โรคภูมิแพ้ทางจมูก Allergic Rhinitis

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3
  • Tab 4
  • Tab 5
  • Tab 6

โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า "แพ้อากาศ" เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะพบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กและวัยหนุ่มสาว แต่สามารถเป็นได้กับคนทุกวัย โรคนี้ มีอาการเรื้อรัง สร้างความเดือดร้อน รำคาญ ให้แก่ผู้ป่วย, ผู้ปกครอง และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนเป็นไซนัสอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ ตามมาได้

บางครั้งถูกเรียกว่าเป็น "โรคภูมิแพ้" ซึ่งไม่ถูกต้องนักเพราะ "โรคภูมิแพ้" หมายถึง "กลุ่มของโรค" ที่สาเหตุเกิดขึ้นจาก ความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานในร่างกาย โรคในกลุ่มของโรคภูมิแพ้ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis), โรคหอบหืด, ลมพิษเรื้อรัง, แพ้อาหาร, แพ้ยา, ผื่นผิวหนังอักเสบจากการแพ้

โรคภูมิแพ้ทางจมูก แบ่งออกตามอาการที่มาปรึกษาได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. กลุ่มที่มาด้วยอาการจามนํ้ามูกไหลเป็นหลัก หรือเรียกว่า Runner-Sneezer type
2. กลุ่มที่มาด้วยอาการคัดแน่นจมูกเป็นหลัก หรือเรียกว่า Blocker type
3. กลุ่มที่มาด้วยอาการทั้ง 2 แบบ หรือเรียกว่า Mixed type
4. กลุ่มที่มาด้วยอาการอื่นๆ ที่มักไม่ใช่อาการทางจมูกโดยตรง หรือเรียกว่า Comon pitfall type

อาการของโรค

  • ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย คันในจมูก, ลำคอ และมีเสมหะไหลลงคอ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นตลอดปี หรือเพียงบางฤดูกาลก็ได้
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเฉพาะบางเวลา เช่น ตอนเช้า หรือกลางคืน ประมาณวันละ 1 / 2 ชั่วโมง
  • นอกจากนี้บางรายอาจมีอาการทางตา เช่น คันตา เคืองตา ตาบวม น้ำตาไหล อันเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุภายในตา ที่เรียกว่า Allergic rhinoconjunctivitis
  • ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคแทรกซ้อน อาจมีการรับกลิ่นเสียไป หูอื้อ ปวดศรีษะ ปวดบริเวณไซนัส
  • อาการปวดศรีษะ ปวดบริเวณไซนัส และไซนัสอักเสบพบได้บ่อยในผู้ป่วยจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
  • ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกบริเวณใกล้จมูกมีส่วนท่อต่อกับจมูก ทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้ เมื่อเยื่อบุภายในจมูกบวมอักเสบ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทำให้ท่อต่อนี้อุดตันทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดบริเวณไซนัส และมีโอกาสเป็น โรคไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น ดังนั้น หากเราสามารถรักษาและป้องกันโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของ โรคไซนัสอักเสบได้อย่างเหมาะสม จะทำให้โรคไซนัสอักเสบบรรเทาลง

อาการของโรคนี้ต่างจากอาการหวัดอย่างไร

อาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักมีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ อาการเด่น คือ น้ำมูกใส จาม และคัดจมูก โดยมักไม่มีไข้ อาจมีอาการไอเรื้อรังด้วย เนื่องจากมีเสมหะไหลลงคอทำให้ระคายคอ

หากมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วยครั้งนั้นน่าจะเป็นหวัดมากกว่า

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคแพ้อากาศ มักมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้ด้วย เช่น โรคแพ้อากาศ, โรคหอบหืด, แพ้อาหาร, ลมพิษเรื้อรัง, แพ้แมลง

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เกิดได้อย่างไร ?

โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เกิดได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ระบบภูมิต้านทานในตัวของผู้ป่วย จะทำงานผิดไปจากปกติ โดยเกิดปฏิกิริยาไวมากเกินไปต่อสารในธรรมชาติบางชนิดที่คนทั่วไปไม่แพ้ เราเรียกสารธรรมชาติที่อาจทำให้บางคนแพ้ได้นี้ ว่า "สารก่อภูมิแพ้" ซึ่งจะเป็นโปรตีนของสารต่างๆ เช่น เศษโปรตีนจาก ตัวไรฝุ่น, แมว, สุนัข, แมลงสาบ, สปอร์เชื้อรา, ละอองเกสรต่างๆ

โดยระบบภูมิต้านทานของผู้ป่วยสร้างสาร IgE ขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ตนแพ้ โดย IgE ที่สร้างขึ้นนี้จะเฉพาะเจาะจงต่อสารชนิดที่ตนแพ้เท่านั้น เมื่อมีสารชนิดที่ตนแพ้เข้าสู่ร่างกาย เช่น สูดหายใจ หรือรับประทานเข้าไปสาร IgE ที่เฉพาะเจาะจงนี้ จะเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว เป็นผลให้เซลล์บางชนิดภายในเยื่อบุโพรงจมูก มีการแตกตัว และหลั่งสารเคมีออกมา เกิดการอักเสบทั่วบริเวณนั้น และมีปฎิกิริยาลูกโซ่เกิดขึ้นอีกหลายขั้น เป็นผลให้มีอาการต่างๆ ของโรคตามมา ส่วนมลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง เป็นตัวกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ แต่ไม่ได้เป็นตัวการที่ทำให้ร่างกายเกิดการแพ้ จึงไม่จัดเป็นสารก่อภูมิแพ้

ขั้นตอนการวินัจฉัยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

เป็นการทดสอบว่ามีภูมิแพ้อยู่ในร่างกายหรือไม่ โดยการใช้น้ำยาที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยในเมืองไทย นำมาสะกิดหรือฉีดเข้า ในผิวหนัง ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะเกิดปฏิกิริยา บวมนูนแดงบริเวณที่ทดสอบภายใน 20 นาที การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังมี 2 วิธี

1.วิธีสะกิด (Skin Prick Test)
2.วิธีฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal Test)

การตรวจวัด และประเมินอาการคัดจมูก (Active Anterior Rhinomanometry)
เป็นการวัดปริมาตรของอากาศ ที่ผ่านจมูก และวัดความดันที่แตกต่างในช่องจมูกขณะหายใจ ช่วยในการตรวจวัด หรือประเมินอาการ คัดแน่นจมูกว่ามีอาการคัดแน่นจมูกจริง และเป็นข้างใดมากน้อยเพียงใด สามารถแยกสาเหตุของอาการคัดแน่นจมูกว่า เกิดจากการบวม ของเยื่อบุจมูก หรือเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างภายในจมูก หรือมีเนื้องอกในโพรงจมูก

การตรวจวัดโครงสร้างภายในของจมูก (Acoustic Rhinometry)
เป็นการตรวจวัดโครงสร้างภายในจมูกโดย อาศัยการสะท้อนของคลื่นเสียงที่ใส่เข้าไป หลักการทำงานของเครื่องมือ คือ ใช้เครื่องกำเนิดเสียงทำให้เกิดคลื่นเสียง ผ่านเข้าไปในช่องจมูกทีละข้างและวัดคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับออกมา (echoes) เมื่อกระทบกับโครงสร้างตำแหน่งต่าง ๆ ภายในช่องจมูก เครื่องคอมพิวเตอร์จะคำนวณพื้นที่หน้าตัดของช่องจมูก จากความเข้มข้น ของคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับออกมา และสามารถคำนวณระยะห่างจากรูจมูกเข้าไปถึงตำแหน่งที่วัดพื้นที่นั้น ๆ ได้ ทำให้สามารถบอก ตำแหน่งที่มีการอุดตันในช่องจมูกได้

การตรวจเซลล์ในเยื่อบุจมูก (Nasal cytology)
ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีเซลล์ชนิดหนึ่งในเยื่อบุจมูกมากกว่าคนปกติ เซลล์ชนิดนี้เรียกว่า มาสต์เซลล์หรือเบโสฟิล (Mast cells or Basophils) คนที่เป็นโรคภูมิแพ้เมื่อหายใจเอาสิ่งที่แพ้เข้าไป จะทำให้เซลล์เหล่านี้หลั่งสารออกมาทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น คันจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก การตรวจเซลล์นี้ทำได้ง่ายโดยใช้เครื่องมือเล็ก ๆ ขูดเยื่อบุจมูกชั้นผิว แล้วนำไปย้อมสีพิเศษ และตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

การทดสอบภูมิแพ้ภายในโพรงจมูก (Nasal Provocation Test)
เป็นการทดสอบหาสาเหตุที่แท้จริงของการแพ้ โดยนำสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ หยดลงบนกระดาษกรองพิเศษแล้ว นำไปวางไว้บน เยื่อบุจมูกของผู้ป่วย ทำให้ทราบว่าแพ้อะไรบ้าง และมีอาการแพ้ทางจมูกมากน้อยเท่าใด นอกจากนี้ยังสามรถวัด ความไวของเยื่อบุจมูกได้ด้วย

การส่องกล้องตรวจภายในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy)
เป็นการตรวจภายในโพรงจมูกด้วยกล้องเทเลสโคป ทำให้สามารถบอกสาเหตุของอาการเรื้อรังทางจมูก และปัญหาต่าง ๆ ในจมูกได้ ละเอียดและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รักษาได้ตรงจุดมากขึ้น การส่องกล้องตรวจภายในโพรงจมูกจะทำในผู้ที่มี

