สมบัติผู้ดี

คุณมี "สมบัติผู้ดี" มากน้อยแค่ไหน

........คำว่า "สมบัติผู้ดี" คืออะไร บางคนอาจเคยได้ยินแต่ไม่รู้แน่ชัดว่ามันเป็นอย่างไร สมัยก่อน ถ้าอ่านนิยายหรือดูหนังละคร เรามักได้ยินญาติผู้ใหญ่ข้างฝั่ง พระเอกดูถูกนางเอกสาวแสนสวยแต่ยากจนว่า เป็นพวกไพร่ มิใช่ "ผู้ดี" เหมือนอย่างตนเอง เช่น ท่านแม่ของคุณชายกลางที่ด่าว่าพจมาน ในเรื่องบ้านทรายทอง เมื่อได้ยินได้ฟังแบบนี้ เลยทำให้หลายคนคิดว่า "ผู้ดี" คือพวกที่มีเชื้อสาย หรือเป็นพวกเศรษฐีมีเงินทองอย่างพวกไฮโซไฮซ้อที่ปรากฎ ในข่าวสังคมปัจจุบัน
........ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของ "ผู้ดี" ว่าคือ คนที่เกิดในตระกูลดี หรือหมายถึง คนที่มีมารยาทดีงาม ซึ่งความหมายอย่างหลังนี้ตรงกับคำจำกัดความของ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ที่ว่า "ผู้ดี" หมายถึง "ผู้มีกิริยาดี" มิใช่ "ผู้ดี" ซึ่งคนมักเข้าใจว่า เป็นคำตรงกันข้ามกับ "ไพร่" กล่าวคือ ผู้ดีในความหมายของท่าน ต้องเป็นบุคคลผู้มีความประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา และความคิด (สำหรับคำว่า "ไพร่" ในพจนานุกรมฯ ได้ให้ความหมายว่า ชาวเมืองหรือพลเมืองสามัญ แต่ตามความเข้าใจของคนทั่วไปก็มักจะหมายถึง พวกต๊อกต๋อย ยากจน ไม่ค่อยมีสตางค์)
........หนังสือ "สมบัติผู้ดี" เป็นตำราที่เขียนขึ้นมาเพื่อสอนหรือบอกให้ทราบว่าคนที่จะได้ชื่อว่า "ผู้ดี" นั้น ต้องปฏิบัติตัวหรือมีมารยาทในสังคมเช่นไร
........ในตำรา "สมบัติผู้ดี" มีเนื้อหาอยู่ 10 ภาค แต่ละภาคจะสอนการปฏิบัติตนทั้งทางกาย วาจา และใจ เรียกว่า กายจริยา วจีจริยา และมโนจริยา ขอกล่าวเนื้อหาโดยย่อนะคะ

ภาคหนึ่ง : ผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อย
........กายจริยา เป็นการสอนให้รู้จักมีกิริยาที่ดี เช่น ผู้ดีย่อมไม่ล่วงเกิน ถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน ผู้ดีย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน
........วจีจริยา เป็นการสอนให้รู้จักพูดจาให้เรียบร้อย เช่น ผู้ดีย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด ผู้ดีย่อมไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย
........มโนจริยา การสอนให้นึกคิดในทางที่ดี ได้แก่ ผู้ดีย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน กำเริบ หยิ่งยโส และผู้ดีย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา

ภาคสอง : ผู้ดีย่อมไม่ทำอุจาดลามก
........กายจริยา เป็นการสอนให้รู้จักแสดงออกทางกายในทางที่ไม่เสียหาย เช่น ผู้ดีย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวสะอาด และแต่งโดยเรียบร้อยเสมอ ผู้ดีย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง ผู้ดีย่อมไม่จิ้มควัก แคะ แกะ เการ่างกายในที่ชุมชน ผู้ดีย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดังและโดยไม่ป้องกำบัง
........วจีจริยา เป็นวิธีการสอนไม่ให้พูดคำลามกหรือสิ่งอันลามกในที่ชุมชน ได้แก่ ผู้ดีย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครก พึงรังเกียจในท่ามกลางชุมชน ผู้ดีย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังท่ามกลางชุมชน
........มโนจริยา เป็นการสอนให้มีความคิดในทางที่ชอบที่ควร ได้แก่ ผู้ดีย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาดกกก

ภาคสาม : ผู้ดีย่อมมีสัมมาคารวะ
........กายจริยา ผู้ดีย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่ ผู้ดีย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน ผู้ดีย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด
........วจีจริยา ผู้ดีย่อมไม่พูดจาล้อเลียน หลอกลวงผู้ใหญ่ ผู้ดีย่อมไม่กล่าววาจาอันติเตียนสิ่งเคารพหรือที่เคารพของผู้อื่น เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใดแก่บุคคลใด ควรจะออกวาจาขอโทษเสมอ เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ
........มโนจริยา ผู้ดีย่อมเคารพยำเกรงบิดา-มารดาและอาจารย์ ผู้ดีย่อมนับถือ นอบน้อมต่อผู่ใหญ่

