การพัฒนาตน
การพัฒนาตนเอง
ซัลลิแวน ( Sullivan ) เสนอสิ่งที่เรียกว่าระบบแห่งตนไว้ว่า คนเรานั้นถ้ามีอะไรดีก็มักจะชอบเอาออกมาอวด เรียกว่า "ฉันดี" ( good me ) จะแสดงออกมาเปรียบเสมือนวงแหวนที่อยู่รอบนอกสุด ถ้ามีอะไรที่ตัวเองเชื่อว่าไม่ดีก็จะปกปิดเสีย เรียกว่า"ฉันไม่ดี" ( bad me ) อยู่ถัดเข้าไปอีก จากวงแรกและวงในสุดคือ สิ่งที่เราปฏิเสธว่า "ฉันไม่ใช่" ( not me ) ไม่มีไม่เป็น เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ดีมากๆ จนตัวเราเองก็ไม่ยอมรับ
ในการฝึกอบรมข้าราชการระดับหัวหน้ากองของกระทรวงหนึ่ง วิทยากรถามว่า ปีที่แล้วมีใครได้ สองขั้นบ้างหรือภายในห้าปี ใครได้สองขั้นเกิน สองครั้ง ปรากฏว่า ผู้เข้ารับการอบรมยกมือกันพรึบและยังมีเสียงถามกันว่าได้จริงหรือไม่ เพราะบางคนจำได้ว่า ผู้ที่ยกมือไม่ได้สองขั้นจริง การที่เขารีบยกมือ เพราะอยากให้คนอื่นคิดว่าได้ เลยรีบกมือเอา"ฉันดี" ( good me ) ออกมาโชว์เลยพอถึงตอน"ฉันไม่ดี" ( bad me ) วิทยากรถามว่า ใครเคยมาทำงานสาย หรือใครเคยเอาเวลาราชการไปทำประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ยกมือกันหลอมแหลมน้อยคนนักที่จะยอมรับว่า"ฉันไม่ดี" ( bad me )ที่นี้พอถึงไม่ใช่ฉัน "ฉันไม่ใช่" ( not me ) วิทยากรถามว่าใครเคยคอรับชั่นบ้าง ผู้เข้าอบรมเงียบกันหมดไม่มีใครยกมือทุกคนคิดว่า"ฉันไม่ใช่"
นักศึกษาเคยดูหนังเรื่องจิตไม่ว่างมั๊ย มีคุณนายคนหนึ่งชอบขับรถไปทำผมจอดรถไว้ข้างล่างห้องทำผมอยู่ชั้นสอง ทำผมอยู่ดีดีโวยวายขึ้นมา โอ๊ยรถฉันหาย" ทำให้ตกใจกันทั้งช่างและลูกค้าที่มาทำผมวิ่งกรูกันมาที่เฉลียงที่ไหนได้คุณนายซื้อรถใหม่ BMW สีส้มสวย ไม่รู้จะเริ่มโชว์อย่างไรก็เลย โวยวายจะให้คนเข้ามาดูพอคนมาดูรถมากๆ ก็ถามว่า "สวยไหมรถฉัน"
นักศึกษาหญิงบางคนยืนอยู่ข้างหลังเพื่อนเอาเท้าไปเหยียบเพื่อนคนที่ยืนอยู่ข้างหน้านักศึกษาหญิงคนที่ถูกเหยียบเท้าร้องว่า "อ๊ะเจ็บนะเธอมาเหยียบ เท้าฉันทำไม" นักศึกษาหญิงคนนั้นหัวเราะหึๆ "ดูให้ดีซิว่าอะไรเหยียบเธอ" เพื่อนมองดูก็เห็นเป็นรองเท้าใหม่ๆ ใส่กึกๆกักๆอยู่ตั้งนาน เพื่อนไม่สนใจ
นักศึกษาชายบางคนได้เป็นนักฟุตบอลคณะ เตะโน่นเตะนี่อยู่เรื่อย อาจารย์เองก็ใช่ย่อยเสียเมื่อไรอาจารย์สุภาพสตรีท่านหนึ่งมีลักยิ้มที่ข้างขวา มีเขี้ยวด้วย เช้าสายบ่ายเย็นยิ้มตลอด สอนเสร็จมาเหนื่อยก็ยังยิ้มได้อีกมีอยู่วันหนึ่งหุบไม่ยอมยิ้มเลยเพื่อนเลยแกล้งว่า "อาจารย์นะปากเหม็นนะ" เพราะคนเพิ่งถอนฟันมา ปากมีเศษอาหาร ปากก็ต้องเหม็นเป็นธรรมดา "บ้าซิ สกุลฉันไม่มีใครปากเหม็นยะ" อ้างพันธุกรรมเลยว่าตนเองปากไม่เหม็น นี่ก็"ฉันไม่ใช่" ( not me )