1. อาการเรื้อรังทางจมูกเป็นเวลานานรักษาแล้วไม่ดีขึ้นหรือ ยังไม่ทราบสาเหตุ
2. โครงสร้างจมูกผิดปกติ เช่นผนังกั้นช่องจมูกคด
3. ไซนัสอักเสบ และริดสีดวงจมูก
4. จมูกไม่ได้กลิ่น หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
5. คัดแน่นจมูก หายใจทางจมูกไม่ได้ ต้องอ้าปากหายใจ หายใจเสียงดัง นอนกรน
6. เลือดกำเดาไหล น้ำมูกปนเลือด หรือ เสมหะปนเลือด
7. สงสัยว่าจะมีเนื้องอกในโพรงจมูก โพรงไซนัส หรือมะเร็งหลังโพรงจมูก
8. หลังการผ่าตัดจมูกและไซนัส เพื่อติดตามการรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำ

ขั้นตอนการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

การรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ "แพ้อากาศ" นี้ สามารถกระทำได้ 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ที่เป็นสาเหตุของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะทราบได้จากผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
    วิธีการหลีกเลี่ยง จะขึ้นกับ ชนิดของสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ เช่น อาจใช้เครื่องฟอกอากาศ ห่อหุ้มเครื่องนอน ไม่เลี้ยงหรือเข้าใกล้สัตว์ชนิดที่ผู้ป่วยแพ้ ฯลฯ
  2. การรักษาด้วยยา แบ่งเป็น
    - ยารับประทาน : มักใช้เพื่อควบคุมอาการของโรคเท่านั้น ดังนั้นเมื่อหยุดรับประทานยา อาการจะกลับกำเริบได้อีก
    - ยาพ่นจมูก : โดยเลือกใช้ยาพ่นกลุ่มที่รักษาการอักเสบที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแพ้
    ข้อดีของยาพ่นจมูกชนิดนี้คือ ปริมาณยาที่ใช้น้อยมากเมื่อเทียบกับยากิน, และยาเข้าสู่บริเวณที่เกิดโรคโดยตรง และออกฤทธิ์ต้าน การอักเสบ ของเซลล์ ยาชนิดนี้จึงควรใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่พ่นเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น (ยาพ่นจมูกกลุ่มที่ใช้พ่นเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก เป็นยากลุ่มที่ไม่ได้นำมาใช้เป็นประจำในการรักษาโรคแพ้อากาศ เพราะถ้าใช้ต่อเนื่องจะทำให้เกิดการติดยา)
  3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ( Immunotherapy, allergy shot ) เป็นการปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วย ให้ลดการเกิดปฏิกิริยาต่อสารที่เคยแพ้ลงไปเรื่อย ๆ จนถึงไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เมื่อได้รับสารที่เคยแพ้เข้า สู่ร่างกายอีก การรักษาวิธีนี้จะทำให้โรคมีโอกาสหายได้

ด้วยการรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธีดังกล่าว ทำให้แพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ (Allergist) สามารถควบคุมอาการ และรักษา โรคโพรงจมูกอักเสบ จากภูมิแพ้นี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

เยื่อบุจมูกอักเสบจากเครื่องปรับอากาศ
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เยื่อบุจมูกอักเสบ (rhinitis) เกิดจากหลายสาเหตุ สิ่งแวดล้อมก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูกได้ ผู้ป่วยบางรายเมื่อสัมผัสกับอากาศที่เย็นและแห้ง (cold, dry air) จากเครื่องปรับอากาศ อาจมีอาการคัดจมูก, คัน, จาม, น้ำมูกไหล หรือแสบจมูก ขณะที่คนบางคนไม่มีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) ซึ่งเยื่อบุจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นทั้งหลายมากผิดปกติ จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออากาศที่เย็นและแห้งจากเครื่องปรับอากาศมากกว่าคนปกติ

อุบัติการณ์ของโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากอากาศเย็นและแห้งจากเครื่องปรับอากาศ ไม่ทราบแน่ชัดก่อนหน้านี้ ประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้มากนัก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนและชื้น แต่เนื่องจากสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นทุกปี จากภาวะโลกร้อน ทำให้มนุษย์เราอยู่ในห้องซึ่งมีเครื่องปรับอากาศมากขึ้น อากาศจากเครื่องปรับอากาศเป็นอากาศที่แห้งและเย็น จึงทำให้ปัญหาเยื่อบุจมูกอักเสบจากเครื่องปรับอากาศ (air conditioner–induced rhinitis) หรืออากาศเย็นและแห้ง (cold dry, air-induced rhinitis) พบได้บ่อยขึ้น ในต่างประเทศจะพบโรคกลุ่มนี้ได้บ่อยในผู้ที่นิยมเล่นสกี ซึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อากาศ เย็นและแห้ง โดยเฉพาะในขณะที่ต่อแถวเพื่อขึ้นเขาไปเล่นสกี ผู้ที่เป็นโรคนี้มักถือกระดาษชำระเพื่อเช็ดน้ำมูกที่ไหลออกมา

พยาธิสรีรวิทยาของโรค
จมูกมีหน้าที่ปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้น (warm and humidify air) ก่อนอากาศที่หายใจเข้าไป จะลงไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หลอดลม และปอด โดยการเพิ่มพื้นที่ผิวของเยื่อบุจมูกในการให้น้ำและความร้อนแก่อากาศที่หายใจเข้าไป ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ผิวของเยื่อบุจมูก ก็จะทำให้เยื่อบุจมูกบวมขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูกมากขึ้น นอกจากนั้นเมื่อเราหายใจเอาอากาศที่เย็นและแห้ง จะมีการสูญเสียความร้อนจากเยื่อบุจมูก ทำให้อุณหภูมิของเยื่อบุจมูกลดลง (mucosal cooling) (รูปที่ 1) อุณหภูมิที่ลดลงของเยื่อบุจมูกสามารถกระตุ้นเส้นประสาทภายใต้เยื่อจมูกได้ ซึ่งทั้งเส้นเลือด และต่อมสร้างน้ำมูกก็มีเส้นประสาทมาเลี้ยงด้วย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัน, จาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหลได้ นอกจากนั้นน้ำที่ระเหยขึ้นจากเยื่อบุจมูก จะทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง (รูปที่ 1) ปกติเยื่อบุจมูกจะมีชั้นของน้ำปกคลุมที่เยื่อบุจมูก (nasal epithelial lining fluid) เมื่อมีการระเหยของน้ำที่เยื่อบุผิว ทำให้ชั้นน้ำที่ปกคลุมผิวเยื่อบุจมูกมีความเข้มข้นมากขึ้น (hyperosmolarity of nasal secretion) ซึ่งภาวะเข้มข้นของน้ำที่ปกคลุมผิวจมูก สามารถกระตุ้นมาสต์เซลล์ (mast cell) ในเยื่อบุผิวจมูกให้หลั่งสารฮิสทามีน (histamine) และสารเมดิเอเตอร์ (mediators) อื่นๆออกมา ซึ่งสารฮิสทามีนนี้สามารถกระตุ้น

เส้นเลือดใต้เยื่อบุผิวจมูก (submucosal blood vessels) ทำให้เส้นเลือดเหล่านี้ขยายตัว มีสารน้ำออกมานอกเส้นเลือด ทำให้เยื่อบุจมูกบวม ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก
เส้นประสาท (nerves) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัน, จาม, แสบ หรือปวดจมูกได้
ต่อมสร้างน้ำมูก (secretory glands) ทำให้มีน้ำมูกไหลออกมาจากจมูก หรือไหลลงคอกลายเป็นเสมหะได้

นอกจากนั้นชั้นน้ำที่ปกคลุมผิวเยื่อบุจมูกที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ก็สามารถกระตุ้นเส้นประสาทโดยตรง ทำให้มีอาการดังกล่าวข้างต้นได้ และเมื่อเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยสัมผัสกับอากาศที่แห้งและเย็นไปเรื่อยๆ เกินความสามารถของเยื่อบุจมูกที่จะชดเชยการสูญเสียน้ำและความร้อน อาจทำให้เยื่อบุจมูกแห้งมาก และเกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุจมูก และทำให้เซลล์ของเยื่อบุจมูกหลุดลอกและทำงานผิดปกติ ซึ่งมีผลให้การเคลื่อนที่ของสารต่างๆ ผ่านเยื่อบุจมูกมีการเปลี่ยนแปลงไป

ความผิดปกติของการสัมผัสอากาศเย็นและแห้งดังกล่าว จะเกิดกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความไวต่ออากาศเย็นและแห้งมากกว่าปกติ (cold, dry air hypersensitivity) แต่จะไม่เกิดกับคนปกติ (cold, dry air non-sensitivity) ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เยื่อบุจมูกของผู้ป่วยมีความไวต่ออากาศที่แห้งและเย็นมากกว่าคนปกติ แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากความสามารถของเยื่อบุจมูกในการปรับอากาศให้อุ่นและชื้นของทั้ง 2 กลุ่มไม่เท่ากัน กล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีความไวของจมูกต่ออากาศที่เย็นและแห้งมากกว่าปกติ ไม่สามารถชดเชยการสูญเสียน้ำและความร้อนขณะสัมผัสกับอากาศที่แห้งและเย็น ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุจมูก ขณะที่คนปกติซึ่งไม่มีความไวต่ออากาศที่เย็นและแห้ง อาจมีน้ำและความร้อนเพียงพอที่จะปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้นได้ ขณะสัมผัสกับอากาศที่เย็นและแห้ง ทำให้เยื่อบุจมูกของกลุ่มคนดังกล่าวไม่มีปฏิกิริยาต่ออากาศที่แห้งและเย็น

การรักษาประกอบด้วย การใช้ยาบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นการแก้ปลายเหตุ ได้แก่

 1. ยาต้านฮิสทามีน (antihistamines) ใช้ได้ผลดีในการบรรเทาอาการที่เกิดจากฮิสทามีนเช่น คัน,จาม, น้ำมูกไหล,คัน เคืองตา แต่ได้ผลน้อยกับอาการคัดจมูก

