ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ จี จุง

ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ จี จุง ( Carl G. Jung Theory )

ประวัติของคาร์ จี จุง เกิดที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1875 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1961 เขาเป็นนักจิตแพทย์ ชาวสวิสที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่คิดเก่ง หรือนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง และได้รับ การยกย่องว่า เป็นนักจิตวิทยา ที่อยู่ในระดับ แนวหน้า Jung ยังได้ใช้เวลามาก ตลอดชีวิตศึกษาวิทยาการต่างๆ หลายๆ สาขา นอกจากนี้ ยังได้รับการ กล่าวขวัญว่า เป็นนักจิตวิทยาที่ร่าเริง ใจดี และมีบุคลิกภาพที่ประทับใจผู้อื่น และยังเป็นผู้ที่เคร่งศาสนา งานวิจัยที่เขาทำเป็น เรื่องพฤติกรรมของบุคคล
แนวคิดที่สำคัญ ในช่วงแรกนั้น Jung เน้นการศึกษาเรื่องจิตไร้สำนึก เช่นเดียวกับฟรอยด์แต่ต่อมา ได้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องต่างๆ อย่างลึกซึ้งขึ้น ทำให้มี Jung มีแนวความคิดแตกต่างกัน โดยมีความเชื่อว่า มนุษย์ที่เกิดมามีแนวโน้ม ที่จะรับ มรดกจากบรรพบุรุษของเขา ซึ่งจะเป็นการชี้นำ พฤติกรรม และกำหนดจิตสำนึก ตลอดจนการตอบสนองต่อประสบการณ์ และโลกส่วนตัว ของเขา หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า มีการก่อตัวของเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ (Racial) และจะสะสมในบุคลิกภาพที่นำไปสู่การเลือกรูปแบบของการปรับตัว และการเลือก ที่จะอยู่ในโลก ของประสบการณ์แต่ละบุคคล บุคลิกภาพแต่ละบุคคล จึงเป็นผลของการกระทำของแรงภายใน ( Inner Forces ) ที่กระทำต่อแรงภายนอก (Outer Forces) ทฤษฎีนี้เน้นเรื่องของการเริ่มต้นของบุคลิกภาพ ที่เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ ในขณะที่ ฟรอยด์ เน้นจุดเริ่มต้นของบุคลิกภาพจากหลังกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทารก

นอกจากนี้ Jung ยังได้อธิบายว่า บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล เป็นเสมือนผลผลิตของอดีต กล่าวคือ มนุษย์ได้ถูกปรุงแต่ง และถูกวางรูปแบบ ให้เป็นตัวตนในปัจจุบัน โดยมีประสบการณ์ที่สะสมในอดีตโดยไม่รู้จุดเริ่มต้นของมนุษย์ว่าแยกมาจากเผ่าใด รากฐานของบุคลิกภาพ จึงเป็นเรื่องอดีตชาติ (Archaic) และบรรพกาล ( Primitive ) ซึ่งติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และเป็นเรื่องของความไร้สำนึก ที่ไม่สามารถจดจำได้ และมีขอบเขตอย่างกว้างขวาง (Universal) ในส่วนที่เกี่ยวกับ พฤติกรรมของมนุษย์นั้นทฤษฎีนี้เชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์เป็นผลรวม ของอนาคตกาลกับอดีตกาล (Teleology and Causality) พฤติกรรมของมนุษย์ได้รับเงื่อนไขไม่เพียงแต่ ความแตกต่างที่เกิดจาก อดีตกาลเท่านั้น แต่ยังเกิดจากปัจจัยอื่นอีกเช่น ความมุ่งหมาย และความปรารถนาในอนาคตกาลของบุคคลอีกด้วย โดยอดีตกาลเป็น ความจริงที่แสดงออก ในขณะที่อนาคตกาล เป็นเสมือนศักยภาพ ที่จะชี้นำบุคคลให้เกิดพฤติกรรมดังนั้นแนวความคิดที่เกี่ยวกับ บุคลิกภาพคือความคาดหวัง ในผลข้างหน้าอันเป็นการรับรู้ถึงการมองไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นสาเหตุให้บุคคลเกิด แนวทางใน การพัฒนาตนเอง ในทางสร้างสรรค์เพื่อแสวงหาความสมบูรณ์ และคำนึงถึง การเกิดมาเพื่อมีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง ( Rebirth )

อย่างไรก็ตามทฤษฎีของ Jung แตกต่างจาก Frued ที่อธิบายว่า พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นทางเพศ แต่ Jung เชื่อว่า บุคคลจะเป็นคนเช่นใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กด้วยเช่นกันองค์ประกอบของจิต(Structural Components of Psyche) เป็นผลรวมทั้งหมดของบุคลิกภาพที่ประกอบด้วยระบบต่างๆ ซึ่งทำงานร่วมกันดังนี้

องค์ประกอบของจิต (Structural Components of Psyche) มี 3 ระบบคือ

1. โครงสร้างทางบุคลิกภาพ (Structure of Personality)
2. ตน ( Self )
3. ระบบความสัมพันธ์ภายใน (Interdependent Systems) ซึ๋งแสดงเป็นแผนภูมิ 2 คือ

องค์ประกอบของจิต (Structural Components of Psyche)
แสดงตัว (Extraversion)
เงา (Shadow)
เก็บตัว (Introversion)
การรู้สึก (Feelings)
ตน เป็นจุดศูนย์กลางของบุคลิกภาพ หมายถึง รูป (Archetype) ซึ่งนำบุคคลไปสู่การแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ถึงจุดสูงสุด(Self Realization)
การคิด (Thinking)
ระบบความสัมพันธ์ภายใน (Interdependent Systems)
ตน ( Self )
ลักษณะของหญิงที่มีอยู่ในชาย (Anima)
และลักษณะของชายที่มีอยู่ในหญิง (Animus)
หน้ากาก (Persona)
จิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตกาล (Collective Unconscious)
ประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal Unconscious)
ตัวตน (Ego)
โครงสร้างทางบุคลิกภาพ
(Structure of Personality)
การทำหน้าที่ของบุคลิกภาพ 4 ประการ (Four Functions)
การรับรู้ทางประสาท สัมผัส (Sensing)
การกำหนดรู้ในใจ (Intuition)

