การสร้างพลังความเชื่อมั่นให้กับชีวิต
The Six Pillars of Self Esteem บทความที่นำเสนอคือ The Six Pillars of Self Esteem แต่งโดย Nathaniel Brandon ว่าด้วยเรื่อง การสร้างความนับถือตนเองหรือ Self esteem ซึ่งจะแตกต่างกับคำว่า ความเชื่อมั่นในตนเอง หรือ Self confidence ตรงที่ว่า ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นเรื่องของความกล้าที่จะตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต แต่ Self esteem หรือ ความนับถือในตนเองนั้น คือความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะเผชิญโลกได้ในทุกสถานการณ์ และรู้ซึ้งดีว่าตนเองนั้น มีคุณค่าและเป็นคนดี มีความมั่นคงภายในจิตใจ โดยชาวตะวันตกมีสมมติฐานที่ว่า หากคนเราขาดความนับถือตนเอง หรือ Self esteem แล้วนั้น จะทำให้
- ยากที่จะมีความสุขเพราะจะเป็นคนจับจดทำอะไรก็ไม่สำเร็จ
- ยากที่จะเป็นคนดีเพราะเมื่อไม่สามารถเคารพตนเองได้ก็ยากที่จะเคารพผู้อื่นเช่นกัน
- ยากที่จะประสบความสำเร็จเพราะเมื่อไม่มีจุดยืนในตนเอง จึงไม่สามารถแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใด ๆ ออกมาได้โดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงวิพากวิจารณ์จากคนรอบข้าง
คนที่ขาด Self esteem จะมีบุคลิกลักษณะ ดังต่อไปนี้
1) เป็นคนจับจด ทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ มักล้มเลิกกลางครัน เพราะคิดอยู่เสมอว่าตนเองคงจะทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเพราะไม่มีความสามารถเพียงพอ
2) แคร์คนอื่นอยู่ตลอดเวลา เช่นกลัวว่าเพื่อนจะไม่ชอบเรา กลัวว่าแฟนจะทิ้ง กลัวครูจะว่า กลัวเพื่อนร่วมงานจะเกลียด เป็นต้น เพราะเนื่องจากไม่เคยคิดว่าตนเองนั้นมีความสำคัญ จึงหวาดกลัวว่าจะถูกทิ้งอยู่ร่ำไป
3) ชอบปรุงแต่งคิดว่าคนรอบข้างมองตนเองในแง่ลบตลอดเวลา เช่นเมื่อได้ยินผู้อื่นกล่าวพาดพิงถึงตนเองก็คิดว่าต้องเป็นเรื่องตำหนิติเตียนอย่างแน่นอน เป็นต้น
สาเหตุของการขาดความนับถือในตนเองหรือ Self esteem
1. การได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และครูบาอาจารย์ที่คอยดุด่าว่ากล่าวอยู่ตลอดเวลา และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูก หรือลูกศิษย์เลย ไม่เคยให้อิสระ ทางความคิดใด ๆ เพราะคิดว่าการชื่นชมจนเกินไปจะทำให้เหลิง แต่ในความเป็นจริง การชื่นชมอย่างมีเหตุผล จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ และสร้างความนับถือในตนเองให้แก่เด็กได้อย่างดีเยี่ยม แต่ในกรณีที่ลูกหลานเกกมะเหรกเกเร การไม่ดุด่าว่ากล่าวย่อมเป็นการให้ท้ายเด็ก ยิ่งทำให้เสียคน เข้าไปใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้นการว่า กล่าวตักเตือน ควรทำอย่างมีเหตุผลมาอ้างอิง ตำหนิเพราะอะไร และต้องชี้ให้เห็นว่า หากทำเช่นนี้แล้ว จะส่งผลอย่างไร ในอนาคต เด็กจะรู้จักคิดเองและเป็นคนมีเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์เข้าตัดสินปัญหา
2. วัฒนธรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนด Self esteem เช่นวัฒนธรรมตะวันออกจะสอนให้มีความสำรวมทั้งกิริยา และการแสดงออก ทางอารมณ์ ทำให้มี Self esteem ต่ำไปโดยปริยาย ยกตัวอย่างเช่นคนญี่ปุ่นมีความเชื่อที่ว่า คนที่มีวุฒิภาวะ ทางอารมณ์เพียงพอ ต้องสามารถเก็บงำความรู้สึก ไว้ภายใต้สีหน้าอันเรียบเฉยได้ เป็นต้น ซึ่งทำให้เป็นคนเก็บกด และเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา
คนที่มี Self esteem จะมีบุคลิกลักษณะ ดังต่อไปนี้
1) มีดวงตาเป็นประกาย หน้าตาเบิกบาน แจ่มใส สีหน้าไม่ตึงเครียด สงบ มีชีวิตชีวา เปล่งปลั่ง
2) เวลาพูดและเดิน คางจะไม่ตก
3) เวลาพูดสามารถสบตากับฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่หลบสายตา
4) เดินอย่างมีจุดมุ่งหมาย รู้ว่าตนเองกำลังจะเดินไปไหน
5) มีสติในการพูด รู้ว่าตนเองกำลังจะพูดอะไร เพื่ออะไร โดยไม่ต้องมีการพูดออกตัวหรือกล่าวคำขอโทษก่อนที่จะพูดอยู่ตลอดเวลา
Self esteem จะเป็นเสมือน Software ที่ติดตั้งอยู่แล้วในแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าคน ๆ นั้นจะสามารถ ประสบความสำเร็จ ได้หรือไม่ เพราะคนที่มี Self esteem ต่ำคือคนที่คิดอยู่เสมอว่าตนเองไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะคิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ล้มเหลวสมความปรารถนา แต่ในขณะเดียวกันคนที่มี Self esteem สูงจะเป็นคนรู้ดีว่า ตนเองนั้นเป็นคนดี มีคุณค่า เป็นที่รักของคนอื่น เป็นคนมีความสามารถ พร้อมที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองอยู่ตลอดเวลา และสามารถฝ่าฟันปัญหาชีวิตได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เหล่านี้เป็นเสมือนตัวที่คอยเตือนสติและให้กำลังใจตนเองอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ประสบความสำเร็จ และมีความสุขได้อย่างไม่ยากเย็นนัก Self esteem เป็นสิ่งที่สามารถสร้างเองได้ โดยผู้แต่งได้เสนอ
วิธีการสร้าง Self esteem ไว้ 6 ประการ ดังนี้
1. การใช้ชีวิตอย่างมีสติ (Living Consciousness)
ในที่นี้คือการค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ และค่อย ๆ แก้ปัญหา เมื่อเจอปัญหาทุกครั้งให้ใช้สติและปัญญาแก้ไขปัญหา อย่างใจเย็น เพราะคนเราจะรู้สึกนับถือตนเองได้นั้น ต้องเกิดจากการสามารถเอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้ เมื่อทำได้จะเกิดกำลังใจ เกิดพลัง เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้น ก่อนลงมือทำสิ่งใดต้องมีสติ ต้องพยายามทำอย่างสุดความสามารถ และทำให้ถึงที่สุดอย่า ล้มเลิก กลางครัน คนที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ ครั้ง แม้ว่าจะเจออุปสรรคหรือล้มเหลวบ้าง ก็จะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะส่วนใหญ่ก็มัก จะสำเร็จทั้งนั้น ผิดกับคนที่ล้มเหลวมาตลอดซึ่งเดิมก็ขาดกำลังใจ ในเผชิญอุปสรรคอยู่แล้ว กอปรกับการล้มเหลว ครั้งแล้วครั้งเล่า จิตใจก็ยิ่งห่อเหี่ยวเพิ่มเป็นทวีคูณ นอกจากนั้น ผู้แต่งได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะมีสติได้นั้น ต้องสังเกตความคิด และความรู้สึกของตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นคนที่มีความคิดมีทัศนคติอย่างไรบ้างในทุก ๆ สถานการณ์ เมื่อรู้จักตนเองดีพอ จึงจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองได้ เพราะปัจจัยอีกประการหนึ่งที่สามารถสร้างความนับถือในตนเองได้ก็คือ เมื่อทำผิดแล้ว สามารถแก้ไขจุดบกพร่องของตนเองได้ด้วย