2. ยาหดหลอดเลือด (decongestant) ใช้เพื่อลดอาการคัดจมูกเป็นหลัก มีทั้งชนิดพ่น/หยอดจมูก(ยา Otrivin) และชนิดกิน ยาชนิดพ่น/หยอดจมูก ออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชนิดกิน คือออกฤทธิ์ได้ภายใน 5-10 นาทีหลังพ่น/หยอดยา ข้อเสียที่พบในชนิดพ่น/หยอดจมูกคือ การใช้ต่อเนื่องนานเกิน 5 วัน อาจทำให้เกิดอาการกลับมาคัดแน่นจมูกมากขึ้นหลังหยุดยาตามมาได้ นอกจากนั้น อาจทำให้ระคายเคืองจมูก และทำให้มีน้ำมูกเพิ่มขึ้นได้ แต่สามารถให้ยาชนิดพ่น/หยอดจมูก ได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูกมาก ยาชนิดกินออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังกิน ไม่ทำให้เกิดอาการกลับมาคัดแน่นจมูกมากขึ้นหลังหยุดยา แต่ฤทธิ์ลดอาการคัดจมูกจะน้อยกว่าชนิดพ่น/หยอดจมูก ควรใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดกิน อย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้คือ กระสับกระส่าย, หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ, เวียนศีรษะ, ปวดหัว, มือสั่น, นอนไม่หลับ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดกิน ในผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน, ต่อมลูกหมากโต, ไทรอยด์เป็นพิษ, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยมีปัญหาทางจิต, ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และมากกว่า 60 ปี

              ปัจจุบันยังมียาต้านฮิสทามีนผสมกับยาหดหลอดเลือด (antihistamines + decongestants) ด้วย จุดประสงค์ของการผสมยาทั้ง 2 ชนิดเข้าด้วยกัน คือ ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งยาต้านฮิสทามีนมีฤทธิ์ดังกล่าวน้อย นอกจากนั้น ถ้ายาต้านฮิสทามีนเป็นชนิดที่ทำให้ง่วง ยาหดหลอดเลือดที่ผสมกันอาจช่วยลดอาการง่วงได้ ยาผสมชนิดนี้สามารถให้ได้ ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการคัน, จาม, น้ำมูกไหล ร่วมกับอาการคัดจมูก ข้อดีคือไม่ต้องสั่งยาให้ผู้ป่วยถึง 2 ชนิด (คือ ยาต้านฮิสทามีนและ ยาหดหลอดเลือด) ซึ่งจะเพิ่มความร่วมมือของผู้ป่วยในการกิน แต่ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องเป็นประจำ เนื่องจากอาจมีผลที่ไม่พึงประสงค์ของยาหดหลอดเลือดได้

3. ยาสเตียรอยด์ (corticosteroids) สามารถให้ได้ทั้งชนิดพ่นจมูก (nasal corticosteroids) และชนิดกิน (oral corticosteroids)

                  3.1) ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก จมูก เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยสามารถลดอาการทางจมูกได้ทุกอาการ ได้แก่ อาการคันจมูก, จาม, น้ำมูกไหล และคัดแน่นจมูก และลดอาการทางตาได้ด้วย นอกจากนั้นสามารถใช้เพื่อป้องกันอาการดังกล่าวได้ด้วย แนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเป็นลำดับแรกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่มีอาการคัดจมูกเด่น เนื่องจากยาสเตียรอยด์พ่นจมูกออกฤทธิ์ลดการอักเสบจากภูมิแพ้โดยมีผลต่อการ สังเคราะห์โปรตีนของเซลล์ ดังนั้นยาจะเริ่มออกฤทธิ์ช้าประมาณ 7-8 ชม. และยาจะมีประสิทธิผลเต็มที่หลังจากใช้ยาอย่างสม่ำเสมอนาน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยบางราย ยาอาจเริ่มออกฤทธิ์เร็วกว่านี้ คือภายใน 2 ชม. หลังพ่นยา ทำให้การใช้ยาเฉพาะเวลามีอาการก็ยังให้ผลการรักษาที่ดีในผู้ป่วยบางราย แต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะออกฤทธิ์เฉพาะที่สูง โดยมีความเข้มข้นของยาสูงที่เยื่อบุจมูก และมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่ำมาก จึงมีผลข้างเคียงน้อย การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกโดยทั่วไปในขนาดแนะนำไม่พบผลข้างเคียงทั่วร่างกาย ชัดเจน และมีความปลอดภัยสูง ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอาจเกิดผลข้างเคียงเฉพาะที่ได้ เช่น จาม, แสบร้อน, เกิดสะเก็ดในโพรงจมูก, จมูกแห้ง, ระคายเยื่อบุจมูกหลังพ่นยา หรือทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้ แต่ไม่เกิดเยื่อบุจมูกฝ่อหลังใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายปี

                  3.2) ยาสเตียรอยด์ชนิดกิน มีข้อบ่งชี้ในการใช้รักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้คือ
    1. ในรายที่มีอาการคัดจมูกมาก ซึ่งทำให้การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกได้ผลไม่ดี เนื่องจากยาไม่ สามารถเข้าไปในจมูกได้ทั่วถึง หรือมีอาการรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อยาอื่น
    2. ในรายที่มีภาวะจมูกไม่ได้กลิ่นร่วมด้วย
    3. ในรายที่มีริดสีดวงจมูกเล็กๆ ร่วมด้วย และให้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินเพื่อกำจัดริดสีดวงจมูก
    4. ในรายที่มีเยื่อบุจมูกอักเสบจากการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดพ่น/หยอดจมูกนานเกินไป

4. Topical anticholinergic drugเช่น ipratropium bromide ใช้ลดอาการน้ำมูกไหลเป็นหลัก ไม่มีผลต่ออาการจามหรือคัดจมูก ไม่นิยมใช้เป็นยาอันดับแรก โดยมักใช้เป็นยาทางเลือกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการน้ำมูกไหล เรื้อรังที่ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกและยาต้านฮิสทามีนแล้วอาการน้ำมูกไหลไม่ ดีขึ้น หรือในรายที่อาการสำคัญของผู้ป่วยคือ น้ำมูกไหล การใช้ยาพ่นนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการจมูกแห้ง, เลือดกำเดาไหล, อาการปัสสาวะคั่ง, ต้อหินได้ แต่พบได้น้อย

5. Cromones (sodium cromoglycate, nedocromil) ใช้ ได้ผลบ้างในการบรรเทาอาการที่เกิดจากฮิสทามีนเช่น คัน,จาม, น้ำมูกไหล,คัน เป็นยาที่ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย ในปัจจุบันยานี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

6. Antileukotrienes ใช่วยลดอาการคัด จมูกเป็นหลัก อาจใช้ยาชนิดนี้เสริมในกรณีให้ยาชนิดอื่นๆ ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น และเป็นยาที่ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดร่วมกับโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

ดังนั้นเราผู้ซึ่งต้องสัมผัสอากาศที่แห้งและเย็นจากเครื่องปรับอากาศมากขึ้นและนานขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน จะป้องกันการอักเสบของเยื่อบุจมูกจากเครื่องปรับอากาศอย่างไรดี

พ่นจมูกด้วยน้ำเกลืออยู่เสมอ ขณะอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือต้องสัมผัสกับอากาศที่แห้งและเย็น เพื่อให้เยื่อบุจมูกชุ่มชื้นอยู่เสมอ จะได้ไม่แห้ง
เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมให้ถูกสุขลักษณะ ถ้าต้องการเปิดเครื่องปรับอากาศ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมพอสมควร หรือไม่ให้อยู่ในทิศทางของลม ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมจ่อ
อาจนำภาชนะปากกว้างที่มีน้ำ มาวางไว้ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะห้องนอน ซึ่งเราต้องใช้เวลาอยู่ค่อนข้างนาน (6-8 ชั่วโมง) หรืออาจซื้อเครื่องปรับอากาศให้อุ่นและชื้น(humidifier) มาตั้งเปิดไว้
ดื่มน้ำในปริมาณที่มากพอ หรือจิบน้ำบ่อยๆ ในระหว่างอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือต้องสัมผัสอากาศเย็นและแห้ง

ที่มา : Siriraj E-Public Library

ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช Mail: sinurse.it@gmail.com

20 วิธีพิชิตโรคภูมิแพ้

หากอาการน้ำมูกไหล จมูกฟึดฟัด จาม และคันจากโรคภูมิแพ้เป็นหนัก ทำให้คุณต้องชื้อกระดาษทิชชูมาตุนไว้เต็มบ้าน เพื่อรับมือกับ อาการเหล่านี้ คุณน่าจะหันมาปรับเปลี่ยนร่างกาย ให้ทำสงครามตอบโต้การโจมตีจาก โรคภูมิแพ้ที่ทำเอาคุณย่ำแย่มานานปีเสียที จะได้จบสิ้นอาการ ที่น่า รำคาญ ลงได้ ภาวะภูมิแพ้อาจไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน 20 วิธีต่อไปนี้ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ใช้ ป้องกันตัวเองจากโรคนี้

1. เลือกกินเนื้อไก่แทนเนื้อวัว ผลงานวิจัยโครงการ 2 ปี ที่ศึกษาผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหวัดแพ้อากาศ 334 ราย และผู้ที่ปกติดี 1,336 ราย พบว่า ผู้ที่ได้รับกรดไขมันแปรรูปทรานส์โอเลอิก (รูปแบบหนึ่งของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว) ในอาหารโดยเฉพาะเนื้อวัว และผลิตภัณฑ์จาก นมวัว ปริมาณสูงสุด มีแนวโน้มเป็นโรคหวัดแพ้อากาศมากเป็น 3 เท่าของผู้ที่ได้รับ กรดไขมันดังกล่าว ในปริมาณต่ำสุด โชคยังดีที่น้ำมันมะกอก แม้จะมีกรดโอเลอิกอยู่มากแต่ก็ไม่ได้อยู่ในรูปของไขมันแปรรูปหรือ ไขมันทรานส์