แผนภูมิ 2 แสดงเรื่ององค์ประกอบของจิต (Structural Components of Psyche)

องค์ประกอบของจิต (Structural Components of Psyche) มี 3 ระบบดังอธิบายคือ

1. โครงสร้างทางบุคลิกภาพ (Structure of Personality) ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ สำคัญได้แก่ ตัวตน (Ego) ประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal Unconscious ) จิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตกาล (Collective Unconscious) หน้ากาก (Persona) ลักษณะของหญิงที่มีอยู่ในชาย (Anima) และเงา (Shadow)

1.1 ตัวตน (Ego)เป็นการรับรู้ในตนเองมีการระลึกรู้ เป็นจิตสำนึก (Conscious Mind) ประกอบด้วยการรู้สำนึกในการรับรู้สิ่งต่างๆ ได้แก่ ความเข้าใจ ความจำ และระลึกรู้ในการแสดงพฤติกรรมตลอดจนความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ และบทบาทของตนเองซึ่งถือว่า Ego เป็นศูนย์กลางของความรู้สำนึก ทำให้เกิดบุคลิกภาพ และปม ( Complex ) ที่หมายถึงการรวบรวมความคิดต่างๆ เข้ามาเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกิดจากความรู้สึกทั่วๆ ไป Ego ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจิต ( Psyche ) ที่ทำให้บุคคลรับรู้พฤติกรรมของตน

1.2 ประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal Unconscious) เป็นส่วนที่ติดอยู่กับ Ego ที่ประกอบด้วยประสบการณ์ซึ่งครั้งหนึ่งยังอยู่ในจิตสำนึก(Conscious) แต่บุคคลพยายามเก็บกดไว้ ( Repressed ) การสะกดไว้จนลืม ( Forgotten ) หรือการเพิกเฉยไม่รับรู้ (Ignored) จากเหตุผลบางประการ เช่น เป็นประสบการณ์บางเรื่องที่ไม่เป็นที่พึงพอใจ เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้กำลังอ่อนลง ในระยะแรกจะทำให้เกิดการรับรู้อยู่ในระดับจิตสำนึก ลักษณะของประสบการณ์สามารถจะนำขึ้นมารับรู้ได้อีก เมื่อมีสิ่งเร้าที่เหมาะสมมากระตุ้น และเรื่องปม (Complex) หมายถึง การรวบรวมความคิดให้เป็นเอกลักษณ์หรือเป็นกลุ่มของการจัดระบบทางความคิด การรับรู้ ความจำ การคิด ต่างๆ ที่มีอยู่ในระดับจิตไร้สำนึกเป็นศูนย์กลางซึ่งมีการกระทำเสมือนแม่เหล็กที่คอยดึงดูดกลุ่มประสบการณ์ต่างๆ เช่น ปมเกี่ยวกับแม่ (Mother Complex) จะประกอบด้วยประสบการณ์ในอดีตของเชื้อชาติที่ตนอยู่ และเผ่าพันธุ์ที่มีกับแม่ กับอีกส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของเด็กกับแม่ความรู้สึกต่างๆ ความทรงจำ ฯลฯที่เกี่ยวข้องจากความสัมพันธ์กับแม่ ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกนึกคิดที่มีแม่เป็นศูนย์กลาง เป็นปมเกี่ยวกับแม่ ว่ามีความยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญ มีความเข้มแข็ง และมีความอ่อนโยน ภาพของแม่จะถูกระลึกในจิตใจ และมีความหมายอย่างสูงต่อบุคคลโดยไม่รู้ตัว แต่ก็สามารถเปลี่ยนเป็นจิตสำนึกได้ในเวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปมจะแสดงคุณสมบัติเหมือนบุคลิกภาพโดยอัตโนมัติ โดยมีระบบความคิด และพลังการเคลื่อนไหวด้วยตัวของมันเอง ซึ่งปมของบางคน อาจมีความเข้มแข็ง และมีความยิ่งใหญ่ จนสามารถควบคุมบุคลิกภาพทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การแสดงออก เพื่อให้ปมไปสู่เป้าหมายในที่สุด เช่น ฮิตเลอร์ จะเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกควบคุมด้วยความปรารถนาในอำนาจ ความต้องการยิ่งใหญ่เป็นต้น

1.3 จิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตกาล (Collective Unconscious) เป็นเสมือนที่รวบรวม และสะสมความทรงจำที่ซ่อนอยู่ภายใน และติดตาม สืบต่อ ตลอดจน ตกทอดเป็นมรดกจากบรรพบุรุษในอดีตก่อนกำเนิดเป็นพลังจิตส่วนที่เหลือหรือตกค้างมาจากพัฒนาการ และวิวัฒนาการของมนุษย์ที่เกิดจากประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง มนุษย์จะสืบทอดประสบการณ์ในอดีตของคนรุ่นก่อนๆ มาเป็นแนวโน้มที่ทำให้เกิดกำหนดพฤติกรรมที่จะโต้ตอบกับแม่โดย Jung อธิบายว่า เมื่อย้อนหลังกลับไปในอดีตชาติใดๆ ก็ตามมนุษย์ย่อมได้รับสิ่งต่างๆ จากแม่ ซึ่งทำให้มนุษย์เกิดความสมบูรณ์ และมีศักยภาพประสบการณ์ระหว่างแม่กับทารกจะถูกถ่ายทอดกัน และสร้างเป็น รูปแบบในสมองของมนุษย์ตกทอดสืบต่อกัน มานานตั้งแต่อดีตชาติ ดังนั้น ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงทำให้ทารกเกิดมาพร้อมกับ ความสามารถที่จะมองเห็น และพัฒนาความสามารถ ในการรับรู้ และโต้ตอบกับแม่ โดยผ่านประสบการณ์ และการฝึกหัด ในชาติปัจจุบัน โดยมีรากฐานมาจากอดีตชาติเป็นพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง หรือในกรณีอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมด้วยแนวโน้ม หรือทุนเดิมหลายๆ อย่าง เพื่อคิด รู้สึก และรับรู้ ให้สอดคล้องกับแบบแผนที่มีอยู่ในสมองอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นมนุษย์ส่วนใหญ่กลัวงูทุกคน ทั้งนี้ เพราะเกิดจากการสรุปของคน ในยุคเก่าที่ต้องต่อสู้กับอันตรายในความมืดหลายๆ อย่าง และมนุษย์ก็ตกเป็นเหยื่อของพิษงู ความกลัวภายในจิตเหล่านี้ เกิดจากประสบการณ์ดังกล่าว ที่ยังคงเหลืออยู่จนถึงมนุษย์ในยุคปัจจุบัน หรือในกรณีอื่นๆ เช่น ความคิดที่เกี่ยวกับ ความต้องการความยิ่งใหญ่ ซึ่งอธิบายได้ว่า มนุษย์มีแนวโน้มในเรื่องดังกล่าวอย่างมั่นคง อยู่ในสมองมาแล้ว จึงต้องการแรงเสริม เพียงเล็กน้อย จากประสบการณ์ในปัจจุบันที่กระตุ้นให้ความคิดเหล่านั้นเข้ามาอยู่ใน ระดับจิตสำนึกของบุคคล ซึ่งจะเข้ามีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรม ของบุคคล และมีการสืบทอดกันไป

Jung เชื่อว่า Collective Unconscious เป็นรากฐานของโครงสร้างทางบุคลิกภาพ ที่ก่อรูปร่างให้กับมนุษย์อย่างเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเป็นเสมือนภาพที่ติดตัวอยู่แล้วนั่นเอง โดยมีสิ่งที่เรียกว่า รูป หรือ แม่พิมพ์ หรือ แม่แบบ (Archetype) จะเป็นส่วนประกอบของ Collective Unconscious ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป ได้แก่ สิ่งที่จะมีอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ (Dominant) ภาพในเทพนิยาย (Mythological Images) หรือ รูปแบบในการแสดงพฤติกรรม (Behavior Pattern) โดยที่ Archetype จะเป็นความคิดที่กว้างขวางของมนุษย์ ซึ่งได้ก่อตัวขึ้นเป็นจินตนาการหรือรูปภาพต่างๆ (Image or Visions) โดยรูปภาพเหล่านี้จะสอดคล้องกับความสำนึก และการรับรู้ตามปกติ ในชีวิตซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่รู้ตัว เช่น ภาพแม่ (Mother Archetype) ที่บุคคลสร้างขึ้นเป็นภาพ จะเป็นเอกลักษณ์ของแม่ตามความเป็นจริง กับความคิดที่ก่อตัว ซึ่งเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ และประสบการณ์ของทารกกับแม่ ที่ทำให้เกิดภาพแม่ (Mother Archetype) ที่เป็นผลผลิตของประสบการณ์จากเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ในอดีต กับประสบการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันมาหลายชั่วอายุคน มาอยู่ในความทรงจำ และการระลึกไว้ ด้วยความสวยงาม ด้วยความดี ในภาพรวมของแม่ (Mother Archetype) ว่าแม่เป็นพระพรหมของลูก
จะเห็นได้ว่า Archetype อื่นๆ จะเป็นประสบการณ์ที่เกิดซ้ำๆ กันหลายชั่วอายุคนเช่น มนุษย์มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นวนเวียนเป็นประจำ จากฟากฟ้าหนึ่งไปสู่อีกฟากฟ้าหนึ่ง พร้องทั้งให้ความร้อน และแสงสว่างประสบการณ์ประทับใจดังกล่าวจะมีลักษณะวนเวียนซ้ำๆ กันจึงทำให้เรา รู้สึกว่าดวงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ตรึงแน่น หรือผนึกอยู่ใน Collective Unconscious และกลายเป็น Archetype ของสุริยะเทพ (Sun – God) ซึ่งแสดงถึง ความมีอำนาจ ความสว่างไสว ความร้อนดังนั้น มนุษย์จึงบูชา และกราบไหว้พระอาทิตย์ให้เป็นพระเจ้า ดังนั้นมนุษย์จึงมีความรู้สึกนึกคิดที่สร้างรูปของพระอาทิตย์ (Sun – Archetype) นั่นเอง Archetype ในทำนองเดียวกัน เมื่อมนุษย์ได้รับพลังจากธรรมชาติอื่นๆ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลมพายุ ฟ้าผ่า ไฟไหม้ป่า ประสบการณ์ดังกล่าว ก็จะถูกพัฒนาขึ้นมาในรูปของพลังอำนาจ (Archetype of Energy) นอกจากนี้ Archetype ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปเดียว แต่อาจจะมาจากรูปหลายๆ รูปเข้ามาประสมประสานกันเกิดเป็นรูปใหม่ เช่น ความกล้าหาญของวีรบุรุษกับความฉลาด ความรักชาติรักแผ่นดินอาจกลายมาเป็น "มหาราช" ได้
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในเรื่อง Archetype นั้น Jung พบว่ามี Archetype มากมายที่แทรกซึมเข้ามาอยู่ในจิตสำนึก โดยแสดงออกในรูปแบบของ เทพนิยาย ความฝัน การทำนายฝัน พิธีกรรมทางศาสนา ภาพเขียน งานศิลปะ หรือ แม้แต่แสดงออกมาในรูปแบบของอาการต่างๆ ทางโรคจิตโรคประสาท ก็ได้ ในขณะที่ Archetype อีกมากมายที่อยู่ใน จิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตอาจจะแสดงออกมาในรูป ของการเกิด การกลับมาเกิดใหม่ ความตาย อำนาจ วีรบุรุษ พระเจ้า ปีศาจ เป็นต้น

1.4 หน้ากาก(Persona) เป็นสิ่งที่ตัวละครใช้สวมไว้ เพื่อแสดงบทบาทต่างๆใน การแสดงหน้ากากยังแสดงปฏิกิริยา หรือตอบโต้กับ ข้อเรียกร้อง ทางสังคม และขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อตอบสนองความต้องการของ Archetype ภายในตนเอง และเพื่อให้สอดคล้องกับ ความคาดหวังของสังคมที่ต้องการทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่างๆหน้ากากจึงมีลักษณะของการประนีประนอม ระหว่างความต้องการต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมกับ รากฐานความเป็นจริงที่อยู่ภายในแต่ของละบุคคล และแสดงบทบาทหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันที่จะช่วย ควบคุมพลังรุนแรง ที่เป็นต้นตอแรกๆของอุปนิสัยต่างๆ ที่มีอยู่ใน Collective Unconscious และมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความประทับใจกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเสมือนบุคลิกภาพสาธารณะ (Public Personality) ซึ่งเป็นพฤติกรรม ต่างๆ ที่บุคคลแสดง โดยใช้ความเห็นของสาธารณชน ซึ่งตรงกันข้ามกับบุคลิกภาพส่วนตัว (Private Personality) แต่ในเวลาเดียวกัน หน้ากากก็มีส่วนเสีย เพราะทำให้บุคคลเรียนรู้ที่จะปิดบังตัวตนที่แท้จริงไว้ นอกจากนี้ ยังทำให้บุคคลปิดบังศักยภาพ หรือพลังความสามารถต่างๆ ที่อาจทำให้บุคคลสูญเสีย ความเป็นตัวของตัวเองไป ในประเด็น ดังกล่าวหากเราสังเกตจากตัวเราเอง จะพบว่าเมื่อไรก็ตามที่เราสวมหน้ากาก หรือแสดงพฤติกรรมตามบทบาทของสังคมที่กำหนดไว้มากๆ เราอาจทำให้รู้สึกอึดอัด และขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถพูด ทำ หรือ แสดงออกตามตัวตนที่เป็นจริงของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นการสกัดกั้นความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ในตนเอง และเป็นผลเสียต่อการพัฒนาบุคลิกภาพในที่สุด

1.5 ลักษณะของหญิงที่มีอยู่ในชาย (Anima) และลักษณะของชายที่มีอยู่ในหญิง (Animus) หรืออาจเรียกว่าลักษณะเพศแฝงเร้น ซึ่งเป็นการอธิบายถึงลักษณะความเป็นหญิงในบุคลิกภาพของผู้ชาย เช่น ความอ่อนโยน ความนิ่มนวล เป็นต้นลักษณะความเป็นหญิง ที่มักแฝงไว้ในชาย (Anima) และลักษณะความเป็นชายในบุคลิกภาพของผู้หญิง เช่น ความเข้มแข็ง ความเด็ดเดี่ยว ที่มักแฝงไว้ในตัวหญิงเช่นกัน (Animus) หากจะพิจารณาในด้านสรีระจะพบว่า ในเพศชายจะมีทั้งฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนเพศหญิง ในขณะที่เพศหญิงก็จะมีฮอร์โมนเพศหญิง และฮอร์โมนเพศชายอยู่เช่นกัน ซึ่ง Jung อธิบายว่า ลักษณะความเป็นหญิงในบุคลิกภาพของชาย หรือความเป็นชายในบุคลิกภาพของหญิงเกิดจาก Archetype คือรูปของผู้หญิงในชาย (Feminine Archetype) ที่เรียกว่า Anima หรือรูปของผู้ชายในผู้หญิง (masculine Archetype) ที่เรียกว่า Animus รูปต่างๆ เหล่านี้แม้ว่าอาจเกิดจากโครโมโซมเพศ (Sex Chromosomes) และการทำงานของต่อมเพศ (Sex Glands) ก็ตาม แต่สาเหตุสำคัญ Jung เชื่อว่าเป็นผลของประสบการณ์ทางเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ระหว่างชายกับหญิง ซึ่งมีชีวิต และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมา โดยหมายความว่าประสบการณ์ในอดีตที่เพศชายมีชีวิตอยู่กับเพศหญิงทำให้ผู้ชายรับ ลักษณะความเป็นหญิงไว้ในตนเอง ในขณะที่ประสบการณ์ของการอยู่ร่วมกัน ทำให้ผู้หญิงรับลักษณะของ ความเป็นชายไว้ในตนเองทำให้เพศหญิง มีความเข้มแข็งมีความอดทน และกล้าหาญ ในขณะที่เพศชายเองก็มีความอ่อนโยน และนุ่มนวลแฝงอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้แต่ละเพศแสดง คุณลักษณะของเพศตรงข้าม ในตัวตน นอกจากนี้ การแสดงคุณลักษณะ ที่เป็นเพศตรงกันข้ามยังเป็นแรงจูงใจ ให้แต่ละเพศมีการตอบสนองเพื่อการเข้าใจเพศตรงกันข้าม โดยฝ่ายชายจะเข้าใจธรรมชาติของฝ่ายหญิง จากกคุณลักษณะของฝ่ายหญิงที่มีอยู่ในตัวฝ่ายชายเอง และในทำนองเดียวกัน ก็จะทำให้ฝ่ายหญิงเข้าใจธรรมชาติของฝ่ายชายที่มีอยู่ในตัวของหญิงเช่นกัน

