โรคภูมิแพ้ Allergic disorders
- Tab 1
- Tab 2
- Tab 3
- Tab 4
- Tab 5
- Tab 6
โรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ (Allergic disorders) เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ แล้วปล่อยสารแพ้ เช่น Histamine ออกมา ถ้าสารแพ้นี้ มาแสดงปฏิกิริยาที่ผิวหนังก็ทำให้เป็นโรคแพ้ทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ,ผื่นคัน เป็นต้น ถ้าแสดงออกที่ตาก็กลายเป็น โรคเยื่อตาขาวอักเสบ , ถ้าแสดงออกที่จมูกก็กลายเป็นหวัดแพ้อากาศ , ถ้าแสดงออกที่หลอดลม ก็กลายเป็นหืด โรคนี้มักมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ คือ มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย นอกจากนี้ อารมณ์กับจิตใจ ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจแสดง อาการเพียง อย่างหนึ่งอย่างใดหรือ หลายๆ อย่างพร้อมกันก็ได้ สิ่งที่แพ้ (Allergen) มักได้แก่ ความเย็น ความร้อน แดด ฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสร นุ่น (ที่นอน หมอน) ไหม อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ไข่ แมลง เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ตัวไร พยาธิ สารเคมี โลหะ เหล้า (แอลกอฮอล์) ยา (แอสไพริน เพนิซิลลิน ซัลฟา) เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะแพ้สารได้หลายๆอย่าง และมีโอกาสแพ้ยาได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ จึงควรระมัดระวัง ในการใช้ยาสำหรับ ผู้ป่วยโรคนี้ การแพ้อาจเกิดขึ้นโดยการสัมผัส สูดดม กิน หรือ ฉีดเข้าร่างกายทางใดทางหนึ่ง โรคภูมิแพ้ทุกชนิดรวมกันแล้ว พบได้ประมาณ 30% ของคนทั่วไป
หวัดจากการแพ้ ,Allergic rhinitis/Hay fever
จัดเป็นโรคภูมิแพ้ ชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง เป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักมีประวัติ โรคภูมิแพ้ ในอดีต หรือในครอบครัว เช่น หืด ลมพิษ ผื่นคัน หรือเป็นหวัดจามบ่อยๆ
สาเหตุ เกิดจาก การแพ้สิ่งต่างๆ โดยมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์
อาการ เป็นหวัดคัดจมูก จามบ่อย น้ำมูกมีลักษณะใสๆ มักมีอาการคันในจมูก คันคอ คันตา น้ำตาไหล หรือไอแห้งๆ (แบบระคายคอ) ร่วมด้วย อาการมักเกิดเป็นประจำตอนเช้าๆ หรือเวลาถูกอากาศเย็นหรือฝุ่นละอองหรือสารแพ้อื่นๆ บางคน พอสาย ๆก็หายได้เอง บางคนเป็นประจำตลอดทั้งปี บางคนเป็นมากในบางฤดูกาล
สิ่งที่ตรวจพบ เยื่อจมูกบวมและซีด หรือเป็นสีม่วงอ่อนๆ ต่างจากไข้หวัด หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งเยื่อจมูกจะมีลักษณะบวมและออกสีแดง มักพบน้ำมูกลักษณะใสๆ (ถ้าน้ำมูกมีสีเหลืองหรือเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม) บางคนอาจพบเยื่อตาขาวออกแดงเล็กน้อย
การรักษา แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตว่า แพ้อะไร แล้วพยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ ก็อาจช่วยให้อาการดี ถ้ามีอาการควรให้กินยาแก้แพ้ เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้หยุดยา แต่ถ้ากำเริบใหม่ ก็ให้กินใหม่ บางคนที่เป็นอยู่ประจำทุกวัน ก็อาจต้องคอยกินยาไปเรื่อยๆ
ถ้ากินยาแล้วยังไม่ได้ผล หรือเป็นเรื้อรังนาน ๆควรแนะนำไปโรงพยาบาล ในบางรายอาจต้องทำการทดสอบผิวหนัง (Skin test) ว่าแพ้สารอะไร แล้วให้การรักษาโดยทำ desensitization กล่าวคือ ฉีดสารที่แพ้ เข้าร่างกายทีละน้อยๆเป็นประจำทุก 1 - 2 สัปดาห์ นานเป็นปี ๆ
ชนิดโรคภูมิแพ้ |
อาการทั่วไป |
อาการเฉพาะ |
วิธีป้องกัน |
แพ้อาหาร | ลิ้นบวม คอบวม หรือเป็นหอบหืดหายใจเสียงดังวี๊ด ในรายที่รุนแรงอาจเสียชีวิตได้ |
หากแพ้รุนแรงอาจช็อกหมดสติ ตัวเย็น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้ |
พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้แพ้ |
แพ้นม | ผื่นขึ้นตามใบหน้า แขน ขา ลำตัว โดยอาจเป็นผื่นแดงๆ หรือเป็นแบบลมพิษก็ได้ |
ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว ถ่ายมีเลือดปน น้ำมูกไหล ไอและหอบ |
งดนมวัวและกินน้ำนมแม่ |
แพ้อากาศ | จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก ลำคอ และเพดานปาก คันตา เคืองตา ไอ มีเสมหะใสเหนียว แน่นหน้าอก หอบ คัน | อาจะมีเสมหะไหลลงคอ ส่วนมากน้ำมูกจะมีสีใส หรือขาวขุ่น คันตา เคืองตา โดยอาจเกิดจากการแพ้ที่เยื่อบุภายในตา คันหู ปวดศีรษะ |
อาจใช้เครื่องฟอกอากาศ ทำความสะอาดเครื่องนอนบ่อยๆ ไม่เข้าใกล้สัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น สุนัขและแมว |
