ความต้องการของมนุษย์ Human Needs
ความหมายของความต้องการของมนุษย์
พจนานุกรมในไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 (2526 :323) กล่าวถึง "ความต้องการ" ว่าหมายถึง ความอยากได้ ใคร่ได้หรือประสงค์จะได้ และเมื่อเกิดความรู้สึกดังกล่าวจะทำให้ร่างกายเกิดการความขาดสมดุล เนื่องมาจากมีสิ่งเร้ามากระตุ้น มีแรงขับภายในเกิดขึ้น ทำให้ร่างกายไม่อาจ อยู่นิ่งต้องพยายามดิ้นรน และแสวงหาเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นๆ เมื่อร่างกายได้รับตอบสนองแล้ว ร่างกายมนุษย์ก็กลับสู่ภาวะสมดุลย์อีกครั้งหนึ่ง และก็จะเกิดความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ทดแทนวนเวียนอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด
ดังที่ Samuelson (1917 อ้างใน กฤษณา ศักด์ศรี , 2534 : 159) กล่าวว่า มนุษย์นั้น เพียรพยายามทุกวิถีทางในอันที่จะให้บรรลุความต้องการทีละขั้น เมื่อความต้องการขั้นแรกได้รับการตอบสนองแล้ว ความต้องการขั้นนั้น ก็จะลดความสำคัญลงจนหมดความสำคัญไป ไม่เป็นแรงกระตุ้นอีกต่อไป แต่จะเกิดความสนใจและความต้องการสิ่งใหม่อีกต่อไป แต่ความต้องการขั้นต้นๆ ที่ได้รับการตอบสนองไปเรียบร้อยแล้วนั้น อาจกลับมาเป็นความจำเป็น หรือความต้องการครั้งใหม่อีกได้ เมื่อการตอบสนองความต้องการ ครั้งแรกได้สูญเสียหรือขาดหายไป และความต้องการที่เคยมีความสำคัญ จะลดความสำคัญลง เมื่อมีความต้องการใหม่ๆเข้ามาแทนที่ นอกจากนั้นแล้ว Gilmer กล่าวว่า "มนุษย์มีความต้องการหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น อาหาร อากาศ น้ำ ที่อยู่อาศัยรวมทั้งสิ่งอื่นๆ ด้วย เช่น การยอมรับนับถือ สถานภาพ การเป็นเจ้าของ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปความต้องการเหล่านี้ ยากที่จะได้รับการตอบสนองจนอิ่มและพอใจทั้งๆ ที่ก็ได้รับอยู่แล้ว"
ทุกวันนี้คนเราพยายามทำงานก็เพื่อจะสนองความต้องการของตน ทำงานเพื่อเงินเพราะเงินเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ตามต้องการ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้วการทำงานไม่ใช่เพื่อเงินแต่อย่างเดียวเสมอไป เศรษฐีมีเงินมหาศาลก็ยังทำงานทั้งๆ ที่ทำงานแล้วได้เงินเป็น ค่าตอบแทนเพียงเล็กๆ น้อยๆ การทำงานเพื่อเงิน เป็นเพียงเหตุผลประการหนึ่งเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่คนต้องการได้รับจากการทำงาน ซึ่งบางครั้งเงินไม่สามารถซื้อความต้องการบางอย่างได้ เพราะความต้องการของมนุษย์ มีอยู่ 3 ประการ (เสถียร เหลืองอร่าม , 2525 : 10- 18 และนิพนธ์ คันธเสวี, 2528 : 71)
- ความต้องการทางด้านร่างกาย หรือความต้องการทางสรีระ ( Physical or Physiological Needs) หรือ ความต้องการปฐมภูมิ (Primary Needs) หรือ ความต้องการทางด้าน ชีววิทยา (Biological Needs) หรือความต้องการปฐมภูมิ (Primary) เป็นความต้องการทางชีววิทยา หรือ ความต้องการทางกายภาพ เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานอันดับแรกหรือขั้นต่ำสุดของมนุษย์ซึ่งจำเป็นในการ ดำรงชีวิต เป็นความต้องการที่จำเป็น สำหรับชีวิต เป็นความต้องการเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ เพื่อการมีชีวิตอยู่ เป็นความต้องการที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ในฐานะที่เป็นอินทรีย์ทาง กายภาพ เป็นแรงขับ (Drive) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแรงขับดันทางกายภาพ เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นปรากฎการณ์ทาง ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตเพื่อความอยู่รอด