บุคลิกภาพกับความสำเร็จ

บุคลิกภาพเป็นส่วนสำคัญของมนุษย์ในการที่จะช่วยส่งเสริม หรือขัดขวางความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเรียน การทำงาน การเข้าสังคม (โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์, 2544) แม้ว่า ความรู้ความสามารถ เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่สุดใน การทำงาน แต่ไม่ใช่หมด การยอมรับของสังคมนั้นต้องมี ส่วนประกอบ ที่สำคัญนั้นคือ บุคลิกภาพ (วรวรรณา จิลลานนท์, 2546) ดังนั้น บุคลิกภาพ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลและเกี่ยวข้องกับ การประสบความสำเร็จ
สถาบันราชภัฏเทพสตรี (2543) ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพของ "คนเก่ง" ว่าจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

  1. เก่งตน หมายถึง เป็นผู้ที่ชอบศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทัน โลกทันคน โดยเริ่มจาก พัฒนาตนเอง ก่อน ประกอบด้วย
    - ทางกาย : รูปร่าง พัฒนาให้ดีขึ้นโดยใช้การแต่งกายช่วยลดหรือเสริมจุดเด่นจุดด้อย หน้าตาสด ชื่นแจ่มใส สะอาด เข้มแข็งแต่ไม่กระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ
    - ทางวาจา : การพูดดีมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ พูดแต่ดี มีประโยชน์ ผู้ฟังชอบ และทุกคน ปลอดภัย คิดก่อนพูด
    - ทางใจ : มีความมั่นใจในตนเอง กระตือรือร้น มีความอดทน พยายาม มีเหตุผล การ มีสมรรถภาพ ในการจำ และมี ความคิดสร้างสรรค์
  2. เก่งคน หมายถึง มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  3. เก่งงาน หมายถึง ผู้ที่รักงาน ขยันทำงาน และรู้วิธีทำงาน

กิติมาพร ชูโชติ (2544) ได้กล่าวถึง ความสำคัญของบุคลิกภาพ ที่ส่งผลต่อ ความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลิกภาพ ของบุคคลที่ จะเป็นผู้นำว่า "เป็นปัจจัยที่สำคัญในการบริหารที่จะทำให้องค์การทำงานสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ วิธีการบริหาร ของผู้นำ นั้นเกิดจาก พฤติกรรมส่วนตัว ของ ผู้นำเป็นสำคัญ ไม่ใช่เกิดจาก อำนาจที่เป็นทางการ และส่งผลให้ คนเชื่อและทำตาม" โดยได้เสนอแนะบุคลิกภาพของ "ผู้นำในอนาคต" ที่ต้องการประสบความสำเร็จว่า ต้องมี คุณลักษณะที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. ยืนหยัด คือ การที่ไม่ยอมเสียจุดยืน เสียความมั่นใจของตนเอง มีเหตุผลและการใช้วิจารณญาณของตนเอง
2. ยืดหยุ่น คือ การรู้จักผ่อนปรนตามสถานการณ์เพื่อให้การปฏิบัติการบรรลุตามเป้าหมาย
3. ยินยอม คือ การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ประนีประนอม
4. ยิ้มแย้ม คือ สามารถยิ้มรับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ แสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม
5. ยกย่อง คือ การรู้จักยกย่องผู้อื่นด้วยความจริงใจ

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ (2544) บุคลิกภาพของผู้นำที่ได้รับการยอมรับนั้น จะประกอบด้วย องค์ประกอบอยู่ 3 ประการ อันได้แก่

1. องค์ประกอบทางสรีระ ได้แก่ ลักษณะรูปร่าง น้ำหนัก ส่วนสูง และความแข็งแรงของร่างกาย แม้ว่าความสัมพันธ์ของ องค์ประกอบ ทางสรีระ และความเป็นผู้นำจะผันแปรไปตามลักษณะของกลุ่มแต่ละกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่แล้ว คนทั่วไปมักนิยมชื่นชอบผู้นำที่มีรูปร่างสมส่วน และมีความเข้มแข็งด้านร่างกายและจิตใจ แม้ว่าจะมีผลการศึกษาหลายชิ้นที่สนับสนุนความเชื่อที่ว่า หน้าตาที่หล่อ/สวย นั้นมี ความสัมพันธ์กับ ความสำเร็จในการงาน แต่จากการศึกษาของ วันชัย อริยะพุทธิพงศ์ (2545) ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็น ศิษย์เก่าจาก มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กลับพบว่า หน้าที่ตาหล่อ/สวยไม่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการงาน

2. องค์ประกอบด้านสติปัญญา หมายถึง

(1) ความสามารถในการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมหรือปัญหาที่เผชิญอยู่