1.6 เงา (Shadow) เป็นรูป (Archetypes) เป็นสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณพื้นฐานที่มีคล้ายกับสัตว์ เมื่อมีวิวัฒนาการจนกลายเป็นมนุษย์ๆ จึงรับ และสืบทอดมาจากวิวัฒนาการ จากรูปแบบที่ต่ำกว่ามาสู่ความเป็นมนุษย์ทำให้มนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำสิ่งเลวร้าย และผิดศีลธรรม เป็นส่วนของจิตที่อยู่ลึกที่สุด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น Shadow ซึ่ง Jung เชื่อว่า Shadow เป็นด้านของความเป็นสัตว์ (Animal Side) ที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดของมนุษย์ในส่วนที่เป็นความชั่วร้าย ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็น ในลักษณะภายนอก ทำให้เป็นพฤติกรรมที่ยังไม่ได้ขัดเกลา หรือพฤติกรรมที่แสดงความรู้สึกก้าวร้าว พฤติกรรมที่เป็นศัตรูกับผู้อื่น หรือเป็นพฤติกรรม ที่ไม่น่าชื่นชมรวมถึงความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่สังคมไม่ยอมรับ เพราะเป็นการแสดงสิ่งที่ไม่เหมาะสม Shadow เหล่านี้จะถูกปิดบังโดยใช้หน้ากาก (Persona) หรือเก็บลงสู่ประสบการณ์ไร้สำนึกของบุคคล (Personal Unconscious) นั่นเอง

2. ตน ( Self )

ตน เป็นจุดศูนย์กลางของบุคลิกภาพ หมายถึง รูป (Archetype) ซึ่งนำบุคคลไปสู่การแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้ถึงจุดสูงสุด (Self Realization) และเป็นวิถีทางของบุคคล (Way of Individual) ที่ทำให้บุคลิกภาพมีความเป็นเอกภาพ และมีความสมดุล และมั่นคง การทำงานของSelf จะเป็นเช่นเดียวกับ Archetype อื่นๆ คือ จูงใจให้เกิดพฤติกรรม นอกจากนี้ Self จะทำหน้าที่ เป็นเป้าหมายของชีวิต และเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่มนุษย์พึงแสวงหา ถือว่า เป็นกระบวนการที่บุคคลมุ่งไปสู่ความเข้าใจตนเองซึ่งการที่บุคคลจะเข้าใจตนเองนั้น จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก ทำให้บุคคลแสวงหาเป้าหมายนี้ตลอดเวลา
ความเข้าใจตนเองจะยังไม่เกิดกับบุคคลที่อายุน้อย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และบุคคลจะพยายามแก้ไขปัญหาตลอดจน ความคิดขัดแย้งหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในจิต และก็มีคนเป็นจำนวนน้อยที่จะบรรลุถึงความเข้าใจตนเองได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก Archetype ของ Self ยังจะไม่แสดงออกอย่างชัดเจน จนกว่าจะถึงวัยกลางคน ซึ่งเป็นวัยที่บุคคลเริ่มต้น ที่จะมีความพยายามอย่างจริงจัง ที่จะเปลี่ยนศูนย์กลางของบุคลิกภาพ จากการรับรู้ตนเอง (Ego) มาเป็นความเข้าใจในตนเอง (Self Realization)
ทฤษฎีนี้เชื่อว่า มนุษย์จะแสวงหาความสมบูรณ์ได้ก็โดยการผ่านทางหลักธรรมทางศาสนา ซึ่งทุกศาสนาจะกล่าวถึงสัจธรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวตน การแสวงหาหลักธรรมในทางศาสนาเป็นเรื่องของการแสวงหาเอกภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบุคคล ตลอดจนความต้องการเป็นผู้บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ โดยใช้การฝึกฝนหรือ การปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมจากศาสนาทางซีกโลกตะวันออก เช่น โยคะ การฝึกสมาธิ เป็นต้นทฤษฎีนี้ยังพบว่ารูปแมนดาลัส (Mandalas) หรือ Magic Circle เป็นสัญลักษณ์ ที่พบจากการเขียนรูป และศิลปะของทุกวัฒนาธรรม ที่บุคคลสร้างขึ้นจากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ (Sensation) การกำหนดรู้ภายในใจตนเอง (Intuition) การรู้สึก (Feeling) และการคิด (Thinking) ซึ่งเป็นการพยายามที่จะสร้างความเจริญงอกงาม ให้ตนเองโดยการรับเอาหลักธรรมต่างๆ ของศาสนาซึ่งแตกต่างไปตามความเชื่อของแต่ละบุคคลหรือแต่ละศาสนา อย่างไรก็ตาม รูป Mandalas ที่พบในศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า และศาสนาอื่นๆ ทางซีกโลกตะวันออก โดยมีดอกไม้สีเหลืองทอง อยู่ตรงกลาง ซึ่งแสดงขอบเขตของความสุขอย่างสูงสุด หรือความดีความงามอย่างสูงสุด

3. ระบบความสัมพันธ์ภายใน (Interdependent Systems)

ระบบความสัมพันธ์ภายในของบุคคลประกอบด้วย รูปแบบทางจิตวิทยาของบุคคลที่เป็นเจตคติพื้นฐาน (Basic Attitudes ) โดยสามารถแบ่งบุคลิกภาพ ของบุคคล ออกเป็น 2 ประเภทคือ (Two Psychological Type)

3.1 พวกแสดงตัว หรือผู้ที่มีเจตคติที่หันออกจากตนเอง (Extraversion)ซึ่งจะมีการแสดงออกที่เผชิญกับโลกภายนอก บุคคลประเภทนี้จะชอบแสดงตัว ชอบสังคม มักจะมีเพื่อนมากชอบพูดมากกว่าฟัง ช่างพูด ร่าเริง แจ่มใส มีความสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ชอบการเปลี่ยนแปลง มีนิสัยเปิดเผย มีความเชื่อมั่นบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง รู้จักผ่อนปรน และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อย่างเหมาะสม มีความยืดหยุ่น กล้าต่อสู้ และเผชิญกับปัญหา สนใจกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ชอบมีประสบการณ์ด้วยตนเอง และไม่จริงจังกับความผิดหวังต่างๆ เป็นต้น
3.2 พวกเก็บตัว หรือผู้มีเจตคติหันเข้าหาตนเอง (Introversion)เป็นผู้ที่มุ่งเข้าหาตนเอง บุคคลเหล่านี้มักจะไม่กล้าตัดสินใจ ไม่แน่ใจ จิตใจไม่มั่นคง สงบเสงี่ยม ไม่ชอบสมาคมกับผู้อื่น เก็บตัว ชอบอยู่ตามลำพัง ไม่ยืดหยุ่น มักมีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ยึดมั่นในความรู้สึกของตนเอง อารมณ์หงุดหงิด และหวั่นไหวง่าย มักจะมีความรู้สึกเหงา และว้าเหว่ และเมื่อเกิดปัญหาก็มักจะแยกตัวออกไปจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ ยังไม่มีความไว้วางใจผู้อื่น การมองผู้อื่นด้วยความพินิจพิเคราะห์ ตลอดจน จะไม่ชอบความก้าวร้าว และรุนแรง