2. กินน้ำมันปลาหนึ่งเม็ดเป็นอาหารเสริมทุกเช้าหลังแปรงฟัน การศึกษาผู้ที่เป็นโรคหอบหืดชนิดเกิดจาก ภูมิแพ้ พบว่าผู้ที่กินน้ำมันปลา เป็นประจำทุกวันนาน 1 เดือนจะมีระดับลูไคไทรอีนส์ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ลดลง

3. เปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะไม่เพียงช่วยขจัดความชื้น ซึ่งอาจก่อเชื้อรา แต่ยังกรองสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้ามาในบ้าน หมั่นทำความ สะอาด หรือเปลี่ยนที่กรองบ่อยๆ มิฉะนั้นอาจกลับทำให้แย่ลงได้

4. กินกีวี 1 ผลทุกเช้า วิตามินซีในผลกีวีเป็นสารต้านฮิสตามีนตามธรรมชาติ การศึกษาบางชิ้นพบว่าการมีระดับวิตามินซีต่ำ มักทำให้เกิดภูมิแพ้ จึงควรกินวิตามันซีเสริมทันทีเมื่อมีอาการกำเริบ เราอาจเลือกผลไม้อื่นที่มีวิตามินซีสูงเช่น มะขามป้อม

5. ทำความสะอาดเครื่องเรือนและพรมด้วยเครื่องดูดฝุ่นไอน้ำ เติมสารละลายไดโซเดียมออกตาบอเรตเตตร้าไฮเดรต หรือ ดีโอที ซึ่งได้จาก ธาตุโบรอนลงในน้ำด้วย วารสารAllergy ฉบับปี 2547 ตีพิมพ์ผลการศึกษาหนึ่งว่า สารดีโอทีช่วยลดปริมาณตัวไรฝุ่น และลดสารภูมิแพ้จาก ไรฝุ่น ลงในระดับที่ปลอดปฏิกิริยาต่อร่างกายได้นาน 6 เดือน

6. กินเคอร์ซิทินขนาด 250 มก. วันละ 3 เม็ด สารเสริมที่สกัดจากธรรมชาติชนิดนี้นับเป็นฟลาโวนอยด์ หรือสารจากพืชที่มีสรรพคุณ ต้านการอักเสบ เป็นยาแก้โรคภูมิแพ้จากสารธรรมชาติที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

7. หมั่นทำความสะอาดรางน้ำไม่ให้อุดตัน เพราะจะเป็นที่เติบโตของเชื้อราซึ่งเป็นตัวทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบหนักขึ้น

8. เปิดพัดลมดูดอากาศขณะอาบน้ำหรือเปิดหน้าต่างให้มีอากาศถ่ายเทอยู่เสมอ หลังการอาบน้ำ หมั่นดูแลห้องน้ำให้แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อรามีโอกาศเจริญเติบโต

9. ใช้น้ำร้อนล้างม่านกันส่วนอาบน้ำ และนำออกซักด้วยน้ำยาฟอกขาวทุกเดือน รวมถึงถอดฝักบัวอาบน้ำออกทำความสะอาดทุก 2-3 เดือน

10. เปิดหน้าต่างรับแสงแดดในฤดูหนาว แสงแดดธรรมชาติช่วยขับไล่ความชื้น ทำให้อากาศแห้ง ไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโต ของเชื้อรา

11. ซักเครื่องนอนในน้ำร้อนทุกสัปดาห์ นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดไรฝุ่นตัวจิ๋วที่น่ารำคาญ ซึ่งพิสมัยเตียงนอนของคุณ มากกว่าเจ้าของเตียงเสียอีก

12. ตามไปดูที่ปลายช่องระบายอากาศของเครื่องอบผ้า ให้แน่ใจว่ามันยื่นออกไปนอกบ้าน ในกระบวนการอบผ้าหลัง การซักทุกครั้ง จะมีความชื้นราว 20 ปอนด์ เล็ดลอดออกไปอยู่ที่ไหนสักแห่ง ควรตามท่อไปดูว่าเชื้อราได้ก่อตัวอยู่ตรง บริเวณช่องระบายอากาศนั้นหรือไม่

13. ทำความสะอาดถาดรองน้ำใต้ตู้เย็นด้วยสารฟอกขาวแล้วโรยเกลือ การเติมเกลือลงไป ช่วยลดอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ

14. รดน้ำไม้กระถางแต่พอประมาณ อย่าลืมโรยก้อนกรวดบนหน้าดินในกระถางทุกใบ เพื่อป้องกันไม่ให้สปอร์เชื้อราลอยฟุ้งขึ้น ไปในอากาศ

15. ใช้เวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์จัดเก็บบ้านให้สะอาด โละเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่คุณไม่เคยใช้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทิ้งไป ย้ายอุปกรณ์กีฬาให้เข้าที่เข้าทาง ทำความสะอาดรองเท้าทุกคู่ เก็บใส่ถุงแขวนให้เป็นระเบียบ เมื่อทำเสร็จคุณจะมองเห็น พื้นตู้และฝาหลังตู้ได้อีกครั้ง ที่นี้ดูดฝุ่นทุกสิ่งทุกอย่างให้สะอาด ปริมาณฝุ่นในบ้านจะลดลงมากทีเดียว

16. ปิดประตูห้องนอนไม่ให้สุนัขและแมวเข้ามาได้ วิธีนี้ช่วยลดรังแคหรือสะเก็ดผิวหนังแมวและสุนัขที่หลายคนมีอาการแพ้ได้ดี

17. เลือกพรมเช็ดเท้าชนิดที่ทำจากสารสังเคราะห์ พรมเช็ดเท้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ(พวกเครื่องจักรสาน) อาจเปื่อยหรือ ผุจนกลายเป็น แหล่งอาหารของเห็บหมัด หรือเชื้อรา จนกระทั่งมันมาสถิตย์อยู่ในบ้าน จึงควรซักล้างพรมเช็ดเท้าทุกอาทิตย์ฃ

18. ทำความสะอาดเศษแมลวที่ค้างอยู่ที่ระเบียงหรือซุ้มประตูทางเข้าบ้าน เมื่อเศษแมลงย่อยสลาย มันจะกลายเป็น แหล่งสารก่อภูมิแพ้เลยทีเดียว

19. ทำชั้นวางรองเท้าไว้หน้าบ้าน และถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน เพื่อลดปริมาณฝุ่น เชื้อราและสารก่อภูมิแพ้อื่นๆที่อาจติดเข้ามา

20. อ่านฉลากให้ดี หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่สารเติมแต่งชนิดโมโนโซเดียมเบนโซเอต มีกรณีศึกษาของอิตาลีพบว่า สารชนิดนี้สามารถกระตุ้น ให้เกิดอาการคล้ายอาการภูมิแพ้ เช่น น้ำมูกไหล จาม แน่นจมูก ในกลุ่มผู้ที่ได้ได้เป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน นอกจากนี้ยังมักพบสารกันบูดในน้ำส้มคั้น ใส้ขนมพาย อาหารดอง มะกอก และน้ำสลัดอีกด้วย

บอกลาภูมิแพ้

"โรคภูมิแพ้" หรือ ภาวะภูมิต้านทานไวเกิน หรือ Allergy มาจากภาษากรีก โบราณซึ่งหมายถึง การหายใจแรง เป็นภาวะที่ร่างกาย มีการตอบสนองที่มากเกินไปต่อสิ่งที่มากระตุ้นซึ่งจะเรียกว่า "สารก่อภูมิแพ้" ในคนแต่ละคน สารก่อภูมิแพ้อาจจะเป็นสารต่างชนิดกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีภาวะภูมิต้านทานอ่อนแอไปด้วย เนื่องจากระบบภูมิต้านทานถูกกระตุ้นให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เรื้อรัง ก็จะเป็นผู้ที่ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย และ นำไปสู่โรคหอบหืด โพรงไซนัสอักเสบ และ ทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรังได้การรับสารก่อภูมิแพ้ มีได้ หลายรูปแบบ ตั้งแต่เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนัง การรับสารก่อภูมิแพ้ทางลมหายใจ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของฝุ่น ไรฝุ่น หรือ ละอองเกสร การรับสารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร เป็นต้นในร่างกายของเรา จะมีเซลล์ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องภูมิแพ้ มีชื่อว่า Mast Cell

ซึ่งเป็นเซลล์ที่จะมีปฏิกิริยาเฉพาะเจาะจงกับสารก่อภูมิแพ้ในแต่ละคน บนพื้นผิวของ Mast Cell จะมีตัวรับ (Receptors) ที่ทำหน้าที่คล้ายเสาอากาศ ถ้าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้เพียงอย่างเดียวก็จะมีตัวรับบนผิวเซลล์แบบเดียว แต่ถ้าแพ้หลายอย่าง บน Mast Cell ก็จะมีตัวรับหลาย ๆ แบบเมื่อ Mast Cell ได้รับสารก่อภูมิแพ้ ที่จำเพาะเจาะจงกับตัวรับ Mast Cell ก็จะถูก กระตุ้นให้มีการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ออกมา ซึ่งจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ กันต่อร่างกาย ตั้งแต่ น้ำมูก น้ำตาไหล ไอ จาม อักเสบ บวม แดง อาการมีทั้งแบบเฉียบพลัน และ อักเสบแบบเรื้อรังไปเรื่อย ๆด้วยแพทย์ทางเลือกในปัจจุบัน มีการนำเอาสารสกัดหลายชนิด มาช่วยในเรื่องโรคภูมิแพ้ สารธรรมชาติเหล่านี้ มีกลไกหลัก ๆ ในการทำให้ Mast Cell มีความคงตัว ไม่ไวต่อการถูกกระตุ้น โดยสารก่อภูมิแพ้ จึงไม่ทำให้สารฮีสตามีน ถูกหลั่งออกมา ซึ่งต่างกับยารักษาอาการภูมิแพ้ ซึ่งเป็นยาต้านฮีสตามีน (Anti-His-tamine) เมื่อใช้สารสกัดเหล่านี้ จะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยมีภาวะภูมิต้านทานไวเกินได้ และ เมื่อฮีสตามีน ไม่ถูกหลั่งออกมา ก็จะไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้น