2. การยอมรับตนเอง (Self Acceptance)
ในที่นี้คือ การยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อบกพร่องของตนเอง สิ่งไหนที่แก้ได้ก็แก้ไขเสีย สิ่งใดแก้ไขไม่ได้ให้รู้จักยอมรับ ความเป็นจริง เพราะหากมัวแต่ง่วนคิดเป็นกังวลอยู่ตลอดเวลาจะทำให้จิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน การทำงานก็เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อถูกตำหนิก็เป็นกังวล เกิดเป็นปมด้อยวกวนเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุดเป็นวงจรอุบาทว์ และหากตนเองยังยอมรับจุดอ่อนของตัวเองไม่ได้ เมื่อมีคนอื่นมาแตะจุดอ่อน ก็จะรู้สึกไม่พอใจ อึดอัด พาลใส่อารมณืกับคนรอบข้าง หาความสุขไม่ได้ สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้โดยการยอมรับว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไร สมบูรณ์แบบ เหรียญย่อมมีสองด้านมีดีก็ย่อมมีเสีย หากยอมรับได้จิตจะนิ่ง จึงจะมีความสุขและทำสิ่งใดล้วนประสบแต่ความสำเร็จ
3. การมีความรับผิดชอบต่อตนเอง (Self Responsibility)
คือการยอมรับได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่เราเลือกเอง รับผิดชอบเอง และเมื่อเกิดอุปสรรคและความล้มเหลว ก็ไม่โทษ คนอื่น ไม่โทษ โชคชะตา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการมีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร และสิ่งที่จะตามมานั้น คืออะไร คนที่โทษคนอื่นอยู่ตลอดเวลาว่า เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์หรือความล้มเหลวของตนเอง จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ตนเองได้เ พราะคิดอยู่เสมอ ว่าเป็นความผิดของผู้อื่นจึงไม่สามารแก้ไขได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการฝากชีวิตไว้ในกำมือของผู้อื่น
4. การมีความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต (Self Assertiveness)
คือการสามารถเปลี่ยนความคิดให้เป็นการกระทำได้ (Take Action) ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม กับแนวโน้มพื้นฐานของมนุษย์คือมนุษย์รักความสบาย ไม่ชอบความยากลำบาก และชอบอยู่เฉย ๆ ซึ่งก็คือการผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความสุขชั่วครู่เพราะสิ่งที่ตามมาคือความเป็นจริง ซึ่งจะนำมาซึ่งความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะยังมีงานอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทำ วิธีการป้องกันการผัดวันประกันพรุ่งคือลองคิดถึงผลที่ตามมาเมื่อนั้นแล้วจิตจะกลับไปสู่ความเป็นจริงและลงมือกระทำเอง และต้องมีการปลูกฉันทะคือการสร้างภาพว่าหากเราประสบความสำเร็จ จะมีสิ่งดี ๆ งาม ๆ อะไรบ้างรอเราอยู่ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไป
5. การใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมาย (Living Purposefully)
