ชีวจิต Macrobiotics

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3
  • Tab 4

ชีวจิต เป็นแนวความคิดต่อเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม( Holistic) คือผนวกรวมเอา " ชีว" ที่หมายถึง " กาย" รวมเข้ากับ " จิต" ที่หมายถึง " ใจ" ให้เป็นสองภาคของชีวิตที่มีผลต่อกันและกันโดยตรง ไม่อาจแยกกายออกจากจิต และจิตย่อมกระทบถึงกายเช่นเดียวกัน ความหมาย และการปฏิบัติตัวตามแนวทางของชีวจิต จึงอาจอธิบายได้ว่า คนเราจะมีความสุขความแข็งแรงได้ก็ต่อเมื่อ กายและใจทำงาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Wholeness as Perfection)

การใช้ชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ บริสุทธิ์ละเรียบง่าย เป็นแก่นความคิดสำคัญอีกประการหนึ่งของชีวจิต ใช้ชีวิตในที่นี้หมายรวมถึง การบริโภคอาหารสุขภาพที่มาจากธรรมชาติและมีการดัดแปลงน้อยที่สุด รวมถึงการบริโภคผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มาจากธรรมชาติ หรือใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้ชีวิตหลุดพ้นจากความยุ่งเหยิงวุ่นวายของสังคมแบบวัตถุนิยมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสมัยใหม่นานัปการ

แนบเนื่องกับแนวปฎิบัติทางร่างกาย ต้องมีการปฏิบัติทางใจควบคู่ไปด้วย เป้าหมายของการฝึกจิตใจ เป็นไปเพื่อความสงบ เกิดปัญญา มองเห็นสัจธรรมของโลกและชีวิต ทั้งนี้การใช้ชีวิตและจิตใจให้เป็นไปตามแนวทางของชีวจิตไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อน ตรงข้ามกลับ เป็นความพยายามทำชีวิตให้เรีบบง่ายที่สุด แจ่มใสและมีความกลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สุขภาพ เกิดความสมดุล และกระตุ้นให้ ภูมิชีวิต (Immune System) ที่เป็นเกราะคุ้มกันสุขภาพตามธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ทำงานได้อย่าง เต็ม ประสิทธิภาพ การจะตรวจสอบว่าตัวเองดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับแนวชีวจิตเพียงใด หรือบกพร่องไปเพียงใดนั้น อาจทดสอบได้จาก หลักการของ FASJAMM ซึ่งว่าด้วยรูปแบบและอาการต่างๆทางกายและจิต ที่ทำให้บุคคลนั้นๆ มีสุขภาพกายและจิตแตกต่างกันไป

จึงอาจพูดได้ว่า เมื่อระวังรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอตามแนวคิดของชีวจิต ภูมิชีวิตซึ่งเป็นหมอภายในร่างกายของมนุษย์ ก็ย่อมทำงาน ได้เต็มหน้าที่ เป็นเครื่องป้องกันด่านแรกที่คุ้มกันเราจากโรคทั้งปวง แต่เมื่อใดก็ตามหากเกิดเหตุสุดวิสัย มีโรคภัยไข้เจ็บ เกิดกับร่างกาย การรักษาตามแนวทางของชีวจิต ยังคงยึดหลักของการเยียวยาแบบองค์รวม เช่นเดียวกับการป้องกันในเบื้องต้น วิธีบำบัดหลักๆของชีวจิต ได้ผสมผสานองค์ความรู้และวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ใช้ธรรมชาติเป็นยา
  • ใช้อาหารเป็นยา
  • ใช้แนวทางการแพทย์แบบผสมผสาน
  • แผนปัจจุบัน Conventional , Orthodox , Allopathic
  • Wholistic (Holistic)
  • Macrobiotics
  • แบบจีนและการฝังเข็ม
  • อายุรเวทและโยคะ
  • สมุนไพร
  • การนวดกดจุด การนวดฝ่าเท้า และบริหารโดอิน
  • การบริหารและการออกกำลัง (ใช้แบบผสมผสาน)
  • โดอิน / โยคะ / นวดกดจุด
  • การยืด ส่ง และดัน
  • Chiropractic
  • การรำตะบอง