คนบางคนทำงานธุรกิจเอกชน มีหัวซึ่งล้านมากแต่ตรงขมับมีผมอยู่ข้างละสามสี่เส้น ซึ่งเขาปล่อยไว้ยาวแล้ว หวีปัดขึ้นมาบนหัว พอใครบอกว่า หัวล้านก็โกรธมักจะแย้งว่า " ดูให้ดีซิยังมีอยู่เจ็ดแปดเส้นดูให้ดีซิ ยังเหลืออีกเจ็ดแปดเส้น ถ้าล้านมันต้องเกลี้ยงหมด" เวลาเขาสัมภาษณ์คนจะเข้าทำงานเป็นที่รู้กันว่า ผู้สัมภาษณ์เวลา จะมองตาต้องมองต่ำ อย่าเผลอไปมองเหนือคิ้วถ้ามองสูงจะถูกว่า "มองอะไรนะ ไม่มีสัมมาคารวะ ท่าทางอย่างนี้ มองลูกค้าอย่างนี้ เหมือนการดูถูกเหยียดหยามลูกค้าของบริษัท"เป็นอันว่าตกสัมภาษณ์
ในแง่การพัฒนาเราต้องยอมรับจาก"ฉันไม่ใช่" ( not me ) มาเป็น "ฉันไม่ดี"ก่อนแล้วจึงจะสามารถพัฒนาเป็น"ฉันดี" ได้ อย่างเช่นคนที่หัวล้าน พอตอนหลังได้แก้ไขโดยค่อยๆ ทำให้ชินซึ่งตอนแรกเขายอมรับว่าไม่พอใจมากเรื่องหัวล้าน"ฉันไม่ใช่"แต่ต่อมายอมรับว่าเขาหัวล้านในขั้น"ฉันไม่ดี" ตอนหลังเขาบินไปยุโรปไปทำวิกกลับมา
นี่เป็นตัวอย่างว่าในกระบวนการพัฒนาเราต้องการพัฒนาให้เป็น"ฉันดี"เพื่อจะได้นำออกมาโชว์ได้เราต้องยอมรับจาก"ฉันไม่ใช่"มาเป็น"ฉันไม่ดี" ก่อนแล้วจึงค่อยๆ พัฒนาจาก"ฉันไม่ดี"มาเป็น"ฉันดี" ได้
การมองตนเองด้วยการรู้จักตนเองก่อนแล้วยอมรับตนเองสุดท้ายก็เพื่อพัฒนาตนเองลบสิ่งที่ตนเคยเข้าใจว่า ไม่ใช่ตนเองเพราะเป็นความไม่ดีมากๆ มาเป็นการยอมรับจะช่วยให้เรามีสุขภาพจิตดีและรู้จักตนเองมากขึ้น สุธีรพันธุ์ กรลักษณ์ ( 2528:849-859)
การรับรู้ความสามารถของตนเอง ( Self-Efficacy )
การรับรู้ความสามารถของตัวเองนั้น Bandura เสนอแนวคิดความคาดหวังความสามารถของตนเอง (Efficacy Expectation ) โดยให้ความหมายว่า เป็นความคาดหวังที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของตนในลักษณะที่เฉพาะเจาะจง และความคาดหวังนี้ เป็นตัวกำหนดการแสดงออก ของพฤติกรรม การรับรู้ความสามารถของตนเอง หมายถึง การที่บุคคลตัดสินใจเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง ที่จะจัดการและดำเนินการกระทำพฤติกรรม ให้บรรลุ เป้าหมายที่กำหนดไว้ การรับรู้ความสามารถของตนเองมีผลต่อการกระทำของบุคคลเช่น บุคคลสองคนอาจมีความสามารถไม่แตกต่างกัน แต่อาจแสดงออก ในคุณภาพที่แตกต่างกันได้ ถ้าพบว่าคนสองคนนี้มีการรับรู้ความสามารถของตนเองแตกต่างกัน ในคนคนเดียวก็เช่นกัน ถ้ารับรู้ความสามารถของตนเอง ในแต่ละสภาพการณ์แตกต่างกันก็อาจจะแสดงพฤติกรรมออกมาได้แตกต่างกันเช่นกัน ความสามารถของคนเรานั้นไม่ตายตัว หากแต่ยืดหยุ่นตามสภาพการณ์ ดังนั้นสิ่งที่จะกำหนดประสิทธิภาพของการแสดงออกจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรู้ของตนเองในสภาวะการณ์นั้นๆ นั่นเอง นั่นคือถ้าเรามีการรับรู้ว่า เรามีความสามารถเราจะแสดงออกถึงความสามารถนั้นออกมา คนที่รับรู้ว่าตนเองมีความสามารถจะมีความอดทน อุตสาหะ ไม่ท้อถอย และจะประสบ ความสำเร็จในที่สุด
