การตั้งครรภ์
- Tab 1
- Tab 2
- Tab 3
- Tab 4
การตั้งครรภ์ เป็นภาวะธรรมชาติที่เกิดมาพร้อมกับมนุษย์ จนเราเห็นเป็นเรื่องธรรมดาแต่ในความเป็นจริงแล้ว ในระหว่างการตั้งครรภ์ ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือ 9 เดือนเศษนั้น มีสิ่งที่ควรปฏิบัติและระมัดระวังหลายอย่าง เพื่อให้ได้ผลการคลอดที่ทั้งบุตร และมารดา ปลอดภัย และมีสุภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ผู้เขียนมีประสบการณ์ที่ได้จากการเป็นสูตินารีแพทย์ มาประมาณ 10 กว่าปี ได้พบผู้ตั้งครรภ์และผู้ฝากครรภ์ หลากหลายจึงได้เขียนเรื่องนี้ ตามประสบการณ์ทางวิชาการเพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่บุคคลทั่วไป
ก่อนจะตั้งครรภ์นั้นเราต้องวางแผนไว้ก่อน ทุกวันนี้ในสังคมไทยมีการร่วมเพศก่อนแต่งงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาคือ รายที่ไม่ได้วางแผน คุมกำเนิด ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้ พวกนี้มักอ้างว่าร่วมเพศครั้งแรกแล้วไม่เห็นตั้งครรภ์ หรืออยู่ด้วยกันมาเป็นปี ๆ ประจำเดือนก็มาตลอด จึงไม่ได้คุมกำเนิด ต้องเข้าใจว่าช่วงแรก ๆ ร่วมเพศแล้ว ไม่ตั้งครรภ์แล้วจะคิดประมาทว่าจะไม่ตั้งครรภ์ในครั้งต่อ ๆ ไปไม่ได้ เพราะการตั้งครรภ์ ขึ้นกับรอบจังหวะและสิ่งประกอบหลาย ๆ อย่าง ถ้ายังไม่ได้รับการตรวจโดยละเอียดต่อเนื่องจาก แพทย์จะถือว่า ตนเองเป็นหมันไม่ได้
ดังนั้นถ้าเราไม่ได้คุมกำเนิด เราต้องคิดว่า เรา พร้อมที่จะตั้งครรภ์ได้ทุกเมื่อก่อนตั้งครรภ์ ต้องระวังเกี่ยวกับโรคประจำตัวและการใช้ยา ถ้าเรามีโรคประจำตัว ซึ่งรักษากับแพทย์เป็นประจำ ต้องถามแพทย์ว่า "สมควรตั้งครรภ์ตอนนี้ได้ไหม" ถ้าได้อาจมีการเปลี่ยนยา หรือหยุดใช้ยาบางตัว เพื่อให้ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ ผู้ที่ชอบก่อนยาลดความอ้วนควรคุมกำเนิดไว้ก่อน เมื่อคิดจะตั้งครรภ์ต้องหยุดกินยาลดความอ้วน
มีข้อถามว่า ควรตรวจเลือดก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์ไหม ? เช่น ตรวจเลือดดูกามโรค หรือโรคติดต่อทางกรรมพันธุ์ เช่น ทาลัสซีเมีย เป็นต้น เรื่องนี้ต้องปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อการแต่งงานที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้ามีผลเลือดที่ผิดปกติ ประโยชน์ที่ได้คือ ถ้ามีผลที่ผิดปกติเกิดขึ้นจะได้ทราบถึงผลที่จะมีต่อการตั้งครรภ์ที่จะตามมา บางโรคอาจรักษาให้หายก่อนได้ มีการเข้าใจผิดในหลายรายที่ว่ากลัวกรุ๊ปเลือดของคู่แต่งงานไม่เหมือนกัน (กรุ๊ปเลือด A, B, AB หรือ O) แล้วจะทำให้ลูกที่คลอดมาเกิดตัวเหลืองหลังคลอดได้ ขอให้เลิกคิดกังวลในเรื่องนี้ เด็กตัวเหลืองหลังคลอดเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่าง ไม่ได้เกิดจากกรุ๊ปเลือดพ่อหรือแม่เป็นสำคัญ และการแก้ไขเรื่องเด็กตัวเหลืองนั้น กุมารแพทย์สามารถแก้ไขได้โดยไม่ยากในสมัยปัจจุบัน
ภาวะขาดประจำเดือน ถ้าอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิด หรือคุมกำเนิดไม่ถูกวิธีหรือไม่สม่ำเสมอ เช่น ลืมกินยาคุมกำเนิด หรือลืมฉีดยาคุมบ้าง สาเหตุแรกที่คิดถึงไว้ก่อนคือ การตั้งครรภ์ แต่อาจมีสาเหตุอื่น ที่ทำให้เกิดมีการขาด ประจำเดือน โดยไม่ได้ตั้งครรภ์ เช่น ความผิดปกติของต่อมในสมอง (ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดในจิตใจได้) ความผิดปกติของ ต่อมใต้สมอง, รังไข่หรือมดลูก, เกิดจากการใช้ยาบางอย่าง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุที่พบบ่อยมากในปัจจุบัน เกิดจากการฉีดยา คุมกำเนิดอันนี้เป็นผลข้างเคียงตามปกติของยาซึ่งไม่ต้องแก้ไขหรือรักษา
