โรคเอดส์/ไวรัสเอช ไอ วี - AIDS/HIV

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3
  • Tab 4
  • Tab 5
  • Tab 6

โรคเอดส์/ไวรัสเอช ไอ วี

อาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในตอนเริ่มต้นส่วนใหญ่จะยังไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปให้ยังบุคคลอื่นได้ อาการที่ส่อให้เห็นหลังจากนั้นไปอีกซักระยะ พอสังเกตุได้มีดังต่อไปนี้

  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ แขน ขาหนีบ โตนานเกินกว่า 3 เดือน
  • น้ำหนักลดลง 4-5 กิโลกรัม หรือมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัวภายในระยะ 3 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อุจจาระร่วงเรื้อรังเกิน 3 เดือน โดยไม่หายขาด
  • เบื่ออาหาร และเหนื่อยง่ายมาเป็นเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
  • ไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นๆหายๆนานเกินกว่า 3 เดือน
  • มีไข้สูงเกิน 37.8 C หรือมีเหงื่ออกมากในตอนกลางคืน เรื้อรังเกิน 1 เดือน
  • แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งไม่มีแรงหรือทำงานไม่ประสานกัน หรือมีอาการชัก จากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • เป็นฝ้าขาวที่ลิ้นหรือในปาก นานเกินกว่า 3 เดือน

ลักษณะทั่วไป 

โรคเอดส์ (AIDS) ย่อมาจากคำว่า Aquired immunodeficiency syndrome ซึ่งแปลว่า “กลุ่ม อาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง” เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV ย่อจาก Human immunodeficiency virus) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปทำลาย เม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเสื่อม หรือบกพร่องลง เป็นผลทำให้เป็นโรคติดเชื้อ หรือเป็นมะเร็งบางชนิด ได้ง่ายกว่าคนปกติ อาการมักจะรุนแรง และเรื้อรัง และเสียชีวิตในที่สุด

โรคนี้เป็นโรคใหม่ที่มีรายงานครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2524 และมีรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2527 โรคนี้มีการระบาดในทวีปแอฟริกาก่อนที่จะแพร่ กระจายไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป และลุกลามไปทั่วโลก จากรายงานของ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ในประเทศไทยมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์แล้วรวมทั้งสิ้น 65,792 ราย (เสียชีวิตแล้วประมาณ 27%) อัตราส่วนระหว่างผู้ป่วยชายต่อหญิงเท่ากับ 4.6 : 1, ประมาณ 50% เป็นกลุ่มอายุ 25-34 ปี, ประมาณ 20% เป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี, ปัจจัยเสี่ยงที่ สำคัญคือ การมี  เพศสัมพันธ์ ซึ่งพบถึง 81.6% (0.8% เกิดในชายรักร่วมเพศ) ส่วนการใช้ยาเสพติดฉีด เข้าเส้นพบได้ 6% และ ติดเชื้อจากมารดา 5.3% พบในภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน) ถึง 36.5% ของผู้ป่วยทั้งประเทศ 

สาเหตุ 

เกิดจากเชื้อ เอชไอวี ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่ เพิ่งมีการเพาะเลี้ยงแยกเชื้อได้ในปี พ.ศ. 2526 เชื้อนี้ มีมากในเลือด น้ำเชื้ออสุจิ และน้ำเมือก ในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ จึงสามารถแพร่เชื้อได้โดย 

1. ทางเพศสัมพันธ์ ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน (ในชายรักร่วมเพศ, เกย์) 
2. ทางเลือด เช่น การได้รับการถ่ายเลือด, การปลูกถ่ายอวัยวะที่มีเชื้อ, การแปดเปื้อนผลิตภัณฑ์จากเลือด, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้นส่วนการใช้ของมีคม (เช่นใบมีดโกน ที่ตัดเล็บ) ร่วมกับ ผู้ติดเชื้อ การสัก การเจาะหู อาจมีโอกาสแปดเปื้อนเลือดที่มีเชื้อได้ แต่จะมีโอกาสติดโรคได้ ก็ต่อ เมื่อมีแผลเปิด และปริมาณเลือด หรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายมีจำนวนมากพอ 
3. การติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก ตั้งแต่ระยะอยู่ในครรภ์ ระยะคลอด และระยะเลี้ยงดูหลัง คลอด โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากมารดา ประมาณ20-50% จากการศึกษาในประเทศต่าง ๆ เท่าที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีการติดต่อโดย

- การหายใจ ไอ จามรดกัน 
- การกินอาหาร และดื่มน้ำร่วมกัน 
- การว่ายน้ำในสระ หรือเล่นกีฬาร่วมกัน 
- การใช้ห้องน้ำร่วมกัน 
- การอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน ยานพาหนะ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ 
- การสัมผัส โอบกอด 
- การใช้ครัว ภาชนะเครื่องครัว จาน แก้ว หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน 
- การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน 
- การถูกยุง หรือแมลงกัด