การรับรู้ความสามารถของตนเอง เป็นการตัดสินความสามารถตนเองว่าจะสามารถทำงานได้ในระดับใด ในขณะที่ความคาดหวังเกี่ยวกับผล ที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นการตัดสินว่าผลกรรมใดจะเกิดขึ้นจากการกระทำพฤติกรรมดังกล่าว สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต ( 2543:57-58 )
การรับรู้ความสามารถของตัวเองและความคาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กันมากโดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสองนี้ มีผลต่อการตัดสินใจ ที่จะกระทำพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆซึ่ง Bandura แสดงได้ในแผนภูมิ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ตนเองมี 4 ปัจจัยคือ
1. ประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ ( Mastery Experiences ) บุคคลจะเชื่อว่าเขาสามารถที่จะทำได้ ดังนั้นในการพัฒนาการรับรู้ความสามารถ ของตนเองนั้นจำเป็นจะต้องฝึกให้เขามีทักษะเพียงพอที่จะประสบความสำเร็จได้พร้อมๆกับ การทำให้เขารู้ว่า เขามีความสามารถที่จะกระทำเช่นนั้น จะทำให้เขาได้รับทักษะที่ได้รับการฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด บุคคลที่รับรู้ว่าตนเองมีความสามารถนั้นจะไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ แต่จะพยายามทำงานต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
2. การใช้ตัวแบบ ( Modeling ) การได้สังเกตตัวแบบแสดงพฤติกรรมที่มีความซับซ้อนและได้รับผลการกระทำที่ตนพอใจก็จะทำให้ผู้ที่สังเกตฝึก มีความรู้สึกว่าเขาก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้าเขาพยายามจริงและไม่ย่อท้อ ลักษณะของตัวแบบที่ส่งผลถึงความรู้สึกว่า เขามีความสามารถ ที่จะกระทำได้นั้นได้แก่ การแก้ปัญหาของบุคคลที่มีความกลัวต่อสิ่งต่างๆ โดยที่ให้ดูตัวแบบที่มีลักษณะคล้ายกันเองก็สามารถทำให้ลดความกลัวต่างๆ เหล่านั้นได้
3. การใช้คำพูดชักจูง ( Verbal Persuation ) เป็นการบอกว่าบุคคลนั้นมีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ โดยการใช้คำพูดชักจูงพร้อมกับ และควรจะใช้ร่วมกับการทำให้บุคคลมีประสบการณ์ของความสำเร็จซึ่งอาจจะต้องค่อยๆสร้าง ความสามารถให้กับบุคคลอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้เกิดความสำเร็จตามลำดับ พร้อมทั้งการใช้คำพูดชักจูงร่วมกันก็จะทำให้บุคคลสามารถรับรู้ความสามารถของตนเอง
4. การกระตุ้นทางอารมณ์ ( Emotional Arousal ) เป็นการกระตุ้นทางอารมณืที่มีผลต่อการรับรู้ความสามารถของตน บุคคลที่ถูกกระตุ้นอารมณ์ทางลบเช่น การอยู่ในสภาพที่ถูกข่มขู่ จะทำให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียด กลัว บุคคลประเภทนี้จะทำให้การรับรู้ตนเองต่ำ ถ้าอารมณ์และลักษณะดังกล่าว เกิดมากขึ้นก็จะทำให้บุคคลไม่สามารถแสดงออกได้นำไปสู่ประสบการณ์ของความล้มเหลว และบุคคลก็จะมีรับรู้เกี่ยวกับ ความสามารถรับรู้ตนเอง ต่ำลง แต่ถ้าบุคคลสามารถลดหรือระงับการถูกกระตุ้นทางอารมณ์ได้จะทำให้บุคคล สามารถรับรู้ได้ดีขึ้นอันนำไปสู้การแสดงออกทางพฤติกรรมของบุคคลดีด้วย