จึงเป็นความต้องการพื้นฐานที่จะขาดเสียมิได้ ความต้องการชนิดนี้หากไม่ได้รับการตอบสนอง จะมีความรู้สึก ตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา และมีความกระวนกระวาย เช่น ความต้องการอากาศหายใจ อาหาร ความอบอุ่น น้ำ ยารักษาโรค อุณหภูมิที่เหมาะสม เครื่องนุ่งห่ม การเคลื่อนไหวทางร่างกาย การขับถ่าย ความต้องการเรื่องเพศ การพักผ่อนนอนหลับ ที่อยู่อาศัย ถ้าขาดความต้องการประเภทนี้ เพียงประการใดประการหนึ่งชีวิตจะต้องมีอันเป็นไป เพราะความต้องการนี้เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับมนุษย์ทุกคนจะขาดเสียมิได้ การแสวงหาสิ่งต่างๆ มาเพื่อตอบสนองความต้องการในทางกายของมนุษย์ นี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสังคม วัฒนธรรม การฝึกอบรม สิ่งแวดล้อม ศาสนา เศรษฐกิจ ฯลฯ
- ความต้องการทางด้านจิตใจ หรือ ความต้องการในระดับสูง หรือ ความต้องการทางด้านจิตวิทยา หรือความต้องการทุติยภูมิ หรือความต้องการที่เกิดใหม่ (Psychological Needs or Secondary Needs or Acquired Needs) เป็นความต้องการที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายหลัง หลังจากความต้องการทางร่างกายได้รับการตอบสนองแล้ว บางครั้งจึงเรียกความต้องการทางจิตใจว่า "ความต้องการที่เกิดขึ้นใหม่" (Acquired Needs) เพราะเป็นความต้องการที่เกิดจากความรู้ และ การเรียนรู้ประสบการณ์ การสนองตอบต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดความพึงพอใจ เป็นแรงขับ (Drive) ชนิดหนึ่งที่ไม่หยุดอยู่กับที่ (Dynamic) ไม่มีรากฐานจากความต้องการทางร่างกาย แต่อาศัยกลไกทางสมอง ที่สั่งสมจากประสบการณ์ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแต่ละบุคคลอาจเหมือนกันหรือต่างกันได้ เนื่องจากแต่ละคนมีระดับความต้องการแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ และประสบการณ์ ความต้องการทางจิตใจเป็นความต้องการที่สลับซับซ้อน และมีความแตกต่างกันมากระหว่างบุคคล
- ความต้องการทางสังคม เป็นความต้องการทางจิตใจนั่นเอง แต่เน้นหนักในด้านความต้องการที่จะดำรงชีวิตให้เป็นที่ยอมรับนับถือของคนอื่น หรือมีความเป็นอยู่ดีกว่าบุคคลอื่น เช่น ต้องการความปลอดภัย ต้องการได้รับการยกย่องนับถือ ต้องการความยอมรับในสังคม ต้องการความก้าวหน้า เป็นต้น
ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์มีความต้องการมากมายหลายอย่าง จนไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งทั้งความต้องการที่เกิดจากความคิดคำนึง หรือความต้องการ ด้านจิตใจ หรือความต้องการทางกาย ซึ่งเป็นความต้องการที่ขาดมิได้ และในบรรดาความต้องการต่างๆ ของมนุษย์นั้นยากที่จะได้รับการสนองตอบ จนเป็นที่พอใจ เพราะเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล
ความต้องการตามแนวความคิดของมาสโลว์
มาสโลว์ (Dr. Abraham H. Maslow) นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยมได้อธิบายเรื่อง ความต้องการของมนุษย์ว่าเป็นลำดับทั้งหมด 5 ขั้น (Five general system of needs) โดยเขียนเป็นรูปพีระมิดแห่งความต้องการไว้ แสดงความต้องการขั้นมูลฐานของมนุษย์ (Basic needs) เป็นทฤษฎีการจูงใจ ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้เขียนขึ้น เรียกว่า "Maslow's General theory of human mativation" (เสถียร เหลืองอร่าม , 2519 : 325) Maslow กำหนดหลักการว่าบุคคลพยายามสนองความต้องการของตนเพื่อความอยูรอดและความสำเร็จของชีวิต