ผู้ที่มีเลือดบวก (มีแอนติบอดี) 90% จะมีเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด ซึ่งสามารถแพร่โรคให้ผู้อื่นได้ แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม 

ลักษณะอาการ 

เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จำนวนของ เชื้อ และระดับภูมิต้านทานของร่างกาย ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกันดังนี้

1. ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (Primary HIV infection หรือ Acute retroviral syndrome) 
ระยะนี้นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเอชไอวี จนกระทั่งร่างกายเริ่มสร้างแอนติบอดี กินเวลาประมาณ 1-6 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต บางคน อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว หรือ มีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปได้เอง เนื่องจากอาการคล้ายกับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วๆไป ผู้ป่วยอาจ ซื้อยารักษาเอง หรือเมื่อไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะนี้ ผู้ติดเชื้อประมาณ 30-50% อาจไม่มีอาการดังกล่าวเลยก็ได้

2. ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่การตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวี และแอนติบอดีต่อเชื้อ ชนิดนี้ และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่า เป็น “พาหะ” (carrier) ของโรค ระยะนี้มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี บางคนอาจนานกว่า 15 ปี

3. ระยะติดเชื้อที่มีอาการ ระยะนี้แต่ก่อนเรียกว่า “ระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์” (AIDS related complex หรือ ARC) มักจะมีอาการคล้ายโรคอื่น ๆ จนไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นเอดส์ก็ได้ อาจพบ อาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน 
- มีไข้เกิน 37.8 ํ ซ. เป็นพัก ๆ หรือติดต่อกันทุกวัน 
- ท้องเดินเรื้อรัง หรืออุจจาระร่วงเรื้อรัง
- น้ำหนักลดเกิน 10% ของน้ำหนักตัว 
- ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่งในบริเวณที่ไม่ติดต่อกัน 
- เชื้อราในปาก
- ฝ้าขาว (hairy leukoplakia) ในช่องปากจากเชื้อไวรัสเอปสไตน์บาร์ มักอยู่ที่ด้านข้างของลิ้นมี ลักษณะเป็นฝ้า คล้ายโรคเชื้อรา แต่ขูดไม่ออก 
- โรคงูสวัด

4. ระยะป่วยเป็นเอดส์ ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว วัณโรค เป็นต้น ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวย โอกาส” (opportunistic infections) ซึ่งส่วนใหญ่เป็น การติดเชื้อที่ รักษาค่อนข้างยาก และอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำอย่างเดียว หรือติดเชื้อชนิดใหม่ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน ทำให้เกิดวัณโรค ปอด, ปอดอักเสบ, สมองอักเสบ , เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร (เจ็บคอ กลืนลำบาก ท้องเดิน) เป็นต้นผู้ป่วยเอดส์ ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งของหลอดเลือดที่เรียกว่า Kaposi sarcoma (เห็นเป็นตุ่ม หรือผื่นสีม่วงที่ผิวหนัง หรือเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองภายในช่องปาก หรืออวัยวะภายใน ก็ได้), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) ในสมอง เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีความผิดปกติของสมองที่เรียกว่า AIDS dementia complex (ADC) ทำให้มีอาการทางจิตประสาท ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า คลุ้มคลั่ง เป็นต้น บางคนอาจมีอาการแขนขาชา อัมพาต ชักกระตุกได้ 

สิ่งตรวจพบ

ในระยะที่มีอาการหรือป่วยเป็นเอดส์แล้ว จะตรวจพบอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่นไข้ ซูบผอม ต่อม น้ำเหลืองโตหลายแห่ง (บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ) ซีด จุดแดง-จ้ำเขียว

ในช่องปาก อาจพบอาการลิ้นหรือช่องปากเป็นฝ้าขาวจากเชื้อราแคนดิดา , รอยฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia), แผลเริมเรื้อรัง, แผลแอฟทัส, ปากเปื่อย,ก้อนเนื้องอก (มะเร็ง) เป็นต้น

