ไซนัส Sinusitis
- Tab 1
ไซนัส Sinusitis
ลักษณะทั่วไป
ไซนัส (sinus) หมายถึง โพรงอากาศเล็ก ๆ ในกะโหลกซึ่งอยู่รอบ ๆ จมูกและมีทางเชื่อมต่อกับโพรงจมูก ดังนั้น จึงอาจมีเชื้อโรคลุกลามจาก โพรงจมูกเข้าไปในโพรงไชนัสได้ ตามปกติทางเชื่อมดังกล่าว จะเปิดโล่งให้มี การระบายของน้ำเมือกที่สร้างขึ้นใน โพรงไซนัสได้สะดวก จึงไม่เกิดการอักเสบ แต่ถ้าหากทางเชื่อมดังกล่าว เกิดการอุดตันขึ้นมา (เช่น เป็นหวัด ผนังกั้นจมูกคด มีเนื้องอกในรูจมูก ได้รับบาดเจ็บ นั่งเครื่องบิน หรือดำน้ำ) น้ำเมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายได้ ก็จะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในโพรงไซนัส สามารถเจริญงอกงาม ทำให้เกิดการอักเสบ และเป็นหนองขังภายในโพรงไซนัสได้
สาเหตุ
เชื้อที่เป็นสาเหตุ ที่พบบ่อย ได้แก่ บีตาสเตรปโตค็อกคัส, สแตฟฟีโลค็อกคัส, นิวโมค็อกคัส, ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนซา นอกจากนี้ยังอาจ เกิดจากการลุกลามของเชื้อโรค จากบริเวณรากฟันที่เป็นหนองเข้าไปในโพรงไซนัสโดยตรงก็ได้ ไซนัสอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยใน คนทุกเพศทุกวัย มักพบเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด, หวัดจากการแพ้, เยื่อจมูกอักเสบ, เนื้องอกในรูจมูก, ผนังกั้นจมูกคด, รากฟันเป็นหนอง
อาการ
ปวดมึน ๆ หนัก ๆ ตรงบริวเณหัวตา หน้าผากโหนกแก้มหรือรอบ ๆ กระบอกตา บางคนอาจรู้สึกคล้ายปวดฟัน บริเวณขากรรไกรบน อาการปวดอาจเป็นมากในเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มศรีษะหรือเปลี่ยนท่า ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกข้นเหลือง หรือเขียว เจ็บคอ มีเสลดเหลืองหรือเขียวในลำคอ และอาจหายใจมีกลิ่นเหม็น ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มักมีไข้ร่วมด้วย
สิ่งตรวจพบ
เยื่อจมูกบวมแดง คอแดงเล็กน้อย ที่สำคัญจะพบว่า ถ้าเคาะหรือกดแรง ๆ ตรงบริเวณหัวตา หน้าผาก หรือใต้ตาจะรู้สึกเจ็บ อาจมีไข้ (ในรายที่เป็นเฉียบพลัน)
อาการแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ , หลอดลมอักเสบ , ปอดอักเสบ , ฝีรอบกระบอกตา (Periorbitalabscess), เยื่อกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อย ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ , ฝีในสมอง
การรักษา
1. ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ , ยาแก้คัดจมูก อาจช่วยลดการบวมของเนื้อเยื่อที่อักเสบ ซึ่งจะช่วยถ่ายเทหนอง ส่วนยาแก้แพ้ ไม่ควรให้ อาจทำให้น้ำเมือกในโพรงไซนัสเหนียว ถ่ายเทออกได้ไม่ดี ยกเว้นในรายที่มีอาการของภูมิแพ้มาก เช่น จาม มีน้ำมูกมาก อาจให้เพียง 2-3 วัน เพื่อบรรเทาอาการ
2. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน , อีริโทรไมซิน หรือ โคไตรม็อกซาโซล ปกติอาการจะทุเลาหลังกินยา
2-3 วัน ควรให้กินติดต่อกันนาน 10-14 วันในรายที่เป็นเรื้อรัง ขณะที่มีอาการกำเริบ ควรให้ยาปฏิชีวนะนาน 3-4 สัปดาห์ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือกำเริบบ่อย ควรส่งโรงพยาบาล เพื่อตรวจเอกซเรย์ไซนัส ถ้ามีหนองขังอยู่
อาจต้องทำการเจาะล้างโพรงจมูก ในรายที่เป็นมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ข้อแนะนำ
1. ขณะที่มีอาการกำเริบ ควรงดว่ายน้ำ ดำน้ำ ขึ้นเครื่องบิน ประมาณ 2 สัปดาห์
2. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง แต่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือแก้ไขสาเหตุ เช่น ผนังกั้นจมูกคด
3. ไม่ควรรักษากันเองตามแบบพื้นบ้าน เช่น ใช้สารกรดบางอย่าง หยอดเข้าจมูก(ทำให้มีน้ำมูกไหลออกมามาก เพราะเกิด การระคายเคือง ต่อเยื่อจมูก) อาจทำให้เกิดการอักเสบ และจมูกพิการได้
4. ระวังอย่าให้เป็นหวัดบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คัดจมูกหรือจาม (เช่น ฝุ่น อากาศเย็น ขนสัตว์)และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