แพ้ไรฝุ่น | อาการเหมือนแพ้อากาศ | ไรฝุ่นเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคแพ้ อาการ และโรคหืด |
ทำความสะอาดที่นอน ปลอกหมอน ผ้าคลุมบ่ายๆ รวมถึงตุ๊กตาที่มีขนของเด็ก หลี่กเลี่ยงสัตว์เลี้ยงที่มีขน |
แพ้ละอองเกสร | อาการเหมือนแพ้อากาศ | คันตา ตาบวม แน่นหน้าอก หอบ ผื่นคัน ลมพิษ | หมั่นตัดหญ้า และวัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆ เพื่อลดปริมาณเกสร |
หืด | หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบาก หายใจแรงจนหน้าอกบุ๋ม แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย และไอ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน และเช้ามืด | หลอดลมหดตัว เยื่อบุภาย ในหลอดลมบวมขึ้น มีเสมหะอุดตันในหลอดลม และเยื่อบุของหลอดลมเสื่อมสภาพลง | หลีกเลี่ยงไรฝุ่น ขนสัตว์เลี้ยง ละออกเกสร ก๊าซพิษต่างๆ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ และก๊าซที่ใช้ในการหุงต้มอาหาร |
โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า "แพ้อากาศ" เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะพบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กและวัยหนุ่มสาว แต่สามารถเป็นได้กับคนทุกวัย
โรคนี้ มีอาการเรื้อรัง สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้ป่วย, ผู้ปกครอง และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนเป็นไซนัสอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ ตามมาได้
อาการของโรค
- ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย คันในจมูก, ลำคอ และมีเสมหะไหลลงคอ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นตลอดปี หรือเพียงบางฤดูกาลก็ได้
-ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการมากในบางเวลา เช่น ตอนเช้า หรือกลางคืน ประมาณวันละ 1/2 - 1 ชั่วโมง
-บางรายอาจมีอาการทางตา เช่น คันตา เคืองตา ตาบวม น้ำตาไหล อันเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุภายในตา ที่เรียกว่า Allergic rhinoconjunctivitis
-บางรายอาจมีอาการจากโรคแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ ปวดบริเวณไซนัส ปวดศีรษะ ไมเกรน หูอื้อ การรับกลิ่นเสียไป
(ไซนัส คือโพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกบริเวณใกล้จมูก มีส่วนท่อต่อกับจมูกซึ่งทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้ เมื่อเยื่อบุภายในจมูกบวมอักเสบ เช่นจากการแพ้ จะทำให้ท่อต่อนี้อุดตัน จึงมีโอกาสเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น ดังนั้น หากเราสามารถรักษาและป้องกันโรคโพรงจมูกอักเสบ จากภูมิแพ้ อันเป็นปัจจัยส่งเสริมอันหนึ่งของโรคไซนัสอักเสบได้อย่างเหมาะสม จะลดการเกิดโรคไซนัสอักเสบลงได้)
อาการของโรคนี้ต่างจากอาการหวัดอย่างไร
- อาการของโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักมีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ
- อาการเด่น คือ น้ำมูกใส จาม และคัดจมูก โดยมักไม่มีไข้
- อาจมีอาการไอเรื้อรังด้วย เนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอ ทำให้ระคายคอ
หากมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย น่าจะเป็นหวัดมากกว่า นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคแพ้อากาศ มักมีคนในครอบครัว มีประวัติ เป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้ด้วย เช่น โรคแพ้อากาศ, โรคหอบหืด, แพ้อาหาร , ลมพิษเรื้อรัง, แพ้แมลง
โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เกิดได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ระบบภูมิต้านทานในตัวของผู้ป่วย จะทำงานผิดไปจากปกติ โดยเกิดปฏิกิริยาไวมากเกินไปต่อสารในธรรมชาติบางชนิดที่คนทั่วไปไม่แพ้ เราเรียกสารธรรมชาติที่อาจทำให้บางคนแพ้ได้นี้ ว่า "สารก่อภูมิแพ้" ซึ่งจะเป็นโปรตีนของสารต่างๆ เช่น เศษโปรตีนจาก ตัวไรฝุ่น, แมว, สุนัข, แมลงสาบ, สปอร์เชื้อรา, ละอองเกสรต่างๆ
โดยระบบภูมิต้านทานของผู้ป่วยสร้างสาร IgE ขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ตนแพ้ โดย IgE ที่สร้างขึ้นนี้จะเฉพาะเจาะจงต่อสารชนิดที่ตนแพ้เท่านั้น เมื่อมีสารชนิดที่ตนแพ้เข้าสู่ร่างกาย เช่น สูดหายใจ หรือรับประทานเข้าไปสาร IgE ที่เฉพาะเจาะจงนี้ จะเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว เป็นผลให้เซลล์บางชนิดภายในเยื่อบุโพรงจมูก มีการแตกตัว และหลั่งสารเคมีออกมา เกิดการอักเสบทั่วบริเวณนั้น และมีปฎิกิริยาลูกโซ่เกิดขึ้นอีกหลายขั้น เป็นผลให้มีอาการต่างๆ ของโรคตามมา ส่วนมลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง เป็นตัวกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ แต่ไม่ได้เป็นตัวการที่ทำให้ร่างกายเกิดการแพ้ จึงไม่จัดเป็นสารก่อภูมิแพ้
ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การวินิจฉัยโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ แพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ (Allergist) สามารถทำได้โดย
1.การถามประวัติ อาการ อย่างละเอียด รวมทั้งประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว
2.การตรวจร่างกายโดยละเอียด โดยเฉพาะในโพรงจมูก
3.การตรวจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy skin prick test) จะช่วยในการตัดสินว่า ผู้ป่วยเกิดโรคโพรงจมูกอักเสบขึ้น ด้วยสาเหตุจากภูมิแพ้จริงหรือไม่ และจะได้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแนวทางการรักษาต่อไป
ขั้นตอนการรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ "แพ้อากาศ"นี้ สามารถกระทำได้ 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ที่เป็นสาเหตุของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะทราบได้จากผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
วิธีการหลีกเลี่ยง จะขึ้นกับ ชนิดของสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ เช่น อาจใช้เครื่องฟอกอากาศ ห่อหุ้มเครื่องนอน ไม่เลี้ยงหรือเข้าใกล้สัตว์ชนิดที่ผู้ป่วยแพ้ ฯลฯ
2. การรักษาด้วยยา แบ่งเป็น
- ยารับประทาน : มักใช้เพื่อควบคุมอาการของโรคเท่านั้น ดังนั้นเมื่อหยุดรับประทานยา อาการจะกลับกำเริบได้อีก
- ยาพ่นจมูก : โดยเลือกใช้ยาพ่นกลุ่มที่รักษาการอักเสบที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแพ้
ข้อดีของยาพ่นจมูกชนิดนี้คือ ปริมาณยาที่ใช้น้อยมากเมื่อเทียบกับยากิน, และยาเข้าสู่บริเวณที่เกิดโรคโดยตรง และออกฤทธิ์ต้าน การอักเสบ ของเซลล์ ยาชนิดนี้จึงควรใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่พ่นเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น (ยาพ่นจมูกกลุ่มที่ใช้พ่นเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก เป็นยากลุ่มที่ไม่ได้นำมาใช้เป็นประจำในการรักษาโรคแพ้อากาศ เพราะถ้าใช้ต่อเนื่องจะทำให้เกิดการติดยา)
3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ( Immunotherapy, allergy shot ) เป็นการปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วย ให้ลดการเกิดปฏิกิริยาต่อสารที่เคยแพ้ลงไปเรื่อย ๆ จนถึงไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เมื่อได้รับสารที่เคยแพ้เข้าสู่ร่างกายอีก การรักษาวิธีนี้จะทำให้โรคมีโอกาสหายได้ด้วยการรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธีดังกล่าว ทำให้แพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ (Allergist) สามารถควบคุมอาการ และรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
20 วิธีพิชิตโรคภูมิแพ้
หากอาการน้ำมูกไหล จมูกฟึดฟัด จาม และคันจากโรคภูมิแพ้เป็นหนัก ทำให้คุณต้องชื้อกระดาษทิชชูมาตุนไว้เต็มบ้าน เพื่อรับมือกับอาการเหล่านี้ คุณน่าจะหันมาปรับเปลี่ยนร่างกาย ให้ทำสงครามตอบโต้การโจมตีจากโรคภูมิแพ้ที่ทำเอาคุณย่ำแย่มานานปีเสียที จะได้จบสิ้นอาการ ที่น่า รำคาญ ลงได้ ภาวะภูมิแพ้อาจไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน 20 วิธีต่อไปนี้ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ใช้ ป้องกันตัวเองจากโรคนี้
1. เลือกกินเนื้อไก่แทนเนื้อวัว ผลงานวิจัยโครงการ 2 ปี ที่ศึกษาผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหวัดแพ้อากาศ 334 ราย และผู้ที่ปกติดี 1,336 ราย พบว่า ผู้ที่ได้รับกรดไขมันแปรรูปทรานส์โอเลอิก (รูปแบบหนึ่งของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว) ในอาหารโดยเฉพาะเนื้อวัว และผลิตภัณฑ์จาก นมวัว ปริมาณสูงสุด มีแนวโน้มเป็นโรคหวัดแพ้อากาศมากเป็น 3 เท่าของผู้ที่ได้รับกรดไขมันดังกล่าวในปริมาณต่ำสุด โชคยังดีที่น้ำมันมะกอก แม้จะมีกรดโอเลอิกอยู่มากแต่ก็ไม่ได้อยู่ในรูปของไขมันแปรรูปหรือ ไขมันทรานส์
2. กินน้ำมันปลาหนึ่งเม็ดเป็นอาหารเสริมทุกเช้าหลังแปรงฟัน การศึกษาผู้ที่เป็นโรคหอบหืดชนิดเกิดจาก ภูมิแพ้ พบว่าผู้ที่กินน้ำมันปลา เป็นประจำทุกวันนาน 1 เดือนจะมีระดับลูไคไทรอีนส์ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ลดลง
3. เปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะไม่เพียงช่วยขจัดความชื้น ซึ่งอาจก่อเชื้อรา แต่ยังกรองสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้ามาในบ้าน หมั่นทำความสะอาด หรือเปลี่ยนที่กรองบ่อยๆ มิฉะนั้นอาจกลับทำให้แย่ลงได้