(2) ความสามารถในการศึกษาหรือการเรียนรู้ และ

(3) ความสามารถในการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งหากผู้นำมีระดับสติปัญญาในระดับปกติหรือระดับฉลาดก็มีแนวโน้มว่า ความเป็นผู้นำนั้น จะประสบความสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. องค์ประกอบทางอารมณ์ ได้แก่ ความสามารถทางอารมณ์ (Emotional Intelligence Competencies) หรือ เชาว์อารมณ์ (Emotional Quotient : EQ) หมายถึง ความสามารถในการตระหนัก รู้ถึงความรู้สึกของตนเอง และของผู้อื่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับ ตนเอง บริหารจัดการอารมณ์ของตนเองและของผู้อื่น
จะเห็นได้ว่า บุคลิกภาพเพื่อความสำเร็จนั้น จะประกอบด้วยองค์ประกอบ หรือ คุณลักษณะหลายประการ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเอื้อต่อ การประสบความสำเร็จ แต่ในยุคแห่งการแข่งขันในปัจจุบันสุภกิจ โสทัต (2540) กลับเชื่อว่า ความรู้และ ความเฉลียวฉลาด ของบุคคลนั้น มีความสำคัญน้อยกว่า ความมุ่งหวังตั้งใจเด็ดเดี่ยว แน่นอนและมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางจุดมุ่งหมาย ที่แน่นอน ในชีวิต เพราะ "บุคคลที่ขาดจุดหมายก็คือคนที่ขาดหลักสำหรับยึดเหนี่ยว ยิ่งในยุดที่ "ใครแข็งใครอยู่" แล้ว คนที่อ่อนแอ จะถูกผลักให้ถอยไปข้างหลัง รวมทั้งคนที่ตั้งใจทำอะไรเพียง ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็จะไม่มีวันก้าวไปสู่ความสำเร็จได้เลย"
นอกจากนั้น วรวรรณา จิลลานนท์ (2546) ยังมีข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับ "คนทำงานรุ่นใหม่" คือ การทำความเข้าใจเรื่องของ "กาลเทศะ" และ "มารยาททางสังคม" เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการยอมรับทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลัง จะสมัครงาน จะต้องปรับเปลี่ยน หรือเสริมสร้าง "บุคลิกภาพใหม่" ดังกล่าวให้เหมาะสม เพื่อความได้เปรียบและเสริมสร้างโอกาสใน การทำงานและความสำเร็จต่อไป

จอร์จ กาลอป จูเนียร์ เขียนไว้ในหนังสือ "เรื่องราวความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของชาวอเมริกัน" ซึ่งข้อมูลได้มาจาก การสำรวจ ชาวอเมริกันกว่า 1,500 คนว่า ลักษณะของผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะดังนี้

  1. มีสามัญสำนึกที่ดี การตัดสินใจจะใช้ดุลยพินิจบนพื้นฐานสามัญสำนึกที่ดี สามารถ แยกแยะปัญหา ที่ซับซ้อน ให้เป็น รูปแบบ ที่เข้าใจง่ายที่สุด
  2. มีความรู้ลึกซึ้งในงานของตนเอง เป็นผลจากการใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดชีวิต คนเหล่านี้จะ"ทำการบ้านอยู่เสมอ" ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้มากทีเดียว
  3. พึ่งพาตนเอง
  4. มีสติปัญญา มีความสามารถในการอ่าน การคิด และการเขียนเป็นอย่างดี
  5. มีความสามารถที่จะทำงานให้บรรลุผล ผู้ประสบความสำเร็จมักจะขยันทำงานหนักกว่าใคร มีความสามารถ ใน การจัดการ รู้จักแยกแยะว่า อะไรสำคัญ หรือ ไม่สำคัญ
  6. มีภาวะผู้นำ รู้จักใช้ศิลปะการจูงใจคน ไม่ใช่ใช้อำนาจข่มขู่
  7. รู้จักแยกแยะสิ่งผิดกับสิ่งถูก มีคุณธรรมและความยุติธรรม ดำรงตนอยู่ในครรลองของศีลธรรม
  8. มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับ การรู้จักนำความคิด นั้นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
  9. มีความมั่นใจในตัวเอง รู้ว่าตนสามารถทำในสิ่งที่เป็นไปได้ให้บังเกิดผลสำเร็จ
  10. รู้วิธีสื่อสารเจรจา สามารถสื่อความให้ทุกคนเข้าใจและยอมรับได้ แม้กระทั่งต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก
  11. เห็นใจคนอื่น การเห็นใจคนอื่นจะทำให้เขาเข้ากับใครๆ ได้ง่าย
  12. โชคช่วย เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องมีโชคช่วยด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ

สำหรับประเทศไทยนั้น จากการศึกษาของ ชูชัย สมิทธิไกร (2545) เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะบุคลิกภาพ กับความสำเร็จใน การทำงานของบุคคล ที่มีอาชีพต่างกัน 7 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ เภสัชกร ครู พนักงานธนาคาร พนักงานโรงแรม ทันตแพทย์ พนักงานขาย และเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ พบว่า ความสำเร็จในการทำงานมีความสัมพันธ์ทางบวก กับบุคลิกภาพ ด้านความรับผิดชอบ ด้านการเปิดเผยตัวเอง ด้านความเข้าใจผู้อื่น และด้านการเปิดรับประสบการณ์ นอกจากนั้นยังพบว่า ความรับผิดชอบเป็น บุคลิกภาพด้านเดียว ที่สามารถทำนายความสำเร็จในการทำงานของบุคคลทุกอาชีพ ทุกระดับอายุการทำงานและทุกเพศ
อย่างไรก็ตาม ในโลกเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ สังคมโลกที่ก้าวไปสู่ สังคมแห่งความรู้ (Knowledge-based Society) นั้น นภางค์ คงเศรษฐกุล (2546) ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพของบุคคล ที่จะสามารถอยู่รอด และประสบความสำเร็จนั้น จะต้องเป็น "บุคคลที่เรียนรู้ (Learning Person)" มีทักษะในการศึกษา ค้นคว้า และสร้างความรู้ด้วยตนเอง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่ความเป็น "บุคคลที่รอบรู้ (Personal Mastery)" ที่มีระบบคิดที่แตกต่างไปจากแนวคิดเดิม ๆ (Divergently) สามารถตั้งข้อสงสัยกับสิ่ง ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ สร้างกรอบแนวคิดใหม่ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การเรียนรู้ที่สามารถขยายหรือเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้สูงขึ้นต่อไป