Needs หมายถึงความต้องการอันจำเป็น ซึ่งชีวิตจะขาดเสียมิได้ ผลจากการศึกษาทราบว่าทุกกริยาท่าทาง หรืออาการที่มนุษย์แสดงออกมาเป็นรูปของพฤติกรรมนี้ก็เพราะแรงผลักดันจากความต้องการเป็นกำลังสำคัญให้แสดงออกมา ความต้องการอาจเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ที่ได้มาภายหลัง และจากสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องเรียนรู้เป็นความต้องการทางชีววิทยา (Biological Needs) ทั้งที่เป็นสิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นได้และเป็นสิ่งที่ซ่อนตัวอยู่
ทฤษฎีแห่งการจูงใจของ Maslow กล่าวถึง ความต้องการ (Need) ของมนุษย์ โดยมีสมมุติฐาน กล่าวถึงความสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ดังนี้ (กาญจนา เรืองรจิตปกรณ์, 2530 : 227)
- ความต้องการจำเป็นทางร่างกาย (Physiological Needs) สามารถแยกออกเป็นประเภทหนึ่งต่างหาก เป็นเอกเทศ จากการจูงใจประเภทอื่นๆ ได้เพราะเป็นความต้องการพื้นฐานที่ทุกคนต้องการเหมือนกัน
- ความต้องการจำเป็น (Need) ทางกายเป็นความต้องการหลักของทุกคน
- ความต้องการ (Needs) อย่างอื่นๆ จะอันตรธานไป ตราบใดที่ความต้องการมนุษย์ทางกายยังไม่ได้รับการตอบสนองตามความพอใจ เพราะยังถูกครอบงำด้วยความจำเป็นทางสรีระอยู่
- ความต้องการอย่างอื่นที่สูงขึ้นไปจะเริ่มปรากฎเมื่อความต้องการทางร่างกายได้รับการสนองตอบเพียงพอแล้ว ขณะที่ความต้องการใดได้รับการตอบสนองแล้ว ความต้องการอย่างอื่นก็จะเข้ามาแทนที่
- ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองเพียงพอแล้ว จะไม่เป็นอุปสรรคต่อความต้องการระดับสูงกว่า ความต้องการที่ได้รับตอบสนองแล้ว จะไม่เป็นแรงจูงใจสำหรับพฤติกรรมนั้นอีกต่อไป และอินทรีย์นั้นจะถูกครอบงำด้วยความต้องการอื่นที่ยังไม่เพียงพอ ความต้องการที่ไม่ได้รับการ ตอบสนองเท่านั้นที่เป็นสิ่งจูงใจของพฤติกรรมมนุษย์
- บุคคลส่วนใหญ่ในสังคมมนุษย์ ต้องการโลกที่มีแต่ความปลอดภัยมีระเบียบแบบแผน และสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้
- คนที่ทำลายความต้องการทางด้านความรัก และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หมายถึงคนที่ไม่ต้องการความรักและไม่ชอบการเข้าสังคม เป็นการกระทำของบุคคลที่ปรับตัวเองไม่ได้ และเป็นโรคประสาท
- ทุกๆ คนในสังคมย่อมต้องการและปรารถนาที่จะมีความเป็นอยู่อย่างมั่นคง ได้รับการเคารพ นับถือ ยกย่อง สรรเสริญ ประเมินค่าตน และมีความต้องการความแข็งแรง ความสำเร็จ ฉลาดปราดเปรื่อง ต้องการมีเกียรติยศชื่อเสียง มีฐานะ มีเกียรติภูมิ มีความสำคัญ และเป็นที่ยอมรับของสังคม
- มนุษย์ทุกคนมีความต้องการ และความต้องการนี้มีอยู่ตลอดเวลาเป็นกระบวนการที่ไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ขณะที่ความต้องการใดได้รับการตอบสนองแล้ว ความต้องการอย่างอื่นจะเกิดขึ้นมาแทนที่
- ความต้องการของมนุษย์มีลักษณะเป็นลำดับขั้นตามลำดับความสำคัญ (A hierarchy of needs) จากต่ำไปหาสูง กล่าวคือ เมื่อความต้องการในระดับต่ำได้รับการตอบสนองแล้วความต้องการระดับสูงก็จะเรียกร้องให้มีการตอบสนองทันที
ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมนุษย์
ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมนุษย์ แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ระดับ ความคิดสำคัญของทฤษฎีนี้ก็คือ ความต้องการส่วนใหญ่ในระดับที่ต่ำกว่าต้องได้รับการตอบสนองก่อนที่ความต้องการในระดับที่สูงขึ้นไปจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ทั้งนี้มิได้หมายความว่าความว่าต้องการมากกว่าหนึ่งระดับไม่อาจเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ความต้องการของมนุษย์เป็นจุดเริ่มต้นของการจูงใจ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด ตั้งแต่เกิดจนตายมนุษย์ทุกคนมีความต้องการตลอดเวลา และจะต้องการมากขึ้นเรื่อยไป ความต้องการของมนุษย์จัดเป็นขั้นตอนตามความสำคัญจากต่ำไปสูง ซึ่งเรียกว่า ความต้องการมูลฐาน 5 ขั้น มาสโลว์จัดลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ไว้อย่างมีระเบียบเรียกว่า Hierarchy of human needs เรียงลำดับขั้นจากต่ำไปสูง ถ้าความต้องการในขั้นแรกๆ ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ก็ยังไม่มีความต้องการในขั้นสูงถัดไป ดังนี้
- ความต้องการพื้นฐานทางสรีระ (Basic physiological needs or Biological Needs , Physical Needs) คือความต้องการบำบัดความหิวกระหาย ต้องการพักผ่อน ต้องการเรื่องกามารมณ์ ต้องการบำบัดความเจ็บปวดและ ความไม่สมดุลทางร่างกายต่างๆ
- ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs and security) คือ ต้องการความมั่นคง ต้องการการป้องกัน อันตราย ต้องการระเบียบ ต้องการทำนายอนาคต
- ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Love and Belonging Needs or Social Needs) คือ ต้องการเพื่อน ต้องการผู้ร่วมงาน ต้องการครอบครัว ต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ต้องการใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม
- ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง (Esteem Needs, Self-Esteem Needs) คือ ต้องการความนับถือ ต้องการความมั่นคงซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นของคนโดยทั่วไป ต้องการความพอใจ ชมเชย นิยม ต้องการความมั่นใจในตนเอง ต้องการคุณค่าในตนเอง ต้องการยอมรับตนเอง
- ความต้องการความสมหวังในชีวิต (Self-Actualization Needs, Self-realization , Self-fulfillment Needs) คือต้องการไปให้ถึงความสามารถสูงสุดของตนเอง ต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ต้องการทำสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ต้องการความงอกงามและขยายความต้องการให้ถึงที่สุด ค้นพบความจริง สร้างสรรค์ความงาม ส่งเสริมความยุติธรรม สร้างระเบียบ
ทฤษฎีความต้องการตามแนวความคิดของเมอร์เรย์ (Murray)
เมอร์เรย์มีความคิดเห็นว่า ความต้องการเป็นสิ่งที่บุคคลได้สร้างขึ้นก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ความต้องการนี้บางครั้งเกิดขึ้นเนื่องจากแรงกระตุ้นภายในของบุคคล และบางครั้งอาจเกิดความต้องการเนื่องจากสภาพสังคมก็ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ความต้องการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากสภาพทางร่างกายและสภาพทางจิตใจนั่นเอง ทฤษฎีความต้องการตามหลักการของเมอร์เรย์สามารถสรุปได้ดังนี้ (โยธิน ศันสนยุทธ , 2530 : 36)
- ความต้องการที่จะเอาชนะด้วยการแสดงออกความก้าวร้าว (Need for Aggression) ความต้องการที่จะเอาชนะผู้อื่น เอาชนะต่อสิ่งขัดขวางทั้งปวงด้วยความรุนแรง มีการต่อสู้ การแก้แค้น การทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าฟันกัน เช่น การพูดจากระทบกระแทกกับบุคคลที่ไม่ชอบกัน หรือมี ปัญหากัน เป็นต้น
- ความต้องการที่จะเอกชนะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ (Need for Counteraction) ความต้องการที่จะเอาชนะนี้เป็นความต้องการที่จะฟันฝ่าอุปสรรค ความล้มเหลวต่างๆ ด้วยการสร้างความพยายามขึ้นมา เช่น เมื่อได้รับคำดูถูกดูหมิ่น ผู้ได้รับจะเกิดความพากเพียรพยายามเพื่อเอาชนะคำ สบประมาทจนประสบความสำเร็จเป็นต้น
