ตับอักเสบจากไวรัส - Viral Hepatitis
- Tab 1
- Tab 2
ลักษณะทั่วไป
ตับอักเสบจากไวรัส (ไวรัสลงตับ ก็เรียก) หมายถึง การอักเสบของเนื้อตับ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส พบเป็นสาเหตุอันดับแรกสุด ของอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ที่เกิดขึ้นในเด็กโตและผู้ใหญ่ จนเป็นที่เข้าใจกันว่า โรคดีซ่าน ก็คือ ตับอักเสบจากไวรัส โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็กและคนหนุ่มสาว บางครั้งอาจพบระบาด ตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน กองทหาร เป็นต้น
สาเหตุ
ในปัจจุบันพบว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
1. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A virus) ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A ) หรือ เดิมเรียกว่า Infectious hepatitis สามารถติดต่อโดยทางระบบทางเดินอาหาร กล่าวคือ โดยการกินอาหาร ดื่มนม หรือน้ำที่เปื้อนอุจจาระของคนที่มีเชื้อโรคนี้ (เช่นเดียวกับโรคบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์) ดังนั้นจึงสามารถแพร่กระจายโรคได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา ซึ่งการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม(เรื่องส้วม และน้ำดื่ม) ยังไม่ดี บางครั้งอาจพบเป็นโรคระบาดได้ระยะฟักตัว ของตับอักเสบชนิดเอ 15-45 วัน (เฉลี่ย 30 วัน) ซึ่งนับว่าสั้นกว่าชนิดบี
2. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B virus) ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B) หรือเดิมเรียกว่า Serum hepatitis เชื้อนี้จะมีอยู่ในเลือด และยังอาจพบมีอยู่ในน้ำลาย น้ำตา น้ำนม ปัสสาวะเชื้ออสุจิ เป็นต้นเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกาย โดยทาง เพศสัมพันธ์ หรือถ่ายทอดจากแม่ไปยังทารกขณะคลอด หรือหลังคลอดใหม่ ๆ (ทำให้ทารกมีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างกาย ซึ่งสามารถแพร่ให้ คนอื่นได้) นอกจากนี้ โรคนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางเลือด เช่น การให้เลือด การฉีดยา การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย การทำฟัน การใช้เครื่องมือแพทย์ที่แปดเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ เป็นต้น ระยะฟักตัวของตับอักเสบชนิดบี 30-180 วัน (เฉลี่ย 60-90 วัน) นอกจากไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้แล้ว ยังมีไวรัสชนิดอื่น ๆ รวมเรียกว่า ไวรัสชนิดไม่ใช่ทั้งเอและบี ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิด
ไม่ใช่ทั้งเอและบี (Non-A, Non-B hepatitis) ในปัจจุบันพบเชื้อ ไวรัสตับอักเสบชนิดซี (Hepatitis C virus) ซึ่งสามารถติดต่อโดย ทางเลือด (การให้เลือด, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด) และเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับชนิดบี (ระยะฟักตัวเฉลี่ย 6-7 สัปดาห์), เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis E virus) ซึ่งสามารถติดต่อโดยทางอาหารการกินเช่นเดียวกับชนิดเอ, เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดจี (Hepatitis G virus) ซึ่งสามารถติดต่อโดยทางเลือด (เช่น การให้เลือด,
การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ในผู้ใช้ยาเสพติด) นอกจากนี้ยัง พบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี (Hepatitis D virus) ซึ่งมักพบร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี พบมากในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และอาจทำให้อาการตับอักเสบจากเชื้อไวรัสบีมีความรุนแรงมากขึ้น