แต่ก่อนจะถึงมือแพทย์ หรือลงมือรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกใดๆก็ตาม หนทางที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพ ตามแนวชีวจิต ก็คือการป้องกันสุขภาพไว้แต่ต้นมือ โดยให้สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตแต่ละวันนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารชีวจิต การกระตุ้นให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า แก้อาการอ่อนเพลียด้วย น้ำอาร์ซี ซึ่งมีส่วนผสมของกลูโคส DNA/RNA และวิตามินแร่ธาตุ จากธรรมชาติ การบริโภค น้ำเอนไซม์ ที่คั้นจากผักและผลไม้สดๆที่จะช่วยบำรุงระบบต่างๆของชีวิตให้ทำงานได้ดีขึ้น

รวมไปถึงการขจัดพิษ (Toxin) ซึ่งเกิดจากเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม มลภาวะต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่จาก ความเครียด ที่สะสมชีวิต ประจำวัน ให้บรรเทาเบาบางไปจากร่างกายด้วยการล้างพิษ หรือเรียกง่ายๆ ว่าการทำ " ดีท็อกซ์" ( Detoxification) เมื่อพิษต่างๆ ลดลง ก็จะทำให้ระบบภูมิชีวิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมไม่ให้เกิด การสะสมใหม่เพิ่มมากขึ้นอีก

ท้ายที่สุด อุดมการณ์ของชีวจิตหาใช่เรื่องที่ปฏิบัติได้ยากเย็นแต่อย่างใด สิ่งที่อยู่เหนือไปกว่าหลักปฏิบัติทั้งปวง ล้วนแต่เป็นเรื่อง ของวิธีการคิด ซึ่งยืนอยู่บนหลักการ 5 ข้อ คือ ชีวิตที่ยึดเอาธรรมชาติเป็นหลัก, ชีวิตที่มีความพอดีและเรียบง่าย, ชีวิตที่เป็นไป เพื่อความเป็นเลิศ ของสุขภาพกาย-ใจ, ชีวิตที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและรักกันฉันพี่น้อง และ ชีวิตที่ดำเนินไป เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ เพียงปฏิบัติได้ตามหลักการเหล่านี้ ก็เท่ากับเข้าใจแนวคิด ของชีวจิตอย่างถ่องแท้แล้ว

คุณแน่ใจเหรอว่ารู้จัก “ อาหาร ” ดีแล้ว ?

ใช่ คุณกินอาหารอยู่ทุกวัน แต่ถ้าคุณแค่รู้จักอาหารในฐานะ Food อย่าง หมูหัน เป็ดปักกิ่ง ข้าวมันไก่ เท่านั้น ก็นับว่าความรู้เรื่องอาหารของคุณ ยังน้อยมากนะ

ข้าว ปลา หมูเห็ดเป็ดไก่ คือ อาหาร ( Food) ต่อเมื่อมันยังไม่ถูกส่งเข้าปากเรา แต่พอคุณกินเข้าไปแล้ว อาหารเหล่านี้จะถูกกระบวนการย่อย เปลี่ยนสภาพของอาหารตั้งแต่อยู่ในปากและเคลื่อนจากปากสู่กระเพาะ จากกระเพาะสู่ลำไส้เล็ก ที่ลำไส้เล็กนี่เองที่อาหาร จะเปลี่ยนสภาพ จากอาหาร ( Food) เป็น Nutrient อย่างสมบูรณ์ แล้วก็อาหารในฐานะ Nutrient หรือ “ สารอาหาร ” นี่แหละ ที่มีหน้าที่บำรุงเลี้ยงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และเป็นยารักษาโรคด้วย

ประโยชน์ของอาหารตรงนี้เองที่ตรงตามที่ ฮิปโปเครติส บิดาของวงการแพทย์กล่าวไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วว่า

“ เจ้ากินอะไรเข้าไป เจ้าก็เป็นอย่างนั้น ” You are what you eat ถ้าเรากินสิ่งที่ดีมีประโยชน์เข้าไป ร่างกายของเราก็ดีตามถ้ากินของเน่า (แต่อร่อย) ร่างกายก็เน่า ( เจ็บป่วย) ตามไปด้วย เพราะอาหารที่ไม่ดี (ซึ่งชีวจิตแนะนำให้งด) เมื่อเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากๆเกินพอดี ก็จะกลายสภาพเป็น ท็อกซิน - Toxin ในที่สุดทีนี้เมื่อท็อกซินหรือสารพิษสะสมในร่างกายนานๆเข้า ก็จะขัดขวางการทำงานของ ภูมิชีวิต และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆนั่นเอง