เจตคติพื้นฐานทั้งสองประการนี้ จะเกิดขึ้นในบุคลิกภาพ โดยที่บุคคลจะไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง อยู่ในตัวเองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะมีทั้งสอง ลักษณะอยู่ในตัว และถ้าเจตคติอย่างใดอย่างหนึ่งมีลักษณะเด่น เจตคตินั้นก็จะเข้ามาอยู่ในจิตสำนึกในขณะที่อีกเจตคติหนึ่งจะด้อย และอยู่ในจิตไร้สำนึก ทำให้การรับรู้ตนเอง (Ego) แสดงตนโดยหันตัวเองออกสู่การติดต่อกับโลกภายนอก ในขณะที่สิ่งที่อยู่ในประสบการณ์ไร้สำนึก ( Personal Unconscious ) จะเป็นลักษณะที่หันเข้าหาตนเอง อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางบุคลิกภาพทั้ง 2 อย่างนี้ต่างก็ให้ผลดี และผลเสียต่างกันไป เช่น การหันเข้าหาตนเองอาจจะทำให้บุคคลมีการสร้างสรรค์ และผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่จะเกิดผลเสียที่อาจหมกมุ่น และซึมเศร้าอยู่กับตนเองมากเกินไป ส่วนการหันออกจากตนเอง จะทำให้กล้าตัดสินใจแต่อาจเกิดผลเสียคือกล้ามากเกินไปโดยปราศจากการวิเคราะห์ และการพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบ

การทำหน้าที่ของบุคลิกภาพ 4 ประการ (Four Functions)

การทำหน้าที่ของบุคลิกภาพ (Four Functions) ตามสภาพทางจิตใจของมนุษย์ มี 4 ประการ ได้แก่ การคิด (Thinking) การรู้สึก (Feelings) การรับรู้ทางประสาทสัมผัส (Sensing) การกำหนดรู้ในใจ (Intuition) โดยการคิดจะเกี่ยวข้องกับความเข้าใจ และสติปัญญา จากความพยายาม ที่จะเข้าใจธรรมชาติของโลก และตัวเองส่วนความรู้สึกจะทำหน้าที่ในการให้คุณค่า ของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ทำให้เกิดความรู้สึกสุข หรือเกิดความเจ็บปวด ความโกรธความกลัว ความรื่นเริง และความรักเป็นต้น สำหรับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสนั้นจะเป็นการรับรู้ หรือการทำหน้าที่ตามความเป็นจริง (Reality Function) จะเป็นการรับรู้โดยกระบวนการของจิตไร้สำนึกที่รู้ล่วงหน้าในสิ่งต่างๆ ทำให้บุคคลมีความสามารถรู้ความเป็นจริงในสิ่งสำคัญต่างๆ
ตัวอย่างการทำหน้าที่ของบุคลิกภาพทั้ง 4 ประการของบุคคลสามารถอธิบายได้ เช่น ในขณะที่นาย ก ซึ่งกำลังยืนอยู่ที่หน้าผาสูง แห่งหนึ่ง ถ้าส่วนที่ทำหน้าที่ด้านความรู้สึก (Feeling) มีอำนาจมาก เขาจะรู้สึกหวาดเสียว กลัว จนหายใจไม่ออก ขาสั่น ในขณะที่ถ้าเขาถูกควบคุมโดยส่วน ที่ทำหน้าที่ของการรับรู้ทางสัมผัสมากกว่า (Sensing) เขาจะมองภาพหน้าผาว่าเป็นตามธรรมชาติ ในขณะที่ ถ้าเขาถูกควบคุมด้วย ส่วนที่ทำหน้าที่คิด มากกว่า (Thinking) เขาจะมีความเข้าใจว่า หน้าผาเป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดจากหลักการภูมิศาสตร์ในขณะที่ ถ้าเขาถูกควบคุมด้วย ส่วนที่ทำหน้าที่ การกำหนดรู้ (Intuition) มากกว่า ก็จะมองว่าหน้าผาเป็นสิ่งลี้ลับของธรรมชาติ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การคิด และการรู้สึก เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์มี การทำหน้าที่อย่างมีเหตุผล สามารถพิจารณาสิ่งต่างๆ ในทางนามธรรม ตลอดจนสามารถสรุปเป็นกฎเกณฑ์ได้ ในขณะที่ การรับรู้ทางประสาทสัมผัส และการกำหนดรู้ในใจ จะเป็นส่วนที่เป็นการทำหน้าที่อย่างไม่มีเหตุผล เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับรู้ เป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า บุคลิกภาพจะมีการทำหน้าที่ทั้ง 4 ประการดังกล่าวแต่การทำหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้พัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือโดยทั่วไปแล้ว ลักษณะหนึ่งใน 4 อย่างจะเป็นลักษณะเด่น (Superior Function) จะแสดงออกมาทางจิตสำนึกในขณะที่ จะมีอีกลักษณะหนึ่ง จาก 3 ลักษณะที่เหลือ จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือการทำหน้าที่เด่น หรือ หน้าที่เด่นถูกป้องกันไม่ให้ทำหน้าที่ ลักษณะที่ช่วยเหลืออยู่ ก็จะทำหน้าที่แทนโดยอัตโนมัติ (Auxiliary Function) ที่มักถูกเก็บกดไว้อยู่ในจิตไร้สำนึกแต่ มักจะแสดงออกโดยตัวของมันเอง ในรูปของความฝัน และการสร้างจินตนาการ นอกจากนี้ ส่วนที่ทำหน้าที่ด้อย ก็จะมีส่วนที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือ เข้ามาสัมพันธ์ด้วยเช่นเดียวกับ ส่วนที่ทำหน้าที่เด่นมีส่วนช่วยเหลือเข้ามาทำหน้าที่แทนดังกล่าว หรืออาจกล่าวได้ว่าทั้งลักษณะเด่น และด้อย ต่างก็มีลักษณะที่ช่วยเหลือเข้ามาสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน Jung อธิบายว่า ถ้าการทำหน้าที่ 4 ประการ ของบุคลิกภาพเป็นไปในลักษณะที่ทำหน้าที่แต่ละอย่าง อยู่บนเส้นรอบวงกลม โดยมีระยะห่างเท่าๆ กันแสดงให้เห็นว่า การทำหน้าที่ทั้ง 4 เป็นไปอย่าง สมดุล โดยไม่มีหน้าที่เด่น หน้าที่ด้อย และการช่วยเหลือ ทั้งนี้เนื่องจากการทำหน้าที่แต่ละอย่างมีแรงเท่าๆ กันในบุคลิกภาพ ก็จะทำให้บุคคลเกิด "การเข้าใจตนเองอย่างสมบูรณ์ (Fully Actualized)"
ความสัมพันธ์ระหว่างระบบต่างๆ ของบุคลิกภาพจะเห็นได้ว่าระบบของบุคลิกภาพ ซึ่งได้แก่ โครงสร้างทางบุคลิกภาพ ตน และ ระบบความสัมพันธ์ภายใน ที่เกี่ยวข้องกับเจตคติ และการทำหน้าที่ 4 ประการของบุคลิกภาพต่างก็ทำหน้าที่ร่วมกัน จนทำให้เกิดบุคลิกภาพรวมทั้งหมดของความเป็นบุคคล