บริเวณผิวหนัง อาจพบวงผื่นของโรคเชื้อรา (กลากเกลื้อน) ลุกลามเป็นบริเวณกว้างและเรื้อรัง, เริม, งูสวัด, แผลเรื้อรัง, พุพอง, ก้อนเนื้องอก, หูดข้าวสุก (จากไวรัส), ผื่นสีม่วงแดง หรือตุ่มสีม่วง (Kaposi sarcoma), ตุ่มหนอง หรือตุ่มคล้ายหูดข้าวสุกกระจายทั่วไป จากเชื้อราเพนิซิลเลียม มาร์เนฟไฟ (Penicillium marneffei), ผิวหนังแห้ง คัน เป็นสะเก็ดขาว เป็นตุ่มคัน เป็นต้น ในรายที่เป็นปอดบวม จะมีอาการหายใจหอบ ใช้เครื่องตรวจฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ในรายที่เป็นโรคติดเชื้อของสมอง จะมีอาการซึม เพ้อ ชัก หมดสติ ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะตรวจพบอาการคอแข็ง 

การรักษา

1. ในรายที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น หญิงบริการ, ผู้ที่ชอบเที่ยว หรือมีเพศสัมพันธ์เสรี, ผู้ที่ฉีดยา เสพติด, แม่บ้านที่สามีมีพฤติกรรมเสี่ยง เป็นต้น ควรให้คำปรึกษาในการตรวจเลือดพิสูจน์บนพื้นฐานของความสมัครใจและต้องรักษาความลับในกรณีตรวจพบเลือดบวกการตรวจเลือด เพื่อบ่งบอกการติดเชื้อเอชไอวี มี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ

  • การตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี โดยวิธีอีไลซ่า (ELISA) จะตรวจพบแอนติบอดี (เลือด บวก) หลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 6 เดือน) วิธี นี้เป็นการตรวจกรองขั้นต้น ถ้าพบเลือดบวก ต้องตรวจยืนยัน โดยวิธีเวสเทิร์นบลอต (Western blot) อีกครั้ง 
  • การตรวจหาแอนติเจน (ส่วนประกอบของตัวเชื้อเอชไอวี) จะตรวจพบแอนติเจน (เลือดบวก) หลังติดเชื้อ 2 - 6 สัปดาห์ ถ้าพบเลือดบวกแน่ชัด โดยไม่มีอาการก็จัดว่าเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่มี อาการ หรือพาหะ ควรให้คำแนะนำใน การปฎิบัติตัว เพื่อรักษาสุขภาพ ให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยง การแพร่เชื้อให้ผู้อื่น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “ข้อแนะนำ”)สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ที่ตรวจพบเป็นผู้ติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส -เอซีที (AZT) ซึ่งมีการศึกษาว่า สามารถลดการติดเชื้อ ให้ทารก ในครรภ์ได้ถึง 2 ใน 3 โดยการให้ยาเอซีที ขนาด ครั้งละ 100 มก. วันละ 5 ครั้ง (ทุก 4 ชั่วโมง) ตั้งแต่อายุครรภ์ 14-34 สัปดาห์ กินทุกวันจนกระทั่งเข้าสู่ระยะคลอด ระหว่างคลอด จะเปลี่ยนเป็นยาชนิดฉีด เริ่มแรกให้ 2 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. เข้าทางหลอดเลือดดำให้หมดภายใน 1 ชั่วโมง ต่อไปให้ ขนาด 1 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ต่อชั่วโมง จนกระทั่งตัดสายสะดือเด็ก หลังคลอดภายใน 12 ชม.จะเริ่มให้ยาเอซีทีแก่ทารก ขนาด 2 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ทุก 6 ชั่วโมงหรือ  ใช้ชนิดฉีด ขนาด 1.5 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.เข้าหลอดเลือดดำ (แต่ละครั้งฉีดให้หมดภายใน 30 นาที)ทุก 6 ชม. ให้ยานาน 6 สัปดาห์ ในปัจจุบันแนะนำ ให้ตรวจวัดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดเป็นระยะ ๆ ถ้าพบว่าปริมาณเชื้อไม่ลด ลงจากการให้ยา AZT เพียงตัวเดียว ก็อาจให้ยาร่วมกัน3 ตัว (เช่น AZT + 3TC + nevirapine)

2. ในรายที่มีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอดส์ ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัย โดยการตรวจ เลือดและทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ตรวจเสมหะ และเอกซเรย์ ในรายที่สงสัยจะเป็นวัณโรค ปอด หรือปอดอักเสบแทรก, เจาะหลังในรายที่สงสัยจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ส่องกล้องตรวจดูทางเดินอาหารในรายที่สงสัยจะมีการติดเชื้อราแคนดิดา เป็นต้นการตรวจเลือด นอกจากตรวจยืนยันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ยังจะตรวจนับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 lymphocyte และการตรวจวัดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (viral load) เพื่อใช้ในการประเมินความ รุนแรงของโรค เพื่อการ ตัดสินใจเริ่มให้ยารักษา, ติดตามการดำเนินของโรค และการปรับวิธีการรักษา

การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ มีหลักการคร่าว ๆ ดังนี้

1. ให้ยาต้านไวรัส เพื่อลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะช่วยลด การทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ยืด อายุผู้ป่วยและมีสุขภาพที่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณี ดังนี้ 