เหมือนอย่างที่คนสมัยนี้ใช้ “ ลิ้น ” เป็นเครื่องตัดสินคุณค่าของอาหาร คำนึงถึงแต่ความอร่อยมากเกินไป ลืมนึกถึงคุณประโยชน์ หรือโทษจาก อาหาร จะพบว่าเราต้องเจ็บป่วยกันด้วยโรคที่เกิดจากการกินอาหารผิดสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกที เห็นชัดๆก็อย่างเช่น

* กินแป้ง น้ำตาล มากเกินไป เป็นเบาหวาน
* กินเค็มเกินไป เป็นโรคไต
* กินไขมันมากเกินไป เป็นไขมันอุดตันในเส้นเลือด

คราวนี้คุณพอจะรู้จัก “ อาหาร ” ที่กินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันได้กระจ่างขึ้นบ้างหรือยังล่ะ

อาหารชีวจิตเป็นแนวทางการรับประทานอาหารที่ ดร.สาทิส อินทรกำแหง ศึกษาและปรับปรุงจากหลักการของแมคโครไบโอติกส์ ให้เหมาะสมกับสภาพวิถีชีวิตของคนไทยและเมืองไทยและให้ง่ายต่อการจัดหา ปรุง และรับประทาน

กล่าวโดยรวมๆ อาหารชีวจิต คือ อาหารชั้นเดียว หมายถึง เป็นอาหารที่คงสภาพตามธรรมชาติเดิมไว้มากที่สุด ไม่ต้องผ่านการปรุงแต่งมากมาย และคงรสชาติเดิมๆของอาหารไว้มากที่สุด เช่นว่า

ข้าว ก็เพียงแค่กระเทาะเปลือกออกกลายเป็นข้าวกล้อง ไม่ต้องขัดสีจนขาวจั๊วะ

ทั้งนี้ อาหารชีวจิตไม่เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อหรือบาปบุญคุณโทษ แต่เป็นการนำความรู้ทางโภชนาการขั้นสูงมาพิจารณาอาหารต่างๆ แล้วเลือกสรร เฉพาะอาหารที่ให้คุณค่าแก่ร่างกายและจิตใจมากที่สุด ที่สำคัญเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดสารพิษ "ท็อกซิน - Toxin" ตกค้างน้อยที่สุด

อาหารที่ชีวจิตแนะนำให้ " งด"

* เนื้อสัตว์ย่อยยาก ได้แก่ เนื้อ หมู ไก่
* แป้งขัดขาวและผลิตภัณฑ์จากแป้งขัดขาวทุกชนิด
* น้ำตาลฟอกขาวและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลฟอกขาวทุกชนิด
* ไขมันเลว คือไขมันอิ่มตัว ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม และกะทิ
* และแนะนำให้รับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้สมดุลตาม สูตรสัดส่วนอาหารชีวจิต

อย่างไรก็ตาม อาหารชีวจิตนั้นนอกจากคำนึงถึงคุณประโยชน์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับความอร่อย และต้องน่ากินด้วย คือ ถึงแม้รสชาติจะไม่จัดจ้านเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด แต่เราเน้นความกลมกล่อมแบบพอดีๆ

ถ้าคุณยังนึกภาพเมนูอาหารชีวจิตไม่ได้ ลองดูที่ ครัวชีวจิต หรือตำราอาหารชีวจิต

ในหมู่ชาวชีวจิตเราพูดกันเสมอว่า การทำอาหารให้อร่อยนั้น ไม่ได้ยากเกินไป เพียงแต่ต้องใช้ฝีมือ ใช้ความรัก และความสนใจของแต่ละคน เรียกว่า " ทำและกินด้วยความรักและนับถือ"

ความรักนั้นคือ ความรักอาหาร และรักในการทำอาหาร มีความสนุกและเพลิดเพลินในการทำและกิน