การแปรพลังของบุคลิกภาพ (The Dynamic of Personality)

การแปรพลังของบุคลิกภาพ (The Dynamic of Personality) ได้แก่ พลังจิต (Psychic Energy) หลักของความสมดุล (The Principle of Equivalence) หลักของการกระจาย (The Principle of Entropy)

  1. พลังจิต (Psychic Energy) เป็นพลังที่ทำงานในบุคลิกภาพ พลังจิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็น หรือสัมผัสได้ คล้ายกับพลังทางฟิสิกส์ ได้เช่นเดียว กับ พลังทางฟิสิกส์ ที่ทำให้เกิดความร้อน และแสงสว่างได้ โดยที่พลังจิตจะทำงานติดต่อกันไปในทิศทางต่างๆ ทั้งทั้งจิต เช่น จากจิตสำนึกไปสู่ จิตไร้สำนึก และสามารถย้อนกลับมาสู่ที่เดิมได้ หรือไปปะทะกับพลังอื่นๆ ซึ่งขัดขวางการทำงานของมัน แต่พลังจิตจะทำให้ บุคคลเกิดความรู้สึกต่างๆ ความคิด ตลอดจน ทำให้เกิดพฤติกรรม และเป็นสิ่งที่แสดงออกมาจากความขัดแย้งระหว่างแรงต่างๆ ที่อยู่ในบุคลิกภาพ เช่น ความรัก และความ เกลียดชัง สามารถคงอยู่ในจิต ทำให้เกิดความตึงเครียด และเกิดพลังใหม่ๆ
  2. หลักของความสมดุล (The Principle of Equivalence) เกิดจากหลักการที่ว่า พลังที่แผ่ขยายออกมาจากส่วนหนึ่งของจิต ซึ่งจะได้รับการ ชดเชยให้สมดุล ในส่วนเดียวกัน หรือส่วนอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป พลังนี้ จะไม่สร้างสรรค์ และไม่ทำลาย แต่จะย้ายจากส่วนหนึ่งไปสู่อีกส่วนหนึ่ง และถ้าให้ปริมาณของพลัง ถูกกระจายออกมา หรือทำให้หมดไป ภายใต้สภาวะที่กำหนดก็จะทำให้พลังในปริมาณที่เท่ากัน ในรูปเดียวกัน หรือในรูปของพลังอย่างอื่น จะปรากฏขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า การเพิ่มขึ้น และการลดลงของพลังดังกล่าว เป็นการทำหน้าที่ของจิต เช่น ผู้ที่มีการเพิ่มขึ้นของผลสัมฤทธิ์ในอาชีพ อาจหมายถึงความสูญเสียความสุขในชีวิตได้ หรือในเรื่องของความรู้สึกที่บุคคล ไม่สามารถแสดงออกมาได้ เช่น การที่บุคคลถูกเก็บกดในเรื่องเพศไว้ (Repressed) พลังเหล่านี้ จะมีผลออกมา โดยการทำกิจกรรมต่างๆ ในระดับจิตไร้สำนึกที่แสดงออก โดยการทดเทิด (Sublimated) หรือเปลี่ยนไปในรูปของการสร้างสรรค์งาน เป็นต้น
  3. หลักของการกระจาย (The Principle of Entropy) สำหรับหลักการกระจายนั้น หมายถึงกระบวนการของพลังงานภายในจิต ซึ่งประกอบด้วย แรงที่ไม่เท่ากัน โดยมีการกระจายพลัง ออกไป เพื่อก่อให้เกิดความสมดุล หรือเกิดการบูรณการในบุคลิกภาพ เพื่อขจัดความขัดแย้ง ความตึงเครียด ที่จะทำให้เกิดการสมดุล และมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาความเข้าใจตนเอง (Self-Realization) ที่ก่อให้เกิดศูนย์กลางใหม่ เช่น ตน (Self) เป็นศูนย์กลางใหม่ที่เข้าแทนที่การรับรู้ในตนเอง (Ego) แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ เป็นต้น

