูอันร้ายกาจที่ตนไม่มีทางต่อสู้เมื่อรู้สึกว่า ความชราใกล้เข้ามาจะเศร้าสลด และสิ้นหวังไม่สนใจกับสิ่งใด เห็นว่า การมีชีวิตอยู่เป็นภาระอันหนักอึ้ง ไม่ได้มีส่วนทำให้สังคมดีขึ้นหรือเลวลง และมีความรู้สึกท้อแท้ต่อการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง

ประเภทล้มเหลว (Disintegrated) บุคคลประเภทนี้จะมีลักษณะความเสื่อมทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะความเสื่อมโทรมของสุขภาพร่างกาย ไม่สามารถจะดำรงรักษาสุขภาพของตนเองไว้ได้ มักไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ ถ้าหากว่าไม่มีผู้เฝ้าดูแลใกล้ชิดและให้กำลังใจ

แคทเทล (Cattell , 1950 อ้างถึงใน นวลลออ สุภาผล 2527 : 232-233) ได้กล่าวว่าคนชราที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอย่างรวดเร็วจะมีผลทำให้ ลักษณะทางด้านจิตใจมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเฉพาะในด้าน

- -กังวลในการเงิน

- -กังวลในสุขภาพ

- มีความรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการ โดดเดี่ยว อ้างว้าง

- ความสนใจแคบ

- สูญเสียความจำ

- ยึดมั่นในความคิดของตนเอง

- ช่างพูดช่างคุย โดยเฉพาะเรื่องในอดีต

- เอาใจใส่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ

- มีความรู้สึกไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและวิตกกังวล

- มีความรู้สึกผิด

- กิจกรรมทางเพศลดลง แต่ความสนใจในเรื่องเพศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ชาย

- ไม่มีระเบียบ ไม่สะอาด

- หัวเก่า

- ไม่มีความสามารถที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

พฤติกรรมการแสดงออก

พฤติกรรมการแสดงออกของวัยชราที่มีปัญหาทางด้านจิตใจจะมีการแสดงออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การแสดงออกทางอารมณ์ และการแสดงออกทางด้านร่างกาย

การแสดงออกทางอารมณ์

การเปลี่ยนแปลงของวัยชรา เป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับความต้องการทางด้านจิตใจ ซึ่งการแสดงออกทางอารมณ์จะมีการแสดงออกทางอารมณ์เป็น 2 ลักษณะ คือ

อารมณ์ดี สำหรับบุคคลที่มีการปรับตัวได้ดี ได้รับการยกย่องนับถือ เป็นที่ยอมรับในสังคม มีความสุขที่จะได้อยู่ในสังคม รู้จักสร้างวิถีการดำเนินชีวิตของตนเองตามความพอใจ บางคนมุ่งสร้างความดี บางคนมุ่งหวังความสงบสุขในชีวิต บางคนมุ่งหวังความสงบสุขในชีวิต บางคนเข้าวัดถือศีล

อารมณ์ไม่ดี เป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับอารมณ์ดี ลักษณะของอารมณ์ที่ไม่ดีของวัยชรา ประกอบด้วย อารมณ์กลัวและกังวลใจ โกรธ ซึมเศร้า หวาดระแวง

อารมณ์กลัวและกังวลใจ ถ้าผู้สูงอายุจะมีความกลัวในสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วจะทำให้เกิดความวิตกกังวลใจมาก ลักษณะของความกลัวมักจะเป็นเรื่อง

- ความกลัวตาย เป็นสิ่งที่วัยชราทุกคนต้องเผชิญ ขึ้นอยู่กับว่าวัยชราคนใดสามารถปรับตัวได้ดีเพียงใด พฤติกรรมของความกลัวตายทำให้คนชราบางคนต้องอยู่เฉยๆ บางครั้งมีการแยกตัวออกจากสังคม ไม่ยอมรับภาวะของความตายของเพื่อนฝูง

- กลัวและกังวลใจว่าจะไม่ได้รับการยกย่องจากผู้อื่น ซึ่งทำให้ตนเป็นคนที่ไร้คุณค่าในสายตาของอื่น

