ทฤษฎีอุปนิสัยของกอร์ดอน ออลพอร์ต

ทฤษฎีอุปนิสัยของกอร์ดอน ออลพอร์ต (Psychology of Individual Gordon Allport 1897 – 1967)

ทฤษฎีอุปนิสัย (Psychology of Individual Gordon Allport ) ของกอร์ดอน ออลพอร์ตเชื่อว่า บุคลิกภาพเกิดจาก อุปนิสัย และเป็น ตัวสนับสนุน ดังจะอธิบายโดยละเอียดเป็นเรื่องต่อไปนี้

ประวัติออลพอร์ต ( Allport ) เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1897 ณ รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาเป็นแพทย์มารดาเป็นครู เขาเรียนที่เมืองคลิฟแลนด์ (Cleveland) และ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด (Harvard) เมื่อ ค.ศ. 1919 และกลับมาศึกษาต่อ จนสำเร็จการศึกษาใน ระดับปริญญาเอกทางจิตวิทยา เมื่อ ค.ศ. 1922 จากนั้น เขาได้เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติม ที่เบอร์ลิน (Berlin) ฮัมบูร์ก (Hamburg) และ เคมบริช (Cambrige) ทำให้เขามีความรู้ทางจิตวิทยาของต่างแดนอย่างกว้างขวางขึ้น เมื่อกลับมาจากยุโรป ได้มาสอนหนังสือ ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และครั้งหลังสุดได้ย้ายมาสอนที่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อีกครั้งหนึ่ง เขาเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง ในการเคลื่อนไหวที่จะบูรณการวิชาจิตวิทยา สังคมวิทยา และมนุษยวิทยา เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ เขายังได้พยายามที่จะ ประยุกต์วิธีการทางจิตวิทยา มาช่วยเหลือสังคม หรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เช่น การศึกษาเรื่อง อคติ (Prejudice) และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relation) เป็นต้น ในชีวิตการทำงาน ออลพอร์ตได้สร้างผลงานในด้านการเขียนต่างๆ ที่สำคัญมากมาย และยังได้รับเกียรติ และรางวัลทางด้านวิชาการต่างๆ แทบทุกชนิด ตลอดจนดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกัน ( American Psychological Association ) เป็นบรรณาธิการวารสารจิตวิทยาอปกติ และจิตวิทยาสังคม (Journal of Abnormal and Social Psychology)

แนวคิดที่สำคัญของทฤษฎีอุปนิสัยของกอร์ดอน ออลพอร์ต

แนวคิดที่สำคัญ เนื่องจากออลพอร์ต ได้ศึกษาแนวคิดทางจิตวิทยาอย่างกว้างขวาง ทำให้เขาได้รับอิทธิพลจาก แนวความคิดต่างๆ เหล่านั้น มาเป็นแนวทางในการสร้างทฤษฎีของเขา เขาได้นำวิธีการสังเคราะห์มาใช้ในการศึกษาบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นแบบอย่าง ให้แก่นักทฤษฎีในระยะต่อมา นอกจากนี้ ออลพอร์ต ยังได้เน้นว่า การศึกษาบุคลิกภาพ ควรศึกษาจาก คนปกติมากกว่า เพราะบุคคลปกติจะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกันอยู่ในตัวเอง มีความสมดุลและการรู้ตัว (Congruence Unit and Conscious) แนวคิดของเขาโดยภาพรวมแล้ว จะมีความคล้ายคลึงกับ แนวคิดของ แนวคิดของกลุ่มมนุษยนิยม (Humanistic Psychology)