ส่วนความนับถือนั้น เราต้องนับถือว่า อาหารนี้แหละคือสิ่งที่ให้ชีวิตแก่เรา และจะกลายเป็นเลือดเป็นเนื้อของเราเอง เราเป็นหนี้บุญคุณของอาหาร

อาหารประเภทแป้งซึ่งไม่ขัดขาว
  • เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ถ้าเป็นข้าวโพด จะเป็นข้าวโพดทั้งเมล็ดหรือทั้งฝัก และถ้าเป็นแป้งขนมปัง ก็เป็นขนมปังโฮลวีท และถ้าจะให้เป็นแป้งกลุ่มคอมเพล็กซ์ คาร์โบไฮเดรต คือเป็นแป้งหลายชั้นซึ่งมีโปรตีนปนอยู่ด้วย ก็ควรเติมมันเทศ มันฝรั่ง เผือก ฟักทองลงไป
  • กลุ่มนี้ รับประทาน 50% หรือครึ่งหนึ่งของแต่ละมื้อ
ผัก
  • ใช้ทั้งผักดิบและผักปรุงสุกอย่างละครึ่ง ผักถ้าปลูกเอง ไม่ใช้สารเคมีจะดีที่สุด แต่ถ้าต้องซื้อจากตลาด ต้องเลือกผักที่ปลอดสาร ล้างผ่านน้ำ และแช่น้ำด่างทับทิมหรือแช่น้ำส้มสายชูเจือจางสัก 1-2 ชั่วโมง ก็จะช่วยล้างสารพิษได้ด้วย
  • รับประทานผักหนึ่งในสี่หรือ 25% ของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อ
  • ถั่วต่างๆ อยู่ในประเภทโปรตีน เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร
  • รับประทาน 15% ของแต่ละมื้อ
  • นอกจากนี้ จะใช้โปรตีนจากสัตว์เป็นครั้งคราว คือ ไข่ ปลา และอาหารทะเล สัปดาห์ละ 1-2 มื้อ

เบ็ดเตล็ด

  • ประเภทแกงก็เป็น แกงจืด แกงเลียง
  • ประเภทซุป ก็เป็นมิโซ่ซุป (มิโซ่ = เต้าเจี้ยวญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง)
  • ประเภทของขบเคี้ยว งาสดและงาคั่ว ใช้โปรอาหารต่างๆได้ทุกอย่าง ถั่วคั่ว เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม เมล็ดดอกทานตะวัน
  • ผลไม้สด ต้องเป็นผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง มะละกอห่าม มะม่วงดิบ พุทรา
  • รับประทาน 10% ของแต่ละมื้อ

แกงคั่วน้ำเต้าหู้ใบชะพลู

เมนูนี้ปกติแล้วตามท้องตลาดจะใช้น้ำกะทิเป็นส่วนประกอบ แต่ชาวชีวจิตรู้ดีว่ากะทิเป็นไขมันเลว เมื่อกินเข้าไปจะสะสมในร่างกาย เป็นผลให้ภูมิชีวิตตก เจ็บป่วยง่าย

ดังนั้นเราจึงขอใช้น้ำเต้าหู้แทนกะทิ เพราะนอกจากจะไม่อ้วนจากไขมันแล้ว ร่างกายยังได้รับโปรตีนธรรมชาติ ด้านรสชาติก็กลมกล่อมพอดี จนดูไม่ออกว่าใช้น้ำเต้าหู้ทำ แถมใบชะพลูยังช่วยระบายท้องได้ดีอีกด้วย ขอแนะนำว่า ควรกินกับข้าวสวยกล้องร้อนๆ มื้อเย็นจะเหมาะที่สุดค่ะ

ส่วนผสม

* น้ำเต้าหู้ 1 ถ้วยครึ่ง
* ใบชะพลูซอย 1 ถ้วย
* กุ้งสด 10 ตัว
* น้ำมันมะกอก 3 ช้อนโต๊ะ
* น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ ( สำหรับชาวชีวจิตตัวจริงอาจใช้ซีอิ๊วขาวแทนก็ได้)
* น้ำตาลทรายแดง 2 ช้อนชา
* พริกชี้ฟ้าแดงและเหลืองอย่างละ 1 เม็ด
* ใบมะกรูดฉีก 3 ใบ
* พริกแกง 3 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