- ความต้องการที่จะยอมแพ้ (Need for Abasement) ความต้องการชนิดนี้เป็นความต้องการที่จะยอมแพ้ ยอมรับผิด ยอมรับคำวิจารณ์ หรือยอมรับการถูกลงโทษ เช่น การเผาตัวตายเพื่อประท้วงระบบการปกครอง พันท้ายนรสิงห์ไม่ยอมรับอภัยโทษ ต้องการจะรับโทษตามกฎเกณฑ์ เป็นต้น
- ความต้องการที่จะป้องกันตนเอง (Need for Defendant) เป็นความต้องการที่จะป้องกันตนเองจากคำวิพากย์วิจารณ์ การตำหนิติเตือน ซึ่งเป็นการป้องกันทางด้านจิตใจ พยายามหาเหตุผลมาอธิบายการกระทำของตน มีการป้องกันตนเองเพื่อให้พ้นผิดจากการกระทำต่างๆ เช่น ให้เหตุผลว่าสอบตกเพราะครูสอนไม่ดี ครู อาจารย์ที่ไม่มีวิญญาณครู ขี้เกียจอบรมสั่งสอนศิษย์ หรือประเภท "รำไม่ดีโทษปีโทษกลอง"
- ความต้องการเป็นอิสระ (Need for Autonomy) ความต้องการชนิดนี้เป็นความต้องการที่ปรารถนาจะเป็นอิสระจากสิ่งกดขี่ทั่งปวง ต้องการที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเป็นตัวของตัวเอง
- ความต้องการความสำเร็จ (Need for Achievement) คือ ความต้องการที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ที่ยากลำบากให้ประสบความสำเร็จจากการศึกษาพบว่า เพศชายจะมีระดับความต้องการความสำเร็จมากกว่าเพศหญิง
- ความต้องการสร้างมิตรภาพกับบุคคลอื่น (Need for Affiliation) เป็นความต้องการที่จะทำให้ผู้อื่นรักใคร่ ต้องการรู้จักหรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ต้องการเอาอกเอกใจ มีความซื่อสัตย์ต่อเพื่อนฝูง พยายามสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลอื่น
- ความต้องการความสนุกสนาน (Need for Play) เป็นความต้องต้องการที่จะแสดงความสนุกสนาน ต้องการหัวเราะเพื่อการผ่อนคลายความตึงเครียดมีการสร้างหรือเล่าเรื่องตลกขบขัน เช่น มีการพักผ่อนหย่อนใจมีส่วนร่วมในเกมกีฬาเป็นต้น
- ความต้องการแยกตนเองออกจากผู้อื่น (Need for Rejection) บุคคลมักจะมีความปรารถนาในการที่จะแยกตนเองออกจากผู้อื่น ไม่มีความรู้สึกยินดียินร้ายกับบุคคลอื่น ต้องการเมินเฉยจากผู้อื่น ไม่สนใจผู้อื่น
- ความต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น (Need for Succorance) ความต้องการประเภทนี้จะเป็นความต้องการให้บุคคลอื่นมีความสนใจ เห็นอกเห็นใจ มีความสงสารในตนเอง ต้องการได้รับความช่วยเหลือ การดูแล ให้คำแนะนำดูแลจากบุคคลอื่นนั่นเอง
- ความต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือต่อบุคคลอื่น (Need for Nurture) เป็นความต้องการที่จะเข้าร่วมในการทำกิจกรรมในการทำกิจกรรมกับบุคคลอื่น โดยการให้ความช่วยเหลือให้บุคคลอื่นพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ
- ความต้องการที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้อื่น (Need for Exhibition) เป็นความต้องการที่จะให้บุคคลอื่นได้เห็น ได้ยินเกี่ยวกับเรื่องราวของตนเอง ต้องการให้ผู้อื่นมีความสนใจ สนุกสนาน แปลกใจ หรือตกใจในเรื่องราวของตนเอง เช่น เล่าเรื่องตลกขบขัน ไห้บุคคลอื่นฟังเพื่อบุคคลอื่นจะเกิดความประทับใจในตนเอง เป็นต้น
- ความต้องการมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่น (Need for Dominance) เป็นความต้องการที่จะให้บุคคลอื่นมีการกระทำตามคำสั่งหรือความคิด ความต้องการของตน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีอิทธิพลเหนือกว่าบุคคลอื่น
- ความต้องการที่จะยอมรับนับถือผู้อาวุโสกว่า (Need for Deference) เป็นความต้องการที่ยอมรับนับถือผู้ที่อาวุโสกว่าด้วยความยินดี รวมทั้งนิยมชมชื่นในบุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่า พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับบุคคลดังกล่าวด้วยความยินดี