อาการ
ตับอักเสบจากไวรัสทุกชนิด มักจะมีอาการแสดงคล้าย ๆ กัน (จะแยกกันได้แน่ชัด ก็โดยการตรวจหาเชื้อในเลือด)
ระยะนำ ผู้ป่วยมักมีอาการอื่น ๆ นำมาก่อนจะมีอาการตาเหลือง ประมาณ 2-14 วัน ด้วยอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อิดโรย คลื่นไส้ อาเจียน และเป็นไข้ (ประมาณ 38-39 ํซ.) บางคนอาจมีอาการปากคอจืด และเหม็นเบื่อบุหรี่อย่างมาก บางคนอาจมีอาการปวดเสียด หรือจุกแน่นแถวลิ้นปี่ หรือชายโครงขวา บางคนอาจมีอาการถ่ายเหลวหรือท้องเดิน หรือมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอ ไอ คล้ายไข้หวัด หรือไข้หวัดไหญ่ หรืออาจมีอาการปวดตามข้อ มีลมพิษ ผื่นขึ้นก่อนมีอาการตาเหลือง 1-5 วัน ผู้ป่วยจะปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น และอุจจาระสีซีดกว่าปกติ ระยะนี้มักจะพบว่าตับโต และเคาะเจ็บ
ระยะตาเหลือง เมื่อมีอาการตาเหลือง อาการต่าง ๆ จะเริ่มทุเลา และไข้จะลดลงทันที (หากยังมีไข้ร่วมกับตาเหลืองอีกหลายวัน ควรนึกถึงสาเหตุอื่น ตาจะเหลืองเข้มมากที่สุดในสัปดาห์ที่ 1และ 2 แล้วจะค่อย ๆ จางหายไปใน 2-4 สัปดาห์ โดยทั่วไปผู้ป่วย มักจะมีอาการตาเหลืองอยู่ประมาณ 3-5 สัปดาห์ และน้ำหนักตัวอาจลดไป 2-3 กิโลกรัม ในขณะที่ตาเหลืองเริ่มจางลง ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นอุจจาระกลับมีสีเข้มเหมือนปกติ และปัสสาวะสีค่อย ๆ จางลง ระยะนี้ตับยังโตและเจ็บ แต่จะค่อย ๆ ลดน้อยลง ต่อมน้ำเหลืองที่หลังคอและม้ามอาจโตได้ระยะฟื้นตัว หลังจากหายตาเหลืองแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้น แต่ยังอาจรู้สึกเหนื่อยล้า ตับจะยังโต และเจ็บเล็กน้อย กินเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการจะหายสนิทภายใน 3-4 เดือน หลังมีอาการแสดงของโรคผู้ป่วยบางคน อาจไม่แสดงอาการตาเหลือง (ดีซ่าน) ให้เห็น หรือคลำตับไม่ได้ มีเพียงอาการเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปวดเสียดชายโครงขวา ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน
สิ่งตรวจพบ
ตาเหลือง ตับโต ลักษณะนุ่ม ผิวเรียบ กดเจ็บเล็กน้อย
อาการแทรกซ้อน
ส่วนมากมักจะหายเป็นปกติ โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็น ตับอักเสบชนิดเอ ส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมี อาการแทรกซ้อน ซึ่งจะพบในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบีหรือซี และมักเกิด ในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคอื่น ๆ (เช่น หัวใจวาย เบาหวาน มะเร็ง โลหิตจางรุนแรง เป็นต้น) อยู่ก่อนโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตในเวลารวดเร็ว (ซึ่งพบได้น้อยมาก) ได้แก่ตับอักเสบชนิดร้ายแรง (Fulminant hepatitis) ซึ่งเซลล์ของตับถูกทำลาย จนเนื้อตับเสีย เกือบทั้งหมดผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลืองจัด บวม และหมดสติ ประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบี อาจกลายเป็น โรคตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis) ซึ่งจะมีอาการอ่อนเพลีย และตาเหลือง อยู่นานกว่า 6 เดือน ถ้าเป็นชนิดคงที่ (chronic persistent hepatitis) อาการจะไม่รุนแรงและมักจะหายได้เป็นปกติภายใน 1-2 ปี แต่ถ้าเป็นชนิดลุกลาม (chronic active hepatitis) ก็อาจกลายเป็นโรคตับแข็งได้ แพทย์สามารถแยกชนิดคงที่ออกจากชนิดลุกลามได้ด้วย การเจาะเอาเนื้อตับพิสูจน์ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบชนิดบีหรือซีแบบเรื้อรัง หรือเป็นพาหะของเชื้อชนิดบีหรือซีอยู่นาน30-40 ปีขึ้นไป อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ได้