วัยชรารายใดที่เกิดความกังวลใจและความกลัวในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว และถ้าปรับตัวแก้ไขไม่ได้จะทำให้เกิดความเศร้าซึม ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ ไม่แน่ใจ สับสน ควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้

อารมณ์โกรธ จะเกิดขึ้นเมื่อผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งจากครอบครัวและสังคม มีความรู้สึกว่า ตนเป็นคนที่ไร้ค่า ทำให้ความรู้สึกผิดหวังและไม่พอใจกับการกระทำของบุคคลอื่นที่อยู่รอบตัว พฤติกรรมที่เกิดขึ้น คือ หงุดหงิด จู้จี้ขี้บ่น โกรธแค้น คิดว่าผู้อื่นดูถูกดูหมิ่น

อารมณ์หวาดระแวงไม่ไว้ใจผู้อื่น จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความวิตกกังวลใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่พบบ่อยมากจะมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ตัดสินใจ ละเลยการดูแลตนเอง รู้สึกตนเองไร้คุณค่าเบื่อหน่ายต่อชีวิต วัยชราบางรายอาจมีอารมณ์ซึมเศร้าอย่างรุนแรงทำให้ถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

การแสดงออกทางร่างกาย

วัยชราที่มีปัญหาทางจิตใจและมีอาการแสดงออกทางร่างกาย ดังนี้

- อาการเบื่ออาหาร

- อาการท้องผูก ท้องผูกเนื่องมาจาก การกินอาหารน้อยหรืออาหารที่ไม่มีกาก ขาดการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อกะบังลมหย่อนยาน

- อาการนอนไม่หลับ เนื่องมาจากครุ่นคิดถึงปัญหา มีความกังวลใจ

- อาการวิงเวียนศีรษะ

- อาการเจ็บปวดทางร่างกาย

ทฤษฎีเกี่ยวกับการความชราเชิงจิตวิทยา

ได้มีผู้กล่าวสรุปถึงทฤษฎีเกี่ยวกับความชราเชิงจิตวิทยาไว้หลายแนวทาง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

บริบูรณ์ พรพิบูลย์ , นพ (2525 :154-155) ได้กล่าวถึงทฤษฎีความชราทางด้านจิตวิทยาไว้เป็น 2 แนวทาง คือ

ทฤษฎีบุคลิกภาพ จะขึ้นอยู่กับภูมิหลังและการพัฒนาทางจิตใจของผู้นั้นมี 2 แบบคือ แบบที่ 1 อินทิกริที้ (Integrity) หมายความว่า มีความสมบูรณ์ทางจิตใจ มีความสุข ความภาคภูมิใจ มีความเป็นมิตรกับทุกคน มีความรักความอบอุ่น และแบบที่2 เดสแพร์ (Despair) หมายความว่า มีความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ ขาดเพื่อน จิตใจคับแคบไม่อยากช่วยเหลือผู้ใด

ทฤษฎีความปราดเปรื่อง ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่า คนชราเป็นบุคคลที่มีความปราดเปรื่อง เป็นนักปราชญ์ มีความสนใจเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา มีการพยายามศึกษาค้นคว้า และพยายามเรียนรู้ตลอดเวลา

นวลลออ สุภาผล (2527 : 97) ได้จำแนกพัฒนาการมนุษย์ตามหลักของอิริคสัน(Erikson) ไว้ในขั้นสุดท้ายของพัฒนาการมนุษย์ไว้ดังนี้ ขั้นพัฒนาการความรู้สึกสิ้นหวังท้อถอยในชีวิต – รู้จักชีวิต มีช่วงอายุ 40 ปีเป็นต้นไปพัฒนาการในขั้นสุดท้ายนี้มีพื้นฐานมาจากการปรับตัวในขั้นแรกๆของชีวิต วัยวัยนี้จะมีการปรับตัวในขั้นแรกๆของชีวิต วัยนี้จะมีการปรับตัวด้วยการแสวงหาความอบอุ่นมั่นคงภายในจิตใจซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเขาสามารถพัฒนาผ่านขั้นต่างๆมาได้อย่างดี แต่ในทางตรงข้ามถ้าเขาปรับตัวในขั้นต่างๆที่ผ่านมาไม่ได้จะเกิดความรู้สึกท้อแท้และเหนื่อยหน่ายต่อชีวิตของตนเอง วัยชราเป็นวัยสุดท้ายของชีวิต บุคคลควรมีความพึงพอใจในชีวิต รู้จักหาความสุข ความสงบในใจ พอใจกับการมีชีวิตของตนในวัยชรา ไม่รู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมา ยอมรับสภาพความเป็นอยู่ของตนในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

กันยา สุวรรณแสง.จิตวิทยาทั่วไป General psychology . กรุงเทพมหานคร : อักษรพิทยา, 244

หน้า, 2538.

จรรยา สุวรรณทัตและคณะ.จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพมหานคร : สุโขทัยธรรมาธิราช,2529.

ชัยพร วิชชาวุธ.มูลสารจิตวิทยา.กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2525

พิชญ์สิรี โค้วตระกูล และ สุธีรา เผ่าโภคสถิตย์. จิตวิทยาทั่วไป.กรุงเทพมหานคร : เทพรัตน์พับลิช

ชิ่งกรุ๊ป,200 หน้า , 2538.

นวลศิริ เปาโรหิตย์และคณะ.จิตวิทยาพัฒนาการ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา,2515

ประนอม สโรชมาน และคณะ.จิตวิทยาทั่วไป.ฉบับที่1,กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรม

ศาสตร์,2522.

ประมวญ ดิคคินสัน.วัยแรก วัยหลัก. กรุงเทพมหานคร:แพร่พิทยาการพิมพ์,2520.

ประสาท อิศรปรีชา.จิตวิทยาวัยรุ่น.กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้วการพิมพ์,2523.

ปราณี รามสูต.จิตวิทยาวัยรุ่น. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา,2523.

Your growing baby/pregnancy. “เก้าเดือนของทารกในครรภ์”.แม่และเด็ก.(ปีที่32เดือนมกราคม 2543 หน้า19-21.)

โยธิน ศันสนยุทธ และคณะ. จิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร : ศูยน์ส่งเสริมวิชาการ, 381หน้า , 2533.

โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน. สุปาณี สนธิรัตน และคณะ แปลและเรียบเรียง. จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์

ครั้งที่ 5 ,กรุงเทพมหานคร : เนติกุลการพิมพ์, 388 หน้า ,2537.

ศิริโสภาคย์ บูรพาเดชะ. จิตวิทยาทั่วไป.กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2528.

สมบูรณ์ ชิตพงษ์.จิตวิทยาทั่วไป. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2531

สุชา จันทน์เอม. จิตวิทยาทั่วไป.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม,กรุงเทพมหานคร :ไทยวัฒนาพานิช,2531.

อติวุทธ กมุทมาศ. “ศักยภาพมีได้อย่างไร้ขอบเขต ตอน5สัมผัสสร้างลูกฉลาดตั้งแต่ในครรภ์”

แพรว.ปีที่32 ฉบับที่748 (วันที่ 25 ตุลาคม 2553)หน้า 114-115

มลินี จุฑะรพ. จิตวิทยาการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กทม : บริษัทอักษรพิพัฒน์ จำกัด, 2537

รศ.ดร.อารี พันธ์มณี. จิตวิทยาสร้างสรรค์การเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กทม : สำนักพิมพ์ไยไหม เอดดูเคท, 2546

สุรางค์ โค้วตระกูล. จิตวิทยาศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กทม. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544

ม.ร.ว. สมพร สุทัศนีย์. จิตวิทยาการปกครองชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

John W. Santrock. Psychology. 6ed. New York : McGraw-Hill Higher ,2000,593pp.

Stephen Worchel and Wayne Shebilske. Psychology Principles and Applications.3ed. New

Jersey :Englewood cliffs ,1989,800 pp.

http://salc.swu.ac.th/seksarn2548/present/WebKoi/know-2.htm

http://www.obec.go.th/news/_develop_media/

http://www.pooyingnaka.com/webboard/

"http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/การปฏิสนธิ"

httpwww.bcnlp.ac.thebookpornpunp2.pdf

www. eclassnet.kku.ac.th/etraining/file/1218978558-3.doc –