(1) เมื่อมีอาการแสดงของโรคแล้ว 
(2) เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจเลือดพบว่ามีค่า CD4 ต่ำกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร (CD4 มีค่าปกติ 600-1200, ค่า CD4
บ่งบอกถึงระดับความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน มีค่ายิ่งต่ำระบบภูมิคุ้มกันก็ยิ่งอ่อนแอ และยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น) 
(3) เมื่อยังไม่มีอาการแสดง และค่า CD4 มากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร แต่มีประมาณ เชื้อเอชไอวี (viral load) มากกว่า 30,000 ตัวต่อมิลลิลิตรในปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่นิยมเลือกใช้อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 Nucleoside analogues RTIs (reverse transcriptase
inhibitors) เช่น 
- Zidovudine (AZT) 
- Didanosine (ddI) 
- Zalcitabine (ddC) 
- Stavudine (d4T) 
- Lamivudine (3TC)

กลุ่มที่ 2 NNRTIs (non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors) เช่น 
- Delavirdine
- Loviride 
- Nevirapine

กลุ่มที่ 3 Protease inhibitors (PIs) เช่น 
- Nelfinavir 
- Indinavir 
- Ritonavir 
- Saquinavir

ควรใช้ร่วมกันอย่างน้อย 2-3 ตัว (ไม่แนะนำให้ใช้เพียงตัวเดียว เพราะมักเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตาม มา) นาน 6-12 เดือน โดยใช้กลุ่มที่ 1 (Nucleoside analogues) 2 ตัว ร่วมกับกลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มที่ 3 อีก 1 ตัว เช่น 
- AZT + 3TC + Nevirapine 
- AZT + 3TC + Nelfinavir 
- AZT + 3TC + Indinavir 
- AZT + ddC + Ritonavir 
- AZT + ddI + Ritonavir 
- AZT + ddI + Nevirapine 
- ddI + d4T + Ritonavir

2. ให้การรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อยใน บ้านเรา เช่น 
1) วัณโรค ให้ยารักษาวัณโรค 
2) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (Cryptococcalmeningitis) ให้ยาฆ่าเชื้อรา - แอมโฟเทอริซินบี (Amphotericin B) 0.3-0.6 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน หยดเข้าหลอด เลือดดำช้า ๆ นาน 6-8 สัปดาห์ เมื่อรักษาขั้นต้นจนหายแล้ว ควรให้ยานี้ขนาด 50-100 มก. ฉีด สัปดาห์ละครั้ง หรือให้กินฟลูโคนาโซน (Fluconazole) 100 - 200 มก.ต่อวัน ไปตลอดชีวิต เพื่อ ป้องกันการกำเริบซ้ำ 
3) ปอดอักเสบ จากเชื้อโปรโตซัว-นิวโมซิสติสคาริไน (Pneumocystis carinii pneumonia หรือ PCP) ให้ยาต้านจุลชีพ -โคไตรม็อกซาโซล กินหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ในขนาด 15 มก. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน ของไตรเมโทพริมแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หรือ ให้เพนทาไมดีน (Pentamidine) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 4 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ต่อวัน หรือ ให้ไตรเมโทพริม กินในขนาด 15 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ร่วมกับแดปโซน (Dapsone) กินในขนาด 100 มก. ต่อวัน โดยให้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งนาน 14-21 วัน เมื่อหายแล้ว ควรกินยาป้องกันการกำเริบซ้ำ โดยให้โคไตรม็อกซาโซลวันละ 2 เม็ด 3 วัน ต่อสัปดาห์ หรือแดปโซน 50-100 มก.ทุกวัน

3. การเสริมสร้างภาระภูมิต้านทานของผู้ป่วย เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูก และเม็ดเลือดขาว ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) เป็นต้น

4. การเสริมสภาพจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งมักจะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ รู้สึกไม่มั่นคง ด้วยการ ให้คำปรึกษาแนะนำให้กำลังใจ และให้การสังคมสงเคราะห์ตามความจำเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเอดส์ที่มีโรคแทรกซ้อน มักจะมีอาการกำเริบซ้ำบ่อย และค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่อนข้างแพง จึงมักจะไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในที่สุด บางคนอาจอยู่ได้ 1-2 ปี บางคนอาจอยู่ได้นาน 5-6 ปี หลังป่วยเป็นโรคเอดส์เต็มขั้นแล้ว 