ออลพอร์ต เชื่อว่า บุคคลจะมีพฤติกรรม อยู่ในอิทธิพลของปัจจุบันมากกว่าอดีต โดยแสดงพฤติกรรม ที่เกิดจาก องค์ประกอบ ต่างๆ ในปัจจุบัน มากกว่าเหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงพฤติกรรมต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับ แรงจูงใจที่เกิดจากจิตสำนึก เป็นส่วนใหญ่และรวมถึง การรู้ตัวยิ่งไปกว่านั้น ออลพอร์ตยังมองมนุษย์ในแง่ดีเขาเชื่อว่า ไม่มีความต่อเนื่องกันระหว่าง พฤติกรรมปกติ กับพฤติกรรมผิดปกติของบุคคล เด็กกับผู้ใหญ่ หรือ สัตว์กับมนุษย์ และการสรุปสิ่งหนึ่ง เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของอีกสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความระมัดระวังอย่างยิ่งเช่นทฤษฎีจิตวิเคราะห์ อาจเป็นทฤษฎีที่เหมาะสมใน การอธิบาย ความแปรปรวนของพฤติกรรม และพฤติกรรมที่ผิดปกติ แต่อาจมีประโยชน์ไม่มากนักในการอธิบายพฤติกรรมปกติ หรือแม้แต่ ทฤษฎีที่มีความสมบูรณ์ในเรื่องการพัฒนาการของเด็ก รายละเอียดของทฤษฎีดังกล่าว ก็ไม่สามารถอธิบายถึง พฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์โดยเขาได้สรุปว่า ไม่มีทฤษฎีใด ที่มีเนื้อหาที่ครอบคลุม ถึงโครงสร้างทางพฤติกรรมของมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์ เขาจึงเน้นความสำคัญของการศึกษา รายละเอียดที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการวัดพฤติกรรม ซึ่งถือว่าเป็นการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาทางจิตวิทยา และจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาบุคลิกภาพ คือ การเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อการแก้ปัญหาทางพฤติกรรม โดยเน้นสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่า มีอิทธิพลต่อ การแสดงพฤติกรรมมากกว่าประวัติส่วนตัวในอดีต อย่างไรก็ตาม แนวคิดของออลพอร์ต เป็นทฤษฎีที่เน้นการทำงานของอุปนิสัย (Traits) จึงเป็นที่รับรู้ในกลุ่มนักจิตวิทยาว่า เป็นจิตวิทยาเชิงอุปนิสัย (Traits Psychology)

โครงสร้างทฤษฎีอุปนิสัยของออลพอร์ต

โครงสร้างบุคลิกภาพประกอบด้วย อุปนิสัย (Traits) บุคลิกภาพถูกกำหนดจากอุปนิสัย หรือเป็นการทำงานของอุปนิสัย และในเวลาเดียวกัน พฤติกรรมของบุคคล จะเกิดจากแรงจูงใจ หรือแรงขับจากอุปนิสัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นบุคคลได้เท่าๆ ความคิดของบุคคลนั้นเอง ออลพอร์ตได้แบ่งโครงสร้างหรืออุปนิสัยของบุคคลออกเป็นส่วนๆ ทำให้เข้าใจพฤติกรรม และกระบวนการทำงาน ของอุปนิสัยต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปนิสัยที่อยู่ภายในตัวเอง ซึ่งอุปนิสัยนี้เกิดมาจาก การทำงานของอินทรีย์ (Organism) นั่นเองออลพอร์ตให้ความหมายของคำว่า "บุคลิกภาพ" คือ ระบบการทำงานทั้งหมด ซึ่งอยู่ภายในของแต่ละบุคคลเป็นหลักการของระบบทางกาย และจิตที่มีพลังในตัวบุคคล ซึ่งกำหนดการปรับตัว ที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคล ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจกล่าวสั้นๆ ว่าบุคลิกภาพ คือลักษณะบางอย่าง และการกระทำบางอย่าง ซึ่งอยู่เบื้องหลังของการทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงที่อยู่ภายในบุคคล และการทำหน้าที่ที่สำคัญของบุคลิกภาพก็คือ การปรับตัวของบุคคล ต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ออลพอร์ตให้ความสำคัญในเรื่องระบบการแปรพลัง (Dynamic Organization) ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลา ระบบการเปลี่ยนแปลงนี้ จะมีการเชื่อมโยง และเกี่ยวข้องกับ องค์ประกอบอื่นๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ (Psychophysical) ที่ทำให้เกิดการหล่อหลอม ความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันของบุคคล และเป็นการกำหนด (Determine) แนวทางในการแสดงพฤติกรรมของบุคคล

โครงสร้างบุคลิกภาพ มีองค์ประกอบ อุปนิสัย (Traits) เจตนารมณ์ ( Intentions ) และ ตน (The Propium หรือ Self) มีรายละเอีดยดังนี้