4. กินกีวี1 ผลทุกเช้า วิตามินซีในผลกีวีเป็นสรต้านฮิสตามีนตามธรรมชาติ การศึกษาบางชิ้นพบว่าการมีระดับวิตามินซีต่ำมักทำให้เกิดภูมิแพ้ จึงควรกินวิตามันซีเสริมทันทีเมื่อมีอาการกำเริบ เราอาจเลือกผลไม้อื่นที่มีวิตามินซีสูงเช่น มะขามป้อม
5. ทำความสะอาดเครื่องเรือนและพรมด้วยเครื่องดูดฝุ่นไอน้ำ เติมสารละลายไดโซเดียมออกตาบอเรตเตตร้าไฮเดรต หรือ ดีโอที ซึ่งได้จาก ธาตุโบรอนลงในน้ำด้วย วารสารAllergy ฉบับปี 2547 ตีพิมพ์ผลการศึกษาหนึ่งว่า สารดีโอทีช่วยลดปริมาณตัวไรฝุ่น และลดสารภูมิแพ้จาก ไรฝุ่น ลงในระดับที่ปลอดปฏิกิริยาต่อร่างกายได้นาน 6 เดือน
6. กินเคอร์ซิทินขนาด 250 มก. วันละ 3 เม็ด สารเสริมที่สกัดจากธรรมชาติชนิดนี้นับเป็นฟลาโวนอยด์ หรือสารจากพืชที่มีสรรพคุณ ต้านการอักเสบ เป็นยาแก้โรคภูมิแพ้จากสารธรรมชาติที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
7. หมั่นทำความสะอาดรางน้ำไม่ให้อุดตัน เพราะจะเป็นที่เติบโตของเชื้อราซึ่งเป็นตัวทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบหนักขึ้น
8. เปิดพัดลมดูดอากาศขณะอาบน้ำหรือเปิดหน้าต่างให้มีอากาศถ่ายเทอยู่เสมอ หลังการอาบน้ำ หมั่นดูแลห้องน้ำให้แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อรามีโอกาศเจริญเติบโต
9. ใช้น้ำร้อนล้างม่านกันส่วนอาบน้ำ และนำออกซักด้วยน้ำยาฟอกขาวทุกเดือน รวมถึงถอดฝักบัวอาบน้ำออกทำความสะอาดทุก 2-3 เดือน
10. เปิดหน้าต่างรับแสงแดดในฤดูหนาว แสงแดดธรรมชาติช่วยขับไล่ความชื้น ทำให้อากาศแห้ง ไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อรา
11. ซักเครื่องนอนในน้ำร้อนทุกสัปดาห์ นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดไรฝุ่นตัวจิ๋วที่น่ารำคาญ ซึ่งพิสมัยเตียงนอนของคุณ มากกว่าเจ้าของเตียงเสียอีก
12. ตามไปดูที่ปลายช่องระบายอากาศของเครื่องอบผ้า ให้แน่ใจว่ามันยื่นออกไปนอกบ้าน ในกระบวนการอบผ้าหลัง การซักทุกครั้ง จะมีความชื้นราว 20 ปอนด์ เล็ดลอดออกไปอยู่ที่ไหนสักแห่ง ควรตามท่อไปดูว่าเชื้อราได้ก่อตัวอยู่ตรง บริเวณช่องระบายอากาศนั้นหรือไม่
13. ทำความสะอาดถาดรองน้ำใต้ตู้เย็นด้วยสารฟอกขาวแล้วโรยเกลือ การเติมเกลือลงไป ช่วยลดอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ
14. รดน้ำไม้กระถางแต่พอประมาณ อย่าลืมโรยก้อนกรวดบนหน้าดินในกระถางทุกใบเพื่อป้องกันไม่ให้สปอร์เชื้อราลอยฟุ้งขึ้นไปในอากาศ
15. ใช้เวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์จัดเก็บบ้านให้สะอาด โละเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่คุณไม่เคยใช้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทิ้งไป ย้ายอุปกรณ์กีฬาให้เข้าที่เข้าทาง ทำความสะอาดรองเท้าทุกคู่ เก็บใส่ถุงแขวนให้เป็นระเบียบ เมื่อทำเสร็จคุณจะมองเห็นพื้นตู้และฝาหลังตู้ได้อีกครั้ง ที่นี้ดูดฝุ่นทุกสิ่งทุกอย่างให้สะอาด ปริมาณฝุ่นในบ้านจะลดลงมากทีเดียว
16. ปิดประตูห้องนอนไม่ให้สุนัขและแมวเข้ามาได้ วิธีนี้ช่วยลดรังแคหรือสะเก็ดผิวหนังแมวและสุนัขที่หลายคนมีอาการแพ้ได้ดี
17. เลือกพรมเช็ดเท้าชนิดที่ทำจากสารสังเคราะห์ พรมเช็ดเท้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ(พวกเครื่องจักรสาน) อาจเปื่อยหรือผุจนกลายเป็น แหล่งอาหารของเห็บหมัด หรือเชื้อรา จนกระทั่งมันมาสถิตย์อยู่ในบ้าน จึงควรซักล้างพรมเช็ดเท้าทุกอาทิตย์ฃ
18. ทำความสะอาดเศษแมลวที่ค้างอยู่ที่ระเบียงหรือซุ้มประตูทางเข้าบ้าน เมื่อเศษแมลงย่อยสลาย มันจะกลายเป็นแหล่งสารก่อภูมิแพ้เลยทีเดียว
19. ทำชั้นวางรองเท้าไว้หน้าบ้าน และถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน เพื่อลดปริมาณฝุ่น เชื้อราและสารก่อภูมิแพ้อื่นๆที่อาจติดเข้ามา
20. อ่านฉลากให้ดี หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่สารเติมแต่งชนิดโมโนโซเดียมเบนโซเอต มีกรณีศึกษาของอิตาลีพบว่า สารชนิดนี้สามารถกระตุ้น ให้เกิดอาการคล้ายอาการภูมิแพ้ เช่น น้ำมูกไหล จาม แน่นจมูก ในกลุ่มผู้ที่ได้ได้เป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน นอกจากนี้ยังมักพบสารกันบูดในน้ำส้มคั้น ใส้ขนมพาย อาหารดอง มะกอก และน้ำสลัดอีกด้วย
บอกลาภูมิแพ้