ข้อแนะนำ

1. สำหรับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ กลุ่มนี้ยังมีสุขภาพแข็งแรงเช่นคนทั่วไป และสามารถดำเนิน ชีวิตไปตามปกติ บางคนอาจใช้เวลา 5-10 ปี กว่าจะป่วยเป็นเอดส์ บางคนก็ยังคงแข็งแรงดีแม้ติด เชื้อเกิน 10 - 15 ปีขึ้นไปผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ควรปฎิบัติตัวดังนี้ 
(1) ไปพบแพทย์และตรวจเลือด เป็นระยะ ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ 
(2) ทำงาน เรียนหนังสือ คบค้าสมาคมกับผู้อื่น และปฎิบัติภารกิจประจำวันไปตามปกติ ไม่ต้องกังวล ว่าจะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดย การสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดกัน หรือหายใจรดผู้อื่น 
(3) หากมีความกังวลเป็นทุกข์ใจ ควรเล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายฟัง หรือขอคำปรึกษา แนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรืออาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน 
(4) จงอย่าท้อแท้สิ้นหวัง ต้องเสริมสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ซึ่งเป็นอาวุธอันทรงพลังในการบำรุงรักษา สุขภาพให้แข็งแรงต่อไป ผู้ที่เสียกำลังใจ อาจเสียสุขภาพทางกาย หรือถูกโรครุมเร้าได้ง่าย 
(5) ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย (ไม่จำ เป็นต้องกินอาหารเสริมราคาแพง) งดเหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติด และพักผ่อนให้เพียงพอ 
(6) เสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เล่นกีฬา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ฝึกสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์ หรือภาวนาตาม ลัทธิศาสนา ที่นับถือ หมั่นทำความดี และช่วยเหลือผู้อื่น สร้างกุศลกรรม (เช่น ช่วยรณรงค์ในการป้องกันโรคเอดส์ เป็นต้น) ถ้ามีโอกาส ควรเข้าร่วม กลุ่มช่วยเหลือกันเองในหมู่ผู้ติดเชื้อ 
(7) หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดย 
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และงดการร่วมเพศทางปาก หรือทวารหนัก 
- ไม่ใช้ของมีคม (เช่น มีดโกน ที่ตัดเล็บ) แปรงสีฟัน ร่วมกับผู้อื่น 
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น 
- งดการบริจาคโลหิต หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น ดวงตา ไต 
- เมื่อร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ให้รีบทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วนำ ไปแยกซักให้สะอาด และตากให้แห้ง ระวังอย่าให้ ผู้อื่นสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของตัวเอง 
(8) หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ เพราะเด็กอาจมีโอกาสรับเชื้อจากมารดาได้ 
(9) มารดาที่มีการติดเชื้อ ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง

2. สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเอดส์ ควรปฎิบัติตัวดังนี้ 
(1) ปฎิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ โดยปรับให้เหมาะกับสภาพของร่างกาย เช่น ทำงาน และออกกำลังกายแต่พอเหมาะ 
(2) กินยาและรักษาพยาบาล ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 
(3) ทำใจยอมรับชะตากรรมที่เผชิญ รู้จักใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มีคุณค่าที่สุด และเตรียมตัวตาย อย่างมีสติ โดยการศึกษาและปฎิบัติธรรม ภายใต้การช่วยเหลือของผู้รู้ 
(4) เมื่อมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ควรป้องกันมิให้เชื้อโรคต่างๆ แพร่ให้ผู้อื่น เช่น 
- ใช้กระดาษ หรือผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม 
- ถ้วยชาม จาน แก้วน้ำที่ใช้แล้ว ควรล้างให้สะอาด ด้วยน้ำยาล้างจาน หรือลวกด้วยน้ำร้อน แล้วทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ใหม่ 
- ควรระมัดระวังมิให้น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลืองจากแผล ปัสสาวะ และสิ่งขับถ่ายต่าง ๆ กระเด็น หรือเปรอะเปื้อนไปถูกผู้อื่น 
- การบ้วนน้ำลายหรือเสมหะ รวมทั้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ควรจะใส่ในภาชนะให้เป็นที่เป็นทาง สามารถนำไปทิ้ง หรือ ทำความสะอาดได้สะดวก 
- สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ควรระมัดระวัง อย่าให้สิ่งขับถ่าย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ อาเจียน เปรอะเปื้อนพื้น โถส้วม อ่างล้างมือ ควรล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก 
หรือ น้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์ (Chorox) เป็นประจำ และล้างมือทุกครั้ง หลังจากการขับถ่ายเสมอ

3. สำหรับญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรปฎิบัติดังนี้ 
(1) ศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์อย่างถ่องแท้ 
(2) ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความอบอุ่น เช่น การพูดคุย สัมผัสโอบกอด 
(3) หากผู้ป่วยมีบาดแผลหรือเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลืองที่ร่างกาย หรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย ควร หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกโดยตรง ถ้าจะสัมผัสควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มี อาจใช้ถุงพลาติกที่ไม่ มีรูรั่ว 2-3 ชั้น แทนก็ได้ 
(4) เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ของผู้ป่วย ที่ไม่เปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ไม่ต้องแยกซักต่างหาก แต่ถ้าเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ควรใช้ถุงมือยางจับต้องและนำไปแช่ในน้ำผสมผงฟอกขาวนาน ประมาณ 30 นาทีเสียก่อน แล้วจึงนำไปซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ 
(5) ทุกคนในบ้านสามารถใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกับผู้ป่วยได้ แต่ควรทำความสะอาดโดยสวมถุง มือ และใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ ที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์ (Chorox) หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ 
(6) เครื่องครัว ถ้วย จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่จำเป็นต้องแยกใช้ต่างหาก และในการกินอาหารร่วม สำรับกันควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี

4. วัคซีนป้องกันโรคเอดส์ ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นศึกษาทดลอง ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ จึงอยู่ที่การ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเป็นสำคัญ

5. การตรวจเลือดในการพิสูจน์การติดเชื้อเอชไอวีนั้น จะให้ผลบวกหลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ บาง ครั้งการตรวจเลือดในระยะที่เพิ่งติดเชื้อใหม่ ๆ ก็อาจให้ผลลบลวง (false negative) ได้ จึงควรมี การตรวจซ้ำให้แน่ใจ ขณะเดียวกันการตรวจเลือดในขั้นต้น โดยวิธีอีไลซ่า ก็อาจให้ผลบวกลวง (false positive) กล่าวคือ เลือดเป็นบวกทั้งๆ ที่ ผู้นั้นอาจไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อก็ได้ ดังนั้นจึงควรจะ 
ต้องทำการตรวจเลือดยืนยัน โดยวิธีเวสเทิร์นบลอต มิเช่นนั้นอาจทำให้เข้าใจผิด ตลอดไปได้

6. การบริจาคเลือดที่คลังเลือด ไม่มีโอกาสจะติดเชื้อเอชไอวี เพราะเจ้าหน้าที่จะใช้อุปกรณ์ชุดใหม่ ทุกครั้ง จึงไม่มีโอกาสจะปนเปื้อนเลือดของผู้อื่น

7. การใช้สมุนไพรในการรักษาโรคเอดส์ ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ผล ในการทำให้ หายได้จริง นอกจากช่วยเสริมสร้างกำลังใจ และช่วยให้สุขภาพทั่วไปดีขึ้นชั่วขณะ หากจะใช้สมุน ไพรรักษา ควรศึกษาให้แน่ใจว่าไม่มีโทษ และราคาไม่แพง

8. ผู้ที่มีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต คล้ายไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีอาการ เป็นหวัด น้ำมูกไหล หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรตรวจเลือดพิสูจน์การติดเชื้อเอชไอวี อาจเป็นการ ติดเชื้อเอชไอวีระยะแรกเริ่มก็ได้ หากพบว่าเป็นจริง การได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่แรกอาจช่วยให้โรคลุกลามช้า หรือมีความรุนแรงน้อยลงได้ 

การป้องกัน

การป้องกัน แม้ว่าโรคนี้จะมีอันตรายร้ายแรง และยังมีความยุ่งยากในการเยียวยารักษา แต่ก็เป็น โรคที่สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

ก. สำหรับประชาชนทั่วไป 

(1) หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ครอง ควรยึดมั่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง (รักเดียวใจเดียว) 
(2) ถ้ายังนิยมมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะหญิงบริการ หรือบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์เสรี หรือ มีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง 
(3) หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าจนมึนเมา เพราะอาจชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (ประมาท ไม่คิดป้องกันตัวเอง) 
(4) หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเลือดของคนอื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ควรใส่ถุง มือยางหรือถุงพลาสติก 2 - 3 ชั้น ป้องกันอย่าสัมผัสถูกเลือดโดยตรง 
(5) หลีกเลี่ยงการใช้เข็ม หรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น 
(6) หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม (เช่น ที่ตัดเล็บ ใบมีดโกน) ร่วมกันผู้อื่น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนใช้ควร ทำลายเชื้อ ด้วยการแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70%, โพวิโดนไอโอดีน 2.5%, ทิงเจอร์ ไอโอดีน, ไลซอล 0.5-3% โซเดียมไฮโพคลอไรด์ 0.1-0.5% (หรือน้ำยาคลอรอกซ์ 1 ส่วนผสมน้ำ 9 ส่วนก็ได้) เป็นต้น นาน 10-20 นาที
(7) ก่อนแต่งงาน ควรปรึกษาแพทย์ในการตรวจเช็กโรคเอดส์ ถ้าพบว่าคนใดคนหนึ่งมีเลือดบวกควร พิจารณาหาทางป้องกันมิให้ติดให้อีกคนหนึ่ง 
(8) คู่สมรสที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ควรคุมกำเนิด และป้องกันการแพร่เชื้อ โดยการใช้ถุงยาง อนามัยทุกครั้ง 
(9) หญิงตั้งครรภ์ ที่คิดว่าตัวเองหรือคู่สมรสมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเลือดตั้ง แต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เพื่อลดการติดเชื้อ ของทารกในครรภ์ 
(10) มาตรการในระยะยาว คือ การรณรงค์ให้เกิดค่านิยมใหม่ และสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เพื่อป้อง กันไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การเที่ยวหญิงบริการ, การติดยาเสพติด

ข. สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จากการปฎิบัติงานเกี่ยวข้อง กับการรักษาผู้ป่วย ควรประยุกต์ใช้มาตรการป้องกัน (universal precautions) อย่างเคร่งครัด เช่น การสวมถุงมือ การใช้ผ้าปิดจมูก หรือหน้ากาก การใส่เสื้อคลุม หรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เมื่อต้องปฎิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสถูกเลือด น้ำเหลือง สารคัดหลั่ง หรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วยทุกคน (ไม่ว่า จะสงสัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม)ในกรณีที่ถูกเข็มที่ใช้กับผู้ป่วยแล้วตำ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อย (สหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่ถูก เข็มที่ใช้กับผู้ที่ติดเชื้อตำ มีโอกาสติดเชื้อ ประมาณ
0.47%) ควรรีบตรวจเลือดโดยเร็ว แล้วตรวจซ้ำ ในระยะ 6 สัปดาห์, 3 เดือนและ 6 เดือนต่อมา แนะนำให้กินยาป้องกันโดยเร็วที่สุด โดยการใช้ยาต้านไวรัส 3 ตัวร่วมกัน (เช่น AZT + 3TC + Indinavir) นาน 4-6 สัปดาห์

สมุรไพรรักษาโรคเอดส์

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันมีการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสHIVอันนำมาสู่สภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสแล้ว ภูมิคุ้มกันโรคของผู้นั้นจะเสื่อม ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ จนเสียชีวิตในที่สุด

วงการแพทย์ทั่วโลกต่างก็แสวงหาวิธีรักษาโรคร้ายนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่พบวิธีหรือยาที่จะฆ่าเชื้อเอดส์ได้ ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ ยาสมุนไพร ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาสมุนไพรสำหรับโรคเอดส์ เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันการแพทย์แผนไทย ฯลฯ ทางด้านประชาชนก็มีการทดลอง อีกทั้งพระภิกษุ หมอพื้นบ้าน ได้พยายามนำสมุนไพรมารักษาผู้ป่วยกันหลายราย

การค้นคว้าเน้นไปที่การหายาฆ่าเชื้อเอดส์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ ปัญหาโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ เป็นไข้ ไอ ท้องเสีย โรคเริม ปากเป็นแผล ติดเชื้อราต่างๆ ผู้ป่วยสามารถ เลือกใช้ยาสมุนไพรตามอาการของโรคที่แทรกซ้อนได้ สมุนไพรเหล่านี้ไม่ได้เป็นยารักษาโรคเอดส์โดยตรง แต่ก็บรรเทาอาการของโรคได้

รายงานการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ สมุนไพรรักษาโรคเอดส์ มีการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรหลายชนิด

Trichosanthes kirilowii

ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Chinese snake guard พืชสกุลนี้ในเมืองไทยมีหลายชนิดได้แก่ บวบงู ขี้กาขาว ขี้กาแดง หรือกระดึงช้างเผือก ขี้กาดินการศึกษาวิจัยพืชนี้ในการรักษาโรคเอดส์ส่วนใหญ่ทำในสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ได้มีรายงานจากสหรัฐอเมริกา ในปี ๑๙๘๙ โดย Mc. Grath ถึงการค้นพบโปรตีนจากรากของพืชนี้ ชื่อ Trichosanthin GLO 223 หรือ compound Q ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้ง การแบ่งตัวของเชื้อไวรัส HIV แต่ก็มีผู้รายงานความเป็นพิษของ Trichosanthin เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูทดลอง ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง ของจำนวนการทดลอง ขณะนี้เชื่อกันว่าถ้าให้รับประทาน Trichosanthin อาจไม่เกิดพิษ เช่นการฉีด Trichosanthin

โปรตีนจากระหุ่ง

แม้ว่าจะมีพิษ แต่ก็มีผู้พบว่าส่วนหนึ่งของโปรตีน Ricin ซึ่งเป็นพิษ คือ dg A สามารถจับ antibody ของ HIV ซึ่งทำให้ไปยับยั้ง การแบ่งตัวของไวรัส โดยมีผลต่อเซลล์ปกติเพียง ๑/๑,ooo ของเซลล์ที่มีไวรัส การค้นพบนี้อาจเป็น จุดเริ่มต้นในการพบยาที่ป้องกัน หรือยืดเวลาในการเกิดโรคเอดส์

Hypericum spp.

พืชสกุลนี้บ้านเรามี บัวทอง(Hypericum garrettii Craib) มีผู้สกัดสาร Hypericin และ Pseudohypericin จากพืชนี้ พบว่ามีฤทธิ์ป้องกันการขยายตัวของไวรัสเอดส์

Castanospermun australe

Tyms และคณะได้พบว่าแอลคาลอยด์ ๓ ชนิด มีผลยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยให้ไวรัสจับกับ T-cells ซึ่งสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และแอลคาลอยด์ ที่ให้ผลดีที่สุดคือ Castanospermine จาก Castanospermum australe ไม้ยืนต้นของออสเตรเลีย และสารนี้มีพิษน้อย มีฤทธิ์ข้างเคียง เช่น น้ำหนักลด ท้องเสีย

ยังไม่มีสมุนไพรใดที่ใช้รักษาโรคเอดส์ได้จริงจัง ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง ซึ่งบางอย่างก็ทดลองโดยไม่ถูกกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาสมุนไพรก็เป็นแนวทางหนึ่งในการก็จะค้นพบยารักษาโรคนี้

อาหารสมุนไพรและอาหารหลัก ๕ หมู่สำหรับผู้ป่วยเอดส

โดยปรัชญาการแพทย์แผนไทยแล้ว เน้นการรักษาแบบองค์รวม คือ ความสมดุลของร่างกายระหว่างธาตุ ภายใน และภายนอก โดยเชื่อว่าเมื่อร่างกายสมดุล ย่อมไม่เจ็บป่วย

ผู้ติดเชื้อเอดส์ควรบริโภคอาหารสมุนไพรเสริมสร้างภูมิต้านทานเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและชลอความทรุดโทรมของร่างกาย

อาหารสมุนไพรที่ควรรับประทาน ได้แก่ เผือก เดือย กลอย มัน ถั่วต่างๆ งาดำ เมล็ดทานตะวัน ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ฟักทอง หัวแครอท น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกคำฝอย นม กล้วยน้ำว้า มะละกอ ผักสีเขียว มะขามป้อม มะเขือเทศ ฝรั่ง ว่านหางจระเข้ น้ำผึ้ง มะกรูด เห็ดต่างๆ กระเทียม และเครื่องเทศทุกชนิด

บริโภคอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ได้แก่

  • โปรตีน มีอยู่ในตับ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว นม ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา เป็นต้น
  • คาร์โบไฮเดรต มีอยู่ในแป้งต่างๆ น้ำตาล ข้าว ขนมปัง เผือก มัน เป็นต้น
  • วิตามิน มีอยู่ในผักใบเขียวทุกชนิด ฟักทอง มะเขือเทศ และผักอื่นๆ
  • เกลือแร่ มีอยู่ในผลไม้ทุกชนิด เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง สับประรด ฯลฯ
  • ไขมัน มีอยู่ในน้ำมันจากพืชและสัตว์ เช่น น้ำมันหมู กะทิ น้ำมันงา ฯลฯ

การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอดส์

ใช้ยาสมุนไพรตามหลักทฤษฎีการปรับสมดุลของธาตุในคัมภีร์มหาพิกัดโดยผู้สั่งยานี้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ

ใช้ยาสมุนไพรตามตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ๒๘ ขนาน ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาต เพื่อใช้รักษาตามอาการ เช่น ยาจันทน์ลีลา (แก้ไข้)

ใช้ยาสมุนไพรเดี่ยว รักษาตามอาการซึ่งอาจพบบ่อย ได้แก่

  • สมุนไพรแก้ไข้ เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
  • สมุนไพรแก้เริม เช่น เสลดพังพอนตัวเมียและตัวผู้
  • สมุนไพรแก้ท้องเสีย เช่น กล้วยน้ำว้า ทับทิม ฝรั่งดิบ
  • สมุนไพรแก้ไอ เช่น มะแว้ง ขิง มะนาว
  • สมุนไพรแก้ท้องอืดเฟ้อ เช่น ขมิ้นชัน แห้วหมู กระชาย
  • สมุนไพรแก้เชื้อรา เช่น กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ
  • สมุนไพรช่วยให้นอนหลับได้ เช่น ใบขี้เหล็ก ดอกบัวหลวง หัวหอมใหญ่
Resource : http://school.obec.go.th