เรามาวิเคราะห์ตนเองดีมั๊ย
การวิเคราะห์ตนเองมีหลักการ 4 ประการคือ การที่บุคคลจะต้องรู้จักตนเอง รู้จักความต้องการของตนเอง รู้จักที่จะยอมรับตนเอง และพัฒนาตนเองไปให้เต็ม
ศักยภาพของตน ทั้งสี่ประการจะทำให้บุคคลสามารถวิเคราะห์ตนเองได้และเมื่อเราสามารถวิเคราะห์ตัวเราได้ เราก็สามารถพัฒนาตนไปตามทิศทาง ที่เราต้องการ ซึ่งในแง่ของการพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ตนสมบูรณ์ เราควรสนใจศึกษาเรื่ององค์ประกอบที่ทำให้บุคลิกภาพทางกายสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาตนในที่สุด
องค์ประกอบที่ทำให้บุคลิกภาพทางกายสมบูรณ์ ได้แก่เรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยสรุปคือ สถิต วงศ์สวรรค์. ( 2540 : 185-187 )
1. สุขภาพกาย เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน จะว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด สำหรับบุคลิกภาพทางกายที่สมบูรณ์ก็คงไม่ผิดนัก เพื่อให้มองเห็นความสำคัญ ของบุคลิกภาพว่าทำให้บุคลิกภาพทางกายดีขึ้นอย่างไร จะแยกกล่าวไว้สามประการดังนี้
1.1 คนมีสุขภาพดีย่อมมีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ สามารถทำงานได้คล่องแคล่วว่องไวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคมได้อย่างสะดวก เป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่นๆ โดยทั่วไปเข้ากับคนได้ง่าย มีมนุษยสัมพันธ์ดี พูดเก่งคุยสนุก เพราะมีสุขภาพดีนั่นเอง
1.2 สุขภาพที่ดีย่อมทำให้ดูมีน้ำมีนวล หน้าตาแจ่มใส มีกิริยาท่าทางรื่นเริงและเป็นสุขมีผลทำให้จิตใจดีด้วย จึงเป็นคนน่าคบหาสมาคมด้วย นับว่าเป็นบุคลิกภาพที่ดึงดูดความสนใจคนอื่นๆได้มาก
1.3 คนที่มีสุขภาพดีย่อมปราศจากโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจ สุขภาพที่ดียังทำให้ส่วนอื่นของร่างกายสง่างามไปด้วยเช่น ผิวพรรณ ผม เล็บย่อมมีลักษณะงาม สัดส่วนของร่างกายสมบูรณ์เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น บุคคลที่ปราศจากโรคเป็นคนที่มีลาภอันประเสริฐ ( อโรคยา ปรมา ลาภา ) สุขภาพของบุคคลขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญคือ
1.3.1 การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย จะช่วยส่งเสริมความเจริญเติบโตของคนต้องรับประทานให้ได้สัดส่วนและครบ 5 หมู่ อาหารดีมีประโยชน์ไม่จำเป็นต้องรสดี ราคาแพงแต่เน้นที่ธาตุอาหาร ให้ผลดีแก่สุขภาพต้อง สร้างนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร รับประทานเป็นเวลา ไม่รับประทานจุบจิบไม่เลือกเวลา รับประทานไม่มากหรือน้อยเกินไปไม่ตามใจปากตามใจท้อง ไม่ใช่ว่าชอบอะไรก็ รับประทานแต่อย่างนั้น คนที่ชอบรับประทานขนมหวานมากๆจะทำให้อ้วน บางคนไม่ชอบผักก็ไม่แตะต้องเลย ทำให้ขาดธาตุอาหาร เป็นผลร้ายต่อสุขภาพ