- ความต้องการหลีกเลี่ยงความรู้สึกล้มเหลว (Need for Avoidance of Inferiority) ความต้องการจะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความอับอายทั้งหลาย ต้องการหลีกเลี่ยงการดูถูก หรือการกระทำต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความละอายใจ รู้สึกอับอายล้มเหลว พ่ายแพ้
- ความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงจากอันตราย (Need for Avoidance Harm) ความต้องการนี้เป็นความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย ต้องการได้รับความปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง
- ความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ (Need for Avoidance of Blame) เป็นความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยการคล้อยตามกลุ่ม หรือยอมนับคำสั่งหรือปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของกลุ่มกฎเกณฑ์เพราะกลัวถูกลงโทษ
- ความต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย (Need for Orderliness) เป็นความต้องการที่จะจัดสิ่งของต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความประณีต งดงาม
- ความต้องการที่จะรักษาชื่อเสียง เป็นความต้องการที่จะรักษาชื่อเสียงของตนที่มีอยู่ไว้จนสุดความสามารถ เช่น การไม่ยอมขโมย แม้ว่าตนเองจะหิว หรือไม่ยอมทำความผิด ไม่คดโกงผู้ใดเพื่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นต้น
- ความต้องการให้ตนเองมีความแตกต่างจากบุคคลอื่น (Need for Contrariness) เป็นความต้องการที่อยากจะเด่น นำสมัย ไม่เหมือนใคร
ความต้องการตามหลักพุทธศาสนา
ในทางพุทธศาสนา กล่าวถึง ความต้องการของมนุษย์ หรือความอยากซึ่งเรียกว่า กิเลส มีอยู่ 3 อย่าง คือ ( พระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตโต , 2538: 67 - 70)
1. กามตัณหา คือ ความอยากในกามคุณทั้ง 5 คือ ความอยากหรือปรารถนาในสิ่งน่ารักใคร่พอใจ ซึ่งอาจเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มิใช่หมายถึงความต้องการทางเพศเพียงอย่างเดียวอย่างเช่นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน
2. ภวตัณหา คือ ความอยากมี อยากเป็น อยากได้
3. วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้
กล่าวไว้นั้น เมื่อเทียบกับหลักธรรมของพุทธศาสนา เปรียบได้กับอิฐารมณ์ 4 คือ (เสถียร เหลืองอร่าม, 2519 : 21)
1. ลาภ ซึ่งได้แก่ ทรัพย์ ศฤงคาร(สิ่งที่ทำให้เกิดความรัก, ความใคร่) เงินทอง
2. ยศ ได้แก่ ตำแหน่ง เหรียญตรา ปริญญา วิทยฐานะ
3. สรรเสริญ ได้แก่ ความเคารพ นับถือจากผู้อื่น
4. ความสุข ทั้งในร่างกายและจิตใจ
ความต้องการที่เหมือนกันของมนุษย์ (กฤษณา ศักด์ศรี , 2534 : 219 - 220)
มนุษย์มีความต้องการมากมายหลายอย่าง แต่ในแง่ของความสัมพันธ์ มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานที่เหมือนกันทุกคนก็คือ
1. ความรู้สึก "เป็นคนสำคัญ" ฉะนั้นจงทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ ยกให้เขาเป็นคนสำคัญ เช่น การใส่ใจกับผู้อื่น จำชื่อเพื่อนได้ มีของมาฝาก ขอรับคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ
2. มนุษย์มีความต้องการอีกอย่างหนึ่ง คือ "ความยกย่อง หรือ ชื่นชม " ดังนั้นควรฝึกหัดยกย่องผู้อื่นเป็นประจำทุกครั้งที่เห็นใครกระทำสิ่งดีๆ หรือ มีความคิดดีๆ แต่ควรระวัง ทำด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้งแกล้งทำ
3. อยากให้คนอื่น "รัก" และ "ชอบ" ตน ยิ่งคนรักยิ่งชอบมากเท่าไร ยิ่งปลาบปลื้มใจมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงควร ทำให้เขาเกิดความรู้สึกนี้ให้มากขึ้น