เมื่อเกิดประจำเดือนขาดไป รอให้ขาดประมาณ 7 วัน จึงไปให้แพทย์ตรวจปัสสาวะทดสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าผลตรวจออกมาว่า ไม่ได้ตั้งครรภ์อย่าด่วนสรุปว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ แน่นอน อาจเป็นประจำเดือนคลาดเคลื่อน หรือตั้งครรภ์แล้วแต่ยังตรวจไม่พบก็ได้ มีบางคนไปเร่งประจำเดือนให้มาโดยใช้ยาสตรี ยาฉีด ยากิน จากร้านขายยาซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะเกิดตรวจพบอีกทีว่า ตั้งครรภ์แล้ว ยาพวกนี้ อาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นถ้าประจำเดือนคลาดเคลื่อนโดยไม่ตั้งครรภ์ เราไม่ต้องไปเสี่ยงใช้ยาเร่ง ให้ประจำเดือนมา เดี๋ยวประจำเดือนก็จะมาเอง
เมื่อตรวจว่าตั้งครรภ์แล้ว สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติ คือเข้ารับการฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด ไม่ใช่คิดว่าต้องให้ท้องโตก่อนแล้วค่อนฝากครรภ์ ยิ่งฝากครรภ์เร็วยิ่งได้เปรียบ คือถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์จะได้ทราบ และแก้ไขให้ก่อน นอกจากนี้ยังทำให้ทราบถึง อายุครรภ์และ กำหนดคลอดที่แน่นอน การฝากครรภ์ก็เข้าฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่เราจะไปคลอดได้โดยสะดวก มีบางรายจะกลับไปคลอด ที่ภูมิลำเนาเดิม ซึ่งไกลออกไปมาก ก็สามารถฝากครรภ์กับโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้ ๆ กับที่เราอยู่ตอนนี้ก่อน เวลากลับไปคลอดก็ถือสมุดฝากครรภ์ หรือขอประวัติฝากครรภ์นำกลับไปด้วย
ขั้นต้นของการฝากครรภ์ แพทย์จะให้ทานไปตรวจเลือดเพื่อดูกรุ๊ปเลือด ความเข้มข้นของเลือด กามโรค ซิฟิลิส โรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามี น้ำตาล ไข่ขาว (โปรตีน)หรือมีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะหรือไม่ แพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะซักถาม ประวัติโรคในอดีต โรคประจำตัว โรคที่กำลังรักษาในปัจจุบัน ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ประวัติโรคในครอบครัว มีการตรวจร่างกาย จากประวัติ การตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการนี้ ถ้ามีผลผิดปกติแพทย์จะอธิบายให้ท่านทราบถึงข้อปฏิบัติและการรักษา ในสมัยนี้มีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างน้อย 4 เดือนหลังคลอด ก็จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพยาบาลมาตรวจต้านม พร้อมกับอธิบายและให้การแนะนำเตรียมตัวในเรื่องนี้
อายุของมารดาที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ คือ 20-30 ปี ถ้ามารดาอายุเกิน 35 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการคลอดบุตร ที่มีลักษณะผิดปกติ ทางโครโมโซมได้ เช่น มีบุตรพิการหรือปัญญาอ่อน ดังนั้นในมารดาอายุเกิน 35 ปี จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ให้ไปเจาะน้ำคร่ำดู โครโมโซมของลูกเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน ซึ่งในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลหลายแห่งสามารถทำได้ แต่ถ้าในต่างจังหวัดอาจต้องไปทำที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในภูมิภาคนั้น