1.3.2 การออกกำลัง จะช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตด้วยดี มีสุขภาพสมบูรณ์ อวัยวะส่วนใดไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานๆจะไม่เจริญเติบโต และแข็งแรงเท่าที่ควร แขนขา ถ้าไม่ได้ใช้นานๆ จะไม่เจริญเติบโตและแข็งแรงเท่าที่ควร แขนขาถ้าไม่ใช้งานนานๆก็จะลีบเล็กลง เดินไม่ได้ จึงควรออกกำลังสม่ำเสมอ ด้วยการเล่นกีฬา หรือการทำงาน กายบริหาร วิ่ง เป็นต้น แต่ต้องไม่มากนักและไม่หยุดไปนานๆ
1.3.3 การพักผ่อน ที่ดีที่สุดคือการนอนหลับ วัยรุ่นควรนอนวันละ 8 ชั่วโมง บางคนอาจมากน้อยกว่านี้ นอนเท่าไรจึงเพียงพอก็สังเกตได้ง่ายๆ ถ้าไม่ง่วงในเวลากลางวันเป็นใช้ได้ ถ้าง่วงอ่อนเพลียแสดงว่านอนพักผ่อนไม่พอ การพักผ่อนที่ดียังมีวิธีต่างๆอีกหลายวิธี เช่นดูมหรสพ หรือ ดูการแสดงต่างๆ ฟังหรือแสดงดนตรี ร้องเพลง ทำให้เกิดอารมณ์ชื่นบาน การอ่านหนังสือ ทำงานอดิเรกทำให้เกิดความสุข ความสบายใจได้มาก แต่คนที่ใช้เวลาพักผ่อนมากเกินไปจัดว่าเป็นคนไม่เสียดายเวลาสำหรับทำประโยชน์
1.3.4 ขนาดของร่างกาย คนที่อ้วนหรือผอมเกินไปควรปรึกษาแพทย์ ส่วนเตี้ยหรือสูงนั้น การบริหารร่างกายช่วยได้บ้างแต่ก็น้อยเต็มที
1.3.5 ทรวดทรงและสัดส่วนของร่างกาย ผู้ชายชอบสูงใหญ่ ไหล่กว้าง ล่ำสัน มีกล้ามเนื้องาม การเพาะกายช่วยได้ง่าย ผู้หญิงนิยมคนรูปร่างสมส่วนเพรียว ไม่อ้วน การบริหารร่างกาย การรักษาอนามัยจะช่วยให้มี เอกลักษณ์ของเอกบุรุษและสตรีได้
1.3.6 การทรงตัวและอิริยาบถ มีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพทางกายอยู่มาก ลักษณะการนั่ง นอน เดิน การเคลื่อนไหวของร่างกายในตัวคน บางคนก็น่าดู บางคนก็เก้งก้างน่ารำคาญบางคนนั่งงอตัว เดินก้มหน้า ต้องรีบแก้ไขฝึกหัดใหม่ในลักษณะที่ส่งเสริมให้บุคลิกภาพดี
1.3.7 คุณภาพของผิวและส่วนอื่นๆของร่างกาย คนไทยนิยมผิวขาว ละเอียดอ่อนปราศจากผดผื่น ตำหนิ ผม เล็บ ฟัน ควรรักษาให้ดี
1.3.8 ความสะอาด เป็นสิ่งที่ส่งเสริมบุคลิกภาพและสุขภาพอย่างมาก ควรรักษาและทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดโรค และทำให้ตนมีคุณค่าสูงขึ้น จะต้องรักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องแต่งตัว อาหาร เคหสถาน
