ไข้หวัดนก Bird Flu

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3

โรคไข้หวัดนกเป็นโรคติดต่อของสัตว์ประเภทนก ตามปกติโรคนี้ติดต่อมายังคนได้ไม่ง่ายนัก แต่คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่เป็น โรคอาจติดเชื้อได้ มีรายงานการเกิดโรคในคนเป็นครั้งแรกในปี 2540 เมื่อเกิดโรคระบาดของสัตว์ปีกในฮ่องกง โรคไข้หวัดนก เกิดจาก เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ ที่พบในนก ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคในธรรมชาติ โรคอาจแพร่มายังสัตว์ปีกในฟาร์ม คนติดโรคได้โดยการสัมผัส กับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย เชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และมูลของสัตว์ป่วย อาจติดมากับมือ และเข้าสู่ร่างกาย ทางเยื่อบุของจมูกและตา ทำให้เกิดโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีระยะฟักตัว 1 ถึง 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีภูมิคุ้มกันไม่ดี และมีอาการรุนแรงได้ โดยจะมีอาการหอบ หายใจลำบาก เนื่องจากปอดอักเสบรุนแรง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก ผู้ที่ฆ่าหรือชำแหละสัตว์ปีก ในพื้นที่ที่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาด โรคไข้หวัดนกต่างจากไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ ในปัจจุบันยังไม่พบ ผู้ป่วยจาก การติดต่อของไข้หวัดนกจากคนสู่คน

เชื้อที่เป็นสาเหตุ

• Family Orthomyxoviridae
• Genus: Influenza
o ตัวเชื้อมีขนาด 80-120 nm
o ลักษณะเป็น filament
• Types: A, B, and C
o การจำแนกชนิดของเชื้ออาศัย antigen ซึ่งอยู่ที่เปลือก(virus envelope) และแกนกลาง ( nucleoprotein )
o Influenza A virus ทำให้เกิดโรคในคน สัตว์ปีก หมู ม้า สัตว์ทะเล
o Influenza B virus เกิดโรคเฉพาะในคน
o Influenza C virus ทำให้เกิดโรคในคนและม้า แต่เป็นอย่างไม่หนัก
o การระบาดของไข้หวัดนกส่วนใหญ่เกิดเชื้อชนิด Type A
• ที่เปลือกของเชื้อยังมี antigen อีกสองชนิดคือ Hemagglutinin(H )และ neuraminidase(N)
o Type A จะมี H antigen อยู่ 15 ชนิดคือ H1-H15,ส่วน N antigen มีอยู่ 9 ชนิดคือ N1-N9
o ชนิด H5,H7 จะเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง

ความเป็นอยู่ของเชื้อโรค

• เชื้อนี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ในน้ำที่อุณหภูมิ 22 องศาเชื้อสามารถอยู่ได้นาน 4 วัน ที่อุณหภูมิ 0 องศา เชื้อสามารถอยู่ได้นาน 30 วัน
• วิธีการทำลายเชื้อ
o ความร้อนที่ 56 องศาเป็นเวลา 3 ชั่วโมง หรือ 60 องศาเป็นเวลา 30 นาที
o สภาวะที่เป็นกรด
o มีสาร oxidizing agents เช่น sodium dodecyl sulfate, lipid solvents, and B-propiolactone
o สารฆ่าเชื้อเช่น Iodine,fomalin

แหล่งอาศัยของเชื้อโรค

พวกนกน้ำ หรือเป็ดป่าจะเป็นพาหะของโรค เมื่อมันอพยพไปที่ใดก็จะนำเชื้อไปด้วย หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม เช่นอากาศเย็น ก็จะทำให้มีการแพร่พันธ์ไปยังสัตว์เลี้ยง สัตว์ปีกทั้งหลายที่เป็นสัตว์เลี้ยงเมื่อได้รับเชื้อโรคจะทำให้เกิดโรค สัตว์ต่างๆได้แก่

• ไก่ Chickens
• ไก่งวงTurkeys
• เป็ด Ducks
• นกกระทา Partridges
• ไก่ฟ้า Pheasants
• นกพิราบ Pigeons
• นกกระจอกเทศ Ostriches and other ratites
• ห่าน Geese
• ไก่ต๊อก Guinea fowl

เชื่อว่าการอพยพของนกเป็ดน้ำ หรือนกจะเป็นตัวพาเชื้อแพร่กระจาย พวกนกน้ำ จะมีความต้านทานต่อเชื้อโรค นี้และเป็น พาหะของโรค

การป้องกันการระบาดของไข้หวัดนกในฟาร์ม์ไก่

  • ป้องกันฟาร์มจากสัตว์ป่า เช่นนกเป็ดน้ำ นกน้ำหรือนกที่อพยพจากประเทศอื่น
  • อย่านำสัตว์ซึ่งยังไม่ได้ตรวจหรือกักโรคเข้าฟาร์ม
  • สำหรับผู้ดูแลฟาร์มต้องใส่เครื่องป้องกันอย่างเหมาะสม เช่น เสื้อคลุม ถุงมือ หน้ากากอนามัย หมวก และการทำความสะอาดร่างกาย
  • ทำความสะอาดและทำให้ฟาร์มปราศจากเชื้ออย่างถูกต้อง
  • ใช้ระบบ all-in/all-out production system
  • ไม่ควรใช้แหล่งน้ำธรรมชาติเพราะอาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคจากสัตว์ป่า
  • ควรจำกัดการเข้าออกของรถ
  • ควรทำความสะอาดรถและอุปกรณ์ก่อนเข้าและออกจากฟาร์ม
  • อย่างใช้รถ หรืออุปกรณ์การเลี้ยงร่วมกัน
  • ไม่ควรไปฟาร์มอื่น หากจำเป็นต้องเปลี่ยนชุด ทำความสะอาดร่างกายใส่รองเท้าก่อนเข้าฟาร์ม
  • อย่าให้นกน้ำหรือสัตว์ปีกเข้าฟาร์ม

การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนก

• รักษาร่างกายให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย ผักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ
• เมื่อไม่สบายไม่ควรจะเข้าที่ชุมชนหรือที่อากาศไม่ถ่ายเท
• ไม่สัมผัสกับสัตว์ปีกที่มีชีวิต
• ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์
• เด็กไม่ควรจะสัมผัสกับไก่หรือนก

แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก

ผู้บริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่

1. เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร การบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งเนื้อไก่และไข่ไก่ โดยทั่วไปจึงควรรับประทานเนื้อที่ปรุงให้สุกเท่านั้น เนื่องจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ จะถูกทำลายไปด้วยความร้อน
2. เนื้อไก่และไข่ไก่ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดในขณะนี้ ถือว่ามีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องรับประทานเนื้อไก่ และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น งดการประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ
3. เลือกรับประทานไข่ที่ปรุงสุกอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาโรคระบาดในไก่

ผู้ประกอบอาหาร

ผู้ประกอบอาหารทั้งเพื่อการจำหน่ายและแม่บ้านที่เตรียมอาหารในครัวเรือน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อจากอาหาร กระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนอแนะและแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1. ควรเลือกซื้อเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่จากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐาน หรือร้านค้าประจำ และเลือกซื้อไก่สด ที่ไม่มีลักษณะ บ่งชี้ว่า อาจตายด้วยโรคติดเชื้อ เช่น มีเนื้อมีสีคล้ำ มีจุดเลือดออก เป็นต้น สำหรับไข่ ควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่ และไม่มีมูลไก่ ติดเปื้อน ที่เปลือกไข่ ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาด
2. ไม่ใช้มือที่เปื้อนมาจับต้องจมูก ตา และปาก และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน
3. ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่ และมีเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือผัก ผลไม้ โดยเฉพาะ ไม่ใช้เขียงเดียวกัน

ผู้ชำแหละไก่

ผู้ชำแหละไก่อาจมีความเสี่ยงจากการติดโรคจากสัตว์ จึงควรระมัดระวังขณะปฏิบัติงาน ดังนี้
1. ต้องไม่ซื้อไก่ที่มีอาการผิดปกติจากการติดเชื้อ เช่น ซึมหงอย ขนฟู หน้า หงอน หรือเหนียงบวมคล้ำ มีน้ำมูก หรือขี้ไหล เป็นต้น หรือไก่ที่ตายมาชำแหละขาย
2. ไม่ขังสัตว์ปีกจำพวก ไก่ เป็ด ห่าน ฯลฯ ที่รอชำแหละไว้ในกรงใกล้ ๆ กัน เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เชื้อโรคกลายพันธุ์ จนอาจเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เป็นอันตรายทั้งต่อคนและสัตว์ได้
3. ควรทำความสะอาดกรงและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำผงซักฟอก และนำไปผึ่งกลางแดดจัด ๆ นอกจากนั้นอาจราดด้วย น้ำยาฆ่าเชื้อเดือนละ 1- 2 ครั้ง
4. หากสัตว์ที่ชำแหละมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออก มีน้ำหรือเลือดคั่ง หรือจุดเนื้อตายสีขาวที่เครื่องใน หรือเนื้อมีสีผิดปกติ ต้องไม่นำไปจำหน่าย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจสอบทันที่ เพราะอาจเป็นโรคระบาด
5. ต้องล้างบริเวณชำแหละสัตว์ให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก และควรราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการชำแหละไก่
6. ผู้ชำแหละไก่ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
7. รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือ ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดด ให้แห้งสนิทก่อนนำมา ใช้อีกครั้ง

ผู้ขนย้ายสัตว์ปีก

ผู้ขนย้ายสัตว์ปีกควรระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดโรคจากสัตว์ และป้องกันการนำเชื้อจากฟาร์มหนึ่งไปยังแพร่ยังฟาร์มอื่น ๆ จึงควรเน้นการปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ ดังนี้
1. งดซื้อสัตว์จากฟาร์มที่มีสัตว์ตายมากผิดปกติ
2. เมื่อขนส่งสัตว์เสร็จในแต่ละวัน ต้องรีบล้างทำความสะอาดรถให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก สำหรับกรงขังสัตว์ควรราดด้วย น้ำยาฆ่าเชื้อซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
3. ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่น ล้างมือบ่อย ๆ
4. รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิม และ เครื่องป้องกันร่างกาย ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่

เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ รวมทั้งผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการะบาด เป็นกลุ่มประชาชนที่เสี่ยงต่อการติดโรคจากสัตว์ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
1. เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ ต้องป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนกทุกชนิด และสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู เป็นต้น เข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาแพร่ให้ไก่ได้ นอกจากนั้นจะต้องรักษาความสะอาดในโรงเรือนให้ดีอยู่เสมอ และหากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ต้องไม่นำไก่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย และทำการกำจัดทิ้งตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เช่น อาจฝังให้ลึกแล้วราดน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือปูนขาว หรือนำไปเผา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อมาสู่สัตว์หรือคน
2. ผู้ที่เลี้ยงสัตว์หรือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการระบาด ไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากัน
เปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจับต้องสัตว์ป่วย หรือซากสัตว์ที่ตาย
3. รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ เสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือ ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดด ให้แห้งสนิทก่อนนำมา ใช้อีกครั้ง

การป้องกันโรคให้แก่เด็ก

1. เนื่องจากเด็กมักมีนิสัยชอบเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงรวมทั้งไก่และนก และหากติดเชื้อไข้หวัดนกมักป่วยรุนแรง ดังนั้นในช่วง ที่มีโรคระบาดในสัตว์ปีก มีสัตว์ตายมากผิดปกติ พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรระมัดระวังดูแลเด็กให้ใกล้ชิด และเตือนไม่ให้เด็กอุ้มไก่หรือนก จับต้องซากสัตว์ที่ตาย และต้องฝึกสุขนิสัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์
2. หากเด็กมีอาการป่วย สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว โดยทั่วไปเมื่อได้รับ การรักษา และดูแลอย่างถูกต้อง เด็กจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2 ถึง 7 วัน ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการหอบ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที


เอกสารอ้างอิง
นิรนาม. 2547 ( กรกฎาคม,10). โรคไข้หวัดนก. Availablr URL :// http://www.siamhealth.net/Disease/infectious/avian/avian.htm
กรมควบคุมโรค . 2547 (กรกฎาคม ,9).โรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian Influenza) หรือโรคไข้หวัดนก (Bird Flu). Availablr URL:// http://www-ddc.moph.go.th/Bird_flu_brif_12072004.html