4. มนุษย์ทุกคนอยากสบายแต่ "ขี้เกียจ" และต้องการแนวร่วมคือ คน "ขี้เกียจ" เหมือนเขา จงบอกว่าท่านขี้เกียจมากกว่าเขาเสียอีก เขาจะอุ่นใจขึ้นและคบท่านได้อีกนาน แต่อย่าไปบอกว่าท่านขยันกว่าเขาก็แล้วกัน ทำให้เขามีความหวัง และรู้สึกว่ายังมีคนสู้เขาไม่ได้อีกมากมาย เขาจะอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข และรักท่านขึ้นอีกหลายเท่า
มนุษย์อยากได้สิ่งทั้งสี่นี้ มนุษย์ต่อสู้ ดิ้นรน ลงทุน ทำงานหนัก เล่นการพนัน เป็นโจร ปล้นฆ่า ก็เพื่อชีวิตจะได้รับสิ่งทั้งสี่นี้เท่านั้น แม้ว่ามนุษย์จะมีความต้องการอื่นอีกมากมาย แต่ความปรารถนาทั้งสี่ประการดังกล่าวเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากในการติดต่อสัมพันธ์กัน
นอกจากนั้นแล้วมนุษย์ยังต้องการสิ่งอื่นๆ อีกมากมายได้แก่ ความสุข มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการความสุข ไม่อยากพบกับความทุกข์ ถ้าไม่อยากพบกับความทุกข์ จะทำอย่างไรดีละ ? พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า "เว้นเหตุแห่งทุกข์ย่อมมีสุขในที่ทั้งปวง" คำถามต่อมา แล้วอะไรจะเป็นเหตุแห่งทุกข์ ? จะรู้ได้อย่างไร ? คำตอบคือต้องมีปัญญา" คิด ไตร่ตรองให้รอบคอบในทุกๆ เรื่อง มีสติที่ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาว่าจะทำสิ่งใด และที่เราจะทำนั้นก่อให้เกิดผลใดบ้าง เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น เรียกว่า พิจารณาให้ถ่องแท้แน่ใจเสียก่อนจึงจะลงมือกระทำ หรือปฏิบัติ ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของ "ความถูกต้อง ความดีงาม ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่อื่น" นั้นแหละจึงจะเป็นความสุขที่เป็นความสุขจริงๆ ไม่ใช่เป็นความสุขที่นำความทุกข์มาให้เราภายหลัง
เมื่อทราบแล้วว่า มนุษย์ส่วนใหญ่มีความต้องการสิ่งใดบ้าง ย่อมช่วยให้เราพอใจจะเห็นแนวทางในการตอบสนอง ความต้องการ ดังกล่าวของมนุษย์ที่เราติดต่อ โดยมุ่งหวังให้เกิดความรู้สึกนึกรักใคร่ พึงพอใจต่อกัน อันจะนำไปสู่มนุษยสัมพันธ์ที่ดีและยาวนาน
แนวทางการศึกษาธรรมชาติและความต้องการของมนุษย์เพื่อมนุษยสัมพันธ์
1. ศึกษาตนเอง
2. ต้องศึกษาผู้ที่เราต้องการศึกษา
และต้องรู้จักธรรมชาติของมนุษย์
3. ยอมรับความจริงที่ว่า "มนุษย์แตกต่างกัน"
4. ตอบสนองความต้องการของมนุษย์นั้นโดยยึดหลักที่ว่า "มนุษย์แตกต่างกัน" ซึ่งอยู่บนฐานรากของความถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นมนุษย์แต่ละคนจึงมีความสามารถในการรับรู้ ตีความ และตอบสนองแตกต่างกัน
แนวทางการตอบสนองความต้องการของมนุษย์เพื่อมนุษย์สัมพันธ์
ริเรืองรอง รัตนวิไลสกุล (2540: 44-46) กล่าวถึง "การตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยใช้หลักว่า เมื่อเราต้องการสิ่งใด ผู้อื่นก็ต้องการสิ่งนั้นเช่นกัน ส่วนความต้องการด้านจิตใจให้ยึดหลักที่ว่า จงเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
1. พยายามชอบและให้ความสนใจกับบุคคลทั่วไป
2. มองโลกแง่ดีและมีอารมณ์ขัน
3. รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
4. แสดงความเป็นกันเอง และให้ความช่วยเหลือกับบุคคลทั่วไป
5. รู้จักทักทายปราศัยกับบุคคลทั่วไป และเรียกชื่อคนให้ถูกต้อง
6. ยิ้มแย้มแจ่มใสกับคนทั่วไปเป็นปกตินิสัย
7. มีความจริงใจ ไม่เสแสร้ง
8. รับฟังความคิดเห็นและให้การยอมรับนับถือผู้อื่น
9. มีความอดทน อดกลั้น มีความมั่นคงในอารมณ์และรู้จักกาละเทสะ
10. รู้จักเหตุผลและประมาณกาล