2. สุขภาพจิต สำหรับเรื่องสุขภาพจิตที่สมบูรณ์นั้น ย่อมจะส่งเสริมสุขภาพของร่างกายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและทำนองเดียวกัน สุขภาพของร่างกาย ก็ส่งเสริม ให้บุคคลมีสุขภาพจิตดีขึ้นตามลำดับ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตจะเป็นตัวส่งเสริมซึ่งกันและกันที่ทำให้ บุคคลมีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ บุคคลจึงควรแสวงหา วิธีการ ที่จะทำให้จิตที่ดีเกิดขึ้นได้จาก ความพึงพอใจในตนเอง การมีอารมณ์สดชื่น หรือชื่นบาน ความสดชื่นแจ่มใส ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ประพฤติผิดทั้งต่อกฎของสังคม และหลักศาสนา มีความเมตตา กรุณา สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และไม่เป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไปไม่เห็นคนอื่นเป็นศัตรูกับตน บุคคลในลักษณะดังกล่าวย่อมจะไม่เสียสุขภาพจิต หรือมีบุคลิกภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจนั่นเอง
การรู้จักตนเอง
มนุษย์เป็นสัตย์สังคม เป็นอมตวจีที่มนุษย์ชอบยกมาพูดอยู่เสมอและใช้อ้างอิงเวลามนุษย์จะกล่าวถึงตนและสังคมโดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสังคมซึ่ง มนุษย์จำเป็นต้องมีสัมพันธ์ พบปะ สังสรรค์ ติดต่อการงานและธุรกิจและยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่มนุษย์จำต้องหรือเลือก ชอบกระทำร่วมกัน แต่เมื่อคนเราย้อนกลับมามองตนเอง คราวใดบ่อยครั้งที่ทุกคนมักเกิดความสงสัยอดถามตนเองไม่ได้ว่า "ตัวเราคือใคร"
เราท่านสงสัยแล้วก็คงผ่านไปเพราะมักจะไม่ได้คำตอบจากตนเองหรือผู้ข้างเคียงแต่นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ คาร์ล โรเจอร์ ( Carl Rogers ) เขามีความเชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้ที่มีลักษระที่ได้รับการขัดเกลามาแล้ว รักความก้าวหน้า พูดจริงทำจริงและมีความสามารถหลายๆ อย่าง และที่สำคัญคือ มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกนึกคิดในตัวเองหรือที่เรียกว่า อัตมโนทัศน์ ( self concept )หรือพูดง่ายๆว่ามี "ภาพ" ของตนจากตา ( และใจ) ตนเองไม่ว่า ในด้านคุณสมบัติ รูปสมบัติหรือทรัพย์สมบัติ
ตัวตนของเราแต่ละคนจึงประกอบไปด้วยส่วนสำคัญสามส่วน คือ ตัวตนที่เราเป็นจริง ตัวตนที่เราคิดว่าเราจะเป็นและตัวตนที่เราอยากเป็นและ ส่วนประกอบนี้ จะยักย้ายถ่ายเทไปได้ ดังแสดงในรูปที่ 1
A หมายถึง ตัวตนที่เป็นจริง ( real self )
B หมายถึง ตัวตนที่คิดว่าเป็น ( perceived self )
C หมายถึง ตัวตนที่ต้องการจะเป็น ( ideal self )
เด็กๆ อยากเป็นซูเปอร์แมนแบบในหนังให้พ่อซื้อชุดซูเปอร์แมนให้เสร็จแล้วใส่ชุดซูเปอร์แมนลงมาจากตึก ทำเหมือนซูเปอร์แมน
บางคนอยากเป็นนางงามก็พยายามเสริมสวย อาบน้ำนม บริหาร เสริมจมูกแต่ที่จริงแล้วพี่น้องเพื่อนฝูงต่างก็ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้
สุภาพสตรีบางท่านอยากเป็นกุลสตรี หนังสือรายปักษ์อ่านแต่หนังสือของสุภาพสตรีก็คิดว่าตัวเองเป็นกุลสตรีแล้วแต่จริงแล้วเวลาพูดตะคอก ขู่คำรามเพื่อนฝูงหนีหมดก็น้อยเนื้อต่ำใจว่าเพื่อนไม่รักมั่ง อะไรมั่ง