สารอาหารสำหรับโรคภูมิแพ้

สารธรรมชาติในสูตรของแพทย์ทางเลือกเพื่อช่วยอาการภูมิแพ้มีดังนี้

• สารสกัดจากพลูคาว กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน จาก Mast Cell ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริม และ งูสวัด
• สารสกัดจากมะขามป้อม ( Emblica Extract) มีวิตามินซีสูงมาก แพทย์ตามตำรับอายุรเวทแนะนำให้ใช้สารสกัดจากมะขามป้อมในผู้ป่วยไอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ และ โรคทางเดินหายใจ
• เบต้า กลูเคน (Beta Glucan) สารสกัดจากยีสต์ โดยเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Engi-neering) ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นภูมิต้านทาน ทำให้เม็ดเลือดขาวจำ และ ทำลายเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเชื้อแบคทีเรีย และ เชื้อไวรัส มีการวิจัยมากมายในการใช้เบต้า กลูแคน ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ หรือ บกพร่อง ป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ลดอาการ ระยะเวลา และความรุนแรงของการเป็นหวัด และไข้หวัดใหญ่
• วิตามินซี (Ascorbic Aced) ช่วยลดอาการอักเสบ ปกป้องเนื้อเยื่อปอด และ ถุงลมปอดทำให้ปอดฟอกอากาศได้ดียิ่งขึ้น
การใช้สารต้านอาการภูมิแพ้ใด ๆ ก็ตาม จะเห็นผลดียิ่งขึ้น หากมีการใช้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นร่วมด้วย มีรายงานการวิจัยมากมาย พบว่า สาร OPC ในเมล็ดองุ่น ทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นเนื่องจากรับประทานสาร OPC จะทำให้มีการผลิตฮีสตามีน้อยลง จึงลดความรุนแรงของอาการแพ้ลงได้วิธีใช้สารธรรมชาติเหล่านี้ในการช่วยอาการภูมิแพ้ แนะนำให้บริโภค ก่อนเกิดอาการแพ้ก่อนฤดูการเกิดไข้หวัดใหญ่หรือ ฤดูที่โรคทางเดินหายใจระบาด อย่างน้อย 2 สัปดาห์

แพ้อากาศ อาการของโรคภูมิแพ้ การทดสอบภูมิแพ้ การรักษา ยาที่ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ แพ้แบบรุนแรง ลมพิษ แพ้ยาง แพ้อาหาร แพ้แมลง ผื่นแพ้จากการสัมผัส ตาอักเสบจากการแพ้
เยื่อบุจมูกอักเสบหมายถึงภาวะที่เยื่อบุจมูก มีการอักเสบและบวมทำให้เกิดอาการดังนี้ จาม คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล นอกจากนั้นอาจจะมีอาการทางเยื่อบุตาอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือคออักเสบ สำหรับสาเหตุของเยื่อบุจมูกอักเสบพบว่าเกิดจากโรคภูมิแพ้เป็นส่วนใหญ่ สาเหตุของเยื่อบุจมูกอักเสบอาจจะเกิดจากภูมิแพ้ หรือมิใช่ภูมิแพ้ก็ได้

กลไกการเกิดโรค

โรคที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ เมื่อร่างกายได้รับสารภูมิแพ้ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง ภูมิชนิด IgE ภูมินี้จะไปกระตุ้น Mast cell (เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) ทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารเคมีหลายชนิด เช่น histamin,prostaglandin สารเหล่านี้ทำให้เกิด อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล

ผลของโรคภูมิแพ้

แม้ว่าโรคนี้จะไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่หากเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบรุนแรงอาจจะทำให้เกิด anaphylaxis นอกจากนั้นเรา อาจจะพบโรคร่วม เช่น ไซนัสอักเสบ โรคหอบหืด หูชั้นกลางอักเสบ ผิวหนังอักเสบ
• มีโรคแทรกซ้อนซึ่งอาจจะทำให้เกิดผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น เช่น โรคไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เพราะฉนั้นหากมีอาการคัดจมูกเรื้อรังต้องระวังโรคแทรกซ้อนเหล่านี้
• โรคภูมิแพ้อาจจะมีโรคร่วมเช่น โรคหอบหืด ผิวหนังอักเสบ polyp หากไม่รักษาโรคภูมิแพ้จะทำให้โรคร่วมเหล่านี้ไม่หาย
• โรคภูมิแพ้อาจจะทำให้คุณภาพชีวิตเสียไปเช่นง่วงซึมจากยา ขาดเรียน เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้

1. อาการของโรคภูมิแพ้
• อาการที่เริ่มเป็นโรคภูมิแพ้ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดเมื่ออายุ 20 ปีแต่ก็มีผู้ป่วยที่เริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อย และเป็นต่อเนื่องจนวัยหนุ่ม
• อาการภูมิแพ้เป็นทั้งปี( perennial rhinitis )หรือเป็นเฉพาะฤดู( seasonal rhinitis ) หรืออาจจะเป็นทั้งสองแบบผสมกัน อาการภูมิแพ้เป็นทั้งวัน หรือเป็นเฉพาะเจอเหตุการณ์ที่พิเศษ การเป็นคนช่างสังเกตจะช่วยให้ช่วยในการวินิจฉัยโรค
• เมื่อเวลาเป็นภูมิแพ้มีอาการที่อวัยวะไหนบ้าง ส่วนใหญ่จะมีอาการคันจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม แต่บางคนจะมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล
2. ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้
• ทราบปัจจัยกระตุ้นอาการภูมิแพ้หรือไม่ เช่นเมื่อเจอฝุ่น หรือเกิดอาการเมื่อจุดธูป หรือแพ้ขนสัตว์ หากสิ่งที่สงสัย
ว่าจะเป็นภูมิแพ้แล้วเกิดอาการแสดงว่าแพ้สิ่งนั้น
• อาการภูมิแพ้อาจจะเป็นมากขึ้นหากสัมผัสสารระคายเคืองเช่น ควันบุหรี่ กลิ่นสี กลิ่นแรงๆ
• ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ตลอดปีมักจะแพ้ ไรฝุ่น หรือแพ้ขนสัตว์
3. การตอบสนองต่อการรักษา
• หากตอบสนองการรักษาด้วยยาแก้แพ้ antihistamine ได้ผลดีก็จะช่วยในการวินิจฉัย แต่ผู้ป่วยที่คัดจมูกโดยที่ไม่ใช่
โรคภูมิแพ้ก็ตอบสนองต่อยาแก้แพ้
• หากตอบสนองต่อยาพ่นจมูก steroid แสดงว่าเกิดจากภูมิแพ้
4. หาโรคร่วม
• ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักจะมีโรคร่วม เช่น ผิวหนังอักเสบ โรคหอบหืด หากไม่ควบคุมอาการภูมิแพ้จะทำให้โรคหอบหืด หรือโรคผิวหนังกำเริบ
• ค้นหาโรคแทรกซ้อน เช่นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคนอนกรน ฟันกร่อนเนื่องจากนอนกัดฟัน ริดสีดวงจมูก (nasal polyp)
• มีโรคหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย
5. ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว
• ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็มีโอกาศเป็นโรคภูมิแพ้สูง
• ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจจะไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เนื่องจากอาจจะมีปัจจัยอย่างอื่น
6. สิ่งแวดล้อม
• ให้สังเกตสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ทั้งปี เช่น ปัจจัยที่ทำให้เกิดไรฝุ่น รา สัตว์เลี้ยง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ภูมิแพ้ เช่น อาชีพเกี่ยวกับพรม ความร้อน ความชื้น
• สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานหรือโรงเรียนที่อาจจะทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น การทำงาน เกี่ยวข้องกับสัตว์ความชื้น เกสรดอกไม้เป็นต้น

คนที่เป็นภูมิแพ้จะมีลักษณะอย่างไร

ผู้ที่เป็นภูมิแพ้จะมีขอบตาดำเนื่องจากการขยายของเส้นเลือดรอบดวงตา เนื่องจากจะคันจมูกบ่อย ผู้ป่วยจะขยี้จมูก ทำให้เกิดรอยขวาง ส่วนปลายจมูก
• เมื่อส่องดูรูจมูกจะพบว่าเยื่อจมูกบวมสีแดง บางคนอาจจะซีดหรือสีม่วงคล้ำ ลักษณะน้ำมูกก็ช่วยบอกโรคได้เช่น หากน้ำมูกใส ก็น่าจะเป็นภูมิแพ้ หากมีน้ำมูกข้างเดียว สีเหมือนหนองก็น่าจะเป็นไซนัสอักเสบ
• อาจจะมีการอักเสบของหู แก้วหูอาจจะทะลุทำให้ผู้ป่วยได้ยินไม่ชัด
• เยื่อบุตาอาจจะแดง และบวมเนื่องจากภูมิแพ้