การพัฒนาการทางบุคลิกภาพ (The Development of Personality) Jung เน้นถึงคุณลักษณะของการมุ่งไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ และเชื่อว่ามนุษย์ต้องการความก้าวหน้าโดยพยายามที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยการพัฒนาตนเอง จากความสมบูรณ์น้อยไปสู่ความสมบูรณ์ที่สูงขึ้น โดยเชื่อว่าหลักการเบื้องต้นของการพัฒนาการ (Basic Concept of Development) ของมนุษย์มีลักษณะ 3 ประการ พอสรุปได้ดังนี้

  1. เป้าหมายของการพัฒนาการ (The Goal of Development) เป็นการแสวงหาเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์พึงแสวงหา นั่นคือการเข้าใจตนเอง (Self-Actualization) ซึ่งเป็นความสมบูรณ์สูงสุด เป็นบูรณการของทุก ๆ ระบบของบุคลิกภาพ โดยที่จิต (Psyche) ได้มีศูนย์กลางขึ้นใหม่ คือ ตน (Self) แทนศูนย์กลางเดิม คือ การรับรู้ในตนเอง (Ego) ดังนั้น Self จึงเป็นศูนย์กลางของบุคลิกภาพแทน Ego และจุดมุ่งหมายนี้ ทำให้มนุษย์พัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง จนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมายของการแสวงหา ซึ่งถือว่า เป็นจุดสุดท้ายของวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีความแตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ เขาเปรียบเทียบชีวิต และบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลว่าเปรียบเสมือนกับการเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบ และเป้าหมายดังกล่าวจะบรรลุได้ โดยกระบวนการวิวัฒนาการทางด้านจิตใจ และบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลที่ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์นั่นเอง
  2. อดีตกับอนาคต (Casually versus Theology) ทั้งอดีต และอนาคตเป็นสิ่งที่จะทำให้เข้าใจบุคลิกภาพของบุคคลโดยสมบูรณ์ซึ่งจะต้องระลึกเสมอว่า ปัจจุบันไม่ได้ถูกกำหนดจากอดีตเท่านั้น แต่ได้ถูกกำหนดโดยอนาคตด้วยเช่นนั้น ดังนั้นที่เราจะเข้าใจมนุษย์ได้นั้นจะต้องพิจารณามนุษย์ทั้งสองด้าน คือ ด้านหนึ่งมองในอดีต และอีกด้านหนึ่งก็จะมองในอนาคต และทัศนะทั้งสองนี้ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกันก็จะเป็นภาพของมนุษย์ที่สมบูรณ์ นอกจากนี้แล้วความคิดเห็นในเรื่องเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ อนาคต (Teleology) หรือเป้าหมายสุดท้าย (Finalistic) จะเป็นตัวชี้นำ และกำหนดจุดมุ่งหมายของมนุษย์โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาในเรื่องจิต (Psyche) จะพบว่า จิตด้านหนึ่ง เป็นภาพของอดีต ที่หมกมุ่นอยู่ หรือตกตะกอนอยู่ ส่วนอีกด้านหนึ่ง จะเป็นภาพของการเริ่มก่อตัวขึ้นของความรู้สึกทั้งหมดที่ได้เข้ามาสู่จิต นอกจากนี้จิตยังเป็นความสามารถ ที่จะทำให้มนุษย์ตกเป็นทาส หรือเป็นนักโทษ ที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากเรื่องเก่าๆ ได้ ส่วนอนาคต จะทำให้มนุษย์รู้สึกมีความหวัง ที่จะมีชีวิตอยู่
  3. พันธุกรรม ( Heredity ) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในทัศนะของ Jung ทั้งนี้เนื่องจากพันธุกรรม เป็นพื้นฐานของสัญชาตญาณ ทางชีวภาพ ที่ทำหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์ และสัญชาตญาณเป็นรากฐานในธรรมชาติของมนุษย์ เป็นตัวเชื่อมโยงมนุษย์กับอดีตของความเป็นสัตว์ นอกจากนี้พันธุกรรม ยังเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของบรรพบุรุษ ซึ่งอาจก่อรูปเป็นรูปต่างๆ (Archetype) หรืออาจเป็นความจำในอดีต ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของพันธุกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กันหลายๆ ชั่วอายุคน

ขั้นของการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ (Stage of Personality Development)

Jung ไม่ได้อธิบายรายละเอียดในขั้นต่างๆ ของบุคลิกภาพจากวัยทารกจนถึงวัยผู้ใหญ่เช่น เดียวกับฟรอยด์ แต่จุงได้สรุปพัฒนาการของบุคคลไว้เป็น 4 ขั้นคือ

1. ระยะแรกเกิด ถึง 5 ขวบ เป็นระยะแรกของชีวิต ที่พลังเพศ (Libido) จะครอบคลุมหรือ ทำกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่
2. วัยรุ่น เป็นวัยที่กำลังมีความสามารถ มีกำลังความคิด มีความกระตือรือร้น และความ ขยันขันแข็งในกิจการต่างๆ มีแรงกระตุ้น มีพลังในการกระทำต่างๆ เต็มได้ด้วยความมีชีวิตชีวา แต่ก็เป็นระยะที่ยังพึ่งพาผู้อื่นอยู่เป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้ในเรื่องอาชีพ การแต่งงาน และการสร้างคนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสังคม
3. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นระยะของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น มีความสนใจ ใหม่ ๆ เกิดขึ้น และก็มักเป็นความสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมต่างๆ
4. วัยกลางคน เป็นระยะที่บุคคลต้องการอิสระ ซึ่งอาจจะเก็บตัวมากขึ้น มีค่านิยมในเรื่อง การทำประโยชน์ต่อสังคม สนใจศาสนา ปรัชญา ความเป็นพลเมืองดี มักจะเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ที่มีจิตใจต่อผู้อื่น มีคุณธรรม และมนุษยธรรม เป็นต้น