1. อุปนิสัย (Traits) เป็นตัวกำหนดแนวโน้มในการตอบสนองของบุคคลต่อสิ่งเร้า และชี้นำพฤติกรรมของบุคคล อุปนิสัยจะสังเกตได้จาก พฤติกรรมที่ปรากฏออกมา (Overt Behavior) ถือว่าเป็นศูนย์กลางของ ระบบจิตที่มีลักษณะเฉพาะ และลักษณะพิเศษของแต่ละบุคคล ทำให้เกิดความสามารถ ที่จะทำหน้าที่ต่อสิ่งเร้า ให้เกิดความสมดุล ในรูปของการปรับตัว และ การแสดงออกทางพฤติกรรม

ออลพอร์ต ได้อธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอุปนิสัย (Traits) กับคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ อุปนิสัย (Traits) และนิสัย (Habits) ว่า ทั้งสองต่างก็เป็นตัวกำหนดแนวโน้มของพฤติกรรม โดยที่อุปนิสัย จะมีความหมายกว้าง กว่านิสัย ทั้งนี้ เพราะอุปนิสัยจะทำหน้าที่เชื่อมโยง หรือรวบรวมนิสัยต่างๆ ตั้งแต่ 2 ลักษณะขึ้นไป

ส่วนอุปนิสัยกับ เจตคติ (Attitudes) นั้นมีความหมายที่คล้ายคลึงกันมาก เพราะทั้งสองต่าง ก็เป็นไปตัวกำหนดแนวโน้ม ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ และเป็นเอกลักษณ์ของบุคคล แต่ที่ต่างกันคือ เจตคติ เป็นสิ่งที่บุคคลมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงที่เกิดจากการเชื่อมโยงของความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ซึ่งอาจจะมีระดับความรู้สึกแตกต่างกันไป ในขณะที่อุปนิสัยจะเกี่ยวข้องกับลักษณะโดยทั่วๆ ไป มากกว่าเจตคติ นอกจากนี้ เจตคติจะเป็นเรื่องของการประเมิน หรือตัดสินที่มีต่อสิ่งต่างๆ มากกว่าอุปนิสัย ตัวอย่าง เช่น การยอมรับ การไม่ยอมรับ และเจตคตินั้น จะนำมาใช้เมื่อกล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม (Value) จะเกิดเมื่อบุคคลถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า ที่ทำให้เกิดความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบเท่านั้น แต่ สำหรับอุปนิสัย กับรูปลักษณะ (Type) นั้นแตกต่างกันที่รูปร่างลักษณะ เป็นโครงสร้างทางความคิดเห็นของผู้สังเกตแล้ว จัดบุคคลไว้ในลักษณะที่เห็นว่าเหมาะสม จึงไม่มีลักษณะที่โดดเด่น เป็นของตนเอง แต่จะจัดไว้เป็นภาพรวม ในขณะที่อุปนิสัยนั้น จะเป็นตัวแทน หรือพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึง เอกลักษณ์ของบุคคล นอกจากนี้อุปนิสัยของมนุษย์มีมาก และไม่มีอุปนิสัยใดที่ตายตัว ในแต่ละบุคคล และการที่บุคคลจะแสดงอุปนิสัยที่โดดเด่นออกมานั้น ขึ้นอยู่กับ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) และสิ่งแวดล้อมทางสังคม (Social Environment) รวมทั้งอุปนิสัยของแต่ละคนที่จะแสดงออกนั้น จะมีการประสมประสานกันของหลายๆ อุปนิสัย ที่เป็นเหตุเป็นผลอย่างเกี่ยวข้องกัน เช่น อุปนิสัยของคนชอบเข้าสังคม จะทำงานประสานกับอุปนิสัย ที่ชอบเจรจา ชอบแสดงตัว นอกจากนี้ อุปนิสัยใดๆ ของบุคคลนั้น จะขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางจิตใจของผู้นั้นด้วยเช่นกัน

อุปนิสัยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ อุปนิสัยสามัญ (Common Traits) และอุปนิสัยเฉพาะตัว (Personal Disposition Traits)

1.1 อุปนิสัยสามัญ หมายถึง บุคลิกภาพทั่วๆ ไปที่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน และเผ่าพันธุ์เหมือนกัน ก็จะทำให้บุคคล มีบุคลิกภาพเหมือนกัน ได้ส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่ซึ่งได้แก่ ค่านิยมต่างๆ หรือ ลักษณะรวมๆ ของบุคคลในแต่ละวัฒนธรรม เช่น คนไทยใจดี คนอเมริกันอิสระ คนจีนมีความขยัน เป็นต้น
1.2 อุปนิสัยเฉพาะตัว หมายถึง เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว ที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับ ระหว่างคนสองคนได้ อุปนิสัยเฉพาะตัวแบ่งออกเป็น 3 ระดับคืออุปนิสัยสำคัญ อุปนิสัยสำคัญหรืออุปนิสัยร่วม และอุปนิสัยทุติยภูมิ ซึ่งทำงานตามความสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคลดังนี้คือ

1.2.1 อุปนิสัยสำคัญ (Cardinal Disposition Traits) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุปนิสัยเด่น (Eminent Traits) จะมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมเกือบทุกด้านของบุคคล เป็นลักษณะเด่นที่แสดงออกชัดเจนเหนือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่สามารถปิดบังซ่อนเร้นได้ เป็นอุปนิสัยที่มากำหนดอารมณ์ ความรู้สึก และชี้นำวิถีทางชีวิต ควบคุมแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้บุคคลเกิดพลังในการแสดงพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีความกล้าหาญ เป็นอุปนิสัยที่โดดเด่นที่มีอยู่ในพระองค์ จนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป เป็นต้น อุปนิสัยสำคัญนี้ อาจไม่ปรากฏกับทุก ๆ คนก็ได้ แต่ถ้าผู้ใดมีอุปนิสัยสำคัญเพียงลักษณะเดียวที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้น ก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพอ้างอิง (Reference Personality) ที่มักจะใช้เรียกผู้อื่นที่มีลักษณะเหมือนเขา เช่น เรามักจะอ้างอิงคนที่มีความตระหนี่ขี้เหนียว ว่าเหมือนกับ ไซล็อค หรือผู้ชายที่เจ้าชู้ว่าเป็นขุนแผน เป็นต้น
1.2.2 อุปนิสัยศูนย์กลาง หรืออุปนิสัยร่วม (Central Disposition Traits) เป็นกลุ่มของอุปนิสัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่มีอยู่ภายในตัวบุคคล เป็นอุปนิสัยที่สังเกตได้ง่ายเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มั่นคงอยู่ในบุคลิกภาพ แต่อาจแสดงออกมาเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นคุณลักษณะที่มีความสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล เช่น ความทะเยอทะยาน การแข่งขัน ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา และความเมตตากรุณา ลักษณะเหล่านี้จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เป็นการจะเข้าใจอุปนิสัยนี้ต้องสังเกตมาก เพราะบางอย่างไม่สามารถสังเกตอย่างตรงไปตรงมาจากท่วงทีอากัปกิริยาและการแสดงออกภายนอกได้ ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงความถี่ และความเข้มของพฤติกรรมนั้น ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างหลากหลายในขณะเดียวกัน
1.2.3 อุปนิสัยทุติยภูมิ ( Secondary Traits ) เป็นคุณลักษณะที่อยู่บริเวณรอบนอก (Peripheral) ที่ผลักดันให้บุคคลแสดงออกโดยทั่วไป เป็นลักษณะที่มีอยู่มากในตัวบุคคล ได้แก่ ความสนใจ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เมื่อบุคคลชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาก็มักจะแสดงความคิดเห็นที่ดีที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ทำให้เขาเกิดความชอบ และสนใจ หรือเป็นเจตคติซึ่งบางครั้งเรียกอุปนิสัยชนิดนี้ว่า เป็นอุปนิสัยเชิงเจตคติ (Attitudinal Traits)

2. เจตนารมณ์ ( Intentions ) เป็นความตั้งใจของบุคคลที่จะก้าวไปข้างหน้า หรือแสวงหาเป้าหมายเพื่ออนาคต เป็นสิ่งที่จะช่วยให้บุคคลเข้าใจ บุคลิกภาพของบุคคลได้มากกว่า การค้นหาอดีต หรือ ประวัติความเป็นมาของบุคคล เช่น ความหวัง ความปรารถนา ความใฝ่ฝัน ความทะเยอทะยานและการวางแผน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้บุคคล ก้าวไปข้างหน้า และเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ พฤติกรรมของมนุษย์ และเป็นสิ่งชี้นำพฤติกรรมปัจจุบัน เพื่อบรรลุเป้าหมายในอนาคต ดังนั้นเจตนารมณ์ จึงเป็นกุญแจที่สำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์

3. "ตน" (The Propium หรือ Self) ออลพอร์ต จะใช้คำว่า "Proprium" แทนคำว่า "Self" ซึ่งหมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคล เขาเปรียบว่า ถ้าบุคลิกภาพของมนุษย์เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ประกอบไปด้วย ราก กิ่ง ใบ ก้าน เปลือก "The Propium" ก็จะเปรียบเสมือน แก่นของต้นไม้ และอธิบายว่า ลักษณะต่างๆ ที่ประกอบ เป็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล จะมีทั้งส่วนกาย จิต สังคม อารมณ์ มีจุดร่วมและจุดรวม หรือ "The Propium" ถ้าจุดร่วมและจุดรวมนี้ สามารถประสานสัมพันธ์ กันได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้บุคคลนั้น มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ (Healthy Personality) แต่ถ้าจุดทั้งสองไม่สามารถประสานสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม ก็จะนำไปสู่โรคจิต โรคประสาท ความอ่อนแอ ความก้าวร้าว การเป็นอันธพาล เป็นต้น ดังนั้น "The Propium" จึงหมายรวมถึง ทุกสิ่งทุกอย่างของบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึง เอกภาพภายในของบุคคล ที่เกิดจากพัฒนาการที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่วัยทารกจนสิ้นอายุขัย โดยผ่านขั้นต่างๆ ของพัฒนาการชีวิต

ขั้นตอนของการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ (Stage of Personality Development) แบ่งพัฒนาการของชีวิตเป็น 5 ขั้นได้แก่

1. วัยเริ่มแรกของทารก (Early Infancy) เป็นระยะแรกเกิด โดยในระยะเริ่มแรกของชีวิต ทารกยังไม่มีความรู้สึกเกี่ยวกับตน เพราะ ทารกไม่สามารถแยก "ตัวฉัน" (Me) ออกจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวได้

2. วัยเริ่มแรกของตัวตน (The Early Self) เป็นระยะ 3 ปีแรกของชีวิต เด็กจะเริ่มรู้สึกเกี่ยวกับ ร่างกายของตนเอง (Sense of Bodily Self) เด็กจะมีพัฒนาการและ การเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย และการทำงาน ของอวัยวะต่างๆ เป็นระยะที่เด็กจะสำรวจ และจัดการสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว โดยการรับรู้สิ่งเร้าต่างๆ จากอวัยวะสัมผัสและเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ก็จะมีวุฒิภาวะมากขึ้น เด็กจะเริ่มรับรู้ถึงร่างกายของตนมากขึ้น เช่น "ฉันเป็นคนอ่อนแอ" "ฉันเป็นคนน่าเกลียด" "ฉันเป็นสวยงาม" "ฉันเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง" "อดทน" เป็นต้น และการรับรู้เกี่ยวกับร่างกาย จะเริ่มก่อตัวเป็นศูนย์กลางของ "ตน" (The Propium) และสร้าง ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self-Concept) ไปตลอดชีวิต
จากนั้นเด็กจะรู้สึกใน เอกลักษณ์ของตนเอง (Sense of Self-Identity) โดยสร้างลักษณะเฉพาะตัว หรือเอกลักษณ์ของตนขึ้นมา ที่แตกต่างไปจากผู้อื่น เอกลักษณ์นี้ จะเป็นสิ่งที่ติดตัวต่อไป และเป็นวิถีทางเดียวกัน กับที่เรารับรู้เกี่ยวกับตัวเอง เด็กจะสร้างลักษณะเฉพาะดังกล่าว จากตัวแบบที่สำคัญๆ เช่น จากบุคคลที่เขายกย่องนับถือ คนใกล้ชิด โดยการแสดงเอกลักษณ์ ออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น อุดมคติ เอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่ควบคุมแรงขับและทำให้รู้สึกว่า ตนเป็นคนอย่างไร หรือต้องการอะไร และควรตัดสินใจอย่างไร ต่อมาเด็กจะพัฒนาความรู้สึกยกย่องตนเอง หรือ ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem, Pride) ที่เกิดมาจากความรู้สึกภาคภูมิใจของเขาในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งได้สำเร็จในขณะที่จะเกิดความรู้สึกต่ำต้อย เมื่อประสบความล้มเหลว ถ้าเด็กสามารถจัดการกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ เขาจะรู้สึกเป็นตัวของตัวเองที่แยกจากคนอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นระยะของการแสดงออกและการแสดงความสามารถของตนเอง

3. ระยะ 4 – 6 ขวบ (Four to Six) เป็นระยะของเด็กที่มีความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองในลักษณะต่างๆ คือ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ (The Extension of Self) มีความรู้สึกแข่งขัน และมีแบบแผนมากขึ้นในระยะนี้ คือ การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) เช่น "นี่เป็นของฉัน" "บ้านของฉัน" "ของๆ ฉัน" เป็นต้น ความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นความรู้สึกนี้ทำให้บุคคลพัฒนาคุณลักษณะรวมๆ ในวัยต่อมา เช่น ความรู้สึกที่มีต่อส่วนรวม สังคมและประเทศชาติในที่สุด อีกลักษณะหนึ่งของความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเอง คือ มโนภาพแห่งตน (Self-Image) เป็นบทบาทของบุคคลที่จะแสดงออก เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น และเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะกำหนดวิธีการและรูปแบบต่างๆ ในการแสดงพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย สำหรับอนาคตในระยะนี้เด็กจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่คาดหวังอะไรจากตัวเขาและเขาจะทำอย่างไรและเปรียบเทียบความคาดหวังต่างๆ ดังกล่าวกับพฤติกรรมของตนเองจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ เช่น เด็กทราบว่าพ่อแม่ต้องการให้เขาเป็นเด็กคนดี แต่เด็กก็ยังซุกซน แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เขาก็ยังไม่เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนนักในการที่จะสร้างมโนภาพของตนเองว่า ต้องการเป็นเช่นไรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งระยะนี้ จึงเป็นเพียงความคิดที่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาตนในวัยที่สูงขึ้นต่อไป

4. ระยะ 6 – 12 ปี (Six to Twelve) เป็นระยะที่เด็กเข้าโรงเรียน และพัฒนาสติปัญญามากขึ้น ในขณะเดียวกันความรู้สึกของความเป็นเอกลักษณ์ในตนเอง มโนภาพแห่งตนและความ
รู้สึกเป็นเจ้าของ ก็จะพัฒนามากขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น เด็กจะเรียนรู้ถึงสิ่งใหม่ๆ และสามารถเลือกสรรสิ่งต่างๆ เด็กเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีพลังใหม่ๆ ในตนเองเกิดขึ้นและได้ค้นพบตนเองในแง่มุมอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง นอกจากนี้ ยังมีลักษณะที่เด่นอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้แก่ การมีเหตุผลในตนเอง (Self as Relational Copper) เป็นลักษณะของการมีความเชื่อมั่นว่า เขามีความสามารถที่จะคิดอย่างมีเหตุมีผล ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของการมีพลังความคิดอย่างมีเหตุผล ทำให้บุคคลมองว่าตนเองมีความสามารถที่จะคิด และตั้งจุดมุ่งหมายที่เป็นประโยชน์

5. ระยะวัยรุ่น (Adolescence) เป็นระยะตั้งแต่อายุ 12 – 21 ปี วัยนี้บุคคลจะมีปัญหาในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาการเลียนแบบ การเลือกอาชีพ รวมทั้งปัญหาในการเลือกเป้าหมายของชีวิต เขาจึงเรียนรู้ว่าจะต้องมีการวางแผนเพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายระยะยาว (Propriety Striving) ที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจในภายใน ซึ่งถือว่า เป็นศูนย์กลางของการมีชีวิตอยู่ และเป็นจุดกำเนิดของการพัฒนา มโนธรรม (Conscience) ที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ออลพอร์ตได้อธิบาย ขั้นตอนการพัฒนามโนธรรมว่า จะเริ่มจากการที่เด็กจะรับรู้มโนธรรม ในแง่ของการกลัวการถูกลงโทษ(Authoritarian Conscience) จากพ่อแม่เขาจะรู้สึกผิดหากขัดขืนต่อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แต่เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะมากขึ้นก็จะมีการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและบุคคลอื่นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีความรู้สึกในเรื่องมโนธรรม โดยความเชื่อฟังจากสังคม และจะเปลี่ยนมาเป็นวิธีการสร้างมาตรฐานภายในตัวเองซึ่งถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างกฎเกณฑ์ของตนเอง (Self-Generated Rules) และโดยความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของบุคคลจะถูกหล่อหลอมความเป็น "ตน" โดยกระบวนการทำงานตามขั้นตอนต่างๆ ร่วมกัน

พัฒนาการของบุคคลที่หล่อหลอมรวมกันจนเข้าสู่วุฒิภาวะ จะมีพัฒนาการเรื่องต่างๆ ได้อย่างสมดุลและมีลักษณะดังนี้คือ

1. พัฒนาการทางบุคลิกภาพที่มีวุฒิภาวะ (Mature Personality) เป็นการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ เป็นกระบวนการ ที่ต้องใช้เวลายาวนาน ที่จะต้องพัฒนาตัวเองก่อน และพัฒนาการในระยะแรก เกิดจากแรงจูงใจทางร่างกาย และต่อมาเมื่อ บุคคลมีอายุมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนมาเป็นมีแรงจูงใจภายใน รวมทั้ง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่จะ ทำให้บุคคลดำเนินไปสู่ ความมีวุฒิภาวะ ได้อย่างสมบูรณ์ ลักษณะของผู้มีบุคลิกภาพ ที่สมบูรณ์จะพิจารณาได้จาก
2. การพัฒนาความรู้สึกเป็นเจ้าของ ( Extension of the Sense of Self ) คือ ความสามารถร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากกิจกรรมของตน เขาจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อความสุขของทั้งตนเองและผู้อื่น อย่างเหมาะสม
3. การพัฒนาการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น (Warm Relatedness to Others) คือมีความสามารถใน การสร้างสัมพันธ์ที่ใกล้ชิและอบอุ่นกับผู้อื่น (Intimacy) สามารถที่จะให้ความรักต่อผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ และยังมีความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Compassion) เขาจะไม่มีอคติในการติดต่อ และสัมพันธ์กับผู้อื่น จะยอมรับ และชื่นชมในพฤติกรรม และความคิดเห็น ที่แตกต่างกันของผู้อื่น ไม่นินทาผู้อื่น มีการปฏิบัติตาม กฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ทำให้เสียบรรยากาศใน การมีความสัมพันธ์กัน
4. การพัฒนาการยอมรับตนเอง ( Self-Acceptance ) คือ มีอารมณ์มั่นคง หลีกเลี่ยงการโต้ตอบที่ไม่สมควร ตลอดจนควบคุมตนเองได้ เมื่อมีความคับข้องใจ มีความอดทน ไม่ตำหนิผู้อื่นแบบไม่มีเหตุผล โทษคนอื่นไม่ยอมรับความจริง
5. การพัฒนาการรับรู้ตามความเป็นจริง ( Realistic Perception of Reality ) คือมีความสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง โดยไม่บิดเบือน มีความรอบรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตที่มีประสิทธิภาพ และสามารถอุทิศตนเองเพื่อการทำงานโดยมีลักษณะยึดปัญหาเป็นศูนย์กลาง (Problem-Centered) ไม่ใช่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Ego-Center)
6. การพัฒนาการมองตนเองด้วยสายตาเป็นกลาง (Self-Objectification) หมายถึง การรู้จักตนเองและมีความสุขที่มองเห็น ความสามารถและ ขีดจำกัดของตนเอง การมีอารมณ์ขัน มีความสามารถที่จะเห็น ความสนุกสนานใน มโนภาพแห่งตน(Self-Image) สามารถมองสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างเป็นกลาง