ในที่นี้คือการวางเป้าหมายให้ทัดเทียมกับศักยภาพที่มีอยู่ การจะมองเห็นซึ่งศักยภาพได้ต้องมองเห็นจุดแข็ง และจุดอ่อนของตนเอง อย่างครบถ้วนเสียก่อน เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วบวกกับพรสวรรค์ ความเชี่ยวชาญและความชอบของตนเอง จึงจะเรียกว่า ศักยภาพที่แท้จริง ต่อมาคือขั้นตอนในการใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายคือวิธีการที่จะทำให้ถึงซึ่งจุดมุ่งหมายที่หวังไว้ และที่สำคัญ เมื่อลงมือกระทำไปแล้วจะต้องมีการประเมินอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่กระทำอยู่นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายหรือไม่ เพื่อปรับวิธีการให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
6. การมีศักดิ์ศรีในตนเอง (Personal Integrity)
ในทีนี้คือการสามารถปฏิบัติตามความเชื่อ คุณธรรม หรือหลักการที่ตนเองเชื่อมั่นได้ ซึ่งก็คือการมีปากกับใจตรงกันนั่นเอง การทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับ สิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นนั้น จะเป็นตัวบ่อนทำลายความนับถือในตนเอง เช่น เราเป็นคนที่ไม่ชอบการโกหก แต่เมื่อเป็นผลประโยชน์ของตนเอง กลับยอมโกหกได้นั้น เป็นต้น เหล่านี้เป็นการทำลายความนับถือตนเองโดยไม่รู้ตัว และในทางกลับกันถ้าสามารถทำตามคุณธรรมดังกล่าวได้ จะทำให้เรามีความเชื่อมั่นในการที่จะทำความดีต่อไป และจะรู้สึกภูมิใจในตนเอง รู้จักรักตนเอง เมื่อนั้นแล้วจึงจะรักผู้อื่นเป็น ความสุขจึงบังเกิดขึ้น การเป็นคนมีคุณธรรมนั้นสามารถอยู่ได้ทุกสถานการณ์ ถึงแม้เหตุการณ์ภายนอกจะเลวร้ายเพียงใด จะโดนว่ากล่าวเสียดสีอย่างไรก็ไม่เป็นผล จะไม่มีสิ่งใดมากระทบกระเทือนได้เพราะรู้จักตนเองดีพอ รู้ว่ากำลังทำสิ่งใดอยู่ และทำไปเพื่ออะไร และที่สำคัญคือรู้ว่าตนเองเป็นคนดี ก่อให้เกิดความมั่นใจจากภายในอยู่ตลอดเวลา
วิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานและวิธีการทำให้คนรอบข้าง มี Self esteem ทำได้ ดังนี้
1) ในกรณีที่เป็นพ่อแม่ต้องให้โอกาสลูกในการใช้เหตุผลในการเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง กรณีคนรอบข้างเราต้องให้อีกฝ่ายรู้จักคิด และแสดงความเห็น และเราเป็นผู้ฟังที่ดี แต่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องมีเหตุผลในการอธิบาย
2) เวลาวิพากษ์วิจารณ์ หรือดุด่าว่ากล่าวควรมีเหตุผลอธิบายทุกครั้ง ไมใช่ทำตามอารมณ์ และควรจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องใด เรื่องเก่าที่เคยทำผิดไม่ต้องขุดมาว่าซ้ำเพราะจะเป็นการทำลาย self esteem ของฝ่ายตรงข้ามได้
วิธีการบริหารลูกน้อง ให้มี Self esteem
1) มองลูกน้องในแง่ดี ไม่ดูถูกความสามารถของลูกน้อง ชื่นชมลูกน้องต่อหน้าผู้อื่น แต่ว่ากล่าวตักเตือนเป็นการส่วนตัว ไม่ประณาม ต่อหน้า สาธารณชน แต่หากจำเป็นต้องแจ้งให้ผู้อื่นทราบถึง พฤติกรรมที่ไม่ควรทำเป็นเยี่ยงอย่าง ให้เรียกประชุมทั้งหมด และแจ้งให้ทราบโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อว่า ใครเป็นผู้กระทำผิด
2) มอบหมายงานที่สำคัญ ๆ ให้ลูกน้องทำบ้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และที่สำคัญคือต้องให้อำนาจในการตัดสินใจ และบอกจุดประสงค์ของงานดังกล่าวอย่างชัดเจน ก่อนมอบหมายงาน