ในระหว่างการฝากครรภ์ ในอายุครรภ์ 28 สัปดาห์แรก แพทย์จะนัดตรวจทุก 4 สัปดาห์ อายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป จนถึงคลอดจะนัดตรวจทุกสัปดาห์ ที่กล่าวมานี้เป็นการฝากครรภ์แบบปกติ แต่ถ้าเป็นการตั้งครรภ์เสี่ยง เช่น มความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับมารดาหรือทารกในครรภ์ แพทย์อาจนัดตรวจบ่อยกว่านี้ ท่านต้องไปตรวจตามแพทย์นัด และสามารถถามความผิดปกติ และรายละเอียดในการปฏิบัติตัวจากแพทย์ได้ ถ้าท่านมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ท่านควรรีบพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ได้ทันที โดยไม่ต้องรอถึงวันที่แพทย์นัดตรวจตามปกติ ดังเช่นความผิดปกติต่อไปนี้
- ป่วย ไม่สบาย ไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อย เช่น ไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเดิน ไข้สูงไม่ทราบสาเหตุ อย่าซื้อยารับประทานเอง เพราะยาส่วนใหญ่จะผ่านรกเข้าไปมีผลถึงทารกในครรภ์ได้
- มีเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นแท้งคุกคามในช่วงอายุครรภ์ต้น ๆ หรืออาจเป็นรกเกาะต่ำในอายุครรภ์ช่วงหลัง แพทย์อาจต้องทำอัลตร้าซาวด์เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอน การมีมูกเลือดออกในช่วงเดือนสุดท้าย อาจเป็นการเตือนว่าใกล้คลอดแล้ว แพทย์จะตรวจภายในให้ ถ้าปากมดลูกเปิดก็จะรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อรอคลอด
- การมีไข้พร้อมผื่นขึ้นคล้ายหัดใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็นหัดเยอรมันหรือไม่ เพราะถ้าเป็นจริงอาจมีผลต่อความพิการของทารกในครรภ์
- มีอาการบวม ตามแขนขา หรือบวมทั้งตัว พร้อมกับมีอาการ ปวดศีรษะ ตาพร่า อาจเป็นลักษณะของครรภ์เป็นพิษ
- มีน้ำเดิน คือมีน้ำไหลอกทางช่อคลอดเหมือนน้ำปัสสาวะ แสดงว่าถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทากรในครรภ์ คืออาจมีสายสะดือย้อยลงมาในช่องคลอด หรืออาจมีการติดเชื้อจากช่องคลอดเข้าไปถึงทารกในครรภ์ได้
- เด็กดิ้นน้อยลงจากปกติที่เคยดิ้น ไม่ใช่รอไปจนกว่าเด็กไม่ดิ้นแล้ว ซึ่งอาจสายเกินไปที่แพทย์จะช่วยเหลือได้เนื่องจากเด็กได้เสียชีวิตในครรภ์ไปก่อนแล้ว ในระหว่างการตั้งครรภ์ก็ควรปฏิบัติตนโดยทั่วไป ดังนี้
- รับประทานยาบำรุงเลือดและวิตามิน ตามที่แพทย์สั่งให้ บางคนไม่ยอมรับประทาน เพราะกลังว่าตัวเองหรือเด็กจะอ้วน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้ขึ้นกับยา ขึ้นกับตนเองชอบรับประทานอาหารที่หวาน หรือมีไขมันมากกว่า ถ้าท่านไม่รับประทานยาบำรุงเลือด ท่านจะซีด หรือเลือดจางลงเรื่อย ๆ เมื่อายุครรภ์มากขึ้น เพราะทารกในครรภ์จะดึงธาตุเหล็กในร่างกายแม่ไปสร้างเม็ดเลือดของทารกเอง เมื่อท่านซีด การเสียเลือดในขณะคลอด แม้จะไม่มากก็อาจเป็นอันตรายได้
- ควรรับประทานอาหารให้ครบส่วนตามปกติ และดื่มนมสดเป็นประจำ เพื่อความสมบูรณ์ของลูกและแม่ น้ำหนักเด็กที่ได้มาตรฐานหลังคลอดไม่ควรต่ำกว่า 3,000 กรัม และน้ำหนักแม่ที่เพิ่มตลอดการตั้งครรภ์ไม่ควรต่ำกว่า 10 กิโลกรัม
- ไม่ควรดื่ม ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ หรือสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่คลอดอาจตัวเล็กกว่าปกติได้
- การใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ การซื้อยาแผนโบราณหรือยาจีนหรือยาแผนปัจจุบันมารับประทาน เพื่อบำรุงทารกในครรภ์นั้นไม่ควรทำ ยาบางชนิดอาจมีผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ เด็กจะแข็งแรงสมบูรณ์ฉลาดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตั้งครรภ์ที่ปกติและแม่ได้รับประทานอาหารที่ถูกส่วน
- การตั้งครรภ์ไม่ใช่การป่วย ท่านสามารถทำงานตามปกติ ออกกำลังกายเบา ๆ ได้ ยกเว้นท่านเป็นโรคที่แพทย์สั่งให้จำกัดการทำงานหรือการออกกำลังกาย ท่านอาจต้องพักผ่อนให้มากขึ้น
- สามารถร่วมเพศได้ตลอดการตั้งครรภ์ ยกเว้นรายที่มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด หรือสามีมีการติดเชื้อเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป ท่านต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะไปคลอดที่โรงพยาบาลเมื่อมีอาการปวดท้องคลอด โดยเฉพาะในเวลาวิกาล เช่น เวลากลางคืน
- เมื่ออายุครรภ์เกินกำหนด คืออายุครรภ์มากกว่า 42 สัปดาห์ รกจะเริ่มทำงานลดลงหรือเสื่อมลง อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ถ้ายังไม่ปวดท้องคลอด แพทย์อาจรับไว้ในโรงพยาบาล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคลอด เช่น อาจมีการเร่งคลอด เป็นต้น
- เวลาไปคลอดที่โรงพยาบาล ท่านต้องเตรียมเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ผ้าเช็ดตัว รวมถึงผ้าห่อเด็ก ผ้าอ้อมเด็กด้วย สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ บัตรประจำตัวผู้ป่วย และสมุดฝากครรภ์อย่าลืมนำไปด้วย มีข้อซักถามบ่อย ๆ กับแพทย์ระหว่างฝากครรภ์ ซึ่งอาจมีความเข้าใจทั้งผิดและถูก และแปรเปลี่ยนไปตามท้องถิ่น ประเพณี สังคม ฐานะ ความรู้ ค่านิยม พอประมาณได้ดังนี้
อัลตร้าซาวด์มีอันตรายไหม ?
ถ้าแพทย์ให้ท่านตรวจเมื่อมีความผิดปกติ เช่น ท้องโตหรือเล็กกว่าอายุครรภ์ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ ท่านควรตรวจตามแพทย์สั่ง เพราะอัลตร้าซาวด์ปลอดภัยต่อทารกในทุกอายุครรภ์ แต่ถ้าท่านตั้งใจตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูเพศทารกอย่างเดียวนั้น เห็นว่าไม่สมควรเพราะไม่สามารถดูแม่นยำได้ 100% ทำให้เข้าใจผิดได้
ควรผ่าตัดคลอดทางช่องท้องเลยดีไหม? (จะได้ไม่ปวดท้อง)
ทุกวันนี้ยังยอมรับกันว่า การคลอดปกติทางช่องคลอดเป็นการคลอดที่ดีและปลอดภัยมากที่สุด การผ่าตัดคลอดจะใช้ในกรณีที่จำเป็นที่แพทย์ตัดสินใจว่าคลอดทางช่องคลอดไม่ได้ การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงหลายประการมากกว่า เช่น เสี่ยงต่อการใช้ยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบ เสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องท้อง จริง ๆ แล้วผู้ที่กลัวการปวดท้องคลอดนั้น สามารถบรรเทาอาการปวดได้ เช่น ขอให้แพทย์ฉีดยาระงับปวดให้ มีอีกกรณี บางคนบอกว่าท้องหลังแล้วตั้งใจทำหมันหลังคลอด อย่างนี้ผ่าท้องและทำหมันไปเลยทีเดียว ไม่ดีกว่าคลอดทางช่องคลอดแล้วทำหมันทีหลังหรือ จะได้เจ็บครั้งเดียว ขอบอกว่า คลอดทางช่องคลอดแล้วทำหมันจะดีกว่า เพราะทำหมันหลังคลอดจะมีแผนเป็นสะดือเล็กนิดเดียว แทบมองไม่เห็นและใช้เวลาในการทำหมันน้อยกว่าทำผ่าตัดคลอดมาก อาจใช้ยาชาเฉพาะที่หรือฉีดยาสลบระยะสั้น ๆ ได้
นอนหงายไม่ได้ เพราะกลัวรถจะติดหลังแล้วคลอดออกมาไม่ได้ ?