สาเหตุของอาการคัดจมูก

สาเหตุของโรคภูมิแพ้ขึ้นกับชนิดของโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยบางคนอาจจะแพ้สารภูมิแพ้หลายอย่างทำให้มีอาการภูมิแพ้ทั้งปี และเมื่อได้รับสารกระตุ้นจะทำให้อาการกำเริบเป็นระยะ สาเหตุของโรคภูมิแพ้จะขึ้นกับชนิดของโรคภูมิแพ้ Allergic Rhinitis

perennial allergic rhinitis
อาการของผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลทั้งปี อาการคันคอ จาม น้ำมูกไหลจะน้อยกว่า seasoning rhinitis
เป็นภูมิแพ้ที่เกิดจากสารภูมิแพ้ที่อยู่ในบ้าน แต่ก็อาจจะเกิดจากสารภูมิแพ้นอกบ้านที่มีอยู่ตลอดปี สารภูมิแพ้ได้แก่
• ไรฝุ่น
• สัตว์เลี้ยง
• แมลงสาบ
• หนู

seasonal allergic rhinitis
เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดตามฤดูการ ส่วนใหญ่เกิดจากสารภูมิแพ้นอกบ้านที่เกิดตามฤดู
• เกษรดอกไม้ ดอกหญ้า
• เชื้อรานอกบ้าน
อาการที่สำคัญของโรค seasoning allergic rhinitis
• อาการคันจมูกเป็นอาการสำคัญ นอกจากนั้นอาจจะคันบริเวณ ตา หู คอ
• ในช่วงที่มีเกษารดอกไม้ และผู้ป่วยอยู่ในช่วงภูมิแพ้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการน้ำมูกไหลมากขึ้นหากสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่นควันบุหรี่ เครื่องปรับอากาศ กลิ่มฉุน
• คัดจมูก และน้ำตาไหล
• น้ำมูกไสไหลอยู่ตลอดเวลา
• อาการคัดจมูกอาจจเป็นมากถึงต้องอ้าปากหายใจหรืออาจจะปวดไซนัส หรือปวดหู
• อาจจะมีอาการไอเนื่องจากน้ำมูกไหลลงคอ
• ผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอาการหอบมากขึ้น
• อาการมักจะเป็นมากตอนเช้า
• อาการแต่ละวันจะไม่เท่ากัน

Sporadic allergic rhinitis
เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสารที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนซึ่งอาจจะเป็นสัตว์เลี้ยง เกษรดอกไม้ กลิ่น อาหาร
Occupational allergic rhinitis
เป็นภูมิแพ้ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่นการทำฟาร์มปศุสัตว์ เกษตรกร สารเคมี
Non Allergic Rhinitis
ผู้ป่วยก็จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลแต่จะไม่มีอาการคัน เมื่อเจาะเลือดตรวจหรือการทดสอบทางผิวหนังก็ไม่พบหลักฐานว่าเป็นภูมิแพ้ โรคที่พบได้แก่ Nonalllergic Eosinophilic Rhinitis
• ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนภูมิแพ้ คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก ซึ่งจะเป็นทั้งปี
• บางคนอาจจะไม่ได้กลิ่น
• บางคนอาจจะพบร่วมกับการอักเสบของไซนัส หรือโรคหอบหืด
• เมื่อตรวจนำ้มูกจะพบเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า Eosinophil

Infectious Rhinitis
• เป็นอาการคัดจมูกที่เกิดจากโรคติดเชื้อ เช่นไข้หวัด เชื้อแบคทีเรีย
• น้ำมูกจะมีสีเหลือง
• หากมีน้ำมูกสีเหลืองติดต่อกันเกิน 5 วันให้สงสัยว่าจะน่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่จมูก หรือไซนัส
• มีไข้ต่ำๆ
• เมื่อนำน้ำมูกมาตรวจจะพบเวลล์เม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil และเชื้อแบคทีเรีย

Idiopathic nonallergic rhinitis หรือ Vasomotor rhinitis
• อาการคัดคัดจมูกของผู้ป่วยมิใช่เกิดจากโรคภูมิแพ้
• อาจจะเกิดจาก กลิ่นฉุนๆ
• อาจจเกิดสารเคมี
• บางครั้งอาจจะเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความชื้น อุณหภูมิ ความกดอากาศ
• ตรวจน้ำมูกไม่พบเซลล์ที่ผิดปกติ
• กลไกการเกิดยังไม่ทราบ

Hormonal Rhinitis
• เป็นอาการคัดจมูกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
• อาการคัดจมูกมักจะสัมพันธ์กับ การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย
• อาการสำคัญคือคัดจมูก และน้ำมูกไหล

Anatomical Rhinitis
เป็นอาการคัดจมูกที่เกิดจากความผิดปกติในจมูก เช่น มี polyp ผนังกันจมูกเบี้ยว มีวัตถุแปลกปลอม
แพทย์จะตรวจอะไรบ้างเพื่อหาสาเหตุของโรคภูมิแพ้

การตรวจร่างกาย
• ตรวจดูว่าใช้ปากหายใจแทนจมูกหรือไม่
• ตรวจจมูกว่ามีรอยขวางกลางจมูกหรือไม่
• ส่องตรวจรูจมูกเพื่อตรวจดูว่ามี polyp เยื่อบุจมูกว่าบวมหรือไม่ สีของเยื่อบุจมูก สีของน้ำมูก
• ตรวจตาว่ามีการอักเสบของเยื่อบุตาหรือไม่
• ตรวจคอ ว่ามีเสบหะติดคอหรือไม่ ต่อมทอนซิลโตหรือไม่
• ตรวจหูว่ามีหูน้ำหนวก หรืออักเสบ

การทดสอบทางภูมิแพ้
• การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังซึ่งสามารถทำได้สองวิธีคือ การใช้เข็มสะกิดผิวหนังให้เป็นแผลแล้วหยดสารที่สงสัยว่าจะเป็นสารภูมิแพ้บนผิวหนังที่เป็นแผล รอดูผลซึ่งจะเกิดผื่นลมพิษบริเวณดังกล่าวในเวลา 10-15 นาที หรืออาจจะใช้วิธีฉีดสารที่สงสัยว่าจะแพ้เข้าใต้ผิวหนัง แล้วรอผลว่าจะเกิดลมพิษหรือไม่
• การเจาะเลือดตรวจหาระดับภูมิ IgE หลังจากผิวหนังถูกกระตุ้นด้วยสารที่สงสัยว่าจะเป็นสารภูมิแพ้
• การเจาะเลือดหาระดับ IgE ซึ่งผู้ป่วยภูมิแพ้มักจะมีภูมิ IgE ระดับสูง
• การเจาะเลือดตรวจ CBC จะพบว่ามีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง
• การตรวจทางรังสีเพื่อตรวจดูว่ามีโรคแทรกซ้อน เช่นไซนัสอักเสบโดยอาจจะเป็นการตรวจ X-RAY ธรรมดาหรือตรวจด้วยคอมพิวเตอร์
• การตรวจพิเศษเช่นการส่องเข้าไปในรูจมูก Rhinoscopy เพื่อตรวจดูว่ามีเนื้องอก หรือสิ่งผิดปกติอย่างอื่นหรือไม่

การรักษา

ขั้นตอนในการรักษาโรคภูมิแพ้
ความหนักของอาการ ชนิดของการรักษา
อาการไม่หนักหรือนานๆจะเป็นสักครั้ง • ยังไม่ต้องใช้ยา
• แนะนำให้หลีกเลี่ยงจากสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
อาการเป็นหนักปานกลางและเป็นบ่อย • ให้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน หรือ
• ให้ยา steroid ชนิดพ่น
• สำหรับเด็กอาจจะใช้ยาพ่นชนิดยับั้ง mast cell ในรายที่มีอาการรุนแรง • เริ่มด้วยยา steroid ชนิดพ่น
• หรือยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน
• หากอาการเป็นมากอาจจะให้ prednisolone รับประทาน
ข้อแนะนำในการรักษาโรคภูมิแพ้สำหรับคนไข้

ภูมิแพ้ในผู้สูงอายุ
• ผู้ป่วยสูงอายุมักจะไม่ค่อยเป็นโรคภูมิแพ้ สาเหตุมักจะเป็น atropic rhinitis ซึ่งรักษายาก
• ต้องพิจารณาเรื่องยาที่ผู้ป่วยรับประทานเพราะอาจจะเป็นสาเหตุของอาการคัดจมูก เช่น reserpine(ยาลดความดันโลหิต),methyldopa(ยาลดความดันโลหิต),prazocin(ยาลดความดันโลหิต),ACEI(ยาลดความดันโลหิต
• ยาแก้คัดจมูก Decongestant อาจจะทำให้ปัสสาวะไม่ออกในผู้ป่วยที่เป็นต่อมลูกหมากโต
• ยาแก้คัดจมูก Decongestant อาจจะมีผลต่อความดันโลหิตและโรคหัวใจของผู้ป่วย
• ยาแก้แพ้ชนิดที่ง่วงนอนอาจจะทำให้ผู้ป่วยซึมหรืออาจจะเป็นสาเหตุให้หกล้ม
โรคภูมิแพ้ในคนท้องและเลี้ยงลูกด้วยนม
• ให้ใช้ยาลดการหลั่งของ mast cell เป็นอันดับแรกเพราะผลข้างเคียงต่ำ
• หากไม่ได้ผลแนะนำให้ใช้ loratadine ซึ่งมีรายงานถึงความปลอดภัยระดับB(ระดับ A มีหลักฐานยืนว่าปลอดภัย) ตัวเลือกอันดับสองคือ Ceterizine
• ทางเลือกอันดับสามคือยาพ่นจมูก steroid จะใช้ในกรณีที่ใช้ยาสองวิธีแรกแล้วไม่ได้ผล
• หลั่งตั้งครรภ์แล้ว 3 เดือนหากยังมีอาการคัดจมูกก็ให้แก้คัดจมูก