การรักษา
หากสงสัย ควรส่งตรวจเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือดทดสอบการทำงานของตับ (Liver function test) ซึ่งจะพบว่ามีระดับ เอนไซม์เอสจีโอที (SGOT) และเอสจีพีที (SGPT) สูงกว่าปกติเป็นสิบ ๆ เท่า (ปกติ มีค่าไม่เกิน 40 หน่วย) ตลอดจนระดับ บิลิรูบิน (Bilirubin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง) สูง นอกจากนี้ยังอาจต้องเจาะเลือดตรวจดูชนิดของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค (ว่าเป็น ตับอักเสบชนิด ตับอักเสบชนิดเอหรือบี หรือชนิดอื่น) เมื่อพบว่าเป็นโรคนี้จริง ควรให้การรักษาดังนี้
1. ถ้าพบในเด็กหรือคนหนุ่มสาว ซึ่งอาการโดยทั่วไปดี กินข้าวได้ ไม่ปวดท้องหรืออาเจียน ควรแนะนำ
ให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังนี้
1.1 พักผ่อนอย่างเต็มที่ ห้ามทำงานหนักจนกว่าจะรู้สึกหายเพลีย
1.2 ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 10-15 แก้ว
1.3 กินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ซุป ถั่วต่าง ๆ) ให้มาก ๆ ส่วนอาหารมันให้กินได้ตามปกติ ยกเว้นในรายที่กินแล้ว คลื่นไส้อาเจียนให้งด
1.4 ถ้าเบื่ออาหารให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำตาลกลูโคส (ถ้ากินอาหารได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำหวานหรือกลูโคสให้มากขึ้น)
1.5 ถ้ามีอาการท้องอืดหรือคลื่นไส้ ควรงดอาหารมัน
1.6 แยกสำรับกับข้าวและเครื่องใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่น
1.7 ล้างมือหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้งส่วนยาไม่จำเป็นต้องให้ ยกเว้นในรายที่เบื่ออาหาร อาจให้กินวิตามินรวม หรือวิตามินบีรวม วันละ2-3 เม็ด, หรือถ้าคลื่นไส้ อาจให้ยาแก้อาเจียน เช่น เมโทโคลพราไมด์ , ถ้ากินไม่ได้ อาจให้ฉีดกลูโคสหรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
2. ถ้าอาการตาเหลืองไม่จางลงใน 2 สัปดาห์ หรือมีไข้สูง อ่อนเพลียมาก น้ำหนักลดมาก ปวดท้องมากหรืออาเจียนมาก หรือพบใน คนสูงอายุ ควรแนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาล หากมีอาการมากอาจรับไว้รักษาในโรงพยาบาลสักระยะหนึ่งในการติดตามผลการักษา อาจต้องนัดตรวจเลือด เป็นระยะ ๆ(ประมาณทุก 2-4 สัปดาห์) จนกระทั่งแน่ใจว่าระดับเอนไซม์เอสจีโอที และ เอสจีพีที ลงสู่ปกติซึ่งแสดงว่า หายดีแล้วผลการรักษา ส่วนใหญ่จะหายดี (ตาหายเหลือง หายเพลีย กินข้าวได้มาก และผลเลือดเป็นปกติ)ภายใน 3-16 สัปดาห์ ส่วนน้อยอาจเป็นเรื้อรัง ซึ่งถ้าเป็นนานเกิน 6 เดือน ก็เรียกว่า ตับอักเสบเรื้อรัง(มักเกิดกับตับอักเสบชนิดบีหรือซี) ซึ่งอาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ทำสะแกนตับ(Liver scan) หรือเจาะเอาเนื้อตับ พิสูจน์ (Liver biopsy) เพื่อดูว่า เป็นตับอักเสบเรื้อรังชนิดลุกลาม หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือไม่ ถ้าเป็น ตับอักเสบเรื้อรัง ชนิดลุกลามอาจต้องให้การรักษาด้วยยาสเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยโรคนี้ห้ามดื่มเหล้านาน 1 ปี เพราะอาจทำให้โรคเรื้อรัง หรือกำเริบใหม่ได้
2. ระหว่างที่เป็นโรค ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ เช่น พาราเซตามอล , เตตราไซคลีน ,ไอเอ็นเอช , อีริโทรไมซิน , ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
3. เข็มฉีดยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคนี้ ควรทิ้งไปเลย ห้ามนำไปใช้ฉีดผู้อื่นต่อ เพราะอาจแพร่เชื้อได้
4. คนที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นโรคตับอักเสบเสมอไปทุกคน บางคนอาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายเพียงชั่วคราว โดยไม่เป็นโรคแล้วเชื้อหายไปได้เองบางคนอาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายโดยไม่มีอาการแสดงแต่อย่างไร แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เราเรียกว่าพาหะนำโรค (carrier) ที่สำคัญ คือ โรคตับอักเสบชนิดบีซึ่งในบ้านเราพบคนที่เป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบี ประมาณ 10% ของคนทั่วไป (ประมาณ 50% ของคนทั่วไปจะเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และมีภูมิคุ้มกันแล้ว) บางคนหลังได้รับเชื้อ อาจมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือคลื่นไส้อาเจียน จุกเสียดท้อง โดยไม่มีอาการตาเหลืองก็ได้
5. ผู้ที่เป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบีหรือซี (พบเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างไร) ควรหาทางพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ห้ามดื่มเหล้า ออกกำลังแต่พอควรห้ามหักโหมจนเกินไป อย่าอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก งดบริจาคโลหิต และหมั่นตรวจเลือดดูเชื้อและทดสอบการทำงานของตับทุก 6-12 เดือน ผู้ที่เป็นพาหะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจเกิดโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับแทรกซ้อน โดยมากมักจะเกิดกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสบีหรือซี จากมารดามาตั้งแต่เกิด แล้วเชื้อจะอยู่ในร่างกายจนย่างเข้าวัย 40-50 ปี ก็อาจเกิดผลแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า หรือตรากตรำงานหนัก
6. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นสามีหรือภรรยาควรตรวจเลือด ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ควรฉีดวัคซีนป้องกัน
7. หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะต้องได้รับการตรวจเลือดดูว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือไม่ ถ้าพบว่ามีเชื้อ ทารกที่เกิดมาทุกคนจะต้องได้รับการฉีดสารอิมมูนโกลบูลิน (Hepatitis B immune globulin/HBIG) และฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี จะช่วยป้องกันมิให้ทารกติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้
8.การตรวจเลือดวินิจฉัยตับอักเสบชนิดบี
สำหรับโรคตับอักเสบชนิดบี ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจเลือด เพื่อการวินิจฉัยโรคนี้ ซึ่งมีศัพท์เฉพาะหลายคำ ที่ใคร่จะขอแนะนำไว้ในที่นี้ ดังนี้HBsAg หมายถึง แอนติเจนที่อยู่บนผิวของเชื้อไวรัสชนิดบี เรียกว่า Hepatitis B surface antigenเดิมเคยเรียกว่า Australia antigen หรือ Hepatitis associated antigen (HAA)
HBcAg หมายถึง แอนติเจนที่อยู่ตรงแกนกลางของเชื้อไวรัสชนิดบี เรียกว่า Hepatitis B
core antigen
HBeAg หมายถึง แอนติเจนส่วนแกนกลางของไวรัสที่ละลายอยู่ในน้ำเลือด (เซรุ่ม) สามารถตรวจพบ
ตั้งแต่ระยะฟักตัวของโรค (ก่อนมีอาการแสดง)
Anti-HBs หมายถึง แอนติบอดี (ภูมิต้านทาน) ต่อแอนติเจน HBsAg ซึ่งจะตรวจพบตั้งแต่ระยะหลัง
ติดเชื้อประมาณ 4-6 เดือนไปแล้ว ผู้ที่มี Anti-HBs จะไม่ติดเชื้อไวรัสชนิดบีอีก
Ant-HBc หมายถึง แอนติบอดี (ภูมิต้านทาน) ต่อแอนติเจน HBcAg ซึ่งจะตรวจพบตั้งแต่ระยะหลัง
ติดเชื้อ 4-6 สัปดาห์ไปแล้ว และจะพบอยู่ตลอดไป
โดยทั่วไปมักจะเจาะเลือดตรวจหา HBsAg, Anti-HBs และ Anti-HBc ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัย
โรคดังนี้
(1) ถ้าตรวจไม่พบสารตัวใดตัวหนึ่งดังกล่าวเลย ก็แสดงว่าไม่เคยติดเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทานต่อตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี ควรฉีดวัคซีนป้องกัน
(2) ถ้าตรวจพบ HBsAg เพียงอย่างเดียว แสดงว่ากำลังติดเชื้อ หรือเพิ่งเป็นโรคนี้ สามารถติดต่อให้
ผู้อื่นได้
(3) ถ้าตรวจพบ Anti-HBc เพียงอย่างเดียว แสดงว่าเคยติดเชื้อมาไม่นาน แต่เวลานี้ไม่มีเชื้อแล้ว
และไม่ติดต่อ (แพร่เชื้อ) ให้ผู้อื่น
(4) ถ้าตรวจพบ HBsAg ร่วมกับ Anti-HBc แสดงว่ากำลังติดเชื้อ อาจเป็นแบบเฉียบพลัน หรือเป็น
พาหะเรื้อรัง สามารถติดต่อให้ผู้อื่นได้ สำหรับผู้ที่เป็นพาหะเรื้อรัง การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบี
ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถช่วยกำจัดเชื้อ หรือกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ได้
(5) ถ้าตรวจพบ Anti-HBc ร่วมกับ Anti-HBs แสดงว่าเคยติดเชื้อมาก่อน และมีภูมิต้านทานแล้ว
จะไม่ติดเชื้อซ้ำอีก
(6) ถ้าตรวจพบ Anti-HBs เพียงอย่างเดียว แสดงว่าเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน จะไม่เป็นโรคนี้
การป้องกัน
สำหรับตับอักเสบชนิดเอ ควรกินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด ถ่ายลงส้วม ล้างมือก่อน เปิปข้าว และหลังถ่ายอุจจาะทุกครั้ง สำหรับตับอักเสบชนิดบี
1. ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยา หรือให้น้ำเกลือโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องฉีดยา ควรเลือกใช้เข็มและ
กระบอกฉีดยา ที่ทำให้ปราศจากเชื้อโรค
2. ในการให้เลือด ควรหลีกเลี่ยงการใช้เลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยการตรวจเช็กเลือดของผู้บริจาค
ทุกราย
3. แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ควรระมัดระวังในการสัมผัสถูกเลือดของผู้ป่วย เช่น
สวมถุงมือขณะเย็บแผล ผ่าตัด หรือสวนปัสสาวะผู้ป่วย
4. ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันตับอักเสบชนิดบี แต่เนื่องจากราคาค่อนข้างแพง ยังไม่แนะนำให้ฉีด
ในคนทั่วไป จะเลือกฉีดให้แก่ บุคคลที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคนี้สูง เช่น แพทย์, พยาบาล, ผู้ป่วย
โรคเลือดที่ต้องรับการถ่ายเลือดบ่อย ๆ สำหรับทารกแรกเกิดทุกคน สถานบริการของกระทรวง
สาธารณสุข จะฉีดวัคซีนชนิดนี้ โดยไม่คิดมูลค่า ตั้งแต่วันแรกที่เกิด วัคซีนชนิดนี้จะฉีดให้ 3 ครั้ง
ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะห่างจากครั้งแรก 1 และ 6 เดือนตามลำดับ
สำหรับผู้ใหญ่ก่อน ฉีดวัคซีนชนิดนี้ ควรตรวจเลือดเสียก่อน หากพบว่า เป็นพาหะหรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
รายละเอียด
เข็มฉีดยาอาจเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบได้
หมายเหตุ ไวรัสตับอักเสบชนิดซี จะมีการติดต่อ ลักษณะอาการ และมีภาวะแทรกซ้อน แบบไวรัสตับ
อักเสบชนิดบีทุกประการ ส่วนไวรัสตับอักเสบชนิดอี จะมีการติดต่อ ลักษณะอาการ และความรุนแรง
แบบเดียวกับชนิดเอทุกประการ