"โรคภูมิแพ้" หรือ ภาวะภูมิต้านทานไวเกิน หรือ Allergy มาจากภาษากรีก โบราณซึ่งหมายถึง การหายใจแรง เป็นภาวะที่ร่างกายมีการตอบสนองที่มากเกินไปต่อสิ่งที่มากระตุ้นซึ่งจะเรียกว่า "สารก่อภูมิแพ้" ในคนแต่ละคน สารก่อภูมิแพ้อาจจะเป็นสารต่างชนิดกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีภาวะภูมิต้านทานอ่อนแอไปด้วย เนื่องจากระบบภูมิต้านทานถูกกระตุ้นให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เรื้อรัง ก็จะเป็นผู้ที่ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย และ นำไปสู่โรคหอบหืด โพรงไซนัสอักเสบ และ ทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรังได้การรับสารก่อภูมิแพ้ มีได้ หลายรูปแบบ ตั้งแต่เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนัง การรับสารก่อภูมิแพ้ทางลมหายใจ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของฝุ่น ไรฝุ่น หรือ ละอองเกสร การรับสารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร เป็นต้นในร่างกายของเรา จะมีเซลล์ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องภูมิแพ้ มีชื่อว่า Mast Cell
ซึ่งเป็นเซลล์ที่จะมีปฏิกิริยาเฉพาะเจาะจงกับสารก่อภูมิแพ้ในแต่ละคน บนพื้นผิวของ Mast Cell จะมีตัวรับ (Receptors) ที่ทำหน้าที่คล้ายเสาอากาศ ถ้าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้เพียงอย่างเดียวก็จะมีตัวรับบนผิวเซลล์แบบเดียว แต่ถ้าแพ้หลายอย่าง บน Mast Cell ก็จะมีตัวรับหลาย ๆ แบบเมื่อ Mast Cell ได้รับสารก่อภูมิแพ้ ที่จำเพาะเจาะจงกับตัวรับ Mast Cell ก็จะถูก กระตุ้นให้มีการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ออกมา ซึ่งจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ กันต่อร่างกาย ตั้งแต่ น้ำมูก น้ำตาไหล ไอ จาม อักเสบ บวม แดง อาการมีทั้งแบบเฉียบพลัน และ อักเสบแบบเรื้อรังไปเรื่อย ๆด้วยแพทย์ทางเลือกในปัจจุบัน มีการนำเอาสารสกัดหลายชนิด มาช่วยในเรื่องโรคภูมิแพ้ สารธรรมชาติเหล่านี้ มีกลไกหลัก ๆ ในการทำให้ Mast Cell มีความคงตัว ไม่ไวต่อการถูกกระตุ้น โดยสารก่อภูมิแพ้ จึงไม่ทำให้สารฮีสตามีน ถูกหลั่งออกมา ซึ่งต่างกับยารักษาอาการภูมิแพ้ ซึ่งเป็นยาต้านฮีสตามีน (Anti-His-tamine) เมื่อใช้สารสกัดเหล่านี้ จะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยมีภาวะภูมิต้านทานไวเกินได้ และ เมื่อฮีสตามีน ไม่ถูกหลั่งออกมา ก็จะไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้น
สารอาหารสำหรับโรคภูมิแพ้
สารธรรมชาติในสูตรของแพทย์ทางเลือกเพื่อช่วยอาการภูมิแพ้มีดังนี้
• สารสกัดจากพลูคาว กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน จาก Mast Cell ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริม และ งูสวัด
• สารสกัดจากมะขามป้อม ( Emblica Extract) มีวิตามินซีสูงมาก แพทย์ตามตำรับอายุรเวทแนะนำให้ใช้สารสกัดจากมะขามป้อมในผู้ป่วยไอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ และ โรคทางเดินหายใจ
• เบต้า กลูเคน (Beta Glucan) สารสกัดจากยีสต์ โดยเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Engi-neering) ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นภูมิต้านทาน ทำให้เม็ดเลือดขาวจำ และ ทำลายเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเชื้อแบคทีเรีย และ เชื้อไวรัส มีการวิจัยมากมายในการใช้เบต้า กลูแคน ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ หรือ บกพร่อง ป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ลดอาการ ระยะเวลา และความรุนแรงของการเป็นหวัด และไข้หวัดใหญ่
• วิตามินซี (Ascorbic Aced) ช่วยลดอาการอักเสบ ปกป้องเนื้อเยื่อปอด และ ถุงลมปอดทำให้ปอดฟอกอากาศได้ดียิ่งขึ้น
การใช้สารต้านอาการภูมิแพ้ใด ๆ ก็ตาม จะเห็นผลดียิ่งขึ้น หากมีการใช้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นร่วมด้วย มีรายงานการวิจัยมากมาย พบว่า สาร OPC ในเมล็ดองุ่น ทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นเนื่องจากรับประทานสาร OPC จะทำให้มีการผลิตฮีสตามีน้อยลง จึงลดความรุนแรงของอาการแพ้ลงได้วิธีใช้สารธรรมชาติเหล่านี้ในการช่วยอาการภูมิแพ้ แนะนำให้บริโภค ก่อนเกิดอาการแพ้ก่อนฤดูการเกิดไข้หวัดใหญ่หรือ ฤดูที่โรคทางเดินหายใจระบาด อย่างน้อย 2 สัปดาห์
คำแนะนำพื้นฐาน สำหรับโรคภูมิแพ้จากอาหาร
กรณีที่พบว่าสารกระตุ้นภูมิแพ้มีอยู่ในอาหาร คำแนะนำพื้นฐานเพื่อช่วยให้คุณดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุขคือ
การหลีกเลี่ยง เป็นวิธีที่ตรงไปตรงมา ได้ผลดีกรณีที่คุณแพ้สาร ไม่มากชนิด แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ กลับทำได้ยาก ยกตัวอย่างเช่นคุณแพ้ไข่แดง คุณต้องงดไข่แดง ซึ่งอาจปรุงเป็นอาหารเห็นชัดเจนจำพวกไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ลวก หรือแฝงตัวมาในข้าวผัด ราดหน้า ขนมปัง เค้ก ทองหยิบ สังขยา บะหมี่ ฯลฯ การหมุนเวียน ในกรณีที่คุณแพ้อาหารบางชนิด ที่ไม่รู้แน่ชัด คุณอาจได้รับประโยชน์จาก วิธีการทานอาหารหมุนเวียน สลับกันไม่ซ้ำซาก ผมเคยเห็นคนที่ทานข้าวไข่เจียวราดซอสแดงเป็นอาหารเที่ยงทุกวันนานเป็นปี แบบนี้อันตรายครับ ในแง่โภชนาการเราควรทานอาหารหลากหลาย ดังนั้น คำแนะนำข้อนี้จึงมีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษครับ
ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งแนะนำว่า คุณไม่ควรทานอาหารซ้ำเกิน 2 ครั้งในหนึ่งวัน เช่น เช้าก๋วยเตี๋ยว เที่ยงก๋วยเตี๋ยว เย็นน่าจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ใครที่ทานบะหมี่ซองวันละ 3 มื้อ ปรับเปลี่ยนดีกว่าครับ
การหมุนเวียนยังช่วยให้คุณได้รับสารอาหารครบถ้วน ระบบ ต่าง ๆ ในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และบางทีระบบภูมิคุ้มกันอาจกลับสู่สภาพดีด้วย อ้อ…ออกห่างอาหารสำเร็จรูปให้มากไว้ครับ
นอกจากนี้เราควรเรียนรู้ว่า มีสารอาหารบางชนิด ที่มีบทบาทหน้าที่เป็นพิเศษต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนี้
สังกะสี (Zinc)
สังกะสี คือ แร่ชนิดเดียวกับที่เราเอาทำสังกะสีมุงหลังคานั่นแหละครับ เรียกเป็นภาษาต่างด้าวว่า Zinc หรือ ออกเสียงแบบไทย ๆ ว่า "ซิ้ง" มีชื่อย่อเป็นภาษาเคมีว่า Zn
มีการศึกษาหลายชิ้นที่ให้ผลว่า ถ้าคนเราได้รับสังกะสีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายแล้ว จะมีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราอยู่ในสภาพสมบูรณ์
เรารู้มานานแล้วว่าในร่างกายมนุษย์มีต่อมชนิดหนึ่ง เรียกว่า ต่อมไทมัส (Thymus Gland) ซ่อนอยู่ด้านหลังของกระดูกหน้าอก ทำหน้าที่สำคัญใน การควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตลอดชีวิต
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ช่วงแรกเกิดต่อมไทมัส ในทารกมีขนาดใหญ่กว่าหัวใจเสียอีก แต่มันจะค่อย ๆ ลดขนาดลง สวนทางกับอายุที่เพิ่มขึ้น
เมื่ออายุถึง 40 ปี แพทย์แทบจะหารอยรูปต่อมไทมัสของคุณบนฟิล์มเอ๊กซเรย์ไม่พบ การลดขนาดของต่อมไทมัส เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่บอกให้รู้ว่า คุณกำลังแก่ลง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา พอแก่ตัวลงบางอย่างก็หดบางอย่างก็เหี่ยว
ถ้าลำพังต่อมไทมัสลดขนาดเพียงอย่างเดียว คงไม่มีใครเดือดร้อน แต่เราพบว่า ภูมิคุ้มกันในร่างกายพลอยเหี่ยวตามไปด้วย
ดร.วิลเลียม แอดเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญระบบภูมิคุ้มกัน ได้ศึกษาการทำงานของต่อมไทมัสมาเป็นเวลานาน เขาพบว่า หากต่อมไทมัสลดขนาดลง การทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวจะบกพร่อง ไม่สามารถทำลายเชื้อโรคผู้บุกรุกได้ อัตราตายจากโรคธรรมดาเช่น หวัดในคนอายุ 70 ปี จึงสูงเป็น 35 เท่าของเด็กสิบขวบ
ดร.นิโคลา ฟาบริส ได้ทำการศึกษาที่อิตาลี โดยป้อนหนูทดลองที่มีอายุ ด้วยอาหารผสมแร่ธาตุสังกะสีทุกวัน พบว่า ร้อยละแปดสิบของหนูทดลองมีการทำงานของต่อมไทมัสดีขึ้น มีการหลั่งฮอร์โมนไทมิวลิน (Thymulin) และฮอร์โมนอื่น ๆ ซึ่งไปกระตุ้นการสร้าง T-cells ซึ่งมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรค
เช่นเดียวกับนักวิจัยในอเมริกาและฝรั่งเศส ที่สามรถกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยสังกะสี มีการทดลองให้สังกะสี 20 มิลลิกรัมต่อวันแก่ผู้สูงอายุ 73-106 ปี พบว่าภายในสองเดือน ฮอร์โมนไทมิวลินเพิ่มขึ้น 50% โดยไม่มีผลข้างเคียงอื่นใด แต่พบปริมาณอัลบูมินและแกมมาอินเตอร์เฟอรอนเพิ่มด้วย ซึ่งเป็นสิ่งดีสำหรับผู้สูงอายุ
การค้นพบใหม่ ๆ เหล่านี้ ได้นำทางนักวิทยาศาสตร์ให้เจาะลึกไปในโลกของสังกะสีกับความสัมพันธ์ต่อสิ่งมีชีวิต เรายังต้องการผลการศึกษาอีกมาก เพื่อนำสังกะสีมาบรรเทาโรคภูมิคุ้มกัน
แหล่งสังกะสีในอาหาร
อาหารในชีวิตประจำวันเราที่มีแร่ธาตุสังกะสี ในปริมาณมากพอควรได้แก่ ข้าวซ้อมมือ อาหารที่มีส่วนผสมของยีสต์ เช่น ข้าวหมากหรือขนมปัง อาหารทะเล เนื้อสัตว์ เป็นแหล่งสังกะสีที่ดี เพราะดูดซึมง่ายกว่าพวกพืชผัก มีหลักฐานพบว่า อาหารจำพวกเนื้อเมื่อถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายดูดซึมสังกะสีได้ดีขึ้น
ปริมาณที่แนะนำสำหรับการบริโภคประจำวันคือ สำหรับผู้ชาย 15 มิลลิกรัม ผู้หญิง 12 มิลลิกรัม ทารก 3 มิลลิกรัม เด็ก 1-10 ปี 10 มิลลิกรัม หญิงมีครรภ์ 15 มิลลิกรัม
กรณีที่ท่านทานวิตามินเกลือแร่ชนิดเม็ดอยู่แล้ว ขอแนะนำให้เลือกสูตรที่มีส่วนผสมของสังกะสี ทองแดง และซิลีเนียมอยู่พร้อมหน้ากันเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพ อัตราส่วนของสังกะสีต่อทองแดงควรเป็น 10:1 เช่น ถ้ามีสังกะสี 15 มิลลิกรัม ก็ควรมีทองแดงผสมในสูตร 1.5 มิลลิกรัมด้วย
ซิลีเนียม
ซิลีเนียมได้ชื่อจากคำในภาษากรีก SELENE ซึ่งแปลว่า พระจันทร์ หากเราได้รับซิลีเนียมเข้าสู่ร่างกายทีละมาก ๆ จะทำให้เกิดพิษร้ายรุนแรง เช่น เล็บหลุด ผมร่วง ดีซ่าน เลือดจาง และด้วยพิษของมันนี้เองทำให้นักวิทยาศาสตร์ มิได้สนใจค้นคว้าทดลองหาความสำคัญต่อสุขภาพ จนกระทั่งไม่นานมานี้ ความลับของซิลีเนียมต่อกลไกชีวิตเพิ่งได้รับการเปิดเผย
มันมีฤทธิ์ช่วยร่างกายต้านมะเร็ง ป้องกันโรคหัวใจ และมีการอ้างอิงในวงการแพทย์สมัยใหม่ว่า ซิลีเนียมสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ หากร่างกายได้รับเพิ่มในปริมาณที่เพียงพอ
ผลจากการทดลองให้ซิลีเนียมร่วมกับวิตามินอีแก่สัตว์ทดลอง แล้วพบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 30 เท่า นับว่าภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงอย่างยิ่ง
และการวิจัยคล้ายคลึงกันในโซเวียตยังช่วยยืนยันงานชิ้นนี้ว่า น่าเชื่อถือได้
งานวิจัยอีกชิ้น ทำโดยหยดซิลีเนียมใส่ในน้ำดื่มในความเข้ม 2.5 ppm (ส่วนในล้านส่วน) แล้วให้อาสาสมัครที่เป็นมาลาเรียดื่ม พบว่า ซิลีเนียมช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคมาลาเรีย ทำให้หายจากโรคเร็วขึ้น เห็นได้ชัด และอัตราตายก็ลดลงเช่นกัน
การขาดซิลีเนียมส่งผลให้เซลล์ฟาโกไซท์ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันร่างกาย ลดประสิทธิภาพลง เช่นเดียวกับเซลล์เม็ดเลือดขาวในสุนัขจะเฉื่อยชาเมื่อขาดซิลีเนียม และในทางตรงกันข้ามกลับกระฉับกระเฉงเมื่อได้รับซิลีเนียมเพิ่มในอาหาร
ขณะนี้งานวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างภูมิคุ้มกัน ซิลีเนียม และวิตามินอี กำลังดำเนินไปไม่หยุดยั้ง สักวันหนึ่งความลับคงถูกไขออกมาให้เป็นที่กระจ่าง
แหล่งซิลีเนียมในธรรมชาติ แหล่งที่ดีที่สุดคือ แหล่งจากธรรมชาติ อาหารที่มีซิลีเนียมสูงได้แก่ บร็อกโคลี่ เห็ด กะหล่ำปลี แตงกวา หอม กระเทียม
แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณซิลีเนียมในอาหารธรรมชาติ ขึ้นกับแหล่งดินที่เพาะปลูก และในเมืองไทย ผมไม่เห็นรายงานการวิจัยปริมาณซิลีเนียมในดิน จึงยากจะรับประกันว่า พืชผักที่กล่าว จะมีซิลีเนียมมากน้อยเพียงพอกับความต้องการหรือไม่
สภาวิจัยแห่งชาติอเมริกาได้ประกาศเร็ว ๆ นี้ว่า ชายสุขภาพปกติควรได้รับซิลีเนียม 50 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนหญิงควรเป็น 55 ไมโครกรัมต่อวัน
ซิลีเนียมที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุดอยู่ในรูปสารอินทรีย์ คือ ในพืชผักที่กล่าว โดยเฉพาะกระเทียมมีซิลีเนียมสูง แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริม อาจมาในรูปสารประกอบอินทรีย์ที่ชื่อ L-Selenomethionine ซึ่งดีกว่า พวกสารอนินทรีย์
อ่านฉลากให้ถ้วนถี่ครับ ถ้าฉลากเขียนว่าสารสำคัญคือ Sodium selenite หรือ Sodium selenate แสดงว่าเป็นสารอนินทรีย์ แต่ถ้าเขียน L-Selenomethionine แสดงว่าเป็น สารอินทรีย์ หากไม่แน่ใจ ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านที่คุณคุ้นเคยครับ
วิตามินเอ
วิตามินเอทำหน้าที่เพิ่มการผลิต IgA จึงช่วยลดปฏิกิกริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อสารกระตุ้นภูมิแพ้ วิตามินเอยังช่วยในการมองเห็นภาพ ทำให้สุขภาพผิวหนังดีขึ้น ปกป้องร่างกายจากมะเร็งบางชนิด
ผลต่อภูมิคุ้มกัน
ในช่วงแรก ๆ ของการค้นพบวิตามินเอ มันมีอีกชื่อว่า "วิตามินฆ่าเชื้อโรค" เพราะว่าถ้าคนเราขาดวิตามินเอ ระดับภูมิต้านทานโรคในตัวจะลดตาม
ในปัจจุบัน พบว่าวิตามินเอ มีส่วนเสริมในการป้องกันและขจัดเชื้อโรค โดยการบำรุงเลี้ยงผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความแข็งแรงร่างกาย จึงสามารถป้องกันการโจมตีของแบคทีเรียและไวรัสขั้นพื้นฐานได้ โรคที่เกิดขึ้นทั่ว ๆ ไป เป็นที่รู้จักกันดี อาทิ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ และการติดเชื้ออื่น ๆ ของระบบทางเดินหายใจ
ถ้าเกิดการสูญเสียวิตามินเอ แล้วเราไม่บริโภคเข้าไปทดแทนในปริมาณที่เหมาะสม จะมีผลให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายลดต่ำ โรคร้ายกลับกำเริบ
ยังดีที่ตับเป็นแหล่งสะสมวิตามินเอขนาดใหญ่ ร่างกายจึงสามารถดึงมาใช้ยามฉุกเฉินหรือขาดแคลนได้
วิตามินอี
วิตามินอีเป็นสารที่ละลายได้ดีในน้ำมัน ประกอบด้วยสารประกอบกลุ่มหนึ่งที่เรียกเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ว่า Tocopherols
ดังนั้นเราจึงพบวิตามินอีในอาหารที่เป็นมันหรือส่วนน้ำมัน เช่น น้ำมันพืช (น้ำมันถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน และข้าวโพด) เมล็ดพืช เมล็ดถั่ว ข้าวซ้อมมือ รำ ผักบางชนิด
บอกก่อนนะครับว่า ทั้งหมดที่กล่าวนี้มีเพียงพอสำหรับความต้องการไม่เกิน 30 หน่วยสากลต่อวัน
แต่ถ้าจะให้ได้ขนาด 400 หน่วยสากล เพื่อหวังผลป้องกันโรคหัวใจหรือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาหาร 5 หมู่ยังไม่เพียงพอแน่นอน เพราะการที่จะให้ได้วิตามินอีในขนาด 400 หน่วยสากลต่อวันนั้น ดร.อลัน เชท แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน คำนวณว่า คุณต้องดื่มน้ำมันข้าวโพดวันละ 2 ขวดใหญ่ หรือกินถั่วลิสงวันละ 28 ถ้วย หรือรำวันละ 2 กิโลกรัม ซึ่งคุณก็จะกลายเป็นหมูอ้วน มันจุกอกตายไปเสียก่อน
ในท้องตลาด มีวิตามินอีขายหลายรูปแบบ เช่น ชนิดสกัดจากธรรมชาติ (d-alpha Tocopherol) หรือชนิดสังเคราะห์ (dl-alphatocopherol) ในรูปผงแห้ง และเป็นน้ำมันใสในแคปซูลอ่อน
ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ดร.ไซมิน เมดานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันกับโภชนาการ มหาวิทยาลัยทัฟท์ ได้ทดลองใช้วิตามินอีขนาด 400 และ 800 หน่วยสากลกับหญิงชายอายุมากกว่า 6 ปี ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยตามวัยผลการทดลองพบว่า ภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุหลายคนกลับเพิ่มเกือบเท่าคนหนุ่มสาว เช่น เม็ดเลือดขาว ซึ่งช่วยทำลายเชื้อโรคได้เพิ่มปริมาณขึ้น 10-50% ภายใน 30 วัน และระบบภูมิคุ้มกันบางประเภทเพิ่มถึง 80%
บทความทางการแพทย์บางชิ้นกล่าวว่า คุณประโยชน์สำคัญของวิตามินอี คือ การเพิ่มภูมิคุ้นกัน ส่งผลให้ผู้บริโภควิตามินอีทุกวัน มีอายุยืนยาวขึ้น และไม่เจ็บป่วยด้วยโรคชราอย่างคนทั่วไป
สารฟลาโวนอยด์ส (Flavonoids)
ฟลาโวนอยด์ส เป็นกลุ่มของสารเคมีที่ทำให้ผลไม้และดอกไม้เกิดสีสัน มันช่วยลดปฏิกิริยาของร่างกายที่มีผลต่อสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยลดการอักเสบ พบว่า สารฟลาโวนอยด์ส ต่อคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คือ เม็ดสีผลไม้จำพวกองุ่น เชอรี่ บลูเบอรี่ และแบล็คเบอรี่ มันช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในกระแสเลือด ป้องกันการรั่วหรือแตกของหลอดเลือดเล็ก ๆ และยังมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ
ส้มเป็นผลไม้อีกชนิดที่มีทั้งสารฟลาโวนอยด์สและวิตามินซีมากมาย เลือกทานส้มสดสีเหลืองพร้อมกาก ได้ประโยชน์หลายสถานทีเดียวครับ
นมเปรี้ยว
นมเปรี้ยวในที่นี้ หมายถึง นมเปรี้ยวที่มีเชื้อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น และควรเป็นเชื้อ Lactobacillus acidophilus จึงจะดีที่สุด
การศึกษาในญี่ปุ่น อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า นมเปรี้ยวมีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สูงขึ้นได้ด้วย
นมเปรี้ยวจึงมีฤทธิ์คล้ายยารุ่นใหม่ของโลกที่กำลังฮือฮาขณะนี้ ยาที่รักษาโรคด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่เรียกว่า Immunostimulants หรือ Immunlpotentiators ซึ่งเป็นยาในกลุ่มBiological Modifiers
ดร.คลอดิโอ เดอ ซิมโมน แห่งมหาวิทยาลัยโรม กล่าวว่า คนญี่ปุ่นทุกวันนี้ ก็ได้ใช้นมเปรี้ยวเป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ การทดลองในปี 1985 พบว่า นมเปรี้ยวช่วยกระตุ้นการสร้างสารแอนตี้บอดี้ และสารต้านโรคอื่น ๆ เพิ่มปริมาณอินเตอร์เฟอรอนเป็นสามเท่า (อินเตอร์เฟอรอน เป็นสารเคมี ที่ร่างกายสร้างโดยธรรมชาติ มันช่วยต่อสู้กับโรคติดเชื้อหลายชนิด) ดร.เดอซิมโมนกล่าวว่า นมเปรี้ยวมีฤทธิ์แรงพอกับยาสังเคราะห์ในท้องตลาดปัจจุบันคือ Lavaesole
ตรวจดูอายุนมเปรี้ยวก่อนบริโภคทุกครั้ง และควรเก็บนมเปรี้ยวไว้ที่อุณหภูมิ 1-8 องศาเซลเซียสไม่ควรแช่แข็ง
ท่านผู้อ่านครับ ดังที่กล่าวไว้แต่ตอนต้นของบทความชุดโรคภูมิแพ้แล้วว่า โรคภูมิแพ้มีสาเหตุ ที่มาที่ไปซับซ้อน จึงอย่าหวังว่า การรักษาแบบหนึ่งแบบใด เพียงอย่างเดียวจะเพียงพอให้ท่านหมั่นดูแลอาหารการกิน หลีกเลี่ยงสารกระตุ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ฝึกสมาธิ เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมครับ
และวันหนึ่ง เมื่อได้ดูแลร่างกายอย่างเอาใจใส่คุณอาจพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดพลาดอาจกลับมาทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงอีกครั้ง
ในกรณีโรคเรื้อรัง บุคลากรในวงการแพทย์ทั้งหลายอาจช่วยตรวจสอบ ตรวจหาวินิจฉัยให้คำแนะนำ พยาบาล กำหนดแนวทางการรักษาให้ท่าน แต่ไม่มีใครดูแลท่านได้ดีเท่ากับตัวท่านเอง