มะเร็งเต้านม

  • Tab 1
  • Tab 2

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย โดยพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถพบได้ 1 ใน 10 ของผู้หญิง มะเร็งเต้านมนั้นสามารถพบได้ในผู้ชายเช่นกัน แต่พบในอัตราที่น้อยมาก

ปัจจัยเสี่ยง

* ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม โดยพบบ่อยในหญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
* หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ รวมทั้ง ผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม ก็มีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่สูงกว่าคนปกติด้วย
* ผู้ที่มีบุตรหลังอายุ 30 ปี รวมทั้ง หญิงที่ไม่เคยมีบุตร จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
* การกลายพันธุ์ของยีน เช่น การเกิดการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 สามารถทำให้เกิดมะเร็งเต้านม และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
* ผู้หญิงที่มีเต้านมเต่งตึงกว่าอายุ เช่น หญิงที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และมีความหนาแน่นของเต้านมมากกว่าร้อยละ 75 จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ
* ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี หรือ ประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ง่ายกว่าคนปกติ
* ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง รวมทั้ง ผู้ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน อาจเกิดมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น
* การสูบบุหรี่ทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

อาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม

มะเร็งระยะเริ่มต้นนั้นมักจะไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจจะตรวจพบความผิดปกติเกิดขึ้นที่เต้านม ซึ่งอาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งเต้านม ดังนี้

* มีก้อนที่เต้านม (ร้อยละ 15-20 ของก้อนที่คลำได้ บริเวณเต้านมเป็นมะเร็งเต้านม
* มีการเปลี่ยนแปลงขนาด และรูปร่างของเต้านม
* ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ บางส่วนมีสะเก็ด
* หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ
* มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม ( ร้อยละ 20 ของการมีเลือดออกจะเป็นมะเร็ง)
* เจ็บเต้านม ( มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่เจ็บ นอกจากก้อนโตมากแล้ว )
* การบวมของรักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต

ตรวจเต้านมให้ถูกวิธีทำอย่างไร

การตรวจด้วยตัวเองให้ถูกวิธีนั้นควรจะตรวจหลังจากประจำเดือนหมดแล้วประมาณ 7 วัน ค่ะ ตรวจอย่างน้อยเดือนละครั้ง การตรวจจำเป็นจะต้องถอดเสื้อ จึงควรจะตรวจในที่มิดชิดและมีแสงสว่างพอสมควร ขั้นตอนมีดังนี้ค่ะ
การดูลักษณะเปลี่ยนแปลงของเต้านม จากกระจกเงา

1. ยืนตรง มือแนบลำตัว สังเกตลักษณะของเต้านม เปรียบเทียบกันทั้ง 2 ข้าง ว่าแตกต่างกันหรือไม่ แต่เต้านมของคนปกติบางครั้งจะมีขนาดที่ต่างกันได้เล็กน้อยค่ะ ซึ่งถือว่าปกติ ดูว่าขนาดของเต้านมเปลี่ยนไปหรือไม่ ? ดูตำแหน่งของหัวนมเปลี่ยนไปหรือหัวนมบุ๋มลงไปหรือไม่ จากนั้นยกแขนเหนือศีรษะขึ้นดูลักษณะการเปลี่ยนแปลงตามที่กล่าวข้างต้นอีกครั้ง

2. เอามือท้าวเอว เกร็งกล้ามเนื้อหน้าอกเพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกเกร็งตัว แล้วสังเกตความผิดปกติ อาจจะพบว่ามีก้อนนูนขึ้นมา หรือผิวหนังมีรอยถูกดึงรั้งลงไปหรือไม่

การคลำอย่างถูกวิธี การคลำดูว่ามีก้อนที่เต้านมหรือไม่นั้น สามารถทำได้โดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ทาบลงไปบนเต้านม แล้วคลำวนไปรอบ ๆ ลักษณะการคลำที่มีความ ผิดปกติจะรู้สึกว่ามีก้อน การคลำนี้อย่าใช้วิธีบีบนะคะ เพราะจะทำให้เข้าใจผิดว่าเนื้อเต้านมเป็นเนื้องอกได้ ท่าที่คลำควรจะใช้ท่านอนและอาจจะยกแขนหนุนศีรษะก็ได้ การคลำเต้านม ระยะแรก ๆ อาจจะไม่แน่ใจ แต่เมื่อคลำไปบ่อย ๆ จะได้ความชำนาญ เวลามีก้อนอะไรผิดปกติขึ้นมาจะรู้สึกได้ค่ะ หลังจากคลำแล้วไม่พบอะไร ก็ควรจะบีบและกดบริเวณรอบ ๆ หัวนม สังเกตดูว่ามีน้ำเลือด น้ำหนองหรือน้ำใส ๆ อะไรไหลออกมาจากหัวนมบ้างหรือไม แต่เมื่อพบว่ามีความผิดปกติ เช่น ก้อน หรือน้ำไหลจากหัวนม หรือมีก้อนที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเนื้องอกหรือไม่ ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจซ้ำและรับการรักษาหรือคำแนะนำที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