3) ในฐานะผู้บริหารต้องรู้จักขอความคิดเห็นจากลูกน้อง เพื่อที่ว่าเขาเหล่าจะรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ มีคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จขององค์กร
การนับถือตนเอง (Self-esteem)
การนับถือตนเอง (Self-esteem) หมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อที่บุคคลมีต่อตนเองว่ามีความสามารถมีคุณค่า ซึ่งจะมีระดับตั้งแต่ การนับถือตนเอง ต่ำไปจนถึง การนับถือตนเองสูง การที่บุคคลยอมรับตนเอง นับเป็นทักษะสำคัญในการที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง และการดำเนินชีวิต เพราะความสามารถในการรักษา สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ได้ดี มีผลมาจาก การที่บุคคลยอมรับ หรือปฏิเสธตนเอง และจะเป็นสิ่งที่ใช้ทำนายสัมพันธภาพ ที่บุคคลอื่นมีต่อเราได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ จะเป็นผลมาจาก การพัฒนาการนับถือตนเองของบุคคลนั่นเอง จากงานวิจัย (Harris : 1990) พบว่าคนที่มีระดับการนับถือตนเองต่ำ (Low self-esteem) จะมีปัญหาด้านอารมณ์มากกว่า คนที่มีการนับถือตนเองสูง (High self-esteem) และการนับถือตนเอง จะเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อบุคคลเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่น และบางครั้งบุคคลที่นับถือตนเองต่ำ จะแสดงจุดเด่นเฉพาะบางอย่าง เช่น (การแต่งกาย, การแสดงความคิดเห็น, การเล่นกีฬา) เพื่อเป็นการชดเชย แต่บุคคลเหล่านี้ก็ไม่สามารถลดความรู้สึกพร่องใน การนับถือตนเอง หรือความภาคภูมิใจในตนเอง แม้จะพยายามสร้างจุดเด่นให้ตนเองแล้วก็ตาม แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่มีการนับถือตนเองสูง (High self-esteem) จะสามารถมีความสุขและพึงพอใจในชีวิต เพราะเขาจะมีแรงจูงใจใน การดำเนินชีวิต ให้ประสบความสำเร็จ ที่มีผลมาจาก ความปรารถนาที่จะทำให้เป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานบรรลุผล ไม่ใช่จากแรงจูงใจที่จะชดเชยความ รู้สึกที่ตนเอง ไม่ภาคภูมิใจในตนเอง
1 การนับถือตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร (Origin of Self-esteem)
ปัจจัยที่มีผลในการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลที่สำคัญ ๆ ส่วนใหญ่จะเริ่มหรือตั้งต้นจากวัยเด็กตอนต้น Carl Roger (1902-1987) นักจิตวิทยามนุษยนิยมได้อธิบายว่า การนับถือตนเองพัฒนามาจากวัยเด็ก และเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่ บุคคลรอบข้างที่เด็กได้มี ปฏิสัมพันธ์ ด้วยให้การยอมรับและมีปฏิสัมพันธ์ หรือ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเด็กอย่างไร เด็กก็จะพัฒนาปฏิสัมพันธ์ในทิศทางที่ผู้ใหญ่มีต่อเขา พ่อแม่เป็นบุคคล ที่มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาการนับถือตนเองในวัยเด็กตอนต้น ครั้นเมื่อพัฒนามาถึง วัยเด็กตอนปลายและวัยรุ่น ก็จะได้รับอิทธิพลจากครู, เพื่อนและบุคคลอื่น ๆ ที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วยว่าจะมีทิศทางในการตอบสนองใน ลักษณะสร้างสรรค์หรือทำลาย ความรู้สึกที่เขามีต่อตัวเอง (Denis Waitley : 1993)