• ผัดพริกแกงในน้ำมันมะกอกให้หอม เติมน้ำเต้าหู้ลงไปก่อนเล็กน้อย ใส่กุ้ง ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาลทรายแดง ผัดให้งวด

• เติมน้ำเต้าหู้ที่เหลือ รอจนเดือด ใส่ใบชะพลู พริก และใบมะกรูด พร้อมเสิร์ฟ

Tip

ใบชะพลู มีวิตามิน เกลือแร่ต่างๆ แคลเซียม และเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง แต่ในใบชะพลูมีสารออกซาเลต (Oxalate) ถ้าสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้เป็นนิ่วในไตได้

ชีวจิตเป็นอาหารแบบแมคโคไบโอติกส์ทำนำมาดัดแปลงให้เข้ากับอาหารของคนไทยปรับให้เข้ากับสภาพอาการของแต่ละคน มีการเน้นทางด้าน จิตใจศิลธรรมใช้ธรรมชาติในการดํารงชีวิตเน้น การสร้างสุขภาพและจิตใจก่อนให้อาหารสุขภาพ

ความหมายของอาหารชีวจิต

อาหารชีวจิตหรือแมคโคไบโอติกส์ เป็นศัพท์ที่ใช้ในภาษากรีกโบราณ หมายถึง การมีชีวิตที่ยืนยาว และสุขภาพสมบูรณ์ อันเนื่องมาจากการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมในยุคใหม่ ผู้คิดค้นคำนี้เป็นนักปราชญ์ญี่ปุ่นชื่อ จอร์ ชอ โอซาว่า ซึ่งได้ให้ความหมายคำนี้ว่า "ความเป็นอยู่ของคนสุขภาพดี" แมคโคร แปลว่า กว้างใหญ่ หรือยิ่งใหญ่ ไบออส แปลว่า ชีวิต รวมความแล้ว มีความหมายสามารถอธิบายได้ว่า ถ้ารับประทานอาหารให้ถูกต้องแล้ว คนจะมีชีวิตที่ดี มีความสนุกสนานตื่นเต้นเป็นอิสระ และมีความคิดสร้างสรรค์ โอซาว่า ได้เผยแพร่ปรัชญาแมคโคไบโอติกส์ และการบริโภคที่ถูกต้องไปทั่วโลก หลังจากที่เขาได้ถึงแก่กรรมในปี 1960 เศษ ๆ มิตรสหาย และลูกศิษย์ของเขาได้ช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้ต่อไป มิชิโอ กูชิ เป็นหนึ่งในผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของโอซาว่า ที่เป็นกำลังสำคัญ ทำให้แมคโคไบโอติกส์เป็นที่นิยมมากขึ้น

จุดมุ่งหมายของอาหารชีวจิต

การบริโภคในทัศนะของ แมคโคไบโอติกส์ คือ การรับประทานอาหารที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมมูลฐานแห่งชีวิต อันได้แก่ แสงแดด ดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งผสมผสานอยู่ในอาหารธรรมชาติ และยังสามารถสร้างดุลยภาพให้แก่ร่างกายได้ดีที่สุด อาหารแมคโคไบโอติกส์ประกอบด้วย อาหารประเภทข้าวกล้อง และเมล็ดธัญพืชที่ไม่ขัดขาว รวมถึง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาเลย์ ข้างโพด 50-60% ผักต้มที่ปลูกในดินบริสุทธ์ ไม่มีสารเคมีเจือปน 25% สาหร่ายทะเลและถั่ว โดยเฉพาะถั่วเหลือง 15% ซุปเต้าหู้ และเครื่องปรุงธรรมชาติ และของหวานประเภท ผล ไม้ หรืออาจจะมีปลาได้เป็นครั้งคราว 5-10%

ประโยชน์ของอาหารชีวจิต

เนื่องจากอาหารชีวจิตเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำพลังงานต่ำมีวิตามินเอ วิตามินซีสูงใยอาหารสูงอาจมีประโยชนในบางภาวะเช่น โรคอ้วน โรคไตภาวะไขมันในเลือดสูง แต่การรับประทานเป็นเวลานานจะมี ปัญหาขาดสารอาหารขาดโปรตีนขาดวิตามินแร่ธาตุ