เป็นการเข้าใจผิดของคนสมัยก่อน ซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเกาะของรกในร่างกาย รกจะไม่เกาะติดกับหลังของเรา เพราะรกอยู่ในมดลูก รกจะเกาะติดกับด้านหน้าหรือด้านหลังของมดลูกก็ได้ไม่มีอันตรายใด ๆ ที่จะมีอันตรายคือ รกเกาะต่ำ โดยรกมาเกาะด้านล่างบริเวณปากมดลูก ซึ่งทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้ รกจะเกาะที่ไหนไม่ได้ขึ้นกับท่านอน การนอกตะแคงดีกว่านอนหงายในอายุครรภ์หลัง ๆ ตอนท้องโตท้อง การนอนหงายมดลูกจะไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ ซึ่งอยู่ด้านหลังมดลูกได้ ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง และเลือดไปหล่อเลี้ยงมดลูกน้อยลง เป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้ แต่ถ้านอนตะแคง มดลูกจะไม่ไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ อันตรายก็ไม่เกิดขึ้น
รับประทานเบียร์หรือน้ำมะพร้าว จะทำให้เด็กตัวเกลี้ยง ไม่มีไขจริงหรือไม่ ?
ไม่จริง เป็นความเชื่อต่อ ๆ กันมากับสมัยก่อน เด็กจะมีไขหรือไม่ขึ้นกับอายุครรภ์ของเด็กตอนคลอดไม่ได้ขึ้นกับอาหาร ยิ่งไปดื่มเบียร์ยิ่งมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์
ความเชื่อในการอยู่ไฟหลังคลอด?
การอยู่ไฟหลังคลอด คือการนอนบนที่นอนที่มีไฟหรือถ่านร้อนสุมอยู่ข้างล่าง นิยมมากในบางภาค เป็นความเชื่อมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งมีผลเสียหลายอย่าง คือ เสี่ยงต่อการถูกไฟไหม้ การย่างไฟทำให้เสียน้ำออกจากร่างกายมาก อาจถึงช็อคได้ หรือไม่ก็ทำให้น้ำนมน้อยลงไม่พอให้ลูกดูด ดังนั้นหลังคลอดไม่ควรอยู่ไฟ ควรปฏิบัติตนตามสบายปกติ อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี อุณหภูมิปกติ สบาย ๆ รับประทานอาหารและน้ำให้เพียงพอ ไม่มีขอแสลงที่ห้ามรับประทานหลังคลอด เคยรับประทานอะไรก่อนคลอดก็รับประทานได้ตามปกติ การมีสุขภาพดีทั้งกายและใจหลังคลอด จะทำให้มีน้ำนมให้ลูกดูดเพียงพอ และจะทำให้แม่แข็งแรงพอที่จะดูแลบุตรได้เต็มที่
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านจะเห็นว่าการตั้งครรภ์แม้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ใช่ว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม เราสามารถกำหนดให้การตั้งครรภ์มีความผิดปกติที่น้อยที่สุดได้ ถ้าเราสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามระบบการฝากครรภ์ที่ดี สิ่งที่สำคัญคือ ถ้ามีสิ่งที่น่าสงสัย หรือสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้นก็ให้รีบพบและปรึกษาแพทย์ทันที การตั้งครรภ์ของท่านก็จะบรรลุจุดประสงค์ที่สมบูรณ์คือ มีสุขภาพสมบูรณ์ดี ทั้งมารดาและบุตรในที่สุด
การคุมกำเนิดที่มีใช้ในประเทศไทยมีมากมายหลายวิธี แต่จะกล่าวถึงที่ใช้กันมาก ซึ่งได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย ถุงยางอนามัย
ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นที่นิยมกันมากเนื่องจากหาซื้อได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ในประเทศไทยมียาเม็ดคุมกำเนิดมากมายหลายชนิด ซึ่งในยาคุมกำเนิดส่วนใหญ่ประกอบด้วยฮอร์โมนสองชนิดคือ เอสโตรเจน และโปรเจสโตรเจน โดยที่มีชนิดและขนาดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ฉะนั้นการพิจารณาจะใช้ยาคุมกำเนิดในครั้งแรก ควรใช้ยาที่มีขนาดของฮอร์โมนน้อย ๆ ก่อน
การเริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดให้เริ่มเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือนจนถึงวันที่ห้า แต่สำหรับมารดาหลังคลอดบุตร ให้เริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดได้ทันทีหลังคลอด 6 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อน แต่การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหลังคลอดไม่เหมาะกับมารดาที่ให้นมบุตร เนื่องจากจะมีผลให้น้ำนมน้อยลงทั้งคุณภาพและปริมาณ ในท้องตลาดมียาคุมขายเป็นแผงสองแบบ คือ แบบ 21 เม็ด และแบบ 28 เม็ด ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เหมือนกัน เนื่องจาก 7 เม็ดที่เพิ่มมาไม่ใช่ฮอร์โมนเป็นเพียงวิตามิน ถ้าเป็นแบบ 21 เม็ด เมื่อรับประทานครบเม็ดที่ 21 ก็ต้องหยุด 7 วัน และประจำเดือนจะมาหลังหยุดยาเลย ประจำเดือนจะมาในขณะที่รับประทานยาวิตามินดังกล่าว เริ่มแผงใหม่ทันทีหลังจากรับประทานยาเม็ดสุดท้าย
ถ้าลืมยารับประทานยา 1 เม็ด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าลืม 2 เม็ด ให้รับประทานควบ 2 ครั้ง แต่ถ้าลืม 3 เม็ด ให้หยุดยา รอจนกว่าประจำเดือนจะมาแล้วเริ่มรับประทานใหม่
ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นที่นิยมแพร่หลายเช่นกัน แต่ต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ฉีดยาให้ และต้องฉีดทุก 12 สัปดาห์ โดยฉีดได้ในช่วงเดียวกับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดคือ วันแรกถึงวันที่ห้าของรอบประจำเดือน หลังคลอดก็เช่นเดียวกันกับยาเม็ดคุมกำเนิด ต่างกันคือการฉีดยาคุมกำเนิดมารดาสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ ซ้ำยังทำให้ปริมาณน้ำนมมากขึ้นด้วย
สำหรับยาฝังคุมกำเนิด ก็เหมือนยาฉีดคุมกำเนิด แต่ออกฤทธิ์นานกว่า คือ 5 ปี ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกำลังส่งเสริมการคุมกำเนิดแบบนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่คุ้มทุนมาก
ห่วงอนามัย จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความชำนาญใส่ให้ ปัจจุบันห่วงอนามัยเล็กลงมาก ทำให้อาการปวด หรือ ระคายเคืองมีน้อย และยังเพิ่มประสิทธิภาพโดยการใช้โลหะหรือฮอร์โมน ใส่ไว้ในห่วงอนามัย ระยะเวลาที่สามารถใส่ห่วงอนามัย โดยที่มีอาการข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดีที่สุด คือช่วงที่กำลังมีประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนใหม่ ๆ ปัญหาที่พบบ่อยภายหลังจากการใส่ห่วงอนามัยไปแล้วคือ มีอาการปวดก็รักษาด้วยยาแก้ปวด หรือถ้ามีเลือดออกผิดปกติในบางกรณีก็สามารถใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนรักษาได้
สำหรับถุงยางอนามัยเป็นที่แพร่หลาย สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาและซุปเปอร์มาร์เก็ต บางครั้ง ยังอาจพบเป็นตู้กดอัตโนมัติ ถุงยางอนามัยในประเทศไทยมี 2 แบบ คือ แบบมีกระเปาะตรงปลาย เพื่อเก็บน้ำอสุจิ และแบบไม่มีกระเปาะตรงปลาย แต่ที่นิยมคือแบบมีกระเปาะ ข้อสำคัญในการใส่ต้องบีบกระเปาะตรงปลายก่อนใส่ เพื่อไล่อากาศมิฉะนั้นจะทำให้ถุงยางอนามัยหลุดตอนปฏิบัติภาระกิจได้ สำหรับที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนสำหรับการคุมกำเนิด แต่เป็นแบบที่ใช้กันบ่อย
น.อ.สันติ ศรีเสริมโชค