โรคภูมิแพ้ในเด็ก
• การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ในเด็กอาจจะยาก เนื่องจากเด็กอาจจะมาด้วยอาการหูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
• ต้องรีบการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ในเด็กให้ได้โดยเร็ว เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน
• เด็กที่แพ้อาหารอาจจะมาด้วยเรื่องคัดจมูกน้ำมูกไหล
• การใช้ยาพ่นชนิด steroid เรื้อรังอาจจะทำให้การเจริญเติบโตช้าลง
• ต้องกำจัดสิ่งแวดล้อมที่สงสัยว่าจะแพ้
หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ทั้งสารที่สงสัย และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสารที่ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ
• สิ่งแวดล้อมนอกบ้านได้แก่ เกษรดอกไม้ รานอกบ้าน
• สิ่งแวดล้อมในบ้าน ไรฝุ่น แมลงสาบ จัดห้องให้ปลอดฝุ่น สัตว์เลี้ยง
• สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน
• การรักษาโดยการใช้ยา
• การรักษาโดยการฉีดสารภูมิแพ้ Immunotherapy (desensitization)
Immunotherapy (desensitization)
วิธีการก็คือการทดสอบทางผิวหนังโดยการฉีดสารที่สงสัยหรือสารที่แพ้บ่อยเข้าใต้ผิวหนัง หลังจากนั้นดูปฏิกิริยาว่าแพ้อะไร เมื่อทราบว่าแพ้สารอะไรก็นำสารนั้นมาฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันชนิด IgG แทน IgE ซึ่งไม่ทำให้เกิดปกิกิริยาภูมิแพ้ การรักษาจะได้ผลหลังจากฉีดไปแล้ว 6-12 เดือน อันตาจที่อาจจะเกิดจากการทดสอบหรือการรักษาอาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างรุนแรง
การทดสอบภูมิแพ้จะทำในรายที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยอาการรุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อน ไม่ควรทำในรายที่มีประวัติการแพ้ต่อการฉีดสารภูมิแพ้
ข้อควรพิจารณาในการImmunotherapy (desensitization)
• ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ทั้งปี
• ผู้ป่วยที่อาการยังไม่ดีขึ้นแม้ว่าจะใช้ทั้งยาพ่นและยารับประทานอย่างเต็มที่
• ป้องกันการกำเริบของโรคหอบหืด
• ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคไซนัส
• ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคหูชั้นกลางอักเสบ
เมื่อไปพบแพทย์ท่านจะต้องบอกอะไรบ้าง
• อายุที่เริ่มเป็น
• การดำเนินของโรค
• ความรุนแรงของโรค
• ระยะเวลาที่เป็น
• ความสัมพันธ์กับอากาศ
• ความสัมพันธ์กับอาการทางตา คอ โรคหอบหืด
• เคยเป็นโรคไซนัสหรือหูอักเสบหรือไม่
• ปัจจัยที่ทำให้โรคเป็นมากขึ้น
• อาการคัดจมูกมีความสัมพันธ์กับโรคหอบหืดหรือไม่
• อาการมีความสัมพันธ์กับการใช้ยาหรือไม่
• อาการมีความสัมพันธ์กับอาหารหรือไม่
• ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว
• ประวัติการใช้ยา
อาการจามจะเกิดเมื่อมีการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก ทำให้สมองสั่งให้มีอาการจามออกมา ข้อแนะนำ
• เมื่อเกิดอาการอยากจาม ให้กดบริเวณปลายจมูกซึ่งจะทำให้หยุดอาการอยากจาม
• บางคนเมื่อเจอแสงจ้าๆอาจจะทำให้จาม คนนั้นอาจจะต้องสวมแว่นกันแดด
• หากมีน้ำมูกให้สั่งออก และล้างรูจมูกด้วยน้ำเกลือ
• หากมีอาการจาม อย่าเอามือปิด หรือหุบปากเพราะจะทำให้ความดันไปสู้หูชั้นกลางทำให้เกิดการอักเสบของหู

แพ้อากาศ อาการของโรคภูมิแพ้ การทดสอบภูมิแพ้ การรักษา ยาที่ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ แพ้แบบรุนแรง ลมพิษ แพ้ยาง แพ้อาหาร แพ้แมลง ผื่นแพ้จากการสัมผัส ตาอักเสบจากการแพ้
cetirizine Loratadine Fexofenadine Hydroxazine
การรักษาโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่เมื่อหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ และรับประทานยาแก้แพ้ก็จะสามารถควบคุมอาการได้ สำหรับผู้ที่มีอากรคัดจมูกมากอาจจะต้องให้ยาลดอาการคัดจมูก( Decongestant) สำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังอาจจะต้องใช้ยาหยอดจมูก steroid หลักการรักษาประกอบด้วย
1. หลีกเลี่ยงหรือป้องกันสารที่เป็นภูมิแพ้การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ได้กล่าวในหัวข้อของการแพ้สารก่อภูมิแต่ละชนิด สำหรับเครื่องฟอกอากาศก็มีประโยชน์ บางชนิดใช้ไฟฟ้า บางชนิดใช้ fiberglass ซึ่งก็สามารถลดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศลง และอาจจะใช้เสริมกับระบบเครื่องปรับอากาศ ก่อนที่ท่านจะซื้อจะต้องเช่า 1-2 เดือนลองใช้กับห้องที่ค่อนข้างมิดชิดแล้วดูว่าอาการภูมิแพ้ลดลงหรือไม่ และต้องคำนึงอีกข้อหนึ่งคืออัตราการไหลของอากาศต้องมากพอที่จะฟอกอากาศ ถ้าอัตราการไหลต่ำก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ควรใช้โอโซนเพราะจะระคายเคืองเยื่อจมูก
2. การใช้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อลดอาการ หรือป้องกันอาการ ยาที่ใช้รักษามีดังนี้
• ยาแก้แพ้ Antihistamin
• Decongestant
• Antihistamin-Decongestant
• Steroid
• Mast cell stabilizer
• Anticholinergic
1. การรักษาโดยการฉีดภูมิแพ้ Immunotherapy ผู้ป่วยจะได้รับสารก่อภูมิแพ้เพื่อให้ร่างการสร้างภูมิชนิด IgG การฉีดจะเลือกฉีดเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ที่ได้ทดสอบทางผิวหนังแล้วว่าแพ้ และจะค่อยเพิ่มขนาดยาตามตารางเวลา หลังจากฉีดแต่ละครั้งควรอยู่ในสถานพยาบาลครึ่งชั่วโมง และระหว่างการรักษาไม่ควรรับประทานยา beta-block และยา monoamine oxidase
inhibitors (MAOIs) ผลข้างเคียงจากการฉีดก็มีผื่นเฉพาะที่แดง คันผื่นจะอยู่นาน 4-8 ชั่วโมง ส่วนข้างเคียงอีกชนิดหนึ่งคืออาการคัดจมูก แน่นหน้าอก คัดจมูกและน้ำมูกไหล อาการเหล่านี้มักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังฉีด
การรักษาอื่นที่บรรเทาอาการได้แก่
• การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ
• การดมไอน้ำร้อนครั้งละ10-15 นาทีวันละ 2-4ครั้ง

คำแนะนำสำหรับการใช้ยา
โดย ผศ.ดร. สุรชัย อัญเชิญ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำแนะนำการใช้ยารักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

การใช้ยาน้ำพ่นจมูก

1. สั่งน้ำมูกออกให้หมดถ้ามีน้ำมูก
2. เขย่าขวดก่อนใช้
3. เปิดฝาครอบขวดยาออก
4. จับขวดพ่นโดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางจับอยู่ที่จุกขวด (บริเวณแป้นสีขาว) และนิ้วหัวแม่มือรองที่ก้นขวดพ่น
5. ถ้าใช้ครั้งแรกให้ปั๊มลมออกก่อนให้หมดละอองฝอย และปิดรูจมูกข้างหนึ่ง ก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย สอดขวดพ่นเข้าไปในรูจมูก ข้างหนึ่งตรง ๆ อย่าให้ชนผนังกั้นจมูก กดที่แป้นสีขาวให้สุดพร้อมกับสูดลมหายใจเข้าช้า ๆ กลั้นหายใจไว้สักครู่แล้ว หายใจออก ทางปากช้า ๆ แล้วทำซ้ำอีกครั้ง กับรูจมูกอีกข้างหนึ่ง และปิดฝาครอบขวด

การใช้ยาพ่นชนิดสเปรย์

1.เปิดฝาจุกยาออกพร้อมทั้งใช้มือที่ถนัดเขย่ายา
2.หายใจออกช้า ๆ และกลั้นหายใจไว้
3. อมปากกระบอกพ่นยา กดยาพ่นพร้อมกับหายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ
4. กลั้นหายใจนับ 1-10 แล้วค่อย ๆ หายใจออก

การใช้กระบอกกักยา (Spacer) ร่วมกับยาพ่นชนิดสเปรย์

1. ถอดฝาป้องกันฝุ่นออก เขย่าขวดยาให้เข้ากันดี
2. สวมท่อต่อโดยให้ช่องเปิดทางด้านกว้างต่อเข้ากับเครื่องพ่น
3. นำฝาป้องกันฝุ่นปิดเข้าทางปลายเล็กอีกข้างหนึ่งของข้อต่อหายใจออกจนสุด
4. กดก้นขวดยาลงจนสุด 1 ครั้ง
5. รีบถอดฝาป้องกันฝุ่นออก อมปลายท่อต่อให้แน่นพร้อมกับสูดยาให้ท่อต่อเข้าปากช้า ๆ ให้ลึกที่สุด กลั้นหายใจประมาณ 5 วินาที นำท่อต่อออกจากปากและหายใจออกอย่างช้า ๆ
6. ถอดท่อต่อออกจากเครื่องพ่นสูด และปิดฝาป้องกันฝุ่นเข้ากับเครื่องพ่นดังเดิม
7. บ้วนปากและกลั้วคอด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังใช้ยา

คำแนะนำสำหรับ ยาแก้ปวด-ลดไข้

ยาแก้ปวด-ลดไข้นิยมใช้กันได้แก่ พาราเซตามอล และยาประเภท ต้าน การอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ Non-steroidal anti-inflammatory drugs(NSAID) ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อบางตัวเช่น แอสไพริน ไอบรูโปรเฟน นาพรอกเซน เป็นต้น ยาเหล่านี้ใช้ระงับอาการปวดต่าง ๆ ได้แก่ อาการปวดศีรษะที่ ไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น ปวดประจำเดือนหรือใช้ทุเลาอาการไข้จากสาเหตุต่าง ๆ เช่นจากโรคหวัด ยาแก้ปวดลดไข้ทุกตัวมีผลรักษาใกล้เคียงกัน แต่ยาประเภท NSAID มีประสิทธิภาพ ลดอาการปวดจากการอักเสบได้ดีกว่าพาราเซตามอล คำแนะนำที่ผู้ใช้ยาควรทราบ จากเภสัชกรได้แก่

* เมื่อมีไข้สูง (102 ํF สำหรับเด็ก และ 104 ํF สำหรับผู้ใหญ่) หรือมีอาการปวดอย่างรุนแรงที่อวัยวะภายในร่างกาย ต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที
* เมื่อเป็นไข้นานเกิน 3 วัน หรือมีอาการปวดติดต่อกันเกิน 5 วัน ควรปรึกษาแพทย์
* ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดติดต่อกันนานเกิน 10 วัน สำหรับผู้ใหญ่ และนานเกิน 5 วัน สำหรับเด็ก
* ไม่ควรใช้ยาแก้ปวดประเภทแอสไพรินกับเด็กเล็กหรือ เด็กที่มีอาการไข้อย่างเฉียบพลัน เนื่องจากอาจกระตุ้นให้เกิดอาการ Reye's syndome
* ควรรับประทานยาแก้ปวดแอสไพรินและยาลดการอักเสบของ กล้ามเนื้อพร้อมอาหารหรือ หลังอาหารทันทีเพื่อลดผลเสียต่อทางเดินอาหาร ได้แก่ การระคายเคืองกระเพาะอาหาร และสำไส้ ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ดังนั้นจึงห้ามใช้แอสไพริน กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคแผลในทางเดินอาหาร
* ห้ามใช้แอสไพรินและควรเลื่ยงการใช้ NSAID กับผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยที่มีเกร็ดเลือดต่ำ ขาดวิตามิน K โลหิตจาง มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากยาแอสไพรินมีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือดด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกง่าย หรือ เลือดออกไม่หยุดในผู้ป่วยดังกล่าว
* ไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเกินกว่าขนาด ที่แนะนำ คือ 500-1,000 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง ติดต่อกันนานเกิน 7-10 วัน ไม่ควรรับประทานเกิน วันละ 6 กรัม หรือ 12 เม็ด สำหรับผู้ใหญ่และไม่ควรเกินวันละ 3 กรัม หรือ 6 เม็ดสำหรับเด็ก
* ไม่ควรใช้พาราเซตามอลกับผู้ป่วยที่ดื่มสุราจัด หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังเพราะผู้ป่วยเหล่านี้ มักมีตับที่เสื่อมสภาพไม่สามารถป้องกันพิษจากพาราเซตามอลได้
* การรับประทานยาบางประเภทขนาดสูง หรือเป็นเวลานาน อาจเพิ่มโอกาสการเกิดพิษต่อตับจากพาราเซตามอลได้ เช่น ยานอนหลับ ยากันชัก ยารักษาวัณโรค เนื่องจากยาเหล่านี้เพิ่ม อัตราการเปลี่ยน พาราเซตามอลเป็นสารพิษให้สูงขึ้น
* ไม่ควรใช้ยาประเภท NSAID กับผู้ที่แพ้ยาแอสไพรินหรือ NSAID ตัวอื่น
* ควรใช้พาราเซตามอลมากกว่ายาประเภท NSAID ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
* ยา NSAID อาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือสภาวะอื่นที่มีผลกระทบจากการบวมน้ำ

คำแนะนำสำหรับการใช้ยาลดน้ำมูก

ยาลดน้ำมูกใช้สำหรับลดอาการคัดจมูกจากหวัดหรือ จากการเป็นโรคภูมิแพ้ ออกฤทธิ์หดหลอดเลือดที่บริเวณเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้เลือดไปเลี้ยงโพรงจมูกน้อยลง จึงลดปริมาณน้ำมูกและอาการบวมในโพรงจมูกได้ นอกจากนี้ยังหดหลอดเลือดที่ลูกตา ทำให้เลือดไปเลี้ยงลูกตาน้อยลงจึงลดอาการตาแดงได้ ยาลดน้ำมูกมีทั้งชนิดใช้เฉพาะที่โดยการหยอด หรือพ่นและชนิดรับประทาน

* ควรสั่งน้ำมูกออกให้หมดก่อนหยอดหรือพ่นยา
* ไม่ควรให้ปลายขวดยาหยอดหรือพ่นจมูก สัมผัสกับเนื้อเยื่อในโพรงจมูก
* ไม่ควรใช้ยาหยอดหรือ ยาพ่นจมูกร่วมกับผู้อื่น
* ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูกชนิดหยอด หรือ พ่นติดต่อกันเกิน 3 วัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกกลับมาเป็นใหม่
* ถ้าอาการคัดจมูกกลับเป็นใหม่อีกขณะให้ยาหยอดหรือพ่นจมูก ให้ค่อย ๆ เลิกการใช้ยาและเปลี่ยนไปใช้ยาลดน้ำมูกชนิดรับประทาน
* เมื่อเลิกใช้ยาพ่นหรือหยอดจมูกแล้ว ควรกำจัดยาดังกล่าวทิ้ง
* เนื่องจากยาลดน้ำมูกมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท จึงไม่ควรรับประทานยาลดน้ำมูกระหว่างการแข่งขันกีฬา เนื่องจากอาจอยู่ในข่ายของการใช้ยาโด๊ป
* เมื่อเกิดอาการกระสับกระส่าย มึนศีรษะ หรือนอนไม่หลับ ขณะใช้ยาลดน้ำมูก ให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร
* ไม่ควรรับประทานยานานเกิน 7 วัน
* เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อใช้ยากับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน และต่อมลูกหมากบวม เนื่องจากอาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้รุนแรงขึ้น
* ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาต้านซึมเศร้าชนิด Monoamine oxidase inhibitors (MAOI) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างเฉียบพลัน

คำแนะนำสำหรับการใช้ยาแก้ไอ

ยาแก้ไอใช้สำหรับกดอาการไอชนิดแห้ง คือ อาการไอที่ไม่มีเสมหะ ไอบ่อยครั้งจนเหนื่อย สำหรับอาการไอชนิดเปียก คืออาการไอที่มีเสมหะออกมาด้วยไม่ควรใช้ยากดอาการไอ เนื่องจากทำให้การกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจลดลง ยาแก้ไอที่ใช้กันมาก คือ เดกซ์โตรเมธอร์แฟน โคเดอีน และ ไดเฟนฮัยดรามีน

* เมื่อมีการการไอ ควรดื่มน้ำอุ่นให้เพียงพอ และอยู่ในที่ซึ่งอากาศอบอุ่น และ ชุ่มชื้น
* เมื่อมีการระคายเคืองหรือแสบคอ อาจใช้ยาอม ยากลั้วคอ หรือ ยาพ่นลำคอบรรเทาอาการได้
* อาการไอที่ไม่รุนแรง อาจใช้ยาขับเสมหะ หรือละลายเสมหะช่วยบรรเทาได้
* ควรใช้ยาที่กดอาการไอกับอาการไอแห้งเท่านั้น
* ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านซึมเศร้าชนิด MAOI ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแก้ไอเดกซ์โตรเมธอร์เฟน
* ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากบวม ต้อหิน ไม่ควรใช้ยาแก้ไอที่ผสมไดเฟรนฮัยดรามีน
* ยาแก้ไอโคเดอีนมีฤทธิ์แรง แต่อาจเกิดปัญหาติดยาได้ จึงไม่ควรรับประทานโคเดอีนติดต่อกันนานเกิน 7 วัน
* เมื่อใช้ยาแก้ไอผสมยาแก้แพ้ เช่น ไดเฟรนฮัยดรามีน ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เช่นเดียวกับกรณีใช้ยาแก้แพ้

คำแนะนำสำหรับการใช้ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ใช้สำหรับป้องกันหรือ รักษาอาการของโรคเยื่อบุจมูกอักเสบ จากภูมิแพ้และอาการภูมิแพ้อื่น ๆ ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อฮีสตามีน ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการภูมิแพ้ส่วนใหญ่ในระยะต้น โดยทั่วไปยาแก้แพ้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาแก้แพ้รุ่นเก่าที่ทำให้ง่วง เช่น คลอเฟนนิรามีน และยาแก้แพ้รุ่นใหม่ ที่ไม่ทำให้ง่วง เช่น ลอราตาดีน

* เมื่อใช้ป้องกันอาการภูมิแพ้ ต้องรับประทานยาก่อนสัมผัสกับตัวกระตุ้นภูมิแพ้ และต้องรับประทานต่อเนื่องตลอดเวลาที่สัมผัสกับตัวกระตุ้นภูมิแพ้
* ผลเสียหลักของยาแก้แพ้คือ อาการง่วงนอน มึนงง และปากแห้งคอแห้ง ลูกตาแห้ง ปัสสาวะไม่ค่อยออก หัวใจเต้นเร็ว
* ไม่ควรขับรถหรือควบคุมเครื่องจักรกลหนัก ดื่มสุรา หรือยากล่อมประสาทในขณะใช้ยาแก้แพ้รุ่นเก่า เช่น คลอเฟนนิรามีน ไดเฟรนฮัยดรามีน ด้อกซัยลามีน
* ต้องระวังผลกระตุ้นประสาทของยาแก้แพ้รุ่นเก่า ในผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้ป่วยสูงอายุ
* ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้รุ่นเก่ากับผู้ป่วยโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือถุงลมโป่งพอง เนื่องจากจะทำให้หลอดลมแห้ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีเสมหะข้นเหนียวและขจัดออกได้ยาก ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบได้
* ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้รุ่นเก่ากับผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากบวม
* ไม่ควรรับประทานยาแก้แพ้รุ่นใหม่ที่ไม่ทำให้ง่วงบางตัว เช่น Terfenadine และ Astemizole ร่วมกับยาที่ยับยั้งการทำลายยาของตับ เช่น Erythromycin Ketoconazole เนื่องจากจะเกิดปฎิกริยาต่อกันของยา ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้