ลักษณะของอาหารชีวจิต

อาหารชีวจิตเป็นอาหารชั้นเดียวคือเป็นอาหารที่เก็บมาจากต้นแล้วกินได้เลยเช่น พวกธัญพืช ต่างๆที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการปรุงอันซับซ้อน ซึ่งอาหารชั้นเดียวนี้จะให้คุณค่าสูงสุด

ตัวอย่างของอาหารชีวจิต

เช่นข้าวก็เป็นข้าวซ้อมมือข้าวแดงข้าวกล้อง เป็นต้น ถ้าเป็นอาหารพวกเมล็ดเราไม่ได้เอาเมล็ด นั้นไปขัดขาวเป็นแป้งขาวหรือขนมปงซึ่งทํามาจาก แป้งข้าวสาลีข้าวสาลีนี้เขาต้องนำไปขัดขาวแล้วก็เอามาฟอกให้เป็น แป้งขาวนำมาทำเป็นขนมปังอย่างนั้น เราไม่กินนะแต่เราจะกินขนมปัง ที่ทำมาจากข้าวทั้งเมล็ดไม่ได้ เอาไปขัดขาวเอามาป่น เป็นแป้งให้ละเอียดแล้วค่อยนำมาทำเป็นขนมปังอย่างนี้ เป็นต้น

อาหารที่ควรรับประทาน

ก. อาหารประเภทแป้งซึ่งไม่ได้ขัดขาว หรือที่เรียกว่า Whole grains เช่นที่เป็นข้าวก็เป็นข้าวซ้อมมือข้าวกล้อง ถ้าเป็นข้าวโพด ก็ข้าวโพดทั้งเมล็ดหรือทั้งฝักถ้าเป็นแป้งขนมปัง ก็เป็นขนมปังโฮลวีท เหล่านี้เป็นต้น และควรจะให้ประเภทแป้งคือ คาร์โบโฮเดรตนี้เป็นกลุ่มคอมเพล็กซ์คาร์โบไฮเดรต คือเป็นแป้งหลายชั้นซึ่งมีโปรตีนปนอยู่ด้วย จึงควรเติมมันต่างๆเช่นมันเทศมันฝรั่งหรือฟักทองลงไปด้วย ไม่จำเป็นต้องต้มรวมกันก็ได้ ปริมาณอาหารประเภทนี้ ประมาณ 50 % ของแต่ละมื้อ
ข. ผัก ใช้ทั้งผักดิบ ผักสุกอย่างละครึ่ง ทำเป็นสลัดผักสดก็ได้ ทำเป็นผักสุกจิ้มน้ำพริกบ้าง หรือผัดโดยใช้น้ำมันพืชแต่น้อย เลือกผักปลอดสารพิษ ปริมาณของผักประมาณ25 % ของแต่ละมื้อ
ค. ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลืองถั่วดำ เต้าหู้ โปรตีนเกษตร หรือผลผลิตซึ่งดัดแปลงจากถั่วในรูปต่าง ๆ ปริมาณของถั่วหรือโปรตีนจากพืชประมาณ 15 % ของแต่ละมื้อ นอกจากนี้จะใช้โปรตีน จากสัตว์เป็นครั้งคราวคือ ปลาและอาหารทะเล ประมาณอาทิตย์ละ 1 - 2 ครั้ง
ง. เบ็ดเตล็ด คือแกงหรือซุป ถ้าจะเป็นแกงแบบไทย ก็ใช้แกงจืดหรือแกงเลียง หรือจะทำเป็นซุปก็ใช้มิโซ่หรือเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นผสมในน้ำแกง ควรใส่สาหร่ายทะเลงาสดและงาคั่วโรยอาหารต่างๆได้ทุกอย่างของกินเล่น เช่น ถั่วคั่ว เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโมผลไม้ควรเป็นผลไม้เขียว และไม่หวาน เช่น ฝรั่งมะม่วงดิบ กลุ่มเบ็ดเตล็ดซึ่งมีแกงของกินเล่นและผลไม้นี้รวมปริมาณแล้ว 10 % ของแต่ละมื้อ