เมื่อพ่อแม่หรือบุคคล ที่มีความสำคัญในชีวิต แสดงให้บุคคลรู้ว่าเขาได้รับการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข คือยอมรับได้ในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นอย่างไร บุคคลก็จะพัฒนา การนับถือตนเอง มากขึ้น ยกตัวอย่างคำพูดที่ยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขได้แก่ " เอก แม่อยากให้ลูกรู้ว่าแม่รักและภูมิใจในตัวลูกมาก แต่การที่ลูกไปแกล้งเด็กผู้หญิงที่โรงเรียนนั้นมันเป็นสิ่งแม่ไม่นิยม"
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองแสดงให้เห็นว่าสามารถยอมรับเด็กต่อเมื่อ เด็กเป็นหรือทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ เด็กจะพัฒนาการนับถือตนเองได้ไม่ดีนัก เพราะเด็ก ไม่เข้าใจว่า ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำอะไรหรือต้องการอะไรจากเขา และท้ายที่สุดเขาก็จะรู้สึกว่าเป็นเด็กไม่ดี เพราะไม่สามารถทำตามที่ผู้ใหญ่อยากให้ทำได้ เด็กจะยิ่งสับสนถ้าผู้ใหญ่มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรตอกย้ำ ความรู้สึกของเด็กโดยเอาเด็กไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือความรู้สึกที่ว่าเด็กยังไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เพราะเด็กจะเปรียบเทียบ ตนเองกับเด็กคนอื่นแล้วด้อยกว่าก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองลดลง
ภาพการเกิด Self-esteem
Carl Roger เชื่อว่า Self-esteem จะพัฒนาในเด็กขึ้นอยู่กับ การยอมรับของพ่อแม่ผู้ปกครอง
พ่อแม่ ให้การยอมรับเด็ก โดยปราศจากเงื่อนไข ==>>> การนับถือตนเองสูง
พ่อแม่ ให้การยอมรับเด็ก แบบมีเงื่อนไข ==>>> การนับถือตนเองต่ำ
2. ประเภทการนับถือตนเอง (Self-esteem)
จากการศึกษาที่ผ่านมาได้อธิบายการนับถือตนเองออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ความรู้สึกดี-ไม่ดี, บวกหรือลบเกี่ยวกับคุณค่าในตนเอง
ประเภทที่ 2 ความเชื่อในความสามารถของตนเองที่จะจัดการปัญหาได้ ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างว่า Self-efficacy
ประเภทที่ 1 นับเป็นความรู้สึกต่อตนเองเมื่ออยู่คนเดียว ส่วนประเภทที่ 2 จะเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับปัญหาที่ต้องแก้ไขและต้องใช้ความสามารถในการทำงานเฉพาะอย่างให้สำเร็จ ซึ่งแต่ละประเภทอาจจะสูงหรือต่ำกว่าอีกประเภทหนึ่งในบุคคลคนเดียวกันได้
3. การนับถือตนเองกับการทำงาน
ปัจจัยที่สำคัญที่บ่งบอกถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบุคคลคือการนับถือตนเอง (Karen : 1993) ศึกษาพบว่าคนที่มีการนับถือตนเองต่ำจะวิตกกังวลซึมเศร้า, ไม่มีเหตุผล, ก้าวร้าว และรู้สึกแปลกแยก ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติงาน ไม่มีความสุขในการทำงาน การนับถือตนเองต่ำ มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในงานต่ำ และสัมพันธ์กับการว่างงานด้วย คนที่มีระดับการนับถือตนเองสูง (High self-esteem) จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ มีการปรับตัวได้ดีเมื่อต้องประสบปัญหา เพราะไม่กลัวว่าความคิดหรือความสามารถของตน จะไม่ได้รับการยอมรับ และพร้อมที่จะรับฟังข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) จากผู้อื่นและมีความพึงพอใจในงานสูงและได้งานทำมากกว่าคนที่นับถือตนเองต่ำ