นอกนี้ยังมีตัวอย่างอื่นๆอีกมากมายที่พบได้ในชีวิตประจำวัน ปัญหาก็คือ ถ้าเกิดความแตกต่างระหว่างตัวตนที่เราอยากเป็นกับตัวตน ที่เราเป็นจริง หรือตัวตนที่เราคิดว่า เราเป็นและแตกต่างห่างไกลกันมากก็อาจเกิดอันตรายได้เช่น บางคนดื่มเหล้าเข้าไปคิดว่า ไม่เมาแต่จริงๆแล้ว เมาเพื่อนฝูง จะไปส่งก็บอกไม่ต้องขับรถกลับเองได้ในที่สุดก็ขับรถตกถนนเสียชีวิต หรือนักศึกษาคิดว่า ให้ใกล้สอบกว่านี้อีกสักหน่อย ค่อยดูหนังสือ เพราะคิดว่าดูทัน พรุ่งนี้จะสอบวันนี้จึงจะดูในที่สุดก็ดูไม่ทันสอบตก บางทีอาจารย์เองก็เหมือนกัน เวลาสอนหนังสือเด็กๆก็บ่นว่า จดไม่ทัน แต่ท่านคิดว่า ท่านพูดช้าแล้วไม่ยมรับว่า ท่านพูดเร็ว บางคนเกิดมาชีวิตทางครอบครัวสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ก็คิดว่า ตนเองไม่สมบูรณ์แบบ ก็น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่พอใจในสภาพของตนเอง บางคนก็คิดว่า ตนเองมีเสียงไพเราะเหมือนนักร้องอาชีพ ไปงานไหนก็ขอร้องเพลง สามเพลงรวด ทุกครั้งแต่จริงๆแล้ว ร้องเพลงทีไรได้แก้ว ได้ขวดแทบทุกครั้ง เด็กบางคนอยากเป็น ลูกที่ดีของพ่อแม่ความจริง เป็นลูกที่ดีจริงๆแล้ว แต่ตัวเองคิดว่า ยังไม่เป็นเกิด ความน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่ได้ตอบแทนคุณพ่อแม่ประเภทนี้มองโลกในแง่ลบ
การยอมรับตนเอง
รูปหัวใจที่อยู่ข้างล่างนี้เรียกว่า หน้าต่างหัวใจ หน้าต่างบานแรกเป็นสิ่งที่เราเปิดเผยเพราะเรารู้และให้ผู้อื่นรู้ บานถัดไปเป็นส่วนที่เป็นจุดบอดของตัวเรา เพราะเราไม่รู้แต่ผู้อื่นรู้บานที่สามเป็นส่วนที่เราปกปิดเพราะเรารู้แต่ไม่ยอมให้ผู้อื่นรู้บานที่สี่เป็นส่วน "อวิชชา"เพราะเราก็ไม่รู้คนอื่นก็ไม่รู้เกี่ยวกับตัวเรา ดังแสดงในรูปที่ 2
จุดบอด หมายถึง ส่วนที่เป้นข้อด้อยหรือจุดอ่อนของเราที่เราไม่รู้แต่คนอื่นรู้แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ จุดบอดถาวร เช่นจุดบอดทางด้าน คุณสมบัติเช่น คุณจิ๋มเธอคิดว่าเธอเป็นคนรับฟังคนอื่นพูดแต่จริงๆแล้วไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ แต่ไม่รับจะเห็นได้จากคำพูดที่เธอพูดว่า "ที่เธอพูดมาฉันพอจะฟังได้ แต่เอาหละเอาอย่างที่ฉันว่าดีกว่า" จิ๋มไม่รูจุดบอดของตนเองว่า เป็นคนไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น หรือในด้านรูปสมบัติ นักศึกษาหญิงคนหนึ่งกลิ่นตัวแรงเพื่อนๆ บอกให้รู้ตัวเธอจึงยกรักแร้ตนเองขึ้นดม แต่ก็ไม่รู้เพราะ ชินกลิ่นตัวเอง ประเภทที่สอง เป็น จุดบอดชั่วคราวเช่น กินถั่วดำหรือกุยช่ายแล้ว ติดฟันตัวเองไม่รู้เวลาพูดกับเพื่อนๆ เพื่อนหลบกลัวลอยมาติดหน้าก็ถือว่าเป็นจุดบอดเหมือนกันแต่เป็นเพียงชั่วคราว
ปกปิด หมายถึง สิ่งที่เรารู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไรแต่ปกปิดไม่ให้คนอื่นรู้เช่น อาจารย์ท่านหนึ่งจบจากจุฬาฯ แล้วมาเรียนต่อแพทย์แล้วต้อง ถูกไล่ออก เพราะคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้ เขาอายและเจ็บปวดรวดร้าวมากเลยไป เรียนจิตวิทยาที่เมืองนอกกลับมา เป็นอาจารย์จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ห้องทำงานของเขาเป็นกระจกมองออกไปเห็นมหาวิทยาลัยเดิมที่ถูกไล่ออก เป็นอาจารย์ที่มี ประวัติถูกไล่ออกต่อมามีเด็กมาปรึกษาเขาว่า ได้ใบเตือนมาสองหนแล้วถ้าแก้ไม่ได้ในเทอมนี้ ถูกไล่ออกแน่แทนที่เขา จะตั้งอกตั้งใจ หรือหาหนทางช่วยเหลือเด็ก กลับไม่ใช่ เขาน้อยเนื้อต่ำใจหวาดระแวง เจ็บปวดรวดร้าวกับอดีตที่เขาเคยโดนไล่ออก เขาระแวงไปว่า เด็กคงเกลียดขี้หน้าเขาหนัก เลยพาลมาหาเรื่องเขาเพราะรู้จุดอ่อนของเขาเสร็จแล้วเขาระแวงลึกซึ้งไปกว่านั้นอีก อาจารย์ที่ปรึกษาของเด็กคนนี้ เป็นใคร เขาสืบเลยว่าทำไมถึงส่งเด็กคนนี้มาเล่นงานเขา พอตอนหลังเขาใจเย็นลงเลยมานั่งพิจารณาว่า"เอ๊ะเรื่องอะไรเขาจะต้องไปปกปิด ไปน้อยเนื้อต่ำใจ" เพราะหลังจากรีไทร์จากแพทย์แล้วไปเรียนต่อปริญญาเอกมามันก็ควรจะพอใจแล้วแต่เขาก็ไม่พอใจ เพราะมีแผลเป็นเขาก็เลย แก้ไขตัวเองด้วยวิธีการทางจิตวิทยาในการแก้ไขความกลัวที่เรียกว่าวิธีการ "ค่อยๆทำให้ชิน" (Desensitization) ซึ่งบอกว่าถ้ากลัวอะไรหรือเจ็บปวดรวดร้าวกับอะไรให้ค่อยๆเข้าไปหาสิ่งนั้น เขาเลยข้ามฟากเข้าไปในมหาวิทยาลัยนั้นหนสองหน หนแรกเหงื่อแตกเหงื่อแตนเลยพอเห็นอาจารย์ที่เคยสอนเขา เขาก็หลบ เห็นเพื่อนที่เป็นหมอแล้วก็หลบไปดูหอพักที่เขาเคยอยู่ข้ามไปข้ามมาอยู่ 40-50 หน ทุกข์ที่เราเคยกลัว ถ้าเรากล้ายอมรับกล้าเผชิญหน้ากล้าเปิดเผยมันถ้าพูดถึงปริมาณมันจะลดลงเรื่อยๆ เพราะกล้ายอมรับว่า เราเป็นอย่างไรตอนหลังเขาไปทำบำบัดด้วยวิธีค่อยๆทำให้ชินกับอาจารย์ที่โรงพยาบาลศิริราช คนที่เป็นอาจารย์เขาก็มาเป็นลูกศิษย์เขา แต่ว่าก็ไม่ปกปิด เรากล้าเปิดเผยกล้ายอมรับตนเอง
นี่เป็นตัวอย่างว่าทำไมเราต้องไปปกปิดในบางสิ่งบางอย่าง ที่เราสามารถจะยอมรบได้และกล้าเปิดเผยได้ ทุกคนก็น่าจะยอมรับและเปิดเผย คนที่สุขภาพจิตดี "หน้าต่าง" บานเปิดเผยจะเปิดกว้าง อะไรที่เคยปกปิดไว้ถ้ายอมรับตนเอง กล้าเผชิญ กล้าเปิดเผย เราก็จะไม่รู้สึกว่า เป็นปมด้อยอีกต่อไป ก็ถ้าเราเองยังดูถูกเหยียดหยามตัวเอง ยังไม่กล้ายอมรับถือว่าเป็นปมด้อยคนอื่นไม่มีทางที่จะเห็นว่า "ดี" กว่าตัวเราเห็นตัวเองแน่ สุธีรพันธุ์ กรลักษณ์ ( 2528:849-859)
การรู้จักตนเองในแบบหน้าต่างหัวใจ ( JOHARI WINDOW )เป็นแนวคิดของนักจิตวิทยาคือ Joseph Luft และ Hary Ingham ได้คิดกระบวนการรู้จักตนเองและพัฒนาตนเองในรูปของหน้าต่างหัวใจที่เรียกว่า JOHARI WINDOW เราสามารถทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้น โดยให้คนอื่นๆ บอกจุดบอดของเราเพื่อเราจะได้ปรับปรุง ดังรูปที่ 3