ดังกล่าวมาแล้วว่าเรื่องของมนุษยสัมพันธ์เป็นศาสตร์และศิลป์ นับถือเป็นการนำความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้กับตนเอง ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งหาได้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวไม่และไม่สามารถกำหนดได้ว่า แต่ละคนจะต้องมีประพฤติกรรม หรือการกระทำแค่ไหน อย่างไร จึงจะเป็นที่ รักใคร่ ชอบพอของผู้อื่น ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุชัดแน่นอนลงไปได้ว่า " คุณจะต้องทำอย่างไร จึงจะชนะใจผู้อื่น ทำได้แต่เพียง ให้แนวทางและหลักการกว้างๆ สำหรับนำไปประยุกต์ใช้ด้วยตนเอง กล่าวคือ
แนวทางสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น
1. ต้องรู้จักสังเกต ใส่ใจต่อผู้อื่นว่า เขามีความต้องการสิ่งใด สิ่งใดที่เขาชอบ เพื่อที่เราจะได้ตอบสนองในสิ่งที่เราต้องการได้อย่างถูกต้อง และพึงพอใจและรู้จักสังเกตความเปลี่ยนแปลง
2. พยายามสร้างทัศนคติที่ดีในการคบหากับผู้อื่น เริ่มที่สร้างความรู้สึก "รัก" "ชอบ" ผู้อื่นก่อน เพราะการที่เรามีความคิด ความรู้สึกที่ดีต่อใครแล้ว ความคิด และการปฏิบัติต่อกันก็มักจะมีแนวโน้มดีตามไปด้วย โดยยึดหลักที่ว่า "อกเขา….อกเรา" สิ่งใดที่เราชอบผู้อื่นก็มักจะชอบ และสิ่งใดที่เราไม่ชอบคนอื่นก็มักจะไม่ชอบ เช่นกัน ยกเว้น คนพวกที่เราเรียกว่า "ขวางโลก" คนพวกนี้จะพยายามทำอะไรผิดแผกและแตกต่างผู้อื่นเสมอและสุดท้ายก็นำความเดือดร้อน ยุ่งยากมาสู่ชีวิตตนเอง
3. พยายามทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่า "เขาเป็นบุคคลสำคัญ" ซึ่งมีวิธีการมากมาย ได้แก่
- การฝึกจำชื่อ และรายละเอียดผู้ที่เราติดต่อด้วยได้อย่างถูกต้อง โดยการจดบันทึก หรือสร้างภาพเชื่อมโยงกับสิ่ง/คน/เหตุการณ์ที่เราคุ้นเคย
- มีความสม่ำเสมอ ให้ความเอาใจใส่ต่อบุคคลที่เราติดต่อด้วย พร้อมทั้งบุคคลใกล้ชิดของเขา
- รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- รับฟังความคิดเห็นและให้การยอมรับเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข
- ยิ้มแย้ม แจ่มใส มีความจริงใจเป็นมิตร
- ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มใจและกระตือรือร้น
4. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
5. มีใจกว้าง มีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นและให้การยอมรับผู้อื่น
6. ไม่นึกถึงแต่ประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว คำนึงถึงผู้อื่นสังคมโดยรวม
7. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ คือ สามารถควบคุมอารมณ์ ความคิดความรู้สึก และความต้องการของตนเองไดถูกต้องเหมาะสมกับวัน เวลา สถานที่ บุคคลและเหตุการณ์
8. มีความอดทน อดกลั้น
9. ยึดหลักธรรมที่ว่า "สังคหวัตถุ 4" ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวใจบุคคล ประกอบด้วยทาน การให้ ปิยวาจา คือ วาจาอันเป็นที่รัก อัตถจริยา คือ ประพฤติตนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และสมานัตตา คือ การวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย มีความสม่ำเสมอ
ในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้จัก"มนุษย์" คนที่เราจะต้องรู้จักด้วยให้ดีเสียก่อน ว่ามนุษย์นั้นมีลักษณะธรรมชาติและความต้องการเป็นอย่างไร เพื่อที่จะทำให้เราสามารถรู้ เข้าใจถึงตัวมนุษย์คนนั้นๆ อย่างแท้จริง และสามารถตอบสนองความต้องการของเขาทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของเขาได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้เขารู้สึกชอบพอและพึงพอใจเรา อันจะนำไปสู่การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน