โรคไข้เลือดออก Dengue Fever
- Tab 1
โรคไข้เลือดออก Dengue Fever
ในฤดูฝน โรคติดเชื้อที่สำคัญโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ โรคไข้เลือดออก โรคนี้นับเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย เนื่องจากมีรายงาน ผู้ป่วยเสียชีวิต จากโรคนี้ทุกปี บางปีก็พบการระบาดใหญ่ และโรคมีความรุนแรง ทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก เช่น ในปี พ.ศ.2530 มีรายงานผู้ป่วยถึง92,005 ราย มีผู้เสียชีวิต414 ราย ประชาชนจึงควรรู้จักโรคนี้ไว้บ้าง เพื่อที่จะสามารถป้องกัน และให้การดูแล ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจาก การติดเชื้อไวรัส ไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญและพบได้บ่อยคือ ไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) ผู้ป่วยไข้เลือดออก ที่มีอาการรุนแรง มักติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุคือ ไวรัสชิกุนกุนยา (Chikungunya Virus) ซึ่งพบน้อยกว่าและมีอาการไม่รุนแรง ไวรัสทั้งสองชนิดติดต่อมาสู่คนได้ต้องอาศัยยุงเป็นพาหะ ยุงที่เป็นพาหะสำคัญคือยุงลาย ซึ่งชอบหากินใน เวลากลางวันโดยการกัดและดูดเลือด ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อดังกล่าวกัด โรคไข้เลือดออก มักพบเป็นในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปี ถึง 14 ปี ช่วงอายุอื่นอาจพบได้บ้างแต่ค่อนข้างน้อย โรคนี้มักจะระบาดมาก ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก มีแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น นอกจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว โรคนี้ยังพบได้ประปรายทุกเดือน
ลักษณะอาการของโรค
สามารถแบ่งระยะของโรคไข้เลือดออกได้เป็น3 ระยะคือ
1. ระยะไข้สูง อาการของโรคเริ่มจากเด็กจะมีไข้สูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส เมื่อให้กินยาลดไข้ ไข้มักจะไม่ลดลง เด็กมักมีหน้าแดงๆ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก บางรายอาจมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ มีจุดเลือดออกเล็กๆตามผิวหนัง อาการไข้ส่วนใหญ่มักเป็นอยู่ประมาณ3-5 วัน จากนั้นไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว
2. ระยะช็อกหรือระยะเลือดออก หลังจากไข้ลดจะมีอาการอาเจียน กินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา เนื่องจากตับโตขึ้น ซึมลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ปัสสาวะน้อยลง บางรายอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติ เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือถ่ายเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง รายที่อาการรุนแรงมาก อาจคลำชีพจร และวัดความดันโลหิตไม่ได้ ถ้าได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที เด็กอาจเสียชีวิตได้ ระยะนี้จะกินเวลา24-28ชั่วโมง นับจากไข้เริ่มลดลงมาปกติ ถ้าสามารถประคับประคองให้เด็กผ่านระยะนี้ไปได้ เด็กจะพ้นอันตรายและเข้าสู่ระยะที่3
3. ระยะฟื้นตัว ระยะนี้อาการของเด็กโดยทั่วไปจะดีขึ้น สังเกตได้จากเด็กจะเริ่มทานอาหารได้ ไม่อาเจียน อาการปวดท้องเริ่มลดลงเนื่องจากตับที่โตค่อยๆ เล็กลง เด็กจะดูสดชื่นขึ้น และจะหายปกติในที่สุด
เด็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรงเสมอไป มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีอาการไม่รุนแรง เด็กพวกนี้หลังจากมีอาการไข้สูงอยู่3-5 วัน พอไข้ลดลงอาการทั่วไปก็จะดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติใน1-2 วัน
การป้องกัน
1. ระวังไม่ให้ถูกยุงกัด โดยให้เด็กนอนในห้องที่มีมุ้งลวด หรือมีมุ้งครอบตัวเด็ก
2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ควรปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด เพื่อไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่หรือ อาจใส่ทรายอะเบทลงในภาชนะใส่น้ำ เพื่อกำจัดลูกน้ำก็ได้
3. เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกในระยะ5 วันแรกของโรค(ซึ่งเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสอยู่ในกระแสเลือด) ไม่ควรให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
4. วัคซีนป้องกันโรคขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยไม่มีใช้ในปัจจุบัน