อาหารที่ควรงด

- งดอาหารเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อ หมู ไก่ เป็นต้น
- งดน้ำตาลขาวทุกชนิด ขนม และเครื่องดื่มที่ทำจากน้ำตาล เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง เค้ก ไอศกรีม น้ำหวานต่าง ๆ เป็นต้น
- งดอาหารที่ใช้น้ำมัน นม เนย กะทิ เป็นต้น
- งดแป้งขาวทุกชนิด เช่น ข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปังขาว เป็นต้น

น้ำพริกปลากรอบ

สูตรน้ำพริกปลากรอบถ้วยนี้ใช้เครื่องเคราไม่มาก  แต่ให้คุณค่าอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีนและแคลเซียมชั้นดีจากปลากรอบ  กุ้งแห้ง  และกะปิ  ที่ร่างกายดูดซึม เอาไปใช้ได้ง่าย  แถมวิตามินเพิ่มความสวยจากมะขามเปียกและผักสด  ส่วนรสชาติ รับรองว่าอร่อย จนต้องมีคนยกนิ้วให้

ส่วนผสม

-พริกแห้งเม็ดใหญ่ 8 เม็ด
-หอมแดง  8 หัว
-กระเทียมกลีบใหญ่  10  กลีบ
-ปลากรอบ (ปลาเนื้ออ่อน) 3-4 ตัว
-กุ้งแห้งป่น  1/4 ถ้วย
-มะขามเปียกสับละเอียด 3 ช้อนโต๊ะ
-กะปิปิ้งไฟให้หอม 2 ช้อนโต๊ะ
-น้ำตาลปึก  1 ช้อนชา
-ผักสดจิ้มน้ำพริกตามชอบ

วิธีทำ

1.เด็ดพริกแห้งเอาเม็ดออก คั่วพอหอม พักไว้
2.คั่วกระเทียมและหอมแดงพอสุก พักไว้
3.ฉีกปลากรอบเป็นชิ้นๆ นำลงคั่วในกระทะพอหอม ยกลง
4.โขลกปลาพอละเอียด ตักออก พักไว้
5.โขลกพริกพอแหลก จากนั้นใส่กุ้งแห้ง หอมและกระเทียมลงไปโขลกให้เข้ากัน
6.ใส่ปลากรอบที่โขลกแล้วลงไป
7.ใส่มะขามเปียก น้ำตาลปึก กะปิ โขลกให้เข้ากันดี ตักเสิร์ฟ กินกับผักสด



-ปลากรอบ 3-4 ตัว โขลกแล้วจะได้ปลากรอบประมาณครึ่งถ้วย
-ใช้เนื้อมะขามเปียกสับจนเยื่อละเอียดแทนน้ำมะขามเปียก  เพราะจะทำให้ปลาในน้ำพริก
  ยังกรอบอยู่ ถ้าใช้น้ำมะขามเปียก ปลาจะไม่กรอบ
-ใช้ปลาช่อนย่างแทนปลากรอบก็ได้
-การโขลก ให้โขลกทีละอย่าง โดยโขลกพริกก่อน เพราะจะแหลกง่าย

ยำก้านคะน้าสด

เมนูนี้ดัดแปลงมาจากเมนูยอดฮิตอย่างส้มตำและยำต่างๆ  จำเป็นอย่างยิ่งต้องล้างคะน้าให้สะอาด
เพราะต้องกินสดๆ  แต่ถ้าใครไม่สะดวก  ไม่คุ้นลิ้นจะนำไปลวกสักหน่อยก็ได้ไม่ว่ากัน ส่วนใบ
เก็บไว้ผัดก็ได้  ไม่ทิ้งเสียของ  รสชาติคล้ายๆ ส้มตำ  แต่มีความกรุบกรอบในปาก  เพราะก้านคะน้า
ก็กรอบ  แครอทก็กรอบ  ให้ความอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง  ถ้าใครเบื่อส้มตำแล้วอยากเปลี่ยน
มากินเมนูผักรสแซ่บจี๊ดจ๊าด  ไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ


ส่วนผสม

-กุ้งสด    10 ตัว
-กุ้งแห้งทอด    1/4 ถ้วย
-ก้านคะน้าสดต้นใหญ่หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 1 ถ้วย
-แครอทหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า  1/2 ถ้วย 
-มะเขือเทศหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า  1/4 ถ้วย
-ถั่วลิสงคั่ว    1/4 ถ้วย
-เกลือ     1/4 ช้อนชา
-พริกขี้หนู    5-6 เม็ด
-กระเทียม    5-6 กลีบ
-น้ำปลา     3 ช้อนโต๊ะ
-น้ำมะนาว    3  ช้อนโต๊ะ
-น้ำตาลปี๊บ    2 ช้อนโต๊ะ


วิธีทำ

1.โรยเกลือที่กุ้งสดนิดหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติ จากนั้นนำกุ้งทอดในน้ำมันหรือลวกพอสุก
    พักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
2.โขลกกระเทียมและพริกขี้หนูรวมกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว และน้ำตาลปี๊บ คนให้เข้ากัน
3.นำกุ้งลงคลุกในน้ำปรุงรสเพื่อเพิ่มรสชาติ พักไว้
4.นำก้านคะน้า แครอท มะเขือเทศ ถั่วลิสง และกุ้งแห้งเทใส่จาน จากนั้นราดส่วนผสมที่เตรียมไว้
    ลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน พร้อมเสิร์ฟ


- คะน้า เป็นผักสารพัดประโยชน์ ทั้งใบ ก้าน และลำต้นสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งนั้น
- นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยมีวิตามินซีในปริมาณที่สูงมาก  ใครที่เป็นหวัดหรือผิวไม่สวยคะน้าช่วยได้
- นอกจากนี้ยังมี แคลเซียม  ฟอสฟอรัส  วิตามินเอ  และเป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีนอีกด้วย
- การกินคะน้าสดๆ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารดีกว่าการนำไปทำให้สุก

ทอดมันปลากรายชีวจิต

ผู้ที่กำลังเจ็บป่วยเป็นมะเร็ง  จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางประเภท
โดยเฉพาะอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ  ซึ่งโดยหลักชีวจิตแล้วก็ไม่แนะนำให้
รับประทานมากนัก  ทอดมันปลากรายแบบชีวจิตสูตรนี้จึงไม่มีส่วนประกอบของไข่และแป้ง


เครื่องปรุง

-เนื้อปลากรายขูด 1.5 กิโลกรัม
-พริกแกง 2.5 ช้อนโต๊ะ
-ถั่วฝักยาวหรือถั่วพลู
-ใบมะกรูด
-เกลือ

ส่วนผสมน้ำจิ้มอาจาด

- เกลือ น้ำตาลทรายแดง น้ำส้มสายชู แตงกวาหั่นชิ้นบางๆ ถั่วลิสงคั่วป่น พริกขี้หนูซอย


วิธีทำ

1.นำเนื้อปลากรายที่ขูดเอาแต่เนื้อมาโขลก โดยระหว่างที่โขลกค่อยๆเหยาะน้ำเกลือทีละนิด
    ยิ่งโขลกนานเท่าไร จะยิ่งเพิ่มความเหนียวหนุบหนับเด้งดึ๋งได้โดยไม่ต้องผสมสารปรุงแต่งใดๆ
2.เมื่อเนื้อปลากรายเหนียวได้ที่แล้ว  ใส่พริกแกงลงไปตำให้เนื้อเนียนเข้ากัน
3.หลังจากนั้นเพิ่มสีสันและความอร่อย  ด้วยการใส่ถั่วพลูหรือถั่วฝักยาวหั่นฝอย และใบมะกรูด
    หั่นฝอยลงไป  ใช้ช้อนคนให้ทั่ว
4.ใช้ช้อนปาดปลากรายเป็นก้อนๆ  แล้วนำไปทอดในน้ำมันร้อนปานกลางให้สุกเหลือง ตักขึ้นพักไว้
    ให้สะเด็ดน้ำมัน
5.ทำน้ำจิ้มอาจาด โดยผสมเกลือ น้ำตาลทรายแดง น้ำส้มสายชูเข้าด้วยกัน ตั้งไฟเคี่ยวให้ละลาย
    ทิ้งไว้ให้เย็น  ใส่แตงกวา ถั่วลิสงคั่วป่น  และพริกขี้หนูซอยลงไป
6.เสิร์ฟทอดมันพร้อมน้ำจิ้มอาจาดและผักสด  เช่น ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม มะเขือเทศ แตงกวา ฯลฯ