ภาคสี่ : ผู้ดีย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก
........กายจริยา ผู้ดีย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ ไม่ใช้กิริยายืนเมื่อเขานั่งกับพื้น และไม่นั่งกับพื้นเมื่อเวลาเขายืนกัน ผู้ดีย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควรในบ้านของผู้อื่น ผู้ดีย่อมไม่จ้องดูนาฬิกาในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่
........วจีจริยา ผู้ดีย่อมไม่ติเตียนสิ่งของที่เขาตั้ง-แต่งไว้ในบ้านที่ตนเข้าไปสู่ ผู้ดีย่อมไม่พูดจาให้เพื่อนเก้อกระดาก ผู้ดีย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้นไว้มากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ
........มโนจริยา ผู้ดีย่อมรู้จักเกรงใจคน

ภาคห้า : ผู้ดีย่อมเป็นผู้มีสง่า
........กายจริยา ผู้ดีย่อมมีกิริยาอันผึ่งผาย องอาจ ผู้ดีย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้าน งกเงิ่น หยุดๆ ยั้งๆ
........วจีจริยา ผู้ดีย่อมพูดจาฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ ไม่อุบอิบ อ้อมแอ้ม
........มโนจริยา ผู้ดีย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง ผู้ดีย่อมมีความเข้าใจอันว่องไวไหวพริบ รู้เท่าถึงการณ์

ภาคหก : ผู้ดีย่อมปฏิบัติการงานดี
........กายจริยา ผู้ดีย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน ผู้ดีย่อมไม่ถ่วงเวลาให้ผู้อื่นคอย ผู้ดีย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า
........วจีจริยา ผู้ดีพูดสิ่งใดย่อมให้เป็นที่เชื่อถือได้ ผู้ดีย่อมไม่รับวาจาคล่องๆ โดยมิได้เห็นว่าการจะเป็นไปได้หรือไม่
........มโนจริยา ผู้ดีย่อมไม่เป็นผู้ที่เกียจคร้าน ผู้ดีย่อมไม่เพลิดเพลินจนละเลยให้การเสีย ผู้ดีย่อมมีความมานะในการงาน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ภาคเจ็ด : ผู้ดีย่อมเป็นผู้ใจดี
........กายจริยา เมื่อเห็นใครทำอะไรผิดพลาดอันน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำเป็นไม่เห็น เมื่อเห็นสิ่งของของใครตก หรือจะเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้หรือบอกให้รู้ตัว
........วจีจริยา ผู้ดีย่อมไม่เยาะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด ผู้ดีย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขื่น
........มโนจริยา ผู้ดีย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยม เกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย ผู้ดีย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่ผู้อื่น ผู้ดีย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคน

ภาคแปด : ผู้ดีย่อมไม่เห็นแก่ตัว
........กายจริยา ผู้ดีย่อมไม่เสือกสน แย่งชิงที่นั่งหรือที่ดูอันใด ผู้ดีย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้ ผู้ดีย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนตัวเสมอไป
........วจีจริยา ผู้ดีย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้ใดเพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน ผู้ดีย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนฝ่ายเดียวจนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่น
........มโนจริยา ผู้ดีย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน ผู้ดีย่อมไม่มีใจมักได้เที่ยวขอของเขาร่ำไป ผู้ดีย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ผู้ดีย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน ผู้ดีย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน

ภาคเก้า : ผู้ดีย่อมรักษาความสุจริต ซื่อตรง
........กายจริยา ผู้ดีย่อมไม่ละลาบละล้วงเดินเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเขาเชิญ ผู้ดีย่อมไม่ลอบแอบฟังคนพูด ผู้ดีย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่นซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ
........วจีจริยา ผู้ดีย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน ผู้ดีย่อมไม่เที่ยวถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
........มโนจริยา ผู้ดีย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง ผู้ดีย่อมไม่หาผลประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม

ภาคสิบ : ผู้ดีย่อมไม่ประพฤติชั่ว
........กายจริยา ผู้ดีย่อมจะไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็กหรือผู้หญิง ผู้ดีย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม ผู้ดีย่อมไม่พึงพอใจในหญิงที่เจ้าของหวงแหน
........วจีจริยา ผู้ดีย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท ผู้ดีย่อมไม่พอใจพูดส่อเสียด ยุยง
........มโนจริยา ผู้ดีย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น ผู้ดีย่อมไม่คิดทำร้ายผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตน ผู้ดีย่อมเป็นผู้มีความละอายต่อบาป