การมีก้อนที่เต้านมไม่จำเป็นจะต้องเป็นมะเร็งเสมอไป อาจจะเป็นถุงน้ำ ที่เรียกว่า ซีสท์ หรือเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งก็ได้นะคะ แต่ถ้าเป็นมะเร็งในระยะแรกแล้วหากเราตรวจพบได้เราก็จะมีโอกาสรักษาให้หายได้ค่ะ

Resource : หน่วยมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ http://medinfo.psu.ac.th

การตรวจเต้านมตนเอง

การตรวจมะเร็งเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น พบว่าร้อยละ 80 ของเนื้องอกที่เต้านมผู้หญิงนั้นถูกตรวจพบครั้งแรกด้วยตนเอง การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำทุกเดือนตั้งแต่วัยสาวถึงวัยสูงอายุ เวลาที่ดีที่สุดที่จะทำการตรวจ คือ หลังหมดระดูแล้ว 7-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงทำให้ตรวจได้ง่ายสำหรับผู้หญิงที่หมดระดูหรือได้รับการตัดมดลูก จะเป็นการดีถ้าได้ทำการตรวจเต้านมตนเองทุกวันที่หนึ่งของทุกเดือน

วิธีการตรวจ 3 ท่า

ทุกท่าจะต้องบิดลำตัวไปทั้งทางซ้ายและขวาสังเกตรูปร่าง ลักษณะ ความผิดปกติของผิวหนังรอยบุ๋ม รอยนูนของเต้านมหรือสิ่งผิดปกติอื่นๆ ของเต้านมทั้ง 2 ข้าง โดยมีท่า ดังนี้

1. ยืนหน้ากระจก
* ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย
* ยกแขนทั้ง 2 ข้างเหนือศีรษะ
* ท้าวเอว เกร็งอกเพื่อให้ผนังทรวงอกกระชับขึ้น
* โค้งตัวมาข้างหน้าใช้มือทั้ง 2 ข้างท้าวเอว
2. นอนราบ
* นอนให้สบาย ตรวจเต้านมขวาให้สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา
* ยกแขนขวาเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบซึ่งจะทำให้คลำง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกมีเนื้อหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด
* ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย ( นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ) คลำทั่วเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งความจริงไม่ใช่ และทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมด้านซ้าย
3. ขณะอาบน้ำ
* สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างคลำไปทิศทางเดียวกับที่ใช้ในท่านอน
* สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำเต้านมด้านบน

การตรวจเต้านมด้วยตนเองในระยะเริ่มต้นทำได้ดังนี้

1. การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธีเดือนละครั้ง หลังจากประจำเดือนหมดไปแล้วประมาณ 3 วัน เป็นวิธีที่ง่าย ประหยัดใช้ได้กับทุกวัย หากมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองโดยถูกต้องอย่างสม่ำเสมอจะสามารถตรวจพบก้อนได้ ตั้งแต่ยังมีขนาดไม่โตมากนักซึ่งการรักษาจะได้ผลดี บางท่านอาจคิดว่าการตรวจร่างกายด้วยตนเองไม่มีความสำคัญ เนื่องจากมีการตรวจด้วยแมมโมแกรมแล้ว แต่ในความเป็นจริงเนื้องอกบางชนิดอาจ ไม่ปรากฏให้เห็นได้ชัดในภาพรังสี แต่สามารถคลำได้ด้วยการตรวจร่างกาย ด้วยตนเองและควรร่วมกับการตรวจยืนยันอีกครั้งโดยแพทย์ หรือในกรณีที่
การตรวจด้วยตนเองแล้วสงสัยหรือไม่แน่ใจ แนะนำให้มาตรวจโดยแพทย์ซ้ำซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก
2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้ชำนาญ ปีละครั้ง ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
3. การตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือที่เรียกว่าแมมโมแกรม ปีละครั้งตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป